Interview Social Issue

“ผมไม่กลัว ‘เขา’ เพราะมนุษย์ทุกคนเท่ากัน” : ไผ่ ดาวดิน เล่าชีวิตที่ยังต้องต่อสู้กับความอยุติธรรมหลังออกจากคุก

วิพากษ์กระบวนการยุติธรรมแบบไทยๆ เจาะลึกปัญหาสิทธิมนุษยชนในคุก และการขบถต่ออำนาจนิยมภายใต้แนวคิด “มนุษย์เท่ากัน” ไปพร้อมกับไผ่ได้ในบทสัมภาษณ์ฉบับนี้

เรื่อง ปรียานุช ปรีชามาตย์ 

จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา หรือ ไผ่ ดาวดิน เป็นนักกิจกรรมนักเคลื่อนไหวด้านสิทธิชุมชนและประชาธิปไตย ซึ่งเป็นที่รู้จักในวงกว้างหลังจากเขาและเพื่อนนักศึกษาอีกสี่คน “ชูสามนิ้ว” พร้อมใส่เสื้อที่เขียนว่า “ไม่เอารัฐประหาร” ต่อหน้าพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ขณะลงพื้นที่จังหวัดขอนแก่น หลังการรัฐประหารปี 2557 

เมื่อ 22 ธันวาคม 2559 ไผ่ถูกฝากขังที่ทัณฑสถานบำบัดพิเศษจังหวัดขอนแก่น 8 เดือนต่อมา วันที่ 15 สิงหาคม 2560 ศาลสั่งลงโทษจำคุกเขาจากความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 เนื่องจากแชร์โพสต์พระราชประวัติ รัชกาลที่ 10 ที่เผยแพร่โดย BBC Thai ไผ่รับสารภาพ จึงได้ลดโทษลงกึ่งหนึ่ง เป็นระยะเวลา 2 ปี 6 เดือน ต่อมาลดเหลือ 2 ปี 4 เดือน 18 วัน

หลังออกพ้นโทษมาได้ 4 ปี ไผ่ถูกจับอีกครั้งหลังจากเข้าร่วมการชุมนุมทางการเมืองเมื่อวันที่ 13 ตุลาคมที่ผ่านมา ในคดีฝ่าฝืนข้อกำหนดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และถูกควบคุมตัวอยู่ 6 วัน ก่อนศาลจะให้ประกันตัวได้ในวันที่ 19 ตุลาคม

แม้ว่าจะต้องวนเวียนเข้าโรงพัก-ศาล-เรือนจำ แต่ไผ่ก็ยังคงเคลื่อนไหวต่อต้านเผด็จการและเรียกร้องประชาธิปไตยอย่างไม่หยุดนิ่ง ทั้งยังยังวิจารณ์ประเด็นที่ไม่เป็นธรรมในประเทศไทยอย่างเปิดเผย

คิดว่ากฎหมายที่บังคับใช้อยู่ในปัจจุบันมีความยุติธรรมไหม

กฎหมายไม่ใช่ความยุติธรรม แต่เป็นเพียงเครื่องมืออย่างหนึ่ง อยู่ที่ว่าเขาจะใช้หลักการไหนมอง เช่น หลักการสิทธิมนุษยชน อำนาจนิยม หรือกฎหมายปิดปาก ฯลฯ ลักษณะการปกครองบ้านเรา กฎหมายเป็นการตีความ ก็ต้องมาดูทัศนะของผู้พิพากษา 

รู้สึกอย่างไรต่อกระบวนการยุติธรรมของไทย

ตามหลักการของกฎหมาย (เมื่อมีการจับผู้ต้องสงสัย) หลักการหนึ่งคือให้ประกันตัว สู้กันจนกว่าศาลจะตัดสินว่าผิดจริง แล้วค่อยขังคุก แต่ประเทศเรามักใช้อีกวิธีขังไว้ก่อน ไม่ผิดค่อยปล่อย หลังๆ กระทรวงยุติธรรมออกนโยบายว่า ถ้าศาลยกฟ้องให้เรียกค่าเสียหายย้อนหลังได้วันละ 500 บาท กรณีที่เอาไปขังแล้วเขาไม่ผิด 

บางคนไม่มีญาติ ไม่มีเงิน เข้าไปแล้วก็คิดแค่ว่าจะทำอย่างไรให้ออกมาได้เร็วที่สุด เขาก็เลยต้องรับสารภาพ ผิดไม่ผิดไม่รู้ แต่นี่คือหนทางที่ออกได้เร็วที่สุด ปัญหาที่ตามมาจากการฝากขัง คือ เรือนจำแออัด เพราะคนเข้าคุกมากกว่าคนออก 

สมมติพ้นโทษวันละคน แต่ติดคุกวันละ 10 คน แบบนี้มันจะไม่แออัดได้ยังไง

ความไม่เชื่อใจก็เป็นอีกสาเหตุที่ทำให้เกิดการฝากขังขึ้น เจ้าหน้าที่คิดว่าถ้าให้ประกันตัวแล้วเขาจะหนี สถิติก็คือคนหนีคือคนรวย คนจนไม่มีใครหนีหรอก เขาเลือกเข้าคุกกันส่วนใหญ่ แต่ศาลใช้วิธีคิดกลับกัน ไปให้คนรวยประกันตัว และจับคนจนเพราะกลัวเขาจะหนี 

วินาทีที่รู้ว่าติดคุกคดีมาตรา 112 นาน 2 ปี 6 เดือน รู้สึกอย่างไร

งงว่าเราต้องติดเป็นปีเลยหรอวะ แค่นี้เองนะ ยังไม่ได้ทำอะไรเลยนะ โดนจับตั้งแต่ธันวาคม 2559 นัดสืบพยานครั้งแรกสิงหาคม 2560 ต้องรอ 8 เดือน เห็นไหมปัญหาของการฝากขังคืออะไร กระบวนการยุติธรรมของศาลมันล่าช้า สมมติถ้าศาลตัดสินว่าไม่ผิดคือติดคุกฟรีๆ 8 เดือนเลยนะ บางคนที่เป็นผู้บริสุทธิ์ก็ติดอยู่เป็นปี

รู้สึกไม่เห็นด้วยกับกฎเรือนจำข้อไหนบ้าง 

พอเข้าไปข้างในเขาก็ทำลายศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์เลย อย่างแรกคือการตัดผม ทำให้ทุกคนเหมือนกัน ต้องเข้าใจฐานคิดของเรือนจำไทย เขาคิดว่ามนุษย์เกิดมาเป็นสัตว์ที่เลวร้ายไม่มีกฎหมาย คุกเลยเป็นที่กักขังลงโทษ มีกฎที่ช่วยทำให้มนุษย์มีระเบียบวินัย 

“ผู้คุม” ในโครงสร้างกระบวนการยุติธรรมเขาต่ำสุด แต่ในโครงสร้างคุกเขาใหญ่สุด ก็จะมีลักษณะของการกดขี่ เพราะเขาก็โดนกดมาเหมือนกัน จึงไประบายอารมณ์กับนักโทษ 

ผู้คุมไม่มีสิทธิ์ตีนักโทษ ต้องตั้งกระบวนการพิจารณาจึงจะลงโทษได้ และตอนลงโทษคณะกรรมการก็ต้องอยู่ตรวจสอบด้วย แต่ในความเป็นจริง ผมเห็นผู้คุมไม่พอใจก็ฟาด มันก็เอาไม้ฟาดเลย หลายครั้งที่นักโทษต้องบอกหมอว่า “ลื่นล้ม” ไม่มีใครกล้าพูดความจริงเพราะกลัวอยู่ยาก

ไผ่ ดาวดิน นักกิจกรรมทางการเมือง

อาหารการกินเป็นอย่างไรบ้าง

ผมเคยอยู่มา 3 คุก กรุงเทพฯ ภูเขียว ขอนแก่น ที่กรุงเทพฯ อาหารห่วยสุด เมนูพะโล้ เขาให้ “ไข่ต้ม” กับ “น้ำพะโล้จืดๆ” มา ตอนที่พวกเราเข้าไปไม่มีเนื้อหมูเลย เขาก็เรียกร้องกัน หลังๆ เพิ่งจะได้มีหมู ส่วนขอนแก่นนี่อาหารอร่อยเลย

เล่าประสบการณ์ที่เรียนจบในคุกให้ฟังหน่อย 

มันเป็นวิชาทั่วไปบังคับ วิชาคอมพิวเตอร์ วิชาอื่นเราสอบเสร็จแล้ว เหลือแค่วิชาเดียว จริงๆ เราต้องได้สอบตามกำหนดการคือเดือนมกราคม 2560 แต่ถูกจับเข้าคุกไปเดือนธันวาคม 2559 เขาไม่อนุญาตให้ออกมาสอบข้างนอก ทั้งๆ ที่ตอนนั้นศาลยังไม่พิพากษา เรายังเป็นผู้บริสุทธิ์อยู่ แต่ก็เจรจาต่อรองจนสอบในคุกได้ 

ผ่านช่วงเวลาที่อยู่ในคุกมาได้เพราะอะไร 

ก็มีกำลังใจจากหลายคน มีคนมาเยี่ยมทุกวัน เพื่อน ครอบครัว นักเคลื่อนไหว ฯลฯ ผมก็อ่านหนังสือไปเรื่อย มองคนอื่นที่เขาติดนานกว่าเรา พยายามคิดว่าคนอื่นอยู่ได้เราก็ต้องอยู่ให้ได้

คิดว่าสภาพแวดล้อมของเรือนจำ วิถีชีวิต ทัศนคติของเจ้าหน้าที่มันเอื้อต่อการพัฒนาจิตใจไหม

ไม่ครับ

แต่มีคำกล่าวอ้างว่าเรือนจำมีไว้ผลิตคนดีกลับสู่สังคมนะ

มันต้องปรับสังคม ไม่ใช่ปรับพวกเรา พ้นโทษออกไปสมัครงานก็ไม่รับ เพราะมีประวัติอาชญากรรม อยู่ในนี้เขาก็ห่อเหี่ยวมากพอแล้ว เขามีจินตนาการจะกลับไปใช้ชีวิต อยู่กับลูกกับเมีย แต่เมื่อสังคมไม่เปิดโอกาส ก็ต้องกลับไปทำแบบเดิม

เพราะอะไรจึงคิดว่ามนุษย์ไม่ได้เลวแต่กำเนิด แต่เป็นเพราะปัจจัยทางสังคมที่บีบให้เขาต้องทำผิด?

มีงานวิจัยว่ามนุษย์ไม่ได้เกิดมาเพื่อฆ่าใคร ไม่ได้เกิดมาโหดร้าย แต่มันเกิดจากสังคมที่เขาอยู่ เกิดจากการรับรู้ของเขา ตอนที่ผมอยู่ข้างในผมก็ศึกษาความเป็นมนุษย์ของนักโทษ พยายามทำความเข้าใจพวกเขา ไปชวนเขาคุยถึงปัญหาต่างๆ 

เรือนจำควรเป็นแบบไหนจึงจะพัฒนาจิตใจผู้ต้องขังได้

แบบ “บ้านกาญจนา” ของป้ามล ทิชา ณ นคร เขาใช้วิธีการมอบความรัก คืนความเป็นมนุษย์ให้คนที่ก้าวพลาด ดูจากรีวิวของนักโทษแล้วน่าจะได้ผลดีมากกว่าวิธีของเรือนจำนะ

ไผ่นิยามคุกว่าคืออะไร

คุกคือพื้นที่กังขังอิสรภาพ มนุษย์ต้องมีอิสระ คุกจึงกังขังความเป็นมนุษย์ด้วย คุกทำให้เรารู้สึกไม่มีศักดิ์ศรี ในต่างประเทศเขาแค่จำกัดพื้นที่แต่ยังรักษาศักดิ์ศรีของนักโทษ

การที่เคยติดคุกมันทิ้งปมอะไรให้ตัวเองบ้าง

ทิ้งความอยุติธรรมไว้ในใจเรา เราคงยังต้องตามหาความยุติธรรมเพื่อมาตอบคำถามในใจว่ากูผิดอะไรวะ แต่มันก็เป็นแรงบันดาลใจให้เราสู้ต่อ มันเตือนใจให้เราพยายามที่จะแก้ปัญหานี้ให้ได้ จิตใจผมโอเคเพราะก่อนผมติดคุก ผมไปบวชมาก็เลยสบายใจ ทำให้เราอยู่กับปัจจุบัน รักษาสมดุลร่างกายและจิตใจให้เป็นปกติอยู่เสมอ เรามองตัวเอง กำหนดทิศทางตัวเองว่าจะสู้ด้วยความรัก 

ต่อให้เราโกรธแค้น อยากเอาคืนแค่ไหน เราก็จะสู้โดยไม่ทิ้งความเป็นมนุษย์ เพราะไม่ได้อยากเป็นแบบเขา ไม่งั้นเราก็จะกลายเป็นผู้กดขี่คนใหม่

ไผ่ ดาวดิน นักกิจกรรมทางการเมือง

สู้จนถึงตอนนี้เพื่ออะไร ไม่ท้อเหรอที่ออกมาโพสต์วิพากษ์วิจารณ์ได้ไม่นานก็โดนจับอีก 

ความหมายและคุณค่าของชีวิตแต่ละคนมันก็ต่างกัน บางคนอยากรวย บางคนอยากมีครอบครัวที่ดี แต่เราอยากใช้ชีวิตเพื่อปลดปล่อยผู้ถูกกดขี่ เราอยากจะเปลี่ยนระบบโครงสร้างทางการเมือง สิ่งที่พวกเราทำ ก็มาจากการที่เรามีความฝันเราว่าจะได้อยู่ในโลกที่ดีกว่านี้ พวกเราจินตนาการว่าถ้าสังคมมันดีเราคงจะได้อยู่ด้วยกันอย่างมีความสุข แต่ตอนนี้ชาวบ้านยังคงเดือดร้อน เราก็ต้องช่วยเหลือ เราไม่สามารถทำเป็นมองไม่เห็นความลำบากของพวกเขาได้ เรายังสู้ต่อไปเพราะมันคือคุณค่าที่เรายึดถือ 

เราอยากช่วยให้เขาขึ้นมาเท่ากับเรา แล้วพาทุกคนขึ้นไปสู่ความเท่าเทียม เวลาเจอตำรวจผมไม่กลัว ไม่จำเป็นต้องนอบน้อม เพราะผมมองว่าพวกเราเท่ากัน การที่คนยังกลัวผู้มีอำนาจในประเทศ มันเกิดจากการที่เขาทำให้เรารู้สึกเหมือนเราเป็นฝุ่น แต่เมื่อเราปรับมุมมองให้เขาเป็นแค่คนธรรมดาเท่ากับมนุษย์ทุกคน เราก็จะไม่รู้สึกกลัว 

%d bloggers like this: