Social Issue

บ้านพักคนชรา ที่พักพิงของผู้สูงวัยที่รัฐยังไม่ทุ่มเทมากพอ

บ้านพักคนชรา หนึ่งในทางเลือกสำหรับผู้สูงอายุที่ไม่มีลูกหลานหรือลูกหลานไม่สามารถเลี้ยงดูได้ แต่ค่าใช้จ่ายกลับสูงมากประกอบกับการช่วยเหลือจากภาครัฐไม่เพียงพอทำให้คนรุ่นใหม่ต้องวางแผนเก็บเงินก้อนใหญ่เพื่อวัยเกษียณของตนเอง

เรื่อง: ธัชชัย พัฒนาประทีป ภาพ: iCare Seniors Home

แผนการเกษียณอายุเป็นสิ่งที่สำคัญมากในสังคมไทยปัจจุบันที่มีอัตราส่วนผู้สูงอายุสูงขึ้นเรื่อยๆ ทำให้จำนวนผู้ที่มีความสามารถในการหาเลี้ยงครอบครัวมีอัตราส่วนที่ต่ำลง 

ข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติเมื่อปี 2561 ระบุว่า ประเทศไทยมีประชากรผู้สูงอายุ (อายุ 60 ปีขึ้นไป) มากถึงร้อยละ 17 ของประชากรทั้งหมด ในขณะที่มีเด็กอายุไม่ถึง 16 ปีบริบูรณ์ คิดเป็นร้อยละ 34 ของประชากรทั้งหมด นั่นหมายความว่า ประชากรที่ไม่สามารถทำงานหาเลี้ยงชีพได้คิดเป็นร้อยละ 51 ซึ่งมากกว่าประชากรที่สามารถหาเลี้ยงชีพให้กับตัวเองได้ เพราะฉะนั้นประชากรที่สามารถหาเงินเลี้ยงชีพตัวเองได้จะต้องดูแลผู้ที่ไม่สามารถหาเงินเองได้เป็นอัตราส่วน 1 ต่อ 1 เลยทีเดียว 

เมื่ออัตราส่วนผู้ที่มีความสามารถหารายได้ต่ำลง อัตราการเติบโตของเศรษฐกิจจะต่ำลงตาม ภาระการหาเงินเพื่อเลี้ยงดูคนในครอบครัวจะตกอยู่ที่คนกลุ่มน้อยในสังคมไทย ดังนั้น เพื่อไม่ให้ต้องฝากบั้นปลายชีวิตไว้กับลูกหลาน การวางแผนการเกษียณอายุของคนรุ่นใหม่ตั้งแต่วัยเรียนหรือเริ่มต้นทำงานจึงจำเป็นอย่างมาก

บ้านพักคนชราเป็นทางเลือกหนึ่งในแผนการเกษียณอายุของคนรุ่นใหม่ จิรพัฒน์ ตั้งอิทธิพลากร นิสิตชั้นปีที่ 3 จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เล่าว่า “เคยคิดถึงการเข้าอยู่ในบ้านพักคนชราเมื่อเราแก่ เพราะว่าถ้าวันหนึ่งเรามีลูก เราคงไม่ได้อยากให้เขามาเลี้ยงดูเรา รู้สึกว่าเขาควรจะได้ใช้ชีวิตของเขา เขามีภาระของตัวเองที่ต้องดูแลโดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าเขามีลูกอีก เราไม่อยากจะบอกลูกว่า ‘อย่าลืมส่งเงินมาด้วยนะ’ ซึ่งการอยู่บ้านพักคนชรามันตอบโจทย์มากๆ” 

ในขณะที่ น่าน ไชยฤทธิ นักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 แสดงความคิดเห็นว่า “จริงๆ เราก็ไม่ได้อยากอยู่บ้านพักคนชราเพราะมันดูเหงา แต่เมื่อมองว่าในอนาคตมันคงมีหลายปัจจัยที่ทำให้ลูกหลานดูแลเราได้ยากลำบาก การเลือกไปอยู่บ้านพักคนชราเองก็คงเป็นทางออกที่ดีเพราะเขามีคนดูแลที่ครบครันกว่า บางครั้งเราอาจจะสร้างเพื่อนที่วัยใกล้ๆ กันคุยเรื่องเดียวกันในบ้านพักคนชราได้ด้วย”

อยากอยู่บ้านพักคนชรา ต้องเก็บเงินเท่าไรถึงจะพอ

“นิสิตนักศึกษา” ศึกษาว่าต้องใช้เงินเท่าไรจึงจะเข้าพักในบ้านพักคนชราในไทยได้ ผลการสำรวจเบื้องต้นพบว่า ค่าใช้จ่ายสำหรับบ้านพักคนชราทั้งเอกชนและรัฐบาลมีดังนี้ 

1. บ้านบางแค ซึ่งเป็นบ้านพักคนชราของรัฐ ผู้เข้าพักจะต้องมีเงินประมาณ 200,000 – 400,000 บาทสำหรับระยะเวลา 20 ปี หรือตลอดอายุ 60 – 80 ปี โดยยังไม่รวมเงินค่าอุปกรณ์อุปโภคเพิ่มเติมต่างๆ เช่น ผ้าอ้อมสำหรับคนชรา 

2. บ้านพักคนชราสวางคนิเวศ ให้บริการโดยสภากาชาดไทย ผู้ตัดสินใจเข้าพักจะต้องมีเงินอย่างน้อย 1.65 – 2.5 ล้านบาท (ราคาต่างไปตามขนาดห้อง) รวมค่าอุปกรณ์อุปโภคเพิ่มเติม

 3. บ้านพักคนชราเอกชน ผู้ที่ตัดสินใจเข้าพักจะต้องมีเงินอย่างน้อย 4.8 ล้านบาท โดยคำนวณจากค่าใช้จ่ายรวม 20 ปีของบ้านพักคนชราเอกชน ที่โดยเฉลี่ยมีราคาเริ่มต้นเดือนละ 20,000 บาท  อย่างไรก็ตามราคานี้ยังไม่รวมอุปกรณ์อุปโภคเพิ่มเติม

ค่าใช้จ่ายและการออมเงินสำหรับพักในบ้านพักคนชราในไทย

จากราคาข้างต้น จะเห็นได้ว่า บ้านพักคนชราของรัฐมีค่าใช้จ่ายต่างกับเอกชนมากถึง 12 เท่า แต่ทว่าจำนวนที่บ้านพักคนชราของรัฐอาจรองรับได้อาจไม่พอต่อความต้องการของประชาชน รายงานล่าสุดจากบ้านบางแคเมื่อปี 2561 ระบุว่า ผู้ที่ประสงค์เข้ารับบริการจะต้องจองล่วงหน้า 1 ปี เนื่องจากปัจจุบันมีผู้จองเต็มแล้วและต้องรอให้มีผู้ที่ออกจากการดูแล ดังนั้นบ้านพักคนชราเอกชนซึ่งมีจำนวนมากกว่าบ้านพักคนชราของรัฐจึงเป็นตัวเลือกที่รองรับความต้องการได้ดีกว่า 

แต่ถ้าหากต้องการอาศัยในบ้านพักคนชราของเอกชน จะต้องใช้เงินอย่างน้อย 4.8 ล้านบาท เมื่อคำนวณเป็นเงินเก็บที่คนไทยจะต้องเก็บตั้งแต่อายุ 22 ปี (หลังเรียนจบปริญญาตรี) มีมากถึง 11,000 บาทต่อเดือน เมื่อเทียบกับรายได้ขั้นต่ำของนักศึกษาที่จบปริญญาตรีคือ 15,000 บาท เท่ากับว่าคนไทยรุ่นใหม่จะสามารถใช้เงินต่อเดือนได้แค่ 4,000 บาทเท่านั้น

“ตอนแรกเราก็คิดว่าแค่อยากมีเงินเยอะๆ จะได้ใช้ชีวิตสบายๆ ตอนแก่แล้วไม่เป็นภาระคนอื่น แต่พอคิดว่าต้องใช้เงินถึง 5 ล้านบาทก็คิดว่าเป็นตัวเลขที่เยอะมาก ยังไม่รวมค่าใช้จ่ายรายเดือนที่เราคิดว่าต้องจ่ายอีก สมมติว่าเดือนละ 10,000 บาท ก็กลายเป็น 2.4 ล้านบาท รวมๆ ก็คือ 7.4 ล้านบาท” ณัฐวรา ใจชื่น นักศึกษาชั้นปีที่ 4 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้กล่าวถึงจำนวนเงินที่คิดว่าต้องใช้และต้องเริ่มเก็บ

 “จริงๆ 7.4 ล้านบาท ยังไม่รวมค่ารักษาพยาบาลอีก เรามีอาที่เป็นมะเร็งลำไส้ต้องเข้าผ่าตัดเสียค่ารักษาไปอีกประมาณ 2 ล้านกว่า ถ้าคำนวณเป็นเลขกลมๆ สวยๆ ก็คือเราต้องมีเงิน 10 ล้านบาทก่อนวัยเกษียณ ถ้าคิดว่าต้องเก็บเงินก่อนหน้านั้นก็คือประมาณ 26,000 บาทต่อเดือน มันเยอะมากนะ ยังไม่รู้เลยว่าจะเก็บเงินได้ยังไง คิดว่าต้องเริ่มวางแผนการเงินแบบจริงจังได้แล้ว” ณัฐวรา บอก

การสนับสนุนคนชราจากภาครัฐ

ขณะที่ อยวัต อิศรางกูร ณ อยุธยา เจ้าหน้าที่บ้านพักคนชราเอกชน iCare Seniors Home กล่าวถึงปรากฏการณ์ดังกล่าวว่า “ไม่แปลกใจที่คนไทยจะมองว่าบ้านพักคนชรามีราคาสูง เพราะว่ามันเป็นเรื่องจริง แต่ค่าใช้จ่ายของตัวบ้านพักคนชราเอกชนเองก็สูง ซึ่งเรามีบริการที่ดีและครอบคลุมความต้องการของคนแก่และยังมีกิจกรรมให้ทำ แตกต่างจากบ้านพักคนชราของรัฐที่ไม่ได้มีกิจกรรมและการดูแลที่ครอบคลุมทุกด้าน” 

“ในฐานะหนึ่งในคนที่ให้บริการบ้านพักคนชรา คิดว่าปัญหาเรื่องบ้านพักคนชราเอกชนแพงจ่ายไม่ไหว ควรจะมีรัฐเข้ามาช่วย เพราะว่าคนไทยจ่ายภาษีมาตลอด ยังไงเราก็ต้องได้อะไรกลับมาจากภาษีบ้างนอกจากเงินเดือนละ 3,000 บาท ซึ่งมันก็ไม่พอ…”

อยวัต อิศรางกูร ณ อยุธยา เจ้าหน้าที่บ้านพักคนชรา iCare Seniors Home

อยวัตกล่าวเสริมถึงรัฐสวัสดิการของสหรัฐอเมริกาว่า ที่อเมริกามีระบบสวัสดิการที่คืนเงินให้กับประชาชนในช่วงวัยเกษียณ และยังมีหน่วยงานช่วยให้คำปรึกษาเรื่องการเกษียณทำให้ชีวิตวัยเกษียณของประชาชนอเมริกาไม่ยากเท่าไทย

เช่นเดียวกับ ศุขสิทธิ์ ทวีผล อายุ 31 ปี เจ้าของคลินิคกายภาพบำบัดและความงามที่มองว่าการช่วยเหลือของรัฐในเรื่องการเกษียณอายุของไทยมีไม่มากพอ “ตลอดการวางแผนการเงินของเราไม่เคยมีรัฐเข้ามาเกี่ยวข้องเลย คิดแต่ว่าจะพึ่งพาตัวเอง เพราะเราไม่มั่นใจว่ารัฐจะเอาเงินจากไหนมาสนับสนุนเรา เป็นสิ่งเดียวที่รู้สึกว่ารัฐช่วยอะไรเราไม่ได้ แล้วก็ไม่เห็นว่ารัฐจะมีแผนแม่บทอะไรที่เกี่ยวกับคนแก่ด้วย รู้แค่ว่าทุกวันนี้มันมีเบี้ยเลี้ยงคนชราเดือนละ 3,000 บาท แต่ว่ามันน้อยมาก และถ้าเราไม่เอาเงิน 3,000 บาท นี้มันก็คงส่งต่อให้คนอื่นที่ต้องการได้”

“นิสิตนักศึกษา” หาข้อมูลเรื่องการช่วยเหลือค่าใช้จ่ายของคนชราของรัฐ นอกจากเบี้ยเลี้ยงคนชรา พบว่าปัจจุบันมีกรมกิจการผู้สูงอายุที่ให้บริการหางานสำหรับผู้สูงอายุ โดยจะ หางานให้กับคนชราที่มาลงทะเบียนกับกรมฯ เพื่อให้พวกเขามีรายได้ และเสนอให้บริษัทที่ว่าจ้างสามารถนำค่าแรงของคนชราไปลดหย่อนภาษีได้ ซึ่งเป็นอีกหนึ่งแนวทางการแก้ไขนอกจากเบี้ยเลี้ยงคนชรา 

อย่างไรก็ตาม เมื่อตรวจสอบผลประกอบการที่ทางกรมฯ ได้แจ้งบนเว็บไซต์เมื่อปี 2561 พบว่า กรมกิจการผู้สูงอายุสามารถหางานให้กับผู้สูงอายุจำนวน 17,154 คน คิดเป็นร้อยละ 0.6 ของจำนวนผู้สูงอายุทั้งหมดที่มีมากถึง 10.6 ล้านคน

สวัสดิการรัฐสำหรับผู้สูงอายุในต่างประเทศ

“นิสิตนักศึกษา” ได้ติดต่อ Thai USA Group; Consulting, Accounting & Taxes Planning องค์กรของคนไทยที่ให้ความช่วยเหลือและคำปรึกษาเกี่ยวกับการวางแผนภาษีแก่คนไทยในสหรัฐอเมริกาเพื่อสอบถามเกี่ยวกับนโยบายภาษีและการเกษียณของสหรัฐฯ ผู้แทนองค์กรอธิบายว่า ที่นี่ หน่วยงานจัดเก็บภาษีจะเป็นผู้ดูแลเรื่องการจ่ายภาษีและให้คำปรึกษาเกี่ยวกับแผนการเกษียณของประชาชน โดยหน่วยงานดังกล่าวได้รวบรวมรูปแบบแผนการเกษียณหลากหลายแผนให้ประชาชนได้ศึกษาบนเว็บไซต์ สิ่งหนึ่งที่คนอเมริกามีและรู้อยู่แล้วคือ หน่วยงานนี้มีบัญชีเงินฝากสำหรับเกษียณให้ซึ่งเป็นเงินสะสมจากบริษัทที่ว่าจ้าง บุคคลเจ้าของบัญชี และรัฐ 

ไม่เพียงเท่านั้น ธนาคารต่างๆ ยังมีสินเชื่อเงินกู้สำหรับคนชราที่ไม่ลูกหลานได้เลือกเพื่อการเกษียณ สินเชื่อดังกล่าวจะให้คนชรามอบที่ดินและบ้านที่มีอยู่ให้กับธนาคารหลังจากเสียชีวิตแลกกับเงินเดือนที่ธนาคารจะให้ตามมูลค่าของสินทรัพย์หลังประเมินแล้ว 

อย่างไรก็ตามผู้แทนจาก Thai USA Group บอกว่าการชี้แจงรายละเอียดทั้งหมดยังเป็นเรื่องยากและต้องใช้เวลาถึงหลายวันเพราะอเมริกามีช่องทางที่หลากหลาย

ฝรั่งเศสก็เป็นประเทศที่มีสวัสดิการช่วยเหลือทั้งพลเมืองฝรั่งเศสและชาวต่างชาติที่มาทำงาน รวมถึงมาอยู่อาศัยในฝรั่งเศส ทำให้ชีวิตวัยเกษียณเป็นช่วงชีวิตที่สุขสบาย เด่นดวง ทองสมบุญ เจ้าของร้านอาหารในฝรั่งเศสวัย 44 ปี เล่าว่า “สวัสดิการในฝรั่งเศสเป็นอะไรที่ดีมาก โดยเฉพาะช่วงเกษียณหรือการรักษาพยาบาล ในการรักษาพยาบาล รัฐจะออกให้เราร้อยละ 70 เมื่อรวมกับประกันที่เราทำ เท่ากับว่าเราจะไม่ต้องจ่ายค่ารักษาพยาบาลเลย คนที่นี่จึงมักไปโรงพยาบาลกันประจำเมื่อป่วย ซึ่งมันทำให้คนที่นี่มีอายุยืนยาว แต่ก็เป็นอายุยืนยาวที่มีคุณภาพนะ เพราะว่าเมื่อเราเกษียณ มีตั้งแต่ 55 ปีและ 60 ปีแล้วแต่อาชีพ รัฐจะจ่ายเงินเดือนให้เราประมาณร้อยละ 80 ของเงินเดือน”

เด่นดวงยังเล่าเพิ่มเติมอีกว่า “ถ้าเราทำงานครบจนถึงวัยเกษียณทำให้เรามีเงินใช้ตลอด เมื่อเราแก่ บ้านพักคนชราเองก็ได้รับการสนับสนุนจากท้องถิ่นทุกพื้นที่ คนแก่ที่ไม่มีครอบครัวจึงไม่ได้ใช้ชีวิตลำบากเลยแม้แต่นิดเดียว มันก็ต้องแลกมาด้วยภาษีที่จ่ายค่อนข้างหนัก แต่คุ้มค่าเพราะเราสามารถฝากแผนการเงินในชีวิตไว้กับรัฐได้ ไม่จำเป็นต้องห่วงว่าเราจะมีปัญหาจากการใช้จ่ายเงินก้อนโตเป็นค่ารักษาพยาบาลหรือไม่มีเงินใช้ในวัยเกษียณ” 

นอกจากนี้ ยังมีตัวอย่างที่น่าสนใจของญี่ปุ่นซึ่งมีประชากรสูงอายุมากถึงร้อยละ 27 ของประชากรทั้งประเทศและมีอัตราส่วนประชากรผู้สูงอายุเยอะที่สุดในโลก วิน พรหมแพทย์ นักธุรกิจเจ้าของเฟซบุ๊กแฟนเพจ Invest Like A Pro เขียนเล่านโยบายการช่วยเหลือคนชราของรัฐไว้ว่า จากการคาดการณ์ว่าจำนวนคนชราในญี่ปุ่นจะสูงขึ้นเรื่อยๆ จนถึงร้อยละ 40 ของประชากรทั้งประเทศ บริษัทเอกชนหลายแห่งจึงเริ่มโครงการบ้านพักคนชราเพื่อรองรับจำนวนคนชราที่มากขึ้น โดยค่าใช้บริการบ้านพักคนชราในญี่ปุ่นเมื่อคำนวณเป็นเงินไทยอยู่ที่ 30,000 บาทต่อเดือน เมื่อพิจารณาตามรายได้และค่าครองชีพพื้นฐานของญี่ปุ่นเป็นราคาที่ไม่แพงจนเกินไป 

อย่างไรก็ตาม ญี่ปุ่นมองว่าคนชราไม่ได้มีรายได้ประจำเป็นของตัวเองแล้ว เพื่อแบ่งเบาภาระในการจ่ายเงินส่วนดังกล่าว รัฐจึงมีนโยบายช่วยเหลือคนชราที่อาศัยในบ้านพักคนชราต่อคนในอัตราร้อยละ 40 ของค่าใช้จ่ายจริง

เมื่อมองกลับมาที่ประเทศไทย การสนับสนุนจากรัฐในส่วนของบ้านพักคนชราหรือการเกษียณอายุคงเป็นไปได้ยาก เมื่อพิจารณาจากเบี้ยเลี้ยงผู้สูงอายุเดือนละ 3,000 บาท ที่ไม่เพียงพอต่อการใช้ชีวิตไม่ว่าจะอาศัยในบ้านเรือนของตัวเองหรือบ้านพักคนชรา รวมกับการช่วยเหลือของกรมกิจการผู้สูงอายุที่หางานกับคนชราได้เพียงร้อยละ 0.6 ของคนชราทั้งประเทศ ในปัจจุบันนี้คนชราในไทยจึงต้องพึ่งพาตัวเองและครอบครัวในช่วงวัยเกษียณและคนรุ่นใหม่เองก็จำเป็นต้องวางแผนการเกษียณเพื่อไม่เป็นภาระของใครเมื่อตนเองแก่เฒ่า

ยังต้องจับตามองกันต่อไปว่า เมื่อสังคมไทยก้าวเข้าสู่สังคมสูงอายุโดยสมบูรณ์ ด้วยการคาดการณ์ว่าจะมีอัตราส่วนผู้สูงอายุมากถึงร้องละ 31.28 ของประชากรทั้งหมดหรือคิดเป็นจำนวน 20.42 ล้านคนในเวลา 20 ปี รัฐบาลไทยจะมีนโยบายในการช่วยเหลือภาระทางการเงินของผู้สูงอายุที่ไม่สามารถหาเงินเลี้ยงชีพได้อย่างไร หรือจะปล่อยให้เป็นความรับผิดชอบของประชาชนที่จะต้องวางแผนการเกษียณอายุและพึ่งพาลูกหลานในครอบครัวเหมือนอย่างทุกวันนี้

%d bloggers like this: