News Social Issue Top Stories

หอใน จุฬา: พื้นที่ขนาดเล็กของนิสิต ในมหาวิทยาลัยกว้างใหญ่

หลากหลายปัญหาในหอพักนิสิตจุฬาฯ ล้วนมีที่มาจากพื้นที่หอพักไม่เพียงพอต่อความต้องการ ทั้งยังดูไม่มีวี่แววจะขยับขยายออกไปได้อีก

เรื่อง-ภาพ : ชยพล มาลานิยม

หมายเหตุ : มีการใช้นามสมมติเพื่อรักษาความเป็นส่วนตัวของแหล่งข่าว

นิสิตจุฬาฯ วิจารณ์สภาพชีวิตในหอพัก บังคับทำกิจกรรมเพื่อให้ได้อยู่ต่อ ชี้พื้นที่ไม่พอคือต้นตอปัญหา ด้านหอพักย้ำขยายพื้นที่เองไม่ได้ ต้องขึ้นอยู่กับสำนักบริหารกายภาพฯ ซ้ำแผนเพิ่มห้องพักชะงักเพราะพิษโควิด ขณะที่ทางทรัพย์สินจุฬาฯ ผุดโครงการ Block 33 ทางเลือกใหม่สำหรับนิสิต   

“เข้าจุฬาว่าเหนื่อยแล้ว เข้าหอในเหนื่อยยิ่งกว่า” บุญ (นามสมมติ) นิสิตชั้นปีที่สี่ คณะครุศาสตร์ อาศัยอยู่ตึกจำปี หอพักนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หรือ “หอใน” กล่าวสรุปถึงสภาพความเป็นอยู่ในหอพักนิสิต นับตั้งแต่การสัมภาษณ์คัดเลือกนิสิตเข้าหอที่เข้มข้นและกดดัน เนื่องจากมีนิสิตประสงค์เข้าอยู่หอในเป็นจำนวนมาก

“เราเห็นข้อดีว่า มันอยู่ใกล้คณะมาก และราคาถูก ถ้าเป็นในละแวกนี้ถือว่าถูกกว่าที่พักข้างนอกประมาณหนึ่งเลย” บุญอธิบายถึงข้อดีของหอใน ซึ่งเป็นเหตุผลหลักที่นิสิตส่วนใหญ่เลือกมาเข้าพักที่นี่

ระเบียบจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ว่าด้วยหอพักนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พ.ศ. 2545 หมวดหนึ่ง ข้อหก ระบุถึงวัตถุประสงค์ของการจัดตั้งหอพักนิสิตว่า “เพื่อให้นิสิตได้อยู่ร่วมกันในที่พักที่มีบรรยากาศเอื้อต่อการศึกษา” และ “เพื่อช่วยเหลือนิสิตที่มีภูมิลำเนาอยู่ต่างจังหวัด และไม่มีที่พักอยู่ในกรุงเทพมหานคร หรือมีที่พักไม่สะดวกต่อการศึกษา หรือเป็นนิสิตที่มีฐานะขาดแคลน”

นิสิตจุฬาฯ วิจารณ์ความเป็นอยู่ในหอพัก

อย่างไรก็ตาม ปัญหาสภาพความเป็นอยู่ของหอในก็ได้รับการวิพากษ์วิจารณ์อย่างต่อเนื่องในกลุ่มนิสิตจุฬาฯ โดยเฉพาะอย่างยิ่งบนโซเชียลมีเดีย เช่น ทวิตเตอร์ เฟซบุ๊ค พันทิป กระทั่งเว็บบอร์ด “เสียงสร้างสรรค์ซีมะโด่ง” ในเว็บไซต์ของหอในเอง ก็มีนิสิตตั้งกระทู้ร้องเรียนถึงปัญหาจิปาถะ รวมไปถึงการร้องเรียนในรูปแบบต่างๆ อย่างต่อเนื่อง

เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2563 สภานิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ส่งหนังสือด่วนถึงอนุสาสก หรืออาจารย์ผู้ดูแลหอพักนิสิต เพื่อขอคำชี้แจงกรณีนิสิตพบแมลงลักษณะคล้ายตะขาบในอาหารจากร้านอาหารในหอพักนิสิตจุฬาฯ และได้เผยแพร่เรื่องดังกล่าวผ่านทวิตเตอร์ส่วนตัว หลังอนุสาสกทราบเรื่อง ก็มีการเรียกประธานร้านค้าและผู้ประกอบการมาดำเนินการแก้ไข

นอกจากนี้ เมื่อ 23 มิถุนายน 2563 ณันทรัฐ มาจุฬา นิสิตชั้นปีที่ 3 คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาฯ เข้าลงแจ้งความกับ สน.ปทุมวัน กรณีสำนักงานหอพักนิสิตจุฬาฯ ส่งกุญแจให้ใครซึ่งไม่สามารถทราบได้ ไขเข้ามาซ่อมผ้าม่านในห้องของนิสิตโดยไม่ได้รับอนุญาต ทำให้มีฝุ่นเลอะเตียงนอน และของใช้กระจัดกระจาย

ณันทรัฐเผยว่า หลังจากแจ้งความก็ถูกอนุสาสกเชิญไปพบ “เขาถามว่ามีอะไรทำไมไม่คุยกันก่อน หนูก็เลยตอบไปว่าแค่ไปลงบันทึกประจำวันเองค่ะ เผื่อมีของเสียหายหรือสูญหายภายหลัง จะได้รู้ว่ามันหายไปเพราะสิ่งนี้” ณันทรัฐยังระบุว่า หลังจากเหตุการณ์ดังกล่าว สำนักงานหอพักฯ ได้เริ่มติดประกาศแจ้งทุกครั้งก่อนจะมีการเข้าไปซ่อมแซมภายในห้องพัก 

ห้องพักตึกพุดตาน ในหอพักนิสิตจุฬาฯ

นิสิตหวั่นโดนเด้งจากหอ ชี้พื้นที่ไม่พอคือต้นตอปัญหา

บุญเผยว่าหอในมี “คะแนนกิจกรรม” เป็นเกณฑ์คัดเลือกว่านิสิตคนใดสมควรได้พักอาศัยต่อ โดยนิสิตต้องเก็บคะแนนจากการเข้าร่วมกิจกรรมที่หอพักหรือหน่วยงานในมหาวิทยาลัยขอความร่วมมือ เช่น การร่วมพิธีถวายบังคมในวันปิยมหาราช งานฟุตบอลประเพณีฯ เป็นต้น หากนิสิตไม่ได้ไปร่วมกิจกรรมเหล่านี้ ก็จะไม่ได้คะแนนกิจกรรม และมีโอกาสสูงมากที่จะถูกคัดออกจากหอพัก

“ผมก็ไม่คิดเล็กคิดน้อยหรอกนะ แต่กิจกรรมอื่นผมมีใจไป ส่วนกิจกรรมหอในผมไปเพื่อความอยู่รอด มันก็ให้ความรู้สึกผิดกันอยู่แล้ว” บุญระบุว่าการเก็บคะแนนกิจกรรมนั้นไม่ยุติธรรมต่อนิสิตที่ไม่สะดวก หรือมีกิจกรรมภายนอกอยู่แล้ว โดยมองว่าเป็นการบังคับกัน 

ธีมากร บุญโกย นิสิตชั้นปีที่สี่ คณะศิลปกรรมศาสตร์ ประธานคณะกรรมการหอพักนิสิต (กนห.) ฝ่ายชาย ระบุว่า ล่าสุด กนห. ได้เสนอให้มีการผ่อนปรนข้อบังคับนี้แล้ว คือให้นิสิตได้รับคะแนนจากกิจกรรมที่เป็นประโยชน์อื่นๆ ได้ โดยไม่บังคับว่าต้องเป็นกิจกรรมของหอในเท่านั้น “เราพยายามหาจุดที่ได้ประโยชน์มากที่สุด แล้วก็ไม่อยากกดดันนิสิต เพราะว่าพื้นฐานของนิสิตเปลี่ยนไป … เดี๋ยวนี้จะไปบังคับใครก็ไม่ได้แล้ว” 

ธีมากรยังย้ำว่าสาเหตุที่จำเป็นต้องมีการการคัดนิสิตออก หรือที่เรียกว่า “เด้ง” เป็นเพราะพื้นที่ของหอในมีจำกัด ไม่เพียงพอรองรับจำนวนนิสิตทั้งหมด “จริงๆ ก็อยากให้นิสิตได้อยู่ทุกคน แต่เพราะว่าพื้นที่มันไม่พอ มันก็เลยต้องมีการเด้ง อาจารย์เขาก็เอ็นดู ไม่อยากเด้งพวกเราหรอก”

อิง (นามสมมติ) นิสิตชั้นปีที่สี่ คณะเภสัชศาสตร์ อาศัยอยู่ตึกจำปี หอพักนิสิตจุฬาฯ มองว่า “หอในควรมีพื้นที่ให้เพียงพอสำหรับนิสิต เพราะหอพักมหาวิทยาลัยควรเป็นสถานที่ซึ่งรับรองและเอื้อประโยชน์แก่นิสิต ไม่ใช่ที่ซึ่งนิสิตเองต้องดิ้นรนเพื่อจะได้อยู่” เธอเข้าใจว่า หอในเองก็พยายามปรับแก้ในหลายเรื่องให้ตรงใจนิสิตที่สุดแล้ว ทว่าสุดท้ายหอในก็ไม่ได้มีอำนาจมากไปกว่ามหาวิทยาลัย

“เรื่องนี้เราก็ไม่ค่อยพอใจ เราแค่รู้สึกว่ามหาวิทยาลัยชั้นนำของประเทศ กลับไม่มีที่พักเพียงพอให้เด็ก แต่ดันมีพื้นที่ไปสร้างห้างนู่นนี่เต็มเลย”

อิง (นามสมมติ)

อนึ่ง ประเด็นพื้นที่หอพักนิสิตเป็นหนึ่งในหัวข้อปราศรัยของการชุมนุม “เสาหลักจะหักเผด็จการ” เมื่อวันที่ 14 สิงหาคม 2563 ที่คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ  โดยแกนนำกลุ่มคณะจุฬาฯ คนหนึ่ง กล่าวบนเวทีว่า “มีการโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินอันเป็นทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ให้แก่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีพื้นที่ 1,196 ไร่ 32 ตารางวา เราอยากทราบว่าที่ดินที่เป็นหอพักนิสิตมีถึง 10 เปอร์เซ็นต์ในนี้หรือไม่” ทั้งยังวิจารณ์จุฬาฯ ที่เน้นการพัฒนาคอนโดมิเนียมและพื้นที่เชิงพาณิชย์ แต่ละเลยพื้นที่ทางการศึกษาสำหรับนิสิต พร้อมกล่าวว่า “จุฬาฯ ไม่เคยแคร์ใครนอกจากนายทุน”

อาจารย์ที่ปรึกษาชี้ ปัญหาพื้นที่ขึ้นอยู่กับสำนักกายภาพฯ ขอนิสิตอย่าด่าบ้านตัวเอง

รับขวัญ ภูษาแก้ว อนุสาสกหอพักนิสิตหญิง และอาจารย์ประจำคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ยอมรับว่าพื้นที่ 15.33 ไร่ของหอในไม่เพียงพอต่อการรองรับนิสิตที่ประสงค์จะเข้าพักแต่ละปี แม้อนาคตจะมีแผนบูรณะตึกเพื่อเพิ่มห้องพัก แต่ยังต้องอยู่ในพื้นที่เท่าเดิม ไม่สามารถขยายอาณาเขตหอพักไปมากกว่านี้ได้ เนื่องจากอยู่ในอำนาจความดูแลของรองอธิการบดีด้านกายภาพของมหาวิทยาลัย “ต้องขึ้นอยู่กับมหาวิทยาลัยเท่านั้น หอพักทำอะไรเองไม่ได้ แม้แต่แค่จะปรับปรุงโรงอาหาร จะปรับปรุงโรงยิมหรืออะไรก็ตาม เราต้องเขียนเรื่องถึงมหาวิทยาลัยทั้งหมด ไม่สามารถทำอะไรได้เองเลย” 

อนุสาสกหอพักนิสิตหญิงยังให้ความเห็นกรณีที่นิสิตวิพากษ์วิจารณ์สภาพความเป็นอยู่ของหอใน โดยมองว่าหากนิสิตพบปัญหาก็ควรแจ้งต่อบุคลากรผู้เกี่ยวข้อง แล้วปัญหาก็จะได้รับการแก้ไขไปตามมาตรการ แต่ไม่ควรประกาศปัญหาลงในโซเชียลมีเดีย เพราะไม่ใช่ทางแก้ที่มีประสิทธิภาพ

“หนูอยู่บ้านทำไมหนูด่าบ้านตัวเอง ทำไมหนูถึงไม่มาบอกพ่อแม่ที่เขาดูแลบ้าน มาปรึกษากันว่าจะดูแลบ้านเราอย่างไร ทำไมถึงเลือกจะด่าบ้านที่ตัวเองอยู่” 

อนุสาสกหอพักหญิง กล่าว

“ครูไม่ได้คิดว่าเป็นปัญหาหนักเลย แต่ปัญหาหนักมันอยู่ที่ใจคน มันอยู่ที่ความคิดของคน แก้ยาก” รับขวัญย้ำว่าสภาพจิตใจของนิสิตเป็นสิ่งที่น่าเป็นห่วงมากกว่าปัญหาภายนอก เนื่องด้วยยุคสมัยเปลี่ยนไป นิสิตปัจจุบันมีความสุขได้ยาก แต่เกิดความทุกข์ได้ง่าย หากแก้ปัญหาทางใจได้ก็จะเป็นผลดีต่อนิสิตในการใช้ชีวิตในสังคม “เป้าหมายของอาจารย์คืออยากให้นิสิตอยู่ในหอพักอย่างมีความสุข แต่การจะสร้างความสุขให้นิสิตมันต้องสุขทางใจ ไม่ใช่สุขแค่แบบภายนอก”

“นิสิตนักศึกษา” ติดต่อไปยัง วิศณุ ทรัพย์สมพล รองอธิการบดี ด้านการจัดการทรัพย์สินและกายภาพ สำนักบริหารระบบกายภาพ จุฬาฯ เพื่อสอบถามความเป็นไปได้ในการขยายหรือปรับเปลี่ยนพื้นที่ของหอพักเพื่อรองรับจำนวนนิสิตที่มากขึ้นทุกปี แต่ทางสำนักบริหารระบบกายภาพฯ แจ้งกลับมาว่า ประเด็นเกี่ยวกับหอพักนิสิต ขอให้ไปสอบถามจากสำนักบริหารกิจการนิสิตแทน เนื่องจากเป็นสำนักงานที่เกี่ยวข้องกับหอพักนิสิตโดยตรง

สำนักงานหอพักฯ เผยโควิดสร้างผลกระทบ การพัฒนาต้องรอมติผู้บริหาร

กรกช นาคบุญช่วย หัวหน้าหน่วยหอพักนิสิต สำนักบริหารกิจการนิสิต จุฬาฯ กล่าวว่า เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมามีการบูรณะตึกจำปี ทำให้มีจำนวนห้องเพิ่มขึ้น จนตอนนี้หอในสามารถรองรับนิสิตได้มากขึ้นเป็น 3,985 คนแล้ว แต่ในปี 2563 นี้ กลับมีนิสิตสมัครเข้าพักน้อยเป็นพิเศษ เนื่องจากนโยบายเรียนออนไลน์ของจุฬาฯ จากปกติที่จะรับนิสิตเข้าใหม่เทอมละ 1,600 คน และจำเป็นต้องคัดออกเกินครึ่งทุกปี แต่ปีนี้มีผู้สมัครใหม่เพียง 1,200 คนโดยประมาณเท่านั้น จึงไม่ต้องคัดใครออกเลย

ตึกจำปีที่ได้รับการบูรณะใหม่ของหอพักนิสิตจุฬาฯ

หัวหน้าหน่วยหอพักยังเผยว่า นอกจากตึกจำปีแล้ว คณะกรรมการบริหารหอพักก็มีแผนจะพัฒนาอาคารหอพักอื่นอีก เช่น ตึกพุดซ้อน แต่แผนดังกล่าวก็ต้องชะลอไปเนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 จึงจำเป็นต้องรอฟังผลจากการประชุมของคณะกรรมการบริหารฯ อีกทั้งงบประมาณของหอพักปีนี้ก็ยังลดลงอีกด้วย “งบประมาณในการบริหารหอพักจะลดลงทุกปี แล้วแต่การใช้จ่าย อย่างปีที่แล้วก็จะลดลงเยอะเนื่องจากโควิด-19 แล้วหลายๆ โครงการของเราก็ไม่ได้ทำ ก็เลยโดนลดงบลง”

กรกชยังมองว่า หากนโยบายบูรณะอาคารเพื่อเพิ่มห้องพักได้ดำเนินการ ก็อาจจะสามารถรองรับนิสิตได้มากขึ้นเป็นจำนวนราว 5,000 คน ขณะที่เจ้าหน้าที่หอพักยังคงมีจำนวน 24 คนเท่าเดิม ดังนั้นเจ้าหน้าที่หนึ่งคน ต้องดูแลนิสิต 200 กว่าคน ซึ่งอาจทำให้ไม่ทั่วถึง ในขณะเดียวกันนโยบายของมหาวิทยาลัยก็กำหนดให้หอพักต้องไม่มีที่ว่าง “ที่ว่างต้องจัดให้เต็มค่ะ เพราะว่ามันก็เป็นรายได้ของมหาวิทยาลัยเอง และหอพักก็มีค่าใช้จ่ายเยอะ แต่ปีนี้ก็ช่วยอะไรไม่ได้แล้ว”

โครงการพัฒนา Block 33 ทางเลือกใหม่สำหรับนิสิต

สุรงค์ สุวรรณวานิช ผู้ช่วยผู้อำนวยการ สายงานพัฒนาธุรกิจและบริหารโครงการ สำนักงานจัดการทรัพย์สินจุฬาฯ (PMCU) เผยว่า โครงการพัฒนาพื้นที่ Block 33 เพื่อสร้างเป็นคอนโดมีเนียมและอาคารเชิงพาณิชย์ มีจุดประสงค์หนึ่งเพื่อเป็นที่พักให้นิสิตได้เช่าอยู่อาศัย เนื่องจากเห็นว่าหอพักมีจำนวนไม่เพียงพอต่อความต้องการของนิสิต จึงพัฒนาโครงการนี้ขึ้นมารองรับ

โครงการพัฒนาพื้นที่หมอน 33 (Block 33) ซึ่งเป็นที่ตั้งของศาลเจ้าแม่ทับทิมสะพานเหลือง

โดยโครงการพัฒนา Block 33 มีพื้นที่ทั้งหมด 15 ไร่ แบ่งเป็นส่วนที่พักอาศัยและส่วนอาคารเชิงพาณิชย์ ส่วนที่พักอาศัยแบ่งออกเป็น อาคาร A ซึ่งเปิดเช่าสำหรับบุคคลทั่วไป และ อาคาร B ซึ่งจะสงวนสิทธิ์การเช่าพักอาศัยสำหรับนิสิตจุฬาฯ เท่านั้น โดยเฉพาะนิสิตระดับ ป.ตรี ที่มีจำนวนมาก อาคาร B มีจำนวน 972 ยูนิต คาดว่าจะรองรับนิสิตได้ 2,264 คน ทางสำนักงานจัดการทรัพย์สินฯ อธิบายว่ารายได้จากอาคาร A จะนำมาสนับสนุนอาคาร B ด้วย เพื่อให้ค่าเช่าห้องสำหรับนิสิตไม่แพงจนเกินไป 

ทั้งนี้ ส่วนหนึ่งของพื้นที่โครงการพัฒนา Block 33 เป็นที่ตั้งของศาลเจ้าแม่ทับทิมสะพานเหลือง ซึ่งเคยมีกำหนดจะให้รื้อถอนออกเมื่อวันที่ 16 มิถุนายนที่ผ่านมา และทางจุฬาฯ ได้จัดเตรียมพื้นที่สำหรับการสร้างศาลเจ้าแม่ทับทิมสะพานเหลืองแห่งใหม่ไว้ภายในบริเวณอุทยาน 100 ปี อย่างไรก็ตาม การรื้อถอนยังอยู่ระหว่างการเจรจา

ทรัพย์สินจุฬาฯ เผยเงินอุดหนุนภาครัฐน้อยลง ต้องหารายได้จากพื้นที่

สุรงค์เน้นว่าภารกิจหลักของสำนักงานจัดการทรัพย์สินฯ คือให้มหาวิทยาลัยสามารถมีรายได้จากการเก็บค่าเช่าบนพื้นที่เพื่อมาสนับสนุนการศึกษา โดยที่ไม่ต้องพึ่งพาเงินจากทางรัฐบาลเพียงอย่างเดียว ซึ่งรายได้จากการจัดเก็บของสำนักงานจัดการทรัพย์สินฯ เริ่มมีความสำคัญมากขึ้น เนื่องจากตั้งแต่ปี 2561 เป็นต้นมา เงินอุดหนุนจากภาครัฐลดน้อยลงอย่างต่อเนื่องและมีนัยสำคัญ

“ทางสำนักงานจัดการทรัพย์สินฯ เองก็ต้องพยายามสร้างรายได้ที่เพิ่มขึ้น เพื่อมารองรับการลดลงของเงินอุดหนุนจากรัฐบาล สิ่งนี้ถือเป็นภารกิจหลัก” ผู้ช่วยผู้อำนวยการ สำนักงานจัดการทรัพย์สินฯ ให้เหตุผล “ถ้ารายได้ไม่สมดุลกัน สิ่งที่จะกระทบก็คือค่าธรรมเนียมการศึกษาก็อาจจะเพิ่มขึ้น”

%d bloggers like this: