Social Issue Top Stories

เรื่องเล่าจากคนพิการกับความสุขในยามค่ำคืน

สะท้อนผู้พิการถึงความลำบากในการหาความสุขยามออกท่องราตรี

เรื่อง : ชวนเจริญ ชูจินดา
ภาพ : ภาพนี้สร้างขึ้นด้วยความช่วยเหลือจาก DALL·E 2

ตั้งแต่ช่วงกลางปี 2565 เป็นต้นมา สถานบันเทิงยามราตรีเริ่มกลับมามีชีวิตอีกครั้ง หลังจาก ศบค. มีมติเห็นชอบให้เปิดสถานบันเทิง ผับ บาร์ คาราโอเกะ ได้จนถึง 24.00 น. ทำให้ผู้คนออกมาใช้ชีวิตและสังสรรค์ยามตะวันลับฟ้า จนกลายเป็นภาพที่เริ่มกลับมาชินตา เป็นที่น่าสังเกตุว่า ผู้พิการก็เริ่มออกมาท่องราตรีกันมากขึ้นเช่นกัน แต่นั่นอาจไม่ใช่ภาพที่ชินตามากนักในสังคมไทย

.

“เวลาออกไปดื่มแล้วมันก็เหมือนกับได้เปิดโลกให้กับคนอื่นด้วยนะ เพราะว่าหลายคนเขาก็ไม่เคยเห็นคนนั่งรถเข็นไปร้านกลางคืน”

จ๋า – รุจิเรข คุมโสระ ผู้พิการทางการเคลื่อนไหวที่แสดงออกอย่างเปิดเผยว่าตัวเองชอบเที่ยวกลางคืน เธอยังเล่าติดตลกว่า “อยากจะออกไปทำอะไรที่คนส่วนใหญ่มองว่าคนพิการทำแล้วแปลก” และย้ำอย่างหนักแน่นว่าการออกไปใช้ชีวิตกลางคืนนั้นเป็นสิทธิในเนื้อตัวร่างกายของเธอ แม้ร่างกายช่วงล่างจะพิการ แต่นั่นไม่ใช่อุปสรรคในการใช้ชีวิตอย่างที่อยากเป็น

jah-rujirek-mobility-disabilities-who-love-nightlife-จ๋า-รุจิเรข-คุมโสระ
จ๋า – รุจิเรข คุมโสระ ผู้พิการทางการเคลื่อนไหวที่แสดงออกอย่างเปิดเผยว่าตัวเองชอบเที่ยวกลางคืน

“จ๋าไม่ได้พิการตั้งแต่กำเนิด แต่เพิ่งเกิดอุบัติเหตุเมื่อปี 61 ทำให้ไขสันหลังบาดเจ็บก็เลยต้องนั่งรถเข็น ซึ่งก่อนหน้านี้เราเป็นคนที่เที่ยวกลางคืนอยู่แล้ว พอมาพิการตอนแรกก็อยู่ในช่วงปรับตัวกับการใช้ชีวิต แล้วอาจเพราะเราเป็นคนชอบบรรยากาศในร้าน มันก็เลยทำให้เรากลับไปเที่ยวอีกตอนที่เราฟื้นตัวแล้ว ต่อให้ไปนั่งกินน้ำเปล่ากับเฟรนช์ฟรายส์เราก็สนุกได้ เราแค่รู้สึกว่าเราชอบบรรยากาศในนั้น ได้ฟังดนตรีสด ได้ผ่อนคลาย” เธอเล่าพลางยิ้มพลาง

รุจิเรขมองว่าการออกเที่ยวยามราตรีนั้นไม่ใช่แค่การออกไปมึนเมา แต่มันคือการเติมเต็มชีวิตในวันที่เหนื่อยล้าให้มีความสุขขึ้นบ้าง

“อยากให้ปรับมุมมองการมองคนพิการใหม่ เข้าใจว่าเราอาจจะมีภาพจำเดิมว่า คนพิการจะต้องอยู่ติดเตียง หรือต้องเป็นอย่างนี้อย่างนั้น แต่ปัจจุบันนี้สิ่งอำนวยความสะดวกมันก็มากขึ้น แล้วคนพิการที่เป็นวัยรุ่นก็เยอะ บางคนเพิ่งจะ 17-18 ถ้าเขาพิการแล้วจะให้เขาอยู่แต่บ้าน ไม่ออกมาใช้ชีวิต ไปมีสังคมหรือไปปาร์ตี้บ้างเหรอ สุดท้ายแล้วเขาก็ต้องมีสังคมของเขา ไม่ว่าเขาจะดูดบุหรี่ เที่ยวกลางคืน หรือจะแต่งตัวโป๊แค่ไหนก็ตาม คุณก็ไม่ควรไปตัดสินเขา” เธอเล่าด้วยน้ำเสียงจริงจังตลอดเวลาที่ได้คุยกัน ก่อนจะตบท้ายว่า

“คนพิการเขาก็เป็นแค่คนคนหนึ่งที่มีข้อจำกัดทางด้านร่างกาย แต่เขาก็ยังอยากใช้ชีวิตอยู่ดี ไม่ใช่ว่าพิการแล้วต้องถูกตัดออกจากสังคม”

จ๋า – รุจิเรข คุมโสระ ผู้พิการทางการเคลื่อนไหวที่แสดงออกอย่างเปิดเผยว่าตัวเองชอบเที่ยวกลางคืน

เช่นเดียวกันกับ บุญรอด อารีย์วงษ์ ยูทูบเบอร์ชื่อดังจากช่อง poocao channel ที่ยืนยันว่าผู้พิการก็ออกไปเที่ยวกลางคืนได้และไม่อยากให้คนในสังคมมองว่าเป็นสิ่งผิด เขามองว่าการไปเที่ยวกลางคืนมันมีอะไรมากกว่าแค่ความสนุก

บุญรอด-อารีย์วงษ์-poocao-channel-คนพิการ-ความพิการ-เที่ยวกลางคืน
บุญรอด อารีย์วงษ์ ยูทูบเบอร์ชื่อดังจากช่อง poocao channel

เมื่อก่อนการไปเที่ยวกลางคืนมันคือการไปเต้น การไปปลดปล่อย มันได้เติมเต็มความรู้สึกบางอย่าง มันได้สนุกสนาน ได้ไปพูดคุยกับเพื่อน แต่อายุตอนนี้มันกลายเป็นได้แชร์อะไรบางอย่างด้วยกันกับเพื่อนที่ไม่ได้เจอกันนาน  ก็นัดกันไปกินเหล้า ก็ได้คุยกัน” บุญรอดยังเสริมอีกว่า “อย่าเพิ่งไปตัดสินว่าคนไปเที่ยวกลางคืนคือคนไม่ดี เรารู้สึกว่าการเที่ยวกลางคืนมันคืออีกสังคมที่เราได้ไปเจอคนอีกรูปแบบหนึ่ง ที่เขาไม่อาจเปิดเผยตัวตนในตอนกลางวันได้ มันเป็นคอมมูนิตี้ที่เราจะมีโอกาสได้เจอคนใหม่ ๆ บางทีเราได้งาน ได้เงินจากการไปเที่ยวกลางคืนนะ ไปขายงาน มันเป็นโอกาสมากกว่า”

อยากให้มองว่าคนพิการก็มีสิทธิไปไหนก็ได้ มันคือสิทธิของเขา เขาก็มีขานะ มันไม่ควรมีคำถามกับเราว่าจะออกไปทำไม อย่าตัดสินคนจากภายนอก เปิดใจกว้าง ๆ แล้วมองดี ๆ” แม้บุญรอดมองว่าการใช้ชีวิตอย่างที่อยากจะเป็น โดยไม่ทำร้ายใครนั้นเป็นสิ่งที่ไม่ควรถูกตั้งคำถาม แต่ความพิการกลับเป็นสิ่งที่หลายคนใช้ตัดสินตัวเขาอยู่เสมอ “เราโดนถามว่า มึงไปได้เหรอ มึงไปไหวเหรอทั้งที่เป็นแบบนี้ ไม่เจียมตัวเหรอ ไปทำไม ไปแล้วได้อะไรขึ้นมา คุณไม่แข็งแรงอยู่แล้ว ทำไมคุณไม่อยู่บ้าน เราก็รู้สึกว่าแล้วยังไงอะ คือกูไม่มีสิทธิ์เหรอ หรือยังไง หรือกูร่างกายไม่แข็งแรงแล้วต้องอยู่บ้านอย่างเดียวเหรอ เราจะออกไปบ้างไม่ได้เหรอวะ

เมื่อสังคมตีกรอบว่าผู้พิการควรมีความสุขอย่างไร คนที่ยิ่งทุกข์กลับเป็นผู้พิการ “เรารู้สึกว่ามันเกิดการคิดแทน คิดให้ว่าคนพิการควรมีความสุขหรือชีวิตแบบไหน หรือแบบไหนที่ไม่ควร” เสียงสะท้อนจาก หนู – นลัทพร ไกรฤกษ์ นักเขียนผู้พิการทางการเคลื่อนไหว หนึ่งในกองบรรณาธิการ thisable.me ผู้ถ่ายทอดเรื่องราวมากมายของผู้พิการ

หนู-นลัทพร-ไกรฤกษ์-ผู้พิการ-เที่ยวกลางคืน
หนู – นลัทพร ไกรฤกษ์ นักเขียนผู้พิการทางการเคลื่อนไหว หนึ่งในกองบรรณาธิการ thisable.me

เธอมองว่าการคิดแทนของสังคมทำให้การปรากฎตัวของผู้พิการในบางพื้นที่กลับกลายเป็นความประหลาด “เขา (ผู้พิการ) รู้สึกว่าเขาก็คน ๆ นึง เขาก็ไม่ได้อยากมีชีวิตที่ต่างอะไรกับคนอื่น ในเมื่อคนอื่นมีความสุขกับเรื่องนี้ (การเที่ยวกลางคืน) เราก็มีความสุขกับเรื่องนี้เหมือนกัน” นลัทพรสรุปถึงสิ่งที่เธอพูดในงาน เสวนา ‘เสรีภาพหรือเสรีพร่อง’ ตอน ‘แดก ดื่ม ดูด’ เมื่อเดือนตุลาคม ที่ผ่านมา ซึ่งชวนเราไปสำรวจความเห็นของคนในสังคมเมื่อเห็นคนพิการเที่ยวกลางคืน และข้อเสนอจากผู้พิการถึงผู้ประกอบการ เพื่อให้ทุกคนสามารถเข้าถึงทุกพื้นที่อย่างเท่าเทียม 

การปรากฎตัวของผู้พิการในพื้นที่เที่ยวกลางคืน โดยเฉพาะในผับซึ่งเป็นพื้นที่ที่ผู้คนแออัด เป็นเรื่องน่าประหลาดใจของใครหลายคน เธอมองว่าปัจจัยหนึ่งที่ส่งผลเช่นนั้น เป็นเพราะสภาพแวดล้อมที่ไม่ได้เอื้อให้ผู้พิการสามารถปรากฎตัวในพื้นที่ลักษณะนี้ได้มากนัก แต่ในบางพื้นที่อย่างบาร์หรือ ‘ร้านนั่งชิล’ การปรากฎตัวของผู้พิการเป็นเรื่องที่สังคมเริ่มคุ้นชินมากขึ้น

“สุดท้ายแล้วมันคือสภาพแวดล้อมที่ไม่ได้เอื้อให้เขาสามารถปรากฎตัวได้มาก แม้มันจะไม่ได้ถูกมองว่าประหลาดซะทีเดียว แต่คนมันไม่ค่อยได้เห็นซะมากกว่า เวลาเราไปร้านนั่งชิล อาจเป็นเรื่องปกตินะ แต่พอเป็นผับคนค่อนข้างประหลาดใจกันเวลาเห็นคนพิการ พอเห็นแล้วเขาก็แปลกใจว่า เฮ้ย! ไปเที่ยวได้ด้วยว่ะ”

หนู – นลัทพร ไกรฤกษ์ นักเขียนผู้พิการทางการเคลื่อนไหว หนึ่งในกองบรรณาธิการ thisable.me

แม้ นลัทพรจะไม่ได้เที่ยวผับบ่อยนัก แต่การไปครั้งล่าสุดกลับกลายเป็นประสบการณ์ที่เธอจะไม่ลืมไปอีกนาน เธอเล่าด้วยท่าทีติดตลกว่า “คราวที่แล้วที่เราไปมีคนมานั่งร้องไห้กับเราเลย เราก็ไปสนุกกับเพื่อน แล้วอยู่ดี ๆ ก็มีพี่ผู้หญิงเดินมาลูบหัว ลูบไหล่ ตบไหล่ แล้วบอกว่า ‘ดีใจจังเลยที่เห็นเธอมาที่นี่’ เพราะเพื่อนของพี่เขาประสบอุบัติเหตุต้องนั่งวีลแชร์ หลังจากนั้นก็ไม่ได้ออกจากบ้านอีกเลย พี่เขาก็พูดว่า ‘ถ้าเกิดน้องมาได้ เพื่อนเราก็ต้องมาก็ต้องมาได้สิ’ แล้วเขาก็นั่งร้องไห้ เราก็เลยนั่งร้องไห้กับเขาไปด้วย การที่เราออกมาเที่ยวแบบนี้ มันคงเข้าไปสะเทือนในใจเขานะ เพราะเพื่อนเขาก็สายเที่ยวแบบนี้แหละ เป็นคนชอบเที่ยวพอประสบอุบัติเหตุก็กลับกลายว่าไม่ได้คิดจะออกไปไหนได้อีกแล้ว พอเขาเห็นว่าเราก็ออกมาได้ เขาก็คิดถึงเพื่อนเขาอะ เขาก็อยากเห็นเพื่อนเขามีชีวิตแบบนี้จังเลย จากที่เขาพูด”

นลัทพรมองว่าการที่ผู้พิการไม่สามารถเที่ยวกลางคืนได้มากนัก เนื่องด้วยปัจจัยจากสังคมและสภาพแวดล้อมทางกายภาพ ที่หลายจุดไม่ได้อำนวยให้ผู้พิการสามารถเข้าถึงพื้นที่ตรงนี้ได้มากนัก “เราว่ามันหลายอย่างมากนะ ทั้งจากทัศนคติเองที่ยังมองว่าพิการแล้วก็อย่าเที่ยวเลย ไม่ใช่เรื่องที่ควรให้ความสำคัญอันดับแรก พิการแล้วก็ควรไปรักษาตัวให้หายสิ แต่ก็ลืมชีวิตด้านอื่นไป อีกอย่างนึงคือถ้าเขาเดินทางมาสะดวกมันก็จะง่ายขึ้น การที่เขานั่งวีลแชร์มันก็จะไม่ใช่ปัญหา ถ้าเขาจะออกมาเที่ยว ถ้าสภาพแวดล้อมมันดี การออกไปข้างนอกคงไม่ใช่อุปสรรคอะไร”

กระนั้นนลัทพรก็มองว่าการจะให้ผู้พิการเข้าถึงได้ทุกที่เป็นเรื่องที่ต้องค่อยเปลี่ยนกันไป เธอเล่าว่า “เรามองว่ามันยากมากที่จะอยู่ดี ๆ แล้วบอกให้ร้านรวงทำก่อนสิ โดยที่เขาอาจจะนึกไม่ออกด้วยซ้ำว่าจะมีคนที่ใช้หรือเปล่า เราเคยไปร้านนึงแถวลาดพร้าว คือตอนแรกหน้าร้านมันก็มีบันได แต่เราก็ไปบ่อยนะ ทุกครั้งที่ไปพี่เขาก็มาช่วยเราตลอด พี่เจ้าของร้านน่ารักมาก แล้ววันนึงได้มาคุยกันเยอะ ๆ ว่าความลำบากในการใช้ชีวิตในสภาพแวดล้อมแบบนี้คืออะไรบ้าง พอได้คุยกันมันก็เห็นอกเห็นใจกันมากขึ้น แล้ววันนึงเขาก็ไปทำทางลาดหน้าร้าน มันก็กลายเป็นว่าเราก็กล้าไปบอกเพื่อนต่อว่าร้านนี้ถ้าไปวีลแชร์ก็ไปได้นะ”

นลัทพรหวังเป็นอย่างยิ่งว่าในอนาคตจะมีเพื่อน ๆ ผู้พิการเช่นเธอออกมา ‘ใช้ชีวิต’ กันเยอะ ๆ ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างกรณีร้านที่เธอเล่ามากขึ้น พร้อมทิ้งท้ายว่า “ถ้า Motto ที่รัฐชอบใช้ว่าทุกอย่างเริ่มต้นที่ตัวเอง กูก็คงออกไปให้เห็นก่อนแหละ ว่ากูก็มีชีวิตอยู่ที่นี่ ถ้าเขาเห็นอกเห็นใจแล้วคิดว่ามันสามารถทำหรือแก้ไขอะไรได้ล่ะนะ”

อย่างไรก็ตาม ทางภาครัฐได้ออกบังคับใช้ กฎกระทรวงกำหนดสิ่งอำนวยความสะดวกในอาคารสำหรับผู้พิการหรือทุพพลภาพ และคนชรา (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2564 ซึ่งรองศาสตราจารย์ ไตรรัตน์ จารุทัศน์ อาจารย์ประจำคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้เชี่ยวชาญด้านการออกแบบ For All&Universal (การออกแบบเพื่อคนทุกกลุ่ม) อธิบายถึงข้อกำหนดดังกล่าวว่า ระเบียบชุดนี้มีเนื้อความเกี่ยวกับข้อกำหนดของอาคารสาธารณะ ไม่ว่าจะเป็นอาคารสำนัก โรงแรม คอนโดมิเนียม Mixed-Use (การผสมผสานรูปแบบการใช้งานของอสังหาริมทรัพย์ เข้าด้วยกัน) รวมถึงอาคารพาณิชยกรรมที่มีพื้นที่เกิน 50 ตารางเมตร ต้องจัดสิ่งอำนวยความสะดวกแก่ผู้สูงอายุและคนพิการ ทั้งที่จอดรถ ทางลาดระหว่างพื้นต่างระดับ ข้อกำหนดเกี่ยวกับประตู, ห้องน้ำ, บรรได, ลิฟต์, และพื้นผิวต่างสัมผัส

ไตรรัตน์-จารุทัศน์-สถาปัตยกรรมศาสตร์-จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
รองศาสตราจารย์ ไตรรัตน์ จารุทัศน์ อาจารย์ประจำคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

กระนั้น แม้จะมีกฎกระทรวงออกมาควบคุม แต่กลับมีช่องโหว่ที่รั้งให้ผู้พิการไม่สามารถเข้าถึงทุกที่ได้อย่างที่ควรจะเป็น รองศาสตราจารย์ ไตรรัตน์ อธิบายว่า “อย่างร้านเหล้าเนี่ย เขาเรียกว่าอาคารพาณิชยกรรมที่พื้นที่เกิน 50 ตารางเมตร ต้องจัดสิ่งอำนวยความสะดวกแก่ผู้สูงอายุและคนพิการตามกฎกระทรวง แต่มันก็พบปัญหาอยู่ 3 ข้อ

  • เรื่องแรก คือ กฎหมาย 2 ฉบับนี้ไม่บังคับย้อนหลัง เพราะฉะนั้นอาคารเก่าที่มีอยู่แล้วไม่สามารถบังคับให้เขาแก้ไขอาคารได้
  • เรื่องที่ 2 คือ ร้านเหล้า ต้องมีพื้นที่ 50 ตารางเมตร (พื้นที่ตัวอาคาร) เป็นต้นไป แต่ถ้าไม่ถึง กฎหมายจะไม่ได้บังคับ
  • เรื่องที่ 3 เวลากฎหมายบังคับ เขาไม่ได้บังคับลึกไปทั้งบริเวณ สมมติว่า ร้านสร้างใหม่พื้นที่เกิน 50 ตารางเมตร เขาต้องจัดสิ่งอำนวยความสะดวก แต่เขาอาจจะมีที่จอดรถ ห้องน้ำ ทางลาด ครบ แต่ไม่ได้แปลว่าทุกพื้นที่ในร้านเขาจะออกแบบให้เอื้อต่อคนพิการ ซึ่งตรงนี้กฎหมายมันไม่ได้บังคับ

“การไปผับ บาร์ มันคือการไปกิน ดื่ม ฟังเพลง เอาจริงแล้ว ถ้าโต๊ะมันเข้าถึงได้ก็จบแหละ” รองศาสตราจารย์ ไตรรัตน์ แนะนำแนวทางการแก้ปัญหาเบื้องต้นของการออกแบบร้านเหล้า ผับ บาร์ ทั้งนี้ แม้การใช้แนวคิดเรื่อง Universal Design จะช่วยแก้ปัญหาได้ แต่การแก้ปัญหาเพื่อคนพิการอย่างยั่งยืนต้องการมาตราการเสริมหลายด้าน รองศาสตราจารย์ ไตรรัตน์ เสริมว่า “เราอาจต้องไปคิดเรื่องมาตรการการใช้กฎหมายย้อนหลัง เพราะส่วนใหญ่อาคารเหล่านี้มันสร้างมาก่อนกฎหมาย กฎหมายจึงไม่สามารถบังคับย้อนหลังได้ ฉะนั้นต้องใช้มาตรการการส่งเสริมและสนับสนุนแทน ​​เช่น ถ้าเอกชนมีการปรับปรุงอาคารเก่าก็นำมาลดหย่อนภาษีได้ หรืออย่างที่ญี่ปุ่นเขามีเงินสนับสนุนจากเทศบาลและรัฐบาล แล้วเขาค่อยแก้กันไป”

แนวคิดในการสนับสนุนการปรับปรุงอาคารเก่าในญี่ปุ่น เป็นหนึ่งในตัวอย่างมาตราการส่งเสริมสิทธิผู้พิการในหลายด้านอย่าง Act on Buildings Accessible and Usable for the Elderly and Physically Disabled พระราชบัญญัติฉบับปรับปรุง พ.ศ. 2545 ที่กำหนดมาตรฐานสิ่งอำนวยความสะดวกของผู้พิการในอาคารสาธารณะ อีกทั้งส่งเสริมการปรับปรุงอาคารเพื่อความสะดวกของผู้พิการ ด้วยมาตรการจูงใจด้านภาษีและการจัดหาเงินทุนอุดหนุนนการบูรณะอาคารของภาคเอกชน นอกจากนี้ยังมีการแก้ไขมาตรฐานการออกแบบอาคารของภาครัฐ ให้มีสิ่งอำนวยความสะดวกของผู้พิการได้มากขึ้น ในขณะที่ประเทศไทย พระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ. 2550 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2556 การเงินสนับสนุนในการปรับสภาพแวดล้อมที่อยู่อาศัยสำหรับคนพิการเหมาจ่ายในวงเงิน 40,000 บาท

อย่างไรก็ตามพระราชบัญญัติ Act on Buildings Accessible and Usable for the Elderly and Physically Disabled ไม่ได้เป็นเพียงความพยายามเดียวของญี่ปุ่นในการผลักดันแนวคิด Barrier Free (แนวคิดในการออกแบบเพื่อการใช้งานอย่างไร้อุปสรรค) ให้ครอบคลุมในหลายมิติ ย้อนกลับไป พ.ศ. 2549 ญี่ปุ่นผ่านกฎหมาย Barrier-Free Act ซึ่งเป็นกฎหมายที่ส่งเสริมการเดินทางและการเข้าถึงพื้นที่สำหรับผู้สูงอายุและผู้พิการให้สะดวกสบายขึ้น โดยสร้างสภาพแวดล้อมที่ไร้อุปสรรคในระบบขนส่งสาธารณะ ศูนย์การค้า อาคารสาธารณะ และพื้นที่สาธารณะ นอกเหนือจากการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางกายภาพแล้ว ร่างกฎหมายดังกล่าวยังส่งเสริมให้เกิดการตระหนักรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับความต้องการของผู้สูงอายุและผู้พิการ ทั้งยังส่งเสริมให้เกิดปฏิสัมพันธ์และการสนับสนุนในวงกว้างจากหลายภาคส่วนในสังคม

การดำเนินงานของสหภาพยุโรปเป็นอีกหนึ่งตัวอย่างของการสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการใช้ชีวิตของผู้พิการในหลายมิติ โดยการวางระเบียบข้อบังคับต่าง ๆ เพื่อรับรองว่าผู้พิการจะเข้าถึงโอกาสได้ทัดเทียมกับผู้ไม่พิการ หนึ่งในกฎหมายสำคัญคือ European Accessibility Act ซึ่งประกาศใช้เมื่อ พ.ศ. 2563 โดยกำหนดข้อบังคับในการเข้าถึงสินค้า บริการ อาคาร การขนส่ง การสื่อสาร  พระราชบัญญัติกำหนดให้อาคารใหม่และการปรับปรุงอาคารเดิมขนาดใหญ่ต้องได้รับการออกแบบและสร้างให้เอื้อต่อการเข้าถึงของผู้พิการ ซึ่งรวมถึงข้อกำหนดสำหรับการวางผังเส้นทางหมุนเวียนภายในอาคาร สิ่งอำนวยความสะดวกด้านสุขอนามัย ระบบภาพและเสียงและประตูอัตโนมัติ เพื่อให้ผู้พิการเข้าถึงการใช้งานอาคารได้สะดวกขึ้น

EUROPEAN-DISABILITY-FORUM
สหภาพยุโรปมีความพยามยามในการสร้างสภาพแวดล้อมที่เป็นมิตรต่อผู้พิการ ความพยายามเหล่านี้รวมถึงการนำกฎหมาย ระเบียบข้อบังคับ และนโยบายมาใช้เพื่อปกป้องสิทธิของผู้พิการ และรับประกันว่าผู้พิการจะสามารถเข้าถึงโอกาสเช่นเดียวกับทุก ๆ คน ที่มา : EUROPEAN DISABILITY FORUM

ขณะเดียวกัน สหภาพยุโรปยังมีกฎหมายสนับสนุนสิทธิของผู้พิการอย่าง European Disability Strategy 2010-2020 ซึ่งมีจุดมุ่งหมายเพื่อขจัดอุปสรรคและปรับปรุงคุณภาพชีวิตผู้พิการในหลายด้าน ทั้งการเข้าถึงพื้นที่ทางกายภาพ การมีส่วนร่วมในสังคม สุขภาพ ตลอดจนการจ้างงาน ทั้งนี้ นอกจากการออกกฎหมายแล้ว สหภาพยุโรป มีความพยายามสื่อสารให้สังคมตระหนักรู้ถึงความต้องการของผู้พิการและผู้สูงอายุ ด้วยการสอดแทรกในหลักสูตรการศึกษา ทั้งยังกำหนดวันคนพิการแห่งยุโรป ซึ่งจัดขึ้นในวันที่ 3 ธันวาคม ของทุกปี โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมสิทธิและการมีส่วนร่วมอย่างเต็มที่ของผู้พิการในสังคม

ปฏิเสธไม่ได้ว่าประเทศไทยมีกฎหมายและนโยบายหลายฉบับ ที่มุ่งคุ้มครองสิทธิของคนพิการและส่งเสริมการมีส่วนร่วมในสังคม อย่างพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ. 2550  มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมสิทธิและความเท่าเทียมของคนพิการ  พระราชบัญญัตินี้มีบทบัญญัติที่เกี่ยวข้องกับการเข้าถึงการศึกษา การจ้างงาน และด้านอื่นๆ ของชีวิตสาธารณะ ทั้งยังมี อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิคนพิการ (Convention on the Rights of Persons with Disabilities, CRPD) กฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศที่ส่งเสริมพิทักษ์ และรับรองให้คนพิการได้รับการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนเสรีภาพขั้นพื้นฐานและมีความเสมอภาคอย่างเต็มที่  ซึ่งประเทศไทย ให้สัตยาบันในปี 2551 จะเห็นได้ว่ากฎหมายและนโยบายเพียงอย่างเดียวไม่ได้ทำให้การเปลี่ยนแปลงและการพัฒนาเกิดขึ้นได้จริง สิ่งสำคัญคือการพิจารณาถึงการดำเนินนโยบายเหล่านี้ และการบังคับใช้กฎหมาย ตลอดจนทัศนคติและแนวปฏิบัติทางสังคม ให้เอื้อต่อการใช้ชีวิตของผู้พิการอย่างแท้จริง

อ้างอิง

  1. Cabinet Office. (ม.ป.ป). Infrastructure Improvement for Facilitating Independent Life. เข้าถึงได้จาก  https://www8.cao.go.jp/shougai/english/ootsureport/2-3.html
  2. nippon.com. (2559). Barrier-Free Design in Japan. เข้าถึงได้จาก https://www.nippon.com/en/features/jg00087/
  3. European Commission. (2562). European Accessibility Act: Q&A. เข้าถึงได้จาก https://ec.europa.eu/social/main.jsp?catId=1202&intPageId=5581&langId=enEuropean Commission. (2562).
  4. European Disability Strategy 2010-2020 helped to remove barriers. เข้าถึงได้จาก https://ec.europa.eu/social/main.jsp?catId=89&furtherNews=yes&newsId=9835&langId=en