Art & Culture Community Interview

คุณค่าในใจจากกระดาษไหว้เจ้า

กระแสความกังวลต่อปัญหามลพิษทางอากาศ ทำให้ความนิยมของคนรุ่นใหม่ต่อการเผากระดาษไหว้เจ้าลดลง หากวันหนึ่งไม่มีกระดาษไหว้เจ้าแล้ว คุณค่าที่ซ่อนอยู่ในพิธีกรรมที่ต้องใช้กระดาษเหล่านี้จะถูกส่งต่อสู่คนรุ่นใหม่ได้อย่างไร

เรื่อง : ศิรพงศ์ ศุภภัทรเศรษฐ์

ภาพ : ศุภกานต์ ผดุงใจ

ในทุกๆ ปี ครั้นเทศกาลของชาวจีนใกล้เข้ามา ทั้งตรุษจีน สารทจีน รวมถึงเช็งเม้ง ย่านเจริญไชยไปจนถึงริมถนนพลับพลาไชยจะเนืองเเน่นไปด้วยผู้คนที่มาจับจ่ายเลือกซื้อกระดาษไหว้เจ้าเป็นพิเศษ ผิดกับหลายปีให้หลังที่ดูบางตาลง โดยเฉพาะสองปีมานี้ ที่อาจเป็นผลจากพิษโควิดที่ยังไม่หมดไปบวกกับภาวะมลพิษจากฝุ่นละอองที่ยังคงเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

โกวเล็ก – อนงค์ลักษณ์ เลาหศรีวิจิตร ทายาทรุ่นที่สามของร้านฮะฮวด ร้านกระดาษไหว้เจ้าอายุกว่า 70 ปี ริมถนนพลับพลาไชยหัวมุมตรอกอิสรานุภาพ ผู้สืบต่อกิจการมาจากอากง เริ่มต้นบทสนทนาอย่างเป็นกันเองด้วยการเล่าย้อนอดีตไปครั้งที่อากงเริ่มเปิดกิจการ ว่าในสมัยนั้นบริเวณถนนพลับพลาไชยมีร้านกระดาษไหว้เจ้าเพียงไม่กี่ร้านเท่านั้น เเต่เมื่อคนอื่นเห็นว่าขายดี อีกทั้งลูกหลานของร้านกระดาษไหว้เจ้าเริ่มเติบโตพร้อมขยายกิจการ ร้านขายกระดาษไหว้เจ้าจึงเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ บวกกับชัยภูมิที่ตั้งของชุมชนที่รายล้อมไปด้วยศาลเจ้าเเละวัดจีนน้อยใหญ่กว่าหกเเห่ง ทั้งวัดเล่งเน่ยยี่ ศาลเจ้าไต้ฮงกง เเละศาลเจ้าหลีตีเมี้ยว เป็นต้น บริเวณนี้จึงกลายเป็นเเหล่งขายกระดาษไหว้เจ้าที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย

โกวเล็ก – อนงค์ลักษณ์ เลาหศรีวิจิตร ทายาทรุ่นที่สามของร้านฮะฮวด

信仰 “ซิ่นหยั่ง” : ความเชื่อ

“ที่ร้านไม่ค่อยเน้นเเบบสมัยใหม่ เราเน้นเเบบโบราณที่ใช้ในงานกงเต็ก ถ้าจะเอาตามสมัยใหม่ต้องเเบบร้านอื่น เราตามไม่ทันหรอก ของใหม่ๆ มีมาเรื่อยๆ … มันเปลี่ยนเเปลงเร็ว ข้างบนนี้มีอะไร ข้างล่าง(โลกวิญญาณที่บรรพบุรุษอยู่ตามความเชื่อส่วนบุคคล) ก็ต้องมีอย่างนั้นเหมือนกัน” โกวเล็กอธิบาย พร้อมกับบอกว่า จริงๆ เเล้วในเทศกาลเช็งเม้งหรือการไหว้บรรพบุรุษ สมัยก่อนนิยมใช้กระดาษไหว้เจ้าเพียงสามอย่างเป็นหลัก คือ อ่วงเเซจี๊ (往生錢) ตั่วกิม (大金) เเละกิมจั้ว (金錢) อย่างอื่นนั้นเเล้วเเต่ความเชื่อเเละกำลังทรัพย์ของเเต่ละครอบครัว

“อ่วงเเซจี๊” กระดาษสีเหลืองทรงจัตุรัส ด้านบนเขียนคาถาอุบัติสุขาวดีพุทธเกษตร หรือ อ่วงเเซจิ่ว ด้วยหมึกสีเเดง การเผาอ่วงเเซจี๊มีความเชื่ออยู่สองเเบบ ด้านหนึ่งเชื่อว่า เป็นการเผาเพื่ออุทิศไปให้กับผู้ล่วงลับเพื่อเป็นทางลัดให้เขาได้ไปยังสุขาวดีพุทธเกษตร โลกธาตุที่มีเเต่ความสุข ส่วนอีกด้านก็เชื่อว่าเป็นใบเบิกทาง เปรียบเสมือนหนังสือเดินทางในปัจจุบัน เพื่อขอผ่านทางระหว่างภพภูมิจากโลกมนุษย์สู่โลกวิญญาณโดยจะเผาเป็นสิ่งเเรกเพื่อขอเปิดทางก่อนจะเผากระดาษหรือสิ่งอื่นๆ ตามไป

อ่วงเเซจี๊ กระดาษสีเหลืองทรงจัตุรัส ด้านบนเขียนคาถาอ่วงเเซจิ่วด้วยหมึกสีเเดง
ปัจจุบันมีการผลิตออกมาหลายรูปเเบบเเละขนาด

“ตั่วกิม” เป็นกระดาษรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าขนาดเอสี่ ตรงกลางเป็นสีทองเเละล้อมด้วยขอบสีส้ม ถือเป็นกระดาษเดียวที่สามารถไหว้ได้ทั้งเทพเจ้า บรรพบุรุษ รวมไปถึงวิญญาณไร้ญาติ เเต่รูปทรงการพับจะต่างกันไป เช่น การไหว้บรรพบุรุษภายในสามปีเเรกที่เสียชีวิต จะพับเป็นรูปสี่เหลี่ยมคางหมูเเบนๆ หรือที่เรียกว่า “ค้อซี” ห้ามหักงอ มิเช่นนั้นบรรพบุรุษจะรับไม่ได้ เพราะกระดาษที่หักปลายให้ท้ายกระดกขึ้นจะใช้กับการไหว้เทพเจ้าเท่านั้น เเต่เมื่อผ่านพ้นช่วงสามปีเเล้ว คนจีนเชื่อว่าบรรพบุรุษจะเปลี่ยนฐานะจากวิญญาณสู่เทพบรรพชนคุ้มครองวงตระกูล จึงรับค้อซีที่พับในรูปเเบบต่างๆ ได้

ตั่วกิม กระดาษเดียวที่สามารถใช้ไหว้ได้ทั้งเทพเจ้า บรรพบุรุษ เเละวิญญาณไร้ญาติ เเตกต่างกันไปตามรูปเเบบการพับ

“กิมจั้ว” กระดาษสีเงินเเละทองสองสีในด้านเดียว ก่อนนำไปเผาจะพับเป็นรูปทรงต่างๆ เพื่อความสวยงามเเละทำให้เผาได้ง่ายยิ่งขึ้น เชื่อกันว่าผู้อยู่ในโลกวิญญาณจะได้ใช้กิมจั้วเป็นเงินทอง

กิมจั้ว ที่เชื่อว่าในโลกของวิญญาณใช้เเทนเงินทอง

變遷 “เปี้ยนเชียน” : การเปลี่ยนเเปลง

สำหรับโกวเล็ก ช่วงประมาณ 30 ปีที่เเล้ว คือยุคที่ธุรกิจกระดาษไหว้เจ้าเฟื่องฟูที่สุด “ต้องส่งของทุกวัน เศรษฐกิจดี ทุกอย่างดี ไม่มีปัญหาอะไรเลย ช่วงนั้นไต้ฮงกงเผาทั้งวันทั้งคืนไม่ปิดเตาเลยนะ โดยเฉพาะตรุษจีนกับสารทจีน” อาโกวบรรยายให้ฟัง ผิดกันกับปัจจุบันที่อาจถือได้ว่ากำลังเป็นขาลงของกระดาษไหว้เจ้า “เริ่มจากที่เเรกๆ ตามศาลเจ้าต่างๆ ก็ไม่ให้จุดธูปก่อน เเล้วก็ค่อยไม่ให้เผากระดาษ”

ปฏิเสธไม่ได้ว่า การเผากระดาษเป็นส่วนเล็กๆ ของปัญหามลพิษทางอากาศ ผู้คนจึงเริ่มตระหนักเเละพยายามลดการเผากระดาษลง เเต่ด้วยวิถี ประเพณี ความเชื่อ เเละวัฒนธรรม ที่ยังคงฝังลึกอยู่ในใจของลูกหลานคนไทยเชื้อสายจีนซึ่งได้รับการปลูกฝังมาเเต่เด็ก การไหว้ด้วยกระดาษไหว้จึงยังมีอยู่ ธุรกิจนี้จึงยังสามารถดำรงอยู่ได้มาจนถึงปัจจุบัน

นอกจากกระเเสการลดการเผากระดาษ อีกปัจจัยที่ส่งผลต่อยอดขาย คือฐานลูกค้าประจำส่วนใหญ่ที่เป็นผู้สูงวัย “ลูกหลานไม่ปล่อยให้ออกมาซื้อของคนเดียว มันอันตราย” อาโกวเล่าพร้อมเสริมว่า บางบ้านลูกหลานก็ไม่มีเวลา โอกาสที่ที่ผู้สูงวัยจะได้ออกมาซื้อกระดาษเช่นเคยจึงลดน้อยลงไป เเต่บางบ้านลูกหลานก็ยังออกมาซื้อให้ ก็จะซื้อเหมือนเดิมในปริมาณที่ลดน้อยลงไป นั่นจึงอาจเป็นหนึ่งในเหตุผลที่อาโกวเล็กมองว่ากำลังเป็นขาลงสำหรับธุรกิจขายกระดาษไหว้เจ้า เเต่โกวเล็กก็ยังเชื่อเเละเฝ้ารอวันที่ธุรกิจขายกระดาษไหว้จะกลับมาคึกคักอีกครั้ง “เศรษฐกิจช่วงหลายปีหลังมานี้เเย่ลง ทุกคนต้องประหยัด ใช้จ่ายเเต่สิ่งที่จำเป็นจริงๆ หวังว่าอีกไม่นานการขายกระดาษไหว้เจ้าคงกลับมาคึกคักเหมือนเดิม”

สภาพร้านที่ของไม่เเน่นเหมือนเเต่ก่อน จากสถานการณ์ที่คาดเดาไม่ถูก
ว่าเทศกาลเช็งเม้งปีนี้จะเป็นเช่นไร จึงไม่ได้สั่งของมาเก็บไว้

勿忘本 “อู้วั่งเปิ่น” : อย่าลืมรากเหง้าเเละต้นกำเนิด

คุณค่าเเละเเก่นของการไหว้บรรพบุรุษนั้นอาจไม่ได้อยู่ที่ตัวกระดาษหรือวัตถุ เเต่อยู่ที่ความกตัญญูเเละการมีอยู่ของครอบครัวที่ไม่เเตกเเยกกัน “การไหว้ทุกสารทของคนจีน เป็นวิธีการเเสดงออกของลูกหลานที่ยังคงระลึกถึงบรรพบุรุษอยู่เสมอ เเละเป็นการเเสดงความกตัญญูอีกรูปเเบบหนึ่งต่อบรรพบุรุษที่เสียชีวิตไปเเล้ว” โกวเล็กเล่าพร้อมเสริมต่อว่า “พระในบ้านสำคัญที่สุด กตัญญูตอนเขามีชีวิตอยู่ได้ยิ่งดี เขากินอะไร เขาชอบกินอะไร เอาให้เขากิน นี่เเหละสำคัญ” 

ส่วนอีกสิ่งที่ซ่อนอยู่ในการไหว้บรรพบุรุษ คือการทำให้ครอบครัวได้มาเจอกัน “เช็งเม้งสมัยก่อนบางคนเขาจะทำกับข้าวไปไหว้ ไหว้เสร็จก็กินเเละพูดคุยกันหน้าหลุม เหมือนให้เขารู้ว่า พี่น้องยังรวมกัน ครอบครัวยังรวมกันเหนียวเเน่น ตระกูลนี้ยังอยู่ไม่เเตกเเยก คนที่เรามองไม่เห็น (บรรพบุรุษ) เขาก็ดีใจ” อาโกวยกตัวอย่างประกอบ “การไหว้นี่ก็ดีเนอะ เหมือนการรวมญาติ คนจีนทำอะไรมันก็มีเคล็ดอยู่เเล้วอะ … ถ้าเขาไม่ยึดถือธรรมเนียมนี้ก็ต่างคนต่างไป บ้านใครบ้านมัน ความผูกพันของลูกหลานรุ่นต่อไปก็จางลง”

วิถี ความคิด ความเชื่อ เเละศรัทธา ถูกกาลเวลาพาไปซึ่งการเปลี่ยนเเปลงโดยมนุษย์ในวันนี้เเละวันข้างหน้าทั้งเร็วเเละช้า เมื่อขอให้โกวเล็กฝากถึงคนรุ่นใหม่ โกวเล็กปิดท้ายบทสนทนาไว้ว่า “ธรรมเนียมมีไว้ปฏิบัติ ไม่จำเป็นต้องปฏิบัติให้ครบสูตรก็ได้ เเต่ขอให้ปฏิบัติ อย่าทิ้ง มันมีสิ่งดีๆ สอนไว้เยอะ ไม่จำเป็นว่าจะต้องไหว้กระดาษเยอะ เเต่ขอให้มีบ้าง … กระดาษมันก็เป็นเเค่สัญลักษณ์ เเต่ประเพณีธรรมเนียมปฏิบัตินี่เเหละ ที่สำคัญเเละไม่ควรทิ้ง ผลพลอยได้คือพี่น้องลูกหลานได้มาพบปะพูดคุยสารทุกข์สุขดิบกัน … เพราะฉะนั้นกระดาษมันจะจำเป็นหรือไม่จำเป็น มันอยู่ที่ใจ มีใจเท่านั้นก็พอ”

ข้อมูลเรื่องกระดาษไหว้เจ้า อ้างอิงจาก

คุณอนงค์ลักษณ์ เลาหศรีวิจิตร

เพจทำเรื่องยากให้เป็นเรื่องง่าย

https://www.shopat24.com/blog/trending/what-are-the-blessings-of-chinese-new-year-2021

%d bloggers like this: