News

6 ตุลาฯ และอนาคตของสังคมไทย: ขบวนการนักศึกษากับการต่อสู้เพื่อความจริงและความยุติธรรม

นักวิชาการรัฐศาสตร์และประธานคณะก้าวหน้าร่วมสนทนาในงานเสวนา "6 ตุลาฯ กับอนาคตของสังคมไทย" จัดโดยสโมสรนิสิตรัฐศาสตร์ จุฬาฯ เพื่อรำลึก 44 ปี 6 ตุลาเมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2563

“14 ตุลาเป็นประวัติศาสตร์ชัยชนะของอภิสิทธิ์ชน แต่คนรุ่นนี้เขารู้สึกเหมือนคน 6 ตุลา คนที่ไม่มีที่ยืน คนที่เห็นคนโดนแขวนคอใต้ต้นมะขาม เด็กรุ่นนี้เขาเลยรู้สึกเชื่อมโยงกับ 6 ตุลามาก” กนกรัตน์ เลิศชูสกุล นักวิชาการรัฐศาสตร์ กล่าวในงานเสวนา “6 ตุลาฯ และอนาคตของสังคมไทย”

นอกจากอาจารย์จากคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ ผู้ศึกษาขบวนการนักศึกษาในช่วงโศกนาฏกรรม 6 ตุลาคม 2519 แล้ว งานเสวนาเพื่อรำลึก 44 ปี 6 ตุลาซึ่งจัดโดยสโมสรนิสิตรัฐศาสตร์ จุฬาฯ เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2563 ยังมี ประจักษ์​ ก้องกีรติ จากคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า มาร่วมสนทนาด้วย

กนกรัตน์ อธิบายว่าการเคลื่อนไหวของเยาวชน โดยเฉพาะกลุ่มนักเรียนในยุค 14 ตุลาคม 2516 – 6 ตุลาคม 2519 ได้รับการจัดตั้งอย่างเข้มแข็ง มีความผูกพันกับพรรคคอมมิวนิสต์ผ่านการทำงานร่วมกับมวลชนแรงงานและพี่น้องในชนบท และมีความใฝ่ฝันในสิ่งเดียวกัน ดังนั้นจึงมีความเป็นเอกภาพสูงเมื่อกระจายเข้าไปเป็นนักศึกษาในมหาวิทยาลัยต่างๆ

“ขบวนการนักเรียนเติบโตขึ้นหลัง 14 ตุลาผ่านการจัดตั้งของกลุ่มแนวคิดที่เป็นฝ่ายซ้าย โดยกระบวนการเป็นไปอย่างมีระบบทั้งทางตรงและทางอ้อม… ผลของชัยชนะของกลุ่มนักศึกษาหัวก้าวหน้าในยุคนั้นนับว่าเป็นความสำเร็จของกระบวนการจัดตั้ง” อาจารย์รัฐศาสตร์ จุฬาฯ กล่าว

ส่วนขบวนการในปัจจุบันนั้น ไม่ได้ยึดโยงกับพรรคการเมือง แต่เติบโตจากการถูกกดทับหลังการรัฐประหารของคสช. รวมถึงความไม่พอใจต่อกฎระเบียบในโรงเรียนที่ไม่สมเหตุสมผลและละเมิดสิทธิมนุษยชน จนนำไปสู่การเคลื่อนไหวของนักเรียน โดยเฉพาะกลุ่มการศึกษาเพื่อความเป็นไทที่เริ่มขึ้นเมื่อ 5-6 ปีที่แล้ว และต่อมากลายเป็นแกนนำในการชุมนุม

กนกรัตน์มองว่าขบวนการนักเรียนนักศึกษาในปัจจุบันคล้ายกับการเคลื่อนไหวในยุคก่อนคือมีผู้เข้าร่วมหลากหลาย แต่นักเรียนยึดโยงกับ 6 ตุลา มากกว่า เพราะไม่ได้มองว่า 14 ตุลาคือชัยชนะของประชาชน

“14 ตุลาเป็นประวัติศาสตร์ชัยชนะของอภิสิทธิ์ชน แต่คนรุ่นนี้เขารู้สึกเหมือนคน 6 ตุลา คนที่ไม่มีที่ยืน คนที่เห็นคนโดนแขวนคอใต้ต้นมะขาม เด็กรุ่นนี้เขาเลยรู้สึกเชื่อมโยงกับ 6 ตุลามาก” ผศ.ดร.กนกรัตน์กล่าว

ขณะที่ ประจักษ์ ก้องกีรติ ผู้ศึกษาขบวนการนักศึกษาในช่วง 14 ตุลา 2516 และการเปลี่ยนผ่านของประชาธิปไตยในไทย เห็นว่า การเคลื่อนไหวของนักเรียนนักศึกษาในยุคนี้ยึดโยงอยู่กับเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์การเมืองไทย 3 เหตุการณ์ คือ การอภิวัฒน์การปกครอง 2475 เหตุนองเลือด 6 ตุลาคม 2519 และการปราบปรามคนเสื้อแดง พฤษภาคม 2553 ซึ่งล้วนเป็น “ผู้แพ้ในทางประวัติศาสตร์”

อาจารย์รัฐศาสตร์ มธ. กล่าวว่าขบวนการ 14 ตุลา ไม่ได้ต่อต้านอุดมการณ์หลักของความเป็นไทย แต่กลับใช้อุดมการณ์นั้นสู้กับเผด็จการทหาร นักเรียนนักศึกษาปัจจุบันจึงเห็นว่า 14 ตุลาเป็นการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยที่ไม่ยั่งยืน และอุดมการณ์ที่ขบวนการใช้ในช่วงนั้นก็กลับมาฆ่านักศึกษาประชาชนในช่วง 6 ตุลา ในนามของความดีและการพิทักษ์ชาติ ศาสน์ กษัตริย์

“ผมมองว่าอุดมการณ์ของนักศึกษาได้ก้าวข้าม 14 ตุลา ไปแล้ว แต่ตอนนี้เขาต่อสู้เพื่ออุดมการณ์ของ 6 ตุลา และปี 2475” ประจักษ์ กล่าว “6 ตุลาคืออาชญากรรมของรัฐและระบบยุติธรรมที่โหดร้ายสุด และยังไม่มีใครรับผิดชอบ แต่คนที่ตกเป็นเหยื่อของความรุนแรงกลับถูกพิพากษาโดยผู้ใช้ความรุนแรงกับเขา”

“เราต้องทำให้ 6 ตุลาไปอยู่ในทุกพื้นที่ของสังคม ในพิพิธภัณฑ์ หอจดหมายเหตุ หรือแม้แต่กระทั่งศูนย์การค้า วิธีรำลึก 6 ตุลาที่ดีที่สุดคือการช่วยกันสถาปนาความจริง”

ประจักษ์ ก้องกีรติ

ในการสร้างประชาธิปไตยที่เข้มแข็งและยั่งยืน ประจักษ์เสนอว่าความยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่าน (transitional justice) เป็นหลักการสากลที่จะป้องกันไม่ให้เกิดวัฒนธรรมลอยนวลพ้นผิดของรัฐจากการก่ออาชญากรรมต่อประชาชนได้

หลักการ 4 ข้อของความยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่านคือ ทำความจริงให้ปรากฏ นำคนผิดมาเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม การเยียวยาชดเชย และการปฏิรูปหน่วยงานความมั่นคงที่ละเมิดสิทธิมนุษยชน

ดังนั้น ประจักษ์ย้ำว่าประชาชนต้องเข้าถึงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเหตุการณ์ 6 ตุลา เพื่อให้ความจริงและความยุติธรรมปรากฎ “เราต้องทำให้ 6 ตุลาไปอยู่ในทุกพื้นที่ของสังคม ในพิพิธภัณฑ์ หอจดหมายเหตุ หรือแม้แต่กระทั่งศูนย์การค้า วิธีรำลึก 6 ตุลาที่ดีที่สุดคือการช่วยกันสถาปนาความจริง”

ด้าน ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า กล่าวว่าการต่อสู้ของนักศึกษาในช่วง 6 ตุลา 2519 เป็นสายธารการต่อสู้ตั้งแต่อดีตที่สังคมต้องสานต่อ “ภารกิจหลักของสังคมที่จำเป็นต้องทำร่วมกันคือ 1) ปฏิรูปกองทัพ 2) ปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม 3) ปฏิรูประบบราชการ กระจายอำนาจให้ท้องถิ่น 4) ปฏิรูปเศรษฐกิจ ยกเลิกการผูกขาดของกลุ่มทุน และ 5) การฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ซึ่งเป็นเรื่องจำเป็นอย่างมากในการเปิดประเด็นเรื่อง 6 ตุลาโดยตรง”

ต่อคำถามเรื่องการแทรกแซงขบวนการเคลื่อนไหวในไทยจากต่างประเทศนั้น กนกรัตน์กล่าวว่าเยาวชนไม่ชอบการถูกยัดเยียดข้อหาว่ามีต่างชาติหรือนักการเมืองแทรกแซง เพราะสะท้อนว่าไม่เข้าใจว่าเขาต่อสู้เพื่อตัวเอง “ถ้าถูกบังด้วยม่านของ ‘ต่างชาติแทรกแซง’ ก็จะไม่เห็นตัวตนของเยาวชนที่ออกมาเรียกร้อง”

“เราจำเป็นต้องพูดถึงสถาบันฯ เราต้องไม่ปล่อยให้กลุ่มคนที่พูดต้องโดดเดี่ยว ถ้าเขาโดดเดี่ยวเขาก็จะถูกเล่นงาน เขากล้าพูดในสิ่งที่เราไม่กล้า” 

ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ

ขณะที่ประจักษ์ชี้ว่า นักเรียนนักศึกษาในยุคนี้ไม่ได้รับอิทธิพลทางความคิดจากกระแสการเคลื่อนไหวของเยาวชนในต่างประเทศเหมือนในยุคก่อน แต่มาจากการอ่านงานวิชาการและติดตามข้อมูลข่าวสารจากนักวิชาการและผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์และการเมืองไทยมากกว่า

ด้านธนาธรกล่าวว่าการที่รัฐบาลประยุทธ์สร้างความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับจีนเป็นเรื่องน่าเป็นห่วงกว่าอิทธิพลของต่างประเทศต่อขบวนการเคลื่อนไหว เช่น เรื่องการจัดการแม่น้ำโขง การเข้ามาของกลุ่มทุนจีน การซื้อเรือดำน้ำจากจีน “ประชาธิปไตยที่แท้จริงเกิดจากน้ำเหงื่อน้ำแรงของประชาชนในประเทศ decisive factor อยู่ในมือของคนไทยกันเอง”

เมื่อมีคำถามจากผู้เข้าร่วมฟังการเสวนาว่าขบวนการนักศึกษาเคลื่อนไปในทิศทางที่ถูกต้องหรือไม่ เมื่อนักศึกษาเรียกร้องประเด็นที่สังคมไม่กล้าพูดถึง ธนาธรตอบว่า “เราจำเป็นต้องพูดถึงสถาบันฯ เราต้องไม่ปล่อยให้กลุ่มคนที่พูดต้องโดดเดี่ยว ถ้าเขาโดดเดี่ยวเขาก็จะถูกเล่นงาน เขากล้าพูดในสิ่งที่เราไม่กล้า” 

“ถ้าคุณไม่สู้เรื่องนี้ คุณล้มประยุทธ์ได้ ก็จะมีคนอื่นขึ้นมาแทนอยู่ดี” ประธานคณะก้าวหน้าเชื่อว่าการสร้างประชาธิปไตยที่สมบูรณ์จำเป็นต้องพูดถึงการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ เพื่อให้อยู่คู่กันต่อไปได้ 

ส่วนกนกรัตน์เห็นว่า คนรุ่นนี้เห็นว่าการพูดถึงการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์เป็นเรื่องยากที่จะทำควบคู่ไปกับการประนีประนอมมวลชนในสังคม “แม้แต่พูดแค่นี้ก็มากเกินไปกับสังคมไทยแล้ว” 

อาจารย์รัฐศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวว่าสังคมไม่อาจตัดสินการเคลื่อนไหวครั้งนี้ว่าผิดหรือถูกได้ภายในเวลาอันสั้น จึงจำเป็นต้องให้พื้นที่อิสระต่อการแสดงความคิดเห็นในเรื่องนี้ต่อไป 

ขณะที่ประจักษ์มองว่าขบวนการที่นำโดยนักเรียนนักศึกษาในปัจจุบันแบกภารกิจที่ยากมากเพราะมีโจทย์ของการเคลื่อนไหวตั้งแต่ปี 2475, 14 ตุลา 2516 และ 6 ตุลา 2519

“เราต้องโทษคนรุ่นที่ผ่านมาที่ทิ้งปัญหามากมายไว้ให้เขา ปัจจุบันสังคมไทยเหลื่อมล้ำมากกว่า 6 ตุลา อีก ขบวนการนักศึกษากล้าหาญมากที่ต่อสู้ในสิ่งที่สังคมไม่กล้าพูด” ประจักษ์กล่าว “เมื่อนักศึกษาปักธงแล้ว สังคมที่เหลือก็ต้องช่วยเหลือ ปกป้อง ไม่ปล่อยให้นักศึกษาโดดเดี่ยว เพราะนั่นคือสาเหตุของ 6 ตุลา”

“ไม่ควรมีใครต้องเสียชีวิตจากการพูดความจริงอีกแล้ว” อาจารย์รัฐศาสตร์ มธ.ย้ำ

%d bloggers like this: