Community Health

สูงวัยไม่คอยรัฐ:เมื่อรัฐดูแลผู้สูงอายุไม่ทั่วถึง คนในชุมชนจึงต้องพึ่งตัวเอง

ชมรมผู้สูงอายุแม่บ้านตลาดน้อยเกิดจากการรวมตัวของผู้สูงวัยที่อยากทำงานจิตอาสาเพื่อชุมชนและเพิ่มศักยภาพให้ตนเอง แต่การดูแลผู้สูงวัยอย่างครบวงจรและปัญหาเชิงโครงสร้างเป็นเรื่องที่รัฐจำเป็นต้องมาจัดการ เพราะลำพังชมรมเดียว ไม่สามารถแก้ไขได้

เรื่องและภาพ: พีรดนย์ ภาคีเนตร

แม้ผู้สูงอายุส่วนใหญ่ในชุมชนตลาดน้อย เขตสัมพันธวงศ์ จะยังแข็งแรงพอที่จะช่วยเหลือตัวเองได้ แต่ส่วนมากก็ไม่ค่อยได้ออกมาทำกิจกรรมร่วมกับสังคม หรือขาดการต่อยอดทักษะที่ตนมี จุภากรณ์ กังวานภูมิ หรือ ป้าจุ๊ ประธานชมรมผู้สูงอายุแม่บ้านตลาดน้อย จึงอดเสียดายไม่ได้ที่ผู้สูงอายุไม่มีโอกาสแสดงความสามารถให้ผู้อื่นเห็น

“ป้าอยากให้ผู้สูงอายุหรือแม่บ้านหรือใครก็แล้วแต่ที่ว่างจากงาน หาทำกิจกรรมอะไรก็ได้ อย่างป้าถักโครเชต์ ว่าง ๆ ก็ถัก ผลิตเป็นชิ้นงาน ถ้ามีสถานที่ขายของที่ระลึกเกี่ยวกับชุมชน เราจะได้เอาสิ่งเหล่านั้นมารวมกัน แล้ว มันก็ทำให้ผู้สูงอายุเขารู้สึกมีคุณค่าว่าเขาทำเป็น” ป้าจุ๊ กล่าว

ป้าจุ๊ จุภากรณ์ กังวานภูมิ วัย 68 ปี ประธานชมรมผู้สูงอายุแม่บ้านตลาดน้อย

ชมรมผู้สูงอายุแม่บ้านตลาดน้อยได้รับการจัดตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 28 กันยายน 2563 เพื่อให้ผู้สูงอายุในพื้นที่ที่ต้องการทำงานจิตอาสาเพื่อชุมชนมารวมกลุ่มกัน โครงการที่สมาชิกชมรมช่วยกันจัดทำมีตั้งแต่การรวมตัวออกกำลังกายเต้นแอโรบิกบริเวณลานท่าเรือภาณุรังษีที่นำโดยสมาชิกในชมรมการเปิดท้ายขายของทำมือโดยสมาชิกในชมรมเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในชุมชน ไปจนถึงการบริจาครถวีลแชร์เพื่อให้ผู้สูงอายุเดินทางไปมาในตลาดน้อยได้อย่างสะดวก

“เราก็รวมคนในชุมชนที่ใช้เวลาว่างจากการทำงาน มาทำงานจิตอาสา ก่อนที่จะตั้งเราก็ได้มีเขตสัมพันธวงศ์มาเป็นสักขีพยานในการจัดตั้ง ความรู้สึกของผู้สูงอายุเมื่อ 60 ปีขึ้นไปแล้ว สิ่งที่อยากจะทำคือการคืนกำไรให้สังคม” ป้าจุ๊เล่า

ป้าจุ๊ วัย 68 ปี เป็นพยาบาลชำนาญการพิเศษ โรงพยาบาลศิริราช เธอจึงนำทักษะการพยาบาลมารักษาโรคเล็บและเท้าให้กับคนในชุมชน นอกจากนี้ สมาชิกในกลุ่มยังใช้ทักษะที่ตนมีเพื่อให้บริการผู้อื่น สะสมเป็นแต้ม เพื่อนำไปแลกกับการได้รับความช่วยเหลือตอบแทนในอนาคตได้

“สิ่งที่เราทำเราไม่ได้เอามาเป็นเงิน แต่เราแลกออกมาเป็นงานแล้วก็เป็นทักษะของแต่ละคน วันหนึ่งมีคนเป็นแผล ป้าก็ไปช่วยทำแผลให้ ป้าก็เก็บเครดิตเอาไว้ วันหนึ่งป้าจะพิมพ์งาน คนโบราณอย่างป้าพิมพ์ไม่ได้เร็ว คนที่ป้าช่วยทำแผลเขาก็มาพิมพ์งานให้ ก็เหมือนเป็นการพึ่งพาซึ่งกันและกัน โครงการนี้มันมีประโยชน์ อยากให้ชุมชนอื่น ๆ ทำแบบนี้บ้าง”

“บ้านตัดเล็บสุขภาพ” กิจกรรมของพยาบาลจิตอาสา นำโดยป้าจุ๊
ให้บริการตัดเล็บและดูแลเท้าของผู้นอนติดเตียงที่บ้าน และพระภิกษุสงฆ์
ที่มาภาพ: เฟซบุ๊กเพจ ตลาดน้อย ชมรมแม่บ้านและผู้สูงอายุ

อย่างไรก็ดี ป้าจุ๊เผยว่า กิจกรรมที่ชมรมพอจะจัดขึ้นได้จะต้องเป็นกิจกรรมที่ไม่ใช้เงิน หรือหากมีเรื่องของทุนบ้าง ก็จะเลือกวิธีรับบริจาค เพราะยอมรับว่าเมื่อมีเงินเข้ามา ก็จะทำให้การบริหารจัดการยุ่งยากวุ่นวายและเกินขอบเขตหน้าที่ของชมรม หากมีโครงการใดใดที่จำเป็นต้องใช้เงินลงทุน ควรให้ทางสำนักงานเขตหรือภาครัฐรับผิดชอบมากกว่า

“โครงการชมรมของเราไม่มีเรื่องของเงินเข้ามาเกี่ยวข้องแม้แต่บาทเดียวมาตั้งนานแล้ว เป็นความตั้งใจของเราตั้งแต่แรก พอมีเรื่องของเงินเข้ามาป้าไม่ชอบ ป้าจะลำบากใจ เราอยากทำอะไรให้ชุมชนในลักษณะงานจิตอาสามากกว่า”

สมาชิกในชมรมนำสินค้าแฮนด์เมด มาวางจำหน่ายในช่วงเทศกาลคริสต์มาสปี 2564
ที่มาภาพ: เฟซบุ๊กเพจ ตลาดน้อย ชมรมแม่บ้านและผู้สูงอายุ

“ที่นี่ยังไม่มี แต่ในอนาคตเนี่ยป้าอยากจะทำ ป้าอยากให้มีศูนย์เรียนรู้ที่เหมือนญี่ปุ่น เขารวมคนผู้สูงอายุ แล้วก็ทำกิจกรรมด้วยกัน มันก็ทำให้คนแก่ไม่เบื่อนะคะ แต่ภาครัฐเขาก็ไม่ค่อยได้เข้าถึงผู้สุงอายุเท่าไหร่” ป้าจุ๊เล่าถึงความคาดหวังในอนาคต

เมื่อโครงการส่วนใหญ่เป็นเรื่องจิตอาสา ไม่เน้นการใช้เงินลงทุน เวลาเกิดปัญหาในระดับกายภาพอย่างเช่น ทางเท้าทรุดโทรม ลานกีฬาชำรุด หรือการก่อสร้างพื้นที่สาธารณะ ลำพังสมาชิกในชมรมก็ไม่สามารถแก้ไขได้ จำเป็นต้องพึ่งพาหน่วยงานราชการเข้ามาแก้ไขปัญหา แต่ชาวชุมชนก็เห็นว่าหลายครั้งภาครัฐยังนิ่งเฉยต่อปัญหาเหล่านี้

สมศรี ศิริเกียรติกำจร หรือ พี่ใฝ อาสาสมัครสาธารณสุขเขตสัมพันธวงศ์

สมศรี ศิริเกียรติกำจร หรือ พี่ใฝ ผู้นำเต้นแอโรบิกประจำชุมชน และอาสาสมัครสาธารณสุข (อสส.) เขตสัมพันธวงศ์  เผยว่า ลานกิจกรรมที่ชาวบ้านใช้อยู่มีขนาดเพียง 600 ตร.ม.และมีจุดชำรุด เมื่อตนเรียกร้องให้ทางเขตมาซ่อมแซม ก็มักได้รับข้ออ้างว่าไม่มีเงินซ่อมบำรุง จนล่าสุดมีคนลื่นล้มเพราะใช้ลานแอโรบิกที่ชำรุด

“ตรงพื้นหน้าลานแอโรบิกที่เป็นไม้ มันจะแตก แล้วมันก็เป็นเนิน ไม่เรียบเสมอกัน เราก็ขอให้ฝ่ายโยธาฯ มาทำให้เรียบได้ไหมเพื่อที่เต้นแล้วจะได้ไม่สะดุดเพราะมีสมาชิกล้มหน้าทิ่มไปแล้ว แต่เขาบอกว่าไม่มีงบ สวนที่เห็นอยู่นี่ก็ไม่ใช่ของเขตนะ เพื่อนประธานชุมชนเขามีงบ เขาเลยสนับสนุนให้ เขตเพียงแค่อนุมัติให้เราเท่านั้น”

ลานกิจกรรมเอนกประสงค์ ที่ถูกใช้เป็นลานออกกำลังกายในช่วงเย็น บางจุดมีสภาพผุพัง

ข้อมูลจากศูนย์สารสนเทศกรุงเทพฯ ปี 2563 พบว่าพื้นที่เขตสัมพันธวงศ์มีจำนวนผู้สูงอายุเกือบ 6,569 คน คิดเป็น 1 ใน 3 ของประชากรทั้งหมด ซึ่งนับได้ว่าเป็น “สังคมผู้สูงอายุระดับสุดยอด” เพียงเขตเดียวในกทม. แม้ทางเขตจะมีสวัสดิการผู้สูงอายุในหลายด้าน แต่ยังพบข้อร้องเรียนเรื่องพื้นที่สาธารณะชำรุด ปัญหาฝุ่นควัน ซึ่งส่งผลกระทบต่อสุขภาพ

อุกฤษฏ์ องตระกูล นักพัฒนาสังคมชำนาญการพิเศษ หัวหน้าฝ่ายพัฒนาชุมชนฯ เขตสัมพันธวงศ์ให้คำตอบว่า เรื่องลานกิจกรรมที่มีพื้นไม่เรียบเสมอกันหรือชำรุดให้ติดต่อทางฝ่ายโยธาฯ ของเขตมาโดยตรง เพราะตนยังไม่ทราบถึงปัญหาที่เกิดขึ้น ทั้งนี้ พื้นที่ดังกล่าวเป็นส่วนของเอกชน เจ้าหน้าที่เขตจึงไม่สามารถเข้าไปซ่อมแซมได้โดยตรง

นอกจากนี้ อุกฤษฎ์ยังเห็นพ้องกับป้าจุ๊ว่า ปัญหาหนึ่งของสังคมผู้สูงอายุระดับสุดยอดคือการที่ผู้สูงอายุอยู่ติดบ้าน ห่างจากสังคม เนื่องจากพื้นที่ในการออกมาพบปะ ออกมาแสดงทักษะ ทำกิจกรรมร่วมกันนั้นมีจำนวนน้อยมากเมื่อเทียบกับพื้นที่กิจกรรมของวัยเด็กหรือวัยรุ่น อย่างศูนย์บริการทางสังคมผู้สูงอายุที่ใกล้ชุมชนที่สุดตั้งอยู่เขตดินแดงซึ่งมีระยะไกล

อุกฤษฎ์ องตระกูล นักพัฒนาสังคมชำนาญการพิเศษ หัวหน้าฝ่ายพัฒนาชุมชนฯ เขตสัมพันธวงศ์

“เขาย้ายไปอยู่ที่อื่นกัน แล้วทิ้งผู้สูงอายุไว้ บ้านมี แต่มันขาดชีวิตอ่ะ มันยังขาดศูนย์ที่ให้ผู้สูงอายุออกมาใช้ชีวิตรวมกันเป็นสังคมได้ พอลูกหลานไปทำงานหมดแล้ว ก็เหลือแต่ผู้สูงอายุและ ผู้สูงอายุถ้าอยากอยู่บ้านก็อยู่ แต่ถ้าไม่อยากอยู่บ้าน ก็ออกมาทำกิจกรรมที่ศูนย์”

นอกจากเขตสัมพันธวงศ์จะมีสัดส่วนประชากรผู้สูงอายุมากที่สุดแล้ว ยังเป็นเขตที่เล็กที่สุดอีกด้วย อุกฤษณ์ชี้แจงว่า ด้วยลักษณะชุมชนเมืองที่มีพื้นที่คับแคบเช่นนี้ ทำให้ยากที่จะหาสถานที่จัดตั้งศูนย์เรียนรู้ฯ ที่เป็นอาคาร หากให้ก่อสร้างลานกิจกรรมกลางแจ้งก็พอทำให้ได้ แต่ในกรณีสวนชุมชนโชฎึกที่เป็นของเอกชนนั้น ภาครัฐไม่สามารถเข้าไปดูแลได้โดยตรง

เจ้าหน้าที่เขตยังยอมรับว่า แม้จะมีโครงการลงพื้นที่เยี่ยมเยียนคนในชุมชน แต่ก็ไม่สามารถเข้าถึงประชาชนได้เท่าที่ควร เนื่องจากภาพลักษณ์ของหน่วยราชการไทยยังคงไม่เป็นมิตรต่อชาวบ้านเท่าไหร่นัก อุกฤษฎ์จึงเห็นว่าอาสาสมัครสาธารณสุขกรุงเทพมหานครเป็นกุญแจสำคัญที่จะทำให้คนในพื้นที่และเขตเชื่อมต่อกันได้มากขึ้น เพราะอสส. เหล่านี้เป็นคนในพื้นที่ สามารถเข้าถึงผู้คนได้มากกว่ารัฐราชการ

“อสส. สำคัญมาก เพราะว่าบุคลากรเหล่านี้เป็นคนที่อยู่ในชุมชนตลอดเวลา พอมีเหตุการณ์ฉุกเฉินเขาก็แจ้งทางเขต แจ้งทางศูนย์สาธารณสุขที่เกี่ยวข้องโดยตรง ราชการเราอาจจะได้แค่ 08.00 – 16.00 น. หน้าที่ตรงนี้ (อสส.) มีบทบาทที่สำคัญมาก แต่ตอนนี้เงินเดือนมันน้อย” อุกฤษฎ์กล่าว

ข้อมูลจากคู่มืออาสาสมัครสาธารณสุข กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข ระบุว่า โดยเฉลี่ย อสส. 1 คนจะดูแลราว 15 ครัวเรือน หรือคิดเป็นประชาชน 75 คน เท่ากับว่าเขตสัมพันธวงศ์ต้องการอสส. อย่างน้อย 88 คน เพื่อที่จะดูแลผู้สูงอายุทั้งหมดในเขตได้อย่างเพียงพอ แต่พี่ใฝ อสส. ชุมชนเผยว่า ปัจจุบัน อสส. ในเขตมีเพียง 36 คน และได้ค่าตอบแทนเริ่มต้นเพียง 1,000 บาทต่อเดือน)

“แรก ๆ ไม่เคยได้เงินเดือนนะ เพิ่งมาได้เมื่อไม่กี่ปีมานี้เอง 600 บาทต่อเดือน หลัง ๆ มาเพิ่มให้เป็น 1,000 บาทต่อเดือน เพราะเห็นว่าเจ้าหน้าที่ทำงานหนัก ในเขตสัมพันธวงศ์มี อสส. ทั้งหมด 36 คน จากนั้นก็แบ่งออกไปดูแลตามพื้นที่ชุม ส่วนพี่ใฝคุมตลาดน้อยมี 4 คน แต่ก่อนมีชุมชนละ 2 เองนะ” พี่ใฝ กล่าว

พี่ใฝเล่าต่อว่า ขณะนี้ทางเขต และกทม. มีแผนรับอสส. เข้ามาเพิ่มเพื่อดูแลคนในชุมชน แต่เนื่องจากสถานการณ์โควิดทำให้ยังไม่สามารถอบรมได้ ทำให้ยังมีผู้สมัครที่ตกค้าง และไม่ได้เป็นอสส. อีกหลายคน ทำให้ภาระงานของอสส. ที่มีอยู่ในปัจจุบันล้นมือ และยากที่จะดูแลคนในชุมชนได้อย่างทั่วถึง

อุกฤษฎ์เสนอว่า ในการปฏิบัติงานจริง อสส.มีภาระหน้าที่ที่หนักและกว้างเกินขอบเขต จึงสมควรปรับเป็นตำแหน่งอัตราจ้าง เพื่อให้มีเงินเดือนประจำตำแหน่ง มีสวัสดิการ และมีจำนวนคนทำงานขั้นต่ำสำหรับแต่ละท้องที่ เพื่อลดช่องว่างระหว่างรัฐกับชุมชน 

“(อสส.) เป็นกลไกสำคัญเชื่อมต่อระหว่างผู้สูงอายุกับทางราชการ ถ้าไม่มีคนเหล่านี้เราจะลำบาก เพราะเราก็เห็นแต่บ้าน แต่ชีวิตเราไม่เห็นไง แต่อสส. รู้จักบ้าน รู้จักชีวิต รู้จักคน ถ้าหากตั้งให้เขาเป็นอัตราจ้างได้ยิ่งดี มีเงินเดือน มีสวัสดิการให้เขา แต่ตอนนี้สวัสดิการของราชการยังครอบคลุมไปไม่ถึง”

อุกฤษฎ์ องตระกูล หัวหน้าฝ่ายพัฒนาชุมชนฯ เขตสัมพันธวงศ์

แต่เมื่อการเปลี่ยนแปลงเชิงกลไกของภาครัฐยังไม่มาถึง “ตลาดน้อยไม่คอยรัฐ” จึงกลายเป็นคำติดปากของคนในชุมชน ที่สะท้อนว่าการทำงานของรัฐไม่สามารถตอบสนองความต้องการคนในชุมชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ จนทำให้คนในชุมชนต้องหันมาดูแลกันเองและพึ่งพาตัวเองกันมากขึ้น ทางชมรมผู้สูงอายุแม่บ้านตลาดน้อยเชื่อว่า โชคดีที่ตลาดน้อยเป็นชุมชนที่เข้มแข็ง ทุกคนมีความผูกพันและไปมาหาสู่กันเสมอ ผู้สูงอายุหลายคนมีทักษะ ทำอะไรได้มากกว่าที่ใครคิด ชมรมจึงช่วยจัดหากิจกรรมเพื่อให้พวกเขา มีสุขภาพกายและใจที่แข็งแรง ทั้งยังมีโอกาสสร้างประโยชน์ให้กับสังคมต่อไป

แต่ปัญหาของชุมชนไม่อาจแก้ไขได้เพียงชมรมเล็ก ๆ หรืออสส. เพียงไม่กี่คน แม้จะมีเงินประจำตำแหน่งก็ไม่ได้การันตีประสิทธิภาพในการแก้ไขปัญหา โดยเฉพาะเมื่อจำนวนผู้สูงอายุเพิ่มขึ้น หรือเมื่อเกิดสถานการณ์โรคระบาด ดังนั้น การพัฒนาระบบสาธารณสุขให้สามารถรองรับผู้ป่วยได้อย่างทั่วถึงเป็นสิ่งที่จำเป็น ตลอดจนการพัฒนาคุณภาพชีวิตคนในท้องที่ ให้พวกเขาได้มีพื้นที่ออกมาแสดงทักษะ หรือทำกิจกรรมร่วมกัน เหล่านี้ล้วนเป็นสวัสดิการที่ภาครัฐพึงจัดสรร เพื่อให้ผู้สูงอายุตลาดน้อยและชุมชนอื่น ๆ สามารถใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับสมาชิกในชุมชนได้อย่างมีคุณภาพ 

เอกสารอ้างอิง:

คู่มืออาสาสมัครสาธารณสุข กรุงเทพมหานคร

ศูนย์สารสนเทศกรุงเทพมหานคร; จำนวนผู้สูงอายุที่อายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไป และประชากรชายและหญิงในเขตกรุงเทพมหานคร พ.ศ.2563

http://one.bangkok.go.th/info/bmainfo/graph/graph.php?code=pop036 http://one.bangkok.go.th/info/bmainfo/graph/graph.php?code=pop030

%d bloggers like this: