เรื่องและภาพ : พสิษฐ์ มนัสเพียรเลิศ
จากชั้นบนสุดของอาคารหลังหนึ่ง แสงยามเย็นส่องผ่านข่ายลวด เห็นเป็นประกายงดงาม เหมือนดวงอาทิตย์กำลังบอกลาก่อนตกลับไป
ที่นั่นถูกเรียกว่า “สวนสัตว์” นักท่องเที่ยวคนหนึ่งยืนมองลิงสองตัวจากภายนอกกรง ลิงตัวเล็กขนขาวย้ายมาเกาะตรงมุม “ส่วนจัดแสดง” ราวกับอยากสังเกตแขกต่างถิ่นใกล้ๆ ตาดวงน้อยคู่นั้นชี้ว่ามันยังเด็กมาก คงไม่เคยเห็นบ้านแห่งนี้สมัยที่มีมนุษย์มาเยี่ยมชมไม่ขาดสาย
ตัวอาคารที่กล่าวถึงนี้คือ “พาต้าปิ่นเกล้า” ซึ่งตั้งอยู่ริมถนนสมเด็จพระปิ่นเกล้ามานานกว่าสามทศวรรษ ถนนที่ยาวเพียงหนึ่งกิโลเมตรกว่าๆ นี้เป็นส่วนหนึ่งของย่านที่เรียกกันว่า “ปิ่นเกล้า” ซึ่งครอบคลุมพื้นที่ฝั่งธนบุรี ตั้งแต่ทางตะวันออกเฉียงเหนือของแขวงอรุณอมรินทร์ ไปจนถึงตอนใต้ของแขวงบางยี่ขัน
ลูกลิงตัวน้อยมาเกาะที่ขอบกรง ในสวนสัตว์พาต้า
ถ้าพูดถึงปิ่นเกล้าในวันนี้ คนส่วนมากคงคุ้นกับเหล่าห้างดังประจำถิ่น อย่างเซ็นทรัลปิ่นเกล้าและเมเจอร์ซีนีเพล็กซ์ แต่สำหรับผู้อยู่ในท้องที่มานาน พวกเขาสามารถบอกเล่าประสบการณ์ตรงได้ว่า ความเจริญของปิ่นเกล้าแต่เดิมนั้นเริ่มต้นทางฝั่งบางยี่ขัน
บนถนนอรุณอมรินทร์ที่ทอดสู่สะพานพระราม 8 เราจะพบร้านสินชัยโภชนาซึ่งเริ่มต้อนรับลูกค้าเวลาห้าโมงเย็นของทุกวัน หฤษฎ์ ขุนเปีย ทายาทวัย 46 ปีของร้าน เล่าย้อนถึงตอนที่พ่อแม่เพิ่งมาตั้งธุรกิจที่นี่ใหม่ๆ สมัยตนยังเด็กว่า แม้ตอนนั้นจะมีถนนตัดไปถึงสะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้าแล้ว พื้นที่โดยรอบหลายส่วนก็เป็นสวนหรือไร่อยู่
พอเทียบบรรยากาศรอบบ้านตนเวลานั้นกับอีกฝั่งแม่น้ำซึ่งเจริญล้ำหน้า เขาจึงเรียกพื้นที่ตรงนี้ว่า “ชายแดนกรุงเทพฯ”
ในยุคบุกเบิกความเจริญนั้น จุดที่นับว่าน่าสนใจที่สุดของปิ่นเกล้าตั้งอยู่ทางตะวันตกเฉียงใต้ของบางยี่ขัน ได้แก่ ห้างพาต้าปิ่นเกล้า ห้างสรรพสินค้าแห่งแรกในย่านซึ่งเปิดทำการเมื่อปลายปีพ.ศ.2525
บนชั้นหกและเจ็ดของห้างนี้เป็นที่ตั้งของ “สวนสัตว์พาต้า” ซึ่งเมื่อ 36 ปีก่อน ถือเป็นสวนสัตว์เอกชนแห่งเดียวในประเทศและเพิ่งเริ่มเปิดทำการ
ปัจจุบันสวนสัตว์แห่งนี้ยังคงเปิดให้บริการอยู่ พร้อมมีสัตว์หลากหลายถึง 100 สายพันธุ์ และมีการแสดงให้ชม เช่น กายกรรม มายากล รวมทั้งละครลิงคณะสุดท้ายของไทยซึ่งมีรอบแสดงประจำที่นี่ที่เดียวในกรุงเทพฯ
การมีลิฟต์แก้วเลื่อนขึ้นลงอยู่ริมอาคารในยุคที่ลิฟต์ของห้างอื่นล้วนปิดทึบ และการมีสัตว์พื้นถิ่นของทวีปแอฟริกาอย่างกอริลล่า (ซึ่งคนนิยมเรียกกันว่า “คิงคอง”) เลี้ยงเอาไว้ให้ชมบนยอดตึก ทำให้พาต้าปิ่นเกล้ามีชื่อเสียงโด่งดัง อย่างที่ทายาทร้านสินชัยโภชนาลงความเห็นว่า “เจ๋งที่สุดในบรรดาห้างทั่วๆ ไปในตอนนั้น”
“ฮิตมาก ใครๆ ก็มาพาต้า”
เจ้าของร้าน “จินดาโอสถ”
บริเวณโดยรอบของห้างนี้ยังมีหลายจุดเป็นเหมือนหมุดหมายแห่งอดีต จากหน้าห้างเดินไปทางขวาไม่ถึง 200 เมตร จะพบร้านจำหน่ายอุปกรณ์การแพทย์จินดาโอสถ ซึ่งอยู่ตรงนี้มาก่อนห้างเกิดเสียอีก และมีเรื่องราวมากมายในปิ่นเกล้าที่ผู้สืบทอดรุ่นสองของกิจการสามารถบอกเล่าได้
สุรเทพ เหลืองธาดา วัย 77 ปี ย้อนความหลังว่าเดิมตำแหน่งที่ตั้งร้านเป็นสวนผลไม้ สมัยนั้นถนนภายนอกร้านมีเพียงสองเลน ไม่มีสะพานลอยตั้งอยู่อย่างปัจจุบัน
กระทั่งความเจริญด้านสาธารณูปโภคเข้ามาเปลี่ยนโฉมหน้าพื้นที่โดยรอบ ถนนถูกปรับขยายจนกว้างสุดถึงหกเลน และเชื่อมต่อถนนสายต่างๆ ทำให้การเดินทางสะดวกขึ้นมาก แถมมีห้างที่เป็นกระแสนิยมในยุคหนึ่งมาเปิดใกล้บ้าน อย่างที่เขาบอกว่า “ฮิตมาก ใครๆ ก็มาพาต้า”
ปัจจุบัน แม้หน้าห้างดังกล่าวมีผู้คนมารอรถเมล์อยู่เป็นประจำ แต่เจ้าของกิจการผู้เห็นความเป็นไปในท้องที่มา 45 ปีให้ความเห็นว่า เนื่องจากผู้สัญจรผ่านมักเร่งรีบเกินกว่าจะแวะจับจ่ายได้นานๆ จึงไม่ได้เอื้อให้เศรษฐกิจของย่านเฟื่องฟูมากนัก ทั้งยังมีภาวะแข่งขันทางการค้า ตลอดจนสภาพเศรษฐกิจโดยรวมเป็นปัจจัยร่วมด้วย
“ไม่คิดกังวล … ขายไม่ได้ก็หยุด”
ผู้จัดการร้าน “แพนด้าสุกี้”
หากเปลี่ยนทิศกลับไปทางซ้ายมือของหน้าห้าง จะพบซอยที่มีร้านแมคโดนัลด์อยู่ติดถนนใหญ่ ซึ่งถ้าเดินจากแฟรนไชส์จานด่วนลึกเข้าไปด้านใน เราจะพบ “แพนด้าสุกี้” ร้านอาหารเก่าแก่ที่เกิดปีเดียวกับสวนสัตว์พาต้า แม้เป็ดย่างที่เสิร์ฟพร้อมถั่วลิสงอบของร้านจะเป็นที่กล่าวขานบนโลกออนไลน์ แต่สำหรับ ธนกฤต ปัญจพลาสม ผู้บริหารในวัยเลขหก สภาพทุกวันนี้เทียบไม่ได้เลยกับช่วงเปิดใหม่ๆ ที่ “ขายดีทุกวัน”
เป็ดย่าง บะหมี่หยก และข้าวอบ เมนูแนะนำของร้านแพนด้าสุกี้
สำหรับเรื่องที่ร้านเงียบไปนานก่อนกระแสการแชร์มาช่วยไว้ เขาเอ่ยว่า “คนทั่วไปเข้าใจว่าร้านปิด” จากสภาพภายนอกซึ่งไม่ได้ปรับปรุงจนมองไกลๆ เหมือนกับร้าง
เขายังกล่าวว่า ตนเห็นการเปลี่ยนแปลงจากจุดที่ถนนสมเด็จพระปิ่นเกล้ามี “รถวิ่งไปมานับคันได้” ผ่านสมัยที่พาต้ายังคลาคล่ำด้วยผู้คน จนถึงปัจจุบันที่ชุมชนละแวกนี้ดู “สงบกว่าเก่า”
“ไม่คิดกังวล” ธนกฤตกล่าวถึงอนาคต “ขายไม่ได้ก็หยุด”
การค้าในย่านอาจไม่ใช่สิ่งเดียวที่ถดถอย บางยี่ขันทั้งแขวงมีผู้อาศัยลดลงกว่าร้อยละ 40 ในเวลาเพียง 25 ปี (นับจาก พ.ศ.2536 ถึง พ.ศ.2561) หรือลดลงเฉลี่ยปีละเกือบ 700 คน จำนวนประชากรที่น้อยลงจะหมายถึงความต้องการซื้อที่น้อยลง และมักตามมาด้วยห่วงโซ่ของปัญหา
ธุรกิจต่างๆ มียอดขายต่ำลง จนอาจต้องปรับลดราคาสินค้าหรือปิดกิจการ พอทั้งย่านมีโอกาสทำกำไรได้น้อยก็ไม่ดึงดูดผู้ลงทุนรายใหม่ๆ การพัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวกในชุมชนก็อาจต้องชะลอลงเพราะงบประมาณถูกโยกไปให้พื้นที่ที่เติบโตมากกว่า
ไม่ว่าผลพวงเช่นนั้นเกิดขึ้นอย่างไรกับพื้นที่นี้ ผู้คนก็ยังดำรงชีพต่อไปตามอัตภาพอย่างที่ผู้ไปเยือนจะพบเจอได้
และแม้อดีตจะมีอะไรดีๆ ที่เลยผ่าน แต่เมื่อถามผู้จัดการร้านจินดาโอสถ ถึงสมัยที่บรรยากาศของย่านยังร่มรื่น เปรียบกันกับทุกวันนี้ที่มันหายไปเพราะความเจริญ เขาตอบว่า “ความจริงมันจะเป็นแบบเดิมไม่ได้”
ฝนเพิ่งหยุดตกไม่กี่ชั่วโมงก่อน ฝากความเปียกชุ่มไว้บนพื้นดาดฟ้าตึก นักท่องเที่ยวรายสุดท้ายก้าวพ้นประตูไป พ้นจากสายตาสรรพชีวิตที่จะอยู่บนนี้ยามสิ้นแสงตะวัน
การหมุนรอบตัวเองของโลกช่วยพาเรากลับมาเจอภาพอาทิตย์อัสดงในทุกวัน แต่การเดินทางของ ‘เวลา’ ไม่เคยวนมาที่เก่า ทันทีที่ผ่านพ้นไปแล้วก็ไม่เคยย้อนคืนได้อีก
การผันเปลี่ยนยังคงดำเนินต่อไปกับปิ่นเกล้า จะมีสิ่งใดบ้างไหมในย่านนั้นที่จะวนกลับที่เก่า แบบที่แสงอาทิตย์ส่องฉายอีกครั้งในวันใหม่
Like this:
Like Loading...
เรื่องและภาพ : พสิษฐ์ มนัสเพียรเลิศ
จากชั้นบนสุดของอาคารหลังหนึ่ง แสงยามเย็นส่องผ่านข่ายลวด เห็นเป็นประกายงดงาม เหมือนดวงอาทิตย์กำลังบอกลาก่อนตกลับไป
ที่นั่นถูกเรียกว่า “สวนสัตว์” นักท่องเที่ยวคนหนึ่งยืนมองลิงสองตัวจากภายนอกกรง ลิงตัวเล็กขนขาวย้ายมาเกาะตรงมุม “ส่วนจัดแสดง” ราวกับอยากสังเกตแขกต่างถิ่นใกล้ๆ ตาดวงน้อยคู่นั้นชี้ว่ามันยังเด็กมาก คงไม่เคยเห็นบ้านแห่งนี้สมัยที่มีมนุษย์มาเยี่ยมชมไม่ขาดสาย
ตัวอาคารที่กล่าวถึงนี้คือ “พาต้าปิ่นเกล้า” ซึ่งตั้งอยู่ริมถนนสมเด็จพระปิ่นเกล้ามานานกว่าสามทศวรรษ ถนนที่ยาวเพียงหนึ่งกิโลเมตรกว่าๆ นี้เป็นส่วนหนึ่งของย่านที่เรียกกันว่า “ปิ่นเกล้า” ซึ่งครอบคลุมพื้นที่ฝั่งธนบุรี ตั้งแต่ทางตะวันออกเฉียงเหนือของแขวงอรุณอมรินทร์ ไปจนถึงตอนใต้ของแขวงบางยี่ขัน
ถ้าพูดถึงปิ่นเกล้าในวันนี้ คนส่วนมากคงคุ้นกับเหล่าห้างดังประจำถิ่น อย่างเซ็นทรัลปิ่นเกล้าและเมเจอร์ซีนีเพล็กซ์ แต่สำหรับผู้อยู่ในท้องที่มานาน พวกเขาสามารถบอกเล่าประสบการณ์ตรงได้ว่า ความเจริญของปิ่นเกล้าแต่เดิมนั้นเริ่มต้นทางฝั่งบางยี่ขัน
บนถนนอรุณอมรินทร์ที่ทอดสู่สะพานพระราม 8 เราจะพบร้านสินชัยโภชนาซึ่งเริ่มต้อนรับลูกค้าเวลาห้าโมงเย็นของทุกวัน หฤษฎ์ ขุนเปีย ทายาทวัย 46 ปีของร้าน เล่าย้อนถึงตอนที่พ่อแม่เพิ่งมาตั้งธุรกิจที่นี่ใหม่ๆ สมัยตนยังเด็กว่า แม้ตอนนั้นจะมีถนนตัดไปถึงสะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้าแล้ว พื้นที่โดยรอบหลายส่วนก็เป็นสวนหรือไร่อยู่
พอเทียบบรรยากาศรอบบ้านตนเวลานั้นกับอีกฝั่งแม่น้ำซึ่งเจริญล้ำหน้า เขาจึงเรียกพื้นที่ตรงนี้ว่า “ชายแดนกรุงเทพฯ”
ในยุคบุกเบิกความเจริญนั้น จุดที่นับว่าน่าสนใจที่สุดของปิ่นเกล้าตั้งอยู่ทางตะวันตกเฉียงใต้ของบางยี่ขัน ได้แก่ ห้างพาต้าปิ่นเกล้า ห้างสรรพสินค้าแห่งแรกในย่านซึ่งเปิดทำการเมื่อปลายปีพ.ศ.2525
บนชั้นหกและเจ็ดของห้างนี้เป็นที่ตั้งของ “สวนสัตว์พาต้า” ซึ่งเมื่อ 36 ปีก่อน ถือเป็นสวนสัตว์เอกชนแห่งเดียวในประเทศและเพิ่งเริ่มเปิดทำการ
ปัจจุบันสวนสัตว์แห่งนี้ยังคงเปิดให้บริการอยู่ พร้อมมีสัตว์หลากหลายถึง 100 สายพันธุ์ และมีการแสดงให้ชม เช่น กายกรรม มายากล รวมทั้งละครลิงคณะสุดท้ายของไทยซึ่งมีรอบแสดงประจำที่นี่ที่เดียวในกรุงเทพฯ
การมีลิฟต์แก้วเลื่อนขึ้นลงอยู่ริมอาคารในยุคที่ลิฟต์ของห้างอื่นล้วนปิดทึบ และการมีสัตว์พื้นถิ่นของทวีปแอฟริกาอย่างกอริลล่า (ซึ่งคนนิยมเรียกกันว่า “คิงคอง”) เลี้ยงเอาไว้ให้ชมบนยอดตึก ทำให้พาต้าปิ่นเกล้ามีชื่อเสียงโด่งดัง อย่างที่ทายาทร้านสินชัยโภชนาลงความเห็นว่า “เจ๋งที่สุดในบรรดาห้างทั่วๆ ไปในตอนนั้น”
บริเวณโดยรอบของห้างนี้ยังมีหลายจุดเป็นเหมือนหมุดหมายแห่งอดีต จากหน้าห้างเดินไปทางขวาไม่ถึง 200 เมตร จะพบร้านจำหน่ายอุปกรณ์การแพทย์จินดาโอสถ ซึ่งอยู่ตรงนี้มาก่อนห้างเกิดเสียอีก และมีเรื่องราวมากมายในปิ่นเกล้าที่ผู้สืบทอดรุ่นสองของกิจการสามารถบอกเล่าได้
สุรเทพ เหลืองธาดา วัย 77 ปี ย้อนความหลังว่าเดิมตำแหน่งที่ตั้งร้านเป็นสวนผลไม้ สมัยนั้นถนนภายนอกร้านมีเพียงสองเลน ไม่มีสะพานลอยตั้งอยู่อย่างปัจจุบัน
กระทั่งความเจริญด้านสาธารณูปโภคเข้ามาเปลี่ยนโฉมหน้าพื้นที่โดยรอบ ถนนถูกปรับขยายจนกว้างสุดถึงหกเลน และเชื่อมต่อถนนสายต่างๆ ทำให้การเดินทางสะดวกขึ้นมาก แถมมีห้างที่เป็นกระแสนิยมในยุคหนึ่งมาเปิดใกล้บ้าน อย่างที่เขาบอกว่า “ฮิตมาก ใครๆ ก็มาพาต้า”
ปัจจุบัน แม้หน้าห้างดังกล่าวมีผู้คนมารอรถเมล์อยู่เป็นประจำ แต่เจ้าของกิจการผู้เห็นความเป็นไปในท้องที่มา 45 ปีให้ความเห็นว่า เนื่องจากผู้สัญจรผ่านมักเร่งรีบเกินกว่าจะแวะจับจ่ายได้นานๆ จึงไม่ได้เอื้อให้เศรษฐกิจของย่านเฟื่องฟูมากนัก ทั้งยังมีภาวะแข่งขันทางการค้า ตลอดจนสภาพเศรษฐกิจโดยรวมเป็นปัจจัยร่วมด้วย
หากเปลี่ยนทิศกลับไปทางซ้ายมือของหน้าห้าง จะพบซอยที่มีร้านแมคโดนัลด์อยู่ติดถนนใหญ่ ซึ่งถ้าเดินจากแฟรนไชส์จานด่วนลึกเข้าไปด้านใน เราจะพบ “แพนด้าสุกี้” ร้านอาหารเก่าแก่ที่เกิดปีเดียวกับสวนสัตว์พาต้า แม้เป็ดย่างที่เสิร์ฟพร้อมถั่วลิสงอบของร้านจะเป็นที่กล่าวขานบนโลกออนไลน์ แต่สำหรับ ธนกฤต ปัญจพลาสม ผู้บริหารในวัยเลขหก สภาพทุกวันนี้เทียบไม่ได้เลยกับช่วงเปิดใหม่ๆ ที่ “ขายดีทุกวัน”
สำหรับเรื่องที่ร้านเงียบไปนานก่อนกระแสการแชร์มาช่วยไว้ เขาเอ่ยว่า “คนทั่วไปเข้าใจว่าร้านปิด” จากสภาพภายนอกซึ่งไม่ได้ปรับปรุงจนมองไกลๆ เหมือนกับร้าง
เขายังกล่าวว่า ตนเห็นการเปลี่ยนแปลงจากจุดที่ถนนสมเด็จพระปิ่นเกล้ามี “รถวิ่งไปมานับคันได้” ผ่านสมัยที่พาต้ายังคลาคล่ำด้วยผู้คน จนถึงปัจจุบันที่ชุมชนละแวกนี้ดู “สงบกว่าเก่า”
“ไม่คิดกังวล” ธนกฤตกล่าวถึงอนาคต “ขายไม่ได้ก็หยุด”
การค้าในย่านอาจไม่ใช่สิ่งเดียวที่ถดถอย บางยี่ขันทั้งแขวงมีผู้อาศัยลดลงกว่าร้อยละ 40 ในเวลาเพียง 25 ปี (นับจาก พ.ศ.2536 ถึง พ.ศ.2561) หรือลดลงเฉลี่ยปีละเกือบ 700 คน จำนวนประชากรที่น้อยลงจะหมายถึงความต้องการซื้อที่น้อยลง และมักตามมาด้วยห่วงโซ่ของปัญหา
ธุรกิจต่างๆ มียอดขายต่ำลง จนอาจต้องปรับลดราคาสินค้าหรือปิดกิจการ พอทั้งย่านมีโอกาสทำกำไรได้น้อยก็ไม่ดึงดูดผู้ลงทุนรายใหม่ๆ การพัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวกในชุมชนก็อาจต้องชะลอลงเพราะงบประมาณถูกโยกไปให้พื้นที่ที่เติบโตมากกว่า
ไม่ว่าผลพวงเช่นนั้นเกิดขึ้นอย่างไรกับพื้นที่นี้ ผู้คนก็ยังดำรงชีพต่อไปตามอัตภาพอย่างที่ผู้ไปเยือนจะพบเจอได้
และแม้อดีตจะมีอะไรดีๆ ที่เลยผ่าน แต่เมื่อถามผู้จัดการร้านจินดาโอสถ ถึงสมัยที่บรรยากาศของย่านยังร่มรื่น เปรียบกันกับทุกวันนี้ที่มันหายไปเพราะความเจริญ เขาตอบว่า “ความจริงมันจะเป็นแบบเดิมไม่ได้”
ฝนเพิ่งหยุดตกไม่กี่ชั่วโมงก่อน ฝากความเปียกชุ่มไว้บนพื้นดาดฟ้าตึก นักท่องเที่ยวรายสุดท้ายก้าวพ้นประตูไป พ้นจากสายตาสรรพชีวิตที่จะอยู่บนนี้ยามสิ้นแสงตะวัน
การหมุนรอบตัวเองของโลกช่วยพาเรากลับมาเจอภาพอาทิตย์อัสดงในทุกวัน แต่การเดินทางของ ‘เวลา’ ไม่เคยวนมาที่เก่า ทันทีที่ผ่านพ้นไปแล้วก็ไม่เคยย้อนคืนได้อีก
การผันเปลี่ยนยังคงดำเนินต่อไปกับปิ่นเกล้า จะมีสิ่งใดบ้างไหมในย่านนั้นที่จะวนกลับที่เก่า แบบที่แสงอาทิตย์ส่องฉายอีกครั้งในวันใหม่
Share this:
Like this: