Environment Lifestyle

กระแสกล้องฟิล์มสร้างขยะทำลายยาก นักวิชาการแนะต้องจัดการขยะเป็นระบบ-ทั่วถึง

กระแสนิยมใช้กล้องฟิล์มส่งผลให้ขยะจากการล้างฟิล์มเพิ่มขึ้น ร้านล้างฟิล์มเผยสร้างขยะพลาสติกนับร้อยชิ้นต่อวัน ด้านผู้ใช้ยอมรับปัญหาขยะที่เกิดขึ้นจากการใช้กล้องฟิล์ม เห็นพ้องทุกฝ่ายควรเร่งหาทางแก้ไขและจัดการขยะ

เรื่อง: หนึ่งลภัส ฤทธิ์ดี และ ธนวิชญ์ วนาสุขพันธ์

ภาพ: พชรกฤษณ์​ โตอิ้ม

กระแสนิยมใช้กล้องฟิล์มส่งผลให้ขยะจากการล้างฟิล์มเพิ่มขึ้น ร้านล้างฟิล์มเผยสร้างขยะพลาสติกนับร้อยชิ้นต่อวัน ด้านผู้ใช้ยอมรับปัญหาขยะที่เกิดขึ้นจากการใช้กล้องฟิล์ม เห็นพ้องทุกฝ่ายควรเร่งหาทางแก้ไขและจัดการขยะ

จากกระเเสกล้องฟิล์มที่กลับมาเป็นที่นิยมในช่วงสอง-สามปีที่ผ่านมา ส่งผลให้ตลาดกล้องฟิล์มกลับมาคึกคักอีกครั้ง เเต่ขณะเดียวกัน ผลที่ตามมาคือขยะจากการล้างฟิล์มในเเต่ละครั้ง ไม่ว่าจะเป็นกลักฟิล์ม น้ำยาล้างฟิล์ม และแผ่นเนกาทีฟที่ทำจากเซลลูลอยด์ ซึ่งเป็นพลาสติกกึ่งสังเคราะห์ชนิดหนึ่งที่ยากต่อการทำลาย

“อย่างร้านเราวันนึงล้างฟิล์มตกประมาณ 200 ม้วนต่อวัน เท่ากับเราสร้างขยะเเล้วมหาศาล เราคิดเล่นๆ นะ ในกรุงเทพฯ ตอนนี้เราว่าตกประมาณ 5,000 ม้วนต่อวัน เผลอๆ เกินด้วย มีสิทธิ์ช่วงพีคๆ อาจจะถึง 20,000-30,000 ม้วนต่อวันได้ เฉพาะในกรุงเทพฯ นะ ไม่นับรวมประเทศที่ฮิตๆ ตอนนี้พวกเกาหลี ญี่ปุ่น ก็สร้างขยะฟิล์มได้เป็นแสนเป็นล้านม้วนได้” จักรพงศ์ ตะเคียนงาม เจ้าของร้านล้างฟิล์ม Xanap กล่าว

ผู้คนนิยมใช้กล้องฟิล์มถ่ายภาพเพราะชอบความสวยงามและความเป็นเอกลักษณ์ของภาพ

จักรพงศ์เสริมว่า ถึงเเม้ตนจะยินดีที่กระเเสกล้องฟิล์มกลับมาเเละทำให้กิจการของร้านดีขึ้น เเต่ก็ไม่ได้นิ่งนอนใจถึงปัญหาขยะที่เกิดขึ้น โดยยืนยันว่ากำลังเร่งหาวิธีจัดการกับขยะจากการล้างฟิล์มให้ได้มากที่สุดอยู่

เจ้าของร้านล้างฟิล์ม Xanap ยังบอกว่า การจัดการขยะที่เกิดขึ้นตอนนี้ คือการคัดเเยกขยะก่อนนำไปทิ้งเพื่อให้คนที่มารับขยะนำส่วนที่สามารถรีไซเคิลได้ไปใช้ เช่น กล่องฟิล์มพลาสติก แต่ขยะจำพวกกลักฟิล์มยังไม่สามารถหาคนรับไปรีไซเคิลได้ เพราะประกอบด้วยวัสดุสามส่วน คือ พลาสติก สังกะสี และกำมะหยี่ ทำให้ยากต่อการนำไปรีไซเคิล

อย่างไรก็ตาม จักรพงศ์กล่าวว่าร้านได้เชิญชวนให้ลูกค้ามารับแผ่นเนกาทีฟกลับไปเพื่อไม่ให้มีการทิ้งแผ่นเนกาทีฟไว้กับร้านซึ่งจะเป็นขยะต่อไป  โดยชี้ว่าเป็นการคงไว้ซึ่งความเป็นเอกลักษณ์ของการถ่ายภาพฟิล์ม นอกจากนี้ เขายังแนะลูกค้าให้ลดการใช้กล้องฟิล์มที่ใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้ง เพื่อไม่ให้เกิดขยะที่ยากต่อการทำลายอีก

“ร้านเราวันนึงล้างฟิล์มตกประมาณ 200 ม้วนต่อวัน เท่ากับเราสร้างขยะเเล้วมหาศาล”

จักรพงศ์ ตะเคียนงาม เจ้าของร้านล้างฟิล์ม Xanap

ด้านเตชินท์ เกิดพรพุทธมนต์ ผู้ใช้กล้องฟิล์มมาหกปี กล่าวว่า “อย่างเนกาทีฟ เราไม่เคยทิ้งเลยนะ เก็บไว้หมดเลย เนกาทีฟก็เหมือนต้นฉบับ บางทีเราเอาไปต่อยอดไปประกวดต่อได้อีก อย่างร้านล้างฟิล์มบางร้าน เช่น Xanap เมื่อก่อนไม่เคยทิ้งเนกาทีฟลูกค้าเลย แต่เดี๋ยวนี้พอคนใช้ตามกระแสเยอะขึ้น ร้านเริ่มมีนโยบายต้องทิ้งเนกาทีฟทุกๆ เดือน สองเดือน เพราะมันไม่มีที่เก็บ รู้สึกว่ามันเป็นสิ่งที่เราควรรับผิดชอบ”

ผศ.ดร.อัจฉริยา สุริยะวงศ์ อาจารย์ภาควิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ชี้ว่า ควรจัดการการแยกขยะจากการล้างฟิล์มให้เป็นระบบ เพราะขยะเหล่านี้นับเป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อม แม้จะไม่มีปริมาณมากเท่ากับขยะทั่วไปแล้ว แต่ก็ใช่ว่าผู้ใช้ทุกคนจะละเลยได้ เพราะขยะที่เกิดจากกล้องฟิล์มเหล่านี้ เป็นขยะที่ไม่สามารถเข้าระบบการรีไซเคิลทั่วไปได้ เนื่องจากเป็นวัสดุประกอบที่ติดกันหลายประเภทและมีสิทธิ์ปนเปื้อนกับสิ่งแวดล้อมได้ง่ายหากไม่ได้จัดการให้ถูกวิธี

นักวิชาการด้านวิศวกรรมสิ่งแวดล้อมกล่าวว่า การจัดการขยะเหล่านี้อาจเป็นเรื่องที่ท้าทายสำหรับภาครัฐและควรได้รับการร่วมมือกันจากหลายภาคส่วน​ เพราะจุดปล่อยขยะมีจำนวนเยอะและกระจายอยู่ทั่วทุกพื้นที่ ทำให้ระบบการจัดการอาจจะไม่ทั่วถึง ภาครัฐจึงควรเร่งหาวิธีจัดการให้มีจุดรับขยะอิเล็กทรอนิกส์ให้เหมาะสมกับปริมาณขยะ ทั้งยังเชื่อว่าอาจมีเทคนิคพิเศษในการจัดการขยะพลาสติก แต่อาจเพราะปริมาณขยะแต่ละจุดรวมกันแล้วไม่คุ้มทุนพอที่จะใช้เทคนิคดังกล่าวในการทำลายหรือย่อยสลายขยะเหล่านั้น

ร้านล้างฟิล์มแห่งหนึ่งในย่านสามย่านนำกลักฟิล์มที่ใช้แล้วมาวางไว้ให้ผู้สนใจนำไปทำเป็นพวงกุญแจได้ฟรี

ผศ.ดร.อัจฉริยาแนะว่าทางออกที่เป็นประโยชน์ที่สุดตอนนี้ คือการยืดระยะการใช้งานของขยะพลาสติกเหล่านั้นให้นานขึ้น โดยอาจนำไปผ่านกระบวนการใหม่เพื่อผลิตชิ้นส่วนใหม่ที่ราคาถูกลง เพื่อสร้างคุณค่าและลดการเกิดปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ปล่อยออกมาจากผลิตภัณฑ์เหล่านี้ตลอดวัฏจักรชีวิตของผลิตภัณฑ์

“คลินิกตามห้าง เขามีปัญหาเรื่องขยะติดเชื้อ พอมีหน่วยงานภาครัฐเข้ามาช่วยสร้างระบบขึ้นมาจัดการขยะพวกนี้ได้ มันก็ง่ายขึ้น ร้านล้างฟิล์มก็ทำได้เช่นกัน แค่มันต้องมีระบบรองรับที่เหมาะสม มันคงห้ามเทรนด์ที่มา หรือจะไปห้ามไม่ให้เขาใช้เลยก็คงไม่ได้ ทางที่ดีคือการสร้างระบบมารองรับให้ดีจะดีกว่า” ผศ.ดร.อัจฉริยา สุริยะวงศ์ กล่าว

ขยะที่เกิดจากกล้องฟิล์มเป็นขยะที่ไม่สามารถเข้าระบบการรีไซเคิลทั่วไปได้ เนื่องจากเป็นวัสดุประกอบที่ติดกันหลายประเภท และมีสิทธิ์ปนเปื้อนกับสิ่งแวดล้อมได้ง่ายหากไม่ได้จัดการให้ถูกวิธี

ผศ.ดร.อัจฉริยา สุริยะวงศ์ ภาควิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ

ผู้สื่อข่าวสำรวจความเห็นผู้ใช้กล้องฟิล์มจำนวน 66 คนทางแบบสอบถามออนไลน์ พบว่าผู้ใช้ส่วนมากใช้งานกล้องฟิล์มมาเป็นระยะเวลาระหว่าง 6 เดือนถึง 1 ปี โดยสาเหตุที่เลือกใช้กล้องฟิล์มส่วนใหญ่มาจากชอบความสวยงามเเละความเป็นเอกลักษณ์ของภาพฟิล์ม รวมถึงกระแสนิยมที่กลับมาจึงทำให้หันมาสนใจกล้องฟิล์มมากขึ้น

ผู้ตอบแบบสอบถามล้างฟิล์มเฉลี่ยต่อเดือนประมาณ 1-2 ม้วน เเละผู้ใช้ส่วนมากระบุว่าไม่ทิ้งแผ่นเนกาทีฟไว้ที่ร้าน แต่ก็ยอมรับว่ายังมีขยะส่วนอื่นนอกจากแผ่นเนกาทีฟที่เกิดจากการล้างฟิล์ม

ผลสำรวจยังพบว่าผู้ใช้ส่วนมากทราบถึงปัญหาขยะที่เกิดขึ้นจากการใช้กล้องฟิล์ม เเต่ก็มีผู้ใช้ไม่น้อยที่คิดว่ามีเพียงน้ำยาที่เหลือจากการล้างฟิล์มเท่านั้นที่นับเป็นขยะ เพราะคิดว่าการนำเนกาทีฟและกลักฟิล์มกลับบ้านจะไม่ส่งผลให้เกิดปัญหาขยะใดๆ ตามมา

ผู้ตอบแบบสอบถามได้เสนอแนวทางการลดขยะจากกล้องฟิล์ม เช่น การใช้แอปพลิเคชั่นกล้องฟิล์มในการถ่ายภาพแทน การค้นหานวัตกรรมการล้างฟิล์มแบบใหม่เพื่อให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น หรือการนำพลาสติกขยะต่างๆ มารีไซเคิลหรือใช้ใหม่ โดยอาจนำไปทำขาเทียมหรือของสะสมจำพวกพวงกุญแจ เป็นต้น

%d bloggers like this: