เรื่อง : ปรียานุช ปรีชามาตย์ ภาพ : วโรดม เตชศรีสุธี, สิทธิเดช มั่นทอง, ชุติกาญจ์ บุญสุทธิ
หมายเหตุ : บทความมีการใช้นามสมมติเพื่อคุ้มครองความเป็นส่วนตัวของผู้ต้องขัง
“ประเทศไทยมีเรือนจำ 143 แห่ง มีพื้นที่เรือนนอนคิดเป็น 305,312 ตร.ม. สามารถรองรับผู้ต้องขังได้ 254,000 คน เมื่อเทียบกับจำนวนนักโทษ ถือว่าเกินกว่าอัตราที่องค์การสหประชาชาติกำหนดไว้” รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงหลังการประชุมครม. เรื่องการลดความแออัดของผู้ต้องขังในเรือนจำวันที่ 28 มกราคม 2563 ที่ทำเนียบรัฐบาล
จากรายงานสถิติผู้ต้องขังของกรมราชทัณฑ์ ประจำวันที่ 7 พฤศจิกายน 2563 ระบุว่าทั่วประเทศมีผู้ต้องขังทั้งหมด 347,908 คน หมายความว่าผู้ต้องขังหนึ่งคน มีพื้นที่การนอนเพียง 0.87 ตร.ม. ทำให้เรือนจำไทยมักถูกตั้งคำถามว่า แท้จริงแล้วเบื้องหลังกำแพงคอนกรีตสูงลิ่วนั้น ผู้ต้องขังใช้ชีวิตกันอย่างไร จะช่วยปรับพฤติกรรมหรือยิ่งทำให้สุขภาพจิตมีปัญหากันแน่
คุกมอบประสบการณ์ที่ยากจะลืมเลือน
หริม (นามสมมติ) ผู้ต้องขังวัย 25 ปี เล่าประสบการณ์ที่แย่ที่สุดในการเข้าคุกครั้งแรก “ด้วยความที่หนูเป็นกะเทย ผู้ชายก็มาพูดแหย่เล่นๆ ว่า ‘ขอทีดิ’ หนูก็ไม่รู้ว่าเขาตั้งใจจะรังแกหรือมาแหย่เล่นกับเรา”
“ตอนอยู่ข้างนอกไว้ผมยาวถึงกลางหลัง พอเข้ามาก็โดนไถเป็นผมทรงนักเรียน ตอนนั้นก็ร้องไห้เพราะเสียดายผม เราไว้มาตั้งนาน โกรธนะ แต่เจ้าหน้าที่เขาก็ต้องทำตามระเบียบ”
หริม (นามสมมติ) ผู้ต้องขังในกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ
นี่เป็นครั้งที่สองที่หริมเข้าคุกมาด้วยความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด เธอตัดพ้อว่าครั้งแรกที่ออกไปเธอลองสมัครงานแล้ว แต่ไม่มีบริษัทใดรับเข้าทำงาน “สังคมภายนอกมันหางานลำบาก ก็เลยต้องกลับไปขาย ไปเสพเหมือนเดิม แต่ออกไปครั้งนี้เราต้องทำงานหาเลี้ยงตาเพราะว่าตาแก่แล้ว”
หริม (นามสมมติ) ผู้ต้องขังในกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ
ทอม (นามสมมติ) ผู้ต้องขังวัย 21 ปี ให้สัมภาษณ์ว่าการปรับตัวที่ยากที่สุดคือเรื่องการนอน “เวลานอนอัดแน่นกัน 80 คน ผมนอนตะแคงอยู่สองเดือน เพิ่งได้นอนหงายตอนย้ายแดน” เมื่อถามทอมซึ่งติดคุกมาตั้งแต่อายุ 19 ปี ว่าเคยมีความรู้สึกเสียดายเวลาสามปีที่ต้องมาอยู่ที่นี่ไหม ทอมตอบว่า “ถ้าไม่ติดคุกผมก็คงได้เรียนปริญญาตรีอยู่”
ทอมยังถูกเพื่อนๆ ผู้ต้องขังเรียกว่าเป็นคนที่วันๆ ไม่ทำอะไร เขามักจะนั่งอยู่เฉยๆ หรือหาอะไรฆ่าเวลาไปวันๆ ในช่วงแรกที่สัมภาษณ์ทอม เขาเหมือนคนไม่มีความรู้สึก ถามคำตอบคำ แต่เมื่อถามเกี่ยวกับครอบครัวเขาก็เริ่มน้ำตาคลอ “คิดถึงมากครับ ก็เขียนจดหมายไปหาทุกครั้งที่คิดถึง แต่บางครั้งก็ไม่รู้จะทำยังไงครับ”
แม้ผู้ต้องขังหลายคนจะพบเจอกับประสบการณ์ที่ไม่ดีนัก แต่ โจ้ (นามสมมติ) ผู้ต้องขังอายุ 33 ปีมองว่าเรือนจำให้โอกาสเขาได้ลองทำสิ่งใหม่ๆ ที่ไม่เคยทำตอนอยู่ข้างนอก “ผมเป็นผู้ช่วยฝ่ายชุมชนบำบัด ในฝ่ายก็มีกิจกรรมหลายอย่างครับ เช่น กองศิลป์ กองทูบีนัมเบอร์วัน แข่งเต้น ร้องเพลง เล่นดนตรี ทำมิวสิควิดีโอ” โจ้พูดพร้อมชี้ไปยังอุปกรณ์การถ่ายทำภาพยนตร์ เช่น Green Screen กล้องถ่ายภาพ รวมถึงเครื่องดนตรียกชุด
โจ้ที่นิยามตัวเองว่าเป็นคนปรับตัวง่ายและเข้าสังคมเก่งเล่าว่า สิ่งที่เขาได้ฝึกระหว่างอยู่ในคุกคือการฝึกความคิด “ต้องมองโลกในแง่บวก การที่คนมากหน้าหลายตามาอยู่รวมกันโดยไม่รู้จักกันมาก่อน เราก็ต้องปรับตัวเข้ากับเขา แค่อยู่ในกรอบสี่เหลี่ยมนี่ก็อึดอัดมากพอแล้ว ถ้าเรายิ่งตีกรอบมันก็ยิ่งแคบลงไปอีก หดหู่ยิ่งกว่าเดิมอีก” โจ้กล่าว
เมื่อถาม บุญเชิด (นามสมมติ) ผู้ต้องขัง อายุ 65 ปี เกี่ยวกับวิธีจัดการกับความรู้สึกแง่ลบระหว่างที่อยู่ในเรือนจำ เขาตอบว่ามักจะใช้ธรรมะเข้าช่วย “ช่วงเวลาที่เหงาหรือเศร้าก็มีนะครับ ผมก็สวดมนต์ ใช้ธรรมะบำบัดเอา ทุกวันนี้ก็เป็นห่วงแค่คุณแม่ ท่านอายุมากแล้ว ต้องไปหาคุณหมอทุกสัปดาห์ ผมก็สวดมนต์อธิษฐานให้คุณแม่อายุยืน ส่วนท่านก็บอกว่าสวดมนต์อธิษฐานทุกวันให้ผมออกไปจากที่นี่เร็วๆ”
แม้บุญเชิดจะไม่เคยทำศิลปะบำบัด แต่เมื่อให้เขาจินตนาการภาพที่ตัวเองอยากวาด เขาบรรยายว่าเป็นภาพกระท่อมหลังเล็กๆ ที่ล้อมรอบไปด้วยพื้นที่นากว้างขวาง ในช่วงเวลาใกล้พระอาทิตย์ตกดิน
สังคมในคุกไม่เอื้อต่อการพัฒนาจิตใจ
ปุณิกา ชูศรี อดีตผู้ต้องขังหญิงในคดีชายชุดดำ* มองว่าสโลแกนคืนคนดีสู่สังคมนั้นใช้ไม่ได้กับเรือนจำไทย เธอเสนอสโลแกนใหม่ว่า “คืนความเลวที่สุดสู่สังคม” เพราะสภาพแวดล้อมในคุกนั้นไม่ได้ช่วยพัฒนาจิตใจ ซ้ำยังต้อนให้ผู้ต้องขังต้องลักขโมยเพื่อเอาชีวิตรอด
“หลวงให้แค่ข้าว 3 มื้อ แจกแปรงสีฟันแข็งๆ ราคา 5 บาท ยาสีฟันเขาไม่ได้ให้ทั้งหลอด แต่บีบใส่ถุงพริกน้ำปลามาให้ ใช้ได้ประมาณ 3 วัน แจกสบู่ก้อนเล็กๆ เหมือนในโรงแรม เพราะเขาคิดว่าเดี๋ยวก็มีญาติซื้อให้”
ปุณิกา ชูศรี ผู้ต้องขังคดีชายชุดดำ
ด้าน จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา หรือที่รู้จักกันในชื่อ ไผ่ ดาวดิน เป็นหนึ่งในกลุ่มนักศึกษาผู้ชูสามนิ้วต่อต้านพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา หลังการรัฐประหารเมื่อปี 2557 เขายังเป็นอดีตผู้ต้องขังคดีมาตรา 112 จากการแชร์โพสต์พระราชประวัติ รัชกาลที่ 10 ที่เผยแพร่โดย BBC Thai และล่าสุดยังถูกควบคุมตัวอยู่ 6 วัน หลังถูกจับในข้อหาฝ่าฝืนข้อกำหนดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เมื่อวันที่ 13 ตุลาคมที่ผ่านมา
ไผ่ให้ความเห็นว่าทัศนคติที่จะสร้างความเปลี่ยนแปลงให้ผู้ต้องขังควรจะเป็นแบบ “บ้านกาญจนา” ของป้ามล ทิชา ณ นคร ที่ใช้วิธีการมอบความรัก คืนความเป็นมนุษย์ให้คนที่ก้าวพลาด แต่จากประสบการณ์ของไผ่ในฐานะผู้ต้องขัง เขายังพบเห็นเจ้าหน้าที่เรือนจำละเมิดสิทธิมนุษยชนของผู้ต้องขังอยู่บ่อยครั้ง
“ผู้คุมไม่มีสิทธิ์ตีนักโทษ ต้องตั้งกระบวนการพิจารณาจึงจะลงโทษได้ และตอนลงโทษคณะกรรมการก็ต้องอยู่ตรวจสอบด้วย แต่ในความเป็นจริง ผมเห็นผู้คุมไม่พอใจก็ฟาด เอาไม้ฟาดเลย แป๊ะๆ หลายครั้งที่นักโทษต้องบอกหมอ ว่า ‘ลื่นล้ม’ ไม่มีใครกล้าพูดความจริงเพราะกลัวอยู่ยาก”
ไผ่ ดาวดิน นักกิจกรรมทางการเมือง
จะฟื้นฟูจิตใจให้ผู้ต้องขังเป็น “คนดี” ของสังคมได้อย่างไร
เสกมนต์ สัมมาเพ็ชร์ นักทัณฑวิทยาชำนาญการ หัวหน้าฝ่ายชุมชนบำบัด ทัณฑสถานบำบัดพิเศษกลาง ย้ำหลักการทำงานของเรือนจำสองประการ ได้แก่ พัฒนาจิตใจเพื่อให้ผู้กระทำผิดกลับตัวเป็นคนดี และปฏิบัติต่อผู้ต้องขังตามหลักสิทธิมนุษยชน
เสกมนต์กล่าวว่า การควบคุมและการพัฒนาจิตใจผู้ต้องขังต้องไปด้วยกันเหมือนดั่งปีกนก ส่วนหนึ่งจะมากกว่าอีกส่วนไม่ได้ แต่ก็มองว่าการควบคุมไม่ให้ผู้ต้องขังหลบหนีและควบคุมไม่ให้กระทำความผิดยังต้องเป็นเรื่องหลัก “ต่อให้เราบำบัดดีแค่ไหน แต่ถ้าผู้ต้องขังปีนหนีก็แสดงว่าการฟื้นฟูจิตใจไม่ได้ผล ก่อนอื่นเขาก็ต้องยอมรับในสิ่งที่เขาทำ เขาทำกรรมต้องรับกรรม ทำผิดกฎหมายอาญาก็ต้องรับโทษ ทุกอย่างต้องมีกฎมีระเบียบ”
ด้าน สลิลา นรัตถรักษา นักรณรงค์เชิงนโยบาย สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย มองว่า ทัศนคติที่เรือนจำควรมีคือการเชื่อมั่นว่าคนเราเปลี่ยนแปลงได้ มีศักยภาพที่นำไปต่อยอดได้ และสิ่งที่ควรผลักดันให้เกิดการแก้ไขคือการเพิ่มความสำคัญในส่วนของการพัฒนาจิตใจให้มากกว่าร้อยละ 50 แทนความเชื่อแบบเดิมที่เน้นการควบคุมเป็นหลัก
เธอให้ความเห็นว่าเรือนจำไทยกำลังปรับปรุงแนวคิดไปในทางที่ดีขึ้นกว่าในอดีตมาก แต่สลิลายังหวังขึ้นไปอีกว่า คงจะดีไม่น้อยหากความรู้สึกเชื่อมโยงระหว่างเจ้าหน้าที่กับผู้ต้องขังเป็นไปในแบบบุคคลต่อบุคคล มากกว่าในรูปแบบของผู้คุมและผู้ถูกควบคุม
“เราเชื่อว่าทุกคนมีตัวตนหลายด้าน ซึ่งมันมีสภาพแวดล้อมหลายรูปแบบ มีหลากหลายวิธีการที่สามารถดึงตัวตนที่พึงประสงค์ออกมาได้ แต่เราคิดว่าการกดทับไม่ใช่หนึ่งในนั้น มันคงไม่สามารถทำให้ผู้ต้องขังรู้สึกว่า ฉันอยากจะออกไปสู่โลกภายนอกที่สดใส และเป็นคนดี เพื่อทำประโยชน์ให้สังคมได้”
ขั้นตอนกะเทาะเปลือกผู้ต้องขังด้วยศิลปะบำบัด
“กลุ่มของขวัญจากผู้หญิงหลังกำแพง” เป็นกลุ่มคนทำงานที่มีความเชี่ยวชาญแตกต่างกัน ทั้งนักศิลปะบำบัด นักวิชาการ นักกิจกรรม กระบวนกร ฯลฯ พวกเขารวมตัวกันด้วยความเชื่อที่ว่าการกักขังอย่างเดียวไม่สามารถปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้ต้องขังได้ แต่ควรมีพื้นที่ให้เขาได้ใคร่ครวญและทบทวนตัวเอง จึงรวมตัวกันจัดกระบวนการเรียนรู้เพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงให้ผู้ต้องขังจากภายใน
วิจิตรา เตรตระกูล กระบวนกรและนักศิลปะบำบัดอธิบายว่าศิลปะบำบัดเป็นประโยชน์สำหรับทุกคน ไม่ใช่เฉพาะผู้ต้องขังในเรือนจำเท่านั้น แต่เพราะเรือนจำเป็นระบบสังคมแบบควบคุมพิเศษ ที่มีกฎระเบียบรัดกุมเคร่งครัด เธอมองว่ากฎในเรือนจำนั้นมีรากฐานมาจากความกลัว มองว่าผู้ต้องขังเป็นภัยของสังคม จึงป้องกันด้วยการมุ่งควบคุมผู้ต้องขัง ซึ่งจะทำให้พวกเขายิ่งรู้สึกอึดอัดและรู้สึกถูกกดทับ
“การเป็นคนชายขอบของสังคม มันไม่อนุญาตให้พวกเขาได้แสดงออกหรือได้เป็นตัวของตัวเอง ซึ่งการที่เราแสดงสิ่งที่จริงแท้ในใจตัวเองออกมาไม่ได้ มันจะทำให้เราป่วย”
วิจิตรา เตรตระกูล กระบวนกรและนักศิลปะบำบัด
วิจิตรา เตรตระกูล กระบวนกรและนักศิลปะบำบัด กลุ่มของขวัญจากผู้หญิงหลังกำแพง
วิจิตราอธิบายว่า ศิลปะบำบัดเป็นกระบวนการที่เข้าไปทำงานเยียวยาหรือปรับสมดุลในตัวมนุษย์ แขนงที่วิจิตรานำมาใช้คือศิลปะบำบัดเพื่อการแสดงออก (Creative & Expressive Art Therapy) ให้ผู้ต้องขังแสดงอารมณ์ความรู้สึกภายในออกมาข้างนอกผ่านการสร้างผลงานศิลปะ เช่น การขีดเขียน ปั้นดินน้ำมัน ฉีกกระดาษ หรือการปลดปล่อยร่างกายผ่านการเคลื่อนไหว แล้วมาพิจารณาและแบ่งปันความรู้สึกกันในกลุ่ม
วิจิตราชี้ให้เห็นถึงจุดแข็งของการใช้ศิลปะบำบัดในการพัฒนาจิตใจผู้ต้องขัง 3 ประการ ได้แก่
- ได้ระบายอารมณ์ให้โล่ง
- ได้สื่อสารเสียงของตัวเองออกมา ทำให้ได้ทบทวนตัวเอง
- ได้สำรวจตัวเองในด้านที่เขาไม่ได้นึกว่าตัวเองมี ทั้งด้านที่เป็นศักยภาพ และด้านที่เรียกได้ว่าเป็นด้านมืดที่เขาปิดทับไว้ ศิลปะบำบัดสามารถเปิดเผยชิ้นส่วนแห่งตัวตนที่เขาไม่ยอมรับออกมาได้
ส่วนธีมในการสื่อสารของกิจกรรมศิลปะบำบัดแต่ละครั้งจะขึ้นอยู่กับกลุ่มเป้าหมาย แต่หลักๆ แล้วจะพูดถึงการรู้จักตัวเอง การเข้าใจความหลากหลายของมนุษย์ การทบทวนชีวิตที่ผ่านมา และการวางเป้าหมายในอนาคต
“บางครั้งเราเห็นอารมณ์ของกลุ่มดูตึงเครียด ก็ให้ปลดปล่อยอารมณ์ความรู้สึกตอนนั้นออกมาเป็นสี ถ้ามีความอึดอัดหรือโกรธจากการถูกกดดัน ก็ให้บี้ดินน้ำมันเล่นโดยไม่ต้องเป็นรูปเป็นร่าง เอาสะใจเข้าว่า แล้วมาพลิกดูแต่ละมุมว่าเห็นภาพอะไร จากนั้นเอาคำที่เห็นจากผลงานมาเขียนบทกวี เชื่อมโยงเรื่องราวแบ่งปันกันฟัง ความรู้สึกที่ไม่ดีในตอนแรกก็แปรเปลี่ยนไป อาจเกิดความเข้าใจหรือพบมุมมองใหม่ๆ ”
กิจกรรมศิลปะบำบัดในเรือนจำแบ่งออกเป็น 2 รูปแบบ ได้แก่
- กิจกรรมกลุ่ม ไม่เกิน 30 คน จัดกิจกรรมให้ทั้งกลุ่มทำพร้อมกันภายใต้ธีมเดียวกัน แล้วแบ่งปันความรู้สึกระหว่างทำและหลังทำ การทำกิจกรรมแบบกลุ่มจะเป็นเครื่องมือที่ทำให้ผู้ต้องขังรู้จักกันลึกขึ้น ไว้ใจกันมากขึ้น และรู้สึกโดดเดี่ยวน้อยลงเมื่อสัมผัสถึงความเชื่อมโยงระหว่างเรื่องราวของเพื่อนและตัวเอง
- กิจกรรมเดี่ยว จำนวน 1:1 ตามจำนวนทีมงาน เรียกว่ากิจกรรม “เปิดโต๊ะระบายคลายใจ” เป็นศิลปะบำบัดส่วนตัว ทำให้ผู้ต้องขังสามารถพูดถึงปมที่ติดค้างในใจได้ลึกกว่า ช่วยให้เขาสามารถคลี่คลายปัญหาเฉพาะตัวได้
ในกิจกรรม “เปิดโต๊ะระบายคลายใจ” ทีมงานจะเตรียมตั้งโต๊ะพร้อมอุปกรณ์ ผู้ต้องขังสามารถเข้ามาระบายความรู้สึกต่อทีมงานได้แบบตัวต่อตัว วิจิตราเล่าว่าในกิจกรรมนี้ไม่ได้มีแค่นักศิลปะบำบัด แต่มีผู้เชี่ยวชาญทางด้านอื่นๆ ร่วมด้วย
“บางคนก็ใช้การ์ดภาพ ใช้การโค้ช ใช้กระบะทรายบำบัด (ให้กระบะทรายเป็นโลกจำลองที่ผู้ต้องขังสร้างขึ้น โดยจะมีตุ๊กตาและอุปกรณ์ต่างๆ ให้พวกเขาจัดวาง เล่าเรื่องราวด้วยตัวเอง) แล้วแต่ว่าทีมงานถนัดอะไร ความหลากหลายทางกิจกรรมช่วยให้ผู้ต้องขังได้สื่อสารตามความถนัดของตัวเอง บางคนอยากวาดรูป บางคนอยากเล่าเฉยๆ” วิจิตรากล่าว
ในส่วนของการเตรียมความพร้อมผู้ต้องขังก่อนกลับสู่สังคมนั้น ทีมงานจะให้ผู้ต้องขังใคร่ครวญเกี่ยวกับชีวิตที่ผ่านมาและอนาคตที่ใฝ่ฝัน โดยการวาดเส้นทางชีวิตตั้งแต่จำความได้จนถึงปัจจุบัน และวาดเป้าหมายในอนาคตอีกหนึ่งแผ่น จากนั้นวาดสะพานเชื่อมชีวิตปัจจุบันไปสู่เป้าหมาย ซึ่งจะต้องทบทวนสิ่งที่ต้องทำและต้องหลีกเลี่ยงเพื่อให้เป้าหมายเป็นจริง
“มีให้ผู้ต้องขังทำเครื่องรางประจำตัวบรรจุคาถาประจำใจด้วย เพื่อเป็นการเสริมกำลังใจเวลาเผชิญกับเรื่องยากๆ ระหว่างทาง” วิจิตราเสริม
ผลงานศิลปะบำบัดเรื่องการวางเป้าหมายในอนาคตของ “ย่านา” ผู้ต้องขังหญิงวัยใกล้ 80 ปี
ที่มา : เฟซบุ๊กเพจ เสียงจากผู้หญิงหลังกำแพง
ในกิจกรรมวาดภาพเพื่อวางแผนอนาคต “ย่านา” ผู้ต้องขังหญิงวัยใกล้ 80 ปี วาดภาพด้านซ้ายเพื่อแสดงเรื่องราวในชีวิตตั้งแต่จำความได้จนถึงตอนนี้ ภาพขวาสุดคืออนาคตที่ย่านาฝันไว้ มีบ้าน ที่นา เลี้ยงสัตว์ ส่วนสะพานที่จะเชื่อมปัจจุบันไปสู่ฝัน ย่านาให้ล่ามเขียนเป็นตัวอักษรลาหู่ว่า “ฉันตัดสินใจเลิกฝิ่นเด็ดขาด”
จากการทำงานร่วมกับผู้ต้องขังราว 10 ปี วิจิตราบรรยายให้เห็นความหลากหลายของผู้ต้องขังว่ามีทั้งคนที่มีการศึกษา คนที่เพิ่งได้เรียนหนังสือในคุก คนที่อ่อนโยน และคนที่ต่อต้าน ความต่างเหล่านี้ไม่ใช่อุปสรรค แต่เป็นการสร้างพื้นที่การเรียนรู้ร่วมกัน เป็นโอกาสอันดีที่ผู้ต้องขังหรือแม้แต่นักศิลปะบำบัดจะได้เรียนรู้จากกลุ่ม
ส่วนการต่อต้านจากผู้ต้องขัง เธอมองว่าเป็นปกติที่คนเราจะเปิดใจไม่เท่ากัน โดยเฉพาะในสภาพแวดล้อมที่ต้องแก่งแย่งทรัพยากรอย่างในคุก นอกจากนี้ประสบการณ์ที่ผู้ต้องขังพบเจอมาก็ไม่เหมือนกัน แต่เมื่อทำกิจกรรมร่วมกันหลายๆ ครั้ง เมื่อผู้ต้องขังเห็นว่าทีมงานรับฟังก็จะเริ่มเปิดใจให้มากขึ้น
ค้นพบเนื้อในที่งดงามและเสียงในใจที่ดังขึ้น
“รู้สึกโล่งที่ได้ระบายออกมา ได้เข้าใจความรู้สึกที่เกิดขึ้นว่ามีเบื้องหลังอย่างไรที่ทำให้เราเป็นคนอย่างที่เป็นอยู่ ได้เห็นความเป็นเด็กของตัวเอง ดูสดใส ร่าเริง น่ารัก ทำให้เรารู้สึกแปลกใจนิดๆ ว่า เอ๊ะ … เรามีมุมนี้ด้วยเหรอ”
กานต์ (นามสมมติ) ผู้ต้องขังทัณฑสถานหญิงเชียงใหม่
กานต์ (นามสมมติ) ผู้ต้องขังทัณฑสถานหญิงเชียงใหม่คนหนึ่งได้เขียนสะท้อนความรู้สึกลงในแบบประเมินหลังทำกิจกรรม “เปิดโต๊ะระบายคลายใจ” ซึ่งเป็นการทำศิลปะบำบัดตัวต่อตัว เปิดโอกาสให้ผู้ต้องขังทำอะไรกับอุปกรณ์ศิลปะที่วางอยู่บนโต๊ะก็ได้เพื่อสื่อสารความรู้สึกออกมา พร้อมเป็นพื้นที่ให้พูดถึงประเด็นที่ติดค้างในใจ เพื่อคลี่คลายปัญหาเฉพาะตัว
ส่วนในกิจกรรม “ฝากสารให้ว่าวส่ง” ซึ่งให้ผู้ต้องขังเขียนข้อความในใจถึงคนไกลที่อาจมีชีวิตหรือเสียชีวิตแล้วลงบนว่าว บัว (นามสมมติ) ผู้ต้องขังทัณฑสถานหญิงเชียงใหม่สะท้อนว่า “ตอนที่รู้ว่าว่าวนั้นจะนำไปจัดแสดงวันว่าวนานาชาติ รู้สึกว่าตัวเองเป็นคนสำคัญ มีค่า และอยู่ในสายตาเสมอ”
ขณะที่ แก้ว (นามสมมติ) ผู้ต้องขังทัณฑสถานหญิงเชียงใหม่ เปรียบเทียบความรู้สึกก่อนและหลังทำศิลปะบำบัดว่า “ก่อนทำมีความรู้สึกอึดอัด ไม่เข้าใจ น้อยใจ กลัว กังวลกับการอยู่ร่วมกับคนอื่น รู้สึกมีอคติ แต่หลังทำมีความคิดเปลี่ยนไปจากตอนแรก ทำให้เรารู้ว่าเราเป็นแบบนี้เพราะอะไร ความรู้สึกกลัวและอคติเปลี่ยนเป็นอยากแก้ไขมากกว่า”
วิจิตรา กระบวนกรและนักศิลปะบำบัด กลุ่มของขวัญจากผู้หญิงหลังกำแพงกล่าวว่า การจัดกิจกรรมศิลปะบำบัดในเรือนจำนั้นก็มีข้อจำกัดหลายประการ เช่น งบประมาณ ทรัพยากรบุคคล และวิสัยทัศน์ของผู้ออกแบบหลักสูตรพัฒนาจิตใจของผู้ต้องขัง
เธอกล่าวว่า “คนออกแบบหลักสูตรบางคนอาจจะไม่รู้ว่าศิลปะบำบัดคืออะไร หรืองบประมาณในเรือนจำนั้นๆ อาจไม่เพียงพอ จึงไม่ได้จัดศิลปะบำบัดให้ผู้ต้องขัง แต่คนออกแบบก็คงพยายาม design (ออกแบบ) หลักสูตรที่ดีที่สุดภายใต้ข้อจำกัดทั้งหมดแล้ว” นอกจากนี้กิจกรรมศิลปะบำบัดเมื่อเทียบกับกิจกรรมพัฒนาจิตใจประเภทอื่นแล้ว จะดูแลผู้เข้าร่วมได้เป็นจำนวนน้อย แต่ใช้ทรัพยากรเยอะกว่า
แม้กิจกรรมศิลปะบำบัดหนึ่งครั้งจะจำกัดผู้เข้าร่วมได้ไม่เกิน 30 คน แต่เธอมองว่าผลที่ได้กลับมานั้นคุ้มค่า เพราะเป็นการบำบัดและเยียวยาจิตใจในเชิงตัวบุคคลอย่างใกล้ชิดและลึกซึ้ง ในปัจจุบันสังคมยังคงตีตราผู้ต้องขังว่าเป็นคนอันตราย สิ่งนี้ยิ่งทำให้พวกเขารู้สึกไร้ค่า นอกจากนี้ พวกเขายังถูกแยกขาดจากครอบครัว และอาศัยอยู่ร่วมกับคนแปลกหน้าทำให้เกิดความระแวงใจกัน รู้สึกโดดเดี่ยว คุกเลยเป็นสถานที่อันยากจะพบความสุข
อย่างน้อยการทำศิลปะบำบัดจะทำให้ผู้ต้องขังไว้ใจกันมากขึ้น และสามารถจัดระเบียบความคิดของตัวเองระหว่างที่อยู่ในคุกได้
“การฟื้นฟูศักยภาพคนหนึ่งคนต้องอาศัยหลายปัจจัย ต้องร่วมมือกันหลายฝ่าย ในด้านจิตใจศิลปะบำบัดสามารถช่วยคลี่คลายปมปัญหาความสัมพันธ์ส่วนตัวได้ก็จริง แต่ก็ต้องประกอบควบคู่กันกับการเรียนรู้ทำความเข้าใจบริบทสังคมที่เราอยู่ด้วย เพราะมันหล่อหลอม มีอิทธิพลต่อตัวเรา ต่อใจเรา และการเลือกในชีวิตของเราอย่างแนบเนียน” วิจิตราให้ความเห็นเกี่ยวกับการเตรียมความพร้อมผู้ต้องขังก่อนกลับสู่สังคม
เพราะเหตุนี้กลุ่มของขวัญจากผู้หญิงหลังกำแพงจึงใช้กระบวนการเรียนรู้หลากหลายที่ชวนทำความเข้าใจสังคม ทั้งเรื่องเพศ ค่านิยมแบบชายเป็นใหญ่ กระแสบริโภคนิยม ฯลฯ เพื่อให้ผู้ต้องขังรู้เท่าทันและเลือกคิดเลือกทำต่างออกไปจากกรอบหรือกระแสเหล่านั้นได้
“เราเรียนฟื้นคืนอำนาจภายในของคนธรรมดา คนเล็กคนน้อย ให้สร้างการเปลี่ยนแปลงสังคม โดยเริ่มต้นจากตัวเองและสิ่งที่เราเลือกปฏิบัติกับคนรอบตัว” วิจิตรากล่าว
*คดีชายชุดดำ หรือ ข้อหาร่วมกันครอบครองอาวุธปืน จากเหตุการณ์สลายการชุมนุม 10 เมษายน 2553 ต่อมาศาลตัดสินให้จำเลยทั้งหมดเป็นผู้บริสุทธิ์
อ่านบทสัมภาษณ์เกี่ยวกับเส้นทางการต่อสู้ของปุณิกา ชูศรี หนึ่งในการ์ดนปช. ที่แย่งปืนจากทหารเพื่อปกป้องผู้ชุมนุมในการสลายการชุมนุม 2553 ตั้งแต่การตั้งคำถามต่อกระบวนการยุติธรรม จนถึงการต่อสู้กับอำนาจนิยมในคุก ได้ที่ : “คุกคือโมเดลสังคมไทยในยุคเผด็จการ” : อ่านคุกจากมุมมองของปุณิกา ชูศรี แพะคดี ‘ชายชุดดำ’
อ่านบทสัมภาษณ์เกี่ยวกับกระบวนการ ‘อยุติธรรม’ จากประสบการณ์ของจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา หรือไผ่ ดาวดิน ได้ที่ : “ผมไม่กลัว ‘เขา’ เพราะมนุษย์ทุกคนเท่ากัน” : ไผ่ ดาวดิน เล่าชีวิตที่ยังต้องต่อสู้กับความอยุติธรรมหลังออกจากคุก
Like this:
Like Loading...
เรื่อง : ปรียานุช ปรีชามาตย์ ภาพ : วโรดม เตชศรีสุธี, สิทธิเดช มั่นทอง, ชุติกาญจ์ บุญสุทธิ
หมายเหตุ : บทความมีการใช้นามสมมติเพื่อคุ้มครองความเป็นส่วนตัวของผู้ต้องขัง
“ประเทศไทยมีเรือนจำ 143 แห่ง มีพื้นที่เรือนนอนคิดเป็น 305,312 ตร.ม. สามารถรองรับผู้ต้องขังได้ 254,000 คน เมื่อเทียบกับจำนวนนักโทษ ถือว่าเกินกว่าอัตราที่องค์การสหประชาชาติกำหนดไว้” รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงหลังการประชุมครม. เรื่องการลดความแออัดของผู้ต้องขังในเรือนจำวันที่ 28 มกราคม 2563 ที่ทำเนียบรัฐบาล
จากรายงานสถิติผู้ต้องขังของกรมราชทัณฑ์ ประจำวันที่ 7 พฤศจิกายน 2563 ระบุว่าทั่วประเทศมีผู้ต้องขังทั้งหมด 347,908 คน หมายความว่าผู้ต้องขังหนึ่งคน มีพื้นที่การนอนเพียง 0.87 ตร.ม. ทำให้เรือนจำไทยมักถูกตั้งคำถามว่า แท้จริงแล้วเบื้องหลังกำแพงคอนกรีตสูงลิ่วนั้น ผู้ต้องขังใช้ชีวิตกันอย่างไร จะช่วยปรับพฤติกรรมหรือยิ่งทำให้สุขภาพจิตมีปัญหากันแน่
คุกมอบประสบการณ์ที่ยากจะลืมเลือน
หริม (นามสมมติ) ผู้ต้องขังวัย 25 ปี เล่าประสบการณ์ที่แย่ที่สุดในการเข้าคุกครั้งแรก “ด้วยความที่หนูเป็นกะเทย ผู้ชายก็มาพูดแหย่เล่นๆ ว่า ‘ขอทีดิ’ หนูก็ไม่รู้ว่าเขาตั้งใจจะรังแกหรือมาแหย่เล่นกับเรา”
นี่เป็นครั้งที่สองที่หริมเข้าคุกมาด้วยความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด เธอตัดพ้อว่าครั้งแรกที่ออกไปเธอลองสมัครงานแล้ว แต่ไม่มีบริษัทใดรับเข้าทำงาน “สังคมภายนอกมันหางานลำบาก ก็เลยต้องกลับไปขาย ไปเสพเหมือนเดิม แต่ออกไปครั้งนี้เราต้องทำงานหาเลี้ยงตาเพราะว่าตาแก่แล้ว”
ทอม (นามสมมติ) ผู้ต้องขังวัย 21 ปี ให้สัมภาษณ์ว่าการปรับตัวที่ยากที่สุดคือเรื่องการนอน “เวลานอนอัดแน่นกัน 80 คน ผมนอนตะแคงอยู่สองเดือน เพิ่งได้นอนหงายตอนย้ายแดน” เมื่อถามทอมซึ่งติดคุกมาตั้งแต่อายุ 19 ปี ว่าเคยมีความรู้สึกเสียดายเวลาสามปีที่ต้องมาอยู่ที่นี่ไหม ทอมตอบว่า “ถ้าไม่ติดคุกผมก็คงได้เรียนปริญญาตรีอยู่”
ทอมยังถูกเพื่อนๆ ผู้ต้องขังเรียกว่าเป็นคนที่วันๆ ไม่ทำอะไร เขามักจะนั่งอยู่เฉยๆ หรือหาอะไรฆ่าเวลาไปวันๆ ในช่วงแรกที่สัมภาษณ์ทอม เขาเหมือนคนไม่มีความรู้สึก ถามคำตอบคำ แต่เมื่อถามเกี่ยวกับครอบครัวเขาก็เริ่มน้ำตาคลอ “คิดถึงมากครับ ก็เขียนจดหมายไปหาทุกครั้งที่คิดถึง แต่บางครั้งก็ไม่รู้จะทำยังไงครับ”
แม้ผู้ต้องขังหลายคนจะพบเจอกับประสบการณ์ที่ไม่ดีนัก แต่ โจ้ (นามสมมติ) ผู้ต้องขังอายุ 33 ปีมองว่าเรือนจำให้โอกาสเขาได้ลองทำสิ่งใหม่ๆ ที่ไม่เคยทำตอนอยู่ข้างนอก “ผมเป็นผู้ช่วยฝ่ายชุมชนบำบัด ในฝ่ายก็มีกิจกรรมหลายอย่างครับ เช่น กองศิลป์ กองทูบีนัมเบอร์วัน แข่งเต้น ร้องเพลง เล่นดนตรี ทำมิวสิควิดีโอ” โจ้พูดพร้อมชี้ไปยังอุปกรณ์การถ่ายทำภาพยนตร์ เช่น Green Screen กล้องถ่ายภาพ รวมถึงเครื่องดนตรียกชุด
โจ้ที่นิยามตัวเองว่าเป็นคนปรับตัวง่ายและเข้าสังคมเก่งเล่าว่า สิ่งที่เขาได้ฝึกระหว่างอยู่ในคุกคือการฝึกความคิด “ต้องมองโลกในแง่บวก การที่คนมากหน้าหลายตามาอยู่รวมกันโดยไม่รู้จักกันมาก่อน เราก็ต้องปรับตัวเข้ากับเขา แค่อยู่ในกรอบสี่เหลี่ยมนี่ก็อึดอัดมากพอแล้ว ถ้าเรายิ่งตีกรอบมันก็ยิ่งแคบลงไปอีก หดหู่ยิ่งกว่าเดิมอีก” โจ้กล่าว
เมื่อถาม บุญเชิด (นามสมมติ) ผู้ต้องขัง อายุ 65 ปี เกี่ยวกับวิธีจัดการกับความรู้สึกแง่ลบระหว่างที่อยู่ในเรือนจำ เขาตอบว่ามักจะใช้ธรรมะเข้าช่วย “ช่วงเวลาที่เหงาหรือเศร้าก็มีนะครับ ผมก็สวดมนต์ ใช้ธรรมะบำบัดเอา ทุกวันนี้ก็เป็นห่วงแค่คุณแม่ ท่านอายุมากแล้ว ต้องไปหาคุณหมอทุกสัปดาห์ ผมก็สวดมนต์อธิษฐานให้คุณแม่อายุยืน ส่วนท่านก็บอกว่าสวดมนต์อธิษฐานทุกวันให้ผมออกไปจากที่นี่เร็วๆ”
แม้บุญเชิดจะไม่เคยทำศิลปะบำบัด แต่เมื่อให้เขาจินตนาการภาพที่ตัวเองอยากวาด เขาบรรยายว่าเป็นภาพกระท่อมหลังเล็กๆ ที่ล้อมรอบไปด้วยพื้นที่นากว้างขวาง ในช่วงเวลาใกล้พระอาทิตย์ตกดิน
สังคมในคุกไม่เอื้อต่อการพัฒนาจิตใจ
ปุณิกา ชูศรี อดีตผู้ต้องขังหญิงในคดีชายชุดดำ* มองว่าสโลแกนคืนคนดีสู่สังคมนั้นใช้ไม่ได้กับเรือนจำไทย เธอเสนอสโลแกนใหม่ว่า “คืนความเลวที่สุดสู่สังคม” เพราะสภาพแวดล้อมในคุกนั้นไม่ได้ช่วยพัฒนาจิตใจ ซ้ำยังต้อนให้ผู้ต้องขังต้องลักขโมยเพื่อเอาชีวิตรอด
ด้าน จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา หรือที่รู้จักกันในชื่อ ไผ่ ดาวดิน เป็นหนึ่งในกลุ่มนักศึกษาผู้ชูสามนิ้วต่อต้านพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา หลังการรัฐประหารเมื่อปี 2557 เขายังเป็นอดีตผู้ต้องขังคดีมาตรา 112 จากการแชร์โพสต์พระราชประวัติ รัชกาลที่ 10 ที่เผยแพร่โดย BBC Thai และล่าสุดยังถูกควบคุมตัวอยู่ 6 วัน หลังถูกจับในข้อหาฝ่าฝืนข้อกำหนดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เมื่อวันที่ 13 ตุลาคมที่ผ่านมา
ไผ่ให้ความเห็นว่าทัศนคติที่จะสร้างความเปลี่ยนแปลงให้ผู้ต้องขังควรจะเป็นแบบ “บ้านกาญจนา” ของป้ามล ทิชา ณ นคร ที่ใช้วิธีการมอบความรัก คืนความเป็นมนุษย์ให้คนที่ก้าวพลาด แต่จากประสบการณ์ของไผ่ในฐานะผู้ต้องขัง เขายังพบเห็นเจ้าหน้าที่เรือนจำละเมิดสิทธิมนุษยชนของผู้ต้องขังอยู่บ่อยครั้ง
จะฟื้นฟูจิตใจให้ผู้ต้องขังเป็น “คนดี” ของสังคมได้อย่างไร
เสกมนต์ สัมมาเพ็ชร์ นักทัณฑวิทยาชำนาญการ หัวหน้าฝ่ายชุมชนบำบัด ทัณฑสถานบำบัดพิเศษกลาง ย้ำหลักการทำงานของเรือนจำสองประการ ได้แก่ พัฒนาจิตใจเพื่อให้ผู้กระทำผิดกลับตัวเป็นคนดี และปฏิบัติต่อผู้ต้องขังตามหลักสิทธิมนุษยชน
เสกมนต์กล่าวว่า การควบคุมและการพัฒนาจิตใจผู้ต้องขังต้องไปด้วยกันเหมือนดั่งปีกนก ส่วนหนึ่งจะมากกว่าอีกส่วนไม่ได้ แต่ก็มองว่าการควบคุมไม่ให้ผู้ต้องขังหลบหนีและควบคุมไม่ให้กระทำความผิดยังต้องเป็นเรื่องหลัก “ต่อให้เราบำบัดดีแค่ไหน แต่ถ้าผู้ต้องขังปีนหนีก็แสดงว่าการฟื้นฟูจิตใจไม่ได้ผล ก่อนอื่นเขาก็ต้องยอมรับในสิ่งที่เขาทำ เขาทำกรรมต้องรับกรรม ทำผิดกฎหมายอาญาก็ต้องรับโทษ ทุกอย่างต้องมีกฎมีระเบียบ”
ด้าน สลิลา นรัตถรักษา นักรณรงค์เชิงนโยบาย สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย มองว่า ทัศนคติที่เรือนจำควรมีคือการเชื่อมั่นว่าคนเราเปลี่ยนแปลงได้ มีศักยภาพที่นำไปต่อยอดได้ และสิ่งที่ควรผลักดันให้เกิดการแก้ไขคือการเพิ่มความสำคัญในส่วนของการพัฒนาจิตใจให้มากกว่าร้อยละ 50 แทนความเชื่อแบบเดิมที่เน้นการควบคุมเป็นหลัก
เธอให้ความเห็นว่าเรือนจำไทยกำลังปรับปรุงแนวคิดไปในทางที่ดีขึ้นกว่าในอดีตมาก แต่สลิลายังหวังขึ้นไปอีกว่า คงจะดีไม่น้อยหากความรู้สึกเชื่อมโยงระหว่างเจ้าหน้าที่กับผู้ต้องขังเป็นไปในแบบบุคคลต่อบุคคล มากกว่าในรูปแบบของผู้คุมและผู้ถูกควบคุม
“เราเชื่อว่าทุกคนมีตัวตนหลายด้าน ซึ่งมันมีสภาพแวดล้อมหลายรูปแบบ มีหลากหลายวิธีการที่สามารถดึงตัวตนที่พึงประสงค์ออกมาได้ แต่เราคิดว่าการกดทับไม่ใช่หนึ่งในนั้น มันคงไม่สามารถทำให้ผู้ต้องขังรู้สึกว่า ฉันอยากจะออกไปสู่โลกภายนอกที่สดใส และเป็นคนดี เพื่อทำประโยชน์ให้สังคมได้”
ขั้นตอนกะเทาะเปลือกผู้ต้องขังด้วยศิลปะบำบัด
“กลุ่มของขวัญจากผู้หญิงหลังกำแพง” เป็นกลุ่มคนทำงานที่มีความเชี่ยวชาญแตกต่างกัน ทั้งนักศิลปะบำบัด นักวิชาการ นักกิจกรรม กระบวนกร ฯลฯ พวกเขารวมตัวกันด้วยความเชื่อที่ว่าการกักขังอย่างเดียวไม่สามารถปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้ต้องขังได้ แต่ควรมีพื้นที่ให้เขาได้ใคร่ครวญและทบทวนตัวเอง จึงรวมตัวกันจัดกระบวนการเรียนรู้เพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงให้ผู้ต้องขังจากภายใน
วิจิตรา เตรตระกูล กระบวนกรและนักศิลปะบำบัดอธิบายว่าศิลปะบำบัดเป็นประโยชน์สำหรับทุกคน ไม่ใช่เฉพาะผู้ต้องขังในเรือนจำเท่านั้น แต่เพราะเรือนจำเป็นระบบสังคมแบบควบคุมพิเศษ ที่มีกฎระเบียบรัดกุมเคร่งครัด เธอมองว่ากฎในเรือนจำนั้นมีรากฐานมาจากความกลัว มองว่าผู้ต้องขังเป็นภัยของสังคม จึงป้องกันด้วยการมุ่งควบคุมผู้ต้องขัง ซึ่งจะทำให้พวกเขายิ่งรู้สึกอึดอัดและรู้สึกถูกกดทับ
วิจิตราอธิบายว่า ศิลปะบำบัดเป็นกระบวนการที่เข้าไปทำงานเยียวยาหรือปรับสมดุลในตัวมนุษย์ แขนงที่วิจิตรานำมาใช้คือศิลปะบำบัดเพื่อการแสดงออก (Creative & Expressive Art Therapy) ให้ผู้ต้องขังแสดงอารมณ์ความรู้สึกภายในออกมาข้างนอกผ่านการสร้างผลงานศิลปะ เช่น การขีดเขียน ปั้นดินน้ำมัน ฉีกกระดาษ หรือการปลดปล่อยร่างกายผ่านการเคลื่อนไหว แล้วมาพิจารณาและแบ่งปันความรู้สึกกันในกลุ่ม
วิจิตราชี้ให้เห็นถึงจุดแข็งของการใช้ศิลปะบำบัดในการพัฒนาจิตใจผู้ต้องขัง 3 ประการ ได้แก่
ส่วนธีมในการสื่อสารของกิจกรรมศิลปะบำบัดแต่ละครั้งจะขึ้นอยู่กับกลุ่มเป้าหมาย แต่หลักๆ แล้วจะพูดถึงการรู้จักตัวเอง การเข้าใจความหลากหลายของมนุษย์ การทบทวนชีวิตที่ผ่านมา และการวางเป้าหมายในอนาคต
“บางครั้งเราเห็นอารมณ์ของกลุ่มดูตึงเครียด ก็ให้ปลดปล่อยอารมณ์ความรู้สึกตอนนั้นออกมาเป็นสี ถ้ามีความอึดอัดหรือโกรธจากการถูกกดดัน ก็ให้บี้ดินน้ำมันเล่นโดยไม่ต้องเป็นรูปเป็นร่าง เอาสะใจเข้าว่า แล้วมาพลิกดูแต่ละมุมว่าเห็นภาพอะไร จากนั้นเอาคำที่เห็นจากผลงานมาเขียนบทกวี เชื่อมโยงเรื่องราวแบ่งปันกันฟัง ความรู้สึกที่ไม่ดีในตอนแรกก็แปรเปลี่ยนไป อาจเกิดความเข้าใจหรือพบมุมมองใหม่ๆ ”
กิจกรรมศิลปะบำบัดในเรือนจำแบ่งออกเป็น 2 รูปแบบ ได้แก่
ในกิจกรรม “เปิดโต๊ะระบายคลายใจ” ทีมงานจะเตรียมตั้งโต๊ะพร้อมอุปกรณ์ ผู้ต้องขังสามารถเข้ามาระบายความรู้สึกต่อทีมงานได้แบบตัวต่อตัว วิจิตราเล่าว่าในกิจกรรมนี้ไม่ได้มีแค่นักศิลปะบำบัด แต่มีผู้เชี่ยวชาญทางด้านอื่นๆ ร่วมด้วย
“บางคนก็ใช้การ์ดภาพ ใช้การโค้ช ใช้กระบะทรายบำบัด (ให้กระบะทรายเป็นโลกจำลองที่ผู้ต้องขังสร้างขึ้น โดยจะมีตุ๊กตาและอุปกรณ์ต่างๆ ให้พวกเขาจัดวาง เล่าเรื่องราวด้วยตัวเอง) แล้วแต่ว่าทีมงานถนัดอะไร ความหลากหลายทางกิจกรรมช่วยให้ผู้ต้องขังได้สื่อสารตามความถนัดของตัวเอง บางคนอยากวาดรูป บางคนอยากเล่าเฉยๆ” วิจิตรากล่าว
ในส่วนของการเตรียมความพร้อมผู้ต้องขังก่อนกลับสู่สังคมนั้น ทีมงานจะให้ผู้ต้องขังใคร่ครวญเกี่ยวกับชีวิตที่ผ่านมาและอนาคตที่ใฝ่ฝัน โดยการวาดเส้นทางชีวิตตั้งแต่จำความได้จนถึงปัจจุบัน และวาดเป้าหมายในอนาคตอีกหนึ่งแผ่น จากนั้นวาดสะพานเชื่อมชีวิตปัจจุบันไปสู่เป้าหมาย ซึ่งจะต้องทบทวนสิ่งที่ต้องทำและต้องหลีกเลี่ยงเพื่อให้เป้าหมายเป็นจริง
“มีให้ผู้ต้องขังทำเครื่องรางประจำตัวบรรจุคาถาประจำใจด้วย เพื่อเป็นการเสริมกำลังใจเวลาเผชิญกับเรื่องยากๆ ระหว่างทาง” วิจิตราเสริม
ที่มา : เฟซบุ๊กเพจ เสียงจากผู้หญิงหลังกำแพง
ในกิจกรรมวาดภาพเพื่อวางแผนอนาคต “ย่านา” ผู้ต้องขังหญิงวัยใกล้ 80 ปี วาดภาพด้านซ้ายเพื่อแสดงเรื่องราวในชีวิตตั้งแต่จำความได้จนถึงตอนนี้ ภาพขวาสุดคืออนาคตที่ย่านาฝันไว้ มีบ้าน ที่นา เลี้ยงสัตว์ ส่วนสะพานที่จะเชื่อมปัจจุบันไปสู่ฝัน ย่านาให้ล่ามเขียนเป็นตัวอักษรลาหู่ว่า “ฉันตัดสินใจเลิกฝิ่นเด็ดขาด”
จากการทำงานร่วมกับผู้ต้องขังราว 10 ปี วิจิตราบรรยายให้เห็นความหลากหลายของผู้ต้องขังว่ามีทั้งคนที่มีการศึกษา คนที่เพิ่งได้เรียนหนังสือในคุก คนที่อ่อนโยน และคนที่ต่อต้าน ความต่างเหล่านี้ไม่ใช่อุปสรรค แต่เป็นการสร้างพื้นที่การเรียนรู้ร่วมกัน เป็นโอกาสอันดีที่ผู้ต้องขังหรือแม้แต่นักศิลปะบำบัดจะได้เรียนรู้จากกลุ่ม
ส่วนการต่อต้านจากผู้ต้องขัง เธอมองว่าเป็นปกติที่คนเราจะเปิดใจไม่เท่ากัน โดยเฉพาะในสภาพแวดล้อมที่ต้องแก่งแย่งทรัพยากรอย่างในคุก นอกจากนี้ประสบการณ์ที่ผู้ต้องขังพบเจอมาก็ไม่เหมือนกัน แต่เมื่อทำกิจกรรมร่วมกันหลายๆ ครั้ง เมื่อผู้ต้องขังเห็นว่าทีมงานรับฟังก็จะเริ่มเปิดใจให้มากขึ้น
ค้นพบเนื้อในที่งดงามและเสียงในใจที่ดังขึ้น
กานต์ (นามสมมติ) ผู้ต้องขังทัณฑสถานหญิงเชียงใหม่คนหนึ่งได้เขียนสะท้อนความรู้สึกลงในแบบประเมินหลังทำกิจกรรม “เปิดโต๊ะระบายคลายใจ” ซึ่งเป็นการทำศิลปะบำบัดตัวต่อตัว เปิดโอกาสให้ผู้ต้องขังทำอะไรกับอุปกรณ์ศิลปะที่วางอยู่บนโต๊ะก็ได้เพื่อสื่อสารความรู้สึกออกมา พร้อมเป็นพื้นที่ให้พูดถึงประเด็นที่ติดค้างในใจ เพื่อคลี่คลายปัญหาเฉพาะตัว
ส่วนในกิจกรรม “ฝากสารให้ว่าวส่ง” ซึ่งให้ผู้ต้องขังเขียนข้อความในใจถึงคนไกลที่อาจมีชีวิตหรือเสียชีวิตแล้วลงบนว่าว บัว (นามสมมติ) ผู้ต้องขังทัณฑสถานหญิงเชียงใหม่สะท้อนว่า “ตอนที่รู้ว่าว่าวนั้นจะนำไปจัดแสดงวันว่าวนานาชาติ รู้สึกว่าตัวเองเป็นคนสำคัญ มีค่า และอยู่ในสายตาเสมอ”
ขณะที่ แก้ว (นามสมมติ) ผู้ต้องขังทัณฑสถานหญิงเชียงใหม่ เปรียบเทียบความรู้สึกก่อนและหลังทำศิลปะบำบัดว่า “ก่อนทำมีความรู้สึกอึดอัด ไม่เข้าใจ น้อยใจ กลัว กังวลกับการอยู่ร่วมกับคนอื่น รู้สึกมีอคติ แต่หลังทำมีความคิดเปลี่ยนไปจากตอนแรก ทำให้เรารู้ว่าเราเป็นแบบนี้เพราะอะไร ความรู้สึกกลัวและอคติเปลี่ยนเป็นอยากแก้ไขมากกว่า”
วิจิตรา กระบวนกรและนักศิลปะบำบัด กลุ่มของขวัญจากผู้หญิงหลังกำแพงกล่าวว่า การจัดกิจกรรมศิลปะบำบัดในเรือนจำนั้นก็มีข้อจำกัดหลายประการ เช่น งบประมาณ ทรัพยากรบุคคล และวิสัยทัศน์ของผู้ออกแบบหลักสูตรพัฒนาจิตใจของผู้ต้องขัง
เธอกล่าวว่า “คนออกแบบหลักสูตรบางคนอาจจะไม่รู้ว่าศิลปะบำบัดคืออะไร หรืองบประมาณในเรือนจำนั้นๆ อาจไม่เพียงพอ จึงไม่ได้จัดศิลปะบำบัดให้ผู้ต้องขัง แต่คนออกแบบก็คงพยายาม design (ออกแบบ) หลักสูตรที่ดีที่สุดภายใต้ข้อจำกัดทั้งหมดแล้ว” นอกจากนี้กิจกรรมศิลปะบำบัดเมื่อเทียบกับกิจกรรมพัฒนาจิตใจประเภทอื่นแล้ว จะดูแลผู้เข้าร่วมได้เป็นจำนวนน้อย แต่ใช้ทรัพยากรเยอะกว่า
แม้กิจกรรมศิลปะบำบัดหนึ่งครั้งจะจำกัดผู้เข้าร่วมได้ไม่เกิน 30 คน แต่เธอมองว่าผลที่ได้กลับมานั้นคุ้มค่า เพราะเป็นการบำบัดและเยียวยาจิตใจในเชิงตัวบุคคลอย่างใกล้ชิดและลึกซึ้ง ในปัจจุบันสังคมยังคงตีตราผู้ต้องขังว่าเป็นคนอันตราย สิ่งนี้ยิ่งทำให้พวกเขารู้สึกไร้ค่า นอกจากนี้ พวกเขายังถูกแยกขาดจากครอบครัว และอาศัยอยู่ร่วมกับคนแปลกหน้าทำให้เกิดความระแวงใจกัน รู้สึกโดดเดี่ยว คุกเลยเป็นสถานที่อันยากจะพบความสุข
อย่างน้อยการทำศิลปะบำบัดจะทำให้ผู้ต้องขังไว้ใจกันมากขึ้น และสามารถจัดระเบียบความคิดของตัวเองระหว่างที่อยู่ในคุกได้
“การฟื้นฟูศักยภาพคนหนึ่งคนต้องอาศัยหลายปัจจัย ต้องร่วมมือกันหลายฝ่าย ในด้านจิตใจศิลปะบำบัดสามารถช่วยคลี่คลายปมปัญหาความสัมพันธ์ส่วนตัวได้ก็จริง แต่ก็ต้องประกอบควบคู่กันกับการเรียนรู้ทำความเข้าใจบริบทสังคมที่เราอยู่ด้วย เพราะมันหล่อหลอม มีอิทธิพลต่อตัวเรา ต่อใจเรา และการเลือกในชีวิตของเราอย่างแนบเนียน” วิจิตราให้ความเห็นเกี่ยวกับการเตรียมความพร้อมผู้ต้องขังก่อนกลับสู่สังคม
เพราะเหตุนี้กลุ่มของขวัญจากผู้หญิงหลังกำแพงจึงใช้กระบวนการเรียนรู้หลากหลายที่ชวนทำความเข้าใจสังคม ทั้งเรื่องเพศ ค่านิยมแบบชายเป็นใหญ่ กระแสบริโภคนิยม ฯลฯ เพื่อให้ผู้ต้องขังรู้เท่าทันและเลือกคิดเลือกทำต่างออกไปจากกรอบหรือกระแสเหล่านั้นได้
“เราเรียนฟื้นคืนอำนาจภายในของคนธรรมดา คนเล็กคนน้อย ให้สร้างการเปลี่ยนแปลงสังคม โดยเริ่มต้นจากตัวเองและสิ่งที่เราเลือกปฏิบัติกับคนรอบตัว” วิจิตรากล่าว
*คดีชายชุดดำ หรือ ข้อหาร่วมกันครอบครองอาวุธปืน จากเหตุการณ์สลายการชุมนุม 10 เมษายน 2553 ต่อมาศาลตัดสินให้จำเลยทั้งหมดเป็นผู้บริสุทธิ์
อ่านบทสัมภาษณ์เกี่ยวกับเส้นทางการต่อสู้ของปุณิกา ชูศรี หนึ่งในการ์ดนปช. ที่แย่งปืนจากทหารเพื่อปกป้องผู้ชุมนุมในการสลายการชุมนุม 2553 ตั้งแต่การตั้งคำถามต่อกระบวนการยุติธรรม จนถึงการต่อสู้กับอำนาจนิยมในคุก ได้ที่ : “คุกคือโมเดลสังคมไทยในยุคเผด็จการ” : อ่านคุกจากมุมมองของปุณิกา ชูศรี แพะคดี ‘ชายชุดดำ’
อ่านบทสัมภาษณ์เกี่ยวกับกระบวนการ ‘อยุติธรรม’ จากประสบการณ์ของจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา หรือไผ่ ดาวดิน ได้ที่ : “ผมไม่กลัว ‘เขา’ เพราะมนุษย์ทุกคนเท่ากัน” : ไผ่ ดาวดิน เล่าชีวิตที่ยังต้องต่อสู้กับความอยุติธรรมหลังออกจากคุก
Share this:
Like this: