Community

ทั้งชีวิต…ให้ทรัพย์สินฯ ดูแล

แม้ชาวนางเลิ้งจะปักหลักอยู่อาศัยในพื้นที่นี้มากว่า 100 ปี แต่ด้วยกรรมสิทธิ์ถือครองที่ดินไม่ได้เป็นของตนเอง ชาวชุมชนจึงเผยความกังวลใจฝากถึงสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ผู้มีหน้าที่บริหารจัดการพื้นที่แห่งนี้

เรื่อง : พชร คำชำนาญ, รณิดา บริบูรณ์ภัทรกุล

ภาพ : เมธาวจี สาระคุณ

ประตูบานพับยาวสีขาวเรียงรายตลอดบ้านเรือนตึกแถว กอปรกับหลังคาทรงนีโอคลาสสิคที่เป็นเอกลักษณ์ของชุมชนแห่งนี้ กลิ่นอาหารลอยกรุ่นชวนให้น้ำลายสอ โรงภาพยนตร์สแตนด์อโลนยังคงตั้งตระหง่านผ่านกาลเวลา ณ ตลาดนางเลิ้ง ชาวชุมชนอยู่อาศัยและค้าขายสืบต่อกันมากว่าร้อยปี

 

“ผมอยู่มาตั้งแต่เกิด รุ่นพ่อผมเป็นรุ่นต้นๆ ของที่นี่ ถ้ายังอยู่ก็ 100 เศษๆ ผมเป็นรุ่นที่สอง เกิดที่นี่แล้วไม่เคยย้ายไปไหน เห็นรูปแบบตั้งแต่นางเลิ้งยังเฟื่องฟูจนซบลงไประยะหนึ่ง แล้วช่วงนี้กำลังบูมขึ้นมาหน่อย แต่ยังไม่โอเคนะ” ไกรสร (นามสมมติ) ชายวัยกลางคน หนึ่งในผู้อยู่อาศัยย่านนางเลิ้ง เล่าให้ นิสิตนักศึกษา ฟังถึงภาพการเปลี่ยนแปลงเชิงเศรษฐกิจของตลาดนางเลิ้ง

บรรยากาศกลางวันในตลาดนางเลิ้ง
ตลาดนางเลิ้งยามเที่ยงในวันธรรมดา

ไกรสรเล่าว่า ปีนี้ตลาดนางเลิ้งจะย่างเข้าสู่ปีที่ 119 ซึ่งตลาดในกรุงเทพฯ ที่อายุพอๆ กันนั้น ไม่มีเหลืออีกแล้ว “แต่ก่อนที่ยังพอเห็นก็คือตรงบางรัก อีกที่คือตลาดยอดที่เกิดเพลิงไหม้ เพราะฉะนั้นคนที่อยู่ดั้งเดิมก็ยังอยากอนุรักษ์ตรงนี้เอาไว้”

จากคำบอกเล่าของคนในชุมชน พื้นที่ย่านนางเลิ้งเป็นของวัดโสมนัสวิหารราชวรวิหาร แต่สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์เข้ามาเป็นผู้บริหารจัดการพื้นที่ส่วนนี้ ซึ่งไกรสรเห็นว่า สำนักทรัพย์สินฯ ดูแลคนในชุมชนเป็นอย่างดีมาโดยตลอด

“เราก็ได้รับการสนับสนุนจากทรัพย์สินฯ อย่างดี เขาเข้ามาดูแลปรับปรุงอยู่เรื่อยๆ ให้มีรูปแบบที่ดีขึ้น เช่น เรื่องสิ่งแวดล้อม เมื่อก่อนเราจะเห็นว่าตลาดเราเป็นตลาดสด ความสะอาดจะไม่มี แต่เราได้งบมาเมื่อปี 2546 เริ่มปรับปรุงเมื่อปี 2547 ตลาดก็ดูใหม่ขึ้น รูปลักษณ์ดีขึ้น ที่สำคัญคือสะอาดขึ้น ปัจจุบันนี้ตลาดเราได้เป็นตลาดระดับเพชรของ กทม. เพราะรูปแบบและเรื่องสิ่งแวดล้อมดีขึ้น” ไกรสรกล่าว

แม้ว่าชาวชุมชนจะอาศัยอยู่ในย่านนางเลิ้งจากรุ่นสู่รุ่นมากว่า 100 ปี ภายใต้การดูแลของสำนักทรัพย์สินฯ แต่ ณ วันนี้ เสียงสะท้อนของชาวชุมชนหลายคนกลับบอกตรงกันว่า ลูกหลานตนตัดสินใจย้ายออกไปอยู่ที่อื่นแล้ว

ครอบครัวขยาย แต่พื้นที่บ้านไม่อาจขยายตาม

หนึ่งในสิ่งที่กดดันให้ลูกหลานย่านนางเลิ้งรุ่นใหม่ๆ เลือกออกไปแสวงหา “บ้านใหม่” เพราะครอบครัวขยายบนพื้นที่บ้านซึ่งไม่สามารถต่อเติมหรือดัดแปลงส่วนหนึ่งส่วนใดของบ้านได้

ปรีชา ศรีตุลยโชติ หนึ่งในชาวชุมชนนางเลิ้ง เล่าถึงปัญหาที่หลายครอบครัวต้องเผชิญเมื่อมีสมาชิกครอบครัวเพิ่มขึ้น “บ้านผมมีพี่น้องห้าคน บ้านห้องเดียว มันก็ต้องกระจัดกระจายกันออก ก็มาเซ้งห้องอยู่ใกล้ๆ กัน ส่วนลูกผมมันก็จะอยู่กันไม่ได้ พอโตขึ้นก็ต้องแยกออกไป เพราะว่าครอบครัวขยาย” เขาอธิบายต่อว่า บ้านตึกด้านนอกเป็นสองชั้น ส่วนบ้านด้านในเป็นโกดังเปิดโล่ง สามารถกั้นเป็นชั้นได้ หากข้างล่างเรากั้นเพดานไว้สูง พื้นที่ข้างบนก็จะเตี้ย  

แจ่มจันทร์ (นามสมมติ) ชาวบ้านรายหนึ่ง เผยถึงการดำเนินเรื่องขอซ่อมแซมหรือดัดแปลงบ้านต่อสำนักงานทรัพย์สินฯ ว่า ต้องดำเนินเรื่องหลายขั้นตอน และมักได้ผลตอบรับที่ไม่ดีนัก นอกจากนี้ เธอยังข้องใจกับการเสียค่าปรับเพียงเพราะต้องการซ่อมแซมบ้านที่ทรุดโทรมของตนเอง

“เวลาขอซ่อมแซมยากมาก เราอยากจะซ่อมเองเสียตังค์เอง แต่เขาไม่ให้ซ่อม เขาไม่ยอม  หลายบ้านแอบซ่อมกันหมด แต่พอซ่อมแล้วเขาเห็น เขาก็เรียกเก็บเงินค่าปรับ ถามว่าเขาเอาเปรียบเราไปไหม เพราะเราซ่อมให้แล้วยังมาเอาค่าปรับจากเราอีก เราทำให้บ้านสภาพดีขึ้น” แจ่มจันทร์เผย เธอกล่าวต่ออีกว่า “คนทำบ้านก็อยากได้ความสวยงาม เดินไปเดินมาแล้วชมว่า ‘บ้านนี้สวย’ มันเป็นความภูมิใจว่าบ้านเราสวย”

สภาพผนังตึกเก่าที่สีหลุดร่อน
อาคารในชุมชนที่สร้างตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5

ขณะที่ สิริพร โชติวรรณ ผู้ประสานงานชาวบ้านและชุมชนนางเลิ้ง กล่าวว่า การดูแลภายนอกอาคาร เช่น การทาสีตัวอาคาร จะเป็นหน้าที่โดยตรงของสำนักทรัพย์สินฯ อย่างไรก็ตาม แม้การดูแลภายในบ้านจะเป็นเรื่องของแต่ละครอบครัว แต่ก็ต้องขออนุญาตสำนักงานทรัพย์สินฯ ก่อน เนื่องจากสำนักงานทรัพย์สินฯ เป็นผู้บริหารจัดการพื้นที่ “เหมือนอย่างเราไปเช่าบ้าน ถ้าบ้านมีปัญหาก็ต้องซ่อม บางเรื่องต้องขออนุญาตซ่อมแซม ซ่อมแล้วต้องเป็นรูปแบบเดิม โครงสร้างเดิม ทำได้แค่ซ่อมแซม ไม่สามารถรื้อถอนได้ “ สิริพรกล่าว

สัญญาเช่ากับชะตากรรมบนเส้นด้าย

การดำเนินเรื่องขอดัดแปลงบ้านเป็นเพียงข้อจำกัดหนึ่ง แต่สิ่งที่ชาวบ้านหลายคนกังวลยิ่งกว่าคือ “การต่อสัญญาเช่ารายสามปี”

ไกรสร เผยความในใจว่า การต่อสัญญาเช่ารายสามปีสร้างความรู้สึกไม่มั่นคง “เหมือนเราซื้อบ้านแล้วเขาบอกว่าสามปีค่อยต่อที กับอีกที่บอกว่าอยู่ได้ตลอดชีวิต หรืออยู่ได้ซัก 20 ปี สามปีมันสั้น เราไม่รู้ว่าสามปีหน้าทรัพย์สินฯ จะคิดอย่างไรกับผู้เช่า”

“คนรุ่นใหม่บางคนก็กังวลแบบผม เขาคิดยิ่งกว่าเราอีก เขาก็พยายามทำงานแล้วอยากไปซื้อบ้านข้างนอก ทำงานหาเงินได้เมื่อไหร่ก็ไปซื้อด้านนอก กันไว้เผื่อสามปีหน้าทรัพย์สินฯ บอกว่าตรงนี้มีนโยบายจะทำอะไร เพราะสามปีมันไม่มีหลักประกันให้เขา เขาก็คิดว่าโดนเวนคืนเมื่อไหร่ก็ได้ หลายที่ที่เป็นของทรัพย์สินฯ เคยโดนมาแล้ว อย่างแถวเจริญผลซึ่งเมื่อก่อนก็เป็นตลาดเหมือนกัน” ไกรสรแสดงความกังวล และกล่าวต่อว่า “เราพยายามมองในแง่ดีว่าเขาไม่เป็นหรอก แต่อะไรก็เกิดขึ้นได้หมด ไม่งั้นเขาไม่ใช้คำว่าสามปีต่อทีหรอก”

เสียงเพรียกจากปัจจุบัน…ถึงอนาคต

ด้วยข้อจำกัดที่มีอยู่ของสำนักทรัพย์สินฯ ในเรื่องการต่อสัญญาและการดัดแปลงอาคาร ทำให้คนนางเลิ้งรุ่นเก๋าไม่อาจมั่นใจได้ว่า จะมีโอกาสอาศัย ณ บ้านซึ่งเป็นที่เกิดที่เติบโต ไปจนถึง “วาระสุดท้ายของชีวิต” หรือไม่ เช่นเดียวกับคนรุ่นใหม่ที่บรรพบุรุษได้อาศัยใต้ร่มเงาของสำนักทรัพย์สินฯ มากว่าค่อนชีวิต หากวันใดที่พวกเขาเลือกจะเดินออกไปจากชุมชนเพราะไม่อาจทนรับความไม่มั่นคงเหล่านี้ได้อีกต่อไป เมื่อนั้นก็คือวันที่ชุมชนต้องนับถอยหลังก่อนที่ชื่อ “นางเลิ้ง” จะถูกลบหายไปตามกาลเวลา

สำหรับไกรสร ชาวบ้านผู้ต้องการอนุรักษ์ชุมชนนี้ตราบสิ้นลมหายใจ ยังคงเต็มเปี่ยมด้วยความเชื่อมั่นที่มีต่อสำนักทรัพย์สินฯ ว่า จะยังรักษาตลาดเก่าแก่แห่งนี้ให้คงอยู่สืบไป

“คุณลองคิดดูว่าวันหนึ่งคุณเปลี่ยนแปลงเป็นอาคารพาณิชย์หรือห้างสรรพสินค้า กับเราอนุรักษ์สิ่งเหล่านี้ให้ลูกหลานดูว่า เรามีตลาดทรงแบบนี้ ผมตายไปแล้วยังมีคนมาเยี่ยมชมดูวิถีชีวิต ดูของเก่าๆ ผมคิดว่าตราบใดที่ผมยังมีลมหายใจ ผมเป็นคนหนึ่งที่จะไม่ยอม” ไกรสรกล่าว

“เราอยากให้ทรัพย์สินฯ เห็นเรา เราเห็นทรัพย์สินฯ อยู่แล้วเพราะนี่เป็นที่ของท่าน เราหวังว่าเขาจะอยากให้เราอยู่ แต่เราก็คาดหวังไม่ได้ว่าในอนาคตจะเป็นอย่างไร ผมปลูกฝังให้ลูกหลานรู้ว่าที่นี่เป็นบ้านเรา แม้บางทีลูกหลานจะไปซื้อบ้านข้างนอก ก็จะบอกเสมอว่า นี่เป็นบ้านเรา เป็นวิถีชีวิต เป็นเลือดเนื้อของเรา เราต้องรักษาไว้ ไกรสรกล่าว

พื้นที่ว่างที่คาดว่าจะจัดสร้างที่จอดรถ ver3
พื้นที่สำหรับสร้างที่จอดรถบริเวณตรอกนางเลิ้ง 2

รู้จักสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ 

จากความกังวลของประชากรในย่านนางเลิ้งข้างต้น นิสิตนักศึกษา ได้ติดต่อขอสัมภาษณ์สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ที่ดูแลย่านนางเลิ้ง แต่ไม่สามารถสัมภาษณ์ได้ตามกำหนดเวลาปิดต้นฉบับ

ข้อมูลบนเว็บไซต์ของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ระบุว่า ภารกิจสำคัญของสำนักทรัพย์สินฯ คือ “การพัฒนาอย่างสมดุลและยั่งยืน 4 มิติ” ประกอบด้วย “มิติด้านเศรษฐกิจ” คือ คำนึงถึงความสมดุล ลดความเหลื่อมล้ำและสร้างประโยชน์ต่อสังคมส่วนรวม “มิติด้านสังคม” คือ พัฒนาเพื่อความมั่นคงโดยเน้นหลักคุณธรรม “มิติด้านสิ่งแวดล้อม” คือ เพิ่มพลังชีวิตแก่ชาวเมืองบนพื้นฐานการพัฒนาให้คนอยู่ร่วมกับธรรมชาติอย่างเกื้อกูล และ “มิติด้านวัฒนธรรม” คือ ทำนุบำรุงศาสนา รักษาและถ่ายทอดคุณค่าความเป็นไทยจากรุ่นสู่รุ่น ตลอดจนดูแลอาคารอนุรักษ์เพื่อรักษาประจักษ์พยานแห่งหน้าประวัติศาสตร์ไว้ให้คงอยู่เคียงคู่การพัฒนามหานคร

 

%d bloggers like this: