News Social Issue Top Stories

เนื้อหาต่อไปนี้ไม่ได้มี “คำเตือน” สำหรับทุกคน

เพราะบาดแผลทางใจเกิดกับใครก็ได้ เป็นไปได้หรือไม่ที่เราจะเห็นข่าวโทรทัศน์และออนไลน์ใส่ Trigger Warning เพื่อรักษาใจผู้อ่าน

เรื่อง : ธนพร เกาะแก้ว ภาพ : กานดา ชัยสาครสมุทร

หมายเหตุ : บทความมีการใช้นามสมมติเพื่อรักษาความเป็นส่วนตัวของแหล่งข่าว

“พักหลังๆ เลือกที่จะเลิกติดตามเพจข่าว ช่องข่าวต่างๆ ไปเยอะ แต่ก็มีให้เห็นบ้างเวลาเล่น SNS (สื่อสังคมออนไลน์) เราก็กรองระดับนึง อาจต้องแลกกับการไม่ได้รับรู้ว่าเกิดอะไรขึ้นบ้าง แต่รู้สึกว่าภาระทางจิตใจเบาลง” มุก (นามสมมติ) ผู้ใช้ทวิตเตอร์รายหนึ่งกล่าว เมื่อถามถึงผลกระทบจากการใช้สื่อต่อภาวะป่วยทางจิตจากเหตุการณ์รุนแรง (Post-Traumatic Stress Disorder : PTSD) ที่เธอเผชิญจากการถูกล่วงละเมิดทางเพศ

มุกตัดปัญหาโดยการซ่อนคำ (mute) ที่เกี่ยวกับการแอบถ่ายรูปหรือวิดีโอ การล่วงละเมิด การประณามรูปลักษณ์ภายนอก (Body-shaming) และคำอื่นๆ ที่อาจกระตุ้นบาดแผลทางใจของเธอได้

คำที่มุกใช้เป็นเครื่องมือเพื่อ “กรอง” เนื้อหา เรียกว่า “คำเตือนเนื้อหารุนแรง” (Trigger Warning) นิยามคำนี้ในรายงานของหลักสูตรการสอนแบบเรียนรวม (Inclusive Teaching) มหาวิทยาลัยแห่งมิชิแกน หมายถึง คำเตือนอย่างเฉพาะเจาะจงเกี่ยวกับเนื้อหาที่อาจกระตุ้นอาการของภาวะ PTSD โรควิตกกังวลอื่นๆ และบาดแผลทางใจ (Trauma) เพื่อเตือนให้ผู้ที่มีอาการดังกล่าวได้เตรียมใจก่อนรับสาร 

การใส่คำเตือนเนื้อหารุนแรงในโซเชียลมีเดียช่วยให้ผู้ใช้กรองเนื้อหาที่อาจกระทบกระเทือนจิตใจออกได้บ้าง แต่ในกรณีสื่อโทรทัศน์ไทย มุกเห็นว่า คำเตือนที่มีใช้ในปัจจุบันไม่ได้ครอบคลุมถึงตัวกระตุ้นบาดแผลทางใจ ทำให้ผู้ชมไม่สามารถกรองเนื้อหารุนแรงออกได้ด้วยตนเอง และยังทำงานได้อย่าง “ผิวเผิน” เมื่อเทียบกับการใส่คำเตือนเนื้อหารุนแรงที่พบในสื่อต่างประเทศ เช่น เนื้อหาต่อไปนี้กล่าวถึงหรือแสดงภาพการใช้ความรุนแรงทางเพศ (Sexual Abuse) หรือการทำร้ายร่างกาย (Assault)

มุกเสนอว่า สื่อควรใส่คำเตือนอย่างเจาะจง เพื่อประโยชน์ของคนจำนวนมาก

“อย่างน้อยมันก็ช่วยให้ชีวิตของหลายคนในแต่ละวันไม่หนักหนาเกินไป เพราะไม่ใช่แค่คนที่มีบาดแผลทางใจ แต่คนที่เหนื่อยล้ากับภาระต่างๆ ในชีวิตก็มีช่วงที่ไม่อยากรับข่าวที่มีเนื้อหารุนแรงสาหัสเหมือนกัน”

มุก ผู้ป่วย PTSD

“บาดแผลทางใจ” ไม่ได้อยู่แค่ในผู้ป่วย PTSD

พญ.ปริชวัน จันทร์ศิริ ผู้เชี่ยวชาญเรื่องการบำบัดบาดแผลทางใจ และหัวหน้าหน่วยจิตเวชเด็ก คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อธิบายเกี่ยวกับโรค PTSD ว่า “ในความเป็นจริง PTSD ไม่ใช่ตัวแทนทั้งหมดของสภาวะที่เป็นบาดแผลทางใจ เพราะเกณฑ์การวินิจฉัยบอกว่าจะต้องเป็นเหตุการณ์สะเทือนขวัญ เช่น อุบัติเหตุรุนแรง การถูกทำร้าย ถูกข่มขืน หรือภัยพิบัติธรรมชาติที่ร้ายแรง แต่บางทีไม่จำเป็นต้องพบว่าเหตุการณ์ยิ่งใหญ่อะไรมากมาย ก็มีผลลักษณะเดียวกันกับ PTSD”

ตัวอย่างเหตุการณ์อาจดูไม่รุนแรง แต่สร้างบาดแผลทางใจได้ เช่น การถูกประจาน ถูกตำหนิรุนแรง การสูญเสียสัตว์เลี้ยง พญ.ปริชวันยกตัวอย่างกรณีที่พบในเด็กว่า “แค่เด็กคนหนึ่งเจอพ่อแม่ทะเลาะกัน เช่น แม่ร้องไห้ หรือพ่อตะคอกใส่แม่ เด็กก็อาจมีอาการเหมือน PTSD ได้”

“เวลามีตัวกระตุ้นก็ทำให้ประสบการณ์คล้ายๆ กันโผล่ขึ้นมาอีก ราวกับเผชิญกับเหตุการณ์นั้นอีกครั้ง บางคนก็จะรู้สึกตระหนก ใจสั่น หรือหวาดกลัวอย่างมาก เหตุการณ์ที่อยู่ตรงหน้ากับปฏิกิริยาที่แสดงออกมันไม่ไปด้วยกัน” จิตแพทย์เด็กกล่าว นอกจากนี้ ยังพบอาการเลี่ยงผู้คน สถานที่ หรือบรรยากาศที่ทำให้หวนนึกถึงบาดแผลทางใจ รวมถึงการคิดด้านลบกับตัวเอง หรือมองสถานการณ์ตรงหน้าเลวร้ายกว่าความเป็นจริง

ตัวกระตุ้นบาดแผลทางใจที่ยากจะคาดเดา

“ใครก็มีอาการแบบนี้ได้” คือความกังวลของ พญ.ปริชวันต่อผู้มีบาดแผลทางใจ ยิ่งไปกว่านั้น ตัวกระตุ้นของแต่ละคนก็ยากจะคาดเดา เพราะเป็นเรื่องเฉพาะบุคคล ดังนั้น สิ่งที่อยู่บนสื่อโทรทัศน์และสื่อออนไลน์ เช่น ภาพบาดแผล ภาพความรุนแรง ภาพคนที่อยู่ในอาการคุ้มคลั่ง ก็อาจไปกระตุ้นอาการของผู้ชมที่มีบาดแผลทางใจได้เช่นกัน

ขณะเดียวกัน เนื้อหารุนแรงที่ถูกนำเสนอก็อาจสร้างบาดแผลใหม่ให้ผู้ชมที่ยังไม่เคยมีบาดแผลทางใจมาก่อนได้ด้วย

“ ‘เด็ก’ อยู่ในกลุ่มประชากรที่ไม่ต้องเป็น PTSD มาก่อน ก็อาจเกิดบาดแผลจากการเสพสื่อ เพราะสื่อหลายอย่างมันเกินพลังความแข็งแกร่งทางจิตใจของเด็ก” พญ.ปริชวันเล่าถึงเคสหนึ่งที่เคยรักษา ตัวเด็กไม่เคยเรียนรู้เรื่องเพศมาก่อน แต่เปิดไปเจอเนื้อหาเกี่ยวกับเพศบนสื่อโฆษณา จากนั้นจึงเกิดอาการวิตกกังวล ฝันร้าย รู้สึกว่าตนเองสกปรก กลายเป็นความหวาดกลัวฝังใจจนครอบครัวต้องพามาพบจิตแพทย์

พญ.ปริชวันมองว่า คำเตือนเนื้อหารุนแรงยังมีข้อจำกัดอยู่ เพราะในชีวิตจริงไม่สามารถคาดเดาได้เลยว่า เหตุการณ์หรือเนื้อหาใดจะเป็นตัวกระตุ้นบาดแผลทางใจของผู้ชม และอาการของผู้ชมจะรุนแรงระดับใดเมื่อถูกกระตุ้น เพราะคนที่มีบาดแผลทางใจไม่ได้รู้ตัวเองเสมอไป หรือแค่ต้องพิมพ์คำเตือนเนื้อหารุนแรงในตัวเลือกซ่อนคำ เช่น การข่มขืน (Rape) ก็อาจหนักหน่วงเกินจะรับไหวแล้ว

อย่างไรก็ตาม แพทย์ผู้เชี่ยวชาญเห็นด้วยว่า การใส่คำเตือนเนื้อหารุนแรงควรเป็นหนึ่งในความรับผิดชอบของสื่อ ขณะเดียวกัน ก็ไม่ควรมีเนื้อหาที่ละเมิดหรือคุกคามจิตใจ เช่น ภาพศพ ภาพร่ำไห้ของญาติผู้เสียชีวิต เพราะอาจกระตุ้นหรือตอกย้ำบาดแผลทางใจได้

ภาพศพที่ปรากฏในสื่ออาจคุกคามจิตใจผู้ชมได้

คำเตือนเนื้อหารุนแรงเป็นเรื่อง “รอได้”  ในสื่อโทรทัศน์

น่าสังเกตว่า ความตระหนักรู้เรื่องคำเตือนเนื้อหารุนแรงที่อาจส่งผลต่อจิตใจผู้รับสาร มีที่ทางบนสื่อออนไลน์มากกว่าสื่อโทรทัศน์ คำถามสำคัญคือ เป็นไปได้หรือไม่ หากสื่อโทรทัศน์จะใส่คำเตือนเนื้อหารุนแรงเหล่านี้อย่างละเอียดและแพร่หลาย เช่นเดียวกับสื่อออนไลน์

ด้าน พลโท พีระพงษ์ มานะกิจ กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ให้ความเห็นว่า สื่อโทรทัศน์มีการใช้คำเตือนเนื้อหามานานแล้ว อยู่ในรูปของการจัดเวลาออกอากาศ (Watershed) และข้อจำกัดเรื่องอายุ เพศ ภาษา หรือความรุนแรง ส่วนคำเตือนเนื้อหารุนแรงที่เฉพาะเจาะจงในประเด็นที่อาจส่งผลกระทบทางใจ กรรมการ กสทช. รับว่า “ไม่ได้มองละเอียดขนาดนั้น” และมีมาตรา 37 ในการกำกับสื่อโทรทัศน์อยู่ก่อนแล้ว

พ.ร.บ.การประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ.2551
มาตรา 37 ระบุว่า “ห้ามมิให้ออกอากาศรายการที่มีเนื้อหาสาระที่ก่อให้เกิดการล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข หรือที่มีผลกระทบต่อความมั่นคงของรัฐ ความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือมีการกระทำซึ่งเข้าลักษณะลามกอนาจาร หรือมีผลกระทบต่อการให้เกิดความเสื่อมทรามทางจิตใจหรือสุขภาพของประชาชนอย่างร้ายแรง”

พล.ท.พีระพงษ์กล่าวว่า เกณฑ์ที่ใช้ในการควบคุมเนื้อหาที่ละเมิดมาตรา 37 เป็นไปตามขั้นบันได เริ่มจากการปรับที่ 50,000 บาท ไปจนถึงการพักใช้ใบอนุญาต ส่วนช่องที่เคยถูกพัก “จอดำ” ที่ผ่านมามีแค่ช่องที่เสนอเนื้อหาทางการเมือง

กรรมการ กสทช. เห็นว่า เนื่องจากสื่อเก่ากำกับได้ง่ายกว่าสื่อใหม่ การใส่คำเตือนเนื้อหารุนแรงบนโทรทัศน์จึงไม่ถือเป็นเรื่องจำเป็นเร่งด่วน อาจต้องดูเป็นรายกรณี “สื่อเก่าจะต้องมีองค์กร และองค์กรก็จะมีระบบตรวจสอบภายในอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นจะมีหรือไม่มีคำเตือนลักษณะนั้นก็ได้ เห็นแนวโน้มเฉพาะเรื่องข่าว เช่น ข่าวเรื่องเมียดูผัวแขวนคอตาย อาจจะต้องเตือนว่าภาพที่เห็นจะไปทำร้ายใคร”

อีกประเด็นสำคัญที่ พล.ท.พีระพงษ์ เห็นว่าเป็นอุปสรรคในการใส่คำเตือนเนื้อหารุนแรง คือโครงสร้างสื่อที่อยู่ภายใต้ทุนนิยม

“ถ้าจะแก้ปัญหาสื่อ คนดูต้องมีส่วนร่วม หรือรัฐต้องสนับสนุนเงินเขา การเอาอักษรไปวางแปะไว้ข้างหน้ามันแก้ปัญหาได้น้อยมาก”

พล.ท.พีระพงษ์ มานะกิจ กรรมการ กสทช.

ในความเห็นของกรรมการ กสทช. แม้คำเตือนเนื้อหารุนแรงจะมีข้อดีเรื่องการป้องกันไม่ให้เกิดผลกระทบทางจิตใจ แต่ก็ทำให้เกิดคำถามว่า “คุ้มหรือเปล่า” ที่จะออกคำเตือนอย่างเฉพาะเจาะจงบนสื่อโทรทัศน์ เพื่อ “พิทักษ์” ผู้ชมกลุ่มดังกล่าว ซึ่งอาจเป็นเพียงกลุ่มเล็กๆ เท่านั้น

ที่ทางของ “คำเตือนเนื้อหารุนแรง” บนสื่อออนไลน์

แม้ความหวังที่จะเห็นคำเตือนเนื้อหารุนแรงในสื่อโทรทัศน์จะริบหรี่ แต่ทาง อรพิณ ยิ่งยงพัฒนา บรรณาธิการบริหารไทยรัฐออนไลน์ กลับมองเห็นความเป็นไปได้ในการใส่คำเตือนดังกล่าวบนสำนักข่าวออนไลน์

อรพิณกล่าวว่า แนวทางที่ไทยรัฐออนไลน์ใช้เพื่อลดทอนความรุนแรงของเหตุการณ์ที่นำเสนอ คือ การเบลอภาพ เช่น ภาพหวาดเสียว ภาพศพ หรือภาพที่กระทบต่อสิทธิส่วนบุคคล แต่ในระยะหลังนี้ กองบรรณาธิการเริ่มวางแผนจะใส่คำเตือนเนื้อหารุนแรงในการรายงานข่าวทางอย่างเฟซบุ๊กและยูทูบ

ที่ผ่านมา ไทยรัฐออนไลน์เคยได้รับการเตือนเรื่องเนื้อหารุนแรงจากเฟซบุ๊ก เนื่องจากตัวแพลตฟอร์มมีการกำหนดนโยบายมาตรฐานชุมชนสำหรับผู้ใช้งานเอาไว้ เช่น การห้ามโพสต์ภาพหรือวิดีโอของผู้คนหรือศพในสภาพแวดล้อมที่ไม่ใช่ทางการแพทย์ หรือการใช้ความรุนแรงต่อเด็ก หากมีการละเมิดนโยบายดังกล่าว ทางแพลตฟอร์มก็จะตักเตือนหรือนำเอาภาพออกจากระบบ

บรรณาธิการไทยรัฐออนไลน์เห็นว่า สื่อออนไลน์สามารถใส่คำเตือนเนื้อหารุนแรงได้ไม่ยาก และเป็นไปได้สูงที่จะเห็นสำนักข่าวออนไลน์ของไทยใส่คำเตือนดังกล่าว เพียงแต่ที่ผ่านมายังไม่เคยมีการหยิบยกประเด็นนี้มาพูดคุยเป็นวงกว้าง 

ท้ายสุดแล้ว อรพิณมองว่า ข้อจำกัดเดียวที่มองเห็น มีเพียงสื่อวีดีโอที่ต้องคำนึงถึงการดึงดูดความสนใจของผู้ชม จึงเป็นความท้าทายของสื่อในการหาวิธีเล่าเรื่องและสื่อสารคำเตือนเนื้อหารุนแรงไปพร้อมกัน “ความรุนแรงมันไต่เส้นของการดึงความสนใจของผู้คนกับความระมัดระวัง มันต้องหาจุดสมดุลกัน”

%d bloggers like this: