เรื่อง : พีรดนย์ ภาคีเนตร
ภาพ : พีรดนย์ ภาคีเนตร และคนิสรา สุวรรณฉัตร
Intensive Care Unit หรือ ไอซียู เป็นหนึ่งในหอผู้ป่วยที่มีการยกระดับการดูแลมากกว่าหอผู้ป่วยทั่วไป เพราะผู้ป่วยในวอร์ดนี้มักมีภาวะอวัยวะบางส่วนล้มเหลว มีการติดเชื้อรุนแรง หรือประสบอุบัติเหตุสาหัส จึงต้องมีอุปกรณ์ช่วยพยุงชีวิตผู้ป่วยในภาวะวิกฤติ เช่น เครื่องฟอกออกซิเจนในเลือดแทนปอด เครื่องล้างไต เป็นต้น ในทุก ๆ แผนกของโรงพยาบาลจึงต้องมีไอซียูเป็นส่วนหนึ่งเพื่อรองรับอาการที่ไม่คาดคิด เช่น ไอซียูศัลยกรรม (SICU) ดูแลผู้ป่วยจากอุบัติเหตุหนักที่ต้องเข้าผ่าตัด ไอซียูหัวใจ (CCU) ดูแลผู้ป่วยที่มีอาการหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน (Heart Attack) หรือคนไข้บางรายป่วยทับซ้อนกันหลายระบบ แพทย์เฉพาะทางแต่ละด้านก็จำเป็นต้องเวียนเข้าวอร์ดของแผนกอื่นร่วมด้วย
เจ้าหน้าที่การแพทย์ในห้องไอซียูโมดูลาร์กำลังเวียนเยี่ยมตรวจผู้ป่วยโควิดในแต่ละเตียง
ด้วยความต้องการทางแพทย์ที่สูงและซับซ้อน ทำให้หอผู้ป่วยหนักจะมีทีมแพทย์ 1 ทีมคอยดูแลอยู่ประจำในช่วงวันเวลาราชการ ในขณะที่ช่วงนอกเวลา แพทย์เวรและบุคลากรด้านอื่น ๆ จะเวียนผลัดเข้ามาตามตารางเวรที่ลงไว้ในแต่ละวัน ตั้งแต่แพทย์อายุรกรรมทั่วไป แพทย์เฉพาะทาง พยาบาลและเภสัชกรด้านเวชบำบัดวิกฤติ ตลอดจนนักกายภาพบำบัด นักโภชนาการ และนักเทคนิคการแพทย์ที่คอยเป็นหน่วยสนับสนุนอยู่เบื้องหลัง ฟันเฟืองเหล่านี้มีความสำคัญ และมีความสัมพันธ์ต่อเนื่องกัน พวกเขาต้องทำงานอย่างหนักตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อประคับประคองอาการของผู้ป่วยให้รอดพ้นจากภาวะวิกฤติ
แต่คำว่า ‘วิกฤติ’ ของบางคนก็มาในจังหวะที่ไม่มีใครคาดคิด
“พอคนไข้เข้าห้องน้ำไปเพื่อเปลี่ยนชุด กลายเป็นว่าสักพักคนไข้หมดสติลง เอาเครื่องมาตรวจพบว่าหัวใจเต้นผิดจังหวะอย่างรุนแรง เราช่วยปั๊มกันอย่างเต็มที่ ช็อกไฟฟ้าไปหลายที คนไข้เขาก็ไม่กลับมา ทุกอย่างเกิดขึ้นเร็วมาก ในทีแรกญาติพามาด้วยความเจ็บท้องปวดลิ้นปี่เท่านั้น แต่กลายเป็นว่าเขาต้องสูญเสียคนที่เขารักไป”
‘วศิน วิทยาภาเลิศ’ หรือ ‘หมอวิน’ ขณะนั้นเป็นเพียงแพทย์ใช้ทุนปีที่ 1 ต้องเผชิญกับการสูญเสียครั้งแรกบนเส้นทางเสื้อกาวน์ปักตราคทางูไขว้ ในฐานะแพทย์ เขาต้องแปรผลและรายงานการสูญเสียต่อญาติผู้ตายอย่างซื่อสัตย์ แต่ในฐานะมนุษย์คนหนึ่ง เขาไม่อาจปฏิเสธความเสียใจต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นได้เลย
“ภรรยาที่เข้ามารับตัวคนไข้ไป ตอนเขารู้เขาทรุดลงไปร้องไห้กับพื้นเลย ถามว่าพี่เสียใจไหม พี่เสียใจมากเลยนะ ที่เราไม่สามารถกู้ชีวิตเขากลับคืนมาได้ แต่เราเสียงสั่นไม่ได้ด้วยซ้ำ เราต้องยืนอยู่ตรงนั้น แล้วต้องมั่นใจว่าสิ่งที่เราทำไป มันคือการช่วยเหลืออย่างเต็มที่ในฐานะแพทย์คนหนึ่งแล้ว”
เรื่องราวแห่งการสูญเสียถูกเล่าเป็นฉาก ๆ ผ่านน้ำเสียงที่หนักแน่นและมั่นคง ปัจจุบันเจ้าของน้ำเสียงนี้ได้กลายเป็นแพทย์ใช้ทุนปีที่ 3 แผนกอายุรกรรม แผนกที่ขึ้นชื่อว่าหมอและคนไข้จะพบเจอกันบ่อยเหมือนเป็นญาติกัน เพราะผู้ป่วยในแผนกนี้มักป่วยด้วยโรคเรื้อรัง หรือจำเป็นต้องได้รับการให้ยาเป็นประจำ อาทิ โรคภูมิแพ้ โรคเบาหวาน โรคความดัน เป็นต้น แพทย์อายุรกรรมถือเป็นด่านแรกในการวินิจฉัยโรค ก่อนจะส่งต่อคนไข้ให้กับแพทย์เฉพาะทางด้านอื่น และต้องเวียนตรวจคนไข้ตั้งแต่หอผู้ป่วยนอก ผู้ป่วยใน จนถึงไอซียู
“แต่ถ้าเราเจอคนไข้เยอะ เราก็จะช่วยคนไข้ได้เยอะ” เขาเผยยิ้มออกมา
“เพราะภาวะหัวใจเป็นภาวะฉุกเฉิน หากมีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญทางโรคหัวใจโดยตรง อาจเป็นโอกาสช่วยผู้ป่วยที่มีภาวะวิกฤติได้ทันท่วงที พี่จึงอยากเป็นแพทย์อายุรกรรมต่อยอดโรคหัวใจ”
แพทย์จบใหม่จะใช้เวลา 3 ปีเพื่อเรียนรู้ศาสตร์อายุรกรรมทั่วไป หากต่อเฉพาะทางด้านหัวใจต้องเรียนต่อยอดเพิ่มอีก 2 – 4 ปี
จากเหตุการณ์สูญเสียด้วยภาวะหัวใจล้มเหลวในครั้งนั้น ไม่ทำให้ความมุ่งมั่นของแพทย์จบใหม่คนหนึ่งต้องหยุดลง กลับยิ่งผลักดันให้เขากล้าเผชิญหน้ามากขึ้น เจอผู้ป่วยให้มากขึ้น วินิจฉัยให้เยอะขึ้น สั่งสมเป็นความรู้ เพื่อมุ่งสู่การเป็น ‘หทัยแพทย์’ (Cardiologist) หรือหมอโรคหัวใจ เพื่อให้คนไข้ในหอผู้ป่วยวิกฤติเหล่านั้นได้กลับไปพบคนที่เขารักอีกครั้งหนึ่ง
หนึ่งคุณภาพชีวิตที่สูญเสีย เพื่ออีกหลายชีวิตที่รอรักษา
เสียงเครื่องวัดคลื่นไฟฟ้าหัวใจที่ดังเป็นจังหวะระคนกับเสียงรถเข็นลากเข้าออกของบรรดาพยาบาลที่เวียนตรวจไข้ผู้ป่วยตามเตียงต่าง ๆ ภายในหอผู้ป่วยวิกฤติแห่งนี้ มีเพียงเสียงเครื่องช่วยพยุงชีพเหล่านี้เท่านั้นที่ถูกอนุญาตให้ใช้เสียงได้ คำว่า “วิกฤติ” ถูกทำให้สงบเงียบที่สุด นักรบชุดขาวยังต้องปฏิบัติงานด้วยความใจเย็น ทั้งรักษาอาการป่วยคนไข้และเยียวยาจิตใจของญาติผู้เฝ้ารอ ตลอด 24 ชั่วโมงแห่งความเป็นความตายนี้มีหมอ-พยาบาลผลัดเปลี่ยนเวรกันไม่ขาดสาย ‘ตรวจเช้า ราวด์เย็น เข้าเวรดึก’ กลายเป็นกิจวัตรทั่วไปที่แพทย์ต้องรับผิดชอบ คุณภาพชีวิตของบุคลากรการแพทย์ภายในหอผู้ป่วยนี้จึงมีสถานการณ์ที่น่าเป็นห่วง ไม่ต่างจากอาการของผู้ป่วยในไอซียู
ย้อนกลับไปเมื่อ 2 ปีที่แล้ว สมัยที่หมอวินเป็นแพทย์ใช้ทุนปีแรกอยู่ในโรงพยาบาลประจำจังหวัดแห่งหนึ่ง ขณะนั้นมีการแพร่ระบาดของไข้เลือดออก ทำให้โรงพยาบาลต้องรับภาระหนักเกินจำนวนแพทย์ แม้คนไข้ส่วนใหญ่อายุไม่เยอะมาก แต่กลับมีภาวะช็อกจากโรคดังกล่าว เขาต้องดูแลคนไข้ไอซียูพร้อมกัน 8 เตียง คอยตัดสินใจว่าคนไข้แต่ละคนควรได้รับปริมาณสารน้ำมากเท่าไหร่ เพราะให้มากไปก็ไม่ได้ ให้น้อยไปก็เป็นอันตราย
จากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่ผ่านมา ทำให้ห้องไอซียูเต็มไปด้วยผู้ป่วยที่รอการรักษา
การดูแลผู้ป่วยจำนวนมากติดต่อกันหลายชั่วโมง หรือแม้กระทั่งหลายวันติดต่อกันโดยไม่ได้พัก นอกจากจะเสียสุขภาพกายและจิตจากการขาดการพักผ่อนที่เหมาะสมแล้ว ยังส่งผลกระทบต่อการดูแลรักษาผู้ป่วย โดยเฉพาะในบริบทของโรงพยาบาลต่างจังหวัดที่ขาดแคลนบุคลากรมากกว่าในตัวเมือง เขาในฐานะแพทย์ใช้ทุนต้องตัดสินใจเพียงลำพังอยู่บ่อย ๆ ซึ่งสามารถเกิดการตัดสินใจที่ผิดพลาดได้โดยง่าย ทำให้แพทย์อยู่ในสภาวะที่ต้องยอมเสียสละคุณภาพชีวิตตนเอง เพื่อให้ระบบการรักษาเดินหน้าต่อไปได้
หมอวินเสนอความเห็นว่า การดูแลผู้ป่วยไอซียู ให้ได้คุณภาพ หมอ 1 คนไม่ควรดูแลเกิน 2-3 เตียง เพราะตอนฝึกในโรงเรียนแพทย์ คนไข้หอผู้ป่วยไอซียูมีแค่ 8 คน แต่มีหมอที่ทำงานอยู่ในนั้นประมาณ 4 คน ร่วมช่วยกันดูแล เพราะคนไข้แต่ละคนมีความเจ็บป่วยที่ซับซ้อน ไม่ว่าจะเป็นสมอง หัวใจ ปอด ซึ่งโรคเหล่านี้อาศัยการดูแลกับหมอเฉพาะทางร่วมด้วย
“พี่ว่าเรื่องค่าตอบแทนสำคัญมาก”
“ไม่ว่าจะเป็นหมอที่ไหนก็งานหนักทั้งนั้น ไหนจะต้องรับมือความเสี่ยงเรื่องโรคภัย ความเครียด ความกดดัน ถ้าเราทำงานหนักแล้วมีค่าตอบแทนที่สมน้ำสมเนื้อ เราจะมีกำลังใจที่อยากจะทำ แต่ถ้าเราทำงานหนักแล้วค่าตอบแทนค่อนข้างต่ำกว่าสิ่งที่เราต้องเผชิญ อย่างไรหมอก็เป็นทุกข์ ส่วนตัวอยู่ในระบบรัฐมา 3 ปี มองว่าได้ค่าตอบแทนน้อยกว่าที่ควรจริง ๆ” เขาแค่นหัวเราะออกมาด้วยความเจ็บใจ
ค่าตอบแทนของแพทย์จบใหม่ส่วนมากจะแบ่งออกเป็น 5 ส่วน คือ เงินเดือนพื้นฐาน เบี้ยขยัน เงินประจำตำแหน่ง เงินเวร และเงินค่าไม่ประกอบเวชกรรม (เงินที่รัฐบาลจ่ายให้หมอที่เลือกไม่ทำเอกชน) โดยเงินเดือนพื้นฐานของแพทย์คิดได้ราว ๆ ร้อยละ 30 จากเงินเดือนทั้งหมด ทั้งนี้ เงินจากส่วนอื่น ๆ อย่างเงินเวร หรือเบี้ยขยัน เป็นเงินที่สัมพันธ์กับข้อกำหนดของการทำงาน เพราะหลายโรงพยาบาลกำหนดจำนวนเวรขั้นต่ำที่แพทย์ต้องอยู่ประจำตามวอร์ดหรือห้องฉุกเฉินไปแล้ว ทำให้เดือนหนึ่งแพทย์ต้องทำงานไม่ต่ำกว่า 320 ชั่วโมงตามกำหนดของแพทยสภา แพทย์จบใหม่นั้นได้ค่าจ้างต่อชั่วโมงอยู่ที่ร้อยปลาย ๆ และหากเป็นโรงพยาบาลต่างจังหวัดที่ค่อนข้างขาดแคลนแพทย์อย่างที่หมอวินเคยไปประจำการอยู่ ชั่วโมงการทำงานก็จะยิ่งทวีคูณมากขึ้น
เคราะห์ดีที่สถานการณ์ดังกล่าวผ่านไปได้ แต่ในปีถัดมา ทันทีที่แพทย์หนุ่มย้ายจากโรงพยาบาลต่างจังหวัดกลับสู่กรุงเทพฯ ฉากสมรภูมิของนักรบชุดขาวได้เคลื่อนสู่การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ซึ่งอยู่ในจุดวิกฤติที่สุดเมื่อเดือนกรกฎาคมปี 2564 รายงานจาก The Standard เผยว่า ในกรุงเทพฯ ปริมณฑล และบางจังหวัดที่มีการระบาด จำนวนเตียงไอซียู และ กึ่งไอซียู ไม่เพียงพอรองรับผู้ป่วย โดยเฉพาะในกรุงเทพฯ ที่จำนวนผู้ป่วยเกินขีดจำกัดไปแล้ว 5 เท่า ทำให้หลายโรงพยาบาลต้องปิดรับผู้ป่วย ความตึงเครียดที่สุดของแพทย์จึงไม่ใช่เพียงภาระในการดูแลผู้ป่วยที่มากเกิน แต่รวมถึงการต้องจำใจปฏิเสธการรักษาคนไข้อีกด้วย
“อย่างแรกสภาพจิตใจทุกคนในไอซียู มันเครียด มันเครียดเวลาเราทำงานเราทำงานอยู่ในห้องแคบ ต้องอยู่ในตู้ที่มัน…”
ห้องไอซียูโมดูลาร์
หลายโรงพยาบาลในกรุงเทพฯ สร้างห้องไอซียูโมดูลาร์เพื่อรองรับผู้ป่วยโรคโควิด-19 โดยเฉพาะ
เขาชะงัก แล้วชี้นิ้วไปยังบริเวณห้องสีขาวที่ตั้งเรียงรายอยู่บริเวณลานกว้างซึ่งแต่ก่อนเป็นพื้นที่โล่งใจกลางโรงพยาบาล ได้ถูกแปรสภาพเป็นห้องไอซียูความดันลบ (ICU Negative Pressure Room) เพื่อรองรับปริมาณผู้ป่วยโควิดในกทม. ที่เพิ่มขึ้นอย่างมหาศาล ปัจจุบันกลายเป็น ‘อนุสรณ์สถาน’ ที่ยังใช้งานอยู่ คอยบอกเล่าทุกความสูญเสียที่เกิดขึ้นและจารึกความเข้มแข็งของบุคลากรทางการแพทย์ และแน่นอน รวมถึงประชาชนทุกคนด้วย
“แพทย์ทุกคนเวลาเข้าไปพบคนไข้เราต้องใส่ชุดป้องกัน แค่หายใจก็ลำบาก ไม่ได้สะดวกสบาย สำคัญคือ เราเครียดที่เราดูแลคนไข้ได้ไม่เหมือนคนทั่วไป แต่ก่อนเราเข้าหาคนไข้ได้แบบใกล้ชิด ไถ่ถามสารทุกข์สุขดิบ แต่กลายเป็นว่าตอนนี้เราไม่สามารถเดินเข้าไปหาคนไข้ได้ตามต้องการ”
ชุด PPE สีขาว ถุงมือยาง หน้ากากที่คับแน่น และจอแก้วที่คอยจับภาพเตียงคนไข้ทุกเตียง ผลักให้แพทย์ พยาบาล และผู้ช่วยพยาบาลต้องเหินห่างจากการดูแลมนุษย์ โรคระบาดทำให้มนุษย์ขาดสัมผัสและความสัมพันธ์ ความโดดเดี่ยวเริ่มสั่งสมเป็นความเครียด จนเกิดเป็นความผิดพลาดในการรักษา
เจ้าหน้าที่ทางการแพทย์กำลังสวมชุดป้องกันก่อนเข้าไปรักษาผู้ป่วยโควิด-19
เจ้าหน้าที่การแพทย์สื่อสารด้วยการเขียนกระดานแทนการพูดสั่งการ
กล้องวงจรปิดที่ช่วยตรวจสอบดูแลผู้ป่วยแต่ละเตียงอย่างใกล้ชิด
แน่นอนว่าผลกระทบของความเครียดนี้เกิดขึ้นกับบุคลากรในทุกพื้นที่เขตสุขภาพ แต่แทบไม่มีแนวทางการช่วยเหลือจากภาครัฐ หมอวินแสดงความลังเลเมื่อต้องเอ่ยถึงมาตรการการช่วยเหลือเรื่องสุขภาพจิตของบุคลากรทางการแพทย์จากภาครัฐ เพราะเท่าที่ผ่านมา เขานึกออกเพียงการช่วยเหลือกันเองภายในโรงพยาบาล เช่น หากมีบุคลากรคนใดต้องการความช่วยเหลือ องค์กรก็จะจัดหาให้เป็นกรณีไป สิ่งที่ควรได้รับความใส่ใจตั้งแต่ต้น กลับกลายเป็นบุคลากรต้องเป็นผู้เอ่ยปากร้องขอด้วยตัวเอง
“ก็เป็นเรื่องของสวัสดิการอีกอยู่ดี” เขาเอ่ย ก่อนหยุดไปครู่หนึ่ง
“อย่างตอนทำงานช่วงโควิด เรามีข้าว เรามีขนมบริจาค ยอมรับว่าสิ่งที่มันได้รับบริจาคมามันก็ดี มีประโยชน์นะ และมันถึงผู้รับเหมือนกัน แต่เรามองว่าทำไมจะต้องให้คนอื่นมาบริจาค ทำไมไม่ใช่พวกเรากันเองที่จะจัดสรรซึ่งกันและกัน ซึ่งจะยั่งยืนและเป็นระบบกว่า เหมือนที่พี่ตูนวิ่ง จุดประสงค์เขาดีนะ แต่กลายเป็นว่ารัฐลอยตัว ไม่ต้องช่วยก็ได้เพราะมีคนมาช่วยแล้ว”
วศิน วิทยาภาเลิศ แพทย์ใช้ทุนปีที่ 3
เจ้าของน้ำเสียงยอมรับและตระหนักดีว่าในวิกฤติสาธารณสุขเช่นนี้ หมอหลาย ๆ คนคงไม่อาจเรียกร้องถึงคุณภาพชีวิตแบบปุถุชนคนทั่วไปได้ ในฐานะแพทย์ อาจต้องอดทนอยู่ในชุดที่อึดอัด หน้ากากที่รัดแน่น และกินข้าวเพียงลำพังต่อไปอีกสักระยะ แต่หากจะมีการช่วยเหลือใดส่งมาถึงพวกเขาที่อยู่แนวหน้าแล้ว หมอวินและแพทย์อีกหลายคนหวังถึงการช่วยเหลือเชิงโครงสร้าง มากกว่าการบริจาคตามกาล เพราะนั่นเป็นหน้าที่ของภาครัฐที่ต้องจัดสรรให้ตั้งแต่แรก ไม่ใช่รอให้ประชาชนชิงตัดหน้าช่วยเหลือไปเสียก่อน สิ่งนี้สะท้อนว่าสาธารณสุขไทยล้มเหลว ในการสร้างสุขและสวัสดิการที่เพียงพอให้คนที่ใกล้ชิดกับกระทรวงมากที่สุด
“ในแง่ผลประโยชน์ พี่มองว่ามันดี มันดีอยู่แล้วเพราะว่าคนช่วยเหลือกัน แต่ถ้าในเชิงระบบพี่ว่ามันพัง”
สาธารณสุขไทยมองการณ์ใกล้ไม่พ้นเขตปริมณฑล ขณะที่แพทย์ชนบทถูกทิ้งไว้ข้างหลัง
“พี่ให้คะแนนสาธารณสุข 5 เต็ม 10 พอ”
จากประสบการณ์ของแพทย์อายุรกรรมที่ต้องคลุกคลีอยู่วอร์ดผู้ป่วยโควิดร่วมเดือน เขาแจงสาเหตุว่า คะแนนอีกครึ่งหนึ่งที่หายไปเพราะพื้นที่ต่างจังหวัดถูกลืม ในสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิดที่ผ่านมา กระทรวงสาธารณสุขออกมาตรการสอดคล้องกับตัวเมือง แต่ขัดแย้งกับพื้นที่ต่างจังหวัด ทำให้หลายพื้นที่ชนบทต้องเผชิญกับภาวะผู้ป่วยล้นโรงพยาบาลแต่ขาดการสนับสนุนจากส่วนกลางที่มากพอ
“พอช่วงระยะหนึ่งคนไข้ติดเชื้อโควิดน้อยลงเรื่อย ๆ เขาก็ประกาศปิดไอซียูในกรุงเทพ แต่เขาไม่เห็นตัวเลขผู้ติดเชื้อที่อยู่ต่างจังหวัด ทั้งที่คนต่างจังหวัดต้องการไอซียูเยอะขึ้นเรื่อย ๆ แล้วออกนโยบายมาว่าตอนนี้หย่อนมาตรการได้แล้วนะ กลับกลายเป็นว่ามันเพิ่มจำนวนผู้ติดเชื้อรอบนอก และเขาก็ให้พวกสาธารณสุขตามต่างจังหวัดจัดการกันเอง”
ในส่วนของจำนวนแพทย์ในชนบทก็สะท้อนถึงปัญหาการทำงานของบุคลากรได้เป็นอย่างดี ข้อมูลจากระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ทรัพยากรสุขภาพ เมื่อเดือนตุลาคม 2565 เผยว่า สัดส่วนแพทย์ต่อประชากรทั่วประเทศเท่ากับ 1 ต่อ 980 คน ซึ่งอยู่ในเกณฑ์มาตรฐานสากล แต่ในความเป็นจริงแล้ว หากนำเฉพาะจำนวนแพทย์ในโรงพยาบาลรัฐฯ มาหารเฉลี่ยต่อประชากรจะได้สัดส่วนอยู่ที่ 1 ต่อ 2,022 นอกจากนี้ แพทย์ไม่ได้กระจายอย่างเท่ากันทุกพื้นที่ ในบางจังหวัดมีสัดส่วนแพทย์ต่อประชากรต่ำกว่าค่าเฉลี่ย 2-3 เท่า ขณะที่กรุงเทพฯ มีอัตราส่วนแพทย์โรงพยาบาลรัฐฯ ต่อประชากรอยู่ที่ 1 ต่อ 720 คน หรือมีจำนวนพอ ๆ กับแพทย์ที่ประจำอยู่ในโรงพยาบาลรัฐฯ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือทั้งภูมิภาค (ทั้งนี้ ตัวเลขที่นำมาคำนวนไม่ได้นับสัดส่วนของประชากรแฝงและประชากรที่มีภูมิลำเนาอยู่ต่างจังหวัด)
รศ.นพ. เมธี วงศ์ศิริสุวรรณ ผู้ช่วยเลขาธิการแพทยสภาให้ความเห็นกับ นิสิตนักศึกษา สถิติดังกล่าวสะท้อนว่าแพทย์ส่วนใหญ่เลือกกระจุกอยู่ที่ไข่แดงอย่างกทม. เนื่องจากปัจจัยของคุณภาพชีวิตที่สะดวกสบายกว่าต่างจังหวัด และเมื่อมองลึกลงไปอีก จะพบว่ามีแพทย์อีก 34,752 คนเลือกทำงานอยู่ในรพ. เอกชนซึ่งมีจำนวนพอ ๆ กับแพทย์ในโรงพยาบาลรัฐฯ ตัวเลขเหล่านี้บอกเป็นนัยสำคัญว่า ประเทศไทยมีจำนวนแพทย์และมีอัตราการผลิตแพทย์ที่มากเพียงพอ แต่ระบบรัฐสวัสดิการที่ละเลยคุณภาพชีวิต หมอต้องทำงานหนัก และเสี่ยงโดนฟ้องได้ง่ายหากเกิดข้อผิดพลาด ทำให้หมอจำนวนมากเลือกที่จะหลีกเลี่ยงการทำงานในโรงพยาบาลรัฐฯ โดยเฉพาะโรงพยาบาลรัฐฯ ในต่างจังหวัด
รศ.นพ. เมธี วงศ์ศิริสุวรรณ ผู้ช่วยเลขาธิการแพทยสภา ให้สัมภาษณ์กับนิสิตนักศึกษา
“สัดส่วนหมอโรงพยาบาลรัฐฯ ในกรุงเทพฯ ตอนนี้เป็น 1 : 720 เมื่อเทียบกับหมอในชุมชนแล้ว บางชุมชนมีประชากรเกือบหมื่น แต่มีหมอในรพ. แค่ 2 คน แบ่งเป็นผู้บริหารคนนึง อีกคนดูแลคนไข้ เท่ากับว่าหมอ 1 คนทำงานเท่ากับหมอ 10 คน แต่ได้เงินเดือนเท่ากัน”
“หากรักษาผิดพลาด หมอต้องรับผิดชอบตามกฎหมาย เพราะกฎหมายมองอาชีพหมอเป็นอาชีพปกติเหมือนอาชีพอื่น เวลาทำพลาดหมอรับผิดเหมือนคนปกติ แต่เวลาทำงาน หมอทำงานเหมือนคนไม่ปกติ” นายแพทย์เมธี กล่าว
ชั่วโมงการทำงานที่เกินคน คนไข้ล้น แพทย์จนปัญญาจะรับไหว
ด้วยจำนวนแพทย์ที่ขาดแคลนในเขตต่างจังหวัด ในชุมชนห่างไกลอาจจะมีแพทย์ประจำเพียง 1 – 2 คน ทำให้บ่อยครั้งแพทย์ในพื้นที่ชนบทต้องทำงานเกิน 24 ชม. ติดต่อกัน โดยข้อมูลจากการสำรวจภาระงานของบุคลากรการแพทย์ของ รศ.นพ.เมธี เมื่อปี 2562 – 2564 พบว่าจากการสอบถามแพทย์ 1,105 ทั่วประเทศ ราว 3 ใน 5 ต้องทำงานเกิน 80 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ และอีกเกือบ 1 ใน 3 ทำงานเกินกว่า 100 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ และจะยิ่งทำงานหนักมากขึ้นหากอยู่ในพื้นที่ชนบท
ทางแพทยสภาเล็งเห็นว่าแพทย์ 1 คนไม่ควรอยู่เวรเกิน 24 ชั่วโมง หากมีความจำเป็น แพทย์ต้องได้รับการหยุดพักอย่างน้อย 4 ชั่วโมง อย่างไรก็ดีแนวทางดังกล่าวยังมีสถานะเพียงข้อแนะนำ ยังไม่ใช่กฎหมายที่บังคับใช้อย่างชัดเจน โรงพยาบาลรัฐฯ ที่อยู่ใต้กระทรวงสาธารณสุข หากจะนำร่องแนวทางดังกล่าวต้องผ่านการอนุมัติจากกระทรวงฯ ก่อน ทำให้บางโรงพยาบาลยังคงต้องให้หมอเข้าเวรติดต่อกัน 24 ชั่วโมง โดยไม่มีหยุดพัก
“เรา (แพทยสภา) ก็ไม่รู้จะทำให้ดีกว่านี้ยังไงด้วยอำนาจที่เรามีอยู่ ถามว่าอยากให้ออกเป็นกฎหมายไหม คำตอบคือ หมอที่เรียกร้องมาก็อยาก ทางแพทยสภาก็อยาก”
“แต่การจะเป็นกฎหมายได้ มันติดปัญหาสำคัญคือ กระทรวงสาธารณสุขเขาชี้แจงว่า คนไม่พอ เพราะว่าถ้าบอกให้หมอหยุด ก็ต้องหาหมอมาเพิ่มเพราะคนไข้มาไม่หยุด ปัญหาคือมันไม่มีหมอมาทำงานแทนในช่วงที่หมอคนหนึ่งออกไปเพราะอัตรากำลังไม่พอ สุดท้ายถึงออกเป็นกฎหมายก็จะบังคับใช้ไม่ได้จริง” รศ.นพ. เมธี ระบุ
แพทยสภาอาจเป็นกระบอกเสียงให้กับแพทย์ได้ แต่อำนาจการออกนโยบายยังอยู่ที่กระทรวงสาธารณสุข
ทว่า ทางแพทยสภาเชื่อว่าประเทศไทยผลิตแพทย์เกินพอแล้ว นายแพทย์เมธีชี้แจงว่า ในปีที่ผ่านมาโรงเรียนแพทย์สามารถผลิตแพทย์จบใหม่มามากกว่าปีละ 3,000 คน และจะเพิ่มเป็น 4,000 คน ในไม่เกิน 10 ปีนี้ คำว่า “หมอไม่พอ” ของกระทรวงสาธารณสุขนั้นเป็นความจริงที่กล่าวไม่หมด เพราะแท้จริงแล้ว โรงพยาบาลใต้สังกัดสาธารณสุขได้รับอัตราจ้างหมอต่ำกว่าภาระงานที่แต่ละโรงพยาบาลแบกรับ ซึ่งสวนทางกับจำนวนคนไข้ที่เพิ่มสูงขึ้นหลังจากประเทศไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุระดับสุดยอด
“พูดง่าย ๆ ก็คือ งานมีเยอะ แต่จ้างคนน้อย”
รศ.นพ. เมธี ขยายความว่า นโยบายการลดอัตราจ้าง เป็นนโยบายที่ติดพันมาแต่สมัยวิกฤติต้มยำกุ้ง เพื่อลดค่าใช้จ่ายของรัฐโดยการลดอัตราการจ้างข้าราชการในทุกกระทรวง รวมไปถึงกระทรวงสาธารณสุขด้วย แต่ปัญหาคือเมื่อรัฐลดอัตราจ้าง รัฐลดพร้อมกันทั่วประเทศ ไม่ได้มองว่าในแต่ละพื้นที่มีความต้องการแพทย์มากน้อยต่างกัน จนทำให้เกิดปัญหาแพทย์ขาดแคลนในพื้นที่ต่างจังหวัด และแม้รัฐจะกลับมาเพิ่มอัตราจ้างก็ทำไม่ได้แล้วเพราะติดปัญหาดุลงบประมาณที่ขาดแคลนหลายปีติดต่อกัน ในขณะที่พื้นที่ไข่แดงอย่างกรุงเทพฯ แม้จะมีสัดส่วนแพทย์ที่ดูเหมือนจะเพียงพอต่อประชากร (1 : 720 คน) แต่ด้วยจำนวนประชากรแฝง แรงงานจากต่างจังหวัดที่เข้ามาอยู่อาศัย ตลอดจนการโอนย้ายผู้ป่วยหนักเข้ามารักษาในส่วนกลาง ทำให้จำนวนแพทย์ในโรงพยาบาลรัฐฯ ในกรุงเทพฯ ยังอยู่สภาวะปริ่มน้ำ ซึ่งทำให้มีแพทย์จำนวนมากโหมงานหนักเพื่อจะให้การรักษาคนไข้ได้ทันท่วงที
ดังนั้น ด้วยระบบสวัสดิการที่ไม่แยแสคุณภาพชีวิตแพทย์ การไม่สร้างแรงจูงใจให้แพทย์กระจายตัวออกต่างจังหวัด และการคงอัตราจ้างไว้เท่าเดิม จึงทำให้แพทย์น้ำดีไหลออกนอกระบบรัฐฯ มากขึ้นเรื่อย ๆ
“ด้วยตัวเลขของหมอจบใหม่ที่จะเพิ่มเป็น 4,000 คนต่อปี ยิ่งทำให้รู้ว่าแพทย์ไม่ได้ขาด แต่แพทย์แค่หนีงานที่มีคุณภาพชีวิตต่ำ ไปอยู่ในที่ที่มีคุณภาพชีวิตที่เขาพอรับได้”
รศ.นพ. เมธี วงศ์ศิริสุวรรณ ผู้ช่วยเลขาธิการแพทยสภา
การมาถึงของสังคมผู้สูงอายุระดับสุดยอด แพทย์ต้องรับมือกับจำนวนผู้ป่วยที่มากขึ้นทุกวัน
แพทย์จำเป็น: เมื่อรัฐไทย ผลักให้หมอจบใหม่เผชิญหน้ากับความเสี่ยง
ระยะเวลาการเรียนรู้ในโรงเรียนแพทย์ 6 ปี ชั้นปีที่ 1 – 3 จะเป็นการเรียนวิทยาศาสตร์ทั่วไป เรียนกายวิภาค เรียนยาเบื้องต้น เสมือนเป็นการเรียนรู้ทฤษฎีเบื้องต้นของการเป็นแพทย์ ในชั้นนี้จะเรียกกันว่า Pre-Clinic พอก้าวเข้าสู่ชั้นปีที่ 4 และ 5 นักศึกษาแพทย์จะได้สวมชุดกาวน์เข้าฝึกปฏิบัติในโรงพยาบาลตามแผนกต่าง ๆ และต้องนำวิชาความรู้ที่ได้มาทั้งหมดมาใช้ในปีที่ 6 ) ในฐานะ Extern หรือนักศึกษาแพทย์เวชปฏิบัติที่จะต้องทำการรักษาด้วยตัวเองแล้วบ้าง แต่การตัดสินใจทั้งหมดยังอยู่ที่อาจารย์แพทย์ แพทย์ใช้ทุน หรือแพทย์ประจำบ้านที่แต่ละคนสังกัด ซึ่ง Extern ทุกคนต้องได้รับการฝึกฝนหัตถการตามที่ระบุไว้ในเกณฑ์ของแพทยสภา เช่น การเจาะน้ำในช่องท้อง การเจาะไขสันหลัง การเย็บแผล หรือการใส่ท่อช่วยหายใจ เป็นต้น ซึ่งแน่นอนว่านักศึกษาแพทย์เหล่านี้จะได้ใช้เวลาอย่างเต็มที่ในการเรียนรู้ก่อนที่จะออกจากโรงเรียนแพทย์
เสื้อกาวน์สามารถบอกถึงระดับตำแหน่งของแพทย์ได้ อย่างกาวน์แขนสั้นคือเครื่องแบบของแพทย์ใช้ทุน (Intern) หรือแพทย์เรียนต่อเฉพาะทาง
หมอวินเล่าให้ฟังว่า ในชั่วข้ามคืนที่เปลี่ยนคำนำหน้าจาก นศพ. (นักศึกษาแพทย์) เป็น นพ./พญ. (นายแพทย์/แพทย์หญิง) หรือเป็นแพทย์ใช้ทุน (Intern) อยู่ตามโรงพยาบาล ทุกสิ่งที่เคยทำไม่ได้เมื่อวาน วันนี้ต้องทำให้ได้ และจะไม่มีคำว่าไม่ได้อีกต่อไป ซึ่งชีวิตของแพทย์ใช้ทุนจะมีความกดดันมากขึ้นเป็นเท่าตัว เพราะประสบการณ์ยังไม่แน่น แต่กลับต้องเจอเคสหัตถการยาก ๆ หรือต้องเข้าอยู่เวรฉุกเฉินตามโรงพยาบาลต่างจังหวัด
“สิ่งที่กดดันที่สุดคือ ในชั่วข้ามคืน จากคนที่ไม่เคยตัดสินใจในการรักษามาก่อน ตอนนี้การตัดสินใจเป็นของเราแล้ว ทุกอย่างเรารับผิดชอบเองหมด หลาย ๆ ครั้งจะเจอว่าแพทย์ใช้ทุนมักได้รับแรงกดดันจากสตาฟ (แพทย์เฉพาะทาง) บางครั้งเราทำไม่ได้ เราก็อยากได้ความช่วยเหลือจากสตาฟ…”
“แต่สตาฟไม่มา เขาบอกว่า แค่นี้คุณต้องทำให้ได้”
นอกจากนี้ สังคมแบบลำดับขั้นในโรงเรียนแพทย์ ยังส่งผลต่อสังคมในสถานที่ทำงานจริงอย่างโรงพยาบาลแพทย์จบใหม่ต้องเผชิญกับภาวะกดดันจากคนไข้ปริมาณมากในต่างจังหวัด ร่วมกับการกดดันจากรุ่นพี่สายอาชีพเดียวกัน หมอวินกล่าวเสริมว่า ด้วยคำพูดที่เน้นสร้างแรงกดดัน ลดทอนกำลังใจกัน คำดูถูก ถากถาง ก่อให้เกิดความสูญเสียทั้งตัวแพทย์ และตัวคนไข้เอง แน่นอนว่าการปล่อยให้แพทย์ใช้ทุนที่ยังไม่มีประสบการณ์ฝืนทำหัตถการหรือตัดสินใจอะไรที่เสี่ยง คนไข้จะไม่ได้รับการรักษาที่ดีที่สุด และตัวแพทย์เองจะยิ่งเสียใจ ในบางกรณีนำไปสู่การทำร้ายร่างกายกัน หรือบางคนตัดสินใจจบชีวิตก็มี
รศ.นพ. เมธี ได้กล่าวเสริมว่า สาธารณสุขมีความจำเป็นต้องเร่งผลิตหมอให้ทันต่อความต้องการ จึงต้องนำแพทย์ใช้ทุนจบใหม่ไปฝึกเพิ่มพูนทักษะที่ต่างจังหวัด ควบคู่กับการฝึกรับมือกับสถานการณ์จริง แต่ทั้งนี้ ตนเองก็ไม่ได้เห็นด้วยต่อข้ออ้างที่ว่า ‘หมอไม่พอ เลยต้องยิ่งผลิตเพิ่ม’ เพราะความเป็นจริงคือแพทย์ผลิตออกมามาก แต่ไหลออกนอกระบบไปต่างหาก
“ประเทศไทยเอาหมอที่ประสบการณ์น้อยที่สุดไปอยู่ในที่เสี่ยงที่สุด อันตรายที่สุด เพื่อเสี่ยงกับการฟ้องร้องและความผิดพลาดมากที่สุด เพราะห้องฉุกเฉินมันต้องมีการตัดสินใจแค่เสี้ยวนาทีซึ่ง โอกาสผิดพลาดมีสูงมากอยู่แล้วสำหรับหมอจบใหม่ ซึ่งตรงนี้ทางเรา (แพทยสภา) ก็เห็นด้วยว่าควรแก้ไข แต่พูดตรง ๆ เพียงแค่บอกว่าจะไม่ส่งหมอจบใหม่ไปอยู่ต่างจังหวัด คนที่อยู่ตรงนั้นก็จะโวยกลับมาว่าแล้วใครจะมารับช่วงต่อ”
ในขณะที่หมอวินเชื่อว่า แพทย์ที่อยู่ในระบบที่ใช้อำนาจนิยมกับรุ่นน้องจะค่อย ๆ หมดไปเรื่อย ๆ และเชื่อว่าการจะเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมเหล่านี้ต้องเริ่มต้นที่รุ่นตนเอง และก็ยังเชื่อมั่นว่าวัฒนธรรมส่งต่อความกดดันนี้มีรากฐานมาจากคุณภาพชีวิตของหมอที่ย่ำแย่ จนทำให้ทุกคนสื่อสารกันด้วยความรุนแรง หากรัฐจัดสรรให้โรงพยาบาลสามารถอนุญาตให้บุคลากรการแพทย์ได้มีเวลาชีวิตที่ยืดหยุ่นบ้าง มีเงินตอบแทนที่เพียงพอ เขาเชื่อว่าการเปลี่ยนแปลงทั้งในเชิงวัฒนธรรม และเชิงคุณภาพชีวิตของหมอตัวเล็ก ๆ อย่างพวกเขาเองจะดีขึ้นกว่าที่ผ่านมา
“ในบางโรงพยาบาลที่สำเร็จ (ให้แพทย์หยุดพักอย่างน้อย 4 ชม. หากทำงานติดต่อกัน 24 ชม.) เท่าที่รู้จักกับเพื่อน เขาก็มีความสุขมากขึ้น เพราะเหมือนมันมีคนมองเห็นปัญหาและได้ลงมาช่วย แค่นี้ แพทย์ก็ดีใจแล้วจริง ๆ” เขาแค่นหัวเราะเบา ๆ ก่อนจะเอ่ยต่อไปว่า
ภายใต้ระบบสาธารณสุขที่ใหญ่โต ยังมีแพทย์ตัวเล็กอีกมากที่หวังถึงการมีคุณภาพชีวิตที่ดี
“อาชีพพวกเรา มันก็เหมือนอาชีพให้บริการอาชีพหนึ่ง แต่มันไม่ใช่ให้บริการแล้วจบ มันเป็นการให้บริการโดยที่บางครั้งเราต้องยอมที่จะเสีย ‘คุณภาพชีวิตตัวเอง’ เพื่อให้ ‘คุณภาพชีวิตคนอื่น’ ดีขึ้น เช่น อดหลับอดนอนจากการเข้าเวร วันถัดไปเราต้องทำงานอย่างสดใส”
วศิน วิทยาภาเลิศ แพทย์ใช้ทุนปีที่ 3
ตลอดการสนทนากับหมอรุ่นใหม่และหมอรุ่นใหญ่ ทำให้รับรู้ว่า ภายใต้เสื้อกาวน์สีขาวของ ‘หมอวิน’ หรือ ‘หมอเมธี’ ยังมี ‘วิน’ และ ‘เมธี’ คนธรรมดาสามัญที่ไม่ได้มีคำนำหน้าว่านายแพทย์ พวกเขาหวังที่จะได้กินข้าวกับเพื่อนฝูง ได้นอนหลับอย่างเพียงพอ และได้รับค่าตอบแทนที่สมควรแก่เหตุ เช่นเดียวกับหมออีกหลายท่าน พยาบาลอีกหลายชีวิต ที่อุทิศให้กับการดูแลคนไข้จนไม่มีเวลากลับมาดูแลตัวเอง พวกเขาพึงได้รับความสุข และสวัสดิการอย่างที่ควรจะเป็น เพื่อให้สามารถเดินหน้าทำงาน รักษาสุขอนามัยของปวงชน และมีชีวิตที่มีคุณภาพสมกับเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์คนหนึ่ง
อ้างอิง
- CDC. (9 พฤศจิกายน 2560). เข้าถึงได้จาก Cdc.gov: https://www.cdc.gov/ncbddd/birthdefectscount/data.html
- Global Fortification Data Exchange. (24 กันยายน 2563). Data. เข้าถึงได้จาก Fortificationdata.org: https://fortificationdata.org/full-gfdx-datasets/
- Jamie Grierson. (19 กันยายน 2564). Society. เข้าถึงได้จาก Theguardian: https://www.theguardian.com/society/2021/sep/19/folic-acid-to-be-added-to-non-wholemeal-flour-under-new-uk-rules
- Lynn B. Bailey, and Robert J. Berry Krista S. Crider. (15 มีนาคม 2554). เข้าถึงได้จาก Ncbi.nlm.nih.gov: https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC3257747/
- Natural Healthy Concepts. (30 สิงหาคม 2561). เข้าถึงได้จาก NHC: https://www.nhc.com/folic-acid
- U.S. Department of Health & Human Services National. (29 มีนาคม 2564). Factsheets. เข้าถึงได้จาก Ods.od.nih.gov: https://ods.od.nih.gov/factsheets/Folate-HealthProfessional/
- Workpoint TODAY. (2 ตุลาคม 2561). Infographic. เข้าถึงได้จาก Workpointtoday: https://workpointtoday.com/
- ณัฐชลภัณ หอมแก้ว. (17 มกราคม 2565). Interview. เข้าถึงได้จาก The coverage: https://www.thecoverage.info/news/content/3002
- นภาพร พีรกวี มลธิรา อุดชุมพิสัย. (2563). ประสบการณ์การได้รับการดูแลในภาวะวิกฤตของผู้ป่วยในไอซียูทางอายุรกรรม: การวิจัยแบบผสานวิธี. วชิรสารการพยาบาล.
- พญ.มยุรา กุสุมภ์. (1 กุมภาพันธ์ 2559). เข้าถึงได้จาก TMWA: https://www.tmwa.or.th/new/view.php?topicid=432
- พลวุฒิ สงสกุล. (30 กรกฎาคม 2564). Thailand. เข้าถึงได้จาก Thestandard: https://thestandard.co/hospital-crisis-full-icu-room-and-overrun-the-health-system/
- แพทยสภา. (2565). ประกาศแพทยสภาฉบับที่ 46/2565 เรื่อง แนวทางการกำหนดกรอบเวลาการทำงานของแพทย์ภาครัฐ.วารุณี สิทธิรังสรรค์. (27 มิถุนายน 2565). Content. เข้าถึงได้จาก Hfocus: https://www.hfocus.org/content/2022/06/25393
Like this:
Like Loading...
เรื่อง : พีรดนย์ ภาคีเนตร
ภาพ : พีรดนย์ ภาคีเนตร และคนิสรา สุวรรณฉัตร
Intensive Care Unit หรือ ไอซียู เป็นหนึ่งในหอผู้ป่วยที่มีการยกระดับการดูแลมากกว่าหอผู้ป่วยทั่วไป เพราะผู้ป่วยในวอร์ดนี้มักมีภาวะอวัยวะบางส่วนล้มเหลว มีการติดเชื้อรุนแรง หรือประสบอุบัติเหตุสาหัส จึงต้องมีอุปกรณ์ช่วยพยุงชีวิตผู้ป่วยในภาวะวิกฤติ เช่น เครื่องฟอกออกซิเจนในเลือดแทนปอด เครื่องล้างไต เป็นต้น ในทุก ๆ แผนกของโรงพยาบาลจึงต้องมีไอซียูเป็นส่วนหนึ่งเพื่อรองรับอาการที่ไม่คาดคิด เช่น ไอซียูศัลยกรรม (SICU) ดูแลผู้ป่วยจากอุบัติเหตุหนักที่ต้องเข้าผ่าตัด ไอซียูหัวใจ (CCU) ดูแลผู้ป่วยที่มีอาการหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน (Heart Attack) หรือคนไข้บางรายป่วยทับซ้อนกันหลายระบบ แพทย์เฉพาะทางแต่ละด้านก็จำเป็นต้องเวียนเข้าวอร์ดของแผนกอื่นร่วมด้วย
ด้วยความต้องการทางแพทย์ที่สูงและซับซ้อน ทำให้หอผู้ป่วยหนักจะมีทีมแพทย์ 1 ทีมคอยดูแลอยู่ประจำในช่วงวันเวลาราชการ ในขณะที่ช่วงนอกเวลา แพทย์เวรและบุคลากรด้านอื่น ๆ จะเวียนผลัดเข้ามาตามตารางเวรที่ลงไว้ในแต่ละวัน ตั้งแต่แพทย์อายุรกรรมทั่วไป แพทย์เฉพาะทาง พยาบาลและเภสัชกรด้านเวชบำบัดวิกฤติ ตลอดจนนักกายภาพบำบัด นักโภชนาการ และนักเทคนิคการแพทย์ที่คอยเป็นหน่วยสนับสนุนอยู่เบื้องหลัง ฟันเฟืองเหล่านี้มีความสำคัญ และมีความสัมพันธ์ต่อเนื่องกัน พวกเขาต้องทำงานอย่างหนักตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อประคับประคองอาการของผู้ป่วยให้รอดพ้นจากภาวะวิกฤติ
แต่คำว่า ‘วิกฤติ’ ของบางคนก็มาในจังหวะที่ไม่มีใครคาดคิด
“พอคนไข้เข้าห้องน้ำไปเพื่อเปลี่ยนชุด กลายเป็นว่าสักพักคนไข้หมดสติลง เอาเครื่องมาตรวจพบว่าหัวใจเต้นผิดจังหวะอย่างรุนแรง เราช่วยปั๊มกันอย่างเต็มที่ ช็อกไฟฟ้าไปหลายที คนไข้เขาก็ไม่กลับมา ทุกอย่างเกิดขึ้นเร็วมาก ในทีแรกญาติพามาด้วยความเจ็บท้องปวดลิ้นปี่เท่านั้น แต่กลายเป็นว่าเขาต้องสูญเสียคนที่เขารักไป”
‘วศิน วิทยาภาเลิศ’ หรือ ‘หมอวิน’ ขณะนั้นเป็นเพียงแพทย์ใช้ทุนปีที่ 1 ต้องเผชิญกับการสูญเสียครั้งแรกบนเส้นทางเสื้อกาวน์ปักตราคทางูไขว้ ในฐานะแพทย์ เขาต้องแปรผลและรายงานการสูญเสียต่อญาติผู้ตายอย่างซื่อสัตย์ แต่ในฐานะมนุษย์คนหนึ่ง เขาไม่อาจปฏิเสธความเสียใจต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นได้เลย
“ภรรยาที่เข้ามารับตัวคนไข้ไป ตอนเขารู้เขาทรุดลงไปร้องไห้กับพื้นเลย ถามว่าพี่เสียใจไหม พี่เสียใจมากเลยนะ ที่เราไม่สามารถกู้ชีวิตเขากลับคืนมาได้ แต่เราเสียงสั่นไม่ได้ด้วยซ้ำ เราต้องยืนอยู่ตรงนั้น แล้วต้องมั่นใจว่าสิ่งที่เราทำไป มันคือการช่วยเหลืออย่างเต็มที่ในฐานะแพทย์คนหนึ่งแล้ว”
เรื่องราวแห่งการสูญเสียถูกเล่าเป็นฉาก ๆ ผ่านน้ำเสียงที่หนักแน่นและมั่นคง ปัจจุบันเจ้าของน้ำเสียงนี้ได้กลายเป็นแพทย์ใช้ทุนปีที่ 3 แผนกอายุรกรรม แผนกที่ขึ้นชื่อว่าหมอและคนไข้จะพบเจอกันบ่อยเหมือนเป็นญาติกัน เพราะผู้ป่วยในแผนกนี้มักป่วยด้วยโรคเรื้อรัง หรือจำเป็นต้องได้รับการให้ยาเป็นประจำ อาทิ โรคภูมิแพ้ โรคเบาหวาน โรคความดัน เป็นต้น แพทย์อายุรกรรมถือเป็นด่านแรกในการวินิจฉัยโรค ก่อนจะส่งต่อคนไข้ให้กับแพทย์เฉพาะทางด้านอื่น และต้องเวียนตรวจคนไข้ตั้งแต่หอผู้ป่วยนอก ผู้ป่วยใน จนถึงไอซียู
“แต่ถ้าเราเจอคนไข้เยอะ เราก็จะช่วยคนไข้ได้เยอะ” เขาเผยยิ้มออกมา
“เพราะภาวะหัวใจเป็นภาวะฉุกเฉิน หากมีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญทางโรคหัวใจโดยตรง อาจเป็นโอกาสช่วยผู้ป่วยที่มีภาวะวิกฤติได้ทันท่วงที พี่จึงอยากเป็นแพทย์อายุรกรรมต่อยอดโรคหัวใจ”
จากเหตุการณ์สูญเสียด้วยภาวะหัวใจล้มเหลวในครั้งนั้น ไม่ทำให้ความมุ่งมั่นของแพทย์จบใหม่คนหนึ่งต้องหยุดลง กลับยิ่งผลักดันให้เขากล้าเผชิญหน้ามากขึ้น เจอผู้ป่วยให้มากขึ้น วินิจฉัยให้เยอะขึ้น สั่งสมเป็นความรู้ เพื่อมุ่งสู่การเป็น ‘หทัยแพทย์’ (Cardiologist) หรือหมอโรคหัวใจ เพื่อให้คนไข้ในหอผู้ป่วยวิกฤติเหล่านั้นได้กลับไปพบคนที่เขารักอีกครั้งหนึ่ง
หนึ่งคุณภาพชีวิตที่สูญเสีย เพื่ออีกหลายชีวิตที่รอรักษา
เสียงเครื่องวัดคลื่นไฟฟ้าหัวใจที่ดังเป็นจังหวะระคนกับเสียงรถเข็นลากเข้าออกของบรรดาพยาบาลที่เวียนตรวจไข้ผู้ป่วยตามเตียงต่าง ๆ ภายในหอผู้ป่วยวิกฤติแห่งนี้ มีเพียงเสียงเครื่องช่วยพยุงชีพเหล่านี้เท่านั้นที่ถูกอนุญาตให้ใช้เสียงได้ คำว่า “วิกฤติ” ถูกทำให้สงบเงียบที่สุด นักรบชุดขาวยังต้องปฏิบัติงานด้วยความใจเย็น ทั้งรักษาอาการป่วยคนไข้และเยียวยาจิตใจของญาติผู้เฝ้ารอ ตลอด 24 ชั่วโมงแห่งความเป็นความตายนี้มีหมอ-พยาบาลผลัดเปลี่ยนเวรกันไม่ขาดสาย ‘ตรวจเช้า ราวด์เย็น เข้าเวรดึก’ กลายเป็นกิจวัตรทั่วไปที่แพทย์ต้องรับผิดชอบ คุณภาพชีวิตของบุคลากรการแพทย์ภายในหอผู้ป่วยนี้จึงมีสถานการณ์ที่น่าเป็นห่วง ไม่ต่างจากอาการของผู้ป่วยในไอซียู
ย้อนกลับไปเมื่อ 2 ปีที่แล้ว สมัยที่หมอวินเป็นแพทย์ใช้ทุนปีแรกอยู่ในโรงพยาบาลประจำจังหวัดแห่งหนึ่ง ขณะนั้นมีการแพร่ระบาดของไข้เลือดออก ทำให้โรงพยาบาลต้องรับภาระหนักเกินจำนวนแพทย์ แม้คนไข้ส่วนใหญ่อายุไม่เยอะมาก แต่กลับมีภาวะช็อกจากโรคดังกล่าว เขาต้องดูแลคนไข้ไอซียูพร้อมกัน 8 เตียง คอยตัดสินใจว่าคนไข้แต่ละคนควรได้รับปริมาณสารน้ำมากเท่าไหร่ เพราะให้มากไปก็ไม่ได้ ให้น้อยไปก็เป็นอันตราย
การดูแลผู้ป่วยจำนวนมากติดต่อกันหลายชั่วโมง หรือแม้กระทั่งหลายวันติดต่อกันโดยไม่ได้พัก นอกจากจะเสียสุขภาพกายและจิตจากการขาดการพักผ่อนที่เหมาะสมแล้ว ยังส่งผลกระทบต่อการดูแลรักษาผู้ป่วย โดยเฉพาะในบริบทของโรงพยาบาลต่างจังหวัดที่ขาดแคลนบุคลากรมากกว่าในตัวเมือง เขาในฐานะแพทย์ใช้ทุนต้องตัดสินใจเพียงลำพังอยู่บ่อย ๆ ซึ่งสามารถเกิดการตัดสินใจที่ผิดพลาดได้โดยง่าย ทำให้แพทย์อยู่ในสภาวะที่ต้องยอมเสียสละคุณภาพชีวิตตนเอง เพื่อให้ระบบการรักษาเดินหน้าต่อไปได้
หมอวินเสนอความเห็นว่า การดูแลผู้ป่วยไอซียู ให้ได้คุณภาพ หมอ 1 คนไม่ควรดูแลเกิน 2-3 เตียง เพราะตอนฝึกในโรงเรียนแพทย์ คนไข้หอผู้ป่วยไอซียูมีแค่ 8 คน แต่มีหมอที่ทำงานอยู่ในนั้นประมาณ 4 คน ร่วมช่วยกันดูแล เพราะคนไข้แต่ละคนมีความเจ็บป่วยที่ซับซ้อน ไม่ว่าจะเป็นสมอง หัวใจ ปอด ซึ่งโรคเหล่านี้อาศัยการดูแลกับหมอเฉพาะทางร่วมด้วย
“พี่ว่าเรื่องค่าตอบแทนสำคัญมาก”
“ไม่ว่าจะเป็นหมอที่ไหนก็งานหนักทั้งนั้น ไหนจะต้องรับมือความเสี่ยงเรื่องโรคภัย ความเครียด ความกดดัน ถ้าเราทำงานหนักแล้วมีค่าตอบแทนที่สมน้ำสมเนื้อ เราจะมีกำลังใจที่อยากจะทำ แต่ถ้าเราทำงานหนักแล้วค่าตอบแทนค่อนข้างต่ำกว่าสิ่งที่เราต้องเผชิญ อย่างไรหมอก็เป็นทุกข์ ส่วนตัวอยู่ในระบบรัฐมา 3 ปี มองว่าได้ค่าตอบแทนน้อยกว่าที่ควรจริง ๆ” เขาแค่นหัวเราะออกมาด้วยความเจ็บใจ
ค่าตอบแทนของแพทย์จบใหม่ส่วนมากจะแบ่งออกเป็น 5 ส่วน คือ เงินเดือนพื้นฐาน เบี้ยขยัน เงินประจำตำแหน่ง เงินเวร และเงินค่าไม่ประกอบเวชกรรม (เงินที่รัฐบาลจ่ายให้หมอที่เลือกไม่ทำเอกชน) โดยเงินเดือนพื้นฐานของแพทย์คิดได้ราว ๆ ร้อยละ 30 จากเงินเดือนทั้งหมด ทั้งนี้ เงินจากส่วนอื่น ๆ อย่างเงินเวร หรือเบี้ยขยัน เป็นเงินที่สัมพันธ์กับข้อกำหนดของการทำงาน เพราะหลายโรงพยาบาลกำหนดจำนวนเวรขั้นต่ำที่แพทย์ต้องอยู่ประจำตามวอร์ดหรือห้องฉุกเฉินไปแล้ว ทำให้เดือนหนึ่งแพทย์ต้องทำงานไม่ต่ำกว่า 320 ชั่วโมงตามกำหนดของแพทยสภา แพทย์จบใหม่นั้นได้ค่าจ้างต่อชั่วโมงอยู่ที่ร้อยปลาย ๆ และหากเป็นโรงพยาบาลต่างจังหวัดที่ค่อนข้างขาดแคลนแพทย์อย่างที่หมอวินเคยไปประจำการอยู่ ชั่วโมงการทำงานก็จะยิ่งทวีคูณมากขึ้น
เคราะห์ดีที่สถานการณ์ดังกล่าวผ่านไปได้ แต่ในปีถัดมา ทันทีที่แพทย์หนุ่มย้ายจากโรงพยาบาลต่างจังหวัดกลับสู่กรุงเทพฯ ฉากสมรภูมิของนักรบชุดขาวได้เคลื่อนสู่การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ซึ่งอยู่ในจุดวิกฤติที่สุดเมื่อเดือนกรกฎาคมปี 2564 รายงานจาก The Standard เผยว่า ในกรุงเทพฯ ปริมณฑล และบางจังหวัดที่มีการระบาด จำนวนเตียงไอซียู และ กึ่งไอซียู ไม่เพียงพอรองรับผู้ป่วย โดยเฉพาะในกรุงเทพฯ ที่จำนวนผู้ป่วยเกินขีดจำกัดไปแล้ว 5 เท่า ทำให้หลายโรงพยาบาลต้องปิดรับผู้ป่วย ความตึงเครียดที่สุดของแพทย์จึงไม่ใช่เพียงภาระในการดูแลผู้ป่วยที่มากเกิน แต่รวมถึงการต้องจำใจปฏิเสธการรักษาคนไข้อีกด้วย
“อย่างแรกสภาพจิตใจทุกคนในไอซียู มันเครียด มันเครียดเวลาเราทำงานเราทำงานอยู่ในห้องแคบ ต้องอยู่ในตู้ที่มัน…”
เขาชะงัก แล้วชี้นิ้วไปยังบริเวณห้องสีขาวที่ตั้งเรียงรายอยู่บริเวณลานกว้างซึ่งแต่ก่อนเป็นพื้นที่โล่งใจกลางโรงพยาบาล ได้ถูกแปรสภาพเป็นห้องไอซียูความดันลบ (ICU Negative Pressure Room) เพื่อรองรับปริมาณผู้ป่วยโควิดในกทม. ที่เพิ่มขึ้นอย่างมหาศาล ปัจจุบันกลายเป็น ‘อนุสรณ์สถาน’ ที่ยังใช้งานอยู่ คอยบอกเล่าทุกความสูญเสียที่เกิดขึ้นและจารึกความเข้มแข็งของบุคลากรทางการแพทย์ และแน่นอน รวมถึงประชาชนทุกคนด้วย
“แพทย์ทุกคนเวลาเข้าไปพบคนไข้เราต้องใส่ชุดป้องกัน แค่หายใจก็ลำบาก ไม่ได้สะดวกสบาย สำคัญคือ เราเครียดที่เราดูแลคนไข้ได้ไม่เหมือนคนทั่วไป แต่ก่อนเราเข้าหาคนไข้ได้แบบใกล้ชิด ไถ่ถามสารทุกข์สุขดิบ แต่กลายเป็นว่าตอนนี้เราไม่สามารถเดินเข้าไปหาคนไข้ได้ตามต้องการ”
ชุด PPE สีขาว ถุงมือยาง หน้ากากที่คับแน่น และจอแก้วที่คอยจับภาพเตียงคนไข้ทุกเตียง ผลักให้แพทย์ พยาบาล และผู้ช่วยพยาบาลต้องเหินห่างจากการดูแลมนุษย์ โรคระบาดทำให้มนุษย์ขาดสัมผัสและความสัมพันธ์ ความโดดเดี่ยวเริ่มสั่งสมเป็นความเครียด จนเกิดเป็นความผิดพลาดในการรักษา
แน่นอนว่าผลกระทบของความเครียดนี้เกิดขึ้นกับบุคลากรในทุกพื้นที่เขตสุขภาพ แต่แทบไม่มีแนวทางการช่วยเหลือจากภาครัฐ หมอวินแสดงความลังเลเมื่อต้องเอ่ยถึงมาตรการการช่วยเหลือเรื่องสุขภาพจิตของบุคลากรทางการแพทย์จากภาครัฐ เพราะเท่าที่ผ่านมา เขานึกออกเพียงการช่วยเหลือกันเองภายในโรงพยาบาล เช่น หากมีบุคลากรคนใดต้องการความช่วยเหลือ องค์กรก็จะจัดหาให้เป็นกรณีไป สิ่งที่ควรได้รับความใส่ใจตั้งแต่ต้น กลับกลายเป็นบุคลากรต้องเป็นผู้เอ่ยปากร้องขอด้วยตัวเอง
“ก็เป็นเรื่องของสวัสดิการอีกอยู่ดี” เขาเอ่ย ก่อนหยุดไปครู่หนึ่ง
เจ้าของน้ำเสียงยอมรับและตระหนักดีว่าในวิกฤติสาธารณสุขเช่นนี้ หมอหลาย ๆ คนคงไม่อาจเรียกร้องถึงคุณภาพชีวิตแบบปุถุชนคนทั่วไปได้ ในฐานะแพทย์ อาจต้องอดทนอยู่ในชุดที่อึดอัด หน้ากากที่รัดแน่น และกินข้าวเพียงลำพังต่อไปอีกสักระยะ แต่หากจะมีการช่วยเหลือใดส่งมาถึงพวกเขาที่อยู่แนวหน้าแล้ว หมอวินและแพทย์อีกหลายคนหวังถึงการช่วยเหลือเชิงโครงสร้าง มากกว่าการบริจาคตามกาล เพราะนั่นเป็นหน้าที่ของภาครัฐที่ต้องจัดสรรให้ตั้งแต่แรก ไม่ใช่รอให้ประชาชนชิงตัดหน้าช่วยเหลือไปเสียก่อน สิ่งนี้สะท้อนว่าสาธารณสุขไทยล้มเหลว ในการสร้างสุขและสวัสดิการที่เพียงพอให้คนที่ใกล้ชิดกับกระทรวงมากที่สุด
“ในแง่ผลประโยชน์ พี่มองว่ามันดี มันดีอยู่แล้วเพราะว่าคนช่วยเหลือกัน แต่ถ้าในเชิงระบบพี่ว่ามันพัง”
สาธารณสุขไทยมองการณ์ใกล้ไม่พ้นเขตปริมณฑล ขณะที่แพทย์ชนบทถูกทิ้งไว้ข้างหลัง
“พี่ให้คะแนนสาธารณสุข 5 เต็ม 10 พอ”
จากประสบการณ์ของแพทย์อายุรกรรมที่ต้องคลุกคลีอยู่วอร์ดผู้ป่วยโควิดร่วมเดือน เขาแจงสาเหตุว่า คะแนนอีกครึ่งหนึ่งที่หายไปเพราะพื้นที่ต่างจังหวัดถูกลืม ในสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิดที่ผ่านมา กระทรวงสาธารณสุขออกมาตรการสอดคล้องกับตัวเมือง แต่ขัดแย้งกับพื้นที่ต่างจังหวัด ทำให้หลายพื้นที่ชนบทต้องเผชิญกับภาวะผู้ป่วยล้นโรงพยาบาลแต่ขาดการสนับสนุนจากส่วนกลางที่มากพอ
“พอช่วงระยะหนึ่งคนไข้ติดเชื้อโควิดน้อยลงเรื่อย ๆ เขาก็ประกาศปิดไอซียูในกรุงเทพ แต่เขาไม่เห็นตัวเลขผู้ติดเชื้อที่อยู่ต่างจังหวัด ทั้งที่คนต่างจังหวัดต้องการไอซียูเยอะขึ้นเรื่อย ๆ แล้วออกนโยบายมาว่าตอนนี้หย่อนมาตรการได้แล้วนะ กลับกลายเป็นว่ามันเพิ่มจำนวนผู้ติดเชื้อรอบนอก และเขาก็ให้พวกสาธารณสุขตามต่างจังหวัดจัดการกันเอง”
ในส่วนของจำนวนแพทย์ในชนบทก็สะท้อนถึงปัญหาการทำงานของบุคลากรได้เป็นอย่างดี ข้อมูลจากระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ทรัพยากรสุขภาพ เมื่อเดือนตุลาคม 2565 เผยว่า สัดส่วนแพทย์ต่อประชากรทั่วประเทศเท่ากับ 1 ต่อ 980 คน ซึ่งอยู่ในเกณฑ์มาตรฐานสากล แต่ในความเป็นจริงแล้ว หากนำเฉพาะจำนวนแพทย์ในโรงพยาบาลรัฐฯ มาหารเฉลี่ยต่อประชากรจะได้สัดส่วนอยู่ที่ 1 ต่อ 2,022 นอกจากนี้ แพทย์ไม่ได้กระจายอย่างเท่ากันทุกพื้นที่ ในบางจังหวัดมีสัดส่วนแพทย์ต่อประชากรต่ำกว่าค่าเฉลี่ย 2-3 เท่า ขณะที่กรุงเทพฯ มีอัตราส่วนแพทย์โรงพยาบาลรัฐฯ ต่อประชากรอยู่ที่ 1 ต่อ 720 คน หรือมีจำนวนพอ ๆ กับแพทย์ที่ประจำอยู่ในโรงพยาบาลรัฐฯ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือทั้งภูมิภาค (ทั้งนี้ ตัวเลขที่นำมาคำนวนไม่ได้นับสัดส่วนของประชากรแฝงและประชากรที่มีภูมิลำเนาอยู่ต่างจังหวัด)
รศ.นพ. เมธี วงศ์ศิริสุวรรณ ผู้ช่วยเลขาธิการแพทยสภาให้ความเห็นกับ นิสิตนักศึกษา สถิติดังกล่าวสะท้อนว่าแพทย์ส่วนใหญ่เลือกกระจุกอยู่ที่ไข่แดงอย่างกทม. เนื่องจากปัจจัยของคุณภาพชีวิตที่สะดวกสบายกว่าต่างจังหวัด และเมื่อมองลึกลงไปอีก จะพบว่ามีแพทย์อีก 34,752 คนเลือกทำงานอยู่ในรพ. เอกชนซึ่งมีจำนวนพอ ๆ กับแพทย์ในโรงพยาบาลรัฐฯ ตัวเลขเหล่านี้บอกเป็นนัยสำคัญว่า ประเทศไทยมีจำนวนแพทย์และมีอัตราการผลิตแพทย์ที่มากเพียงพอ แต่ระบบรัฐสวัสดิการที่ละเลยคุณภาพชีวิต หมอต้องทำงานหนัก และเสี่ยงโดนฟ้องได้ง่ายหากเกิดข้อผิดพลาด ทำให้หมอจำนวนมากเลือกที่จะหลีกเลี่ยงการทำงานในโรงพยาบาลรัฐฯ โดยเฉพาะโรงพยาบาลรัฐฯ ในต่างจังหวัด
“สัดส่วนหมอโรงพยาบาลรัฐฯ ในกรุงเทพฯ ตอนนี้เป็น 1 : 720 เมื่อเทียบกับหมอในชุมชนแล้ว บางชุมชนมีประชากรเกือบหมื่น แต่มีหมอในรพ. แค่ 2 คน แบ่งเป็นผู้บริหารคนนึง อีกคนดูแลคนไข้ เท่ากับว่าหมอ 1 คนทำงานเท่ากับหมอ 10 คน แต่ได้เงินเดือนเท่ากัน”
“หากรักษาผิดพลาด หมอต้องรับผิดชอบตามกฎหมาย เพราะกฎหมายมองอาชีพหมอเป็นอาชีพปกติเหมือนอาชีพอื่น เวลาทำพลาดหมอรับผิดเหมือนคนปกติ แต่เวลาทำงาน หมอทำงานเหมือนคนไม่ปกติ” นายแพทย์เมธี กล่าว
ชั่วโมงการทำงานที่เกินคน คนไข้ล้น แพทย์จนปัญญาจะรับไหว
ด้วยจำนวนแพทย์ที่ขาดแคลนในเขตต่างจังหวัด ในชุมชนห่างไกลอาจจะมีแพทย์ประจำเพียง 1 – 2 คน ทำให้บ่อยครั้งแพทย์ในพื้นที่ชนบทต้องทำงานเกิน 24 ชม. ติดต่อกัน โดยข้อมูลจากการสำรวจภาระงานของบุคลากรการแพทย์ของ รศ.นพ.เมธี เมื่อปี 2562 – 2564 พบว่าจากการสอบถามแพทย์ 1,105 ทั่วประเทศ ราว 3 ใน 5 ต้องทำงานเกิน 80 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ และอีกเกือบ 1 ใน 3 ทำงานเกินกว่า 100 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ และจะยิ่งทำงานหนักมากขึ้นหากอยู่ในพื้นที่ชนบท
ทางแพทยสภาเล็งเห็นว่าแพทย์ 1 คนไม่ควรอยู่เวรเกิน 24 ชั่วโมง หากมีความจำเป็น แพทย์ต้องได้รับการหยุดพักอย่างน้อย 4 ชั่วโมง อย่างไรก็ดีแนวทางดังกล่าวยังมีสถานะเพียงข้อแนะนำ ยังไม่ใช่กฎหมายที่บังคับใช้อย่างชัดเจน โรงพยาบาลรัฐฯ ที่อยู่ใต้กระทรวงสาธารณสุข หากจะนำร่องแนวทางดังกล่าวต้องผ่านการอนุมัติจากกระทรวงฯ ก่อน ทำให้บางโรงพยาบาลยังคงต้องให้หมอเข้าเวรติดต่อกัน 24 ชั่วโมง โดยไม่มีหยุดพัก
“เรา (แพทยสภา) ก็ไม่รู้จะทำให้ดีกว่านี้ยังไงด้วยอำนาจที่เรามีอยู่ ถามว่าอยากให้ออกเป็นกฎหมายไหม คำตอบคือ หมอที่เรียกร้องมาก็อยาก ทางแพทยสภาก็อยาก”
“แต่การจะเป็นกฎหมายได้ มันติดปัญหาสำคัญคือ กระทรวงสาธารณสุขเขาชี้แจงว่า คนไม่พอ เพราะว่าถ้าบอกให้หมอหยุด ก็ต้องหาหมอมาเพิ่มเพราะคนไข้มาไม่หยุด ปัญหาคือมันไม่มีหมอมาทำงานแทนในช่วงที่หมอคนหนึ่งออกไปเพราะอัตรากำลังไม่พอ สุดท้ายถึงออกเป็นกฎหมายก็จะบังคับใช้ไม่ได้จริง” รศ.นพ. เมธี ระบุ
ทว่า ทางแพทยสภาเชื่อว่าประเทศไทยผลิตแพทย์เกินพอแล้ว นายแพทย์เมธีชี้แจงว่า ในปีที่ผ่านมาโรงเรียนแพทย์สามารถผลิตแพทย์จบใหม่มามากกว่าปีละ 3,000 คน และจะเพิ่มเป็น 4,000 คน ในไม่เกิน 10 ปีนี้ คำว่า “หมอไม่พอ” ของกระทรวงสาธารณสุขนั้นเป็นความจริงที่กล่าวไม่หมด เพราะแท้จริงแล้ว โรงพยาบาลใต้สังกัดสาธารณสุขได้รับอัตราจ้างหมอต่ำกว่าภาระงานที่แต่ละโรงพยาบาลแบกรับ ซึ่งสวนทางกับจำนวนคนไข้ที่เพิ่มสูงขึ้นหลังจากประเทศไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุระดับสุดยอด
“พูดง่าย ๆ ก็คือ งานมีเยอะ แต่จ้างคนน้อย”
รศ.นพ. เมธี ขยายความว่า นโยบายการลดอัตราจ้าง เป็นนโยบายที่ติดพันมาแต่สมัยวิกฤติต้มยำกุ้ง เพื่อลดค่าใช้จ่ายของรัฐโดยการลดอัตราการจ้างข้าราชการในทุกกระทรวง รวมไปถึงกระทรวงสาธารณสุขด้วย แต่ปัญหาคือเมื่อรัฐลดอัตราจ้าง รัฐลดพร้อมกันทั่วประเทศ ไม่ได้มองว่าในแต่ละพื้นที่มีความต้องการแพทย์มากน้อยต่างกัน จนทำให้เกิดปัญหาแพทย์ขาดแคลนในพื้นที่ต่างจังหวัด และแม้รัฐจะกลับมาเพิ่มอัตราจ้างก็ทำไม่ได้แล้วเพราะติดปัญหาดุลงบประมาณที่ขาดแคลนหลายปีติดต่อกัน ในขณะที่พื้นที่ไข่แดงอย่างกรุงเทพฯ แม้จะมีสัดส่วนแพทย์ที่ดูเหมือนจะเพียงพอต่อประชากร (1 : 720 คน) แต่ด้วยจำนวนประชากรแฝง แรงงานจากต่างจังหวัดที่เข้ามาอยู่อาศัย ตลอดจนการโอนย้ายผู้ป่วยหนักเข้ามารักษาในส่วนกลาง ทำให้จำนวนแพทย์ในโรงพยาบาลรัฐฯ ในกรุงเทพฯ ยังอยู่สภาวะปริ่มน้ำ ซึ่งทำให้มีแพทย์จำนวนมากโหมงานหนักเพื่อจะให้การรักษาคนไข้ได้ทันท่วงที
ดังนั้น ด้วยระบบสวัสดิการที่ไม่แยแสคุณภาพชีวิตแพทย์ การไม่สร้างแรงจูงใจให้แพทย์กระจายตัวออกต่างจังหวัด และการคงอัตราจ้างไว้เท่าเดิม จึงทำให้แพทย์น้ำดีไหลออกนอกระบบรัฐฯ มากขึ้นเรื่อย ๆ
แพทย์จำเป็น: เมื่อรัฐไทย ผลักให้หมอจบใหม่เผชิญหน้ากับความเสี่ยง
ระยะเวลาการเรียนรู้ในโรงเรียนแพทย์ 6 ปี ชั้นปีที่ 1 – 3 จะเป็นการเรียนวิทยาศาสตร์ทั่วไป เรียนกายวิภาค เรียนยาเบื้องต้น เสมือนเป็นการเรียนรู้ทฤษฎีเบื้องต้นของการเป็นแพทย์ ในชั้นนี้จะเรียกกันว่า Pre-Clinic พอก้าวเข้าสู่ชั้นปีที่ 4 และ 5 นักศึกษาแพทย์จะได้สวมชุดกาวน์เข้าฝึกปฏิบัติในโรงพยาบาลตามแผนกต่าง ๆ และต้องนำวิชาความรู้ที่ได้มาทั้งหมดมาใช้ในปีที่ 6 ) ในฐานะ Extern หรือนักศึกษาแพทย์เวชปฏิบัติที่จะต้องทำการรักษาด้วยตัวเองแล้วบ้าง แต่การตัดสินใจทั้งหมดยังอยู่ที่อาจารย์แพทย์ แพทย์ใช้ทุน หรือแพทย์ประจำบ้านที่แต่ละคนสังกัด ซึ่ง Extern ทุกคนต้องได้รับการฝึกฝนหัตถการตามที่ระบุไว้ในเกณฑ์ของแพทยสภา เช่น การเจาะน้ำในช่องท้อง การเจาะไขสันหลัง การเย็บแผล หรือการใส่ท่อช่วยหายใจ เป็นต้น ซึ่งแน่นอนว่านักศึกษาแพทย์เหล่านี้จะได้ใช้เวลาอย่างเต็มที่ในการเรียนรู้ก่อนที่จะออกจากโรงเรียนแพทย์
หมอวินเล่าให้ฟังว่า ในชั่วข้ามคืนที่เปลี่ยนคำนำหน้าจาก นศพ. (นักศึกษาแพทย์) เป็น นพ./พญ. (นายแพทย์/แพทย์หญิง) หรือเป็นแพทย์ใช้ทุน (Intern) อยู่ตามโรงพยาบาล ทุกสิ่งที่เคยทำไม่ได้เมื่อวาน วันนี้ต้องทำให้ได้ และจะไม่มีคำว่าไม่ได้อีกต่อไป ซึ่งชีวิตของแพทย์ใช้ทุนจะมีความกดดันมากขึ้นเป็นเท่าตัว เพราะประสบการณ์ยังไม่แน่น แต่กลับต้องเจอเคสหัตถการยาก ๆ หรือต้องเข้าอยู่เวรฉุกเฉินตามโรงพยาบาลต่างจังหวัด
“สิ่งที่กดดันที่สุดคือ ในชั่วข้ามคืน จากคนที่ไม่เคยตัดสินใจในการรักษามาก่อน ตอนนี้การตัดสินใจเป็นของเราแล้ว ทุกอย่างเรารับผิดชอบเองหมด หลาย ๆ ครั้งจะเจอว่าแพทย์ใช้ทุนมักได้รับแรงกดดันจากสตาฟ (แพทย์เฉพาะทาง) บางครั้งเราทำไม่ได้ เราก็อยากได้ความช่วยเหลือจากสตาฟ…”
“แต่สตาฟไม่มา เขาบอกว่า แค่นี้คุณต้องทำให้ได้”
นอกจากนี้ สังคมแบบลำดับขั้นในโรงเรียนแพทย์ ยังส่งผลต่อสังคมในสถานที่ทำงานจริงอย่างโรงพยาบาลแพทย์จบใหม่ต้องเผชิญกับภาวะกดดันจากคนไข้ปริมาณมากในต่างจังหวัด ร่วมกับการกดดันจากรุ่นพี่สายอาชีพเดียวกัน หมอวินกล่าวเสริมว่า ด้วยคำพูดที่เน้นสร้างแรงกดดัน ลดทอนกำลังใจกัน คำดูถูก ถากถาง ก่อให้เกิดความสูญเสียทั้งตัวแพทย์ และตัวคนไข้เอง แน่นอนว่าการปล่อยให้แพทย์ใช้ทุนที่ยังไม่มีประสบการณ์ฝืนทำหัตถการหรือตัดสินใจอะไรที่เสี่ยง คนไข้จะไม่ได้รับการรักษาที่ดีที่สุด และตัวแพทย์เองจะยิ่งเสียใจ ในบางกรณีนำไปสู่การทำร้ายร่างกายกัน หรือบางคนตัดสินใจจบชีวิตก็มี
รศ.นพ. เมธี ได้กล่าวเสริมว่า สาธารณสุขมีความจำเป็นต้องเร่งผลิตหมอให้ทันต่อความต้องการ จึงต้องนำแพทย์ใช้ทุนจบใหม่ไปฝึกเพิ่มพูนทักษะที่ต่างจังหวัด ควบคู่กับการฝึกรับมือกับสถานการณ์จริง แต่ทั้งนี้ ตนเองก็ไม่ได้เห็นด้วยต่อข้ออ้างที่ว่า ‘หมอไม่พอ เลยต้องยิ่งผลิตเพิ่ม’ เพราะความเป็นจริงคือแพทย์ผลิตออกมามาก แต่ไหลออกนอกระบบไปต่างหาก
“ประเทศไทยเอาหมอที่ประสบการณ์น้อยที่สุดไปอยู่ในที่เสี่ยงที่สุด อันตรายที่สุด เพื่อเสี่ยงกับการฟ้องร้องและความผิดพลาดมากที่สุด เพราะห้องฉุกเฉินมันต้องมีการตัดสินใจแค่เสี้ยวนาทีซึ่ง โอกาสผิดพลาดมีสูงมากอยู่แล้วสำหรับหมอจบใหม่ ซึ่งตรงนี้ทางเรา (แพทยสภา) ก็เห็นด้วยว่าควรแก้ไข แต่พูดตรง ๆ เพียงแค่บอกว่าจะไม่ส่งหมอจบใหม่ไปอยู่ต่างจังหวัด คนที่อยู่ตรงนั้นก็จะโวยกลับมาว่าแล้วใครจะมารับช่วงต่อ”
ในขณะที่หมอวินเชื่อว่า แพทย์ที่อยู่ในระบบที่ใช้อำนาจนิยมกับรุ่นน้องจะค่อย ๆ หมดไปเรื่อย ๆ และเชื่อว่าการจะเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมเหล่านี้ต้องเริ่มต้นที่รุ่นตนเอง และก็ยังเชื่อมั่นว่าวัฒนธรรมส่งต่อความกดดันนี้มีรากฐานมาจากคุณภาพชีวิตของหมอที่ย่ำแย่ จนทำให้ทุกคนสื่อสารกันด้วยความรุนแรง หากรัฐจัดสรรให้โรงพยาบาลสามารถอนุญาตให้บุคลากรการแพทย์ได้มีเวลาชีวิตที่ยืดหยุ่นบ้าง มีเงินตอบแทนที่เพียงพอ เขาเชื่อว่าการเปลี่ยนแปลงทั้งในเชิงวัฒนธรรม และเชิงคุณภาพชีวิตของหมอตัวเล็ก ๆ อย่างพวกเขาเองจะดีขึ้นกว่าที่ผ่านมา
“ในบางโรงพยาบาลที่สำเร็จ (ให้แพทย์หยุดพักอย่างน้อย 4 ชม. หากทำงานติดต่อกัน 24 ชม.) เท่าที่รู้จักกับเพื่อน เขาก็มีความสุขมากขึ้น เพราะเหมือนมันมีคนมองเห็นปัญหาและได้ลงมาช่วย แค่นี้ แพทย์ก็ดีใจแล้วจริง ๆ” เขาแค่นหัวเราะเบา ๆ ก่อนจะเอ่ยต่อไปว่า
ตลอดการสนทนากับหมอรุ่นใหม่และหมอรุ่นใหญ่ ทำให้รับรู้ว่า ภายใต้เสื้อกาวน์สีขาวของ ‘หมอวิน’ หรือ ‘หมอเมธี’ ยังมี ‘วิน’ และ ‘เมธี’ คนธรรมดาสามัญที่ไม่ได้มีคำนำหน้าว่านายแพทย์ พวกเขาหวังที่จะได้กินข้าวกับเพื่อนฝูง ได้นอนหลับอย่างเพียงพอ และได้รับค่าตอบแทนที่สมควรแก่เหตุ เช่นเดียวกับหมออีกหลายท่าน พยาบาลอีกหลายชีวิต ที่อุทิศให้กับการดูแลคนไข้จนไม่มีเวลากลับมาดูแลตัวเอง พวกเขาพึงได้รับความสุข และสวัสดิการอย่างที่ควรจะเป็น เพื่อให้สามารถเดินหน้าทำงาน รักษาสุขอนามัยของปวงชน และมีชีวิตที่มีคุณภาพสมกับเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์คนหนึ่ง
อ้างอิง
Share this:
Like this: