News Top Stories

ขุนศึก ศักดินา พญาอินทรี : สามอำนาจสงครามเย็น สู่หนึ่งสังคมอันบิดเบี้ยว

นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์และการเมืองไทย ชี้ให้เห็นความสัมพันธ์ระหว่างสามกลุ่มอำนาจหลัก คือ กองทัพไทย สถาบันกษัตริย์ และสหรัฐอเมริกา ที่ร่วมกันกำหนดนิยามใหม่ของ “ความเป็นชาติ” เพื่อต่อต้านคอมมิวนิสต์ในยุคสงครามเย็น นำมาสู่การสถาปนาอำนาจของสถาบันกษัตริย์ในการเมืองไทยปัจจุบัน

เรื่องและภาพ : ชยพล มาลานิยม

“สิ่งแรกในสงครามเย็นที่สหรัฐอเมริกาเอาไปจากประเทศไทย คือประชาธิปไตย” นิธิ เอียวศรีวงศ์ กล่าวในช่วงต้นของงานเสวนา “จุดกำเนิดของระบอบเผด็จการอำนาจนิยมแบบไทยในยุคสมัยสงครามเย็น” 

(ซ้ายไปขวา) ประจักษ์ ก้องกีรติ ผู้ดำเนินการเสวนา พวงทอง ภวัครพันธ์ ณัฐพล ใจจริง และ อาสา คำภา
ในงานเสวนาหัวข้อ “จุดกำเนิดของระบอบเผด็จการอำนาจนิยมแบบไทยในยุคสมัยสงครามเย็น”

เมื่อวันที่ 9 ตุลาคม 2563 ศูนย์วิจัยดิเรก ชัยนาม คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมกับ สำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน จัดงานเสวนา “จุดกำเนิดของระบอบเผด็จการอำนาจนิยมแบบไทยในยุคสมัยสงครามเย็น”  เพื่อเปิดตัวหนังสือ “ขุนศึก ศักดินา พญาอินทรี” โดย ณัฐพล ใจจริง ที่คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์

นิธิ เอียวศรีวงศ์ นักวิชาการอิสระ กล่าวเปิดงานเสวนา โดยอธิบายว่าตั้งแต่สมัยอยุธยา การเมืองไทยเต็มไปด้วยการช่วงชิงอำนาจ และถูกแทรกแซงจากต่างชาติมาโดยตลอด แต่ไม่มีครั้งใดที่การเมืองไทยจะอ่อนแอ และไร้ความชอบธรรมเท่ากับสมัยหลัง 2490 เป็นต้นมา เพราะอยู่ใต้อาณัติของสหรัฐอเมริกาอย่างเต็มรูปแบบ โดยผู้ที่ได้ประโยชน์สูงสุดคือชนชั้นนำไทย “หากจะหาว่าใครขายชาติ ไม่ต้องมองหาท่อน้ำเลี้ยง ให้มองไปข้างบนก็จะเจอเยอะแยะเลย”

นักวิชาการอาวุโสชี้ว่า ตั้งแต่ปี 2490 จนถึงราวปี 2510 เป็นช่วงเวลาที่กลุ่มศักดินาไทยสั่งสมอำนาจเต็มที่ จนสามารถยับยั้งการเติบโตของประชาธิปไตยไทยได้นับแต่นั้น และสืบเนื่องมาเป็นระยะเวลายาวนาน “เหยื่อตัวแรกที่พญาอินทรีโฉบไปจากประเทศไทยในช่วงสงครามเย็น คือประชาธิปไตย”

อาสา คำภา นักประวัติศาสตร์ ผู้ศึกษาเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์เชิงเครือข่ายในสมัยรัชกาลที่ 9 เริ่มการเสวนาโดยวิเคราะห์ว่า หนังสือ ขุนศึก ศักดินา พญาอินทรี สามารถฉายภาพความสัมพันธ์เชิงซ้อนในกลุ่มการเมืองชนชั้นนำไทยยุคสงครามเย็นได้อย่างละเอียด ทั้งยังให้ข้อมูลที่สดใหม่เกี่ยวกับความขัดแย้งภายในราชสำนัก หรือกลุ่มรอยัลลิสต์

“จุดเริ่มต้นของอุดมการณ์เชิดชูสถาบันกษัตริย์ในไทยอย่างที่เป็นอยู่ทุกวันนี้ มันเกิดขึ้นจากเงื่อนไขของสหรัฐอเมริกาด้วยซ้ำ คำอธิบายนี้ทำลายความรับรู้ความเข้าใจของเราหลายอย่างทีเดียว” อาสา กล่าวถึงประเด็นสำคัญที่หนังสือเล่มนี้อธิบาย

อาสา อภิปรายว่าสหรัฐอเมริกาได้นำแนวคิด “ราชประชาสมาสัย” ซึ่งเสนอให้สถาบันกษัตริย์และประชาชนมีความเท่าเทียมและพึ่งพาอาศัยกัน เพื่อเป็นทางรอดของสถาบันกษัตริย์ที่จะอยู่ร่วมกับประชาชนได้ในระบอบการปกครองใหม่ ไปใช้ในปฏิบัติการเพื่อต่อต้านแนวคิดคอมมิวนิสต์ในไทย จนทำให้สถาบันกษัตริย์มีอำนาจเพิ่มขึ้นอย่างมาก  

ขณะที่ พวงทอง ภวัครพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่าหนังสือเล่มนี้ชี้ให้เห็นช่วงเวลาสำคัญที่ประเทศไทยยินยอมให้สหรัฐอเมริกาเข้าแทรกแซงและครอบงำการเมืองไทย จนถึงขั้นละเมิดอธิปไตยของไทยอยู่บ่อยครั้ง ทว่านักวิชาการไทยมักมองว่านี่เป็นนโยบาย ‘ลู่ตามลม’ อันชาญฉลาด ทั้งตอกย้ำเสมอว่าไทยไม่เคยเสียเอกราชให้กับใคร

“เราลู่ตามลมจนเราไม่รู้ตัวว่าได้เลื่อนไหลไปสู่สภาวะกึ่งอาณานิคมของสหรัฐฯ ประเทศไทยอยู่ในสภาวะกึ่งอาณานิคม แต่เราไม่เคยยอมรับมันจริงๆ” 

พวงทอง ย้ำว่านักวิชาการ รวมทั้งสื่อมวลชนในปัจจุบัน ควรเลิกมองนโยบายต่างประเทศว่าเป็นการลู่ตามลม แต่ควรมุ่งเฝ้าระวังและกล้าวิพากษ์วิจารณ์การดำเนินนโยบายต่างประเทศของไทยมากกว่านี้ ทั้งยังตั้งข้อสังเกตว่าหลายปีที่ผ่านมา รัฐบาล คสช. นำประเทศเข้าไปอยู่ใต้อิทธิพลของจีนมากขึ้น “คล้ายคลึงกับสิ่งที่เกิดขึ้นในช่วงทศวรรษ 2490 ยิ่งประชาชนขัดแย้งมาก ผู้นำประเทศจะยิ่งแสวงหาแรงสนับสนุนทั้งทางเศรษฐกิจและการทหารมากขึ้น ปัญหาคือเราจะสามารถเรียนรู้บทเรียนทางประวัติศาสตร์ได้มากเพียงใด นี่คือสภาวะที่น่าเป็นห่วง”

ณัฐพล ใจจริง (กลางภาพ นั่ง) ผู้เขียนหนังสือ ‘ขุนศึก ศักดินา พญาอินทรี’

ด้าน ณัฐพล ใจจริง ผู้เขียนหนังสือ ขุนศึก ศักดินา พญาอินทรี ซึ่งพัฒนามาจากวิทยานิพนธ์ปริญญาเอกของเขา อธิบายที่มาของงานวิจัยนี้ว่า ได้รับอิทธิพลจากงานเขียนของนักวิชาการผู้วิพากษ์การศึกษาประวัติศาสตร์ไทยตามแนวทางดั้งเดิม ได้แก่ เบเนดิกต์ แอนเดอร์สัน ธงชัย วินิจจะกุล และ กุลลดา เกษบุญชู มี้ด ซึ่งทำให้เขาเริ่มตั้งคำถามหลายประการต่อสังคมไทย เช่น ความคลุ้มคลั่งรุนแรงของลัทธิกษัตริย์นิยมล้นเกิน (Hyper-Royalism) เกิดขึ้นได้อย่างไร สาเหตุที่กองทัพทำรัฐประหารครั้งแล้วครั้งเล่าคืออะไร เป็นต้น “สิ่งที่ผมสนใจคือการศึกษาว่าสังคมเรากลายมาเป็นเช่นนี้ได้อย่างไร หรือพูดอีกอย่างก็คือ ศึกษามรดกของสงครามเย็น”

จากการค้นคว้าเอกสารในหอจดหมายเหตุของสหรัฐอเมริกาและสหราชอาณาจักร ณัฐพล ค้นพบว่า ในปลายปี 2496 สหรัฐอเมริกาได้กำหนดแผนใหม่เพื่อต่อต้านคอมมิวนิสต์ โดยสร้างความตระหนักและตระหนกให้ชาวไทยว่า คอมมิวนิสต์จะเข้ามาบ่อนทำลายจารีตประเพณีและสถาบันกษัตริย์ของไทย 

ด้วยเหตุนี้ จึงมียุทธศาสตร์เพื่อเพิ่มคุณค่าความสำคัญให้กษัตริย์เพื่อเป็นแกนกลางต้านคอมมิวนิสต์ หรือเป็นสัญลักษณ์ของชาติ ซึ่งนำมาสู่ความหมายใหม่ของชาติในช่วงสงครามเย็น

“[ความเทิดทูนสถาบันฯ] เป็นสิ่งที่ถูกสร้างมาเรื่อยๆ แต่เราไม่รู้ว่ามันถูกสร้างขึ้น เพราะมันเป็นเรื่องธรรมดามากๆ แต่ความธรรมดานี่แหละคือความสำเร็จของสงครามจิตวิทยา”

ณัฐพล ยังอธิบายว่าความเทิดทูนสถาบันกษัตริย์ถูกปลูกฝังอย่างต่อเนื่องในสังคมไทย จนไต่ถึงจุดสูงสุดในเหตุสังหารหมู่ในธรรมศาสตร์ วันที่ 6 ตุลาคม 2519 อาการทางสังคมเช่นนี้คือผลลัพธ์ของการทำซ้ำอย่างต่อเนื่อง แม้สงครามเย็นจะจบสิ้นไปแล้วก็ตาม แต่มรดกยังคงอยู่ตลอดมา ทั้งยังตั้งข้อสังเกตว่าเยาวชนไทยในปัจจุบัน ที่ไม่ได้ถูกหล่อหลอมด้วยอิทธิพลสื่อในยุคสงครามเย็น ได้เริ่มเกิดการตั้งคำถามอีกครั้ง และไม่สมาทานความหมายของชาติในแบบสงครามเย็นอีกต่อไป แต่เชื่อว่าชาติคือประชาชน 

“ชาติเป็นของทุกคน เป็นของทุกเพศ ทุกวัย ความรู้ใหม่จากการค้นพบของเยาวชนเหล่านี้ เป็นการปฏิวัติจักรวาลวิทยาทางการเมืองไทยอีกครั้งหนึ่ง ที่จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงอย่างสำคัญ พวกเขาและเธอจึงเป็นเหมือนกาลิเลโอทางการเมือง” ผู้เขียนหนังสือ ขุนศึก ศักดินา พญาอินทรี สรุป

%d bloggers like this: