Education Social Issue

นิสิตโอด ทางเท้า-อาคารจุฬาฯ ไม่เอื้อต่อผู้พิการ

นิสิตพิการและผู้ที่มีปัญหาสุขภาพชี้ว่าสภาพทางเท้าและอาคารในจุฬาฯ ไม่เอื้ออำนวยต่อการใช้ชีวิต ด้านเจ้าหน้าที่เผยไม่ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากรัฐบาลเนื่องจากไม่มีโครงการรับผู้พิการโดยตรง

เรื่อง: นวจิต เอื้ออภินันท์สกุล และ ปวีธิดา อโนมกิติ

ภาพ: พชรกฤษณ์ โตอิ้ม

นิสิตพิการและผู้ที่มีปัญหาสุขภาพชี้ว่าสภาพทางเท้าและอาคารในจุฬาฯ ไม่เอื้ออำนวยต่อการใช้ชีวิต ด้านเจ้าหน้าที่เผยไม่ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากรัฐบาลเนื่องจากไม่มีโครงการรับผู้พิการโดยตรง ทำให้ไม่มีสภาพแวดล้อมและสิ่งอำนวยความสะดวกที่ครบวงจรสำหรับนิสิตพิการ 

ปวินท์ เปี่ยมไทย นิสิตคณะวิศวกรรมศาสตร์ชั้นปีที่ 4 ซึ่งเป็นผู้พิการทางสายตาทั้งสองข้างเผยว่า ปัญหาที่ประสบมาตั้งแต่เข้าศึกษาในชั้นปีที่ 1 คือ ทางเท้าของจุฬาฯในบางพื้นที่ไม่มีเบรลล์บล็อกที่เป็นตัวช่วยในการเดินทางของคนตาบอด มีสิ่งกีดขวางอยู่บนทางเท้าเป็นระยะ ๆ ทั้งยังมีจุดข้ามถนนที่ปลอดภัยอยู่เป็นจำนวนน้อย นอกจากนี้ ลิฟต์ในอาคารบางแห่งจะไม่มีปุ่มนูนหรือไม่มีเสียงบอกหมายเลขชั้น ทำให้เกิดความยากลำบากในการเดินทางภายในมหาวิทยาลัยและภายในอาคาร 

“ตอนเข้ามาปี 1 วันแรกๆ ก็จะใช้ไม้เท้าช่วยเวลาเดินในฝั่งใหญ่ แต่ก็ทางเดินของจุฬาฯ ไม่ค่อยมีเบรลล์บล็อก มันก็จะอันตราย เวลาข้ามถนนก็ต้องให้คนอื่นช่วย หรือถ้าเดินเองแล้วยากมากจริงๆ ก็จะนั่งมอเตอร์ไซค์แทน พอผ่านไปพักนึงก็จะมีเพื่อนที่เรียนด้วยกันอาสามาช่วยนำทาง มันก็ง่ายขึ้น แต่พื้นต่างระดับบางที่ก็ยังเป็นปัญหาอยู่ดี ตอนนี้ก็เหมือนใช้ความเคยชินร่วมด้วย แต่ถึงเราจะชินแล้ว เรื่องความอันตรายของการเดินทางมันก็ยังเป็นปัญหาอยู่ดี” ปวินท์กล่าว

ทางเท้าและทางม้าลายด้านข้างอาคารจามจุรี 5

ด้านเมธัส แก้วดำ นิสิตคณะนิเทศศาสตร์ ซึ่งเคยประสบอุบัติเหตุจนต้องเข้าเฝือกและไม่สามารถเดินทางได้สะดวกได้ชี้ปัญหาใหญ่ที่พบ คือพื้นอาคารในจุฬาฯ จะถูกยกสูงกว่าพื้นทางเดิน แต่อาคารหลายแห่งไม่มีทางลาดให้นิสิตขึ้นไปได้อย่างสะดวก รวมถึงไม่มีลิฟต์ในตัวอาคารด้วย 

“ทางเดินของจุฬาฯ ไม่ค่อยมีเบรลล์บล็อก มันก็จะอันตราย เวลาข้ามถนนก็ต้องให้คนอื่นช่วย หรือถ้าเดินเองแล้วยากมากจริงๆ ก็จะนั่งมอเตอร์ไซค์แทน”

ปวินท์ เปี่ยมไทย นิสิตคณะวิศวกรรมศาสตร์

ศรีล สุวรรณแสง เจ้าหน้าที่ฝ่ายทุนการศึกษาและบริการนิสิต สำนักบริหารกิจการนิสิต ซึ่งรับหน้าที่ดูแลนิสิตพิการ กล่าวว่า ถึงแม้ว่าจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจะมีทางลาดหรือลิฟต์สำหรับการใช้งานในบางอาคาร แต่การใช้งานจริงกลับไม่เอื้ออำนวยความสะดวกให้กับผู้พิการได้อย่างที่ควรจะเป็น เช่น หากต้องการเดินทางจากศูนย์หนังสือจุฬาฯ ไปตึกจุลจักรพงศ์โดยใช้ทางของคนพิการ จำเป็นต้องอ้อมไปด้านหลังของตึกจึงจะขึ้นได้ หรือถ้าต้องการใช้ลิฟต์ของตึกบรมราชกุมารี คณะอักษรศาสตร์ตั้งแต่ชั้น 1 จะต้องขออนุญาตเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยประจำคณะถึงจะสามารถใช้งานได้ แต่ที่นั่งประจำของเจ้าหน้าที่จะอยู่ที่ชั้น 2

 “เท่าที่สำรวจมา ในจุฬาฯ เรามีนิสิตพิการประมาณสิบคนอยู่กระจายไปตามคณะต่างๆ โดยมีความพิการหลากหลาย เช่น หูหนวก ตาบอด พิการทางร่างกาย และมีออทิสติกด้วยบางส่วน ทั้งนี้เป็นเพราะทางจุฬาฯ ไม่ได้มีโควตารับนิสิตพิการโดยตรง ไม่เหมือนมหาวิทยาลัยอื่นที่มีโควตาเปิดให้เป็นห้องสำหรับนิสิตพิการ เลยทำให้สภาพแวดล้อมไม่ได้รองรับนิสิตที่มีความพิการได้ดีเท่าที่ควร” ศรีลกล่าว 

ทางลาดสำหรับเข้าอาคารพินิตประชานาถ ซึ่งเป็นทั้งโรงอาหารและอาคารเรียน

เจ้าหน้าที่ฝ่ายทุนการศึกษาและบริการนิสิตกล่าวว่า สำนักบริหารกิจการนิสิตจะให้การดูแลนิสิตพิการเป็นรายบุคคลตามความต้องการของนิสิตแต่ละคน โดยมีสิ่งอำนวยความสะดวกให้กับนิสิตพิการ ได้แก่ เครื่องพิมพ์อักษรเบรลล์สำหรับนิสิตที่มีความบกพร่องทางสายตา โปรแกรมอ่านด้วยเสียงสำหรับนิสิตที่มีความพิการทางการได้ยิน และให้ความช่วยเหลือด้านทุนการศึกษาแก่นิสิตพิการ

ศรีลเสริมว่านิสิตผู้พิการบางคนอาจไม่ประสงค์จะเปิดเผยตัวตนหรือต้องการความช่วยเหลือจากเจ้าหน้าที่สำนักบริหารกิจการนิสิต จึงเป็นเหตุให้ไม่สามารถตรวจสอบจำนวนนิสิตพิการได้อย่างแน่ชัดและให้ความช่วยเหลือได้ไม่ทั่วถึง นอกจากนี้ เนื่องจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยไม่มีโครงการที่รับนิสิตพิการอย่างเป็นทางการ จึงไม่สามารถของบประมาณจากหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องมาช่วยเหลือได้

%d bloggers like this: