เรื่อง: วโรดม เตชศรีสุธี และ จิรัชยา ปุญญฤทธิ์
ภาพ: จิรัชยา ปุญญฤทธิ์ และ สิทธิเดช มั่นทอง
หมายเหตุ : บทความมีการใช้นามสมมติเพื่อรักษาความปลอดภัยของแหล่งข่าว
“เวลามีงานประกวดวาดภาพอะไรก็ต้องไปทำ อย่างน้อยในหนึ่งอาทิตย์ต้องมีสักงาน ซ้อมทั้งช่วงพักกลางวันและหลังเลิกเรียน ในตอนนั้นศิลปะคือการวาดภาพตามลายเส้นที่ครูร่างไว้ให้ และระบายสีตามที่เขาใช้สีชอล์กกากบาท รอยสีฟ้าคือระบายสีฟ้า รอยสีเทาก็ระบายสีเทา เราไม่รู้ความหมายของภาพ เราไม่รู้ความหมายของสี ไม่รู้สึกอะไรเลยกับสิ่งๆ นี้ งานที่ประกวดอาจได้รางวัลมากมาย แต่ทุกงานคืองานของครู ไม่ใช่งานของเรา”
พิชชาภา หวังประเสริฐกุล นิสิตชั้นปี 4 คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงประสบการณ์การฝึกวาดภาพที่เธอและเพื่อนๆ ต้องเข้าร่วมในสมัยประถมศึกษา ซึ่งพิชชาภาเสริมว่า การวาดเส้นและระบายสีตามคำบอกของครูไม่ได้เกิดขึ้นเพียงตอนฝึกฝนเท่านั้น แต่ในการประกวดที่ให้ผู้แข่งขันส่งผลงานไปทางไปรษณีย์ หรือที่เรียกว่า การประกวดแบบ “แห้ง” ก็มีกระบวนการผลิตผลงานโดยครูศิลปะอยู่เบื้องหลังเกือบทั้งภาพ ซึ่งครูจะทำหน้าที่จัดวางองค์ประกอบภาพและเลือกใช้สัญลักษณ์โดยอ้างอิงจากงานประกวดที่ชนะเลิศในปีก่อน
“บางภาพคือลอกใครก็ไม่รู้มา เปลี่ยนแค่สีผิวเด็กในภาพก็ได้รางวัล” พิชชาภากล่าว
ศิลปะจัดสรร : เครื่องการันตีรางวัลของครู
การแข่งขันประกวดวาดภาพแบ่งออกเป็นสองประเภท คือการประกวดวาดภาพในสถานที่จัดงานภายในระยะเวลาที่กำหนด หรือที่เรียกกันว่าการประกวดแบบ “สด” และการประกวดแบบแห้ง
พิชชาภาเล่าประสบการณ์ให้ฟังว่า ถึงแม้การประกวดแบบสดบางรายการจะทราบหัวข้อ ณ ที่จัดงานพร้อมกันทุกโรงเรียน แต่ก่อนเริ่มการแข่งขัน ครูศิลปะของเธอจะเรียกรวมตัวนักเรียน เพื่อสรุปรายการสิ่งที่ต้องวาดและการจัดองค์ประกอบภาพให้กับเด็กทีละคน หากเป็นการประกวดแบบสดที่ทราบหัวข้อตั้งแต่ต้น ครูจะทำการร่างภาพที่จัดองค์ประกอบไว้หลายแบบ จากนั้นจะให้นักเรียนเลือกภาพที่อยากวาด หรือครูเป็นผู้เลือกให้ตามดุลพินิจ “บางครั้งก็ใช้เกณฑ์ใครมาก่อนเลือกก่อน แต่บางครั้งก็เลือกภาพดีๆ ให้กับเด็กที่ช่วงนี้ไม่ค่อยได้รางวัล เด็กคนนั้นจะได้ไม่เสียใจ” เธอนึกถึงเรื่องที่เคยเกิดขึ้นเมื่อครั้งยังเรียนอยู่ชั้นประถมศึกษา
ครูช่วยนักเรียนวาดภาพเหมือนของสถานที่ที่นักเรียนเลือก
ด้าน น้ำทิพย์ (นามสมมติ) นิสิตชั้นปี 4 คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เล่าว่า มีหลายครั้งที่ครูศิลปะมักจะให้นักเรียนฝึกวาดภาพหัวข้อที่เขาคิดว่าจะใช้ในการประกวดเผื่อไว้ แต่โดยมากก็มักเป็นหัวข้อที่ตรงกับการแข่งขันจริง นอกจากนี้ ครูศิลปะยังแนะนำให้เข้าห้องน้ำเมื่อคิดไม่ออกว่าจะวาดอะไรลงไปบนกระดาษ เพราะนอกจากการเดินจะช่วยทำให้สมองปลอดโปร่งแล้ว ยังสามารถดูผู้เข้าประกวดคนอื่นได้ด้วย
นอกจากนี้ ภาพที่มักได้รางวัลยังมีรูปแบบคล้ายเดิม มีการจัดวางองค์ประกอบ และใช้สัญลักษณ์สื่อความหมายแบบเดิม จนกลายเป็นการแข่งขันเพื่อผลิตภาพให้ตรงใจกรรมการ ซึ่งน้ำทิพย์เผยว่า แม้จะอยากวาดภาพตามจินตนาการ แต่ครูมักจะพูดหว่านล้อมให้นักเรียนคิดว่า พวกเขาไม่สามารถชนะการประกวดได้ด้วยตนเอง จึงเป็นสาเหตุให้การฝึกวาดภาพแบบเดิมยังคงอยู่ สิ่งสำคัญคือเรื่องไม่ปกตินี้ ถูกพยายามทำให้เป็นปกติ โดยการยืนยันว่า โรงเรียนอื่นก็ทำเช่นเดียวกับโรงเรียนของเธอ
“ถ้าโรงเรียนไหนไม่มีรูปที่มันต้องมี หรือทำอะไรผิดแปลกไปจากรูปแบบเดิม ก็จะถูกมองว่าโรงเรียนเหล่านั้นคงไม่ใช่โรงเรียนสายประกวด หรือครูศิลปะของเขายังไม่แกร่งกล้าพอ” น้ำทิพย์อธิบาย ขณะที่ เจตวิภา บุรณเวช ครูหมวดออกแบบและเทคโนโลยี วชิราวุธวิทยาลัย เล่าประสบการณ์เพิ่มเติมในฐานะครูศิลปะและในฐานะแม่ว่า บางการแข่งขันที่เธอคิดว่ามีการกำหนดผู้ชนะมาแล้ว เธอจะไม่ส่งลูกเข้าประกวด เพราะเมื่อประกาศผลงานที่ชนะก็มักจะเห็นว่าเป็นงานรูปแบบเดิม “เขารู้ว่ากรรมการต้องการภาพแบบไหน เด็กก็ไปดูสไตล์ของกรรมการ แล้วทำงานป้อนกรรมการเพื่อเอารางวัล”
หัวข้อไม่เคยเปลี่ยนไป สัญลักษณ์ที่ใช้ไม่เคยเปลี่ยนแปลง
“เราวาดสัญลักษณ์ของรัชกาลที่ 9 ได้ตั้งแต่เด็กแล้ว วาดได้แบบไม่ต้องดูเลย” พิชชาภาหยิบกระดาษออกมาวาดสัญลักษณ์ดังกล่าวให้ดูทันที เธอเล่าว่า งานประกวดเนื่องในโอกาสวันพ่อและวันแม่ของหลายองค์กรมักบังคับทั้งทางตรงและทางอ้อมให้วาดสัญลักษณ์ หรือพระพักตร์ของในหลวง พระราชินี เพื่อให้เห็นว่าองค์กรเหล่านั้นเชิดชูสถาบัน เช่นเดียวกับน้ำทิพย์ที่แสดงความเห็นว่า “อย่างน้อยถ้าวาดท่านสวยก็ต้องได้สักรางวัล”
พิชชาภาเล่าว่า การแข่งขันประกวดวาดภาพโดยองค์กรภาครัฐและเอกชนเป็นการใช้โฆษณาชวนเชื่อทำให้องค์กรดูดี “ขึ้นชื่อว่าเป็นศิลปะแต่ไม่มีอิสระ ศิลปะควรเปิดโอกาสให้คนตีความ เพราะมันไม่ใช่การโฆษณาชวนเชื่อ เราเคยเดินไปหอศิลป์เห็นงานที่ได้รางวัลของซีพี มันเป็นภาพวาดชาวนาใส่งอบ มีตราสัญลักษณ์ซีพีติดอยู่บนงอบ ชาวนายิ้มอย่างมีความสุข ถามจริงๆ ว่าชาวนามีความสุขแน่หรือ?”
ไม่ต่างจากความเห็นของ กัญญาภัค เลาหศรีสกุล ครูศิลปะและอดีตนักเรียนในวงการประกวดภาพวาด เธอวิจารณ์วงการประกวดศิลปะเด็กว่า ขีดกรอบให้เด็กวาดแต่สิ่งเดิมๆ โดยหัวข้อที่เจอบ่อยที่สุดคือ เทิดไท้องค์ราชัน สดุดีองค์มหาราชินี ไทยร่วมใจสามัคคี และเศรษฐกิจพอเพียง “ถึงหัวข้อจะเปลี่ยนเป็นการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม หรืออนุรักษ์วัฒนธรรมไทย แต่ชีวิตประจำวันของคนไทยก็ต้องมีสัญลักษณ์เทิดไท้องค์ราชันเหมือนเดิม” กัญญาภัคทิ้งท้าย
ด้านครูศิลปะอย่างเจตวิภาให้ความเห็นว่า สัญลักษณ์ในการประกวดมาพร้อมกับหัวข้อที่แต่ละองค์กรกำหนดไว้ ทั้งการประกวดหัวข้อเทิดไท้องค์ราชัน หรือแม้กระทั่งหัวข้อวันพ่อก็มักถูกตีกรอบให้ผู้เข้าแข่งขันรู้ว่า ต้องมีพระพักตร์หรือสัญลักษณ์ประจำพระองค์ “เพราะมันโดนระบุมาในใบโจทย์แล้วว่าต้องมีสัญลักษณ์ ถ้าคุณจะไม่วาดก็ได้ แต่เขาไม่เลือก ส่วนการจะไม่มีหัวข้อก็อาจทำได้ เช่น การประกวดของบริษัทเพนเทล (ประเทศไทย) จำกัด ที่ให้อิสระเด็กได้คิดและวาด แต่การมีหัวข้อก็ช่วยให้คณะกรรมการทำงานได้ง่ายขึ้น จะให้ดีคือองค์กรต้องคิดหัวข้อใหม่ๆ บ้าง หรือหาหัวข้อที่สามารถให้เด็กพัฒนาจินตนาการของเขาได้อย่างเสรี”
เด็กนักเรียนวาดภาพในหัวข้อ สถานที่ท่องเที่ยวที่แสดงถึงศิลปะไทยและต่างชาติ
วิภาช ภูริชานนท์ อาจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร แสดงความเห็นว่า การกำหนดหัวข้อเป็นการกำหนดความคิด-ความเชื่อของผู้เข้าประกวดมากกว่าการผลักดันให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ ประกอบกับการตีความภาษาด้วยแนวคิดที่ถูกปลูกฝังมา เมื่อได้รับหัวข้อจึงตีความเหมือนเดิม “อย่างหัวข้อวันพ่อก็รู้เลยว่าต้องวาดอะไร” วิภาชยกตัวอย่าง
ทางด้าน ธีรดา จงกลรัตนาภรณ์ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ประจำภาควิชาการประชาสัมพันธ์ คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อธิบายการใช้สัญลักษณ์ในงานประชาสัมพันธ์องค์กรว่า การประกวดวาดภาพเป็นงานที่จัดขึ้นเพื่อสร้างภาพลักษณ์และภาพจำ จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่จะมีการแทรกสัญลักษณ์เข้าไปในภาพ ส่วนข้อสังเกตที่ว่า องค์กรมักจัดการประกวดที่ใช้หัวข้อเชิดชูสถาบัน ถือเป็นเรื่องความเป็นอยู่ขององค์กร “น้อยมากที่องค์กรจะจัดการประกวดเพราะเห็นว่าศิลปะสำคัญ” ธีรดาทิ้งท้าย
Headache Stencil ศิลปินอิสระ แสดงความคิดเห็นและเสนอให้แต่ละองค์กรจัดวัตถุประสงค์และหัวข้อให้ชัดเจน เพื่อไม่ให้เด็กเกิดความสับสนในการสร้างสรรค์ผลงาน
“ถ้าวันพ่อไม่ได้วาดภาพพ่อตัวเองก็ไม่ควรเป็นหัวข้อวันพ่อ ควรจะเป็นหัวข้อในการวาดภาพกษัตริย์ จริงๆ การวาดภาพวันพ่อควรมีวัตถุประสงค์ให้เด็กได้สื่อสารถึงพ่อของเขาเอง”
Headache Stencil ศิลปินอิสระ
จากการเก็บสถิติหัวข้อที่ใช้ในการประกวดวาดภาพในระดับต่างๆ ตั้งแต่ปี 2548-2562 จำนวนทั้งสิ้น 428 รายการพบว่า หัวข้อที่ได้รับความนิยมสูงสุดคือ “สถาบันกษัตริย์” มีจำนวน 79 รายการ หรือร้อยละ 18 อันดับต่อมาคือ “สิ่งแวดล้อม” มีจำนวน 72 รายการ คิดเป็นร้อยละ 17 และอันดับสามคือ หัวข้อที่เกี่ยวกับ “การประชาสัมพันธ์องค์กร” มีจำนวน 58 รายการ คิดเป็นร้อยละ 14 ของจำนวนชิ้นงานทั้งหมด
สถิติหัวข้อที่ใช้ในการประกวดวาดภาพในระดับชั้นต่างๆ ตั้งแต่ปี 2549-2562
โล่ เงิน ถ้วยรางวัล : ความย้อนแย้งของศิลปะในโรงเรียน
การเข้าร่วมการประกวดวาดภาพสามารถส่งได้ทั้งในนามบุคคล กลุ่ม หรือสถาบันการศึกษา แต่บางกรณีการส่งในนามบุคคลก็ถูกโรงเรียนขอคืนเงินและถ้วยรางวัลที่นักเรียนผู้ทำผลงานได้รับมา
พิชชาภาให้ข้อมูลว่า หากเงินรางวัลเกิน 1,000 บาท ครูศิลปะจะได้รับส่วนแบ่งร้อยละ 20 ซึ่งเธอไม่แน่ใจว่า เป็นส่วนแบ่งค่าอุปกรณ์หรือไม่ แต่สถานการณ์ในตอนนั้นถือเป็นการแลกเปลี่ยนในเชิงธุรกิจ
ขณะที่น้ำทิพย์ให้ความเห็นเกี่ยวกับกรณีนี้ว่า เงินคือแรงจูงใจสำคัญที่ทำให้เด็กรู้สึกดีเมื่อได้รางวัล และผู้ใหญ่เองก็รู้สึกพอใจ จึงไม่แปลกที่จะเกิดการยอมรับความช่วยเหลือจากครู ทั้งด้านการคิด การร่างภาพ และการลงสี
“ฉันยอมรับว่า ตอนนั้นต้องการเงิน เงินถือเป็นแรงจูงใจอย่างหนึ่ง ความต้องการของเราตรงนี้เลยกลายเป็นการสร้างชื่อเสียงให้ครูศิลปะเช่นเดียวกัน ถามว่ามันถูกต้องไหม จริงๆ มันไม่ถูก แต่วงการนี้ทำให้กลายเป็นเรื่องปกติไปแล้ว”
น้ำทิพย์ นิสิตชั้นปี 4 คณะนิติศาสตร์ จุฬาฯ
ส่วนกัญญาภัคเล่าประสบการณ์ว่า ที่โรงเรียนของเธอ อุปกรณ์ทุกอย่างคือรายจ่ายของนักเรียน ไม่ว่าจะเป็นกระดาน กระดาษ หรือสี แต่เมื่อเธอประกวดได้รางวัลมา อาจารย์กลับเอารางวัลบางอย่างของเธอไป เช่น โล่ เหลือให้เธอเพียงประกาศนียบัตร นอกจากนี้เงินที่ได้จากการประกวดยังถูกหักให้อาจารย์ถึงร้อยละ 70 ของเงินทั้งหมด ส่วนตัวเธอได้เพียงร้อยละ 30 เท่านั้น “เราสู้ด้วยตัวเองมาตลอดตั้งแต่ ป.3 จนประกวดชนะครั้งแรกตอน ป.6 อาจารย์ไม่ได้สอนอะไรเราเลย ที่สำคัญคือ เราเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายทั้งหมด เขาไม่ได้เอาแค่รางวัลของเราไป แต่เพื่อนๆ ก็โดนกันหมด เขาทำการประกวดศิลปะเป็นธุรกิจหาเงิน” กัญญาภัคเอ่ย
อุปกรณ์ศิลปะที่ทางโรงเรียนจัดหาให้
ด้านครูศิลปะอย่างเจตวิภาให้ความเห็นว่า หากนักเรียนไปประกวดด้วยตนเอง อาจารย์ไม่มีสิทธิ์เอาเงินรางวัลไป ยกตัวอย่างกรณีที่เธอพาลูกไปแข่งในนามบุคคล รางวัลจะกลับมาเป็นของลูก เพราะทางโรงเรียนไม่ได้ช่วยฝึกซ้อมและอำนวยความสะดวกในการแข่งขัน หรือต่อให้มีการกรอกชื่อสถาบันที่สังกัด แต่ส่งในนามบุคคล โรงเรียนก็ใช้สิทธิ์ยึดเงินไม่ได้เช่นกัน
นอกจากนี้เจตวิภายังอธิบายว่า แต่ละโรงเรียนมีวิธีการไม่เหมือนกัน ยกตัวอย่างเช่นโรงเรียนที่เธอประจำอยู่ หากนักเรียนได้รางวัล ตามธรรมเนียมจะให้ผู้บังคับการ (ผู้อำนวยการ) ทำพิธีมอบอีกครั้ง เพื่อให้รู้ว่ามีการส่งนักเรียนไปแข่งขันวาดภาพ ถ้าหากรางวัลเป็นเงิน นักเรียนจะคืนให้ผู้บังคับการ ในส่วนนี้แล้วแต่ดุลพินิจของผู้บังคับการว่าจะนำเงินเข้าโรงเรียนหรือไม่ เนื่องจากกระบวนการในการจัดการแข่งทั้งหมดนั้นโรงเรียนเป็นผู้สนับสนุน เช่น ค่ารถพาไปแข่ง ค่าอาหารว่าง ค่าอุปกรณ์การฝึก โดยที่นักเรียนไม่ต้องออกเงิน แต่หากพิจารณาแล้วว่า ทางโรงเรียนต้องการเพียงถ้วยรางวัล ก็จะมีการคืนเงินให้นักเรียน
แม่กุญแจแห่งการจองจำ
จากปัญหาของวงการประกวดวาดภาพเด็ก สะท้อนให้เห็นว่า ส่วนหนึ่งเป็นผลสืบเนื่องมาจากการฝึกฝนศิลปะในโรงเรียน พิชชาภาซึ่งเคยเป็นหนึ่งในผู้เดินสายประกวด เพื่อสะสมผลงานในการสอบเข้าชั้นมัธยมศึกษาเล่าว่า เธอต้องวาดภาพตามที่ครูศิลปะบอกเท่านั้น ผลที่ตามมาคือสภาพจิตใจที่ย่ำแย่และการตั้งคำถามว่า “ทำไมเราถึงวาดในสิ่งที่เราอยากวาดไม่ได้?”
สถานการณ์เดียวกันนี้เกิดขึ้นกับเพื่อนของพิชชาภาด้วย และถึงแม้ผู้ปกครองจะทราบเรื่อง แต่การเก็บสะสมผลงานเพื่ออนาคตดูจะเป็นสิ่งสำคัญกว่า “มีบางครั้งที่ต้องส่งงานประกวด พ่อกับแม่เนี่ยแหละที่มาช่วยกันลงสีตามที่ครูบอก” นอกจากนี้พิชชาภายังเอ่ยถึงเพื่อนที่เคยร่วมงานประกวดด้วยกันว่า มีเพื่อนสามคนที่เลิกวาดภาพโดยปริยาย ส่วนอีกคนยังวาดบ้าง แต่น้อยลงทุกที
“การบีบบังคับให้เด็กวาดตามที่ผู้ใหญ่ต้องการเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง ถ้าวัดตามตำราของจิตวิทยาพัฒนาการ ในช่วงวัยเด็กตอนต้น เด็กจะวาดอะไรไม่ได้มาก พอถึงขั้นก่อนมีแบบแผนเขาจึงเริ่มวาดโดยใช้รูปเรขาคณิตมาต่อกัน การวาดสั้นวาดยาวขึ้นอยู่กับร่างกายและกล้ามเนื้อมือของเด็ก แต่ปัญหาคือผู้ใหญ่มักติดภาพแบบเหมือนจริง ซึ่งอยู่ในศิลปะขั้นสุดท้ายคือ ขั้นมีเหตุผล แต่เด็กในช่วงอายุ 9-11 ปี เขายังไปไม่ถึงขั้นเหมือนจริง”
พชร วังมี อาจารย์แนะแนว โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา อธิบายเพิ่มเติมว่า การขีดเขียนของเด็กที่เริ่มใช้กล้ามเนื้อมัดเล็กล้วนมีความหมายตามระดับสติปัญญา แต่ผู้ใหญ่มักมองไปที่ความเหมือนจริงในการตัดสินผลงานของเด็ก จนเร่งให้เกิดพัฒนาการที่ก้าวกระโดด ซึ่งการควบคุมการแสดงออกเช่นนี้อาจส่งผลให้เกิดแรงจูงใจในทางลบต่อศิลปะและทำให้เด็กขาดความมั่นใจในการใช้ชีวิต
ภาพวาดสถานที่ตามสัดส่วนจริงของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 ในวิชาศิลปะ
พชรยังแนะนำว่า ช่วงเวลาสำคัญในการปลูกฝังความรักศิลปะของเด็กอยู่ตั้งแต่ช่วงชั้นประถมศึกษาถึงระดับมัธยมศึกษาปีที่ 1 ดังนั้นบทบาทของครูศิลปะในช่วงดังกล่าวจึงมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง แต่ในบางกรณี ครูกลับใช้นักเรียนเป็นเครื่องมือในการสร้างชื่อเสียงและผลงาน ทั้งยังใช้อำนาจในการกำหนดความงามแทนการกระตุ้นความเจริญงอกงามทางศิลปะอย่างที่ควร
ทั้งนี้ พชรในฐานะอาจารย์ได้ทิ้งท้ายว่า ระบบประเมินครูจากกระทรวงศึกษาธิการถือเป็นอีกส่วนที่บังคับให้ครูต้องทำผลงานนอกเหนือจากการสอน ซึ่งส่งผลในทางตรงกันข้ามกับพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 หมวด 4 แนวทางการจัดการศึกษา มาตรา 22 ที่ระบุว่า “การจัดการศึกษาต้องยึดหลักว่าผู้เรียนทุกคนมีความสามารถเรียนรู้และพัฒนาตนเองได้ และถือว่าผู้เรียนมีความสำคัญที่สุด กระบวนการจัดการศึกษาต้องส่งเสริมให้ผู้เรียนสามารถพัฒนาตามธรรมชาติและเต็มตามศักยภาพ”
ขอฝันใฝ่ในอิสระอันเหลือเชื่อ
จากประเด็น “ศิลปะไร้อิสระ” ในวงการประกวดวาดภาพ นำไปสู่เบื้องหลังของ “ระบบการศึกษา” ที่พันธนาการนักเรียนไว้ด้วยผลการเรียน ทั้งยังเร่งพัฒนาศักยภาพด้านศิลปะอย่างก้าวกระโดด ส่งผลให้เกิดบาดแผลภายในจิตใจของเด็ก สิ่งเหล่านี้เองกลายเป็นต้นตอของปัญหาเชิงโครงสร้างที่หยั่งรากลึกลงไปถึง “ทัศนคติ” ทำให้ศิลปะตกอยู่ใต้วาทกรรมของ “ความสวยงาม” ทั้งยังไม่ได้ทำหน้าที่ถ่ายทอดอารมณ์อย่าง “อิสระ” อย่างที่ใครคาดหวังให้ศิลปะเป็น
“สิ่งที่เกิดขึ้นในประเทศไทยคือ ศิลปะไม่อิสระ และศิลปะถูกนำไปผูกรวมกับพาณิชย์ ทั้งที่ศิลปะเป็นการระบาย เป็นการแสดงความรู้สึก เพราะมันคือสิ่งที่เกิดขึ้นในใจเรา สิ่งที่ต้องเปลี่ยนคงเป็นทัศนคติของคนดูงานศิลปะและคนในวงการที่ทำให้เกิดการผลิตซ้ำวาทกรรมและความคิดที่บิดเบี้ยวออกมา”
พิชชาภา
เช่นเดียวกับเจตวิภาที่สนับสนุนว่า ศิลปะสามารถแสดงออกในรูปแบบใดก็ได้อย่างมีอิสระ “ไม่ว่ามันจะสะท้อนความสะเทือนอารมณ์ ความอ่อนแอ ความรันทด ความน่ารังเกียจ เป็นแค่รอยขีด หรือภาพคนแทงกัน หรือภาพศพ ซึ่งอย่างหลังแปลว่ามันไม่สวย แต่สุดท้ายมันคือ ศิลปะที่เปิดกว้างและเป็นอะไรก็ได้” เจตวิภายังสนับสนุนให้ทุกโรงเรียนมีวิชาศิลปะ เพราะเธอเชื่อมั่นว่า ศิลปะคือช่องทางในการระบายออกของเด็ก และทำให้เด็กเกิดความคิดสร้างสรรค์
ส่วนน้ำทิพย์แสดงความเห็นว่า ปัญหาเชิงโครงสร้างต้องเริ่มแก้ไขจากการนำศิลปะออกจากระบบการให้เกรด “เด็กบางคนมีความคิดสร้างสรรค์ที่เขาไม่รู้จะสื่อยังไง สุดท้ายเพราะเขาโดนเกรดมาเป็นตัวกำหนด เขาจึงต้องไปจ้างคนอื่นเพื่อให้ได้เกรดดี เรื่องนี้เกิดจากการที่อาจารย์มีมาตรฐานของอาจารย์เอง เราว่า อาจารย์ไม่ควรตีคุณค่าทางศิลปะเป็นเกรด เด็กบางคนเขาตั้งใจวาดรูป แต่ได้เกรดน้อยเขาก็เศร้านะ มันควรมีแค่ผ่านหรือไม่ผ่าน ถ้าไม่ผ่านก็คือเด็กที่ไม่ยอมทำงานส่ง หรือวาดก้างปลาตัวเดียว ดูก็รู้ว่าทำแบบชุ่ยๆ มา”
ด้านกัญญาภัคให้ความสนใจไปที่กระบวนการสอนวิชาศิลปะให้เด็กมีความสุข โดยเธอมุ่งมั่นที่จะเป็นครูเพื่อเปลี่ยนแปลงทัศนคติของคนไทยที่มักคิดว่า ศิลปะต้องสวยงาม “เราอยากทำให้เด็กสามารถวาดรูปได้โดยไม่ต้องคิดว่า ‘หนูวาดไม่สวย’ เราอยากให้เด็กสามารถทำงานที่เอาสีมาปาดๆ แสดงให้เห็นว่าอารมณ์ของเด็กในตอนนี้มันเป็นอย่างไร เราต้องการให้คนมีความสุขกับศิลปะ”
นอกจากนี้ Headache Stencil ยังทิ้งท้ายว่า ครูศิลปะไม่มีสิทธิตัดสินผลงานของเด็ก หากแต่มีหน้าที่สอนให้เด็กรู้วิธีการผลิตงานศิลปะในแขนงต่างๆ เท่านั้น “ศิลปะสร้างความสุนทรีย์ในชีวิตคน และทำให้คนมีความสุขมากขึ้น ดังนั้นศิลปะคือสิ่งที่ใช้เยียวยาจิตใจ แต่ประเทศเราเอาศิลปะไปตีกรอบจนดูแข็งกระด้าง เราจำกัดนิยามของศิลปะสมัยเด็กว่าต้องวาดเหมือนเท่านั้น แต่พอเราโตขึ้น เข้ามหาวิทยาลัย ไปเปิดหนังสือเจอรูปของปิกัสโซ เราก็อุทานว่า ‘อาจารย์เป็นอะไร? แล้วปิกัสโซวาดอะไรออกมา?’ เรื่องนี้จึงสะท้อนว่า มันมีอิสระอยู่ในความหมายของศิลปะอยู่แล้ว”
Like this:
Like Loading...
เรื่อง: วโรดม เตชศรีสุธี และ จิรัชยา ปุญญฤทธิ์
ภาพ: จิรัชยา ปุญญฤทธิ์ และ สิทธิเดช มั่นทอง
หมายเหตุ : บทความมีการใช้นามสมมติเพื่อรักษาความปลอดภัยของแหล่งข่าว
“เวลามีงานประกวดวาดภาพอะไรก็ต้องไปทำ อย่างน้อยในหนึ่งอาทิตย์ต้องมีสักงาน ซ้อมทั้งช่วงพักกลางวันและหลังเลิกเรียน ในตอนนั้นศิลปะคือการวาดภาพตามลายเส้นที่ครูร่างไว้ให้ และระบายสีตามที่เขาใช้สีชอล์กกากบาท รอยสีฟ้าคือระบายสีฟ้า รอยสีเทาก็ระบายสีเทา เราไม่รู้ความหมายของภาพ เราไม่รู้ความหมายของสี ไม่รู้สึกอะไรเลยกับสิ่งๆ นี้ งานที่ประกวดอาจได้รางวัลมากมาย แต่ทุกงานคืองานของครู ไม่ใช่งานของเรา”
พิชชาภา หวังประเสริฐกุล นิสิตชั้นปี 4 คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงประสบการณ์การฝึกวาดภาพที่เธอและเพื่อนๆ ต้องเข้าร่วมในสมัยประถมศึกษา ซึ่งพิชชาภาเสริมว่า การวาดเส้นและระบายสีตามคำบอกของครูไม่ได้เกิดขึ้นเพียงตอนฝึกฝนเท่านั้น แต่ในการประกวดที่ให้ผู้แข่งขันส่งผลงานไปทางไปรษณีย์ หรือที่เรียกว่า การประกวดแบบ “แห้ง” ก็มีกระบวนการผลิตผลงานโดยครูศิลปะอยู่เบื้องหลังเกือบทั้งภาพ ซึ่งครูจะทำหน้าที่จัดวางองค์ประกอบภาพและเลือกใช้สัญลักษณ์โดยอ้างอิงจากงานประกวดที่ชนะเลิศในปีก่อน
“บางภาพคือลอกใครก็ไม่รู้มา เปลี่ยนแค่สีผิวเด็กในภาพก็ได้รางวัล” พิชชาภากล่าว
ศิลปะจัดสรร : เครื่องการันตีรางวัลของครู
การแข่งขันประกวดวาดภาพแบ่งออกเป็นสองประเภท คือการประกวดวาดภาพในสถานที่จัดงานภายในระยะเวลาที่กำหนด หรือที่เรียกกันว่าการประกวดแบบ “สด” และการประกวดแบบแห้ง
พิชชาภาเล่าประสบการณ์ให้ฟังว่า ถึงแม้การประกวดแบบสดบางรายการจะทราบหัวข้อ ณ ที่จัดงานพร้อมกันทุกโรงเรียน แต่ก่อนเริ่มการแข่งขัน ครูศิลปะของเธอจะเรียกรวมตัวนักเรียน เพื่อสรุปรายการสิ่งที่ต้องวาดและการจัดองค์ประกอบภาพให้กับเด็กทีละคน หากเป็นการประกวดแบบสดที่ทราบหัวข้อตั้งแต่ต้น ครูจะทำการร่างภาพที่จัดองค์ประกอบไว้หลายแบบ จากนั้นจะให้นักเรียนเลือกภาพที่อยากวาด หรือครูเป็นผู้เลือกให้ตามดุลพินิจ “บางครั้งก็ใช้เกณฑ์ใครมาก่อนเลือกก่อน แต่บางครั้งก็เลือกภาพดีๆ ให้กับเด็กที่ช่วงนี้ไม่ค่อยได้รางวัล เด็กคนนั้นจะได้ไม่เสียใจ” เธอนึกถึงเรื่องที่เคยเกิดขึ้นเมื่อครั้งยังเรียนอยู่ชั้นประถมศึกษา
ด้าน น้ำทิพย์ (นามสมมติ) นิสิตชั้นปี 4 คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เล่าว่า มีหลายครั้งที่ครูศิลปะมักจะให้นักเรียนฝึกวาดภาพหัวข้อที่เขาคิดว่าจะใช้ในการประกวดเผื่อไว้ แต่โดยมากก็มักเป็นหัวข้อที่ตรงกับการแข่งขันจริง นอกจากนี้ ครูศิลปะยังแนะนำให้เข้าห้องน้ำเมื่อคิดไม่ออกว่าจะวาดอะไรลงไปบนกระดาษ เพราะนอกจากการเดินจะช่วยทำให้สมองปลอดโปร่งแล้ว ยังสามารถดูผู้เข้าประกวดคนอื่นได้ด้วย
นอกจากนี้ ภาพที่มักได้รางวัลยังมีรูปแบบคล้ายเดิม มีการจัดวางองค์ประกอบ และใช้สัญลักษณ์สื่อความหมายแบบเดิม จนกลายเป็นการแข่งขันเพื่อผลิตภาพให้ตรงใจกรรมการ ซึ่งน้ำทิพย์เผยว่า แม้จะอยากวาดภาพตามจินตนาการ แต่ครูมักจะพูดหว่านล้อมให้นักเรียนคิดว่า พวกเขาไม่สามารถชนะการประกวดได้ด้วยตนเอง จึงเป็นสาเหตุให้การฝึกวาดภาพแบบเดิมยังคงอยู่ สิ่งสำคัญคือเรื่องไม่ปกตินี้ ถูกพยายามทำให้เป็นปกติ โดยการยืนยันว่า โรงเรียนอื่นก็ทำเช่นเดียวกับโรงเรียนของเธอ
“ถ้าโรงเรียนไหนไม่มีรูปที่มันต้องมี หรือทำอะไรผิดแปลกไปจากรูปแบบเดิม ก็จะถูกมองว่าโรงเรียนเหล่านั้นคงไม่ใช่โรงเรียนสายประกวด หรือครูศิลปะของเขายังไม่แกร่งกล้าพอ” น้ำทิพย์อธิบาย ขณะที่ เจตวิภา บุรณเวช ครูหมวดออกแบบและเทคโนโลยี วชิราวุธวิทยาลัย เล่าประสบการณ์เพิ่มเติมในฐานะครูศิลปะและในฐานะแม่ว่า บางการแข่งขันที่เธอคิดว่ามีการกำหนดผู้ชนะมาแล้ว เธอจะไม่ส่งลูกเข้าประกวด เพราะเมื่อประกาศผลงานที่ชนะก็มักจะเห็นว่าเป็นงานรูปแบบเดิม “เขารู้ว่ากรรมการต้องการภาพแบบไหน เด็กก็ไปดูสไตล์ของกรรมการ แล้วทำงานป้อนกรรมการเพื่อเอารางวัล”
หัวข้อไม่เคยเปลี่ยนไป สัญลักษณ์ที่ใช้ไม่เคยเปลี่ยนแปลง
“เราวาดสัญลักษณ์ของรัชกาลที่ 9 ได้ตั้งแต่เด็กแล้ว วาดได้แบบไม่ต้องดูเลย” พิชชาภาหยิบกระดาษออกมาวาดสัญลักษณ์ดังกล่าวให้ดูทันที เธอเล่าว่า งานประกวดเนื่องในโอกาสวันพ่อและวันแม่ของหลายองค์กรมักบังคับทั้งทางตรงและทางอ้อมให้วาดสัญลักษณ์ หรือพระพักตร์ของในหลวง พระราชินี เพื่อให้เห็นว่าองค์กรเหล่านั้นเชิดชูสถาบัน เช่นเดียวกับน้ำทิพย์ที่แสดงความเห็นว่า “อย่างน้อยถ้าวาดท่านสวยก็ต้องได้สักรางวัล”
พิชชาภาเล่าว่า การแข่งขันประกวดวาดภาพโดยองค์กรภาครัฐและเอกชนเป็นการใช้โฆษณาชวนเชื่อทำให้องค์กรดูดี “ขึ้นชื่อว่าเป็นศิลปะแต่ไม่มีอิสระ ศิลปะควรเปิดโอกาสให้คนตีความ เพราะมันไม่ใช่การโฆษณาชวนเชื่อ เราเคยเดินไปหอศิลป์เห็นงานที่ได้รางวัลของซีพี มันเป็นภาพวาดชาวนาใส่งอบ มีตราสัญลักษณ์ซีพีติดอยู่บนงอบ ชาวนายิ้มอย่างมีความสุข ถามจริงๆ ว่าชาวนามีความสุขแน่หรือ?”
ไม่ต่างจากความเห็นของ กัญญาภัค เลาหศรีสกุล ครูศิลปะและอดีตนักเรียนในวงการประกวดภาพวาด เธอวิจารณ์วงการประกวดศิลปะเด็กว่า ขีดกรอบให้เด็กวาดแต่สิ่งเดิมๆ โดยหัวข้อที่เจอบ่อยที่สุดคือ เทิดไท้องค์ราชัน สดุดีองค์มหาราชินี ไทยร่วมใจสามัคคี และเศรษฐกิจพอเพียง “ถึงหัวข้อจะเปลี่ยนเป็นการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม หรืออนุรักษ์วัฒนธรรมไทย แต่ชีวิตประจำวันของคนไทยก็ต้องมีสัญลักษณ์เทิดไท้องค์ราชันเหมือนเดิม” กัญญาภัคทิ้งท้าย
ด้านครูศิลปะอย่างเจตวิภาให้ความเห็นว่า สัญลักษณ์ในการประกวดมาพร้อมกับหัวข้อที่แต่ละองค์กรกำหนดไว้ ทั้งการประกวดหัวข้อเทิดไท้องค์ราชัน หรือแม้กระทั่งหัวข้อวันพ่อก็มักถูกตีกรอบให้ผู้เข้าแข่งขันรู้ว่า ต้องมีพระพักตร์หรือสัญลักษณ์ประจำพระองค์ “เพราะมันโดนระบุมาในใบโจทย์แล้วว่าต้องมีสัญลักษณ์ ถ้าคุณจะไม่วาดก็ได้ แต่เขาไม่เลือก ส่วนการจะไม่มีหัวข้อก็อาจทำได้ เช่น การประกวดของบริษัทเพนเทล (ประเทศไทย) จำกัด ที่ให้อิสระเด็กได้คิดและวาด แต่การมีหัวข้อก็ช่วยให้คณะกรรมการทำงานได้ง่ายขึ้น จะให้ดีคือองค์กรต้องคิดหัวข้อใหม่ๆ บ้าง หรือหาหัวข้อที่สามารถให้เด็กพัฒนาจินตนาการของเขาได้อย่างเสรี”
วิภาช ภูริชานนท์ อาจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร แสดงความเห็นว่า การกำหนดหัวข้อเป็นการกำหนดความคิด-ความเชื่อของผู้เข้าประกวดมากกว่าการผลักดันให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ ประกอบกับการตีความภาษาด้วยแนวคิดที่ถูกปลูกฝังมา เมื่อได้รับหัวข้อจึงตีความเหมือนเดิม “อย่างหัวข้อวันพ่อก็รู้เลยว่าต้องวาดอะไร” วิภาชยกตัวอย่าง
ทางด้าน ธีรดา จงกลรัตนาภรณ์ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ประจำภาควิชาการประชาสัมพันธ์ คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อธิบายการใช้สัญลักษณ์ในงานประชาสัมพันธ์องค์กรว่า การประกวดวาดภาพเป็นงานที่จัดขึ้นเพื่อสร้างภาพลักษณ์และภาพจำ จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่จะมีการแทรกสัญลักษณ์เข้าไปในภาพ ส่วนข้อสังเกตที่ว่า องค์กรมักจัดการประกวดที่ใช้หัวข้อเชิดชูสถาบัน ถือเป็นเรื่องความเป็นอยู่ขององค์กร “น้อยมากที่องค์กรจะจัดการประกวดเพราะเห็นว่าศิลปะสำคัญ” ธีรดาทิ้งท้าย
Headache Stencil ศิลปินอิสระ แสดงความคิดเห็นและเสนอให้แต่ละองค์กรจัดวัตถุประสงค์และหัวข้อให้ชัดเจน เพื่อไม่ให้เด็กเกิดความสับสนในการสร้างสรรค์ผลงาน
จากการเก็บสถิติหัวข้อที่ใช้ในการประกวดวาดภาพในระดับต่างๆ ตั้งแต่ปี 2548-2562 จำนวนทั้งสิ้น 428 รายการพบว่า หัวข้อที่ได้รับความนิยมสูงสุดคือ “สถาบันกษัตริย์” มีจำนวน 79 รายการ หรือร้อยละ 18 อันดับต่อมาคือ “สิ่งแวดล้อม” มีจำนวน 72 รายการ คิดเป็นร้อยละ 17 และอันดับสามคือ หัวข้อที่เกี่ยวกับ “การประชาสัมพันธ์องค์กร” มีจำนวน 58 รายการ คิดเป็นร้อยละ 14 ของจำนวนชิ้นงานทั้งหมด
โล่ เงิน ถ้วยรางวัล : ความย้อนแย้งของศิลปะในโรงเรียน
การเข้าร่วมการประกวดวาดภาพสามารถส่งได้ทั้งในนามบุคคล กลุ่ม หรือสถาบันการศึกษา แต่บางกรณีการส่งในนามบุคคลก็ถูกโรงเรียนขอคืนเงินและถ้วยรางวัลที่นักเรียนผู้ทำผลงานได้รับมา
พิชชาภาให้ข้อมูลว่า หากเงินรางวัลเกิน 1,000 บาท ครูศิลปะจะได้รับส่วนแบ่งร้อยละ 20 ซึ่งเธอไม่แน่ใจว่า เป็นส่วนแบ่งค่าอุปกรณ์หรือไม่ แต่สถานการณ์ในตอนนั้นถือเป็นการแลกเปลี่ยนในเชิงธุรกิจ
ขณะที่น้ำทิพย์ให้ความเห็นเกี่ยวกับกรณีนี้ว่า เงินคือแรงจูงใจสำคัญที่ทำให้เด็กรู้สึกดีเมื่อได้รางวัล และผู้ใหญ่เองก็รู้สึกพอใจ จึงไม่แปลกที่จะเกิดการยอมรับความช่วยเหลือจากครู ทั้งด้านการคิด การร่างภาพ และการลงสี
ส่วนกัญญาภัคเล่าประสบการณ์ว่า ที่โรงเรียนของเธอ อุปกรณ์ทุกอย่างคือรายจ่ายของนักเรียน ไม่ว่าจะเป็นกระดาน กระดาษ หรือสี แต่เมื่อเธอประกวดได้รางวัลมา อาจารย์กลับเอารางวัลบางอย่างของเธอไป เช่น โล่ เหลือให้เธอเพียงประกาศนียบัตร นอกจากนี้เงินที่ได้จากการประกวดยังถูกหักให้อาจารย์ถึงร้อยละ 70 ของเงินทั้งหมด ส่วนตัวเธอได้เพียงร้อยละ 30 เท่านั้น “เราสู้ด้วยตัวเองมาตลอดตั้งแต่ ป.3 จนประกวดชนะครั้งแรกตอน ป.6 อาจารย์ไม่ได้สอนอะไรเราเลย ที่สำคัญคือ เราเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายทั้งหมด เขาไม่ได้เอาแค่รางวัลของเราไป แต่เพื่อนๆ ก็โดนกันหมด เขาทำการประกวดศิลปะเป็นธุรกิจหาเงิน” กัญญาภัคเอ่ย
ด้านครูศิลปะอย่างเจตวิภาให้ความเห็นว่า หากนักเรียนไปประกวดด้วยตนเอง อาจารย์ไม่มีสิทธิ์เอาเงินรางวัลไป ยกตัวอย่างกรณีที่เธอพาลูกไปแข่งในนามบุคคล รางวัลจะกลับมาเป็นของลูก เพราะทางโรงเรียนไม่ได้ช่วยฝึกซ้อมและอำนวยความสะดวกในการแข่งขัน หรือต่อให้มีการกรอกชื่อสถาบันที่สังกัด แต่ส่งในนามบุคคล โรงเรียนก็ใช้สิทธิ์ยึดเงินไม่ได้เช่นกัน
นอกจากนี้เจตวิภายังอธิบายว่า แต่ละโรงเรียนมีวิธีการไม่เหมือนกัน ยกตัวอย่างเช่นโรงเรียนที่เธอประจำอยู่ หากนักเรียนได้รางวัล ตามธรรมเนียมจะให้ผู้บังคับการ (ผู้อำนวยการ) ทำพิธีมอบอีกครั้ง เพื่อให้รู้ว่ามีการส่งนักเรียนไปแข่งขันวาดภาพ ถ้าหากรางวัลเป็นเงิน นักเรียนจะคืนให้ผู้บังคับการ ในส่วนนี้แล้วแต่ดุลพินิจของผู้บังคับการว่าจะนำเงินเข้าโรงเรียนหรือไม่ เนื่องจากกระบวนการในการจัดการแข่งทั้งหมดนั้นโรงเรียนเป็นผู้สนับสนุน เช่น ค่ารถพาไปแข่ง ค่าอาหารว่าง ค่าอุปกรณ์การฝึก โดยที่นักเรียนไม่ต้องออกเงิน แต่หากพิจารณาแล้วว่า ทางโรงเรียนต้องการเพียงถ้วยรางวัล ก็จะมีการคืนเงินให้นักเรียน
แม่กุญแจแห่งการจองจำ
จากปัญหาของวงการประกวดวาดภาพเด็ก สะท้อนให้เห็นว่า ส่วนหนึ่งเป็นผลสืบเนื่องมาจากการฝึกฝนศิลปะในโรงเรียน พิชชาภาซึ่งเคยเป็นหนึ่งในผู้เดินสายประกวด เพื่อสะสมผลงานในการสอบเข้าชั้นมัธยมศึกษาเล่าว่า เธอต้องวาดภาพตามที่ครูศิลปะบอกเท่านั้น ผลที่ตามมาคือสภาพจิตใจที่ย่ำแย่และการตั้งคำถามว่า “ทำไมเราถึงวาดในสิ่งที่เราอยากวาดไม่ได้?”
สถานการณ์เดียวกันนี้เกิดขึ้นกับเพื่อนของพิชชาภาด้วย และถึงแม้ผู้ปกครองจะทราบเรื่อง แต่การเก็บสะสมผลงานเพื่ออนาคตดูจะเป็นสิ่งสำคัญกว่า “มีบางครั้งที่ต้องส่งงานประกวด พ่อกับแม่เนี่ยแหละที่มาช่วยกันลงสีตามที่ครูบอก” นอกจากนี้พิชชาภายังเอ่ยถึงเพื่อนที่เคยร่วมงานประกวดด้วยกันว่า มีเพื่อนสามคนที่เลิกวาดภาพโดยปริยาย ส่วนอีกคนยังวาดบ้าง แต่น้อยลงทุกที
“การบีบบังคับให้เด็กวาดตามที่ผู้ใหญ่ต้องการเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง ถ้าวัดตามตำราของจิตวิทยาพัฒนาการ ในช่วงวัยเด็กตอนต้น เด็กจะวาดอะไรไม่ได้มาก พอถึงขั้นก่อนมีแบบแผนเขาจึงเริ่มวาดโดยใช้รูปเรขาคณิตมาต่อกัน การวาดสั้นวาดยาวขึ้นอยู่กับร่างกายและกล้ามเนื้อมือของเด็ก แต่ปัญหาคือผู้ใหญ่มักติดภาพแบบเหมือนจริง ซึ่งอยู่ในศิลปะขั้นสุดท้ายคือ ขั้นมีเหตุผล แต่เด็กในช่วงอายุ 9-11 ปี เขายังไปไม่ถึงขั้นเหมือนจริง”
พชร วังมี อาจารย์แนะแนว โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา อธิบายเพิ่มเติมว่า การขีดเขียนของเด็กที่เริ่มใช้กล้ามเนื้อมัดเล็กล้วนมีความหมายตามระดับสติปัญญา แต่ผู้ใหญ่มักมองไปที่ความเหมือนจริงในการตัดสินผลงานของเด็ก จนเร่งให้เกิดพัฒนาการที่ก้าวกระโดด ซึ่งการควบคุมการแสดงออกเช่นนี้อาจส่งผลให้เกิดแรงจูงใจในทางลบต่อศิลปะและทำให้เด็กขาดความมั่นใจในการใช้ชีวิต
พชรยังแนะนำว่า ช่วงเวลาสำคัญในการปลูกฝังความรักศิลปะของเด็กอยู่ตั้งแต่ช่วงชั้นประถมศึกษาถึงระดับมัธยมศึกษาปีที่ 1 ดังนั้นบทบาทของครูศิลปะในช่วงดังกล่าวจึงมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง แต่ในบางกรณี ครูกลับใช้นักเรียนเป็นเครื่องมือในการสร้างชื่อเสียงและผลงาน ทั้งยังใช้อำนาจในการกำหนดความงามแทนการกระตุ้นความเจริญงอกงามทางศิลปะอย่างที่ควร
ทั้งนี้ พชรในฐานะอาจารย์ได้ทิ้งท้ายว่า ระบบประเมินครูจากกระทรวงศึกษาธิการถือเป็นอีกส่วนที่บังคับให้ครูต้องทำผลงานนอกเหนือจากการสอน ซึ่งส่งผลในทางตรงกันข้ามกับพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 หมวด 4 แนวทางการจัดการศึกษา มาตรา 22 ที่ระบุว่า “การจัดการศึกษาต้องยึดหลักว่าผู้เรียนทุกคนมีความสามารถเรียนรู้และพัฒนาตนเองได้ และถือว่าผู้เรียนมีความสำคัญที่สุด กระบวนการจัดการศึกษาต้องส่งเสริมให้ผู้เรียนสามารถพัฒนาตามธรรมชาติและเต็มตามศักยภาพ”
ขอฝันใฝ่ในอิสระอันเหลือเชื่อ
จากประเด็น “ศิลปะไร้อิสระ” ในวงการประกวดวาดภาพ นำไปสู่เบื้องหลังของ “ระบบการศึกษา” ที่พันธนาการนักเรียนไว้ด้วยผลการเรียน ทั้งยังเร่งพัฒนาศักยภาพด้านศิลปะอย่างก้าวกระโดด ส่งผลให้เกิดบาดแผลภายในจิตใจของเด็ก สิ่งเหล่านี้เองกลายเป็นต้นตอของปัญหาเชิงโครงสร้างที่หยั่งรากลึกลงไปถึง “ทัศนคติ” ทำให้ศิลปะตกอยู่ใต้วาทกรรมของ “ความสวยงาม” ทั้งยังไม่ได้ทำหน้าที่ถ่ายทอดอารมณ์อย่าง “อิสระ” อย่างที่ใครคาดหวังให้ศิลปะเป็น
เช่นเดียวกับเจตวิภาที่สนับสนุนว่า ศิลปะสามารถแสดงออกในรูปแบบใดก็ได้อย่างมีอิสระ “ไม่ว่ามันจะสะท้อนความสะเทือนอารมณ์ ความอ่อนแอ ความรันทด ความน่ารังเกียจ เป็นแค่รอยขีด หรือภาพคนแทงกัน หรือภาพศพ ซึ่งอย่างหลังแปลว่ามันไม่สวย แต่สุดท้ายมันคือ ศิลปะที่เปิดกว้างและเป็นอะไรก็ได้” เจตวิภายังสนับสนุนให้ทุกโรงเรียนมีวิชาศิลปะ เพราะเธอเชื่อมั่นว่า ศิลปะคือช่องทางในการระบายออกของเด็ก และทำให้เด็กเกิดความคิดสร้างสรรค์
ส่วนน้ำทิพย์แสดงความเห็นว่า ปัญหาเชิงโครงสร้างต้องเริ่มแก้ไขจากการนำศิลปะออกจากระบบการให้เกรด “เด็กบางคนมีความคิดสร้างสรรค์ที่เขาไม่รู้จะสื่อยังไง สุดท้ายเพราะเขาโดนเกรดมาเป็นตัวกำหนด เขาจึงต้องไปจ้างคนอื่นเพื่อให้ได้เกรดดี เรื่องนี้เกิดจากการที่อาจารย์มีมาตรฐานของอาจารย์เอง เราว่า อาจารย์ไม่ควรตีคุณค่าทางศิลปะเป็นเกรด เด็กบางคนเขาตั้งใจวาดรูป แต่ได้เกรดน้อยเขาก็เศร้านะ มันควรมีแค่ผ่านหรือไม่ผ่าน ถ้าไม่ผ่านก็คือเด็กที่ไม่ยอมทำงานส่ง หรือวาดก้างปลาตัวเดียว ดูก็รู้ว่าทำแบบชุ่ยๆ มา”
ด้านกัญญาภัคให้ความสนใจไปที่กระบวนการสอนวิชาศิลปะให้เด็กมีความสุข โดยเธอมุ่งมั่นที่จะเป็นครูเพื่อเปลี่ยนแปลงทัศนคติของคนไทยที่มักคิดว่า ศิลปะต้องสวยงาม “เราอยากทำให้เด็กสามารถวาดรูปได้โดยไม่ต้องคิดว่า ‘หนูวาดไม่สวย’ เราอยากให้เด็กสามารถทำงานที่เอาสีมาปาดๆ แสดงให้เห็นว่าอารมณ์ของเด็กในตอนนี้มันเป็นอย่างไร เราต้องการให้คนมีความสุขกับศิลปะ”
นอกจากนี้ Headache Stencil ยังทิ้งท้ายว่า ครูศิลปะไม่มีสิทธิตัดสินผลงานของเด็ก หากแต่มีหน้าที่สอนให้เด็กรู้วิธีการผลิตงานศิลปะในแขนงต่างๆ เท่านั้น “ศิลปะสร้างความสุนทรีย์ในชีวิตคน และทำให้คนมีความสุขมากขึ้น ดังนั้นศิลปะคือสิ่งที่ใช้เยียวยาจิตใจ แต่ประเทศเราเอาศิลปะไปตีกรอบจนดูแข็งกระด้าง เราจำกัดนิยามของศิลปะสมัยเด็กว่าต้องวาดเหมือนเท่านั้น แต่พอเราโตขึ้น เข้ามหาวิทยาลัย ไปเปิดหนังสือเจอรูปของปิกัสโซ เราก็อุทานว่า ‘อาจารย์เป็นอะไร? แล้วปิกัสโซวาดอะไรออกมา?’ เรื่องนี้จึงสะท้อนว่า มันมีอิสระอยู่ในความหมายของศิลปะอยู่แล้ว”
Share this:
Like this: