Community

เสียงชุมชนอยู่ตรงไหน…ในโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา

“นิสิตนักศึกษา” คุยกับ สุภาภรณ์ มาลัยลอย ผู้จัดการมูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม (EnLaw) ว่าโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ของรัฐมีขั้นตอนอย่างไรบ้าง โดยเฉพาะโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพาที่มีกำลังผลิต 2,200 เมกะวัตต์ ซึ่งถือเป็นโครงการขนาดใหญ่ ดังนั้น สุภาภรณ์จึงเห็นว่าการพิจารณาโครงการต้องมีขั้นตอนที่พิจารณาอย่างรอบคอบและเปิดให้ประชาชนในพื้นที่มีส่วนร่วมทุกขั้นตอน

นิสิตนักศึกษา คุยกับ สุภาภรณ์ มาลัยลอย ผู้จัดการมูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม (EnLaw) ว่าโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ของรัฐมีขั้นตอนอย่างไรบ้าง โดยเฉพาะโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพาที่มีกำลังผลิต 2,200 เมกะวัตต์ ซึ่งถือเป็นโครงการขนาดใหญ่ ดังนั้น สุภาภรณ์จึงเห็นว่าการพิจารณาโครงการต้องมีขั้นตอนที่พิจารณาอย่างรอบคอบและเปิดให้ประชาชนในพื้นที่มีส่วนร่วมทุกขั้นตอน

 

1. การกำหนดแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ (PDP)

เป็นแผนที่จะระบุว่าไฟฟ้าพอหรือไม่ หากไม่พอ จะสร้างโรงไฟฟ้าเพิ่มหรือไม่ สร้างเป็นโรงไฟฟ้าจากพลังงานอะไร ตลอดจนเลือกบริเวณที่จะสร้าง

การมีส่วนร่วมของชุมชน : ร่วมให้ข้อมูลประกอบการทำแผน PDP และเสนอแนะแนวทางการพัฒนาพลังงานของประเทศ

ข้อสังเกต : ประชาชนไม่ได้มีส่วนร่วมในการให้ข้อมูลหรือเสนอแนะในการจัดทำแผน ที่ผ่านมาแผน PDP กำหนดโดยส่วนกลาง ทำให้ชาวบ้านไม่ทราบว่าพื้นที่บ้านของตนอยู่ในแผนพัฒนานี้ด้วย โดยที่ตนยังไม่เคยได้ให้ข้อมูลในฐานะคนในพื้นที่เลย

 

2. การประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ (SEA)

เป็นการประเมินความเหมาะสมของพื้นที่โดยมองภาพรวมว่าหากมีโครงการเกิดขึ้นจะกระทบต่อระบบอะไรบ้าง เช่น กระทบต่อฐานทรัพยากรในพื้นที่ไปจนถึงระดับภูมิภาค

การมีส่วนร่วมของชุมชน : ระดมความคิดว่ามีผลกระทบต่อพื้นที่อย่างไร ตลอดจนเสนอแนวทางในการแก้ไข เช่น หากโจทย์คือไฟฟ้าไม่พอ แต่ละพื้นที่สามารถช่วยกันอย่างไรเพื่อให้ไฟฟ้าพอโดยเป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย

ข้อสังเกต : ก่อนรายงาน EHIA ฉบับปี 2560 จะถูกยกเลิก ยังไม่มีการศึกษา SEA เพราะไม่มีระบุไว้ในกฎหมายชัดเจนว่าต้องทำ และปัจจุบันแม้จะมี รวม.พลังงานจะเซ็นสัญญากับชาวบ้านกลุ่มคัดค้านโรงไฟฟ้าถ่านหินว่า จะทำรายงาน SEA โดยใช้เวลาเก้าเดือน แต่จากปากคำของชาวบ้านกลับพบว่า ชาวบ้านไม่ได้รับข้อมูลรายงานการประชุมของคณะกรรมการ SEA

3. เวทีประชาพิจารณ์ก่อนจัดทำรายงาน EHIA (ไม่ใช่เวที ค.)

หน่วยงานกลางเตรียมความพร้อมโดยการให้ความรู้คนในชุมชนก่อนจัดเวทีเพื่อรับฟังความคิดเห็นของแต่ละฝ่าย จากนั้นจึงนำข้อมูลมาประมวลและร่วมพูดคุยหาทางออกที่ยอมรับกันได้ทั้งฝ่ายสนับสนุนและฝ่ายต่อต้าน

การมีส่วนร่วมของชุมชน : แสดงความคิดเห็นอย่างเสรีในลักษณะที่ไม่ใช่การโต้วาที หากมีข้อกังวลก็หามาตรการร่วมกันอย่างสันติ อาจต้องจัดหลายครั้งหากมีประเด็นห่วงกังวลมาก และหาข้อสรุปร่วมกันทีละประเด็นโดยไม่จำกัดเวลาว่าจะต้องจัดเพียงประเด็นละวัน

ข้อสังเกต : ที่ผ่านมายังไม่มีการจัดเวทีลักษณะนี้ เพราะประเทศไทยไม่มีหน่วยงานกลางที่มีความพร้อมทั้งผู้เชี่ยวชาญ ทุน และเครื่องมือในการประมวลและติดตามผล

 

4. การประเมิน วิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม และสุขภาพ (EHIA)

ศึกษาและประเมินว่าหากโครงการสร้างขึ้นจะมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของคนในพื้นที่อย่างไร รวบรวมข้อห่วงกังวลของชุมชนแล้วจัดทำเป็นมาตรการที่ช่วยลดหรือป้องกันปัญหาได้

การมีส่วนร่วมของชุมชน : เข้าร่วมในเวทีแสดงความคิดเห็น (เวที ค.) ซึ่งจัดขึ้นสามครั้ง เวที ค.1 คือ แสดงความห่วงกังวลเรื่องผลกระทบจากโครงการ เวที ค.2 คือ จัดกลุ่ม (Focus Group) ตามความกังวลนั้นแล้วพูดคุยทีละกลุ่ม เพื่อหามาตรการที่เหมาะสม และเวที ค.3 คือ นำเล่มรายงานที่ค่อนข้างสมบูรณ์มาให้ชุมชนพิจารณาว่ายอมรับได้หรือไม่

ข้อสังเกต : ที่ผ่านมามักไม่มีการเตรียมความพร้อมชุมชนก่อนเข้าร่วมเวทีแสดงความคิดเห็น ไม่มีการให้ข้อมูลที่ชาวบ้านเข้าใจนอกเหนือจากการแจกเอกสาร จำนวนวันในการจัดเวทีน้อยเกินไป บางครั้งมีการแจกของให้ผู้เข้าร่วมในวันที่จัดเวที นำเจ้าหน้าที่มาล้อมบริเวณพื้นที่จัดเวที ชาวบ้านได้พูดข้อห่วงกังวลของตัวเองเพียงคนละไม่เกินห้านาทีซึ่งนับว่าน้อยมาก นอกจากนั้น ในเวที ค.2 ที่จัดกลุ่มคุยเรื่องมาตรการนั้น พบว่าไม่มีชาวบ้านที่คัดค้านโครงการได้เข้าไปอยู่ใน Focus Group เลย ทำให้การจัดทำรายงาน EHIA นี้มีข้อมูลไม่รอบด้าน

 

5. การพิจารณาโครงการของคณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (คชก.)

การมีส่วนร่วมของชุมชน : เมื่ออ่านรายงาน EHIA ที่เป็นเล่มระหว่างการพิจารณาของ คชก.  หากยังมีข้อห่วงกังวลก็สามารถทำหนังสือถึง คชก. ให้พิจารณาได้ หรือใช้สิทธิฟ้องร้องไปยังศาลปกครองเพื่อให้ยกเลิกรายงาน EHIA ฉบับนี้หากพบว่ามีข้อมูลเท็จหรือไม่ชอบธรรมในเล่มรายงานฉบับสมบูรณ์ที่ผ่านความเห็นชอบของ คชก. แล้ว

ข้อสังเกต : คชก. อ่านเพียงเอกสารที่เจ้าของโครงการและบริษัทที่ปรึกษาจัดทำไว้โดยไม่ได้ลงไปสำรวจพื้นที่จริง ทำให้หากข้อมูลตั้งต้นผิดก็อาจไม่ทราบได้ว่าผิดตรงไหน นอกจากนั้น ยังพบว่าเดิมที คชก. ปฏิเสธที่จะเผยแพร่รายงาน EHIA ฉบับระหว่างการพิจารณาต่อชาวบ้านผู้มีส่วนได้เสียในพื้นที่ เมื่อชาวบ้านยื่นอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการข้อมูลข่าวสาร จึงได้รับรายงานทั้งฉบับที่อยู่ระหว่างการพิจารณาและสมบูรณ์

 

6. การพิจารณาโครงการของคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (สผ.)

การมีส่วนร่วมของชุมชน : ยังสามารถทำหนังสือเข้าร้องเรียนได้

ข้อสังเกต : สผ. ไม่ได้ไปสำรวจและศึกษาพื้นที่ตั้งโครงการ ตลอดจนมีองค์ประกอบที่เป็นหน่วยงานรัฐเป็นส่วนใหญ่ ผู้เชี่ยวชาญที่เข้ามาร่วมพิจารณาก็มาจากการแต่งตั้งของหน่วยงานรัฐ ทำให้มีข้อกังขาเรื่องความเที่ยงธรรมในการพิจารณา นอกจากนั้น การทำหนังสือร้องเรียนโดยชาวบ้านอาจมีความหวังน้อยลง เนื่องจากก่อนหน้านี้ยังไม่เคยมีปรากฏการณ์ที่ สผ. จะชะลอโครงการจากการทักท้วงของชาวบ้าน

 

7. การพิจารณาอนุมัติโครงการของคณะรัฐมนตรี

การมีส่วนร่วมของชุมชน : ทำหนังสือถึงคณะรัฐมนตรีว่ายังมีข้อห่วงกังวลต่อโครงการอย่างไรบ้าง หรือยังมีข้อมูลส่วนไหนในรายงาน EHIA ที่ยังเป็นเท็จ

ข้อสังเกต : โดยปรกติ คณะรัฐมนตรีจะไม่ลงไปสำรวจและศึกษาพื้นที่เพื่อพิจารณาโครงการ ดังนั้นจะพิจารณาจากความเห็นของ คชก. และ สผ.

 

8. การสร้างโรงไฟฟ้า

การมีส่วนร่วมของชุมชน : หากพบว่ามีผลกระทบ มาตรการต่างๆ ไม่เป็นไปตามที่ระบุในรายงาน EHIA สามารถฟ้องต่อศาลปกครองเพื่อรับการเยียวยาชดเชยได้

ข้อสังเกต : การเข้าสู่กระบวนการฟ้องร้องต้องใช้ต้นทุนทั้งเงินและผู้เชี่ยวชาญด้านต่างๆ จำนวนมาก ขณะที่องค์กรขนาดใหญ่มีทรัพยากรทุนและบุคลากรพร้อม แต่ชาวบ้านไม่ได้มีความพร้อมในส่วนนี้ ทำให้ความเท่าเทียมในกระบวนการยุติธรรมอาจไม่มีจริง นอกจากนั้น การเยียวยาด้วยเงินอาจไม่สามารถชดเชยสิ่งที่ชาวบ้านเสียไปได้

 

“กระบวนการการมีส่วนร่วมยังมีปัญหาอย่างชัดเจน โดยเฉพาะเมื่อผู้รับผิดชอบโครงการเป็น กฟผ. ซึ่งเสมือนใช้อำนาจของรัฐบางส่วนในการดำเนินการด้วย ควรให้ความสำคัญกับกระบวนการการมีส่วนร่วมเพื่อเป็นตัวอย่างที่ดี

กรณีแม่เมาะที่เป็นของ กฟผ. ก็เป็นประเด็นที่ชุมชนได้ข่าวอยู่แล้วว่าเกิดปัญหา ถ้าคุณอยากจะสร้างความมั่นใจว่าโครงการจะไม่สร้างผลกระทบจริง คุณก็ต้องให้ความสำคัญในการคุยกับพี่น้อง ต้องทำความเข้าใจ ต้องให้ข้อมูล ต้องคุยกันให้สิ้นสงสัยแล้วค่อยเดินหน้าต่อ” สุภาภรณ์ มาลัยลอย ผู้จัดการมูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อมกล่าว

 

 

 

 

%d bloggers like this: