Community

สุขภาพ สิ่งแวดล้อม: ตัวแปรที่ยังถูกมองข้ามในโครงการโรงไฟฟ้าเทพา

งานวิจัยของกรีนพีซเรื่อง “ต้นทุนชีวิต: โรงไฟฟ้าถ่านหินกับภัยคุกคามต่อสุขภาพของคนไทย” เมื่อปี 2558 ซึ่งนำผลการวิจัยของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด สหรัฐฯ ที่ศึกษาผลกระทบของโรงไฟฟ้าถ่านหินต่อสุขภาพของคนในอินโดนีเซียมาวิเคราะห์กับกรณีโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่และมาบตาพุด พบว่า โรงไฟฟ้าถ่านหินในประเทศไทยเป็นสาเหตุให้คนไทยเสียชีวิตประมาณ 1,550 คนต่อปี และอาจพุ่งสูงถึง 5,300 คนต่อปีหากยังมีโครงการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินต่อไป

งานวิจัยพบว่า โรงไฟฟ้าถ่านหินปล่อยสารพิษ ต่อไปนี้

PAGE22_TEPHA.jpg

รศ.ดร.เรณู เวชรัชต์พิมล ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร กล่าวว่า สารปรอทเป็นสารพิษที่ประชาชนเป็นห่วงมากที่สุด โดยยกตัวอย่างกรณีของสหรัฐอเมริกาที่ถึงแม้ไม่สามารถสั่งปิดโรงไฟฟ้าถ่านหินได้ แต่ก็มีมาตรการควบคุมสารปรอทและสารอื่นๆ โดยเน้นสารปรอทเป็นสำคัญ เพราะบางรัฐมีเด็กพิเศษมาก เป็นผลพวงมาจากการที่มารดาทานอาหารปนเปื้อนสารปรอทขณะตั้งครรภ์

“สารปรอทมันจะถูกเปลี่ยนไปเป็นเมทิลเมอร์คิวรี (สารพิษที่เกิดจากการทำปฏิกิริยาระหว่างแบคทีเรียกับสารปรอทในน้ำ ดิน และพืช) ที่เข้าสู่ห่วงโซ่อาหาร ไปสะสมอยู่ในปลา พอแม่ที่ตั้งท้องกินปลาที่มีสารปรอทเข้าไปจะไปถึงลูก แล้วมันไปทำลายเซลล์ประสาท ส่วนผู้ใหญ่ถ้ากินเข้าไปก็มีผลต่อเซลล์ประสาทเหมือนกัน” รศ.ดร.เรณู อธิบาย

ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม

รศ.ดร.เรณู เวชรัชต์พิมล ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร วิเคราะห์ว่า การสร้างและดำเนินการโรงไฟฟ้าเทพาอาจเกิดผลกระทบดังนี้ (ทำเป็นกล่อง 3 กล่องวางต่อกัน น้ำ อากาศ ทรัพยากรธรรมชาติ)

  1. น้ำ
  • การเผาไหม้ถ่านหินวันละประมาณ 22,000 ตันต่อวัน ทำให้เกิดขี้เถ้าถ่านหินกว่า 3,700 ตันต่อวัน ซึ่งมีสารที่เป็นพิษ อาทิ ซีลิเนียม ตะกั่ว สารหนู กัมมันตภาพรังสี แคดเมียม ปรอท เมื่อฝนตกหนัก หรือเกิดพายุต่อเนื่อง ก็มีโอกาสเกิดการอิ่มตัวของขี้เถ้าถ่านหิน ทำให้คันบ่อขี้เถ้าแตก และขี้เถ้ารั่วไหลจากบ่อลงสู่แหล่งน้ำธรรมชาติ อาทิ ทะเล บ่อน้ำใต้ดิน ดังที่พบที่สหรัฐฯ เมื่อปี 2551 ว่ามีขี้เถ้าถ่านหินกว่า 4,200,000 ลบ.ม ไหลลงสู่แม่น้ำอีโมรีและคลินซ์ ซึ่งเป็นลำน้ำไหลที่ลงแม่น้ำเทนเนสซี ทำให้พื้นที่ในบริเวณนั้นกว่า 0.3 ตร.กม. ปกคลุมด้วยขี้เถ้าถ่านหิน
  • การวิจัยประเมินผลกระทบของ Southern Environment Law Center สหรัฐฯ ปี 2555 พบว่า สารซิลีเนียมที่หลงเหลือในขี้เถ้าถ่านหินทำให้ปลาในทะเลสาบซุตตัน นิวยอร์ค กระดูกคด เป็นหมัน และเจริญเติบโตผิดปกติ อีกทั้งข้อค้นพบนี้ยังทำให้องค์กรพิทักษ์สิ่งแวดล้อมของสหรัฐฯ (EPA) ได้พิจารณาให้ขี้เถ้าถ่านหินเป็นวัตถุอันตราย เมื่อปี 2556
  • การสูบน้ำทะเลขึ้นมาใช้ในกระบวนการผลิตกระแสไฟฟ้าวันละเก้าล้านลบ.ม. ทำให้สัตว์น้ำในทะเลถูกสูบขึ้นมาผ่านกระบวนการทางเคมี มีแพลงก์ตอนตายวันละกว่า 8 แสนล้านตัว ทะเลเสื่อมโทรม และสิ่งมีชีวิตบางชนิดบริเวณปากแม่น้ำย้ายถิ่นอาศัย
  1. อากาศ
  • ในกระบวนการสร้างโรงไฟฟ้า การเคลื่อนย้ายของรถบรรทุกขนถ่านหินและอุปกรณ์ การถมปรับที่ดิน ขุดบ่อน้ำ บ่อเก็บขี้เถ้า ทำให้เกิดฝุ่นละออง PM-10 ก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ ไนโตรเจนไดออกไซด์ มลพิษทางเสียง รวมทั้งการสั่นสะเทือนในพื้นที่ก่อสร้าง กระทบพื้นที่สามกม. รอบโครงการ
  • ในกระบวนการผลิตกระแสไฟฟ้า มีการขนถ่ายถ่านหินทางเรืออย่างน้อย 100 เที่ยวต่อปี  รวมไปถึงใช้น้ำมันดีเซลเป็นเชื้อเพลิงเริ่มเดินระบบจึงต้องขนส่งน้ำมันดีเซลกว่า 4,000 ล.บ.ม.ต่อปี ด้วยรถบรรทุกจำนวน 90 เที่ยวต่อปี นพื้นที่สามกม.จากชายฝั่ง ทำให้เกิดการระเหยของน้ำมันดีเซล และการสะสมของตะกอนเลนสีดำในทะเลคล้ายในกรณีของโรงไฟฟ้า อ.มาบตาพุด จ.ระยอง
  • โรงงานมีการติดตั้งเครื่องดักจับสารปรอท (ACI) ตามมาตรฐาน แต่รายงาน EHIA ระบุว่า ระบบดักจับนี้จะไม่ได้ทำงานตลอดเวลา เนื่องจากข้อจำกัดด้านงบประมาณ ทำให้สารปรอทสามารถแพร่กระจายสู่อากาศและแหล่งน้ำในช่วงเวลาที่ไม่ได้เปิดเครื่องตรวจจับสารได้ ส่งผลให้เป็นพิษต่ออากาศและบริเวณใกล้เคียงในรัศมี 30 กม.
  • การเผาไหม้ถ่านหินบิทูมินัสปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ 2.15 ปอนด์ต่อกิโลวัตต์ชั่วโมง มากเป็นอันดับสองรองจากลิกไนต์ ทำให้พลังงานความร้อนสะสมบนผิวโลกและในบรรยากาศมากขึ้น อุณหภูมิโลกสูงขึ้น ซึ่งมีผลต่อภาวะเรือนกระจก
  1. ทรัพยากรธรรมชาติ
  • การสร้างโรงไฟฟ้าบนพื้นที่ป่าชายเลน ทำให้ป่าชายเลนซึ่งเป็นแหล่งอาหารและอนุบาลสัตว์น้ำหายไป จำนวนสิ่งมีชีวิตที่อาศัยอยู่บริเวณป่าชายเลนลดลง ระบบนิเวศขาดความอุดมสมบูรณ์
  • พื้นที่โครงการทั้งหมดอยู่ในเขตห้ามล่าสัตว์ป่าเขาปะช้าง-แหลมขาม และมีเคยมีผู้พบเห็นสัตว์น้ำทรัพยากรหายาก ได้แก่ โลมาเผือก สีชมพูและสีเทา ในน่านน้ำบริเวณนั้น การสร้างและดำเนินการโรงไฟฟ้าซึ่งมีกิจกรรมตลอดทั้งวันจะทำให้สัตว์เหล่านี้ต้องอพยพโยกย้าย ส่งผลต่อระบบนิเวศทางทะเลต่อไป
  • ด้วยคุณสมบัติของสารปรอทคือ สามารถตกค้างในระบบนิเวศและห่วงโซ่อาหารนานกว่าสองปี และแพร่กระจายในรัศมี 30 กม.จากพื้นที่โครงการ สารปรอทในขี้เก้าถ่านหินจึงสามารถแพร่กระจายไปในอากาศ ดิน และน้ำ เป็นพิษต่อสิ่งมีชีวิตที่อาศัยในพื้นที่ รวมไปถึงมนุษย์ที่บริโภคสิ่งมีชีวิตนั้นด้วย ส่งผลต่อระบบนิเวศในวงกว้างต่อไป
%d bloggers like this: