Interview

ทบทวนบทบาทสื่อไทยจาก 6 ตุลา ถึง 19 กันยา กับนิธินันท์ ยอแสงรัตน์

นิธินันท์ ยอแสงรัตน์ สื่อมวลชนอาวุโส อดีตบรรณาธิการอาวุโสเครือเนชั่น ย้ำถึงหลักการและบทบาทที่สื่อสารมวลชนควรปฏิบัติท่ามกลางความขัดแย้งทางการเมืองในสังคมไทย

เรื่อง: ชญานิน โล่ห์สถาพรพิพิธ และธนพร เกาะแก้ว

ภาพ: ศุภกานต์ ผดุงใจ

“หน้าที่ของสื่อสารมวลชนคือพิทักษ์เสรีภาพของประชาชน ปราศจากเสรีภาพเราไม่สามารถเป็นสื่อสารมวลชน นอกจากเป็นกระบอกเสียงของเผด็จการเท่านั้น” นิธินันท์ ยอแสงรัตน์กล่าวในการบรรยายพิเศษ ที่คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาฯ

เมื่อวันที่ 22 ก.ย. นิธินันท์ ยอแสงรัตน์ สื่อมวลชนอาวุโส อดีตบรรณาธิการอาวุโสเครือเนชั่น ได้ร่วมสนทนากับนิสิตในหัวข้อ “จาก 6 ตุลา ถึง 19 กันยา: อุดมการณ์วารสารศาสตร์ในการเปลี่ยนผ่านทางสังคม” ที่จัดโดยกองบรรณาธิการ “นิสิตนักศึกษา” คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อย้ำถึงหลักการและบทบาทที่สื่อสารมวลชนควรปฏิบัติท่ามกลางความขัดแย้งทางการเมืองในสังคมไทย 

บทบาทของสื่อช่วง 6 ตุลา 19

นิธินันท์กล่าวว่า ในช่วงการเคลื่อนไหวทางการเมืองของนักศึกษาเมื่อปี 2519 สื่อมวลชนกลุ่มหนึ่งพยายามทำลายความชอบธรรมขบวนการเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตย ด้วยการให้ร้ายนักศึกษา ปิดบังความรุนแรงที่เกิดขึ้นกับนักศึกษา และไม่มีการตรวจสอบจนทำลายคุณค่าความเป็นสื่อของตัวเอง

นิธินันท์เห็นว่า สื่อมวลชนมักท่องจำกันมาว่า “สื่อต้องเรียกร้องประชาธิปไตย” และ “เสรีภาพสื่อคือเสรีภาพประชาชน” แต่ไม่ได้ตรวจสอบตนเองว่าทำเช่นนั้นจริงหรือไม่ จนกลายเป็นการทำลายคุณค่าของวิชาชีพและภูมิใจกันผิดๆ โดยที่ไม่ได้เข้าใจความหมาย

“เสรีภาพของประชาชนคือเสรีภาพสื่อ ถ้าสื่อไม่ต่อสู้เพื่อเสรีภาพของประชาชนแล้ว จะมีเสรีภาพสื่อได้อย่างไร” เธอย้ำ

สื่อสารมวลชนไปกันไม่ได้กับเผด็จการ

สื่อมวลชนอาวุโสย้ำว่า คนทำสื่อต้องตระหนักได้ว่าสื่อไม่สามารถสนับสนุนรัฐประหาร เพราะหากปราศจากเสรีภาพ สื่อจะไม่สามารถเสนอข่าวสารและไม่อาจเรียกตนเองว่าเป็นสื่อสารมวลชนได้ เพราะหน้าที่ของสื่อสารมวลชนคือการพิทักษ์เสรีภาพของประชาชน

เธอกล่าวว่า ถ้าไม่มีเสรีภาพ สื่อก็เป็นได้เพียงกระบอกเสียงของเผด็จการ ไม่ใช่ “สื่อของมวลชน” ทั้งยังไม่อาจอ้างได้ว่าเป็นสื่อเลือกข้าง (Advocacy Journalism) เพราะการเป็นสื่อเผด็จการคือการผลิตโฆษณาชวนเชื่อ (Propaganda) เพื่อทำร้ายฝ่ายที่เห็นต่างเพื่อชัยชนะ 

“ถ้าคนทำสื่อไม่ตระหนักเรื่องนี้ ก็เป็นเครื่องมือของเผด็จการต่อไป” เธอย้ำ

“สื่อสารมวลชนไม่มีหน้าที่ทะเลาะ ใส่ร้าย กล่าวหาประชาชน”

นิธินันท์ ยอแสงรัตน์

ในสังคมที่มีความหลากหลาย สื่อสามารถเสนอแนวคิดได้ แต่หน้าที่ของสื่อคือจะต้องไม่ทำร้ายแนวคิดที่ต่างจากตัวเอง “สื่อไม่มีสิทธิไปเยาะเย้ยประชาชน หรือด้อยค่าจนเขาไม่เป็นมนุษย์ แต่สามารถแซวหรือล้อเล่นได้ เช่น การเขียนการ์ตูนช่อง ซึ่งต้องทำโดยคิดว่าอีกฝ่ายเป็นมนุษย์เหมือนกับเราเสมอ” นิธินันท์กล่าว

ดังนั้น ท่ามกลางความขัดแย้งทางการเมือง นิธินันท์เห็นว่า สื่อต้องรายงานสิ่งที่เกิดขึ้นจริงให้ใกล้เคียงสิ่งที่เกิดขึ้นมากที่สุด และควรจะรู้ตัวว่ามีอคติอย่างไร เพื่อเตือนตัวเองว่าอย่าใช้ถ้อยคำที่ให้กลุ่มที่คิดต่างจากตนเองถูกเกลียดชัง เพราะทุกคนมีสิทธิคิดในแบบของตัวเอง เว้นแต่มีการพูดว่าต้องฆ่าอีกฝ่าย จึงต้องคัดค้านหรือประท้วง โดยยึดหลักตามสามัญสำนึกว่ามนุษย์ไม่มีสิทธิลุกขึ้นไปฆ่ามนุษย์ด้วยกันเพียงเพราะเห็นว่าเขาคิดต่าง

เสื้อแดงศึกษา: ประชาชนถูกตีตรา เพราะสื่อไม่รู้หน้าที่

ในมุมของนิธินันท์ ความขัดแย้งทางการเมืองในยุคก่อนๆ ยังไม่ชัดเจนเท่าวันนี้ เพราะความเชื่อว่าสังคมที่ไร้การตั้งคำถามคือสังคมที่สงบสุขยังเป็นแนวคิดหลัก แต่ในช่วงการชุมนุมเสื้อแดง การปะทะระหว่างแนวคิดจารีตนิยมและการเรียกร้องความเปลี่ยนแปลงเริ่มปรากฏขึ้นอย่างเห็นได้ชัด

เธอมองว่า สื่อจำนวนมากไม่เข้าใจโครงสร้างสังคม ทำให้เหมารวมชาวบ้านเสื้อแดงว่าเป็นผู้ร้าย แต่แท้จริงแล้วสิ่งที่คนเสื้อแดงต้องการคือคัดค้านการรัฐประหารที่โค่นรัฐบาลที่ทำให้พวกเขามีโอกาสลืมตาอ้าปากเพียงเท่านั้น 

นิธินันท์ยืนยันว่า สื่อมืออาชีพต้องมองคนเสื้อแดงให้ยุติธรรมกว่านี้ พร้อมฝากถึงสื่อรุ่นใหม่ให้เลิกผลิตซ้ำวาทกรรมคนดีและรัฐบาลโกง “แย่มากที่สื่อมวลชนทะเลาะและใส่ร้ายประชาชน สื่อสารมวลชนไม่มีหน้าที่ทะเลาะ ใส่ร้าย กล่าวหาประชาชน”

การเคลื่อนไหวของนักศึกษากับการอุ้มชูความหลากหลายในสังคม

ในฐานะอดีตนักศึกษานักกิจกรรมและคนทำงานสื่อมาหลายทศวรรษ นิธินันท์เห็นว่าการเคลื่อนไหวที่นำโดยนักเรียนนักศึกษาในปัจจุบันสะท้อนการเปิดรับความคิดและอัตลักษณ์ที่แตกต่างหลากหลาย 

“เด็กๆ โตมากับความแตกต่างหลากหลาย เพราะฉะนั้น เด็กๆ รู้เองว่าคนที่แตกต่างสามารถอยู่ร่วมกันได้ เราเชื่อมั่นว่าคนแตกต่างอยู่ร่วมกันได้โดยไม่ฆ่ากัน และเชื่อว่าเด็กรุ่นนี้เข้าใจ และสังคมต้องขับเคลื่อนแบบนี้” สื่อมวลชนอาวุโสกล่าว

ประเด็นนี้สอดคล้องกับหลักคิดที่เธอเสนอว่าสื่อมวลชนมีหน้าที่เป็น “Map-maker” หรือคนทำแผนที่ กล่าวคือ ต้องเชื่อมโยงให้เห็นปรากฏการณ์และคนกลุ่มต่างๆ ในสังคม เพื่อให้เห็นว่าสังคมมีความหลากหลายและสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างไร

“อย่างหนึ่งที่สื่อทำได้คือ ช่วยกันสร้างความคิดที่ว่า สังคมที่มีความแตกต่างหลากหลายเป็นสังคมปกติของมนุษย์ เราต้องอยู่ร่วมกันได้ในโลกนี้อย่างแตกต่างหลากหลายโดยไม่ต้องฆ่ากัน” นิธินันท์ย้ำ

การแบนสื่อเป็นสิทธิของประชาชน

นิธินันท์ยังอธิบายว่า โดยหลักการสังคมควรนำสื่อ เพราะสื่อไม่ใช่เจ้าพ่อเจ้าแม่ และไม่ควรจะหลงตัวอย่างนั้น แต่สื่อต้องรู้ว่าสังคมต้องการอะไรและทำหน้าที่เป็น “ปากเสียงของมวลชนในสังคม” โดยไม่ให้ร้ายคนอื่น “ถ้ามั่นใจว่าทำหน้าที่ตามหลักการนี้แล้ว มีคนสนับสนุนคนเดียวหรือแม้จะไม่มีเลยก็โอเค”

อดีตบก. อาวุโสเครือเนชั่นกล่าวว่า ประชาชนมีสิทธิแบนสื่อ และถ้าเป็นสื่อที่เป็นมืออาชีพจริง ควรจะทบทวนตนเองว่าทำไมจึงถูกแบน ทำอะไรพลาดไปหรือไม่ ต้องยอมรับความจริง แล้วนำสิ่งที่เสียงตอบรับจากประชาชนมาปรับปรุงตัว

ไม่ตกเป็นเครื่องมือถ้ายึดถือหลักการ 

นิธินันท์ชี้ให้นักข่าวพึงระวังไว้ว่า มีคนหลายฝ่ายพยายามจะปล่อยข่าวผ่านสื่อ ฉะนั้นสื่อมวลชนต้องไม่รีบกระโดดตะครุบข่าวแล้วนำเสนอโดยไม่ตรวจสอบความจริง ถ้าทำสิ่งนี้ไปพร้อมไปกับยึดมั่นในหลักการทำงานของตน ก็ไม่ต้องกลัวว่าจะเป็นเครื่องมือของใคร 

“ความเย่อหยิ่งของคนทำงานสื่อสารมวลชนคือความเป็นอิสระ ไม่มีเจ้านาย-ลูกน้อง เราย่อมมีสิทธิที่จะแสดงความเชื่อของเราตามหลักการ…

คนทำข่าวต้องมีความกล้าหาญ ยืนยันในความเชื่อของตน แม้จะเป็นคนเดียวในห้องข่าว

%d bloggers like this: