Art & Culture Community Travel

วัดบำเพ็ญจีนพรต ร่องรอยประวัติศาสตร์ชุมชนชาวจีนสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์

แม้วัดบำเพ็ญจีนพรตตั้งอยู่ในซอยที่ไม่มีคนสัญจรพลุกพล่านและอาจไม่ได้เป็นที่รู้จักสำหรับคนทั่วไปมากนัก แต่ภายในวัดยังคงความสวยงามด้วยสถาปัตยกรรมตามแบบช่างจีนแต้จิ๋วในยุคแรกๆ เป็นสถานที่ห้ามพลาดสำหรับการทำบุญสักการะ และเรียนรู้ประวัติศาสตร์ในย่านนี้

เรื่อง : ตระการตา วิวัฒนะอมรชัย

ภาพ : ศุภกานต์ ผดุงใจ

ท่ามกลางความคึกคักของย่านเยาวราชในช่วงกลางวันที่ผู้คนซื้อขายสินค้าอย่างขมักเขม้น ทว่าเมื่อเข้ามาในเยาวราชซอย 8 กลับพบกับความสงบเงียบที่แตกต่างกับถนนหลักที่ห่างกันเพียงไม่กี่ก้าว ที่ด้านในเป็นตึกเก่าสมัยรัชกาลที่ 6 เรียงรายกันไปจนสุดซอย 

หลังจากเข้ามาจากปากซอยประมาณ 20 เมตร ก็จะพบกับ “วัดบำเพ็ญจีนพรต” วัดจีนนิกายที่ซ่อนตัวอยู่ซอยนี้ที่หากไม่ทันสังเกต ก็จะไม่รู้ว่านี่คือวัด

หลายคนอาจเข้าใจว่า วัดเล่งเน่ยยี่ หรือวัดมังกรกมลาวาส คือวัดจีนที่เก่าแก่ที่สุดในประเทศไทย แต่จริง ๆ แล้ววัดบำเพ็ญจีนพรตหรือวัดย่งฮกเกี้ยน แห่งนี้เป็นวัดจีนแห่งแรกของประเทศและเกิดขึ้นก่อนวัดเล่งเน่ยยี่ถึง 76 ปี  เพราะสร้างขึ้นตั้งแต่ปี 2338 หรือตั้งแต่บางกอกเพิ่งได้รับการแต่งตั้งให้เป็นเมืองหลวงของสยาม โดยสันนิษฐานกันว่าชาวจีนเป็นผู้สร้างขึ้น เมื่อมีพระสงฆ์จีนนิกายเพิ่มขึ้น แต่วัดบำเพ็ญจีนพรตมีพื้นที่ไม่เพียงพอ จึงเริ่มมีการก่อสร้างวัดแห่งใหม่บริเวณถนนเจริญกรุงในปี 2414 คือวัดเล่งเน่ยยี่ นั่นเอง

บริเวณด้านหน้าวัดบำเพ็ญจีนพรต ใจกลางเยาวราชซอย 8

เดิมทีด้านหน้าวัดหันออกถนนหลักเยาวราช แต่ด้วยความที่วัดตั้งอยู่ในย่านนศูนย์กลางชุมชนและแหล่งการค้าสำคัญของชาวจีน วัดจึงถูกตึกพาณิชย์ที่สร้างขึ้นมาใหม่ล้อมไว้ ทำให้บริเวณหน้าวัดซึ่งมีลักษณะคล้ายบ้านของคหบดีเยาวราชยุคเก่า ต้องหันเข้าซอย

ว่ากันว่าวัดบำเพ็ญจีนพรต มี “พุทธวิหารพระรัตนตรัย” หรือวิหารหลักของวัดที่เล็กที่สุดคือกว้างเพียง 7.80 เมตรและยาว 10.20 เมตรเท่านั้น ปกติแล้ว ทุกวัดจะต้องมีวิหารพระรัตนตรัยเป็นอาคารหลัก และมักมีขนาดใหญ่โต แต่วิหารหลักของวัดนี้มีขนาดเล็กเพราะเป็นอาคารดั้งเดิมมาตั้งแต่ครั้งยังเป็นวิหารเดี่ยวในยุครัชกาลที่ 1 

ตัวอาคารวัดยังเป็นตึกเก่ายุคต้นสงครามโลกครั้งที่ 1 แบบตะวันตกที่สร้างล้อมวิหารจีนไว้ โครงสร้างอาคารเป็นไม้แบบจีน ผนังก่ออิฐฉาบปูน หลังคาจั่วมุงด้วยกระเบื้องดินเผากาบกล้วย สันหลังคาก่ออิฐปั้นปูนเป็นจั่วปั้นลมตามแบบช่างจีนแต้จิ๋ว วัดจึงมีความงดงามแบบคลาสสิกตามสถาปัตยกรรมจีนแต้จิ๋วในไทยยุคแรก สีสันไม่ฉูดฉาดแต่กลมกลืน แทรกด้วยองค์พระที่ลงรักปิดทองแต่ครั้งโบราณ สีทองจึงดูขลังแต่ยังสวยจับตา

วัดตกแต่งโดยช่างจีนแต้จิ๋วยุคเก่า และถูกล้อมรอบด้วยตึกแบบตะวันตกสมัยสงครามโลกครั้งที่ 1

เมื่อเดินเข้ามาภายในอุโบสถประดิษฐาน จะพบกับพระประธาน 3 องค์ คือพระศากยมุนีพุทธเจ้า พระอมิตาภะพุทธเจ้า และพระไภษัชยะคุรุพุทธเจ้า ด้านข้างล้อมด้วยพระอรหันต์ 18 องค์ตามแบบวัดจีนที่สร้างโดยช่างฝีมือรุ่นเก่า พระแต่ละองค์ทำจากผ้าป่านทารัก ปิดทอง ตามแบบศิลปะงานช่างจีนที่คล้ายเปเปอร์มาเช่ เนื่องจากองค์พระทั้งหมดสั่งมาจากประเทศจีน จึงต้องคำนึงถึงความสะดวกและการลดต้นทุนในการขนย้าย

พระประธาน 3 คือพระศากยมุนีพุทธเจ้า พระอมิตาภะพุทธเจ้า และพระไภษัชยะคุรุพุทธเจ้า
พระอรหันต์ 18 องค์ทำจากผ้าป่าน ตั้งอยู่รอบวิหาร

ด้านข้างของพระวิหารยังมีบันไดดีไซน์วินเทจ ที่พาขึ้นไปบนชั้นอื่น ๆ ของตึกแบบฝรั่ง สูง 5 ชั้น ซึ่งนอกจากจะเป็นกุฏิพระ ยังมีโถงประดิษฐานพระโพธิสัตว์ ห้องสมุดที่เต็มไปด้วยหนังสือเก่า เช่น หนังสือธรรมมะ หนังสือภาษาจีนเก่าแก่ และห้องเก็บป้ายวิญญาณของพุทธศาสนานิกชนที่ล่วงลับที่ตั้งเรียงกันจนเต็มตู้ โดยมีการสลักชื่อไว้บนป้ายไม้ซึ่งคนจีนเชื่อว่าเป็นตัวแทนรำลึกถึงบรรพบุรุษและสำหรับให้ลูกหลานมากราบไหว้ ส่วนชั้นบนสุดในห้องโถงบูชาพระ เป็นที่เก็บป้ายชื่อเก่าของวัด หรือป้ายย่งฮกอำ นับเป็นของล้ำค่าทางประวัติศาสตร์อย่างหนึ่ง

ห้องเก็บป้ายวิญญาณของบรรพบุรุษที่ล่วงลับ
ห้องสมุดชั้น 3 ที่เต็มไปด้วยหนังสือธรรมะและหนังสือภาษาจีนที่เป็นเอกสารเก่าแก่

พระเสี่ยโล่ย พระประจำวัดจีนบำเพ็ญพรตกล่าวว่า แม้จะมีพื้นที่จำกัด แต่วัตรปฏิบัติของวัดย่งฮกเกี้ยนก็ไม่แตกต่างจากวัดจีนนิกายอื่นๆ  “วัดเล่งเน่ยยี่มีพื้นที่มากกว่า จึงมีเทพเจ้าเยอะกว่า พื้นที่วิหารสมบูรณ์มากกว่า บวกกับหันหน้าออกถนนหลัก คนจึงนิยมไปวัดนั้นกันเยอะ แต่หากยึดหลักเรื่องพุทธาวาสก็แทบจะไม่ต่างกัน กว่า 20 ปีที่ผ่านมา มีสื่อกระจายข้อมูลไปเยอะ ทำให้นักท่องเที่ยวและคนรุ่นใหม่ ๆ รู้จักวัดบำเพ็ญจีนพรตมากขึ้น ทุกเสาร์อาทิตย์คนก็จะเยอะ คนต่างจังหวัดมาไหว้ก็ยังมี” 

ด้วยบริเวณนี้เป็นบริเวณที่คนมาไหว้พระกันอยู่แล้ว จึงมีคนแวะเวียนมาทำบุญกันอยู่เสมอ นุชรี ตันติวิจิตร วัย 51 ปี เล่าให้ฟังว่า เธอพบวัดบำเพ็ญจีนพรตโดยบังเอิญ แต่หลังจากนั้นก็มาบูชาเป็นประจำ “ แต่ก่อนไม่รู้จักเลย แต่วันนั้นได้ลองเข้าไปวัดนี้ไหว้พระดู รู้สึกว่าสงบ คนไม่พลุกพล่าน ทุกวันเกิดก็จะมาไหว้ที่นี่ ต่อไปพอมาแถวนี้ก็จะเข้ามาไหว้วัดนี้ตลอดจนกลายเป็นวัดประจำไปแล้ว”

แม้วัดบำเพ็ญจีนพรตจะตั้งอยู่ในซอยที่ไม่มีคนสัญจรมาก ทั้งยังมีพื้นที่จำกัด แต่ปัจจุบันนักท่องเที่ยวและคนรุ่นใหม่ที่อยากรู้จักกรุงเทพฯ มากขึ้น ก็มาเยี่ยมเยือนเพื่อเรียนรู้สถาปัตยกรรมและวัฒนธรรม เพราะที่นี่คือประวัติศาสตร์อันล้ำค่าที่ยังมีชีวิตชีวามาตั้งแต่ยุคต้นกรุงรัตนโกสินทร์

อ้างอิง : เอกสารประชาสัมพันธ์วัดบำเพ็ญจีนพรต (ย่งฮกยี่)

%d bloggers like this: