Community

ส่วนร่วมภาคประชาชน ฟันเฟืองที่หายไปในก้าวที่ยิ่งใหญ่ของภาคตะวันออก

ท่ามกลางการดำเนินไปของแผนการพัฒนาที่ภาครัฐและเอกชนหวังจะทำให้ภาคตะวันออกของประเทศไทยกลายเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ ที่เน้นการลงทุนจากต่างชาติในอุตสาหกรรมเป้าหมายอย่างยานยนต์และอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ ทุกย่างก้าวของโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC ที่เกิดขึ้นภายใต้พระราชบัญญัติเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก พ.ศ. 2561 หรือ พรบ. EEC จึงมีคณะกรรมการนโยบายพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือคณะกรรมการ EEC คอยกำกับและอนุมัติเห็นชอบตลอดโครงการ

คณะกรรมการฯ ที่ส่วนใหญ่เข้ามาด้วยตำแหน่งทางการเมืองและระบบราชการ ประกอบด้วยนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน รองนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีกระทรวงที่เกี่ยวข้อง สภาหอการค้า สภาอุตสาหกรรม และผู้ทรงคุณวุฒิ อาทิ นักวิชาการ อาจารย์ ซึ่งถูกสรรหาโดยภาครัฐ ใช้เวลาเพียง 120 วันในการพิจารณาโครงการ ทั้งยังมีอำนาจตัดสินใจในประเด็นต่างๆ เกี่ยวกับโครงการอย่างเบ็ดเสร็จ สิ่งที่ขาดหายไปในกระบวนการดำเนินโครงการพัฒนาเศรษฐกิจขนาดใหญ่อย่าง EEC คือเสียงจากภาคประชาชนว่าคิดเห็นอย่างไรต่อโครงการที่จะมาเปลี่ยนชีวิตของเขาในระยะเวลาอันใกล้

สุภาภรณ์ มาลัยลอย ผู้จัดการมูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม (EnLaw) กล่าวว่า ปัญหาหลักของ พ.ร.บ. EEC คือการยกเว้นอำนาจตามกฎหมายของของกฎหมายอีกหลายฉบับ และนำอำนาจการตัดสินใจในเชิงกระบวนการอนุมัติ อนุญาต และการออกระเบียบกฎเกณฑ์เกี่ยวกับการอนุมัติ อนุญาตใหม่ให้แก่คณะกรรมการ EEC ซึ่งโดยทั่วไปกฎหมายไม่สามารถให้อำนาจระดับนี้แก่กลุ่มคณะบุคคลได้ เนื่องจากเป็นโครงการที่ก่อให้เกิดความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ซึ่งต้องการการมีส่วนร่วมจากภาคประชาชน

SUKANYA ENLAW.jpg
สุภาภรณ์ มาลัยลอย ผู้จัดการมูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม (EnLaw)

เมื่อมีการรวบอำนาจตัดสินใจแบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาดอยู่ที่คณะกรรมการชุดใดชุดหนึ่ง โดยไม่ผ่านกระบวนการมีส่วนร่วมและแสดงความคิดเห็นจากภาคประชาชน ผลกระทบหลายๆ ด้านที่จะเกิดขึ้นต่อประชาชนในพื้นที่ที่จะเกิดโครงการพัฒนาจึงแทบไม่ได้รับการพูดถึง

“ในทางกฎหมายปกติ เช่น ในกรณีการสร้างโรงไฟฟ้า จะต้องมีกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนโดยถูกกำกับจากคณะกรรมการกำกับกิจกรรมพลังงาน แต่ พ.ร.บ. EEC ฉบับนี้ หากพบเหตุใดที่ทำให้กระบวนการพัฒนาเป็นปัญหาหรือล่าช้า คณะกรรมการ EEC  มีสิทธิเสนอให้แก้ไขและปรับปรุงระเบียบเพื่อให้กระบวนการนั้นดำเนินไปได้ ต่างจากกิจกรรมลักษณะเดียวกันในโครงการอื่นๆ ที่การเซ็นใบอนุญาตต้องให้คณะกรรมการกำกับกิจกรรมพลังงานเซ็นอนุญาตก่อน” สุภาภรณ์ยกตัวอย่าง

ผู้จัดการ EnLaw ยังวิเคราะห์ว่า เนื่องจากรัฐบาล คสช. มีที่มาจากการรัฐประหาร ซึ่งหลายฝ่ายมองว่าไม่เป็นไปตามหลักการประชาธิปไตย รัฐบาลจึงพยายามผลักดันเศรษฐกิจประเทศเพื่อให้ได้รับการยอมรับจากประชาชน ประกอบกับพื้นที่ภาคตะวันออกนั้นเดิมเป็นพื้นที่ที่เอื้ออำนวยต่อการทำกิจกรรมพื้นฐานทางเศรษฐกิจ อาทิ การเชื่อมต่อคมนาคม การเชื่อมต่อเทคโนโลยี การใช้น้ำในภาคอุตสาหกรรม จึงง่ายต่อการดำเนินนโยบายต่อยอดทางเศรษฐกิจและถูกเลือกให้เป็นพื้นที่สำหรับโครงการขนาดใหญ่อย่าง EEC

หากแต่สุภาภรณ์เห็นว่า ในการพัฒนาเขตเศรษฐกิจดังกล่าวนั้น ภาครัฐไม่สามารถมองแค่การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานได้ เนื่องจากพื้นที่ภาคตะวันออกเองยังคงประสบปัญหาด้านชุมชนและสิ่งแวดล้อมอยู่ และการพัฒนานี้ก็อาจเพิ่มประเด็นปัญหาจากที่มีอยู่เดิมให้มากขึ้นไปอีก

สุภาภรณ์มองว่า ผลกระทบจาก EEC นั้นเริ่มตั้งแต่เมื่อ พ.ร.บ. EEC ผ่านการอนุมัติ สิ่งแรกคือการปั่นราคาที่ดินให้สูงขึ้น เนื่องจากนายทุนพร้อมจะเข้ามาเช่า-ซื้อเพื่อประกอบกิจการ ส่วนกลุ่มคนรายได้ต่ำในพื้นที่ไม่สามารถเข้าถึงที่ดินได้ แต่เดิมประชาชนกลุ่มนี้อาจเคยเช่าพื้นที่เพื่ออยู่อาศัยหรือทำกิน บางรายอยู่ในที่ดินที่ถูกจัดสรรโดยรัฐ แต่เมื่อพรบ.ฉบับนี้ผ่าน รัฐอาจเวนคืนที่ดินส่วนนั้นหรือบางส่วนเพื่อไปตอบสนองนโยบาย EEC ได้

ส่วนผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมนั้น สุภาภรณ์คาดการณ์ว่า ปัจจัยสำคัญในการก่อตั้งเขตอุตสาหกรรม คือ ที่ดินและการคมนาคม เมื่อที่ดินถูกเปลี่ยนเป็นโรงงานอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ หรือถูกปรับไปเป็นเส้นทางคมนาคมอย่างรถไฟรางคู่หรือทางหลวงพิเศษ​ (มอเตอร์เวย์) ย่อมเกิดผลกระทบตั้งแต่กระบวนการสร้างไปจนถึงภายหลังการสร้างต่อทรัพยากรธรรมชาติอย่างน้ำ อากาศ และระบบนิเวศ อาทิ น้ำแล้ง มลพิษทางอากาศ สัตว์ป่าอพยพออกถิ่นอาศัย เป็นต้น ปัจจุบันพื้นที่ภาคตะวันออกยังคงมีปัญหามลพิษอยู่เป็นทุนเดิม ขณะที่แผนการพัฒนา EEC เองก็ไม่ได้ปรากฏนโยบายหรือแนวทางในการประเมินผลกระทบทางสุขภาพและสิ่งแวดล้อมชุมชนที่ชัดเจน

EEC Watch หนึ่งกระบอกเสียงจากประชาชนถึง EEC

ระหว่างกระบวนการร่างพ.ร.บ. EEC ภาคประชาชนและประชาสังคมได้รวมตัวกันเป็นกลุ่มศึกษาการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC Watch) เพื่อผลักดันให้เกิดการมีส่วนร่วมจากภาคประชาชนในการดำเนินโครงการ EEC กัญจน์ ทัตติยกุล ผู้ประสานงาน EEC Watch กล่าวว่า ด้วยการเข้ามาอย่างรวดเร็วของโครงการ EEC โดยเฉพาะการลงทุนด้านอุตสาหกรรม เครือข่ายจึงจำเป็นต้องให้ข้อมูลเกี่ยวกับผลกระทบแก่ประชาชนในพื้นที่ รวมถึง รวบรวมข้อห่วงกังวลของชาวชุมชนต่อโครงการ EEC สะท้อนกลับไปยังภาครัฐและสู่สาธารณะ ด้วยหวังว่าภาครัฐจะจะนำไปสู่ทิศทางในการทบทวนหรือแก้ไขนโยบายในอนาคตที่อาจริดรอนสิทธิของประชาชนในพื้นที่โครงการ

GUN EEC Watch.jpg
กัญจน์ ทัตติยกุล ผู้ประสานงาน EEC Watch

กัญจน์ยังกล่าวว่า เมื่อกระบวนการมีส่วนร่วมที่ภาครัฐจัดให้อย่างเวทีรับฟังความคิดเห็น ก็ไม่ได้เปิดโอกาสให้ประชาชนได้เข้าไปเสนอความเห็นมากนัก หน่วยงานอย่าง EEC Watch จึงต้องเป็นกระบอกเสียงในการสื่อสารข้อเสนอจากชุมชนและภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ให้ไปถึงภาครัฐ

แม้ EEC Watch จะเป็นพื้นที่หนึ่งในการช่วยสื่อสารข้อมูลเกี่ยวกับโครงการ EEC ระหว่างภาครัฐกับประชาชน แต่กัญจน์เล่าว่า ในช่วงแรกของการร่างพ.ร.บ. EEC ภาคประชาชนไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลจากภาครัฐได้เนื่องจากพบว่ามีการปิดกั้นข้อมูล เครือข่ายจึงต้องดำเนินการตามพรบ.ข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. 2540 เพื่อขอเข้าถึงข้อมูลของภาครัฐที่เกี่ยวข้อง แต่ซึ่งกว่ากระบวนการอุทธรณ์จะสำเร็จ พ.ร.บ. EEC ก็ได้ประกาศบังคับใช้มาก่อนแล้ว

กัญจน์กล่าวถึงความสำคัญของการมีส่วนร่วมจากภาคประชาชนต่อว่า โครงการ EEC นั้นมีโอกาสที่จะทำให้ดีได้ เนื่องด้วยเทคโนโลยีการสื่อสารถึงชุมชนที่ง่ายขึ้น รัฐมีสื่อ มีงบประมาณ แต่หัวใจสำคัญคือภาครัฐควรรับฟังความคิดเห็นจากทุกส่วน ซึ่งไม่ใช่แค่ชุมชน แต่รวมถึงภาควิชาการ และภาคเอกชนกลุ่มต่างๆ มาประกอบกัน

เขายังตั้งข้อสังเกตว่า ภาครัฐยังติดในกรอบคิดเดิมคือ ต้องลงทุนโครงการใหญ่ๆ เพื่อให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมและตัวเลขการลงทุนของประเทศเติบโตด้วยภาคอุตสาหกรรมเป็นหลัก แต่ในความเป็นจริง ประเทศยังมีปัญหาอื่นๆ ที่ใหญ่กว่าด้านเศรษฐกิจ ภาครัฐจึงควรมองการพัฒนาแบบครบมิติมากขึ้น ได้แก่ คุณภาพชีวิต การดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม และเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน

“ในแง่ของที่อยู่อาศัย การจะตั้งเมืองน่าอยู่ เมืองใหม่ ไม่ควรมองความสำคัญของเมืองดั้งเดิมเลย หรือถ้าในแง่อุตสาหกรรม ก็ควรจะเป็นอุตสาหกรรมที่จะต่อยอดศักยภาพและผลผลิตในพื้นที่ เรามีพืชผลการเกษตรที่สามารถต่อยอดไปได้ เป็นอุตสาหกรรมขนาดย่อมที่ไม่ต้องใช้พื้นที่หรือลงทุนสูง ได้ต่อยอดสิ่งที่มีอยู่ ยกระดับภาคเกษตรกรรม แต่หน่วยงานที่ดูแลยังไม่ค่อยได้คิดเรื่องนี้ จึงจำเป็นต้องใช้การมีส่วนร่วมจากประชาชนเข้ามาเติมเต็มให้การพัฒนาสมดุลขึ้น” กัญจน์เสริม

วิถีประชาธิปไตย แนวทางหลักในการทวงสิทธิการมีส่วนร่วม

ในวันนี้ที่พรบ. EEC ถูกบังคับใช้แล้ว สุภาภรณ์ ผู้จัดการ EnLaw เห็นว่าการแก้ไขหรือยกเลิกโครงการเป็นไปได้ยากเพราะการแก้ไขกฎหมายจำเป็นต้องใช้อำนาจรัฐ เธอจึงเพียงหวังว่าจะมีการเลือกตั้งโดยเร็ว เพื่อที่รัฐบาลชุดต่อไปจะกลับมาทบทวนแนวทางและนโยบายการพัฒนา ที่จะนำไปสู่การปรับแก้หรือยกเลิกกฎหมายที่ละเมิดสิทธิชุมชนฉบับนี้ออกไป แล้วกลับมาให้ความสำคัญกับการพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งเห็นความสำคัญของคน สิทธิชุมชน ทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมที่มากขึ้น รวมไปถึงมองการพัฒนาที่สอดคล้องกับศักยภาพในพื้นที่ ให้คนส่วนใหญ่มีงานและสามารถพึ่งพาตนเองได้

“การพัฒนาไม่ว่าจะเป็นในแง่ใดก็จำเป็นต้องใช้ทรัพยากรเหมือนกัน แต่อุตสาหกรรมใช้ทรัพยากรเยอะมาก พื้นที่เยอะ อาจก่อผลกระทบจำนวนเยอะ ต้องทบทวนว่าการพัฒนาแบบนี้จะไปทำลายในอีกหลายมิติ ทั้งภาคแรงงาน และเกษตรกรรม ถ้าคนมีงานทำ สวัสดิการดี ชีวิตที่ดี ประเทศก็มั่นคง แต่ถ้าไม่มองส่วนนี้ ต่อให้ GDP ดี แต่เราเห็นคนตกงาน ไม่มีที่ทำกิน คนยากจนเพิ่มมากขึ้น ไม่สามารถเรียกว่าความมั่นคงได้” สุภาภรณ์กล่าว

ท้ายที่สุดแล้ว สุภาภรณ์เห็นว่า การเลือกตั้งจะนำมาซึ่งอำนาจต่อรอง เสียงของประชาชนจะเข้าไปถ่วงดุล กำกับได้มากกว่ารัฐบาลที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง ที่จะเข้ามาแก้ไขรัฐธรรมนูญ ตรวจสอบคำสั่ง หรือประกาศที่ละเมิดสิทธิหรือขัดต่อหลักนิติรัฐ นิติธรรม ซึ่งกระบวนการนี้อาจใช้เวลามากกว่าวาระของรัฐบาลหนึ่งชุด

“ทุกอย่างต้องใช้เวลา เราไม่มีอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาด ความรวดเร็วไม่ใช่คำตอบในการมองหรือแก้ปัญหาระยะยาว อย่างเช่น เราสองสามคนคิดว่าสิ่งนี้ดีแล้วตัดสินใจทำไปเลย สิ่งที่เราทำเป็นนโยบายหรือกระทบคนหลายๆ คน แม้ว่ามันจะดี แต่คนที่เขาจะได้รับผลกระทบเขาไม่เข้าใจ มันก็อาจจะถูกทักท้วงหรือคัดค้านได้

แต่ถ้าเรามั่นใจว่าสิ่งที่คิดมามันดี ไม่ว่าจะนโยบายหรือกฎหมาย เราไปคุยกับคนที่จะต้องถูกบังคับใช้และได้ผลกระทบอย่างเข้าใจกัน แม้ว่าจะใช้เวลา แต่สิ่งเหล่านั้นจะผ่านไปราบรื่น” ผู้จัดการ EnLaw ย้ำ

 

ภาษาอังกฤษ: Public participation: the missing element in the EEC project.

%d bloggers like this: