Education Social Issue Top Stories

สวัสดิการเพื่อคนรุ่นใหม่ หายไปไหนในสายตารัฐ

เมื่อกำลังสำคัญของประเทศกำลังขวนขวายใช้ชีวิตในประเทศที่ไร้สวัสดิการวัยรุ่น พวกเขาจะเติบโตอย่างมีคุณภาพได้อย่างไร

เรื่อง : ชญาดา จิรกิตติถาวร
ภาพ : ชญาดา จิรกิตติถาวร และฉัตรมงคล รักราช

เพราะการพัฒนาและยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน คือภารกิจใหญ่ที่ไม่ว่ารัฐบาลใดก็จำเป็นต้องใส่ใจ ทั้งเรื่องการศึกษา การรักษาพยาบาล การเดินทาง ค่าแรงและชั่วโมงทำงาน ไปจนถึงการสนับสนุนศิลปวัฒนธรรมในประเทศ ล้วนเป็นหน้าที่ของรัฐที่ต้องจัดสรรบริการ เพื่อให้คนทุกช่วงวัยสามารถใช้ชีวิตได้อย่างมีคุณภาพ 

เมื่อย้อนกลับมาดู ‘รัฐสวัสดิการ’ ในประเทศไทย โดยเฉพาะในส่วนของ ‘วัยรุ่น’  ช่วงวัยที่กำลังจะเติบโตเป็นผู้ใหญ่ในอนาคต นอกจากสวัสดิการเรียนฟรีที่ไม่ครอบคลุมนักแล้ว พวกเขาได้รับสวัสดิการจากรัฐมากน้อยเพียงใด เพื่อจะเติบโตและใช้ชีวิตอย่างมีคุณภาพในประเทศนี้

WalkingStreet-วัยรุ่น-พื้นที่วัยรุ่น-วัยรุ่นแสดงดนตรี-SiamSquare-สยามสแควร์
บรรยากาศการรวมตัวของกลุ่มวัยรุ่นเพื่อแสดงความสามารถ บริเวณ Walking Street สยามสแควร์ เมื่อเดือนมิถุนายน 2565
ที่มา : ฉัตรมงคล รักราช

วัยรุ่นไทย สำคัญไฉน ทำไมต้องมีสวัสดิการ?

ปฏิเสธไม่ได้ว่าช่วงวัยรุ่น เป็นช่วงวัยที่มีความสำคัญ เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นในช่วงรอยต่อระหว่างวัยเด็กและวัยทำงานนี้ ส่งผลอย่างมากต่อเป้าหมายในอนาคต ผ่านการสร้างฝัน การค้นหาตัวตนที่ชอบ และเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ อีกทั้งยังเป็นช่วงวัยที่กำลังจะโตไปเป็นแรงงานสำคัญในการพัฒนาขับเคลื่อนศักยภาพของประเทศ

ดร.เดชรัต สุขกำเนิด ผู้อำนวยการศูนย์นโยบาย Think Forward Center พรรคก้าวไกล ให้ความเห็นถึงความสำคัญของวัยรุ่นไว้ว่า ช่วงเวลาวัยรุ่นนั้นสำคัญกับความสามารถในการแข่งขันของประเทศในอนาคต 

“ถ้าย้อนไป 40-50 ปีที่แล้ว เรารู้ว่าเราแข่งกันในแง่ของแรงงาน ต่อมาเราแข่งกันในแง่ของการลงทุนจากบริษัทต่างประเทศ แล้วปัจจุบันเราก็เข้าสู่ระบบเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ซึ่งมันเป็นระบบเศรษฐกิจที่ไม่มีวันหยุดนิ่ง มันต้องพัฒนาต่อไปเรื่อย ๆ มีนวัตกรรมต่อไปเรื่อย ๆ แล้วอะไรล่ะที่จะทำให้เกิดนวัตกรรม ก็คือวัยรุ่น เยาวชนเหล่านี้นี่แหละ เพราะฉะนั้นการส่งเสริมให้วัยรุ่นมีความคิดสร้างสรรค์จึงมีความสำคัญมาก”

เดชรัต-สุขกำเนิด-ผู้อำนวยการศูนย์นโยบาย-พรรคก้าวไกล-ThinkForwardCenter
ดร.เดชรัต สุขกำเนิด ผู้อำนวยการศูนย์นโยบาย Think Forward Center พรรคก้าวไกล
ให้สัมภาษณ์กับ “นิสิตนักศึกษา

การมีคุณภาพชีวิตที่ดีอันเอื้อให้วัยรุ่นได้มีความคิดสร้างสรรค์จึงสำคัญ โดย ดร.เดชรัต กล่าวถึง 3 ปัจจัยหลักที่จะทำให้วัยรุ่นสามารถใช้ชีวิตอย่างมีคุณภาพได้ ซึ่งประกอบไปด้วย (1) ความต้องการพื้นฐานทั่วไป (2) พื้นที่ในการสร้างตัวตน และ (3) เส้นทางในอนาคต

“เวลาเราจะมองเห็นภาพเรื่องสวัสดิการ เราต้องคิดทั้ง 3 มุมนี้ ถ้าเป็นมุมแรกมันก็อาจจะมองในลักษณะที่ว่าเขามีความยากจนหรือเปล่า ความยากจนมันคือตัวรวมของการที่เราไปไม่ถึง Basic Need ส่วนที่สองก็คือส่วนที่เขาจะได้เลือกตัวตน ได้ปฏิสัมพันธ์กับคนอื่น มันมีพื้นที่ให้เขาเรียนรู้ไหม และส่วนที่ 3 ไม่ว่าจะเป็นการเรียนในระบบหรือนอกระบบ เรามีเส้นทางที่จะทำให้เขามั่นใจได้ไหมว่า เขาจะไปข้างหน้าได้”

ดร.เดชรัตอธิบายว่า หากวัยรุ่นอยู่ในครอบครัวที่มีภาวะยากจน อาจส่งผลให้พวกเขาไม่สามารถเติมเต็มความต้องการพื้นฐาน อย่างเรื่องโภชนาการที่ครบถ้วน การศึกษาขั้นพื้นฐาน หรือการเดินทางไปโรงเรียนได้ เมื่อความต้องการพื้นฐานไม่ครบถ้วนก็ส่งผลกระทบต่อปัจจัยข้ออื่น ๆ ต่อไป เช่น ถ้าวัยรุ่นต้องทำงานส่งตัวเองเรียน ขาดโอกาสในการสร้างปฏิสัมพันธ์กับเพื่อน ขาดโอกาสในการค้นหาเป้าหมายและความชอบของตัวเอง สุดท้ายก็ส่งผลให้เส้นทางอนาคตเลือนลาง เพราะชีวิตไร้เป้าหมายและทางเลือก

เรื่องเงินเรื่องใหญ่ สำหรับช่วงวัยที่ต้องเดินตามฝัน

ศูนย์ความรู้นโยบายเด็กและครอบครัว (คิด for คิดส์) โดย 101 PUB เผยผลสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือนในปี 2564 พบว่าเด็กและเยาวชนอายุไม่เกิน 21 ปี จำนวนร้อยละ 20.7 จากทั้งหมด 14 ล้านคน อาศัยอยู่ในครัวเรือนที่มีรายได้เฉลี่ยเพียง 2,577 บาทต่อคนต่อเดือน ข้อมูลนี้สะท้อนให้เห็นว่า มีเยาวชนจำนวนไม่น้อยที่เกิดและเติบโตในครัวเรือนยากจน มีทรัพยากรจำกัด อันนำไปสู่การขาดโอกาสในการพัฒนาศักยภาพของตัวเอง

ดร.เดชรัต เสริมว่า สังคมไทยมองข้ามปัญหาของวัยรุ่นในมิติด้านเศรษฐกิจ เมื่อประกอบเข้ากับระบบการศึกษาที่ไม่เปิดช่องให้การค้นหาตัวตน ผลลัพธ์ที่ได้คือโอกาสในอนาคตของวัยรุ่นที่หายไป 

“เรามักจะพูดเรื่องผู้สูงอายุอยู่ในครัวเรือนยากจน มีเด็กอยู่ในครัวเรือนยากจน แต่เราไม่ได้พูดว่ามีวัยรุ่นจำนวนมากกว่าครึ่งหนึ่งของวัยรุ่นทั้งหมดอยู่ในครอบครัวที่มีความลำบากทางเศรษฐกิจ แล้วสังคมยังไปกดทับเขาอีกรอบ ปล่อยให้วัยรุ่นจัดการปัญหาด้วยตัวเอง เด็กเล็กที่ครอบครัวมีรายได้น้อยกว่า 100,000 บาท (ต่อปี) จะได้รับสวัสดิการ หรือกรณีผู้สูงอายุก็จะมีความคิดว่า ถ้าผู้สูงอายุยากจนหรือผู้สูงทุกคนควรจะได้รับสวัสดิการ แต่กับวัยรุ่นไม่ได้มีความคิดแบบนี้ เรามองข้ามประเด็นเรื่องเศรษฐกิจไป”

พลอยวรินทร์ ชิวารักษ์  ประธานฝ่ายพัฒนาสังคมและบำเพ็ญประโยชน์ องค์การบริหารสโมสรนิสิตจุฬาฯ และนักกิจกรรมเยาวชน ให้ความเห็นถึงสวัสดิการวัยรุ่นและสิ่งที่เธอต้องการเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิต ซึ่งเรื่อง ‘ค่าใช้จ่าย’ คือประเด็นแรก ๆ ที่พลอยวรินทร์กังวล

“เรารู้สึกว่ารัฐสามารถซัพพอร์ตตรงนี้ได้ตั้งแต่แรก พวกค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ที่เราเสียไปทั้งที่มันควรจะฟรี เช่น ค่าเทอมช่วงโควิดที่ผ่านมา ค่าเทอมมันเป็นปัญหากับหลาย ๆ คน  เรามีเพื่อนที่พ่อแม่ไม่มีกำลังซัพพอร์ต ต้องทำงานพิเศษเพิ่มเพื่อมาจ่ายค่าเทอม ซึ่งมันก็ค่อนข้างลำบาก”

พลอยวรินทร์-ชิวารักษ์-นักกิจกรรมเยาวชน-พ้อย
พลอยวรินทร์ ชิวารักษ์  ประธานฝ่ายพัฒนาสังคมและบำเพ็ญประโยชน์ องค์การบริหารสโมสรนิสิตจุฬาฯ
และนักกิจกรรมเยาวชน ให้สัมภาษณ์กับ “นิสิตนักศึกษา”

ปัญหาดังกล่าวส่งผลถึงในระดับจิตใจ จากผลการวิเคราะห์ของ Think Forward Center ในประเด็นปัจจัยความเครียดของเยาวชนไทยในช่วงอายุ 15-24 ปี ซึ่งวิเคราะห์จากแบบสำรวจเยาวชนในปี 2022 ของศูนย์ความรู้นโยบายเด็กและครอบครัว พบว่า ความเครียดของเยาวชนคนรุ่นใหม่เป็นผลลัพธ์มาจากปัจจัยทางเศรษฐกิจและสังคมเป็นส่วนใหญ่ และประเด็นที่ทำให้เยาวชนเครียดมากที่สุดคือ เรื่องการศึกษา การทำงาน ครอบครัว และการเงิน 

“คนอาจจะมองว่า ค่าเทอมมันก็เงินก้อนเดียว ไม่ได้เยอะ แต่มันมีค่าใช้จ่ายแฝงมากมายในการจะเรียนเทอมหนึ่ง ค่าชุด ค่าเดินทาง ถ้ารัฐสนับสนุน ช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายตรงนี้ได้ วัยรุ่นจะได้เข้าถึงการศึกษาได้มากขึ้นด้วย” พลอยวรินทร์แสดงความเห็น

เธอมองว่า สาเหตุที่ทำให้วัยรุ่นไม่สามารถใช้ชีวิตได้อย่างมีคุณภาพ เพราะการเข้าถึงบริการต่าง ๆ มักมีเงื่อนไข และต้องใช้เงินจำนวนมาก ด้วยเหตุผลนี้ จึงจำเป็นต้องมีรัฐสวัสดิการมาเติมเต็ม 

ทั้งที่เป็นช่วงวัยที่ควรจะได้เรียนรู้และค้นหาตัวตนอย่างเต็มที่ แต่กลับมีเยาวชนอีกหลายคนที่ไม่สามารถทำเช่นนั้นได้ เพราะกังวลเรื่องค่าใช้จ่าย แม้ประเทศไทยจะมีสวัสดิการเรียนฟรีถึงมัธยมศึกษาปีที่ 3 แต่ใช่ว่าค่าใช้จ่ายจะหยุดอยู่ที่ค่าเทอม เรื่องค่าเดินทางก็เป็นอีกหนึ่งในประเด็นที่ถูกมองข้าม

ประเทศฟินแลนด์เป็นอีกตัวอย่างที่ภาครัฐเล็งเห็นปัญหาทางเศรษฐกิจกับการพัฒนาเยาวชน นำมาสู่นโยบายสวัสดิการสู่พลเมืองในวัยดังกล่าว 

เมื่อสิงหาคม 2564 ที่ผ่านมา รัฐบาลฟินแลนด์ประกาศสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการเดินทางให้กับเยาวชนผู้ศึกษาในระดับมัธยมปลายหรือหลักสูตรอาชีพต่าง ๆ ทั้งนี้ก็เพื่อลดความกังวลให้วัยรุ่นสามารถโฟกัสกับการศึกษาหรือการเรียนรู้มากกว่าค่าใช้จ่ายที่ต้องแบกรับ 

มากกว่าสวัสดิการการศึกษา คือการเข้าถึงแหล่งเรียนรู้อย่างอิสระ

“เวลาพูดถึงสวัสดิการรัฐด้านการศึกษา ผู้คนมักจะนึกถึงประเทศแถบสแกนดิเนเวียที่คุณภาพชีวิตโดยรวมสูงติดอันดับต้นของโลก อย่างฟินแลนด์การศึกษาเขาเป็นอันดับ 1 แต่ไทยรั้งท้ายในอาเซียน ทั้งที่มันเป็นเรื่องสำคัญแต่รัฐไม่ค่อยให้ความสำคัญ เด็กจำนวนมากยังคงหลุดออกจากระบบการศึกษา หลายวิชาที่สอนก็ไม่สามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้จริง” 

เนเน่ (นามสมมติ) หนึ่งในสมาชิกกลุ่มทะลุแก๊ซ สะท้อนปัญหาในระบบการศึกษาไทย เขามองว่า สำหรับประเทศไทย อาจไม่ต้องมองไปถึงระบบการศึกษาที่ดีเลิศเหมือนอย่างประเทศฟินแลนด์ ขอแค่เพียงพัฒนาระบบการศึกษาขั้นพื้นฐานให้ดีกว่าที่เป็นอยู่ คงเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี 

“การเข้าถึงการศึกษาที่ดีและมีคุณภาพจะเป็นตัวกำหนดอนาคตของประเทศ เราคิดว่ามันเป็นสิ่งแรกที่รัฐต้องทำให้ได้ ผู้ชุมนุมที่ดินแดงช่วงปีที่แล้ว ส่วนใหญ่เป็นลูกหลานคนจนเมือง หลายคนเรียนจบแค่ป.6 แล้วก็ต้องออกมาทำงานหาเลี้ยงครอบครัว คนที่เรียนสูงกว่านี้ในระดับอุดมศึกษามีน้อยมาก เป็นเรื่องที่สังคมต้องพยายามหาทางกดดันรัฐให้แก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น เพื่อให้พวกเขาเติบโตขึ้นอย่างที่ควรเป็นและร่วมกันสร้างสังคมที่เหมาะสมกับพวกเขาและคนรุ่นต่อไป” เนเน่เสริม

 ‘การศึกษา’ มักเป็นประเด็นแรกที่คนนึกถึงเมื่อเป็นเรื่องสวัสดิการของวัยรุ่น และดูเหมือนจะเป็นสวัสดิการเดียวที่รัฐมอบให้ช่วงวัยนี้ อย่าง ‘นโยบายเรียนฟรี’ ที่มีมาตั้งแต่ปี 2552 

ดร.ธีรรัตน์  สำเร็จวาณิชย์ โฆษกพรรคเพื่อไทย เผยว่า เรื่องการศึกษา เป็นประเด็นหลักที่พรรคเพื่อไทยได้รับการร้องเรียนจากกลุ่มเยาวชนไทย ซึ่งมีปัญหาตั้งแต่เรื่องระบบสอบ ค่าใช้จ่ายในการสมัครสอบระดับอุดมศึกษา หรือแม้กระทั่งนโยบายเรียนฟรีที่ไม่ได้ฟรีจริง ๆ แต่มีทั้งเงื่อนไขและข้อจำกัด 

“จะเห็นว่าฝ่ายบริหารรัฐบาลหลายยุคหลายสมัยพยายามออกนโยบายสนับสนุนให้เด็กเรียนฟรี แต่ทำไมมันยังถึงมีเสียงสะท้อนเข้ามาเสมอว่าเด็กยังต้องจ่ายเงินอยู่? บางที่มีเรื่องจ่ายใต้โต๊ะเพื่อได้เข้าเรียนด้วย นั่นหมายถึงมันไม่ฟรีตั้งแต่ยังไม่ได้ก้าวเข้ามาเรียนแล้ว ต้องจ่ายเงินเป็นต้นทุนแทบทั้งหมด”

“ถ้าเราจะสนับสนุนให้เด็กได้เข้าถึงการศึกษาจริง ๆ อยากผลักดันให้เขาอยู่ในระบบ ฝ่ายบริหารรัฐบาลก็ควรที่จะให้ความสำคัญกับเรื่องต้นทุนที่เด็กต้องจ่าย ควรปรับลงมาให้เหมาะสม จริง ๆ ถ้าประเทศเรามีศักยภาพเพียงพอ ต้องมีสถาบันที่ทดสอบระดับคุณภาพการศึกษาฟรีเลยด้วยซ้ำ ไม่ควรจะให้เป็นภาระนักเรียนเลย” ดร.ธีรรัตน์ระบุ 

ธีรรัตน์-สำเร็จวาณิชย์-พรรคเพื่อไทย-โฆษกพรรคเพื่อไทย
ดร.ธีรรัตน์  สำเร็จวาณิชย์ โฆษกพรรคเพื่อไทย ให้สัมภาษณ์กับ “นิสิตนักศึกษา”

เธอยังเสริมอีกว่า หากจะแก้ไขระบบการศึกษาที่ไม่ตอบโจทย์ จำเป็นจะต้องพิจารณาแก้ไขปัญหาให้ตรงจุด นอกจากปัจจัยเรื่องข้อจำกัดทางกฎหมาย งบประมาณ นโยบาย หรือบุคลากรทางการศึกษาแล้ว สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ มุมมองวิสัยทัศน์ของฝ่ายบริหารรัฐบาลที่มีต่อกลุ่มวัยรุ่นและเยาวชนไทย

“ฝ่ายบริหารเขาเห็นช่องที่จะทำให้คนคนหนึ่งมีสกิลนอกห้องเรียนได้อย่างไรบ้าง เรื่องนี้สำคัญมาก เชื่อว่าคนไทยพร้อมแล้วที่จะเข้าไปสู่การเรียนรู้ อยากเข้าไปรับทักษะใหม่ ๆ แต่รัฐเองต่างหากที่ไม่ได้สนับสนุนทางด้านนี้เลย ที่สำคัญถ้าจัดสรรงบประมาณที่เพียงพอก็สามารถสนับสนุนพวกเขาได้อยู่แล้ว”

ในฐานะโฆษกของพรรคเพื่อไทย ดร.ธีรรัตน์ให้ข้อมูลว่า ทางพรรคมีข้อเสนอในการพัฒนาวัยรุ่นโดยให้ความสำคัญกับการรับฟังเสียงของพวกเขาและจะต้องนำไปปรับใช้ปฏิบัติจริงเป็นนโยบายได้ โดยแนวทางของพรรคนั้นไม่ต้องการกำหนดเส้นทางตายตัวว่าวัยรุ่นจะต้องพัฒนาอย่างไร แต่จะเน้นการขับเคลื่อนศักยภาพไปตามความถนัดของแต่ละคน เพื่อส่งเสริมทางเลือกที่หลากหลาย

“ยกตัวอย่างนโยบาย OFOS (One Family One Soft power) ของพรรคเพื่อไทย เราเชื่อว่าทุกคนมีศักยภาพของตัวเอง เราสนับสนุนเต็มที่ ทุกคนมีศักยภาพอยู่แล้ว อยู่ที่ว่ารัฐจะสนับสนุนและรองรับทักษะที่เขามีให้มันไปต่อได้อย่างไร บางเรื่องบางทักษะมันแปลกใหม่ ไม่เคยเกิดขึ้นในเมืองไทย เราก็ต้องทำให้มันเกิดขึ้นได้ ต้องไม่จำกัดว่าเดินไปตามนี้ตามนั้น จำเป็นต้องมีเส้นทางที่หลากหลายให้วัยรุ่นได้เลือก รัฐทำให้พื้นฐานของเขาดีได้ เราต้องสร้างสภาพแวดล้อมที่เกื้อหนุนต่อความครีเอทีฟของเยาวชน” 

ทั้งนี้ ดร.ธีรรัตน์อธิบายเพิ่มเติมว่า นโยบาย OFOS จะช่วยส่งเสริมให้เยาวชนไทยมีพื้นที่แสดงความสามารถ โดยได้รับการสนับสนุนจากทางภาครัฐ สามารถสร้างรายได้ให้กับตัวเองและครอบครัวได้ มีรัฐทำหน้าที่ซัพพอร์ต แต่วัยรุ่นจะต้องค้นหาตัวเอง และสร้างโอกาสในการพัฒนาทรัพยากรที่มีจนนำมาขายได้ ซึ่งนโยบายนี้ยังเชื่อมไปถึงมิติเศรษฐกิจด้วย

“ถ้าเศรษฐกิจมันดี มีความกินดีอยู่ดี เยาวชนมีสิทธิเสรีภาพในการพูดในการแสดงออก วัยรุ่นจะไม่ถูกจำกัดกรอบแค่ในสิ่งที่ผู้ใหญ่หรือผู้บริหารต้องการเท่านั้น มันจะทำให้เกิดความหลากหลาย เยาวชนไทยได้ฉายศักยภาพที่มีอยู่ได้เต็มที่ ดังนั้นเราจะต้องไม่จำกัดกรอบคิดของเขา มันคือสิ่งใหม่ ๆ ที่เราเองในฐานะพรรคการเมืองก็อยากฟังอยากรู้ด้วยว่าพวกคุณต้องการอะไร”

ดร.ธีรรัตน์ย้ำอีกครั้งว่า ประเด็นสำคัญคือ การรับฟังเสียงวัยรุ่น สนับสนุน และต่อยอด นำไปปฏิบัติให้เกิดขึ้นจริงได้ 

“ชีวิตวัยรุ่นไม่ได้มีแค่ในห้องเรียน เขายังมีชีวิตนอกห้องเรียน มีความฝัน มีอาชีพที่เขาอยากจะทำ ฉะนั้นถ้าเรามีพื้นที่แลกเปลี่ยนให้กับเขา วัยรุ่นจะค้นหาตัวตนได้เร็วยิ่งขึ้น อาจจะไม่ไปถึงขั้นต้องจบปริญญาตรี ปริญญาโท ปริญญาเอก แต่เขามีทักษะที่ติดตัว สามารถนำไปขายได้ สร้างรายได้ สร้างอาชีพได้” ดร.ธีรรัตน์เสริม

เป็นที่น่าสนใจว่า เมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา เยอรมนีประกาศมอบ ‘Kulturpass’ บัตรกำนัลด้านวัฒนธรรม มูลค่า 200 ยูโร (ประมาณ 7,400 บาท) ให้กับเยาวชนชาวเยอรมันทุกคนที่อายุครบ 18 ปี ในปี 2566 สำหรับใช้จ่ายในกิจกรรมด้านวัฒนธรรมต่าง ๆ เช่น ซื้อบัตรคอนเสิร์ต ซื้อแผ่นเสียงไวนิล ซื้อหนังสือ แลกเป็นตั๋วเข้าชมการแสดงศิลปะ

ทั้งนี้เพื่อส่งเสริมให้คนรุ่นใหม่ได้สัมผัสกับความหลากหลายของศิลปวัฒนธรรมในประเทศ ทดแทนโอกาสในการค้นหาตัวตนของวัยรุ่นที่หายไปในช่วงแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 โดยมีแนวโน้มว่าจะพัฒนาให้ครอบคลุมถึงเยาวชนอายุ 15-17 ปีต่อไปหากโครงการได้รับผลตอบรับที่ดี 

Kulturpass-เยอรมนี-ตั๋ววัฒนธรรม
บัตรสวัสดิการด้านวัฒนธรรม Kulturpass สำหรับกลุ่มวัยรุ่นชาวเยอรมัน
ที่มา : deutschlandfunk.de

ขณะเดียวกัน ประเทศฝรั่งเศสก็มีสวัสดิการ Culture Pass มาตั้งแต่ปลายปี 2564  แล้ว โดยรัฐบาลมอบตั๋ววัฒนธรรมมูลค่าถึง 300 ยูโรสำหรับวัยรุ่นอายุ 18 ปี ได้ใช้จ่ายตามกิจกรรมทางวัฒนธรรม มากไปกว่านั้น สวัสดิการนี้ไม่จำกัดเฉพาะเยาวชนภายในประเทศเท่านั้น วัยรุ่นอายุ 18 ปีที่ไม่มีสัญชาติฝรั่งเศส แต่อาศัยอยู่ในประเทศมากกว่า 1 ปีก็จะได้รับตั๋ววัฒนธรรมนี้เช่นกัน 

นอกจากนั้นรัฐบาลฝรั่งเศสยังจัดสวัสดิการสำหรับนักเรียนนักศึกษาทุกคน เช่น สามารถเข้าชมพิพิธภัณฑ์แห่งชาติของฝรั่งเศสและห้องสมุดได้ฟรีตลอดทั้งปี สามารถรับส่วนลด เมื่อเข้าชมพิพิธภัณฑ์ โรงละคร หรือโรงภาพยนตร์ในราคาส่วนลดนักศึกษา เพียงแสดงบัตรนักเรียนเท่านั้น เป็นอีกตัวอย่างของรัฐบาลที่มองเห็นความสำคัญในการลงทุนกับเยาวชน 

เพิ่ม ‘เวลาว่าง’ สร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้วัยรุ่น

 “การใช้ชีวิตวัยรุ่นให้มีคุณภาพ คือ การว่างมากพอที่จะไปทำอะไรสักอย่างที่เราอยากทำ เช่น เราไปเรียน เราก็ไม่ต้องมานั่งคิดเผื่อว่าฉันต้องทำงานพิเศษไหมจะได้มีเงินใช้จ่าย หรือเราทำธีสิสต้องมีเงินเท่าไหร่ เก็บตั้งแต่ตอนนี้เลยหรือเปล่า เราคิดว่าสิ่งที่มันขาดไปในหลักสูตรของการศึกษาไทยหรือแม้แต่ในสวัสดิการก็ด้วย คือ ‘การมีเวลาว่าง’”  พลอยวรินทร์ นิยามการใช้ชีวิตวัยรุ่นอย่างมีคุณภาพ

ทั้งนี้ ‘เวลาว่าง’ มีส่วนเกี่ยวข้องกับการมี ‘คุณภาพชีวิตที่ดี’ เพราะการมีเวลาว่างมากพอกับสิ่งที่ชอบหรือสนใจ การมีตัวเลือกให้ตัวเอง ได้รับโอกาสในการเรียนรู้ ลองทำ หลาย ๆ เรื่อง สามารถนำไปสู่การค้นพบตัวตนที่ชอบ มองเห็นเส้นทางในอนาคตที่เหมาะกับตัวเองต่อไป 

“เพราะเราไม่มีว่าง มันทำให้เราไม่สามารถที่จะคิดว่าอยากจะทำอะไรสักอย่างหนึ่งเพื่อสังคมได้ เพราะเอาตัวรอดวันหนึ่งก็เหนื่อยแล้ว สังคมไทยมันบีบให้เราไม่มีเวลาว่างที่จะทำอะไรเลย” พลอยวรินทร์ เสริม

WalkingStreet-วัยรุ่น-พื้นที่วัยรุ่น-วัยรุ่นแสดงดนตรี-SiamSquare
บรรยากาศการแสดงดนตรีของกลุ่มวัยรุ่น ณ บริเวณ Walking Street สยามแสควร์
ที่มา : ฉัตรมงคล รักราช

ดร.เดชรัต กล่าวถึง ‘เวลาว่าง’ ในมิติของการดูแล (Care Sector) ว่า “เรื่องเวลาสำคัญมาก เรื่อง care ก็คือเรื่องเวลา ตอนนี้เวลาเราวางนโยบายเรื่อง care เราอาจจะวางมุมที่คิดแต่ผู้สูงอายุอย่างเดียว แต่เราไม่ได้ดูวัยรุ่นว่าเป็นยังไง”

เราเรียกร้องให้ทุกคนทำงาน แต่ไม่มีเวลาสำหรับ care เลย ยกตัวอย่างคนรุ่นใหม่หลาย ๆ คนที่ตัดสินใจไม่มีลูก อีกเหตุผลคือ ชีวิตตอนนี้ก็ไม่มีเวลาพักอยู่แล้ว ไม่มีเวลาว่างเลย ซึ่งมันเป็นเรื่องจริง คุณจะให้เขามีลูกยังไง ถ้าคุณไม่ให้เขามีเวลา สังคมกำลังดีไซน์ให้เขาทำหน้าที่อย่างไร มันก็เป็นเรื่องที่ทั้งสังคมต้องช่วยกันคิดว่าเราจะให้วัยรุ่นปัจจุบันโตไปมีเวลาแบบไหน  เราต้องเปิดให้เยาวชนแสดงความเห็นว่าเขาอยากจะให้มี Care Sector ในรูปแบบใด”

แม้การเลือกใช้เวลาว่างของวัยรุ่นจะแตกต่างกันไป แต่ไม่ว่าจะเลือกไปเดินชมศิลปะ ออกกำลังกาย ดูหนัง ปิกนิกในสวนสาธารณะ เล่นดนตรี วาดรูป ดูคอนเสิร์ต อ่านการ์ตูน เล่นบอร์ดเกม หรือทำกิจกรรมอื่น ๆ นอกเหนือจากการเรียน ทั้งหมดนี้ล้วนสะท้อนให้เห็นชีวิตที่มีคุณภาพผ่าน ‘ตัวเลือก’ ที่ทำให้พวกเขาสามารถออกแบบชีวิตของตัวเองได้ น่าเสียดายที่บางครอบครัวในสังคมไทยมองว่ากิจกรรมเหล่านี้เป็นเรื่องไร้สาระ

ดร.เดชรัตยังมองว่า ‘ทัศนคติ’ ของผู้ใหญ่ต่อการใช้เวลาว่างของวัยรุ่นนั้นสำคัญเช่นกัน  

“ผู้ใหญ่จำนวนมากในบ้านเรา โดยเฉพาะส่วนที่เป็นผู้กำหนดนโยบายไม่เข้าใจสิ่งนี้เลย ผมลงพื้นที่ไปดูน้อง ๆ ทำดิจิตอลอาร์ต ทำคอสเพลย์  พูดตรง ๆ โดยส่วนตัวผมไม่รู้เลยว่าเขาทำอะไร แต่เราสามารถซึมซับได้ว่า เขาตั้งใจทำ เขารักมัน แล้วก็มีคนรักสิ่งที่เขาทำ ผมว่าจบแล้ว ผมไม่จำเป็นต้องเข้าใจว่าคอสเพลย์คืออะไร แต่ผมเห็นคนมามุงกันอยู่อย่างนี้ ชื่นชมกันแบบนี้ สำหรับผมมันก็โอเคแล้ว แต่มีผู้ใหญ่จำนวนไม่น้อยที่ไม่พยายามจะเปิดช่องให้กับสิ่งที่ตัวเองไม่เข้าใจ” 

“วัยรุ่นเขากำลังฟอร์มตัวเพื่อที่จะให้มีตัวตนในโลกที่ไม่มีใครรู้ว่ามันจะเป็นยังไง เราต้องเปิดพื้นที่ให้มากขึ้น เพราะตัวเราเอง (ผู้ใหญ่) ก็ไม่รู้ว่าโลกอนาคตเป็นอย่างไร วัยรุ่นก็ไม่รู้เหมือนกัน แต่อย่างน้อยสิ่งที่เขารู้ดีกว่าเราคือ ตัวตนของเขาเป็นอย่างไร ตอนนี้มันเหมือนผู้ใหญ่ ซึ่งไม่รู้อะไรเลย ไม่รู้ทั้งตัวเขาและไม่รู้ทั้งโลกอนาคต รู้แต่โลกอดีต แต่พยายามที่จะไปเจ้ากี้เจ้าการ อันนี้มันเป็น mindset ที่ต้องเปลี่ยนนะ” ดร.เดชรัตเสริม 

การเรียกร้องสิทธิ์ ในวันที่เสียงของวัยรุ่นถูกกลืนหาย

แม้ปัญหาต่าง ๆ ของวัยรุ่น รวมถึงการเรียกร้องสิทธิของพวกเขา จะปรากฏอย่างต่อเนื่องบนพื้นที่สื่อ แต่ดูเหมือนว่าสิ่งที่เกิดขึ้นจะไม่ได้รับการตอบรับอย่างเป็นรูปธรรมเท่าที่ควร 

ข้อมูลจากม็อบดาต้าไทยแลนด์ ระบุว่าเยาวชนจำนวนมากเข้ามามีส่วนร่วมในการประท้วง ในการชุมนุมกว่า 1,838 ครั้งในช่วงเดือนมกราคม 2564 – พฤษภาคม 2565 และจากผลสำรวจของคิด for คิดส์ มีเยาวชนไทยอายุ 15-25 ปีกว่าร้อยละ 71.7 ที่เคยมีส่วนร่วมทางการเมืองรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง สะท้อนให้เห็นว่า พวกเขาติดตามสถานการณ์บ้านเมือง ต้องการเปลี่ยนแปลง และเห็นความสำคัญในสิทธิของตนเอง

“เพราะไม่ใช่ปัญญาชนแบบผู้ชุมนุมกลุ่มอื่น เติบโตมาในสังคมอีกแบบ วิธีที่แสดงออกเลยดูกระด้างกระเดื่องในสายตาชนชั้นกลาง มันดูสร้างความวุ่นวาย ไม่เป็นระเบียบแบบที่ผู้ชุมนุมกระแสหลักต้องการ แต่วิธีการที่แสดงออกมันค่อนข้างสัมพันธ์กับคุณภาพชีวิตที่เจอนะ” เนเน่ สมาชิกกลุ่มทะลุแก๊ซ อธิบายถึงการประท้วงของกลุ่มตน พร้อมเสริมว่า

“ใช้ชีวิตอยู่ไปวัน ๆ ไร้อนาคตที่แน่นอน พอมาเจอโควิดหลายคนก็ตกงาน สูญเสียคนในครอบครัว แล้วรัฐไม่สามารถให้หลักประกันในชีวิตได้เลย มันเลยระเบิดออกมาผ่านการประท้วงที่เต็มไปด้วยความโกรธ สิ่งที่ต้องการตอนแรกก็แค่ให้รัฐบาลลาออก ต้องการคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น แต่รัฐกลับตอบโต้รุนแรงขึ้น เด็ดขาดขึ้น  ตอนนี้อาจจะเงียบไป แต่อนาคตมันจะระเบิดออกมาอีก เพราะปัญหามันยังไม่ได้ถูกแก้ไข” 

พลอยวรินทร์ หนึ่งในนักกิจกรรมเยาวชน ย้ำว่า เป็นหน้าที่ของรัฐที่จะต้องจัดหาสวัสดิการต่าง ๆ ให้ประชาชน เพราะรัฐมีหน้าที่ทำให้เราสามารถใช้ชีวิตประจำวันได้อย่างสมบูรณ์ เธอเชื่อว่า การเรียกร้องให้รัฐจัดหาสิ่งที่เป็นปัจจัยพื้นฐาน เพื่อให้วัยรุ่นได้เติบโตเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์นั้น เป็นเรื่องที่ทำได้และไม่ใช่เรื่องผิดแต่อย่างใด

ประท้วง-วัยรุ่น-สี่แยกปทุมวัน-16ตุลาคม
บรรยากาศการประท้วงขับไล่รัฐบาลวันที่ 16 ตุลาคม 2563 ซึ่งมีกลุ่มเยาวชนเข้าร่วมเป็นจำนวนมาก ณ บริเวณสี่แยกปทุมวัน
ที่มา : ​​ทิฆัมพร ธรรมเที่ยง

ทั้งนี้ ได้เกิดขบวนการเรียกร้องสิทธิของคนรุ่นใหม่หลากหลายรูปแบบ ทั้งการเดินขบวนบนท้องถนน การรณรงค์ผ่านแคมเปญในสื่อโซเชียล จัดกิจกรรมประท้วงเชิงสัญลักษณ์ เข้าเสนอชื่อร่างกฎหมาย แสดงความคิดเห็นบนโซเชียลในแอ็กเคานต์ส่วนตัว โดยเฉพาะทวิตเตอร์ที่แสดงผลเทรนด์และสร้างแรงกระเพื่อมในโลกออนไลน์ อย่างไรก็ตาม การมีส่วนร่วมของวัยรุ่นไทยในการกำหนดนโยบายเพื่อพวกเขาเองกลับเป็นไปในทิศทางตรงกันข้าม 

ตอนนี้สังคมไทย ถ้าพูดถึงวัยรุ่น ผมว่ามันมีปัญหาเรื่อง mindset  เราไม่ได้มองวัยรุ่นว่าน่ารักเหมือนเด็ก เหมือนผู้สูงอายุ เราเลยดูแลเขาค่อนข้างแย่กว่าวัยอื่น ถ้ามองจากมุมสวัสดิการ สำหรับผู้สูงอายุมันมีฟอรั่ม มีพื้นที่ มีสภาผู้สูงอายุเข้ามาทำหน้าที่ แต่ของเด็กหรือเยาวชนมันไม่ค่อยมี มีสภาเด็กและเยาวชน แต่ถ้าเทียบเปอร์เซ็นต์ของการมีส่วนร่วมมันก็น้อยมากที่เยาวชนหรือวัยรุ่นจะได้เข้ามามีส่วนในเชิงนโยบายผู้อำนวยการศูนย์นโยบาย Think Forward Center กล่าว

จากการเสวนาในหัวข้อ ‘นโยบายเด็กและครอบครัวแห่งอนาคต: ขยายพื้นที่ปฏิรูปนโยบายสาธารณะเพื่ออนาคตของเด็กไทย’ ของศูนย์ความรู้นโยบายเด็กและครอบครัว เมื่อเดือนกันยายน 2565 ที่ผ่านมา ได้กล่าวถึงปัญหาของสภาเยาวชนฯ ว่ายังคงขาดอิสระในการทำงาน ถูกควบคุมบทบาทเชิงนโยบาย และขาดทรัพยากรในการสนับสนุน 

โดยพบว่า ประเทศไทยมีการจัดตั้งสภาเด็กและเยาวชนมากถึง 8,781 แห่ง ทั้งในระดับตำบล อำเภอ จังหวัด และประเทศ แต่ยังขาดอิสระในการทำงาน ถูกควบคุมนโยบาย โครงการ และงบประมาณ ภายใต้กรมกิจการเด็กและเยาวชน ประกอบกับทรัพยากรที่จำกัด ความเหลื่อมล้ำของอำนาจในการต่อรองกับผู้กำหนดนโยบาย ทำให้เสียงของเยาวชนไทยในกลไกสภาเด็กและเยาวชนไปไม่ถึงการเปลี่ยนแปลงในระดับนโยบาย 

เทียบกับข้อมูลงบประมาณรายจ่าย สำนักงบประมาณ พบว่า ในปี 2564 สภาเด็กและเยาวชนได้รับงบอุดหนุนจากรัฐบาลเฉลี่ยเพียง 18,353 บาทต่อแห่ง และลดลงเหลือ 14,302 บาทต่อแห่งในงบประมาณปี 2565 

ขณะที่ประเทศสิงคโปร์มีเวที ‘Youth Conversation’ ที่รวบรวมความเห็นจากเยาวชนมากกว่า 8,000 คน ถึงความต้องการของพวกเขามาตั้งแต่ปี 2561 เปิดโอกาสให้เยาวชนได้มีส่วนร่วมในการออกแบบโครงการที่ช่วยพัฒนาเยาวชนและสังคมโดยตรง  ต่างจากประเทศไทยที่การมีส่วนร่วมของเยาวชนยังคงอยู่ในวงจำกัด 

แม้สิงคโปร์จะไม่มีนโยบายพัฒนาเยาวชนแห่งชาติ แต่ก็มีกระทรวงวัฒนธรรม ชุมชน และเยาวชนที่เปิดให้เยาวชนได้มีส่วนร่วมอย่างเป็นรูปธรรม รัฐบาลสิงคโปร์พัฒนาแหล่งการเรียนรู้ในรูปแบบของศูนย์ศิลปวัฒนธรรมและพิพิธภัณฑ์ โดยมีงบประมาณสนับสนุนการทำงานพัฒนาเยาวชนผ่านระบบการให้ทุนกับเยาวชนคนรุ่นใหม่ที่มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ โดยในปี 2562 มีงบประมาณสนับสนุนเยาวชนกว่า 350 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ (ประมาณ 8,000 ล้านบาท) ในขณะที่ประเทศไทยมีงบสนับสนุนผ่านงานสภาเด็กและเยาวชนประมาณ 200 ล้านบาทเท่านั้น 

ดร.ธีรรัตน์  กล่าวว่า พรรคเพื่อไทยได้พยายามสร้างการมีส่วนร่วมของคนรุ่นใหม่ ผ่านโครงการ ‘The Change Maker’ ของทางพรรคฯ

“เรามีการจัดกิจกรรมให้เยาวชนเข้ามาเสนอนโยบายที่ตัวเองต้องการ แล้วเราก็เอามาปฏิบัติด้วย ยกตัวอย่างเรื่อง Telemedicine มีน้องคนหนึ่งเสนอนโยบายทางด้านสาธารณสุข เพราะบ้านเขาอยู่ในพื้นที่ห่างไกล เข้าถึงการรักษายาก มีผู้สูงอายุที่ต้องดูแล ซึ่งในแต่ละครั้งที่เขาต้องเดินทางมาหาหมอ มันก็ลำบากมาก แต่ถ้าหากว่ามีการรักษาทางไกล ผ่านเทคโนโลยีเหล่านี้ มันจะสามารถลดค่าใช้จ่าย ย่นเวลาที่ต้องมาพบแพทย์แต่ละครั้งได้ อันนี้คือตัวอย่างที่เกิดขึ้นจริง ซึ่งเรานำมาเป็นนโยบายของพรรคด้วย”

พรรคเพื่อไทย-TheChangeMaker-เยาวชนภาคอีสาน
บรรยากาศการลงพื้นที่ภาคอีสานของทีมคิดเพื่อไทย ในโครงการ The Change Maker
 โดยมีนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยราชภัฎอุดรธานี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีวิชาชีพท่าบ่อ และประชาชน 
เข้ามาสะท้อนปัญหาในพื้นที่และเสนอแนะแนวทางแก้ไข
ที่มา : พรรคเพื่อไทย

ดร.ธีรรัตน์เสริมว่า นี่เป็นเพียงจุดเริ่มต้นเท่านั้น ยังมีอีกหลายประเด็นที่เราต้องพัฒนาร่วมกัน ในขณะเดียวกัน คนในสังคมไทยยังสามารถส่งเสริมคุณภาพชีวิตของวัยรุ่นได้ โดยการรับฟังและสนับสนุนสิ่งที่วัยรุ่นทำได้ดี  ควบคู่ไปกับการผลักดันเชิงนโยบาย

“สังคมไทยมันมีการกดทับทำให้กลัวจนไม่กล้าพูด ซึ่งเป็นอุปสรรคใหญ่มาก ๆ ที่ปิดกั้นความคิดความครีเอทีฟของเยาวชนไทย หากผู้ใหญ่ นักการเมือง ประชาชนอยากเห็นวัยรุ่นไทยโตไปเป็นกำลังสำคัญของชาติ ต้องรับฟังและทำความเข้าใจ ถ้าเขาทำได้ดีก็ผลักดัน สนับสนุน อะไรที่มันยังไม่สำเร็จในวันนี้ก็ต้องค่อย ๆ พูดจากัน แต่ที่สำคัญคือ ต้องไม่ใช้ความรุนแรง หรือใช้วิธีที่กดทับเขา ไม่ให้เขาพูดในสิ่งเหล่านั้น”

เพราะความเข้าใจต้องควบคู่ไปกับรัฐสวัสดิการ

ปัญหาที่เกิดขึ้นกับวัยรุ่นและเยาวชนไทยซึ่งนำมาสู่การใช้ชีวิตอย่างไร้คุณภาพนั้น อาจไม่สามารถแก้ไขได้ด้วย ‘รัฐสวัสดิการ’ เพียงอย่างเดียว เช่น ปัญหาภายในครอบครัว ดร.เดชรัตกล่าวว่า รัฐสวัสดิการอาจช่วยได้เพียง 40 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น ในการลดความกังวลในมิติเศรษฐกิจของกลุ่มพ่อแม่ 

“พ่อแม่ที่มีความเครียดโดยพื้นฐานก็ส่งต่อความเครียดให้ลูก อันนี้เป็นธรรมชาติ ซึ่งเราเองก็ต้องระมัดระวังกัน การมีสวัสดิการมันช่วยเรื่องโอกาสได้ เวลาลูกไม่เห็นโอกาสที่ชัดเจน มันก็กลับมาเครียดกับพ่อแม่ได้ คงไม่ปฏิเสธว่ามีทั้งพ่อแม่ที่บอกว่าลูกอย่าเรียนเลย กับลูกที่รู้สึกว่าทำไมพ่อแม่ไม่ส่งเสริมตัวเองให้ดีเหมือนกับเพื่อน ๆ ก็จะมีปัญหาลักษณะทั้งสองแบบ”

“สำหรับปัญหาเรื่องครอบครัว รัฐสวัสดิการอาจช่วยสัก 40 เปอร์เซ็นต์ อย่างไรก็ตามมันก็จะมีอีก 40 เปอร์เซ็นต์ เป็นเรื่องที่ครอบครัวต้องคลายปมด้วยตัวเอง แต่ละปัญหาถ้าศึกษาดู มันไม่ได้เกิดเฉพาะครอบครัวที่มีปัญหาทางเศรษฐกิจเท่านั้น ครอบครัวที่ไม่มีปัญหาทางเศรษฐกิจก็มีปัญหาที่เป็นปมภายในครอบครัวเหมือนกัน อันนี้ก็ต้องใช้ความเข้าใจ ส่วนอีก 20 เปอร์เซ็นต์ เรื่องคอมมูนิตี้และเพื่อนก็มาช่วยเสริม ช่วยเคลียร์เรื่องครอบครัวได้ ยกตัวอย่างเช่น ผมอาจจะไม่สามารถเข้าใจสิ่งที่ลูกทำได้จริง ๆ แต่ถ้ามีคุณพ่อคุณแม่ที่เข้าใจมาอธิบายในภาษาที่มันคล้ายคลึงกับภาษาเราได้ก็อาจเข้าใจกันมากขึ้น”

สอดคล้องกับความเห็นของพลอยวรินทร์ที่มองว่าการแก้ปัญหาของวัยรุ่นมีความเกี่ยวเนื่องกับหลายปัจจัย 

“การที่คนเราจะเท่ากันได้ มันไม่ได้มีแค่ปัจจัยเดียวคือรัฐสวัสดิการอยู่แล้ว เอารัฐสวัสดิการมาแก้ปัญหาความรุนแรงเชิงวัฒนธรรมอาจจะยังยากอยู่ อย่างเรื่องสุขภาพจิต สมมติเรามีรัฐสวัสดิการที่ทำให้วัยรุ่นเข้าถึงการปรึกษาปัญหาสุขภาพจิตได้ แต่ถ้าทัศนคติของคนในสังคมมองว่า ถ้าเอาลูกไปปรึกษาหมอ เป็นบ้าแน่เลย สุดท้ายมันก็คือความไม่เข้าใจ  เรื่องทัศนคติ วัฒนธรรม สังคมก็ต้องปรับ แต่ก็ต้องยอมรับว่ารัฐสวัสดิการมันช่วยเรื่องโครงสร้าง ก็ดีกว่าเราไม่มีรัฐสวัสดิการเลย”

การเรียกร้องสวัสดิการยังเป็นเรื่องจำเป็น และต้องการแรงสนับสนุนจากทุกคนในสังคม  ไม่ว่าจะเป็นรัฐ โรงเรียน หรือครอบครัว ทุกสถาบันสามารถมีส่วนร่วมในการยกระดับคุณภาพชีวิตของวัยรุ่นได้  การเปลี่ยนแปลงทัศนคติที่มีต่อวัยรุ่นและเยาวชนไทยก็เป็นอีกหนึ่งวิธีที่ทำได้โดยไม่ต้องรอรัฐ การเปิดโอกาสและสนับสนุนให้พวกเขามีพื้นที่ของตัวเอง จะสามารถนำอนาคตของสังคมไทยให้ไปไกลกว่าที่เป็นอยู่

ถ้าสังคมไทยไม่มีพื้นที่หรือเส้นทางพัฒนาไปสู่อาชีพให้เยาวชนเดินทางต่อ พอเจอทางตัน ไร้ทางเลือก ความคิดฝันเหล่านั้นก็จำต้องสลายไปพร้อมกับตัวตน และเราก็สูญเสียทรัพยากรมนุษย์ที่มีศักยภาพไปอย่างช้า ๆ การเตรียมพื้นฐานที่ดีและเส้นทางที่หลากหลายให้กับเยาวชนจึงเป็นเรื่องสำคัญที่รัฐไทยควรใส่ใจแก้ปัญหาอย่างเร่งด่วน

เมื่อวัยรุ่นในวันนี้กำลังจะเติบโตเป็นกำลังสำคัญสำหรับประเทศในวันหน้า รัฐจำเป็นต้องจัดเตรียมสวัสดิการสำหรับเยาวชนคนรุ่นใหม่ เพื่อให้พวกเขามีพื้นฐานที่ดี เติบโตอย่างแข็งแรง และสามารถพัฒนาตนเองตามเส้นทางที่ต้องการต่อไป

หากวัยเยาว์เปรียบเหมือนผืนผ้าใบว่างเปล่าที่รอการรังสรรค์ให้สมบูรณ์ แล้ววันนี้รัฐและสังคมไทยเตรียมสีสันให้พวกเขาได้แต่งแต้มผืนผ้าใบนี้ไว้ดีพอหรือยัง

อ้างอิง

  1. ฉัตร คำแสง และคณะ. (2565). เด็กและครอบครัวไทยในสามวิกฤต: รายงานสถานการณ์เด็ก เยาวชน และครอบครัว ปี2022. ศูนย์ความรู้นโยบายเด็กและครอบครัว. เข้าถึงได้จาก https://drive.google.com/drive/folders/18r5A8I39vqUUbr2L0Ctwl7NpROwgQ-Ko  
  2. เดชรัต สุขกำเนิด. (2565). Always Beside You (3): วัยรุ่นไทย เครียดอะไรกันบ้าง. เข้าถึงได้จาก https://think.moveforwardparty.org/article/urban-development/3150/
  3. ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี. (2564). เรียนมหา’ลัยฟรี มีเงินสนับสนุนให้ พาไปดูสวัสดิการวัยรุ่นฟินแลนด์. เข้าถึงได้จาก https://thematter.co/thinkers/finland-youth-welfare/157948#:~:text=สำหรับคนรุ่นใหม่ฟินแลนด์,มหาวิทยาลัยที่ค่าเทอมทุก
  4. สมพงษ์ จิตระดับ, และพจนา อาภานุกรักษ์. (2563). แนวทางการพัฒนาคุณภาพเยาวชนพลเมือง : การเปรียบเทียบกรอบความคิดแบบเติบโตของประเทศไทย สาธารณรัฐเอสโตเนีย และสิงคโปร์. วารสารมหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา, 16(3), 406-414. https://so04.tci-thaijo.org/index.php/yru_human/article/view/242098 
  5. สำนักงบประมาณ, เอกสารงบประมาณ ฉบับที่ 3 งบประมาณรายจ่าย ฉบับปรับปรุง ตามพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่าย ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 เล่มที่ 2 (สำนักงบประมาณ, 2563), น.384. เข้าถึงได้จาก https://dl.parliament.go.th/handle/20.500.13072/563877 
  6. สำนักงบประมาณ, เอกสารงบประมาณ ฉบับที่ 3 งบประมาณรายจ่าย ฉบับปรับปรุง ตามพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่าย ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 เล่มที่ 2 (สำนักงบประมาณ, 2564), น.389. เข้าถึงได้จาก https://dl.parliament.go.th/handle/20.500.13072/578817 
  7. สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ, (2564, 17 ธันวาคม). รายงานบัญชีกระแสการโอนประชาชาติพิเศษปี 2564. “บัญชีกระแสโอนประชาชาติ (National Transfer Accounts: NTA) กับการจัดสวัสดิการสังคมของประเทศไทย. https://www.nesdc.go.th/more_news.php?cid=938&filename=social  
  8. CampusFrance. (n.d.). สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ. IN FRANCE, STUDENTS ENJOY NUMEROUS BENEFITS. Retrieved from https://www.campusfrance.org/en/student-benefits-France 
%d bloggers like this: