Art & Culture Community

ศิลปะการแสดง กับการสนับสนุนที่ขาด(หาย)ไป

เมื่อศิลปะการแสดงในไทยยังไม่ได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐเท่าที่ควร ศิลปินจึงขาดความมั่นคงในอาขีพและเผชิญกับข้อจำกัดทั้งความคิดสร้างสรรค์และการผลิตผลงาน

เรื่อง : เมธัส แก้วดำ

ภาพ : ลานยิ้มการละคร จังหวัดเชียงใหม่

“ในการสร้างผลงานศิลปะการแสดงก็จำเป็นต้องใช้ทุน ไม่เพียงค่าโปรดักชั่น ขั้นตอนในการคิดและฝึกซ้อม แต่ตัวศิลปินก็จำเป็นต้องกินต้องอยู่เหมือนมนุษย์คนหนึ่ง”

นลธวัช มะชัย ผู้ก่อตั้งลานยิ้มการละคร กลุ่มศิลปิน performance art จังหวัดเชียงใหม่ อธิบายว่า ศิลปะการแสดง คือการสื่อสารด้วยภาษากายผ่านการเคลื่อนไหว หรือการปรับรูปแบบท่าทางของร่างกาย ในบริบทใดใดเพื่อส่งมอบชุดความคิดแก่ผู้ชม ดังนั้นศิลปะการแสดงจึงทลายกรอบความเข้าใจผ่านภาษาพูดหรือเขียน ผ่านการสื่อสารด้วยร่างกายและท่าทาง ที่ผู้ชมสามารถตีความได้อย่างอิสระโดยไม่ต้องการคำอธิบาย “ความไม่รู้ ความคลุมเครือในการสื่อสารนี้แหละ คือสิ่งที่ทำให้อาร์ตเพอร์ฟอร์มมีพลัง” นลธวัชกล่าว

ในศาสตร์ของศิลปะการแสดงจำแนกรูปแบบการแสดงได้สองประเภทใหญ่ๆ ได้แก่ เพอร์ฟอร์มิงอาร์ต (Performing Arts) คือศิลปะการแสดงที่มีการนำเสนอเนื้อเรื่องผ่านการแสดง เช่น ละครเวที มหรสพ ละครพื้นบ้าน เป็นต้น อีกประเภทได้แก่ เพอร์ฟอร์มานซ์ อาร์ต (Performance Arts) เป็นศิลปะการแสดงที่นำเสนอประเด็นของผู้แสดงผ่านการเคลื่อนไหว หรือการกระทำบางอย่าง เช่น การแสดงสด บอดี้อาร์ต เป็นต้น ซึ่งในปัจจุบันรูปแบบของศิลปะการแสดงก็มีการพัฒนาและหลอมรวมกัน ยากที่จะแยกออกอย่างชัดเจนว่าการแสดงรูปแบบใดต่างจากการแสดงรูปแบบใด แต่สิ่งที่ยังคงความเป็นอัตลักษณ์สำคัญก็คือความสดของการนำเสนอผ่านร่างกายของผู้แสดง

พัฒนพงศ์ มณเฑียร หรือ โอ๊ต มณเฑียร ศิลปินและนักเขียน เสริมว่า ความสดใหม่ของศิลปะการแสดง และการเห็นงานศิลปะที่นำเสนอผ่านร่างกายของมนุษย์โดยตรง ทำให้ผู้ชมรับรู้ถึงความรู้สึกได้ชัดเจนกว่าศิลปะแขนงอื่น

“ถ้าเรากำลังดูการแสดงที่คนโดนมีดกรีด ผู้ชมจะรู้สึกถึงความเจ็บปวดมากกว่าดูภาพวาดหรือภาพถ่าย นั้นแหละคือความสดใหม่ที่ผู้ชมได้รับ”

โอ๊ต มณเฑียร กล่าว

ส่วน เวลา อมตธรรมชาติ นักจัดการโครงการศิลปะอิสระ สมาชิกเครือข่ายจัดตั้งมูลนิธิประยูรเพื่อศิลปะ กล่าวว่า ในประเทศไทย งานศิลปะการแสดงมักจะถูกมองว่ามีหน้าที่ทำให้ผู้ชมเสพเพื่อความจรรโลงใจหรือความสุนทรีย์บางอย่าง แต่คุณค่าของงานสามารถไปได้ไกลมากกว่านั้น เพราะงานศิลปะสามารถบูรณาการได้กับสิ่งแวดล้อมรอบตัวทั้งศิลปินและผู้ชม เพื่อทำให้สิ่งรอบตัวเหล่านั้นมีคุณค่าและนำเสนอเรื่องราวได้ดียิ่งขึ้น เช่น นโยบาย “เมืองเทศกาล” ของรัฐบาลท้องถิ่นจังหวัดชิซูโอกะประเทศญี่ปุ่น ที่จ้างศิลปินศิลปะการแสดงมาทำกิจกรรมร่วมกับชุมชนและร้านค้าท้องถิ่น เช่น ละครวิทยุ หรือ ละครเวที เพื่อแก้ปัญหาเศรฐษกิจ

แน่นอนว่า ในการสร้างสรรค์ผลงานศิลปะ เงินทุนและเงินสนับสนุนเป็นปัจจัยที่สำคัญ เนื่องจากการสร้างศิลปะการแสดง ไม่ว่าจะเป็นการแสดงสด ศิลปะสื่อแสดง หรือละคร มีค่าใช้จ่ายต่างๆ  เช่น ค่าใช้สถานที่ ค่าจ้างนักแสดงและทีมงาน

การแสดง Jonathan chanvit of Oz โจนาทานชาญวิทธ์แห่งออซ โดยลานยิ้มการละคร จังหวัดเชียงใหม่ 
จัดแสดงวันที่ 6 – 7 และ 13 – 14 พฤศจิกายน 2564 ณ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร BACC 
และ วันที่ 26 – 28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2564 ณ โถงนิทรรศการ พิพิธภัณฑ์ศิลปะร่วมสมัยใหม่เอี่ยม จังหวัดเชียงใหม่

นลธวัชเล่าว่า ในความเป็นจริง ตัวผู้จัดการแสดงไม่สามารถคาดหวังได้ว่า  รายได้จากการขายบัตรจะครอบคลุมรายจ่ายที่เสียไป นอกจากนี้หลายครั้ง ผู้จัดจำเป็นต้องสำรองจ่ายไปก่อน ไม่ว่าจะเป็นค่าใช้จ่ายในการซ้อม   เตรียมสถานที่ และการเตรียมการอื่นๆ ก่อนเปิดขายบัตร ถ้าผู้จัดงานไม่มีเงินทุนหรือเป็นศิลปินรุ่นใหม่ที่เพิ่งเริ่มทำงาน ก็จะหาเงินมาลงทุนไปก่อนได้ลำบาก

ผู้ก่อตั้งลานยิ้มการละครจึงเห็นว่า การได้รับเงินสนับสนุนการสร้างสรรค์ผลงานจากภาครัฐหรือกองทุนต่างๆ เป็นสิ่งจำเป็น อย่างไรก็ตาม อุปสรรคสำคัญคือการที่ศิลปินส่วนใหญ่ไม่ได้ถูกฝึกให้มีความชำนาญเรื่องการขอทุน เมื่อพบกับขั้นตอนการเบิกจ่ายของหน่วยงานราชการที่ไม่คุ้นชิน ศิลปินจึงต้องใช้เวลาจัดการงานเอกสาร แทนที่จะได้ทุ่มให้กับผลงานศิลปะ

กฤษณะ พันธุ์เพ็ง อาจารย์สาขาวิชาวาทวิทยาและสื่อสารการแสดง คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อธิบายว่า แม้ศิลปะการแสดงจะเป็นศิลปะอันทรงพลัง แต่กลับมิได้เติบโตเท่าที่ควรในไทย เนื่องจากวัฒนธรรมการเข้าชมศิลปะการแสดง ไม่ว่าจะเป็นละคร การแสดง หรือมหรสพ เป็นเรื่องค่อนข้างใหม่ในสังคมไทย เพราะเป็นแนวคิดที่ได้รับอิทธิพลจากประเทศตะวันตก การเข้าชมศิลปะการแสดงโดยจ่ายเงินเพื่อซื้อบัตรเข้าชมจึงไม่ได้รับความนิยม

นอกจากนี้ ผู้บริโภคชาวไทยมักเสพความบันเทิงโดยมองความคุ้มค่าเป็นหลัก เมื่อราคาบัตรเข้าชมศิลปะการแสดงมีราคาสูงกว่าค่าใช้จ่ายความบันเทิงประเภทอื่น เพราะต้นทุนการผลิตอยู่ที่การคิดค้นการแสดงที่สดใหม่และใช้ร่างกายเพื่อสื่อสารต่างจากความบันเทิงรูปแบบอื่นอย่างภาพยนตร์ หรือละครโทรทัศน์ ที่สามารถบันทึกและฉายซ้ำได้  ความนิยมในการชมศิลปะการแสดงจึงจำกัดอยู่เฉพาะกลุ่ม

การแสดง Jonathan chanvit of Oz โจนาทานชาญวิทธ์แห่งออซ ได้แรงบันดาลใจงมาจากวรรณกรรมเรื่อง “โจนาทาน ลิฟวิงสตัน: นางนวล” ของ ริชาร์ด บาก และวรรณกรรมเรื่อง “พ่อมดมหัศจรรย์แห่งออซ” ของ แอล. แฟรงก์ โบมเพื่อนำเสนอประวัติศาสตร์การเมืองไทย ตั้งแต่เหตุการณ์เปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 จนถึง เหตุการณ์การชุมนุมคณะราษฎร พ.ศ. 2564

ขณะเดียวกัน กองทุนหรือหน่วยงานที่ให้ทุนกับการสร้างสรรค์งานศิลปะทั่วไปในประเทศก็ยังมีน้อย ไม่ครอบคลุมค่าใช้จ่ายของศิลปินในการสร้างงาน  กฤษณะอธิบายว่า การขอทุนจากภาครัฐเพื่อสนับสนุนการสร้างงานศิลปะการแสดงหรือสาขาใดๆ มีอยู่สองลักษณะ ได้แก่ ทุนที่รับรองว่าผลตอบรับจากผู้ชมสอดคล้องกับความต้องการขององค์กรผู้ให้ทุน โดยอาจจะเลือกจากชื่อของศิลปินหรือศิลปินที่เคยร่วมงานด้วย ส่วนอีกลักษณะคือการให้ทุนโดยแบ่งตามกลุ่มศิลปินหรือศิลปะสาขาต่างๆ   ทำให้ทุนที่ได้มามีจำนวนจำกัดและไม่สามารถครอบคลุมค่าใช้จ่ายในการสร้างสรรค์ผลงานได้ทั้งหมด

นอกจากนี้ การได้มาซึ่งทุนจากหน่วยงานรัฐหรือองค์กรเอกชนอาจทำให้ศิลปินต้องผลิตเนื้อหาหรือนำเสนอแนวคิดให้ตรงตามแผนยุทธศาสตร์หรือประเด็นที่องค์กรที่ให้ทุนต้องการสื่อสาร ซึ่งในบางครั้งการกำหนดหัวข้อเหล่านี้ก็สร้างกรอบในการสร้างสรรค์ชิ้นงานให้แก่ศิลปิน นลธวัช เสริมว่า การกำหนดหัวข้อในการขอทุนทำให้หลายครั้งศิลปินไม่สามารถนำเสนอเรื่องที่ตัวเองอยากจะสื่อสารออกไป และต้องเปลี่ยนแนวทางการนำเสนอให้เข้ากับกรอบหรือเงื่อนไขที่ผู้ให้ทุนกำหนดเพื่อจะได้สร้างสรรค์งานต่อไป

ขณะที่ โอ๊ต มณเฑียร กล่าวว่า ประเภทของศิลปะการให้ทุนสร้างงานของกองทุนศิลปะร่วมสมัย ยังคงแบ่งเป็นเก้าสาขาอยู่ แต่ในความเป็นจริง ความหมายหรือการสร้างงานศิลปะได้ก้าวข้ามและหลอมรวมรูปแบบจนกลายเป็นสหศิลป์ไปแล้ว ดังนั้น การกำหนดงานศิลปะที่จะได้รับทุนออกเป็น 9 สาขา จึงแสดงให้เห็นความไม่เข้าใจต่อการเติบโตของงานศิลปะร่วมสมัย อีกทั้งยังจำกัดแนวทางการทำงานของศิลปิน เพราะแต่ละคนต้องเลือกหรือระบุสาขาให้ชัดเจนเพื่อขอรับทุน

การแสดง แม่งูเอ๋ย โดยลานยิ้มการละคร จังหวัดเชียงใหม่
จัดแสดงวันที่ 10-12 ธันวาคม 2564 ณ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร BACC

 เวลา กล่าวว่า ในส่วนเงินสนับสนุนจากภาครัฐ มีเพียงกองทุนศิลปะร่วมสมัยของกระทรวงวัฒนธรรมที่ให้ทุนในการสร้างสรรค์งานศิลปะ  ทำให้ศิลปินทั้งประเทศทุกสาขา รวมถึงสาขาการแสดง  จำเป็นต้องพึ่งพาทุนจากหน่วยงานนี้เพียงแห่งเดียว เขายกตัวอย่างการให้ทุนสนับสนุนงานศิลปะในประเทศญี่ปุ่นที่กระจายตัว เนื่องจาก ศิลปินสามารถยื่นเรื่องขอทุนได้จากหน่วยงานราชการทุกระดับ ไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานระดับประเทศหรือระดับท้องถิ่น  ทั้งนี้เพราะแนวคิดของสังคมญี่ปุ่นที่มองว่า การส่งเสริมงานและบูรณาการงานศิลปะสามารถทำได้ทุกพื้นที่ วิธีนี้จึงช่วยกระจายการสนับสนุนการสร้างงานศิลปะและทำให้งานหลากหลายมากขึ้น 

เวลา ยังเสนออีกว่า รัฐบาลสามารถส่งเสริมการจ้างงานศิลปินแบบยั่งยืนได้ เช่น การให้การสนับสนุนศิลปินในระยะยาว หรือการมีหน่วยงานที่จะดูแลให้เกิดการจ้างงานศิลปินเพิ่มมากขึ้น หรือแม้แต่การกฏหมายลดหย่อนภาษีเมื่อจ้างศิลปินหรือสนับสนุนศิลปะ เพื่อให้บริษัทเอกชนได้ร่วมสนับสนุนศิลปิน การสนับสนุนด้วยสองแนวทางดังกล่าวจะทำให้การสร้างงานศิลปะเติบโตขึ้น และสามารถใกล้ชิดผู้คนได้มากขึ้นเช่นกัน

อย่างไรก็ตาม นลธวัช กล่าวว่า เนื่องจากการสนับสนุนจากภาครัฐที่ยังไม่เพียงพอในปัจจุบัน อาชีพศิลปินจึงเป็นอาชีพที่ขาดความมั่นคง ศิลปินมือใหม่ที่กำลังสร้างตัวบางคนจำเป็นต้องหาอาชีพเสริมหรือทำงานอื่นเป็นอาชีพหลัก เพื่อหาเงินมาเป็นค่าใช้จ่ายในการสร้างสรรค์งานศิลปะที่ถูกลดระดับเป็นเพียงงานอดิเรก ขณะที่ศิลปินบางคนอาจต้องทิ้งอาชีพนี้ไปเพื่อหาอาชีพที่มั่นคงกว่า จึงเป็นเรื่องที่น่าเสียดายที่สังคมไทยต้องสูญเสียศิลปินที่มีฝีมือหรือศิลปินมือใหม่ไปมาก เพราะขาดแคลนเงินสนับสนุน 

การแสดง แม่งูเอ๋ย โดยลานยิ้มการละคร จังหวัดเชียงใหม่ ดัดแปลงจากรวมบทกวี “แม่งูไม่เคยห่างหายจากหมู่บ้าน” ของ “อานนท์ นานมาแล้ว” เพื่อนำเสนอความขัดแย้ง ความรุนแรง อำนาจที่กดทับ และความเชื่อ ในพื้นที่สามจังหวัดภาคใต้

ด้านกฤษณะชี้ว่า “ภาครัฐอาจจะมองว่าในฐานะประเทศที่กำลังพัฒนา รัฐจำเป็นต้องลงทุนในส่วนที่มั่นใจว่าจะได้รับผลตอบแทนเป็นเม็ดเงิน เช่น สนับสนุนด้านเศรษฐกิจหรือเทคโนโลยีเพื่อได้ผลตอบรับทันที แต่ศิลปะไม่ใช่สิ่งที่มีผลตอบรับจับต้องได้หรือมีกำไรในรูปแบบของเม็ดเงิน ศิลปะการแสดงหรือศิลปะแขนงไหนก็ตาม ผลตอบรับจะอยู่ในรูปแบบความรู้สึก อารมณ์ หรือการเติมเต็มด้านจิตใจบางอย่างที่จับต้องได้ยาก” 

“ถ้าหากเรามีผู้นำประเทศที่เห็นความสำคัญของศิลปะ ก็สามารถเกิดความเปลี่ยนแปลงได้ แต่ถ้าผู้นำยังให้ความสำคัญเฉพาะเรื่องเศรษฐกิจหรือเรื่องกำไรก็เป็นเรื่องยากที่ศิลปะจะเติบโต” อาจารย์สาขาสื่อสารการแสดงกล่าว

%d bloggers like this: