Community Health Social Issue

เมื่อการออกแบบสร้างความเท่าเทียม: สำรวจความเป็นไปได้ของ Universal Design เพื่อผู้สูงอายุในชุมชนตลาดน้อย

สำรวจความเป็นไปได้ในการนำแนวคิดอารยสถาปัตย์มาใช้ในย่านตลาดน้อย ชุมชนค้าขายเก่าแก่กลางเมือง ที่มีสัดส่วนผู้สูงวัยมากที่สุดในกรุงเทพฯ

เรื่องและภาพ: คนิสรา สุวรรณฉัตร


เมื่อสถาปัตยกรรมและการออกแบบพื้นที่มีส่วนช่วยในการลดความเหลื่อมล้ำ แนวคิด Universal Design หรือ อารยสถาปัตย์ จึงเกิดขึ้น โดยยึดหลักการออกแบบที่ไม่ว่าคุณจะเป็นใคร อายุเท่าไหร่ หรือร่างกายเป็นแบบไหนก็สามารถเข้าถึงได้อย่างเท่าเทียมกัน สามารถใช้ประโยชน์ได้อย่างสูงสุดโดยปราศจากข้อจำกัด พร้อมทั้งสร้างความปลอดภัยในการดำเนินชีวิตประจำวัน ซึ่งรวมถึงกลุ่มผู้สูงอายุ 

โครงการศึกษานโยบายและการดำเนินงานการป้องกันการหกล้มในผู้สูงอายุในประเทศไทย โดย รศ.จิราพร เกศพิชญวัฒนา และ ดร.ภัทรพร คงบุญ คณะพยาบาลศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยพบว่าระหว่างปี 2560 – 2564 ประเทศไทยมีผู้สูงอายุพลัดตกหกล้มเฉลี่ย 5.5 ล้านคนต่อปี พร้อมทั้งมีผู้สูงอายุเสียชีวิตจากการหกล้มประมาณ 3 คนต่อวัน และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะกลุ่มอายุ 80 ปีขึ้นไป

ในขณะที่สัดส่วนผู้สูงอายุในกรุงเทพมหานครนั้นมีเพียงร้อยละ 18.63 ของประชากรในกรุงเทพมหานครทั้งหมด แต่สำหรับเขตสัมพันธวงศ์ที่ชุมชนตลาดน้อยตั้งอยู่นั้น มีสัดส่วนผู้สูงอายุมากที่สุดในกรุงเทพมหานคร คือร้อยละ 29.44 ของประชากรในเขต ใกล้เคียงกับสัดส่วนผู้สูงอายุในประเทศญี่ปุ่นที่สูงที่สุดในโลก จึงกลายเป็นเรื่องแสนปกติที่จะพบเจอกับเหล่าคุณตาคุณยายในทุก ๆ ตรอกซอกซอยของชุมชนตลาดน้อย การสำรวจความเป็นไปได้ในการนำอารยสถาปัตย์มาใช้ในย่านนี้จึงได้เริ่มต้นขึ้น

เรื่องราวบนซอยวานิช 2

ซอยวานิช 2 เป็นถนนหลักของชุมชนตลาดน้อยที่เปรียบเสมือนหลอดเลือดแดงเชื่อมต่อทุกตรอกซอกซอยเข้าไว้ด้วยกัน แต่ถนนขนาดกว้างสามเมตรที่คับคั่งไปด้วยความคึกคักของผู้คน รถยนต์ และจักรยานนั้นกลับราบเรียบไร้ซึ่งทางเท้า มีห้องแถวเรียงรายตลอดสองข้างทาง ทั้งเซียงกง ร้านอาหารตามสั่ง และที่อยู่อาศัย

สภาพการจราจรในซอยวานิช 2 ถนนสายหลักของย่านตลาดน้อย

วิมล เหลืองอรุณ หรือคุณเจี๊ยบ วัย 59 ปี เจ้าของร้านเฮงเสงซึ่งรับทำเบาะไหว้เจ้าในซอยวานิช 2 เล่าว่า ทุก ๆ เช้าผู้คนจะออกมาจ่ายตลาดบนถนนเส้นนี้ พร้อมกันนั้นรถยนต์ รถจักรยาน และรถจักรยานยนต์ที่ใช้เส้นทางเดียวกันก็มากตามไปด้วยเพราะเป็นทางลัดให้หลบรถติดในชั่วโมงเร่งด่วนจากพระราม 4 ไปยังสี่พระยา

“ยิ่งถนนแคบก็ยิ่งอันตราย” คุณเจี๊ยบกล่าว โดยเฉพาะในชุมชนที่มีผู้สูงอายุอาศัยอยู่เป็นจำนวนมากอย่างตลาดน้อย แม้ปกติคนในชุมชนจะเคยชินกับการเดินหลบเลี่ยงรถอยู่แล้ว แต่กับผู้สูงอายุที่ไม่สามารถเดินได้คล่องหรือต้องอาศัยอุปกรณ์ช่วยเดินหรือวอล์คเกอร์ การเดินหลบหลีกรถที่สวนไปสวนมาก็ทำได้อย่างลำบาก

“ก็ผังเมืองมันไม่ได้ออกแบบไว้เพื่อคนแก่”

วิมล เหลืองอรุณ เจ้าของร้านเฮงเสง

เช่นเดียวกันกับครอบครัวของอมรรัตน์ สมกมลสกุล หรือคุณหมวย วัย 44 ปี เจ้าของร้านกาแฟ Blacksmith Cafe ที่อาศัยอยู่กับพ่อและแม่วัยเกือบ 90 ปี “เราก็ชินแล้วกับการเดินบ้างหลบบ้าง แต่ถ้าออกไปพร้อมพ่อแม่เราจะไม่สามารถจูงมือเขาเดินได้ ต้องเดินเรียงแถวกันเพราะถนนมันแคบ” 

นอกจากการหลบหลีกรถที่สัญจรผ่านไปผ่านมา คุณหมวยและครอบครัวยังต้องคอยระวังพื้นถนนที่เป็นหลุมเป็นบ่อ มีฝารางระบายน้ำ ซึ่งอาจทำให้ผู้สูงอายุสะดุดล้มได้

“ก็ชุมชนเรามันไม่ได้ถูกออกแบบมาเหมือนพวกหมู่บ้านจัดสรร” 

อุกฤษฏ์ องตระกูล นักพัฒนาสังคมชำนาญการพิเศษ สำนักงานเขตสัมพันธวงศ์อธิบายว่าตลาดน้อยเป็นชุมชนที่ประกอบไปด้วยถนนที่แคบและซอยลึก ด้วยลักษณะผังเมืองเดิมเป็นเช่นนี้อยู่แล้วทำให้ทางสำนักงานเขตไม่สามารถปรับแก้หรือขยายถนนได้ ซึ่งเป็นอุปสรรคหนึ่งในการเข้าถึงผู้ป่วย โดยเฉพาะในช่วงการระบาดของโควิด-19

“พอถนนมันแคบ การเข้าไปช่วยเหลือก็ลำบาก ยิ่งมีโควิด-19 แล้วปัญหามันยิ่งชัด ผู้สูงอายุบางคนเดินไม่ได้ จะขับรถยนต์เข้าไปก็ยาก สุดท้ายต้องให้ผู้ป่วยใส่ชุด PPE แล้วเจ้าหน้าที่นำรถเข็นเข้าไปรับ”

นักพัฒนาสังคมชำนาญการพิเศษกล่าวว่า สำนักงานเขตได้ดำเนินการในเบื้องต้นเพื่อรักษาความปลอดภัยของผู้สูงอายุในชุมชนตามแนวทาง Universal Design ด้วยการใช้สติ๊กเกอร์ติดบริเวณหน้าบ้านที่มีผู้สูงอายุ ผู้ป่วยติดเตียง และผู้พิการ เพื่อให้เจ้าหน้าทราบและเข้าไปช่วยเหลือได้ อย่างในกรณีเกิดอัคคีภัยที่ผู้สูงอายุอาจหนีไฟลำบาก รวมถึงให้พนักงานเก็บขยะทราบว่าบ้านนี้มีขยะขนาดใหญ่ที่ผู้สูงอายุไม่สามารถขนมาวางหน้าบ้านได้ 

อย่างไรก็ตาม นิภา พุทธังกุล น้าสาวของคุณเจี๊ยบ วัย 89 ปีบอกว่าไม่มีสติ๊กเกอร์อยู่หน้าบ้านและกล่าวว่าตนไม่เคยได้ยินเกี่ยวกับเรื่องนี้เลย

“สงสัยน้ายังไม่แก่พอ”

ความเหลื่อมล้ำ 15 เซนติเมตร

ปัญหาของทางสัญจรแผ่ขยายออกไปมากว่าแค่ทางคอนกรีต เมื่อพื้นของที่พักอาศัยซึ่งเป็นอาคารพาณิชย์ไม่เสมอกับพื้นถนน มากกว่าเรื่องของฮวงจุ้ยในการทำมาค้าขาย ทำให้พื้นที่ต่างระดับเป็นอุปสรรคอย่างหนึ่งต่อการใช้รถเข็นขนของรวมไปถึงวีลแชร์ 

คุณเจี๊ยบชี้ไปยังทางลาดที่เชื่อมถนนหน้าบ้านที่อยู่สูงกว่าระดับพื้นบ้าน 15 เซนติเมตรเอาไว้ด้วยกัน นอกจากทางลาดจะช่วยให้เธอที่กำลังจะก้าวเข้าสู่วัย 60 ปีเข็นสินค้าเข้าออกร้านได้ง่ายขึ้น ยังช่วยให้น้าสาววัยเกือบ 90 ปีใช้ วอล์คเกอร์ เดินออกจากบ้านไปยังถนนได้สะดวกยิ่งขึ้นอีกด้วย

แน่นอนว่าเธอเป็นคนออกค่าใช้จ่ายในการทำทางลาดเอง 

ทางลาดที่เชื่อมบริเวณหน้าบ้านตึกแถวกับถนนที่อยู่สูงกว่าพื้นบ้าน 15 เซนติเมตร

อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่ทุกครัวเรือนที่สามารถทำทางลาดให้ผู้สูงอายุได้ ไม่ว่าจะเป็นข้อจำกัดทางการเงินหรือพื้นที่ หากจะให้เป็นไปตามมาตรฐานกฎกระทรวง เรื่องการกําหนดสิ่งอํานวยความสะดวกในอาคาร สําหรับผู้พิการหรือทุพพลภาพ และคนชรา (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2564 นั้นจำเป็นต้องทำทางลาดความกว้างไม่ต่ำกว่า 0.9 เมตร มีพื้นที่ว่างหน้าทางลาดยาวไม่ต่ำกว่า 1.5 เมตร หากทางลาดมีความยาวมากกว่า 1.8 เมตรจำเป็นต้องมีราวจับทั้งสองด้าน และรายละเอียดปลีกย่อยอีกหลายอย่าง ทำให้การสร้างทางลาดตามมาตรฐานต้องอาศัยทั้งความรู้และความเข้าใจในการอำนวยความสะดวกให้ผู้ใช้และกฎเกณฑ์ที่เกี่ยวข้อง

นอกจากนี้ หากพื้นบ้านมีระดับต่ำกว่าถนนจะเสี่ยงต่อการเกิดน้ำท่วมขังในช่วงหน้าฝน แนวทางการแก้ไขจึงไม่จบลงเพียงการสร้างทางลาด 

คุณหมวยถมพื้นบ้านทั้งหลังให้มีระดับเสมอกับถนนเพื่อแก้ปัญหาน้ำท่วมในช่วงหน้าฝน เธอเล่าถึงสภาพของบ้านก่อนจะทำชั้น 1 ให้เป็นร้านกาแฟ Blacksmith Cafe ว่า เมื่อก่อนที่บ้านเป็นร้านเหล็กและมีพื้นต่ำกว่าถนนค่อนข้างมาก ทำให้ช่วงเดือน 10 ของทุก ๆ ปีครอบครัวต้องเผชิญกับน้ำท่วมอยู่เสมอ ทางร้านจำเป็นต้องขนของหนีน้ำหรือใช้ไม้รองอุปกรณ์ให้สูงพ้นผิวน้ำ จนเมื่อเลิกกิจการและเปลี่ยนเป็นร้านกาแฟ ครอบครัวจึงตัดสินใจปรับพื้นบ้านให้เสมอกับถนนด้วยการถมพื้นบ้าน 3-4 ครั้ง เพราะนอกจากจะทำให้การเดินเข้าออกสะดวกแล้วยังบรรเทาปัญหาน้ำท่วมได้ด้วย 

อย่างไรก็ตาม แม้คุณเจี๊ยบจะสามารถแก้ปัญหาพื้นต่างระดับด้วยทางลาด หรือคุณหมวยที่ใช้การถมพื้นที่ แต่ทั้งสองครอบครัวก็ยังประสบปัญหาน้ำรั่วซึมมาตามพื้นบ้านในช่วงน้ำขึ้นอยู่เนือง ๆ

“น้ำท่วมเป็นปัญหาระดับชาติ แก้ไขไม่ได้ เมื่อก่อนก็ท่วม ปีที่แล้วก็ท่วม ส่วนหนึ่งเกิดจากน้ำขึ้นน้ำลงที่ทางเขตไม่สามารถควบคุมได้ น้ำจึงขึ้นมาตามท่อระบายน้ำ ดังนั้นเราต้องอธิบายให้ชาวบ้านเข้าใจว่าน้ำท่วมเป็นเรื่องธรรมชาติที่เราหลีกเลี่ยงไม่ได้ และน้ำไม่ได้ท่วมทั้งวันทั้งคืน เดี๋ยวพอน้ำลงระดับน้ำก็ลดเอง”

อุกฤษฏ์ องตระกูล นักพัฒนาสังคมชำนาญการพิเศษ สำนักงานเขตสัมพันธวงศ์

อยู่ในบ้านก็ประสบปัญหา เดินออกมาตามถนนก็อันตราย แต่อุปสรรคในการดำเนินชีวิตของผู้สูงอายุกลับยังไม่หมดเพียงเท่านี้ เมื่อสภาพร่างกายที่เปลี่ยนไปตามกาลเวลาส่งผลให้พวกเขาต้องเข้าห้องน้ำบ่อยขึ้น แต่กลับไม่สามารถหาห้องน้ำสาธารณะได้ง่ายนัก จุภาภรณ์ กังวานภูมิ หรือคุณจุ๊ ประธานชมรมผู้สูงอายุของตลาดน้อยเล่าว่าการขาดแคลนห้องน้ำสาธารณะนับเป็นปัญหาหนึ่งของชุมชน โดยเฉพาะห้องน้ำสำหรับผู้สูงอายุที่มีเพียง 2 แห่งคือที่วัดปทุมคงคาราชวรวิหารและศาลเจ้าโจวซือกง 

“อุบัติเหตุของผู้สูงอายุที่เจอบ่อยที่สุดคือการหกล้มในห้องน้ำ เลยต้องให้ความสำคัญกับการออกแบบ เหมือนกับห้องน้ำตามโรงพยาบาลที่จะกว้างพอสำหรับเข็นวีลแชร์เข้าไป แล้วจะมีด้ามจับตามผนังสำหรับพยุงตัว” คุณจุ๊กล่าว

รุ่งจันทร์ เฉลิมวิริยะ หรือคุณรุ่ง ประธานด้านการท่องเที่ยวชุมชนตลาดน้อย เสริมว่าแม้ในชุมชนจะมีห้องน้ำสาธารณะสำหรับผู้สูงอายุ แต่เมื่อมีผู้เชี่ยวชาญด้าน Universal Design ลงมาตรวจสอบ ห้องน้ำเหล่านั้นกลับไม่เป็นไปตามมาตรฐาน เพราะขนาดห้องน้ำที่กว้างไม่ถึง 2 เมตรทำให้วีลแชร์หมุนกลับตัวได้ลำบาก

มากกว่าการออกแบบเบื้องหน้าคือโครงสร้างเบื้องหลัง

จุฤทธิ์ กังวานภูมิ หรือคุณโจ สถาปนิกชุมชนจากกลุ่มปั้นเมือง และประธานชุมชนตลาดน้อย อธิบายว่าปัญหาที่ไม่สามารถนำ Universal Design มาใช้ในตลาดน้อยได้อย่างมีประสิทธิภาพ เกิดจากข้อจำกัดใน 2 ส่วนคือ พื้นที่ส่วนตัวและพื้นที่สาธารณะ

“ถ้ามีผู้สูงอายุในบ้านก็ต้องมีการปรับในขั้นพื้นฐาน ตั้งแต่ห้องน้ำที่ต้องมีการจัดการโซนเปียกโซนแห้ง การมีพื้นที่สำหรับวีลแชร์ ไปจนถึงทางสำหรับออกไปยังถนนที่ต้องจัดให้ไม่มีอะไรกีดขวางเพื่อป้องกันอุบัติเหตุ ซึ่งทั้งหมดต่างมีมาตรฐานที่ไม่ได้ซับซ้อนอะไร แต่บางครัวเรือนยังมีข้อจำกัดในเรื่องของพื้นที่ ค่าใช้จ่าย และความเก่า” 

คุณโจเสริมว่าความเก่าของบ้านเองก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ระดับพื้นบ้านไม่เสมอกับพื้นถนน โดยเฉพาะกับชุนชนตลาดน้อยที่อาคารบางหลังมีอายุกว่าร้อยปี เมื่อมีการยกระดับหรือปรับหน้าพื้นผิวถนนอยู่เสมอ ทำให้ระดับถนนสูงขึ้น ในขณะที่พื้นบ้านเรือนบางหลังไม่เคยผ่านปรับปรุงเลย จึงเกิดเป็นพื้นที่ต่างระดับในท้ายที่สุด

ส่วนพื้นที่สาธารณะนั้น คุณโจมองว่ามากกว่าปัญหาในระดับท้องถิ่น คือปัญหาที่เกิดจากวิสัยทัศน์และการออกแบบเมืองในระดับชาติ

“สำหรับพื้นที่สาธารณะนั้นก็ขึ้นอยู่กับโยบายระดับชาติว่าเป็นอย่างไร ชัดเจนและเอาจริงแค่ไหน สำหรับประเทศไทยที่กำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มรูปแบบนี้ ถ้าเขามีนโยบายที่ชัดเจนเกี่ยวกับ Universal Design ในยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี การปกครองในระดับท้องถิ่นก็จะจริงจังตามไปด้วย”

จุฤทธิ์ กังวานภูมิ สถาปนิกชุมชน กลุ่มปั้นเมือง

ในฐานะสถาปนิกชุมชน  คุณโจอธิบายว่าในต่างประเทศ การเติบโตของชุมชนมักจะเป็นไปตามจุดรวม (Node) แล้วจึงสร้างถนนเชื่อมชุมชนต่าง ๆ ตามที่นักออกแบบผังเมืองกำหนดไว้ แต่ประเทศไทยกลับเติบโตแบบรวมศูนย์ (Centralized) โดยมีกรุงเทพมหานครเป็นศูนย์กลางในการขยายความเจริญไปตามที่ต่าง ๆ ผ่านการสร้างถนน ทำให้การออกแบบเมืองขึ้นอยู่กับถนนที่ใช้รถยนต์ในการเดินทาง ทางเท้าสำหรับคนเดินจึงไม่ถูกนำมาคิดร่วมอยู่ด้วย

เมื่อวิสัยทัศน์ในการออกแบบไม่ได้คำนึงถึงทุกคน (All-Inclusive) มาตั้งแต่แรก การแก้ไขในระดับโครงสร้างจึงเป็นเรื่องยาก ทำให้การแก้ปัญหาตามหน้างานจึงพบเห็นได้มากกว่า

“ถึงสำนักงานเขตจะขยายถนนให้ไม่ได้ แต่เราช่วยในเรื่องของการตกแต่ง ความสะอาด ความสะดวก และความสบายในชุมชนได้” คุณอุกฤษฏ์ นักพัฒนาสังคมชำนาญการพิเศษ สำนักงานเขตสัมพันธวงศ์ กล่าว

ทั้งผู้คนและรถจักรยานยนต์ใช้ถนนเส้นหลักในย่านตลาดน้อยที่กว้างเพียงให้รถสวนได้

มากกว่าปัญหาจากการออกแบบเมืองคือปัญหาจากการออกแบบระบบการบริหารจัดการชุมชน รองศาสตราจารย์ ดร.ประภาส ปิ่นตบแต่ง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มองว่าปัญหาการนำ Universal Design ไปใช้สามารถแก้ไขได้ด้วยการกระจายอำนาจไปยังการปกครองในระดับชุมชน “กรุงเทพมหานครก็เหมือนหน่วยราชการแบบรวมศูนย์อำนาจที่มีขนาดใหญ่มาก แม้จะแบ่งออกเป็นเขต แต่ละเขตก็ยังมีขนาดใหญ่อยู่ดีเมื่อเทียบกับชุมชน” 

อีกทั้งการร่างกฎหมายหรือนโยบายมักจะถูกเขียนให้ครอบคลุมแบบถ้วนหน้า บางชุมชนอาจทำได้ แต่บางชุมชนอาจไม่สามารถทำได้ “การมีสภาเขตหรือสภาชุมชนจะเป็นการกระจายอำนาจที่ช่วยให้การจัดสรรงบและพัฒนาชุมชนทำได้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น” รศ.ดร.ประภาสกล่าว

แม้ปัจจุบัน การแก้ปัญหาระดับโครงสร้างเพื่อให้นำ Universal Design สำหรับผู้สูงอายุมาใช้ในชุมชนตลาดน้อยได้อย่างมีประสิทธิภาพยังไม่เกิดขึ้น แต่ชาวบ้านก็อาศัยเวลาว่างในการมารวมกลุ่ม พูดคุย ถกเกียง เพื่อช่วยกันแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ในชุมชนของพวกเขาเอง

“ตลาดน้อยเป็นชุมชนที่เข้มแข็ง เราไม่ได้รวมกลุ่มแก้ไขปัญหากันเพราะรัฐมาสั่ง แต่เราต้องการทำให้รัฐได้รู้ว่าชาวตลาดน้อยทำอะไรได้บ้าง” คุณจุ๊ ประธานชมรมผู้สูงอายุ กล่าวว่า

เสียงสะท้อนของชาวบ้านที่รวมกลุ่มเพื่อหาแนวทางการแก้ไขปัญหาในชุมชน เป็นแรงกดดันให้ภาครัฐต้องเร่งหาแนวทางที่จะสร้างการเปลี่ยนแปลงในระดับโครงสร้าง ไม่เพียงสำหรับชุมชนตลาดน้อย แต่รวมไปถึงชุมชนอื่น ๆ เพื่อสร้างอารยสถาปัตย์ที่ทำให้ทุกคนอยู่อาศัยและมีคุณภาพชีวิตที่ดีได้อย่างเท่าเทียมกัน

%d bloggers like this: