เรื่อง : ณฐบงกช ชยรักษ์ ภาพ : ศุภกานต์ ผดุงใจ
“ถึงบ้านแล้วบอกด้วยนะ” หากฟังเผินๆ คำกล่าวข้างต้นอาจเป็นประโยคธรรมดาที่ใครๆ ก็เอาไว้พูดทิ้งท้ายก่อนแยกย้ายจากคนคุ้นเคย หรืออาจตีความได้ว่าเป็นประโยคบอกรักแบบอ้อมๆ
แต่ไม่ว่าจะพูดด้วยเหตุผลอะไรก็ตาม ทำไมเราต้องคอยถามคนอื่นว่าถึงบ้านหรือยัง ทำไมเราถึงได้เป็นห่วงเวลาคนที่เรารักไม่ส่งข้อความกลับมา หรือเพราะว่าเรา ‘กลัว’ ว่าเขาจะกลับไม่ถึงบ้าน
“เดินคนเดียวระวังนะ ในซอยนี้ชอบมีคนเดินตาม”
“ขึ้นแท็กซี่แล้วถ่ายทะเบียนมาด้วย”
“ป้ายรถเมล์ตรงนี้ คนโดนวิ่งราวไม่รู้กี่รอบละ”
นี่เป็นบทสนทนาในค่ำคืนหนึ่งหลังกองบรรณาธิการ “นิสิตนักศึกษา” แยกย้ายจากการประชุม ณ คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หลายครั้งที่ต้องมานั่งถกถึงวิธีกลับบ้านกับคนรอบข้าง เพราะไม่ว่าจะเลือกเส้นทางไหนก็ล้วนมีความเสี่ยง ทำให้อดคิดไม่ได้ว่า ‘สวัสดิภาพในการเดินทาง’ เป็นอะไรที่หาได้ยากเหลือเกินในบ้านเรา
ไม่มีแสงไฟส่องสว่างระหว่างทางเดิน
ไม่ถึงบ้านเพราะอาชญากรรม
ชิงทรัพย์ กรรโชกทรัพย์ ทำร้ายร่างกาย ไปจนถึงข่มขืนกระทำชำเรา และอีกสารพัดการคุกคามที่อาจเกิดขึ้นได้ในระหว่างทางกลับบ้าน สร้างความไม่มั่นใจให้กับทั้งคนเดินทาง คนที่คอยเป็นห่วง และคนที่รอคอยอยู่ปลายทาง แม้ว่าเราอาจเห็นตามหน้าข่าวอยู่บ่อยครั้งว่า อาชญากรรมส่วนใหญ่เกิดในสถานที่ลับตาคน ในช่วงยามวิกาล อย่างไรก็ดี อันตรายสามารถเกิดขึ้นได้ทุกที่ทุกเวลา ตั้งแต่ตรอกซอกซอย สะพานลอย ถนนหนทาง ไปจนถึงสถานที่ที่มีคนคนพลุกพล่านอย่าง สถานีขนส่งมวลชน ฯลฯ
“เราเคยกลับบ้านดึก รอรถตู้ และโดนผู้ชายที่ไหนไม่รู้ มาดึงมือ แบบตื๊อขอเบอร์ มันน่ากลัวมากๆ รู้สึกถูกคุกคามมากๆ หลังจากนั้นเราเลยรู้สึกไม่ปลอดภัยอีกเลยเวลาต้องอยู่ข้างนอกหลังพระอาทิตย์ตกดินไปแล้ว”
ไข่มุก พนักงานบริษัท อายุ 23 ปี
ผลสำรวจโดยเครือข่ายเมืองปลอดภัยสำหรับผู้หญิงในปี 2561 พบว่า ผู้ใช้บริการขนส่งสาธารณะทั้งเพศหญิง ชาย และไม่ระบุเพศ จำนวน 1,654 คน ร้อยละ 35 หรือ 1 ใน 3 ระบุว่าเคยถูกคุกคามทางเพศขณะใช้บริการรถโดยสารสาธารณะ โดยเพศหญิงมีอัตราสูงสุดถึงร้อยละ 45
ป้ายรถประจำทางริมถนนในยามปลอดผู้คน
หลายคนจึงต้องสรรหาวิธีรับมือกับความรู้สึกไม่ปลอดภัย เช่น พกสเปรย์พริกไทย ถ่ายรูปทะเบียนรถส่งให้เพื่อน แกล้งคุยโทรศัพท์เสียงดังๆ ให้คนขับได้ยิน เลี่ยงการยืนรอรถประจำทางและรถไฟฟ้าเวลาปลอดผู้คน ฯลฯ ทำให้หลายครั้งอดสงสัยไม่ได้ว่า เราใช้พลังงานทั้งวันไปกับการทำงานแล้ว ทำไมเมื่อตกเย็นยังต้องมานั่งกังวลกับสวัสดิภาพของตัวเอง ควรมีมาตรการหรือนโยบายที่เข้ามาดูแลปัญหานี้หรือไม่
เมื่อกลางปีที่ผ่านมานี้ เทศบาลกรุงโซล ประเทศเกาหลีใต้ ประกาศเตรียมติดตั้งป้ายรถเมล์อัจฉริยะ (Smart Shelter) เพื่ออำนวยความสะดวกและตอบโจทย์วิถีชีวิตของประชาชน โดยจุดรอรถเมล์ดังกล่าวมีลักษณะเป็นตู้กระจกขนาดใหญ่ ภายในประกอบไปด้วยสิ่งอำนวยความสะดวกหลายอย่าง เช่น สัญญาณอินเทอร์เน็ตไร้สาย เครื่องปรับอากาศ หน้าจอแสดงเวลาที่รถเมล์จะมาถึง รวมทั้งยังมีปุ่มฉุกเฉินและกล้องวงจรปิดเพื่อความปลอดภัยอีกด้วย
เมื่อหันกลับมามองที่บ้านเรา อย่าว่าแต่ความสะดวกสบายในการใช้บริการ เอาแค่ความปลอดภัยขั้นพื้นฐานก็ยังไม่มีเท่าที่ควร
ไม่ถึงบ้านเพราะอุบัติเหตุ
13 เมษายน 2563 – เสาไฟฟ้าถล่มห้าต้นรวดในพื้นที่เขตจอมทอง
3 สิงหาคม 2563 – นักเรียนชั้นม.1 ตกโพรงท่อริมถนนฝั่งตรงข้ามทำเนียบรัฐบาล
11 กันยายน 2563 – ป้ายรถประจำทางล้มทับผู้โดยสาร บริเวณหน้าห้างเซ็นทรัลเวิลด์
3 ตุลาคม 2563 – แท่งเหล็กหล่นทะลุกระจกหน้ารถ บริเวณทางด่วนดินแดง
สภาพทางเท้าริมถนน
นี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งของอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นจากการชำรุดของสาธารณูปโภคบนทางสัญจรในปี 2563 ในเขตกรุงเทพมหานคร ซึ่งเราไม่มีทางล่วงรู้ได้เลยว่าจะเกิดเหตุการณ์เช่นนี้อีกกี่ครั้ง เพราะไม่เห็นสัญญาณการแก้ไขปัญหาที่ชัดเจน จะกลับบ้านแต่ละครั้ง ต้องคอยมองรอบตัว เพราะกลัวจะมีอะไรหล่นลงมาทับหัว หรือเดินๆ อยู่อาจจะสะดุดหล่นลงไปในท่อก็เป็นได้
“ตอนนั้นไฟจราจรขึ้นสัญญาณสีเขียวให้คนเดินได้ แต่อยู่ๆ เมื่อเราเดินไปสองสามก้าวแล้วไฟก็เปลี่ยนกะทันหัน ทำให้สะดุดหลุมถนนตรงทางม้าลาย”
แยม นักศึกษา อายุ 22 ปี
นอกจากนี้ยังมีเรื่องอุบัติเหตุบนท้องถนนที่ประเทศไทยจะอยู่เป็นอันดับต้นๆ มาแล้วหลายสมัย จากการจัดอันดับของบริษัทด้านความปลอดภัยในการเดินทาง International SOS เผยว่าในปี 2563 ความปลอดภัยในการเดินทางของประเทศไทยอยู่ในระดับต่ำ และเฉพาะภาพรวมความปลอดภัยบนท้องถนนทั้งประเทศอยู่ใน ‘ความเสี่ยงระดับสูงสุด’ โดยช่วงระหว่างเดือนมกราคม – ตุลาคมปี 2563 มียอดผู้เสียชีวิต 12,358 ราย และผู้บาดเจ็บจาก 812,817 ราย
จะถึงบ้านปลอดภัย #ถ้าการเมืองดี
ความตลกร้ายคือ เมื่อเกิดความไม่ปลอดภัย คนในสังคมส่วนใหญ่มักพูดถึงแต่วิธีป้องกันหรือโทษปัจเจกบุคคลมากกว่าการมองที่ต้นตอของปัญหา เช่น ใช้วาทกรรม “อย่ากลับบ้านดึก” “อย่าแต่งตัวโป๊” “อย่าเดินคนเดียว” “ทำไมไปเดินตรงนั้น” กลายเป็นว่าผู้คนต้องคอยเปลี่ยนวิถีชีวิตตามเหตุอุทาหรณ์ ระมัดระวังความเสี่ยงด้วยตัวเองเพียงอย่างเดียว ทั้งที่จริงแล้ว ความไม่ปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนเป็นผลพวงจากปัญหาเชิงโครงสร้างซึ่งเกี่ยวเนื่องไปยังองค์ประกอบอื่นๆ ในสังคม
การเมืองจึงถือว่ามีบทบาทสำคัญต่อความชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน เพราะเกี่ยวข้องกับการบริหารทรัพยากรและผลประโยชน์เพื่อคุณภาพชีวิตของคนในสังคม หากประเทศเรามีโครงสร้างการเมืองที่ดี ตั้งแต่การเลือกนักการเมืองที่มีคุณภาพมาบริหาร ตลอดจนกลไกอันมีประสิทธิภาพที่คอยกำกับดูแลการทำงานของนักการเมือง นโยบายและมาตรการต่างๆ จะสามารถพัฒนาความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนได้มากขึ้น
สวิตเซอร์แลนด์ที่ได้รับเลือกให้ประเทศที่ดีที่สุดในโลก จากการจัดอันดับของนิตยสารข่าว U.S News & World Report เมื่อปี 2563 โดยได้คะแนนร้อยละ 93 ด้านเสถียรภาพทางการเมือง และได้คะแนนเต็มด้านความมั่นคงทางเศรษฐกิจและความปลอดภัยของประชาชน U.S News & World Report ชี้ว่าประชาชนสวิตเซอร์แลนด์สามารถมีส่วนร่วมในการเสนอและแก้ไขกฎหมายหรือรัฐธรรมนูญที่ผ่านการลงประชามติปีละสี่ครั้ง ทำให้รัฐสภาสามารถออกนโยบายสอดคล้องกับวิถีชีวิตและแก้ไขปัญหาได้อย่างตรงจุด
นอกจากนี้ สวิตเซอร์แลนด์ยังมีนโยบายด้านสาธารณูปโภคที่เอื้อความปลอดภัยให้กับประชาชน ทำให้เป็นประเทศที่พลเมืองสามารถสัญจรได้สะดวกที่สุดแห่งหนึ่ง ด้วยระบบขนส่งมวลชนที่มีประสิทธิภาพ รถไฟฟ้า รถโดยสารประจำทาง รถบริการสาธารณะ เรือโดยสารที่เชื่อมต่อกันทุกจุด มีระบบติดตามยานพาหนะ (GPS) และปุ่มฉุกเฉินแจ้งเหตุสำหรับรถโดยสารส่วนบุคคล อีกทั้งสภาพถนนสอดคล้องต่อการสัญจร มีไฟฟ้าส่องสว่างตามถนนและตรอกซอกซอย กล้องวงจรปิดครอบคลุมทุกจุดเสี่ยงลับตาคน
ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมเมื่อปี พ.ศ. 2555 – 2557 ให้ความเห็นว่า ความไม่ปลอดภัยในการเดินทางที่เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า มีต้นตอมาจากสาธารณูปโภคที่ไม่ได้รับการวางแผนอย่างถูกต้อง อย่างโครงสร้างพื้นที่ในประเทศไทย โดยเฉพาะในกรุงเทพฯ ที่ผังเมืองเป็น “มหานครซอยตัน” เนื่องด้วยมีการตัดถนนตามเส้นทางสัญจรของรถยนต์เป็นหลัก ทำให้เกิดความยากในการวางระบบขนส่งมวลชนอันส่งให้ผู้คนถึงจุดหมายปลายทาง
“ด้วยว่าบ้านเรามันได้มีรูปแบบผังเมืองเป็นโหนด (node) ตอนนี้พอจะวางขนส่งมวลชนสาธารณะก็เลยยาก เพราะเมืองมันเป็นไปตามถนนแล้ว” อดีต รมว.คมนาคมกล่าว
ติดตั้งกล้องวงจรปิดตามตรอกซอกซอย
ชัชชาติเสนอว่า รัฐบาลควรมีมาตรการแก้ไขทั้งระยะสั้นและระยะยาว โดยระยะสั้นคือการจัดการปัญหาที่เห็นอย่างชัดเจน เช่น ซ่อมแซมถนนที่ชำรุด ติดกล้องวงจรปิดตามตรอกซอกซอย เริ่มจากรวบรวมข้อมูลจุดเสี่ยงที่เกิดขึ้นให้มากที่สุด ด้วยวิธีการสร้างแพลตฟอร์มออนไลน์ที่ให้ประชาชนรายงานเข้ามาได้ ส่วนในระยะยาวควรแก้ปัญหาเชิงนโยบายที่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของคนในสังคม อาทิ นโยบายทางเศรษฐกิจ นโยบายการพัฒนาสาธารณูปโภค นโยบายด้านความปลอดภัย เป็นต้น
ปฏิเสธไม่ได้ว่าจำนวนอาชญากรรมสามารถเป็นตัวชี้วัดความมั่นคงทางเศรษฐกิจระดับจุลภาคได้ดี เพราะหากประชาชนอยู่ดีกินดี ไม่ตกอยู่ในสภาวะว่างงานหรืออดอยาก มีรายได้เพียงพอต่อการดำรงชีวิต และมีช่องทางการหาเลี้ยงชีพแบบสุจริต จะสามารถลดแรงจูงใจในการก่ออาชญากรรมได้ เพราะส่วนหนึ่งของผู้ก่อเหตุนั้นเป็นเป็นอาชญากรจำเป็นที่มุ่งหวังเพียงทรัพย์สิน
นอกจากนี้รัฐบาลควรมีมาตรการปฏิรูปตำรวจให้สามารถเป็นที่พึ่งของประชาชนได้อย่างแท้จริง ทั้งในการตรวจตราความปลอดภัย การรับแจ้งเหตุ การบังคับใช้กฎหมายอย่างยุติธรรม ไม่เลือกปฏิบัติ ขจัดระบบอุปถัมป์ เพราะในปัจจุบันความไว้ใจที่ประชาชนมีต่อตำรวจเหลือน้อยลงทุกที จากตามหน้าข่าวที่เห็นตำรวจทำงานให้ผู้มีอำนาจ ละเลยการร้องทุกข์จากประชาชนอยู่บ่อยครั้ง
คงไม่ยากที่จะจินตนาการว่า หากประเทศไทยมีประชาธิปไตยอย่างแท้จริง มีการเมืองที่ดี นักการเมืองมีอุดมการณ์และความสามารถ คำนึงถึงผลประโยชน์ของประชาชนและประเทศชาติเป็นสำคัญ จะนำมาซึ่งนโยบายที่ดีและการจัดการที่มีประสิทธิภาพ มีข้าราชการที่ทำงานเพื่อประโยชน์ของพลเมืองอันส่งผลให้สังคมมีคุณภาพ ผู้คนย่อมมั่นใจต่อความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน
#ถ้าการเมืองดี เราคงไม่ต้องบอกลาด้วยประโยคที่ว่า “ถึงบ้านแล้วบอกด้วยนะ”
Like this:
Like Loading...
เรื่อง : ณฐบงกช ชยรักษ์ ภาพ : ศุภกานต์ ผดุงใจ
“ถึงบ้านแล้วบอกด้วยนะ” หากฟังเผินๆ คำกล่าวข้างต้นอาจเป็นประโยคธรรมดาที่ใครๆ ก็เอาไว้พูดทิ้งท้ายก่อนแยกย้ายจากคนคุ้นเคย หรืออาจตีความได้ว่าเป็นประโยคบอกรักแบบอ้อมๆ
แต่ไม่ว่าจะพูดด้วยเหตุผลอะไรก็ตาม ทำไมเราต้องคอยถามคนอื่นว่าถึงบ้านหรือยัง ทำไมเราถึงได้เป็นห่วงเวลาคนที่เรารักไม่ส่งข้อความกลับมา หรือเพราะว่าเรา ‘กลัว’ ว่าเขาจะกลับไม่ถึงบ้าน
“เดินคนเดียวระวังนะ ในซอยนี้ชอบมีคนเดินตาม”
“ขึ้นแท็กซี่แล้วถ่ายทะเบียนมาด้วย”
“ป้ายรถเมล์ตรงนี้ คนโดนวิ่งราวไม่รู้กี่รอบละ”
นี่เป็นบทสนทนาในค่ำคืนหนึ่งหลังกองบรรณาธิการ “นิสิตนักศึกษา” แยกย้ายจากการประชุม ณ คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หลายครั้งที่ต้องมานั่งถกถึงวิธีกลับบ้านกับคนรอบข้าง เพราะไม่ว่าจะเลือกเส้นทางไหนก็ล้วนมีความเสี่ยง ทำให้อดคิดไม่ได้ว่า ‘สวัสดิภาพในการเดินทาง’ เป็นอะไรที่หาได้ยากเหลือเกินในบ้านเรา
ไม่ถึงบ้านเพราะอาชญากรรม
ชิงทรัพย์ กรรโชกทรัพย์ ทำร้ายร่างกาย ไปจนถึงข่มขืนกระทำชำเรา และอีกสารพัดการคุกคามที่อาจเกิดขึ้นได้ในระหว่างทางกลับบ้าน สร้างความไม่มั่นใจให้กับทั้งคนเดินทาง คนที่คอยเป็นห่วง และคนที่รอคอยอยู่ปลายทาง แม้ว่าเราอาจเห็นตามหน้าข่าวอยู่บ่อยครั้งว่า อาชญากรรมส่วนใหญ่เกิดในสถานที่ลับตาคน ในช่วงยามวิกาล อย่างไรก็ดี อันตรายสามารถเกิดขึ้นได้ทุกที่ทุกเวลา ตั้งแต่ตรอกซอกซอย สะพานลอย ถนนหนทาง ไปจนถึงสถานที่ที่มีคนคนพลุกพล่านอย่าง สถานีขนส่งมวลชน ฯลฯ
ผลสำรวจโดยเครือข่ายเมืองปลอดภัยสำหรับผู้หญิงในปี 2561 พบว่า ผู้ใช้บริการขนส่งสาธารณะทั้งเพศหญิง ชาย และไม่ระบุเพศ จำนวน 1,654 คน ร้อยละ 35 หรือ 1 ใน 3 ระบุว่าเคยถูกคุกคามทางเพศขณะใช้บริการรถโดยสารสาธารณะ โดยเพศหญิงมีอัตราสูงสุดถึงร้อยละ 45
หลายคนจึงต้องสรรหาวิธีรับมือกับความรู้สึกไม่ปลอดภัย เช่น พกสเปรย์พริกไทย ถ่ายรูปทะเบียนรถส่งให้เพื่อน แกล้งคุยโทรศัพท์เสียงดังๆ ให้คนขับได้ยิน เลี่ยงการยืนรอรถประจำทางและรถไฟฟ้าเวลาปลอดผู้คน ฯลฯ ทำให้หลายครั้งอดสงสัยไม่ได้ว่า เราใช้พลังงานทั้งวันไปกับการทำงานแล้ว ทำไมเมื่อตกเย็นยังต้องมานั่งกังวลกับสวัสดิภาพของตัวเอง ควรมีมาตรการหรือนโยบายที่เข้ามาดูแลปัญหานี้หรือไม่
เมื่อกลางปีที่ผ่านมานี้ เทศบาลกรุงโซล ประเทศเกาหลีใต้ ประกาศเตรียมติดตั้งป้ายรถเมล์อัจฉริยะ (Smart Shelter) เพื่ออำนวยความสะดวกและตอบโจทย์วิถีชีวิตของประชาชน โดยจุดรอรถเมล์ดังกล่าวมีลักษณะเป็นตู้กระจกขนาดใหญ่ ภายในประกอบไปด้วยสิ่งอำนวยความสะดวกหลายอย่าง เช่น สัญญาณอินเทอร์เน็ตไร้สาย เครื่องปรับอากาศ หน้าจอแสดงเวลาที่รถเมล์จะมาถึง รวมทั้งยังมีปุ่มฉุกเฉินและกล้องวงจรปิดเพื่อความปลอดภัยอีกด้วย
เมื่อหันกลับมามองที่บ้านเรา อย่าว่าแต่ความสะดวกสบายในการใช้บริการ เอาแค่ความปลอดภัยขั้นพื้นฐานก็ยังไม่มีเท่าที่ควร
ไม่ถึงบ้านเพราะอุบัติเหตุ
13 เมษายน 2563 – เสาไฟฟ้าถล่มห้าต้นรวดในพื้นที่เขตจอมทอง
3 สิงหาคม 2563 – นักเรียนชั้นม.1 ตกโพรงท่อริมถนนฝั่งตรงข้ามทำเนียบรัฐบาล
11 กันยายน 2563 – ป้ายรถประจำทางล้มทับผู้โดยสาร บริเวณหน้าห้างเซ็นทรัลเวิลด์
3 ตุลาคม 2563 – แท่งเหล็กหล่นทะลุกระจกหน้ารถ บริเวณทางด่วนดินแดง
นี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งของอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นจากการชำรุดของสาธารณูปโภคบนทางสัญจรในปี 2563 ในเขตกรุงเทพมหานคร ซึ่งเราไม่มีทางล่วงรู้ได้เลยว่าจะเกิดเหตุการณ์เช่นนี้อีกกี่ครั้ง เพราะไม่เห็นสัญญาณการแก้ไขปัญหาที่ชัดเจน จะกลับบ้านแต่ละครั้ง ต้องคอยมองรอบตัว เพราะกลัวจะมีอะไรหล่นลงมาทับหัว หรือเดินๆ อยู่อาจจะสะดุดหล่นลงไปในท่อก็เป็นได้
นอกจากนี้ยังมีเรื่องอุบัติเหตุบนท้องถนนที่ประเทศไทยจะอยู่เป็นอันดับต้นๆ มาแล้วหลายสมัย จากการจัดอันดับของบริษัทด้านความปลอดภัยในการเดินทาง International SOS เผยว่าในปี 2563 ความปลอดภัยในการเดินทางของประเทศไทยอยู่ในระดับต่ำ และเฉพาะภาพรวมความปลอดภัยบนท้องถนนทั้งประเทศอยู่ใน ‘ความเสี่ยงระดับสูงสุด’ โดยช่วงระหว่างเดือนมกราคม – ตุลาคมปี 2563 มียอดผู้เสียชีวิต 12,358 ราย และผู้บาดเจ็บจาก 812,817 ราย
จะถึงบ้านปลอดภัย #ถ้าการเมืองดี
ความตลกร้ายคือ เมื่อเกิดความไม่ปลอดภัย คนในสังคมส่วนใหญ่มักพูดถึงแต่วิธีป้องกันหรือโทษปัจเจกบุคคลมากกว่าการมองที่ต้นตอของปัญหา เช่น ใช้วาทกรรม “อย่ากลับบ้านดึก” “อย่าแต่งตัวโป๊” “อย่าเดินคนเดียว” “ทำไมไปเดินตรงนั้น” กลายเป็นว่าผู้คนต้องคอยเปลี่ยนวิถีชีวิตตามเหตุอุทาหรณ์ ระมัดระวังความเสี่ยงด้วยตัวเองเพียงอย่างเดียว ทั้งที่จริงแล้ว ความไม่ปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนเป็นผลพวงจากปัญหาเชิงโครงสร้างซึ่งเกี่ยวเนื่องไปยังองค์ประกอบอื่นๆ ในสังคม
การเมืองจึงถือว่ามีบทบาทสำคัญต่อความชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน เพราะเกี่ยวข้องกับการบริหารทรัพยากรและผลประโยชน์เพื่อคุณภาพชีวิตของคนในสังคม หากประเทศเรามีโครงสร้างการเมืองที่ดี ตั้งแต่การเลือกนักการเมืองที่มีคุณภาพมาบริหาร ตลอดจนกลไกอันมีประสิทธิภาพที่คอยกำกับดูแลการทำงานของนักการเมือง นโยบายและมาตรการต่างๆ จะสามารถพัฒนาความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนได้มากขึ้น
สวิตเซอร์แลนด์ที่ได้รับเลือกให้ประเทศที่ดีที่สุดในโลก จากการจัดอันดับของนิตยสารข่าว U.S News & World Report เมื่อปี 2563 โดยได้คะแนนร้อยละ 93 ด้านเสถียรภาพทางการเมือง และได้คะแนนเต็มด้านความมั่นคงทางเศรษฐกิจและความปลอดภัยของประชาชน U.S News & World Report ชี้ว่าประชาชนสวิตเซอร์แลนด์สามารถมีส่วนร่วมในการเสนอและแก้ไขกฎหมายหรือรัฐธรรมนูญที่ผ่านการลงประชามติปีละสี่ครั้ง ทำให้รัฐสภาสามารถออกนโยบายสอดคล้องกับวิถีชีวิตและแก้ไขปัญหาได้อย่างตรงจุด
นอกจากนี้ สวิตเซอร์แลนด์ยังมีนโยบายด้านสาธารณูปโภคที่เอื้อความปลอดภัยให้กับประชาชน ทำให้เป็นประเทศที่พลเมืองสามารถสัญจรได้สะดวกที่สุดแห่งหนึ่ง ด้วยระบบขนส่งมวลชนที่มีประสิทธิภาพ รถไฟฟ้า รถโดยสารประจำทาง รถบริการสาธารณะ เรือโดยสารที่เชื่อมต่อกันทุกจุด มีระบบติดตามยานพาหนะ (GPS) และปุ่มฉุกเฉินแจ้งเหตุสำหรับรถโดยสารส่วนบุคคล อีกทั้งสภาพถนนสอดคล้องต่อการสัญจร มีไฟฟ้าส่องสว่างตามถนนและตรอกซอกซอย กล้องวงจรปิดครอบคลุมทุกจุดเสี่ยงลับตาคน
ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมเมื่อปี พ.ศ. 2555 – 2557 ให้ความเห็นว่า ความไม่ปลอดภัยในการเดินทางที่เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า มีต้นตอมาจากสาธารณูปโภคที่ไม่ได้รับการวางแผนอย่างถูกต้อง อย่างโครงสร้างพื้นที่ในประเทศไทย โดยเฉพาะในกรุงเทพฯ ที่ผังเมืองเป็น “มหานครซอยตัน” เนื่องด้วยมีการตัดถนนตามเส้นทางสัญจรของรถยนต์เป็นหลัก ทำให้เกิดความยากในการวางระบบขนส่งมวลชนอันส่งให้ผู้คนถึงจุดหมายปลายทาง
“ด้วยว่าบ้านเรามันได้มีรูปแบบผังเมืองเป็นโหนด (node) ตอนนี้พอจะวางขนส่งมวลชนสาธารณะก็เลยยาก เพราะเมืองมันเป็นไปตามถนนแล้ว” อดีต รมว.คมนาคมกล่าว
ชัชชาติเสนอว่า รัฐบาลควรมีมาตรการแก้ไขทั้งระยะสั้นและระยะยาว โดยระยะสั้นคือการจัดการปัญหาที่เห็นอย่างชัดเจน เช่น ซ่อมแซมถนนที่ชำรุด ติดกล้องวงจรปิดตามตรอกซอกซอย เริ่มจากรวบรวมข้อมูลจุดเสี่ยงที่เกิดขึ้นให้มากที่สุด ด้วยวิธีการสร้างแพลตฟอร์มออนไลน์ที่ให้ประชาชนรายงานเข้ามาได้ ส่วนในระยะยาวควรแก้ปัญหาเชิงนโยบายที่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของคนในสังคม อาทิ นโยบายทางเศรษฐกิจ นโยบายการพัฒนาสาธารณูปโภค นโยบายด้านความปลอดภัย เป็นต้น
ปฏิเสธไม่ได้ว่าจำนวนอาชญากรรมสามารถเป็นตัวชี้วัดความมั่นคงทางเศรษฐกิจระดับจุลภาคได้ดี เพราะหากประชาชนอยู่ดีกินดี ไม่ตกอยู่ในสภาวะว่างงานหรืออดอยาก มีรายได้เพียงพอต่อการดำรงชีวิต และมีช่องทางการหาเลี้ยงชีพแบบสุจริต จะสามารถลดแรงจูงใจในการก่ออาชญากรรมได้ เพราะส่วนหนึ่งของผู้ก่อเหตุนั้นเป็นเป็นอาชญากรจำเป็นที่มุ่งหวังเพียงทรัพย์สิน
นอกจากนี้รัฐบาลควรมีมาตรการปฏิรูปตำรวจให้สามารถเป็นที่พึ่งของประชาชนได้อย่างแท้จริง ทั้งในการตรวจตราความปลอดภัย การรับแจ้งเหตุ การบังคับใช้กฎหมายอย่างยุติธรรม ไม่เลือกปฏิบัติ ขจัดระบบอุปถัมป์ เพราะในปัจจุบันความไว้ใจที่ประชาชนมีต่อตำรวจเหลือน้อยลงทุกที จากตามหน้าข่าวที่เห็นตำรวจทำงานให้ผู้มีอำนาจ ละเลยการร้องทุกข์จากประชาชนอยู่บ่อยครั้ง
คงไม่ยากที่จะจินตนาการว่า หากประเทศไทยมีประชาธิปไตยอย่างแท้จริง มีการเมืองที่ดี นักการเมืองมีอุดมการณ์และความสามารถ คำนึงถึงผลประโยชน์ของประชาชนและประเทศชาติเป็นสำคัญ จะนำมาซึ่งนโยบายที่ดีและการจัดการที่มีประสิทธิภาพ มีข้าราชการที่ทำงานเพื่อประโยชน์ของพลเมืองอันส่งผลให้สังคมมีคุณภาพ ผู้คนย่อมมั่นใจต่อความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน
#ถ้าการเมืองดี เราคงไม่ต้องบอกลาด้วยประโยคที่ว่า “ถึงบ้านแล้วบอกด้วยนะ”
Share this:
Like this: