Art & Culture Top Stories

อักษรกำกับยันต์ ยันต์กำกับคน

เมื่อความขลังในการสักยันต์ไม่ได้ขึ้นอยู่กับลวดลายอักษรขอม แต่เป็นตัวผู้สักที่ต้องตระหนักถึงความศักดิ์สิทธิ์บนร่างกายอยู่เสมอ

เรื่องและภาพ มณิสร วรรณศิริกุล และสิทธิเดช มั่นทอง

ภายในสำนักที่เต็มไปด้วยเครื่องบูชาและรูปเคารพ ชายคนหนึ่งนั่งก้มหลังอยู่หน้าอาจารย์สักยันต์ ข้างหลังมีของเซ่นไหว้บูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์  เข็มปลายแหลมทิ่มลงบนแผ่นหลังก่อให้เกิดความรู้สึกเจ็บปวด ปรากฏอักขระที่คนทั่วไปไม่รู้จัก ภาพวาดของสัตว์ที่เต็มไปด้วยความน่าเกรงขาม เสียงบริกรรมคาถาภาษาบาลีเสริมความขลังและศักดิ์สิทธิ์ 

ท่ามกลางสายตาที่คนภายนอกมองมาอย่างเต็มไปด้วยความสงสัย แต่สิ่งเหล่านี้กลับมีความหมายมากมายสำหรับพวกเขา 

อุดม มีสุข ขณะสักยันต์ “หัวใจพระไตรปิฎก” เพื่อความสิริมงคล

สักยันต์ : ลวดลายของวัฒนธรรม

ในสมัยสุโขทัย พบว่าผู้ชายนิยมการสักยันต์เพื่อให้แคล้วคลาดและอยู่ยงคงกระพันเนื่องจากมีสงครามอยู่บ่อยครั้ง จึงได้สักยันต์เพื่อเป็นการสร้างขวัญกำลังใจแก่ผู้ออกรบ พอมาสมัยอยุธยา มีการ “สักขาลาย” ตั้งแต่เอวลงมาถึงขา นิยมกันในกลุ่มผู้มีอำนาจอย่างเสนาบดีหรือกษัตริย์ เพื่อฝึกความอดทนต่อความเจ็บปวด และแสดงเอกลักษณ์ความเป็นชาย อีกทั้งยังมีการ “สักเลก” ในกลุ่มคนที่ถูกเกณฑ์ทหาร เป็นการสักตัวอักษร บอกชื่อเมือง ชื่อมูลนาย กรมกอง ที่สังกัด โดยสักที่ข้อมือ และการ “สักหน้าผาก” แก่บุคคลที่ต้องโทษปาราชิก จากการอาบัติอันได้แก่การเสพเมถุน (การมีเพศสัมพันธ์) ทั้งกับมนุษย์และสัตว์เดรัจฉาน การลักทรัพย์ การฆ่ามนุษย์ และการอวดอุตริมนุสธรรม (การอวดอิทธิฤทธิ์ที่ไม่มีในตน)

การสักโดยทั่วไปในปัจจุบันเริ่มต้นจาก “พิธียกครู” เป็นการถวายพานขันห้า ได้แก่หมาก เงิน เทียน ธูป และบุหรี่ อย่างละห้าชุด เพื่อฝากตัวเป็นศิษย์ จากนั้นอาจารย์จะเริ่มทำการเสกเหล็กสักและน้ำหมึก โดยมีผู้รับการสักนั่งทำสมาธิ ในขณะที่เหล็กสักชักยันต์ก็จะมีการภาวนาคาถาเดินสูตรยันต์ไปจนกระทั่งเสร็จสิ้นการสัก และจบลงด้วยพิธีไหว้ครู แต่ในทางปฏิบัติจริงแต่ละสำนักอาจมีลำดับขั้นตอนที่แตกต่างกันไป

การลงของหลังการสักยันต์

ลายที่ได้รับความนิยมมีหลากหลายตามจุดประสงค์การใช้งาน เช่น “ยันต์เก้ายอด” เป็นการสักหัวใจคาถาพุทธคุณ 9 ประการ หรือบทสวดอิติปิโสด้วยอักษรขอม เพื่อให้หนังเหนียว ฟันแทงไม่เข้า หรือ “ยันต์ห้าแถว” ที่อาจารย์สักยันต์แต่ละคนจะมีความถนัดในพุทธคุณเฉพาะทาง เช่น การแก้ฮวงจุ้ย หนุนดวง ป้องกันคุณไสยมนตร์ดำ เพิ่มโชคลาภ และมหาเสน่ห์

รู้ว่าเจ็บแต่คงต้องขอลอง

“ปกติตามงานวัดมันจะมีวัยรุ่นตีกัน ตอนนั้นผมเห็นลูกศิษย์วัดหลวงพ่อเปิ่นเขาโดนตี แต่เขาไม่มีบาดแผลอะไรเลย ยกเว้นรอยขีดแดง พอผมเห็นแบบนั้นผมก็ตามหา วัดแล้วนั่งรถไปสักเลย” ทินกร สองสี ชายวัย 33 ปี เล่าถึงการสักยันต์ครั้งแรกเมื่ออายุ 19 ปี จนตอนนี้มีลายสักเต็มแผ่นหลังและลำตัว

“เราอยู่ในกลุ่มเพื่อนที่สัก เลยลองสักบ้างอยากรู้ว่ามันเจ็บแค่ไหน”

ชาตรี รอดฤดี ชายวัย 18 ปีผู้สักน้ำมันมาตั้งแต่อายุ 15 ปี

“ตอนแรกผมไม่ได้เชื่อเรื่องพวกนี้ อยากจะลองว่ามันจริงหรือเปล่า” ยอด (นามสมมติ) ผู้จัดการบริษัทเกี่ยวกับซ่อมบำรุงรถยนต์แห่งหนึ่งวัย 33 ปี เล่าถึงการก้าวเข้าสู่วงการสัก

เมื่อสอบถามถึงความเข้าใจต่อลวดลายยันต์ที่สักลงบนแผ่นหลัง ทั้งสามตอบเป็นเสียงเดียวกันว่า ไม่ทราบว่าอ่านว่าอย่างไร หรือมาจากบทสวดบทไหน เนื่องจากไม่ได้มีความสนใจในตัวภาษาและบทสวดที่สักลงไปเท่าความศรัทธาต่ออาจารย์สัก

หลายคนคงเคยได้ยินว่ามีดาราอย่าง แองเจลิน่า โจลี่ ที่ข้ามน้ำข้ามทะเลมาเพื่อสักยันต์ห้าแถว กับอาจารย์หนู กันภัย ทำให้เรื่องของการสักยันต์โบราณที่ในอดีตถูกมองว่าเกี่ยวข้องกับเรื่องไสยศาสตร์ถูกลดทอนลงไป และเป็นพาณิชย์มากขึ้น

รูปยันต์สามารถแบ่งออกเป็นสองลักษณะหลักๆ ได้แก่ รูปวาด และอักขระ โดยรูปวาดนั้นมีทั้งภาพของพระพุทธเจ้า พุทธสาวก ยักษ์ มาร สัตว์ทั้งในปัจจุบันและในวรรณคดีไทย  รวมไปถึงวัตถุที่มีความเกี่ยวข้องกับศาสนา ส่วนอักขระ เป็นการใช้อักษรขอมเพื่อบันทึกบทสวดพุทธคุณในภาษาบาลี โดยย่อเอาคำแรกของบทสวดไว้

อุดม มีสุข ขณะสักยันต์ “แปดทิศ” เพื่อป้องกันศาสตราวุธ อยู่ยงคงกระพัน

ความหมายใต้ภาพยันต์

อุดม มีสุข อาจารย์สักยันต์ในจังหวัดตราด  เล่าว่า เขาไม่เคยอธิบายความหมายของบทสวดบนรอยสักให้ผู้ที่มาสักยันต์ฟัง เพราะไม่มีใครเคยถาม พวกเขาสนใจเพียงว่ายันต์นี้ช่วยส่งเสริมด้านใดในชีวิตได้บ้าง ต่างจากขวัญชัย อิ่มอุไร ลูกศิษย์ของอุดม ที่เป็นอาจารย์สักยันต์ในจังหวัดเดียวกัน โดยเขามักจะบอกความหมายของรูปที่สักให้กับลูกศิษย์เสมอ 

“ยันต์ห้าแถวใครก็รู้ว่าช่วยหนุนดวง แต่หนุนดวงมันเป็นแค่หนึ่งในห้าแถว อีกสี่แถวที่เหลือเราก็ต้องมานั่งอธิบายให้ลูกศิษย์แต่ละคนรู้ว่า แต่ละแถวอ่านว่าอะไร มาจากบทไหน ทำไมถึงเขียนแบบนี้ เพื่อให้ตัวลูกศิษย์มีความรู้ความเข้าใจในสิ่งที่เขียนลงไปบนตัวของตน” ขวัญชัยกล่าว

“อักษรขอมมันมีรูปแบบอักขระวิธีที่ง่ายต่อการเขียนภาษาบาลี มากกว่าการใช้อักษรภาษาไทยเขียน นอกจากนี้อักษรขอมยังแสดงถึงความศักดิ์สิทธิ์การสักยันต์จึงอาศัยถึงความศักดิ์สิทธิ์หรือความขลังของทั้งตัวอักษรและพระคาถาที่ใช้ปลุกเสกเกื้อหนุนซึ่งกันและกัน” พอพล สุกใส อาจารย์ประจำภาควิชาภาษาตะวันออก คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร กล่าวถึงการเลือกใช้อักษรขอมในการสักยันต์

อาจารย์คณะโบราณคดีกล่าวถึงลายสักที่เคยพบว่า หลายครั้งการเขียนอักษรขอมบนตัวยันต์ผิดเพี้ยนไปทั้งในด้านของรูปทรงและลายเส้นที่เปลี่ยนตำแหน่งหรือสั้นยาวต่างกัน ซึ่งมีผลต่อการตีความรูปตัวอักษร หรือบางตัวอักษรก็นำเอาอักษรไทยเข้าไปปนเพื่อให้ง่ายต่อการจำ อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ ไม่ได้ส่งผลต่อการทำความเข้าใจความหมายบนตัวยันต์ 

ลักษณะอักษรขอมที่มักจะพบในการสักยันต์

“เขาตีความไม่ผิดหรอกครับ เพราะเขาคุ้นกันแบบนี้แล้วเขาก็เข้าใจว่ามันคือคำนี้ไปแล้ว คือมันพอจะมองออกเท่านั้นเองว่ามันเป็นตัวนี้ได้”

แก่นแท้ความศักดิ์สิทธิ์

อุดมกล่าวเพิ่มว่าตัวยันต์ที่เขียนลงไปบนร่างกายของลูกศิษย์นั้น ไม่ได้สำคัญว่าพวกเขาจะต้องเข้าใจความหมาย เพราะเป็นเพียงสื่อกลางให้คนที่มีรอยสักตระหนักอยู่เสมอว่าตนเองมีสิ่งศักดิ์สิทธิ์อยู่กับตัว

อุดมย้ำว่า แก่นของของการสักสุดท้ายแล้วอยู่ที่ตัวผู้มีรอยสักเอง การสักเป็นเพียงพิธีกรรมที่ทำให้รู้ว่าเป็นศิษย์-อาจารย์กันแล้ว จะต้องปฏิบัติตนตามคำสอนของอาจารย์เพื่อเป็นคนดีของสังคม และช่วยเป็นเครื่องเตือนใจแก่ผู้ที่มีรอยสัก เมื่อผู้มีรอยสักประพฤติตนเป็นคนดี เมื่อนั้นยันต์ก็จะเกิดอิทธิฤทธิ์ช่วยทำให้พ้นภัยเมื่อเกิดเหตุจำเป็น แต่หากผู้ที่มีรอยสักไม่ประพฤติตนตามแบบแผนไม่ทำตามข้อห้ามของอาจารย์ เมื่อนั้นยันต์ก็จะเสื่อม เป็นเพียงรอยขีดเขียนบนเนื้อหนัง อีกทั้งยังนำพาความอัปมงคลมาแก่คนผู้นั้น

“สักไปแล้วร่ำรวย สักแล้วคงกระพันชาตรีนั้นไม่มี เราสักไปเพื่อเป็นเครื่องเตือนสติเตือนใจให้ไม่ประพฤติชั่ว

ขวัญชัย อิ่มอุไร อาจารย์สักยันต์ในจังหวัดตราด

ขวัญชัยกล่าวว่า อาจารย์แต่ละคนก็จะมีคำสอนหรือกุศโลบายให้ลูกศิษย์ประพฤติตัวเป็นคนดี ด้วยการกลับมาไหว้ครูที่สำนัก เพื่อย้ำเตือนสติและข้อห้ามของตนเองอยู่เสมอ

พอพลพูดในทำนองเดียวกันว่า “รูปยันต์ศักดิ์สิทธิ์ไหมนั่นคือเรื่องหนึ่ง แต่มันช่วยกำกับให้ยึดมั่นในวิถีที่ถูกที่ควร อันนี้เป็นอีกส่วนหนึ่งที่ทำให้มันเดินไปได้ แต่ก็ต้องยอมรับความเปลี่ยนแปลงของช่วงเวลา จะไปคาดคั้นหรือรื้อฟื้นขึ้นมามันก็ยาก คงต้องยอมรับ แต่ถ้าเป็นไปได้ก็ควรที่จะกระจายหรือเผยแพร่ความรู้ออกไปให้ได้เท่าที่จะมีกำลัง” 

%d bloggers like this: