Community Health

คลินิกน้อยกลางตลาดน้อย กับปัญหาของคนตัวน้อยที่เข้าไม่ถึงสาธารณสุข

แพทย์หญิงสุรางค์ เลิศคชาธาร แพทย์ประจำตลาดน้อยเวชกรรมคลินิก ที่ให้บริการผู้สูงอายุในชุมชนมากว่า 30 ปี มองปัญหาความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงบริการด้านสาธารณสุข ที่ถูกเปิดโปงจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และอัตราการเสียชีวิตของผู้สูงอายุในชุมชนที่เพิ่มขึ้น

เรื่องและภาพ: พีรดนย์ ภาคีเนตร

เมื่อดวงอาทิตย์ลับขอบฟ้า คลินิกหลังน้อยที่ซ่อนตัวอยู่ในอาคารพาณิชย์ประมาณ 40 ตารางเมตร ถูกปลุกให้ตื่นจากการหลับใหล เสียงประตูเหล็กที่ถูกม้วนเก็บดังครืดคราด เผยให้เห็นแสงไฟจากป้าย “ตลาดน้อยคลินิกเวชกรรม” บอกเป็นนัยแก่ผู้ที่เดินผ่านไปมาว่าสถานพยาบาลแห่งนี้พร้อมเปิดให้บริการแล้ว

ตลาดน้อยคลินิกเวชกรรมเป็นคลินิกขนาดเล็กที่เปิดทำการในช่วงหัวค่ำของทุกวัน ยกเว้นวันพุธ และวันศุกร์ ขณะที่วันอาทิตย์จะเปิดให้บริการตั้งแต่เวลา 09.00 – 12.00 น. โดยให้บริการตรวจรักษาโรคทั่วไป รวมถึงโรคเฉพาะทางอย่างจิตเวชผู้สูงอายุ เพื่อรองรับผู้ป่วยในย่านตลาดน้อย รวมถึงพื้นที่อื่นๆ ในเขตสัมพันธวงศ์ซึ่งมีสัดส่วนประชากรสูงวัยมากที่สุดในกรุงเทพฯ คิดเป็นร้อยละ 30.8 ของประชากรทั้งหมดในเขต (ข้อมูลเมื่อปี 2563)

แพทย์หญิงสุรางค์ เลิศคชาธาร วัย 65 ปี อดีตหัวหน้ากลุ่มงานจิตเวช สถาบันประสาทวิทยา คือแพทย์หนึ่งเดียวประจำคลินิก เธอกับเภสัชกรอีกหนึ่งคนคอยให้การรักษาชาวบ้านในพื้นที่มาตลอด 30 กว่าปี หากนับตั้งแต่ปีที่ต้นตระกูลของเธอมาตั้งรกรากอยู่ที่ตลาดน้อย ก็อาจเรียกได้ว่าเธอคือแพทย์ที่ผูกพันกับคนในพื้นที่มาเกือบศตวรรษ

“คลินิกตั้งอยู่ที่นี่ 30 กว่าปีแล้ว คนแถวนี้อายุยืนระดับ 70-80 ปี ปัญหาเรื่องซึมเศร้าหรือว่าถูกทอดทิ้งไม่ค่อยเห็นเมื่อเทียบกับที่อื่น แต่สมองเสื่อมอันนี้ก็เห็นบ่อยหรือการเจ็บป่วยเช่น สมองอัมพฤกษ์ อัมพาต หรือว่ามีการเจ็บป่วยจนติดเตียงอันนี้ก็เห็นเยอะมาก”

แพทย์หญิงสุรางค์ เลิศคชาธาร แพทย์ประจำตลาดน้อยเวชกรรมคลินิก

เธอเอ่ยต่ออีกว่า แต่ก่อนตลาดน้อยเป็นชุมชนที่มีวัฒนธรรมเฟื่องฟู มีทั้งเทศกาลกินเจ ตรุษจีน ไหว้สารทจีน เป็นเทศกาลที่ทุกคนจะออกมาจับจ่ายซื้อของ พบปะกัน แต่เดี๋ยวนี้ธุรกิจซบเซาลงไปมาก ต่างคนต่างอาศัย สถานการณ์โควิดยิ่งทำให้ทุกคนออกห่างกันมากขึ้น และนำมาซึ่งการเจ็บป่วยเป็นวงกว้างในชุมชน

“อย่างโควิดคนแก่ก็ติดกันเยอะ ที่นี่ถึงกับมีคำพูดว่า โควิดรอบนี้เอาคนแก่อายุ 80 กว่าขึ้นไปเยอะมากเลย บ้านที่มีกิจการค้าขายทั้งตลาดน้อยหรือในเยาวราชเอง เถ้าแก่ก็เสียชีวิตไปเยอะมากในช่วงโควิดรอบ 1-2 ทุกคนก็ระแวง และห่าง ๆ ออกไป”

เตียงวินิจฉัยอาการโรคทั่วไป อยู่บริเวณหลังโต๊ะให้คำปรึกษาทางสุขภาพจิต

ในฐานะแพทย์ที่เฝ้ามองชุมชนนี้มาค่อนศตวรรษ เธอชี้ว่า การมาของโควิดทำให้เห็นชัดว่า ชุมชนนี้มีความเหลื่อมล้ำอยู่ เนื่องจากประชากรส่วนใหญ่เป็นชนชั้นกลางและล่าง พวกเขาจึงไม่สามารถเข้าถึงความเป็นอยู่ที่ดี โดยเฉพาะเรื่องของอาหารการกิน เมื่อถึงวัยกลางคนจะเจอกับโรคภัยไข้เจ็บได้ง่าย ยิ่งไปกว่านั้นโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (เช่น โรคเบาหวาน โรคอ้วน โรคความดันโลหิตสูง เป็นต้น) เมื่อเป็นร่วมกับโควิดแล้ว จะยิ่งทำให้อาการป่วยรุนแรงขึ้น

ข้อมูลจากสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ปี 2563 ระบุว่า สถานการณ์โควิดทำให้ค่าใช้จ่ายด้านการรักษาพยาบาลในครัวเรือนเพิ่มขึ้นมาร้อยละ 21.52 นอกจากนี้ ครอบครัวที่ยากจนจะปรับตัวต่อวิกฤติได้ยากกว่า เพราะต้องนำรายได้มากกว่าครึ่งหนึ่งไปใช้จ่ายกับค่าอาหารและเครื่องดื่ม จนไม่มีเงินมากพอไปซื้อเครื่องอุปโภคด้านสุขภาพ อาทิ ยารักษาโรค หน้ากากอนามัย เจลแอลกอฮอล์ 

“ปัญหาคือว่า กลุ่มคนชั้นล่าง เขาเข้าถึงการศึกษาได้น้อย พอการศึกษาน้อย ก็มีโอกาสทางรายได้น้อย งานได้เงินน้อย พอถึงวัยกลางคนจะเกิดปัญหาโรคทางกายเยอะ พวกความดัน เบาหวาน และนำไปสู่โรคอื่น ๆ อย่างอัมพฤกษ์ อัมพาต โรคติดเชื้ออื่น ๆ หรือโรคหัวใจ”

แพทย์หญิงสุรางค์ เลิศคชาธาร ตลาดน้อยเวชกรรมคลินิก

แพทย์หญิงสุรางค์ตั้งข้อสังเกตว่า ตั้งแต่มีโครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค การเข้าถึงการรักษาพยาบาลก็เป็นเรื่องที่คนยากจนที่สุดก็สามารถเข้าถึงได้ โดยโรงพยาบาลกลาง เป็นสถานพยาบาลหลักที่รองรับผู้ป่วยฐานะปานกลาง-ยากจนจากเขตสัมพันธวงศ์ แม้จะตั้งอยู่ในเขตป้อมปราบศัตรูพ่าย แต่ประชาชนก็ยังสามารถเดินทางไปได้ เพราะไม่ได้ไกลมากนัก อย่างไรก็ตาม เธอชี้ว่าคนในชุมชนตลาดน้อยยังเข้าถึงระบบสาธารณสุขได้น้อย เนื่องจากข้อจำกัดด้านการศึกษาและปัญหาสวัสดิการของแรงงานข้ามชาติ 

“หนึ่งคือ คนยากจนบางส่วนไม่ได้รับการศึกษา หรืออย่างคนแก่อายุ 80-90 ปี อ่านไม่ออก เขียนไม่ได้ก็มี เข้าถึงการรักษาได้ยาก เพราะสื่อสารไม่รู้เรื่อง” 

ด้วยสภาพแวดล้อมที่เป็นชุมชนชาวจีนมาแต่โบราณ ทำให้ประชากรส่วนใหญ่เป็นคนจีนฮกเกี้ยน ผู้สูงอายุบางส่วนก็ยังถนัดการสื่อสารด้วยภาษาจีน อ่าน-เขียนไทยได้น้อย ในขณะที่กลุ่มแรงงานข้ามชาติที่พักอาศัยอยู่ในละแวกนี้ พวกเขาไม่สามารถเข้าถึงสวัสดิการรัฐด้านสาธารณสุขได้เท่าเทียมกับผู้มีสัญชาติไทย 

“บางคนยังมีสัญชาติจีน ทำให้พวกเขาเข้าถึงสวัสดิการรัฐได้ยาก ไม่มีสิทธิทางด้านนี้เลย รวมถึงคนแก่ที่นี่ก็พูดภาษาจีน แรงงานต่างชาติก็เยอะเช่นกัน คนเหล่านี้มีข้อจำกัดในการเข้าถึงสิทธิสวัสดิการของรัฐ ไม่สามารถเข้าถึงสิทธิการรักษาได้เท่ากับคนทั่วไป แต่โควิดมันแพร่ไม่เลือกคน”

คนไข้กำลังเข้ารับการปรึกษาด้านสุขภาพ

คนสองกลุ่มนี้ ไม่มีต้นทุนมากพอจะช่วยเหลือตัวเองได้ จึงจำเป็นต้องให้คนในครอบครัว ชุมชน และรัฐเข้ามาช่วยเหลือ แพทย์หญิงสุรางค์เสริมว่า กุญแจดอกหนึ่งที่พอจะช่วยเหลือคนกลุ่มนี้ได้คือหน่วยอาสาสมัครอย่าง อาสาสมัครกรุงเทพมหานคร (อสส.) ที่สามารถเข้ามาดูแลอย่างใกล้ชิด และคอยส่งข้อมูลผู้ป่วยกลุ่มนี้ให้ทางเขตได้รับทราบ อย่างไรก็ตาม แพทย์หญิงสุรางค์ระบุว่าในชุมชนยังขาดแคลน อสส. อย่างมาก

“จุดอ่อนของที่นี่ (ตลาดน้อย) คือโครงสร้าง การช่วยเหลือยังเข้าไม่ถึงคนส่วนใหญ่ในชุมชน อย่างที่เรียนไปว่า อาสาสมัครที่ลงมาในพื้นที่ยังเข้าไม่ถึงชุมชน รวมถึงการไปโรงพยาบาลรัฐก็ต้องเสี่ยงเจอความแออัด จริง ๆ แถวนี้มีหอพัก หรือห้องเช่าราคาถูก ที่อยู่อาศัยสำหรับคนยากจนค่อนข้างมาก รวมถึงแรงงานต่างสัญชาติ ตรงวัดวัดกาลหว่าร์ พักเป็นร้อย ๆ ครอบครัว ตรงนี้เป็นจุดที่รัฐควรลงไปช่วยเหลือ เพราะพวกเขาไม่อาจเข้าถึงสวัสดิการสาธารณสุขได้” 

แม้จะเห็นปัญหาที่เกิดขึ้นในชุมชน แต่ลำพังคลินิกขนาดเพียง 1 คูหาไม่อาจจะช่วยดูแลคนทั้งชุมชน และไม่อาจแก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้างทั้งหมดได้  ทั้งจำนวนผู้สูงวัยที่เพิ่มขึ้นทุกวัน ปัญหาความยากจนที่รุนแรงมากขึ้นจากพิษโควิด และแรงงานข้ามชาติ เป็นโจทย์สำคัญของระบบสาธารณสุขไทยที่ต้องเร่งพัฒนาให้ทุกคนสามารถเข้าถึงมือแพทย์อย่างถ้วนหน้า ตั้งแต่การทำให้หมอคนที่หนึ่งอย่างอาสาสมัครสาธารณสุขมีจำนวนเพียงพอ และเข้าถึงทุกพื้นที่ จนถึงการพัฒนาศักยภาพโรงพยาบาลระดับตำบลให้มีประสิทธิภาพ เพื่อลดความแออัดในโรงพยาบาลใหญ่

ในระยะยาว แพทย์หญิงสุรางค์เห็นว่าสิ่งสำคัญที่สุดคือการสร้างโอกาสทางการศึกษาที่เท่าเทียม เพื่อให้คนตัวน้อยในตลาดน้อย ได้มีโอกาสสร้างงานและฐานะ เพื่อเข้าถึงคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างที่ควรจะเป็น

อ่านปัญหาเรื่องการขาดแคลนอาสามัครสาธารณสุขกรุงเทพฯ ในเขตสัมพันธวงศ์ ได้ที่ สูงวัยไม่คอยรัฐ:เมื่อรัฐดูแลผู้สูงอายุไม่ทั่วถึง คนในชุมชนจึงต้องพึ่งตัวเอง

เอกสารอ้างอิง:

รายงานสถานการณ์ความยากจนความเหลื่อมล้ำปี 2563 โดย สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) https://www.nesdc.go.th/ewt_dl_link.php?nid=11972

 จำนวนผู้สูงอายุที่อายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไป และประชากรชายและหญิงในเขตกรุงเทพมหานคร พ.ศ.2563 จากศูนย์สารสนเทศกรุงเทพมหานคร

http://one.bangkok.go.th/info/bmainfo/graph/graph.php?code=pop036 http://one.bangkok.go.th/info/bmainfo/graph/graph.php?code=pop030

%d bloggers like this: