Interview Social Issue Top Stories

#ยกเลิกเกณฑ์ทหาร กับมุมมองจากอดีตทหารเกณฑ์

ข้อกฎหมายที่ไม่เอื้อให้กำหนดชะตาชีวิตตัวเอง นำมาสู่การใช้ชีวิตในฐานะทหารที่แตกต่างกันไปแต่ฝืนใจทนเหมือนกัน

เรื่อง : พิชญ์สินี เกษมพิพัฒน์
ภาพ : ฤทธิ์ศักดิ์ ทองประเสริฐ

ตามพระราชบัญญัติรับราชการทหาร พ.ศ. 2497 ชายไทยใดที่ตัดสินใจไม่เข้ารับการศึกษาเป็นนักศึกษาวิชาทหาร เมื่อพวกเขาอายุครบ 21 ปีบริบูรณ์ จะถูกเรียกไปรับการตรวจเลือกเพื่อเข้ากองประจำการ โดยเริ่มจากการไปแสดงตนรับหมายเรียกที่ภูมิลำเนาของตน และไปเข้ารับการตรวจเลือกทหารกองเกิน หรือ เกณฑ์ทหาร ตามวันที่ระบุในหมายเรียก 

ในขั้นตอนการตรวจคัดเลือก หากร่างกายเข้าเกณฑ์ตามคุณสมบัติที่กำหนด จะต้องเข้ารับการ ‘จับใบดำใบแดง’ ซึ่งเป็นการเสี่ยงดวงในการเข้ารับราชการทหารหากได้ใบแดง อย่างไรก็ตาม มีบางเขตที่มีคนสมัครรับราชการทหารครบตามจำนวนที่ต้องการ ก็จะไม่มีการเสี่ยงนี้เกิดขึ้น ซึ่งในแต่ละเขตจะเปิดรับทหารเกณฑ์ในจำนวนไม่เท่ากัน 

เมื่อเข้ารับราชการ ทหารใหม่จะถูกฝึกในด้านต่าง ๆ เป็นเวลา 10 สัปดาห์ หลังจากนั้นก็ฝึกตามตำแหน่งหน้าที่จนครบกำหนดตามวุฒิการศึกษาที่มีอยู่เดิม และจะถูกปลดเป็นทหารกองหนุน ซึ่งมีหน้าที่เตรียมพร้อมในการเข้ารับราชการทหารในการเรียกพลเพื่อตรวจสอบตามพระราชบัญญัติรับราชการทหาร พ.ศ. 2479  มาตรา 36 

เป็นที่ทราบโดยทั่วไปว่ามีคนหนุ่มจำนวนไม่น้อยที่ ‘ไม่มีความเต็มใจ’ ในการเป็นทหาร เพราะต้องฝึกหนัก รวมถึงเสียโอกาสต่าง ๆ ในชีวิต อันต่างจากคำโฆษณาอันสวยหรูของกองทัพที่พูดถึงสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ ในการเป็นทหารเกณฑ์ นำมาสู่การวิพากษ์วิจารณ์อย่างต่อเนื่องมาหลายปี กระทั่งเมื่อไม่นานมานี้ได้เกิดเป็นแฮชแท็ก #ยกเลิกเกณฑ์ทหาร อันเป็นกระแสร้อนแรงบนโลกออนไลน์ ชายไทยจำนวนไม่น้อยต้องเป็นทหารเกณฑ์ตามข้อกฎหมายที่ไม่เอื้อให้กำหนดชะตาชีวิตตัวเอง นำมาสู่การใช้ชีวิตในฐานะทหารที่แตกต่างกันไปแต่ฝืนใจทนเหมือนกัน

ภาพโปสเตอร์เขียนข้อดีของการเป็นทหารเกณฑ์ไว้ว่า ได้มีโอกาสเป็นนักเรียนนายสิบ ได้ความอดทน ได้รับเงินเดือน ได้เพื่อนฝูง ได้ทำหน้าที่ลูกผู้ชายรับใช้ชาติ ได้ความแข็งแรง ได้ศึกษาเพิ่ม (กศน.) ได้เป็นผู้เสียสละ ได้อบรมวิชาชีพ โดยมีภาพพลทหารอาทิตย์ สมน้อย (เปิ้ล ปทุมราช) ประกอบและเขียนแฮชแท็กด้านล่างว่า #เป็นทหารได้อะไรมากกว่าที่คิด
‘ข้อดีของการเป็นทหารเกณฑ์’ สื่อประชาสัมพันธ์ฯ จัดทำโดยเพจ กองทัพบก Royal Thai Army

ภารกิจ (บังคับ) ใหม่ ไยต้องเสี่ยงดวง

เอ (นามสมมติ) อดีตทหารเกณฑ์ที่เพิ่งปลดประจำการเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา เล่าถึงความรู้สึกช่วงการเกณฑ์ทหารว่า ตนได้ไปบนกับแม่นาคพระโขนงเพราะต้องการหาที่พึ่งทางจิตใจ พอถึงวันที่เข้ารับการเกณฑ์ทหารก็ใส่ชุดสีดำไปทั้งตัวเพราะอยากจับได้ใบดำ ก่อนจับตนค่อนข้างมั่นใจจึงไม่ได้เลือกที่จะสมัครเข้าไป ซึ่งถ้าหากสมัครจะสามารถเลือกผลัด ได้สิทธิ์ลดหย่อนได้ เอเล่าว่าเมื่อถึงคิวจับของตนเหลือใบแดงอยู่อีกเพียง 5 ใบจาก 28 ใบ แต่เมื่อผลออกมาเป็นใบแดง เขาตกใจมาก 6 เดือนที่เหลือก่อนเข้าประจำการ เอต้องแจ้งลาออกจากบริษัทที่ตนเพิ่งผ่านการทดลองงานมาได้สักระยะหนึ่ง ทั้งยังต้องเตรียมตัวให้พร้อมด้วยการออกกำลังให้ร่างกายแข็งแรงขึ้นเพราะตัวเองเป็นคนป่วยง่าย ทางครอบครัวเองก็เป็นห่วงจุดนี้เป็นอย่างมาก นอกจากนี้เอยังใช้ห้วงเวลาดังกล่าวเพื่อปรับความคิดตัวเองให้รับกับความจริงให้ได้ เพราะก่อนหน้านั้น ตนไม่ชอบทหารเกณฑ์เลย

“จะมีความแอนตี้ทุกอย่างในนั้น รู้สึกว่ามันไม่โอเคไม่ชอบ คือพี่จะพลิกกลับความคิดไปอีกข้าง คือต้องรับให้ได้ โดยเฉพาะเรื่องของการแบ่งชนชั้นวรรณะ เหมือนเราก็รู้เนาะว่าทหารแบ่งยศค่อนข้างมาก ติดเรื่องโซตัสเยอะ เราก็เหมือนทำใจรับให้พวกนั้นให้ได้ เหมือนเราก็ได้ยินมาตลอดว่า เข้าไปอยู่ข้างใน เราอาจจะเจอเรื่องรุนแรง เช่น การลงโทษ ๆ แปลก ๆ การให้ทำอะไรแปลก ๆ ที่คนปกติเขาไม่ทำกันครับ พี่ก็ต้องเหมือนเตรียมตัวเตรียมใจให้พร้อม สร้างภูมิคุ้มกันให้ตัวเองรับกับเรื่องพวกนี้ให้ได้” เอเสริมอีกว่า กระนั้น เมื่อถึงวินาทีที่จากบ้าน เขา ‘น้ำตาแตก’ ร้องไห้ออกมาในที่สุดเพราะความกังวลต่ออนาคต

คุณภาพชีวิตระหว่างการฝึกของทหารเกณฑ์

ฤทธิ์ศักดิ์ ทองประเสริฐ หรือ อาร์ม อดีตทหารเกณฑ์ผลัดที่ 1/52 เล่าถึงความลำบากในการเป็นทหารเกณฑ์ว่า ชีวิตประจำวันของการเป็นทหารเกณฑ์คือทุกอย่างจะถูกจำกัดหมด เวลาในการอาบน้ำจะได้ไม่เกิน 5 นาที มื้ออาหารในแต่ละวันก็ให้เป็นเศษเนื้อสัตว์และต้มผัก ซึ่งการที่อาร์มไม่กินผัก ทำให้บางครั้งเขาต้องฝืนกินแต่ข้าวเปล่าเพื่อให้ตัวเองมีแรงสำหรับการฝึกระเบียบวินัยอย่างหนัก เช่น การวิ่งเข้าแถวตามระเบียบจากคำสั่ง  บางคนไม่เคยลำบากก็มีร้องไห้ เพราะเจ็บจริง ร้อนจริง ร้อนขั้นที่ว่าผิวหนังตรงหัวกับหูเกิดการลอกออกมา 

สอดคล้องกับเอ ซึ่งต้องปรับตัวอย่างมาก กับชีวิตประจำวันในฐานะทหารเกณฑ์สังกัดกองทัพเรือของเขา เอเล่าถึงตอนอาบน้ำว่า เวลาในการอาบน้ำจะขึ้นอยู่กับครูฝึก กล่าวคือ หากครูฝึกอารมณ์ไม่ดี ก็อาจจะให้ 3 ขันบ้าง ให้ 5 นาทีบ้าง ถ้าเรียกระหว่างอาบน้ำก็ต้องออกมาไม่เช่นนั้นจะถูกทำโทษ 


“อย่างเช่นในการกินข้าวเนี่ย น้องอาจจะได้ยิน เหมือนกินข้าวต้องพร้อมกัน ต้องขัดฉาก ท่องนู่น ท่องนี่ กินข้าวก็ต้องกินพร้อมกัน เลิกพร้อมกัน บางครั้งจะมีให้กินแบบต้องกินให้หมด อารมณ์แบบยกถาดคว่ำเหนือหัวทดสอบว่ากินหมดจริงไหม แล้วบางที ก็ห้ามมีเสียงบนถาดซึ่งช้อนแสตนเลสกับถาดอะลูมิเนียม ก็คือกินยังไงให้มันไม่มีเสียง กินให้เงียบ หรือห้ามพูดระหว่างกินอย่างนี้ กินก็คือกินอย่างเดียว”

เอ (นามสมมติ) อดีตทหารเรือเกณฑ์

บี (นามสมมติ) จับได้ใบแดงเมื่อ 10 ปีก่อน ขณะอายุ 24 ปี อดีตวิศวกรโรงงานที่ต้องลาออกเพราะเหตุการณ์ดังกล่าวเล่าว่า เมื่อไปถึงศูนย์ฝึกฯ ในจังหวัดสตูล ในวันแรกจะมีการตรวจสารเสพติด รับของ เช็คชื่อ แนะนำตัว กว่าจะเสร็จก็กินเวลาเกือบ 19.00 น. ทำให้อดรับประทานอาหารเย็น ซึ่งในการอาบน้ำวันแรก บีเล่าว่าตนได้แปรงฟันโดยไม่ใช้น้ำ หลังแปรงเสร็จ ถูกให้ไปรอรอบอ่างน้ำแล้วแก้ผ้าทั้งหมด นั่งกอดเอวกันรอบอ่าง แล้วไถไปรอบ ๆ  บีคาดว่า เหตุผลในการทำสิ่งนี้ น่าจะเป็นเรื่องของการปฎิบัติต่อ ๆ กันมา จากรุ่นสู่รุ่น ในคืนนั้น เขาได้อาบน้ำสามขัน แล้วขึ้นนอนทันที ซึ่งกลางคืนถ้าขึ้นนอนแล้ว ห้ามเข้าห้องน้ำ กระหายน้ำก็ดื่มไม่ได้ น้ำเปล่าไม่มี ช่วงฝึก 1 เดือน บีเล่าว่าไม่ได้รับอนุญาตให้ติดต่อพ่อแม่เลย ถูกตัดขาดจากโลกภายนอก บีเคยถามทหารเกณฑ์แต่ละนายในกองร้อย พบว่าส่วนใหญ่ไม่ได้มาเป็นทหารเกณฑ์เพราะความตั้งใจ เต็มใจ ทำให้เวลาฝึกก็ทำแค่ผ่าน ๆ  นอกจากนี้การฝึกที่เน้นไปทางท่าทำความเคารพ สวนสนาม และการฝึกความแข็งแกร่งร่างกายก็ไม่มีตารางที่ชัดเจน

ซ่อม-แดก-ลงโทษ 

ช่วงกลางคืนในสัปดาห์แรกของชีวิตทหารเกณฑ์นั้นอาร์มนอนไม่หลับ เพราะมีคนที่ลูกเพิ่งคลอด เช่นเดียวกับที่คนที่มีพ่อแม่ต้องดูแล ซึ่งต่างก็ร้องไห้เสียงดังกัน ระหว่างเข้านอนบางคืนก็มีบางคนโดนเรียกออกไป ‘ซ่อม’ หรือก็คือการแกล้ง จากรุ่นพี่ เช่น การให้วิ่งตอนกลางคืน ให้วิดพื้น นอนกลิ้งดินแบบเปื้อน ๆ แล้วเข้านอนไปด้วยสภาพนั้น ทำให้การนอนเพียง 7 ชั่วโมงต่อวัน (22.00 น. – 05.00 น.) ต้องลดน้อยลงไปอีก จึงทำให้ไม่ได้พักผ่อนเท่าที่ควรจนนำมาสู่ความเครียดในที่สุด

อาร์มเล่าถึงบทลงโทษที่เขาเคยเจอ อันมีเหตุมาจากการชกต่อยกันระหว่างทหารเกณฑ์ โดยที่เขาไม่ได้เกี่ยวข้องด้วย แต่เพราะระบบทหารคือ 1 คนผิดคือทั้งหมดผิด ดังนั้น จึงเกิดเป็น ‘คืนนรก’ อย่างที่รุ่นพี่คนหนึ่งบอกเขาไว้ นั่นคือการอดนอนเพราะต้องทั้งหมอบ-ลุก หัวทิ่มพื้น อาจมีโดน ‘เตะ’ บ้าง ‘ต่อย’ บ้าง เมื่อถามถึงสาเหตุทะเลาะกัน อาร์มคาดเดาว่าน่าจะมาจากความเครียด ที่สั่งสมมาทั้งวันและความกดดันที่เกิดขึ้นตลอด บางทีกระทบกระทั่งกันเล็กน้อยก็ทะเลาะกันได้ในช่วงแรก 

“กดดันตรงที่ว่า เราไม่มีเวลาทำอะไรเป็นของตัวเองเลย พูดคุยเล่นกับเพื่อนก็ไม่ได้ ไม่มีเวลาพูด ถ้าเผลอพูดออกไป เขาได้ยินเขาก็เดินมาต่อยจมูกบ้างอะไรงี้ครับ” อาร์มกล่าว

ในส่วนของ  เอ  พอช่วงค่ำของทุกวันจะถูกเรียกไปรวมแถว ซึ่งเอนิยามว่ามันเหมือนการ ‘ไปยืนให้เขาทำโทษ’ กิจกรรมซึ่งเต็มไปด้วยบทลงโทษสารพัดรูปแบบ บางวันก็มี บางวันก็ไม่มี 

“พี่ก็ไม่เข้าใจเหมือนกันมีทำไม เหมือนในบรรดาร้อยสองร้อยคนมันมีใครทำตัวแบบผิดแปลกไป หรือเหมือนทำอะไรที่แบบไม่ตั้งใจ เขาก็จะเก็บประเด็นในแต่ละวัน มาพูดตอนหัวค่ำ แล้วก็ลงโทษทุกคนทั้งหมดเหมือนกัน ยิ่งถ้าเจอครูฝึกคนไหนที่บ้าอำนาจมาก ๆ เขาก็จะค่อนข้างหนัก โดนลงโทษหนัก มีบางที ก็จะมีคน ทั้งเป็นลมบ้าง Hyper บ้าง อะไรอย่างนี้ครับ เป็นแผลเป็นอะไร เสื้อผ้าสกปรก อะไรงี้ ส่วนใหญ่จะเป็นเหมือนไม่ตั้งใจฝึกบ้าง ทำผิดอะไรที่ครูฝึกเขามองว่ามันผิด แต่เรารู้สึกเฉย ๆ เขาก็จะแบบเอาไปเป็นประเด็น หาเรื่อง ‘แดก’ เรา เขาเรียกว่า ‘แดก’ ภาษาทหาร

เอ (นามสมมติ) อดีตทหารเรือเกณฑ์

เอยังเล่าให้ฟังถึง ‘คืนหมาหอน’ หรือคืนท้ายสุดที่ศูนย์ฝึกแห่งแรกที่เขาประจำการ โดยทหารเกณฑ์ทุกคนจะถูกเรียกไปรวมทั้งหมดไม่ยกเว้นใคร เพื่อลงโทษผ่านการลุกนั่ง วิดพื้น พุ่งหลัง วิ่ง ทำท่าสะพาน ดันพื้นทิ้งไว้ วนไปเรื่อย ๆ ในคืนนั้นตัวของเอเอง ซึ่งไม่ค่อยเจอการฝึกหนักเช่นนี้ สุดท้ายก็หน้าซีด เกือบจะเป็นลม

ชีวิตหลังการฝึกหนัก

หลังฝึกรวมช่วง 3 เดือนแรกจบลง บีเล่าว่า ทหารเกณฑ์ที่อยู่ในค่ายบางส่วน จะถูกแบ่งไปช่วยงานจ่ากองร้อยทำงานเอกสาร ไปอยู่กองบังคับการกองพันของค่าย ซึ่ง บี ได้ทำหน้าที่นี่ เขาเล่าว่าตนได้ทำงานถ่ายเอกสาร ล้างห้องน้ำ ทำความสะอาดต่าง ๆ ขณะที่บางคนถูกส่งอยู่บ้านผู้พัน เป็นทหารรับใช้ บางคนถ้าสนิทกับจ่ากอง ก็สามารถขอกลับมาอยู่บ้านแล้วให้จ่ากองร้อยเอาเงินเดือนแทนได้ ส่วนคนที่อยู่กองร้อยเฉย ๆ ก็ตัดหญ้า ฆ่ามด ไปวัน ๆ หากมีชาวบ้านขอให้ไปช่วยยกข้าวงานศพ งานแต่งก็ไป บีคิดว่า ชีวิตราชการเช่นนี้ไร้สาระมาก และเสียเวลา

ในขณะที่ ทหาร(เรือ)เกณฑ์อย่าง เอ กล่าวถึงเส้นทางการเป็นทหารของตัวเองว่าสบายกว่าคนอื่น ๆ มากเพราะเขาถูกครูฝึกดึงให้ไปทำงานธุรการตั้งแต่แรก ซึ่งเอเล่าว่า จะมีคนแบบเขาอยู่ประมาณ 1 ใน 10 ของคนทั้งหมดจากการเลือกของครูฝึก ที่ได้ทำงานสบาย ๆ นั่งหน้าคอมพิวเตอร์ทั้งวัน โดยเอก็ไม่ทราบว่าครูฝึกเลือกจากคุณสมบัติใด สำหรับเขา หน้าที่ในฐานะธุรการเสมือนเป็น ‘General เบ๊’ 

ที่สุดท้ายที่เอได้ย้ายไปประจำการคือกรมพลาธิการทหารเรือ ซึ่งการมาที่นี่บวกกับสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด 19 ทำให้เขาไม่ได้กลับบ้านไปหาครอบครัวอีกพักใหญ่ 


“ตอนที่ย้ายมาอยู่กรมพลาฯ ที่อยู่แถววัดอรุณฯ ใช่ไหมครับ ช่วงแรกก็คือยังไม่มีงาน เขาก็ให้ไปที่ทำงานครัวงานอะไรไป พี่ก็ไปทำตามที่เขามอบหมายมาให้ในแต่ละวัน แต่ละเดือน พอมันมีช่วงนึงที่แบบว่าเหมือนทหารชุดเก่าเขาปลดแล้วเขาขาดคนทำงานสำนักงาน แล้วพี่มีเพื่อนทำงานอยู่ข้างในนั้น เขาก็เลยดึงตัวพี่ไปทำงานสำนักงาน การเข้าวังมันก็เหมือนจะกดดันอีกเลเวลหนึ่ง คือเราไม่ได้ทำงานให้กับนายทหารข้างในกรมแล้วอะ แต่เราทำงานกับนายทหารที่เขาเป็นคนใกล้ชิดกับในหลวง เหมือนจะกดดันอีกเลเวลหนึ่งเลย เพราะว่าเราไม่ควรจะทำงานผิด กฎระเบียบข้างในนั้นจะค่อนข้างเข้มงวดมาก ๆ เพราะเป็นเขตพระราชฐาน เราก็ต้อง หนึ่งเลยคือการแต่งกายตั้งแต่หัวจรดเท้าคือต้องเป๊ะ เพราะเขามีทหารข้างในเยอะ พอเขาเห็นเราแต่งตัวพิลึกพิลั่นเขาก็จะทักละ”

เอ (นามสมมติ) อดีตทหารเรือเกณฑ์

ในขณะที่อาร์มได้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นหลังจากฝึกหนัก แต่ไม่นานนักเขาก็ถูกส่งไปยังหน่วยทหารแห่งหนึ่งใน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เพื่อทำงานหนักท่ามกลางแดดจ้า ปักหญ้าใช้ทำสนามกอล์ฟ อาร์มพักอาศัยในห้องที่เขาเปรียบเทียบว่าเหมือน ‘ที่พักคนงานตามไซต์งานก่อสร้าง’ ที่สร้างโดยใช้สังกะสี ล้อมกั้นแบ่งไว้เป็นห้องสี่เหลี่ยมเอาพื้นไม้อัดปูนอน มีมุ้งกาง มีผ้าห่มรอง ไฟฟ้าต้องปั่นใช้เป็นเวลา ได้ดูทีวีและชาร์จโทรศัพท์อยู่บ้าง กระนั้นก็ตาม ที่นี่กลับมีอิสระในการใช้ชีวิต มากกว่าในกองร้อยที่อาร์มอธิบายไว้ว่า ‘รั้วรอบขอบชิด’ 

9 เดือนก่อนปลดประจำการ อาร์มถูกส่งไปทำงานที่บ้านนายทหารยศพลโทท่านหนึ่ง เพราะเมื่อไม่มีใครยกมืออาสาไป สุดท้ายครูฝึกก็หันมาเลือกอาร์มผู้ซึ่งได้นิยามตนเองว่า ‘คนที่ปฎิเสธไม่เคยได้’ ช่วงแรกเลยอาร์มได้ไปอยู่บ้านในตัวเมืองราชบุรี สำหรับเขา ชีวิตทหารในตอนนั้น ‘มันไม่สมศักดิ์ศรี’ เพราะถูกใช้งานเหมือนเป็น ‘คนใช้’ รวมถึงข้อจำกัดอื่น ๆ อาทิ เขาถูกห้ามใช้ห้องน้ำในบ้าน เพราะ ‘คุณนาย’ ของบ้านกลัวว่ากระเบื้องจะเป็นรอย 

“ตอนเช้าก็ต้องตื่นตั้งแต่ ตี 4 ครึ่ง ตี 5 ไปซื้อหนังสือพิมพ์ปาท่องโก๋ นม ทุกอย่างต้องตั้ง เตรียมบนโต๊ะหมดแล้ว แล้วก็เดินไม่ได้ ต้องคลานเข่าเข้าไป พี่รู้สึกว่ามันเสียศักดิ์ศรีมากเลย เงินเดือนก็ไม่ได้จ่ายเพิ่ม”

ฤทธิ์ศักดิ์ ทองประเสริฐ หรือ อาร์ม อดีตทหารเกณฑ์ผลัดที่ 1/52

หลังจากนั้นไม่นาน อาร์มก็ถูกคุณนายย้ายไปอยู่ที่บ้านกรุงเทพฯ เพื่อทาสีบ้าน อาร์มเล่าว่าเขาอึดอัดกับการใช้ชีวิตเพราะครอบครัวของลูกสาวทั้งสามของคุณนายอยู่ที่บ้านนั้นและใช้งานทหารที่อยู่ที่นั่นอย่างหนักหน่วง

“ห้องเล็กมากอะครับ นอนสองคนก็คือเบียดกัน และก็เวลาหลานชายเขาที่เป็นนายร้อยกลับมา เขาก็จะไปให้แกะถุงแกงให้ ซักถุงเท้าให้ แต่พี่ไม่ทำ พี่ให้รุ่นน้องพี่ทำ เพราะพี่บอกว่า มันหยามศักดิ์ศรีกันเกินไป เราฝึกมาหนักแค่ให้ไปปลูกหญ้าก็ถือว่าไม่สมศักดิ์ศรีละ พี่ก็เลยไม่ทำ” 

ความทะนงตนของอาร์มทำให้คุณนายยังไม่ส่งเขากลับกองร้อย แต่ประวิงเวลาให้อยู่ต่อไปเพื่อทาสีบ้านหลังใหญ่ให้เสร็จ แล้วความอดทนของอาร์มก็หมดลงเมื่อหนึ่งในลูกสาวของคุณนาย ด่าเขาว่าไปทำให้รถเธอเปียกในตอนเช้าวันหนึ่ง ซึ่งอาร์มพยายามอธิบายว่าเป็นน้ำจากการซักผ้าของน้องสาวของเธอไหลลงมาจากชั้นบน แต่คำอธิบายนี้กลับไม่เป็นผล ตกดึกอาร์มจึงหนีกลับกองร้อยหวังให้ผู้กองของเขาช่วย 

“พี่ก็คุยกับผู้กอง ผมต้องการให้ผู้กองช่วยนะครับ ผมเลยไม่หนีกลับบ้าน เลยหนีกลับมาที่กองร้อย เพราะผมไม่อยากเสียระเบียบวินัย สุดท้ายผู้กองเขาบอก เหมือนเขาโดนบังคับมาอะครับ ยศมันคนละยศกัน แล้วเขาก็เรียกแถวทั้งหมดเลย แล้วเขาก็เรียกพี่เดินออกไป เขาก็พูดแบบผู้ชายทั่วไป มึงรู้ไหมมึงทำให้กูลำบาก กูจะไปช่วยมึงได้ยังไง เขายศนายพล กูยศเท่าไหร่เอง เขาก็จะเดินมาต่อยหน้าพี่ แต่พอดีจ่าคนที่สนิทกับพี่ เขามาพอดี เขาก็เลยห้ามไว้ ทุกอย่างก็คือเราอยู่ในมือเขา ในค่ายทหารก็คือ ชีวิตของเราตกเป็น ของเขาไปแล้ว 80 เปอร์เซ็นต์” สุดท้ายนายพลคนเดิมก็กลับมารับตัวอาร์ม แต่คราวนี้เขาถูกใช้ให้ไปเฝ้าสวนป่ามะพร้าวขนาดราว 40 ไร่ แทน อาร์มได้อิสระมากขึ้น แต่ชีวิตความเป็นอยู่แย่ลง แม้จะมีไฟฟ้าใช้ แต่ไม่มีน้ำประปา เพราะคุณนายเอาโซ่มาล็อกวาล์วน้ำ น้ำที่ใช้อาบจึงถูกตักมาจากบ่อเลี้ยงปลา ในขณะที่อาหารที่คุณนายให้นายสิบส่งให้นอกจากคุณภาพจะแย่แล้ว ยังมีจำนวนน้อยซึ่งต้องกินให้พอสำหรับสองอาทิตย์

“มีนายสิบเข้ามาดูอาทิตย์ละสองครั้งเพื่อเข้ามาส่งกับข้าว  กับข้าวนี่คุณนายเขาจะเป็นคนจัดเอง ข้าวนี่จะเป็นข้าวที่ถูกที่สุด คือแข็ง แข็งมาก และก็ปลาทูสองตัว อาหารพวกเนื้อสัตว์ได้ไม่ถึงครึ่งกิโล และก็กะหล่ำปลี คือกินสองอาทิตย์  ถ้าอยากกินนอกเหนือจากนั้นคือเงินเดือนตัวเอง ซึ่งก็ไม่ได้เงินเพิ่มด้วย” อาร์มใช้ชีวิตในฐานะยามเฝ้าสวนมะพร้าวในคราบทหารจนปลดประจำการ

ชีวิตหลังเกณฑ์ทหาร และโอกาสที่ถูกพรากไป

บีบอกเล่าความรู้สึกว่า เขาไม่มีความภาคภูมิใจ​ต่อการเป็นทหารเกณฑ์​ ทหารเกณฑ์​ไม่ได้เป็นการรับราชการเหมือนราชการกรมกองอื่น ๆ แต่คือการเอาคนไปเป็นทาสรับใช้ในยุคใหม่ ไร้ศักดิ์ศรี ​ไร้เกียรติภูมิ ต้องคอยยืนตรงทำความเคารพผู้ที่ยศสูงกว่า เดินผ่านหรือขี่รถผ่าน เขาสั่งอะไรต้องทำหมด ห้ามสงสัย ใครทำผิดก็ต้องโดนทำโทษทั้งหมด 

บีมองว่า กองทัพควรปรับปรุง​เปลี่ยนแปลง​ การฝึก การเป็นอยู่​ ค่าตอบแทน สวัสดิการ และศักดิ์ศรี ปฏิบัติกับพลทหารประหนึ่งพนักงานบริษัทคนหนึ่ง อีกทั้งการฝึกยังควรสอดคล้องกับสถานการณ์​ปัจจุบัน เช่น ไทยมีปัญหา 3 จังหวัดชายแดน ก็ควรฝึกการเดินลาดตระเวน​ การป้องกันการโจมตีฐาน การสังเกตการณ์ มากกว่า แต่ที่ผ่านมาฝึกแต่ท่า ทำความเคารพ สวนสนาม ซึ่งไม่สามารถนำไปใช้ได้ในการปฏิบัติงานในพื้นที่สำหรับคนที่ถูกส่งไปลงพื้นที่  นอกจากนี้ยังควรปรับให้มีการฝึกอาชีพสำหรับทหารหลังจากฝึกเสร็จ เช่น งานช่างต่าง ๆ หรือการทำผลิตภัณฑ์​เพื่อไว้ประกอบอาชีพหลังปลดประจำการเสียมากกว่า

“คนภายนอกอาจมองว่าทหารต้องฝึกหนัก ๆ โหด ๆ ถึงจะเรียกว่าทหาร แต่สถานการณ์​ปัจจุบันการต่อสู้การก่อการร้ายได้เปลี่ยนรูปแบบไปแล้ว

บี (นามสมมติ) อดีตทหารเกณฑ์

สำหรับเขาการไปเกณฑ์ทหารมีผลกับโอกาสในหน้าที่การงานมาก เพราะในระยะเวลา 1 ปี เขาที่ไม่สามารถเติบโตและเสียโอกาสที่จะเก็บเกี่ยวประสบการณ์​ในสายงานที่ถนัด แตกต่างกับเพื่อนรุ่นเดียวกันที่ก้าวหน้าไปมาก ในขณะที่เขาเหมือนหยุดเวลาไว้ ในหัวคิดแค่เมื่อไหร่จะถึงวันลากลับบ้าน 

“ผมไม่ได้ใช้ความรู้ด้านวิศวกรรมกับงานที่เกี่ยวข้อง และผมก็ไม่ได้รับประสบการณ์เพิ่มด้านวิศวกรรม คิดว่าเสียโอกาสด้านประสบการณ์​มากกว่า บางงานประสบการณ์เพิ่ม 1 ปี สามารถปรับตำแหน่งในหน้าที่การงานได้เลย” บีเสริม

คล้ายกับเอ การได้ทำงานธุรการขณะเป็นทหารเกณฑ์นั้น เขาคิดว่ามันไม่มีประโยชน์กับชีวิตของเขาเลย ใน 1 ปี เราน่าจะได้เจอกับอะไรมากมาย แต่ชีวิตทหารเกณฑ์เสมือนเป็นกล่องปิดตายที่เราต้องใช้ชีวิตวนในนั้นและแทบไม่ได้เจออะไรใหม่ ๆ ทำให้ความสามารถในการทำงานของเขาไม่เติบโตสักนิด ไม่ไ่ด้ความรู้ใหม่เพิ่มเติม 

 “เหมือนสกิลการทำงานภายนอกก็ไม่ค่อยเติบโต ไม่เติบโตเลยดีกว่า เพราะว่าไม่ได้ใช้อะไรเลย ไม่ได้อะไรใหม่เพิ่มด้วย ซึ่งแบบถ้าอยู่ข้างนอก พี่อาจจะเติบโตไปแบบไปไหนถึงไหนแล้ว แต่ว่ามันก็ทำอะไรไม่ได้ เพราะเราก็จำใจเข้าไปตามระบบกฎหมาย จะหนีก็ไม่ได้ หนีก็ผิดกฎหมาย” 

“พี่รู้สึกว่าการเข้าไป เหมือนเขาเอาเราไปเป็นฟันเฟืองในระบบเขาอะ ซึ่งจากที่พี่ไปสัมผัสข้างในมา ซักประมาณ 80 เปอร์เซ็นต์ของคนข้างในจะเป็นทหารเกณฑ์ทั้งหมด ที่เป็นทหารอาชีพจริง ๆ ไม่เยอะเลยเหมือนคือเขาเอาเราไปทำงาน อารมณ์แบบบริษัทจ้างคนมาเยอะ ๆ แล้วเอาไปทำงานให้บรรลุเป้าหมายของเขาในแต่ละปี ๆ ไป ถ้าเขาขาดทหารเกณฑ์ไปก็คือแบบ ค่อนข้างเจ็บ อารมณ์เหมือน ไม่มีคนทำงานให้เขา” เอกล่าว

ในฐานะอดีตทหารเกณฑ์ เอมองว่า ระบบข้างในนั้นยังคงต้องปรับอีกมาก เริ่มจาก การใช้อำนาจเกินขอบเขตของทหารยศน้อยต่อทหารเกณฑ์ ซึ่งหากสามารถปรับเปลี่ยนความคิดให้ปฎิบัติต่อกันอย่างเท่าเทียมได้ คุณภาพชีวิตทหารเกณฑ์จะดีขึ้น รวมถึงเรื่องสภาพที่อยู่อาศัยและปัจจัย 4 อื่น ๆ ที่ควรได้รับการเอาใจใส่เท่าที่ควร นอกจากนี้ยังมีปัญหาเรื่องการใช้คนให้ถูกกับงาน ที่เอมองว่า ตัวกองร้อยย่อมมีข้อมูลอยู่แล้วว่าทหารใหม่มีพื้นเพจากไหน มีวุฒิการศึกษาอย่างไร สามารถนำข้อมูลเหล่านั้นมาใช้ให้เกิดประโยชน์ในการจัดการทรัพยากรบุคคล แต่สุดท้ายแล้ว หากเป็นไปได้ เอคิดว่าควรเริ่มจากการเปลี่ยนจากระบบการเกณฑ์ไปสู่การสมัครเข้าประจำการ 

“เพราะว่าจริง ๆ ในบรรดาคนที่จับได้ใบแดงเข้าไปในนั้น มันก็มีบางส่วนที่พอเขาอยู่ข้างนอก เขาเป็น Nobody แต่เขาเข้าไปในนั้นแล้วเขารู้สึกว่าเขาเป็น Someone เขารู้สึกดีที่ได้อยู่ในจุดนั้น  เขาก็เลยเต็มใจที่จะสมัครเป็นทหารต่อ ก็มีพอสมควรในแต่ละปี ที่สมัครต่อ ก็ควรจะทำให้มันเป็นระบบสมัครใจไปเลยดีกว่า ถ้าเงินเดือนในปัจจุบันยังดึงดูดเขาไม่พอ ก็อาจจะเอาเงินที่มาจากทหารแบบที่บังคับเขาเข้าไป เอาไปโปะคนที่เขาอยากเป็น ให้สวัสดิการมันดีขึ้น พี่ว่าน่าจะดีกว่าการทำแบบทุกวันนี้ แต่ว่าอย่างที่พี่บอก มันน่าจะเป็นไปได้ยาก เพราะว่าระบบนี้มันเหมือนฝังลึกในไทยนานมากแล้ว มันมีคนได้ผลประโยชน์จากสิ่งนี้เยอะ แต่พี่ก็เชื่อว่าสักวันหนึ่งมันจะเกิดขึ้นในไทย

ในขณะที่ อาร์มยอมรับว่า ถ้าไม่ได้เกณฑ์ทหารเขาอาจจะไม่ได้กลับเข้าสู่เส้นทางการศึกษาจนจบปริญญาและไม่ได้ความเป็นระเบียบติดตัวมา กระนั้นอาร์มก็มองว่านอกจากการปรับปรุงนิสัยตอนฝึกแล้ว ทหารเกณฑ์ก็ไม่ถูกใช้งานให้ถูกต้องตามที่ฝึกมา 

“พวกผู้ใหญ่ในกองร้อย พวกหัวหน้าพิจารณาหน่อยว่าทหารเขาฝึกมาหนัก ถ้าเกิดเอาไปลงชายแดนใต้มันก็สมศักดิ์ศรีหน่อย ดีกว่าไปอยู่บ้านนายซึ่งมันไม่ใช่เลย เราฝึกมาหนัก ตั้งสามเดือนสี่เดือน เหมือนกับที่เป็นข่าว เอาไปเลี้ยงไก่ ดุด่าเขา พี่ว่ามันไม่สมควรทำ ไม่เคยเห็นด้วยตั้งแต่วันที่พี่อยู่ มันแก้ไขไม่ได้สักที” อาร์มยังเพิ่มเติมว่า การใช้ความรุนแรงของครูผู้ช่วยต่อทหารเกณฑ์ก็เป็นสิ่งที่ควรแก้ไข สุดท้ายแล้วเขาเองก็มองว่า  การเกณฑ์ทหารนั้นควรเปลี่ยนมาสู่ความสมัครใจ 

“ก็คืออยากให้เปลี่ยนเลย ให้เหมือนอเมริกา เอาเป็นด้วยความสมัครใจ ไม่ต้องใช้ดวงแบบพี่ บางคนโอกาสเขามาถึงละ จับโดนใบแดงเฉยเลย เขาเสียโอกาสทางการงานไปก็มีนะครับ ตอนที่พี่เป็น บางคนเพิ่งสอบบรรจุได้สรรพากรแต่จับได้ใบแดงเขาก็เสียโอกาสตรงนั้นเลย”

ฤทธิ์ศักดิ์ ทองประเสริฐ หรือ อาร์ม อดีตทหารเกณฑ์ผลัดที่ 1/52

เส้นทางร่างนโยบายปฎิรูปทหารเกณฑ์

ที่ผ่านมาได้มีความพยายามแก้ปัญหาคุณภาพชีวิตทหารผ่านระบบรัฐสภาโดย ส.ส. พรรคอนาคตใหม่ได้เสนอ ร่างพระราชบัญญัติรับราชการทหาร  โดยมีสองหลักการสำคัญอันได้แก่ การรับบุคคลเข้ามาเป็นทหารให้ใช้วิธีสมัครใจแทนการเรียกตรวจเลือก และให้สิทธิเสรีภาพ ความปลอดภัย ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิประโยชน์และสวัสดิการของทหารกองประจำการต้องได้รับการดูแลเป็นพิเศษ กระนั้น ร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวกลับถูกปัดตกไป

กระทั่ง เมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2565 พรรคก้าวไกลได้มีการเปิดตัวนโยบายชุดแรกของพรรคสำหรับการเลือกตั้งปี 2566 ‘การเมืองไทยก้าวหน้า’ ต่อสาธารณะ หนึ่งในนโยบายชุดนี้คือนโยบายการปฎิรูปกองทัพ พริษฐ์ วัชรสินธุ ผู้จัดการฝ่ายสื่อสารและรณรงค์นโยบายของพรรคก้าวไกล ให้ข้อมูลว่า แนวคิดเรื่องการปฎิรูปกองทัพของพรรคก้าวไกลตั้งอยู่ทั้งในมิติของการเมืองและเศรษฐกิจ เป็นหลักคิด 4 ประเด็น ประเด็นที่หนึ่งคือ กองทัพเป็นกองทัพของประชาชน ไม่เข้ามาแทรกแซงการเมือง ประเด็นที่สอง คือ มีการใช้งบประมาณกับสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อการรักษาความมั่นคงรูปแบบใหม่ ๆ ประเด็นที่สาม คือ กองทัพและพลเรือนถูกปฎิบัติด้วยมาตรฐานเดียวกัน ไม่ถืออภิสิทธิ์เหนือและก็ไม่ได้รับการคุ้มครองสิทธิน้อยกว่าประชาชนทั่วไป ประเด็นสุดท้ายคือ สิทธิของทหารทุกคนมีความเท่าเทียมกันมากขึ้น ทำอย่างไรให้พลทหารมีความมั่นคง ได้รับค่าตอบแทนสวัสดิการที่เพียงพอ มีความปลอดภัยจากการถูกคุกคาม การละเมิดสิทธิต่าง ๆ  แล้วก็มีโอกาสทางความก้าวหน้าในอาชีพ หรือเรียกหลักคิดนี้สั้น ๆ ได้ว่า ‘4 เท่า’

พริษฐ์ ให้ข้อมูลกับ นิสิตนักศึกษา ว่า ข้อเสนอการยกเลิกเกณฑ์ทหารเป็นประโยชน์แก่ทั้งปัจเจกบุคคลที่จะมีเสรีภาพในการประกอบอาชีพ และยังเป็นประโยชน์แก่ประเทศ เนื่องจากประเทศไทยอยู่ในภาวะสังคมสูงวัย มีสัดส่วนวัยทำงานน้อยลง ดังนั้นควรให้บุคลากรในประเทศได้ทำอาชีพที่ส่งเสริมมูลค่าทางเศรษฐกิจ ในการเพิ่มสัดส่วนคนวัยทำงานกลับคืนสู่ตลาดแรงงาน 

“ยอดที่กองทัพขอ กับยอดที่สมัครใจมันไม่เท่ากัน มีการขอกำลังพลประมาน 80,000 – 100,000 คนต่อปี แต่ยอดสมัครใจ ถ้าปีก่อน ๆ จะอยู่ที่ประมาน 40,000 ไม่เกิน 50,000 เพราะงั้นช่องว่างระหว่าง 100,000 กับ 40,000 คือ 60,000 เนี่ยก็เลยก็เลยเป็นการบังคับคนมาเป็นทหาร ก็คือผ่านกระบวนการการจับใบดำใบแดง สิ่งที่ก้าวไกลเสนอคือการยกเลิกการบังคับตรงนี้นะครับ เพื่อให้ตัวเลขมันไม่มีช่องว่าง”

วิธีลดช่องว่างตรงนั้นทำได้ใน 2 มิติ มิติแรกคือการทบทวนยอด 100,000 คนต่อปีว่ามีความจำเป็นจริงหรือไม่ เพราะที่ผ่านมากองทัพไม่เคยชี้แจงละเอียดว่ายอด 100,000 คนนี้คำนวนมาจากอะไร 

“มันมีบางส่วนที่เป็นยอดผี ซึ่งมีรายชื่อ ถึง 100,000 คน แต่ไม่ไปทำหน้าที่เป็นทหารจริงๆ มีบางส่วนที่เป็นทหารรับใช้นะครับ มีบางส่วนที่ทำหน้าที่ เรามองว่าอาจจะไม่ได้จำเป็นต้องรักษาความมั่นคงในโลกสมัยใหม่ เชื่อว่า 100,000 สามารถลดได้แน่นอน”

อีกมิติ คือการเพิ่มแรงจูงใจให้คนอยากสมัครเป็นทหารมากขึ้น ผ่านการคุ้มครองความปลอดภัย ทำให้ประชาชนมั่นใจว่าเป็นทหารแล้วจะไม่ถูกธำรงวินัยที่เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน และมีการปรับกระบวนการร้องเรียนให้สามารถร้องเรียนผ่านผู้ตรวจการกองทัพที่เป็นอิสระจากกองทัพได้ โดยมีการตั้งผู้ตรวจการกองทัพขึ้นมาจากการเลือกของ ส.ส. ซึ่งมีลักษณะคล้ายกันกับผู้ตรวจตรากองทัพที่ปัจจุบันใช้อยู่ในประเทศเยอรมันและแคนาดา รวมถึงมีการปรับเปลี่ยนกระบวนการร้องเรียนให้มีความเป็นธรรมมากขึ้นเพราะปัจจุบันยังมีข้อจำกัด เช่น ห้ามร้องเรียนแทนผู้อื่น หากโดนธำรงวินัยคู่กันต้องร้องเรียนแยกออกจากกัน จะร้องเรียนรวมกันไม่ได้ นอกจากนี้ยังมีการปรับเรื่องความมั่นคงทั้งเรื่องของรายได้และสวัสดิการ รายได้ต้องสอดคล้องกับค่าครองชีพ ไม่หักไม่ทอน ได้รับสวัสดิการที่ครบถ้วน และสวัสดิการรักษาพยาบาลในส่วนของประกันสังคมสำหรับพลทหารนั้นก็ควรเป็นมาตรฐานเดียวกันกับพนักงานราชการทั่วไป รวมถึงการประกันชีวิตหรือทุนการศึกษาด้วยเช่นเดียวกัน ท้ายที่สุดในการสร้างแรงจูงใจคือ ความก้าวหน้าทางอาชีพ ที่ทำให้พลทหารที่ทำผลงานได้ดี สามารถก้าวหน้าทางอาชีพได้เร็วขึ้น

ในส่วนของเวลาดำเนินการ  พริษฐ์ย้ำว่า แนวคิดปฎิรูปกองทัพโดยพรรคก้าวไกลรอบนี้อยู่ในกรอบที่ว่าทุกอย่างทำได้ภายใน 4 ปี ของรัฐบาลหนึ่งสมัย บางส่วนอาจจะต้องใช้เวลา 4 ปี บางส่วนอาจทำได้ภายในปีเดียว 

“ถ้าพิจารณาทั้งหมดแล้ว ผมคิดว่าการยกเลิกการเกณฑ์ทหารเป็นสิ่งที่ทำได้ทันทีในระยะสั้น  ประกาศยกเลิกการเกณฑ์ทหารเมื่อไหร่ มันอาจจะต้องไปแก้ตัว พ.ร.บ. รับราชการทหาร พ.ศ. 2497 หรือว่าหากมีการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ มันอาจเข้าไปแก้ตัวรัฐธรรมนูญได้เลย

ผมเชื่อว่าพอยกเลิกการเกณฑ์ทหาร กองทัพจะยังมีกำลังพลที่เพียงพอต่อการปฎิบัติหน้าที่อยู่ดี เพราะงั้นผมเลยคิดว่าการยกเลิกการเกณฑ์ทหารเนี่ย เรามั่นใจว่าเป็นสิ่งที่ทำได้ในระยะเวลาอันสั้น แต่ว่าทั้งหมดทั้งมวลเนี่ย แพ็กเกจปฎิรูปกองทัพของเราอยู่ภายใต้กรอบระยะเวลา 4 ปีหรือ 1 สมัยรัฐบาล ”

นายพริษฐ์ วัชรสินธุ ผู้จัดการฝ่ายสื่อสารและรณรงค์นโยบายของพรรคก้าวไกล

ขณะที่  พล.อ.คงชีพ ตันตระวาณิชย์ โฆษกกระทรวงกลาโหมได้ให้สัมภาษณ์ กับ หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจเมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 2565 ว่า การปฏิรูปกองทัพได้ดำเนินการตามแผนแม่บทการปฏิรูปการบริหารจัดการและการปรับปรุงโครงสร้างกองทัพปี พ.ศ. 2560 – 2569 และมองว่าไม่ได้มีกำลังพลที่มากเกินจำเป็น อีกทั้งกองทัพจะลดจำนวนกำลังพลทันทีไม่ได้ เพราะเป็นส่วนราชการ จึงจะลดใน 3 ลักษณะ คือ การจูงใจให้ออก เกษียณแล้วไม่เปิดบรรจุ หรือ บรรจุน้อยลง โดยกลาโหม ตั้งเป้าลดกำลังพลทั่วไปให้ได้ร้อยละ 5 ต่อปี ที่ผ่านมาปี 2560 – 2564 ลดไปได้แล้ว 8,000 นาย จนถึงปี 2570 จะรวมเป็น 12,000 นาย ส่วนของการยกเลิกเกณฑ์ทหาร เนื่องจากยังไม่ได้ปรับกองทัพครั้งใหญ่จึงจำเป็นต้องใช้ทหารเกณฑ์คล้ายเดิม แต่ก็ลดลงไปตามความจำเป็น ทำให้อัตรานายสิบ พลทหาร ลดลงตามไปด้วย ทั้งนี้การกำหนดปริมาณทหารเกณฑ์มาจากภารกิจของกองทัพในเรื่องการใช้กำลังป้องกันประเทศ ไม่ได้คิดเพียงแค่ระงับสถานการณ์ที่มีการใช้กำลัง แต่ประเมินว่าภัยคุกคามขั้นต่ำที่ต้องใช้ทหารมีขนาดใด ต้องเตรียมทหารไว้เพื่อไม่ให้เกิดความผิดพลาดกับภารกิจ และต้องไม่ลืมว่าการป้องกันประเทศต้องปฎิบัติหน้าที่ตลอด 24 ชั่วโมง หมุนเวียนกำลัง บางส่วนฝึก บางส่วนพัก บางส่วนประจำการ กองทัพเอง ต้องการคนสมัครใจเป็นทหารซึ่งพยายามแล้วอยู่ที่ประมาณร้อยละ 40 ของยอดเรียกเกณฑ์ จึงยังต้องมีการเกณฑ์เพิ่ม แต่ทางกองทัพก็พยายามเพิ่มแรงจูงใจทั้งโควต้าสอบนักเรียนนายสิบ การเพิ่มคะแนนพิเศษในช่องทางสอบบรรจุรับราชการ โฆษกกระทรวงกลาโหมยังเสริมว่าอนาคตมีความเป็นไปได้ในการยกเลิกเกณฑ์ทหาร หากเทคโนโลยีเข้ามามากขึ้นก็ใช้คนน้อยลง พร้อมย้ำว่ากองทัพปรับลดแล้วและทำมาอย่างต่อเนื่อง โดยไม่อาจทำทันทีได้ ต้องทำแบบค่อยเป็นค่อยไปให้สอดคล้องและสัมพันธ์กันระหว่างต้นทางและปลายทาง

ภาพทหารสามนายกำลังซ่อมอะไรบางอย่าง พร้อมมีตัวหนังสือเขียนด้านข้างว่า มากกว่าวิชาทหาร คือวิชาชีพที่จะติดตัวไปตลอดชีวิต
ภาพจากบทความ ” มากกว่าวิชาทหาร…คือวิชาชีพที่จะติดตัวไปตลอดชีวิต “เผยแพร่ผ่าน armyprcenter

ในขณะที่สังคมไทยยังไม่มีทางออกที่แน่ชัดสำหรับปัญหาคุณภาพชีวิตของทหารเกณฑ์ สโลแกนรณรงค์ให้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งกับกองทัพด้วยคำพูดสวยงาม เช่น ‘เป็นทหาร ได้อะไรมากกว่าที่คิด’ ‘มากกว่าวิชาทหาร…คือวิชาชีพที่จะติดตัวไปตลอดชีวิต’ นั้นอาจไม่สามารถสร้างแรงจูงใจต่อประชาชนได้ คำถามที่เกิดขึ้นต่อมาก็คือ จากวันนี้จนถึงอนาคต วันที่กองทัพปรับเปลี่ยนพัฒนาไปได้นั้น จะมีชายไทยได้รับผลกระทบจากการต้องเข้ารับการเกณฑ์ทหารอย่างไม่สมัครใจอีกกี่คน  และจะมีใครชดเชยให้กับชีวิตของพวกเขาที่ต้องเสียหลาย ๆ สิ่งไปได้บ้างหรือไม่ ?

อ้างอิง

  1. bangkokbiznews. (2563). “เกณฑ์ทหาร” ย้อนหลัง 7 ปี “ทหารเกณฑ์” ประเทศไทย มีเท่าไหร่. Bangkokbiznews. https://www.bangkokbiznews.com/politics/873116
  2. อนาคตใหม่เสนอ 2 ร่างกม. ยกเลิกเกณฑ์ทหาร ใช้ระบบสมัครใจ ยึดหลักสิทธิมนุษยชน. (n.d.). ilaw.ot.th – อนาคตใหม่เสนอ 2 ร่างกม. ยกเลิกเกณฑ์ทหาร ใช้ระบบสมัครใจ ยึดหลักสิทธิมนุษยชน. https://ilaw.or.th/node/5382
  3. อนาคตใหม่เสนอ 2 ร่างกม. ยกเลิกเกณฑ์ทหาร ใช้ระบบสมัครใจ ยึดหลักสิทธิมนุษยชน. (n.d.). ilaw.ot.th – อนาคตใหม่เสนอ 2 ร่างกม. ยกเลิกเกณฑ์ทหาร ใช้ระบบสมัครใจ ยึดหลักสิทธิมนุษยชน. https://ilaw.or.th/node/5382
  4. ข้อดีของการเป็นทหารเกณฑ์. (2561). กองทัพบก Royal Thai Army. https://www.facebook.com/armyprcenter/photos/1647994925266213?paipv=0&eav=Afb6PPk4L5SqN5RZx3agjVEAgXNIj0XZ_GLTrnodYFLoAqqV4phnqx8QPqxXeGZRMI8&_rdr
  5. ” มากกว่าวิชาทหาร. . .คือวิชาชีพที่จะติดตัวไปตลอดชีวิต “. (n.d.). armyprcenter. https://armyprcenter.com/%E0%B8%94%E0%B8%B9%E0%B8%9A%E0%B8%97%E0%B8%84%E0%B8%A7%E0%B8%B2%E0%B8%A1-122892-%E0%B8%A1%E0%B8%B2%E0%B8%81%E0%B8%81%E0%B8%A7%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B8%A7%E0%B8%B4%E0%B8%8A%E0%B8%B2%E0%B8%97%E0%B8%AB%E0%B8%B2%E0%B8%A3-%E0%B8%84%E0%B8%B7%E0%B8%AD%E0%B8%A7%E0%B8%B4%E0%B8%8A%E0%B8%B2%E0%B8%8A%E0%B8%B5%E0%B8%9E%E0%B8%97%E0%B8%B5%E0%B9%88%E0%B8%88%E0%B8%B0%E0%B8%95%E0%B8%B4%E0%B8%94%E0%B8%95%E0%B8%B1%E0%B8%A7%E0%B9%84%E0%B8%9B%E0%B8%95%E0%B8%A5%E0%B8%AD%E0%B8%94%E0%B8%8A%E0%B8%B5%E0%B8%A7%E0%B8%B4%E0%B8%95-q.html
%d bloggers like this: