Community

ชมห้องแถวโบราณของชาวจีนอพยพแห่งย่านการค้าในอดีต ที่ชุมชนชานกรุงฯ “มีนบุรีอุปถัมภ์”

มีนบุรีอุปถัมภ์ ชุมชนเก่าแก่ร่วมร้อยปี ที่ตั้งของสถาปัตยกรรมไทยจีนสุดคลาสสิคริมคลองแสนแสบ ณ ชานกรุงฯ ฝั่งตะวันออก

เรื่อง: ภาวิตา แจ่มคล้าย และ จิตรสินี กิจปกครอง
ภาพ: จิตรสินี กิจปกครอง

ถนนรามคำแหงที่ทอดยาวขนานเลียบคลองแสนแสบในเขตมีนบุรี เต็มไปด้วยรถราวิ่งสวนกันไปมาไม่ขาดสาย คู่เคียงไปกับการก่อสร้างสถานีรถไฟฟ้าสายสีส้มที่จะเข้ามาช่วยเพิ่มความสะดวกสบายในการสัญจร มีชุมชนไทย-จีนแห่งหนึ่งชื่อ “ชุมชนมีนบุรีอุปถัมภ์” ซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยของชาวบ้านราว 164 ครัวเรือน ชุมชนแห่งนี้ยังคงไว้ซึ่งสถาปัตยกรรมของชุมชนชาวจีนอพยพที่มีลักษณะเฉพาะตัว

ชาวบ้านในชุมชนเล่าว่า พระยาภักดีนรเศรษฐ (เลิศ เศรษฐบุตร) ซึ่งเป็นที่รู้จักในฐานะผู้ริเริ่มนำรถโดยสารประจำทางเข้ามาใช้ในประเทศไทยด้วยการเปิดให้บริการรถเมล์นายเลิศ หรือรถเมล์ขาว เมื่อปี พ.ศ. 2428 ในสมัยปลายรัชกาลที่ 5 มาบุกเบิกพื้นที่ด้วยการก่อสร้างอาคารพาณิชย์และบ้านเรือนให้เช่า ชาวจีนจึงอพยพเข้ามาตั้งรกรากที่นี่ 

ปัจจุบันชุมชนมีนบุรีอุปถัมภ์จึงเป็นที่อยู่ของหลากหลายครอบครัวซึ่งส่วนใหญ่สืบเชื้อสายไทย-จีน และอยู่อาศัยในบ้านเรือนของบรรพบุรุษที่ถูกส่งต่อกันมาหลายรุ่น

ที่พักอาศัยของชาวชุมชนภายในชุมชนมีนบุรีอุปถัมภ์ และถนนสายหลักที่ชาวชุมชนใช้เดินทางสัญจรไปมา ซึ่งสามารถเชื่อมต่อไปถึงตลาดเก่ามีนบุรีได้

“ในอดีตคนที่อาศัยอยู่ในชุมชนมีนบุรีอุปถัมภ์เป็นชาวจีนอพยพ ส่วนใหญ่มีเชื้อสายจีนแต้จิ๋ว ก็มีอยู่หลากหลายตระกูลหรือแซ่ แต่ที่เยอะที่สุดคือแซ่โหง้” สมบัติ ผลโพธิ์ หรือ อั๋น วัย 50 ปี  ชาวบ้านที่อาศัยอยู่ในชุมชนมาตั้งแต่ยังเด็ก พาเดินชมชุมชนโดยรอบและเล่าความเป็นมาของชุมชนให้ฟัง

ลุงอั๋นยังเล่าอีกว่า ในยุคบุกเบิกชาวจีนเข้ามาเช่าบ้าน ปลูกผัก และทำอาชีพต่างๆ ซึ่งร่องรอยวัฒนธรรมจีนที่ยังคงอยู่คู่ชุมชนมาถึงปัจจุบันคือ ศาลเจ้าเจียวตี้เหล่าเอี๊ยะที่ตั้งอยู่บนพื้นที่สาธารณะของชุมชน และยังคงมีการจัดแสดงงิ้วเป็นประจำในเดือนพฤษภาคมของทุกปี เพื่อถวายแด่เจ้าพ่อศาลเจ้า ซึ่งผู้มีจิตศรัทธาเชื่อว่า ท่านจะคอยปกปักรักษาชุมชน

ศาลเจ้าเจียวตี้เหล่าเอี๊ยะ ศาลเจ้าจีนโบราณ ตั้งอยู่ริมคลองแสนแสบทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของชุนชน  

ศาลเจ้าเจียวตี้เหล่าเอี๊ยะ ซึ่งมีชื่อเรียกสั้นๆ ว่า “ศาลเจ้าพ่อมีนบุรี” ตั้งสง่าอยู่ริมคลองแสนแสบ เป็นหนึ่งในสถานที่สำคัญที่อยู่คู่ชุมชนมากว่า 80 ปี นับตั้งแต่มีการอพยพเข้ามาตั้งรกรากของชาวจีน ศาลเจ้าแห่งนี้ถือเป็นสักการสถาน ที่ชาวชุมชนมีนบุรีอุปภัมป์และผู้เดินทางเข้ามาเยี่ยมชมชุมชนต่างเคารพบูชามาช้านาน 

นอกจากนี้ยังมีสถาปัตยกรรมไทย-จีนสุดคลาสสิคประจำชุมชนอายุร่วมร้อยปี คือ อาคารห้องแถวโบราณ ชาลี ยงยืนชัย หรือ เชน วัย 54  ปี ประธานกรรมการชุมชน ผู้อาศัยอยู่ในชุมชนมาตั้งแต่ยังเล็ก ให้ข้อมูลว่า ห้องแถวโบราณในชุมชนมีนบุรีอุปถัมภ์ แบ่งเป็น 3 ยุค

อาคารห้องแถวโบราณ สถาปัตยกรรมจีนดั้งเดิมที่แต่เดิมทีเคยเป็นที่พักอาศัยของชาวชุมชน

ยุคแรกถูกสร้างขึ้นในช่วงราวปี พ.ศ.  2448 เป็นอาคารที่สร้างจากอิฐมวลแดง ซึ่งเมื่อมีผู้เชี่ยวชาญนำตัวอย่างอิฐไปตรวจ และพบว่าเป็นอิฐนำเข้าจากต่างประเทศที่ไม่สามารถผลิตได้ในประเทศไทย ส่วนยุคที่ 2 นั้น เป็นอาคารที่สร้างจากปูน ตั้งเรียงรายถัดไปจากอาคารยุคแรก และยุคที่ 3 ถูกสร้างเป็นอาคารไม้ 

หากมองขึ้นไปบนหลังคาของอาคารห้องแถวโบราณ จะพบเห็นกระเบื้องที่มีลวดลายเป็นรูปวงกลมล้อมด้วยกากบาทสี่เหลี่ยม ซึ่งมีชื่อเรียกว่า “ตราขนมกง” อันเป็นสัญลักษณ์ของพระยาภักดี  นรเศรษฐ์ หรือ นายเลิศ เศรษฐบุตร ผู้บุกเบิกชุมชนมาตั้งแต่ปลายสมัยรัชกาลที่ 5

ด้วยเอกลักษณ์ที่ยากจะพบเห็นของสถาปัตยกรรมโบราณแห่งนี้ จึงทำให้อาคารห้องแถวโบราณกลายเป็นหนึ่งในสถานที่ยอดนิยมที่หลาย ๆ กองถ่ายละครภาพยนตร์เลือกมาใช้ถ่ายทำเป็นฉากหลังของภาพยนตร์ ละครโทรทัศน์ และโฆษณามาแล้วไม่น้อย

แผนผังอาคารห้องแถวโบราณทั้ง 3 ยุคสมัย
ในชุมชนมีนบุรีอุปถัมภ์

บทสนทนากับชาวบ้านในชุมชน ชวนให้เรามองย้อนกลับไปในอดีตที่ชุมชนแห่งนี้เคยเป็นดั่งย่านการค้าที่คลาคล่ำไปด้วยผู้คน  แต่เมื่อวันเวลาผลัดเปลี่ยน วิถีชีวิตของผู้คนที่เคยหาเลี้ยงชีพในพื้นที่ชุมชนเปลี่ยนไป หลายครอบครัวมุ่งหน้าไปใช้ชีวิตนอกชุมชนกันมากขึ้น ผนวกกับเหตุการณ์อัคคีภัยครั้งใหญ่เมื่อปี 2538  ที่โรงนึ่งปลาทูซึ่งตั้งอยู่บริเวณตลาดมีนบุรี ห่างจากชุมชนประมาณ 150 เมตร ยิ่งส่งผลให้ผู้คนในชุมชนลดลงถนัดตา เนื่องจากเกรงว่าบ้านเรือนของตนนั้นเสี่ยงต่อการเกิดอัคคีภัย ทำให้ในเพลานี้ชุมชนที่เคยครึกครื้นเมื่อครั้งอดีตกลับเงียบสงบลงถนัดตา

เหตุการณ์อัคคีภัยดังกล่าวยังผลความเสียหายสู่สถาปัตยกรรมตึกแถวอันเป็นสัญลักษณ์สำคัญของชุมชนแห่งนี้ไปไม่น้อย

อย่างไรก็ตาม  อาคารบ้านเรือนที่ยังคงหลงเหลืออยู่ในชุมชนแห่งนี้ก็เป็นแหล่งเรียนรู้ทางด้านสถาปัตยกรรมที่บุคคลภายนอกสามารถเข้ามาเยี่ยมชมและศึกษาได้

บรรยากาศบ้านเรือนที่ชาวชุมชนอยู่อาศัยและใช้ชีวิตประจำวัน

หากอยากเห็นว่าภายในบ้านโบราณเป็นอย่างไร สามารถดูได้ที่ห้องสมุดชุมชนซึ่งเป็นอาคารไม้  2 ชั้น ที่มีขนาด 5×9 เมตร โดยประมาณ เดิมเป็นห้องเช่าเก่าที่ไม่ได้ใช้งาน แต่ถูกปรับให้เป็นห้องสมุดชุมชนเมื่อปี พ.ศ. 2552 ซึ่งตั้งอยู่ริมถนนสายหลักของชุมชน ข้างร้านขายของชำธงฟ้า 

ห้องสมุดแห่งนี้เกิดจากความร่วมมือของทีมนักศึกษาด้านสถาปัตยกรรมศาสตร์จากนอร์เวย์ TYIN tegnestue/Local Community ที่ได้เข้ามาใช้ความรู้ทางสถาปัตยกรรมในการช่วยพัฒนาชุมชนเพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ที่มุ่งส่งเสริมให้คนในชุมชนสนใจรักการอ่าน โดยผนังห้องสมุดชั้นล่างถูกปรับเป็นชั้นวางหนังสือหลากสีสัน เดินลึกเข้าไปถึงห้องด้านหลังจะเป็นห้องน้ำแบบดั้งเดิม (เป็นเพียงห้องจัดแสดงเท่านั้น) ส่วนชั้นสองของห้องสมุดมีการจัดตกแต่งให้เป็นพื้นที่นั่งอ่านหนังสือสไตล์ลอฟต์ 

ห้องสมุดชุมชน ที่โครงการ TYIN tegnestue/Local Community มาช่วยตกแต่งใหม่

ปัจจุบันชุมชนยังคงมุ่งมั่นที่จะพัฒนาห้องสมุดแห่งนี้ให้ครบครันด้านสาระความรู้ที่ทันยุคสมัยเพื่อส่งต่อให้ลูกหลานของชาวมีนบุรีอุปถัมภ์ได้เข้ามาศึกษาค้นคว้ามากขึ้น หากใครที่ต้องการแบ่งปันหนังสือภาพ แบบเรียน การ์ตูน ชาวชุมชนก็ยินดีพร้อมรับบริจาคเช่นกัน.

ขอขอบคุณ
ชาลี ยงยืนชัย ประธานกรรมการชุมชน 
สมบัติ ผลโพธิ์ ชาวบ้านในชุมชนมีนบุรีอุปถัมภ์
เว็บไซต์ http://www.tyinarchitects.com/works/old-market-library/
กนกพร ป่วนศิริ. โครงการเสนอแนะออกแบบภายในพิพิธภัณฑ์ชุนชนตลาดมีนบุรี,ปริญญาศิลปบัณฑิต , คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ, พฤษภาคม 2559.

เยี่ยมชมเว็บไซต์ชุมชนมีนบุรีอุปถัมภ์ https://minburi.makewebeasy.com/
โดย ภาวิตา แจ่มคล้าย และ จิตรสินี กิจปกครอง