Community

ตอบทุกข้อสงสัย จากใจ กฟผ.

ฟังคำตอบเรื่องโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพาจากปาก ว่าที่ พ.ต.อนุชาต ปาลกะวงศ์ ณ อยุธยา

ร่วมถกทุกข้อสงสัย ตั้งแต่ที่มาที่ไป จนถึงชาวบ้านจะได้อะไร และอนาคตของโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพาจะเป็นอย่างไร กับ ว่าที่ พ.ต.อนุชาต ปาลกะวงศ์ ณ อยุธยา ผู้ช่วยผู้ว่าการชุมชนสัมพันธ์และสิ่งแวดล้อมโครงการ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย

ถาม: ทำไมต้องสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินที่เทพา?

ตอบ:  ถ้าไม่สร้างโรงไฟฟ้าแล้วในอนาคตมีความเจริญจะทำอย่างไร โรงไฟฟ้าใช้เวลาก่อสร้าง 8 ปี จึงต้องคิดล่วงหน้า เราต้องคิดความเสี่ยงว่าโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่หนึ่งโรงอาจเกิดขัดข้องโดยฉุกเฉิน เราจึงต้องมีไฟฟ้าสำรอง เราเลือกถ่านหินเพราะว่ามีราคาถูก มีสำรองอยู่เยอะประมาณ 200 ปี และมีเทคโนโลยีที่กำจัดมลสาร ดีกว่าเกณฑ์มาตรฐานที่กฎหมายกำหนด เดินเครื่องได้ตลอด 24 ชั่วโมงในการแก้ปัญหาเรื่องความมั่นคง

ถาม: กฟผ. เตรียมดูแลผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นจากการก่อสร้างและการดำเนินงานโรงไฟฟ้าถ่านหินอย่างไร?

ตอบ: การสร้างโรงไฟฟ้าต้องเกิดผลกระทบ แต่ทำอย่างไรให้มันเกิดน้อยที่สุด การไฟฟ้าฯ จึงเลือกเทคโนโลยีที่ทันสมัยที่มีในโลกนี้ เรียกว่า เทคโนโลยีถ่านหินสะอาด 

เราเลือกถ่านหินซับบิทูมินัส และเลือกสเปคให้มีโลหะหนัก ตะกั่ว สารหนู แคดเมียม ปรอทให้อยู่ในปริมาณน้อย ซึ่งเราควบคุมได้ แล้วใส่ระบบกำจัด เรือที่เอามาเป็นระบบปิด ระวางจะเปิดต่อเมื่อเรือมาถึงท่า เวลาดูดถ่านจะใช้ระบบสกรูที่ดีที่สุดในโลกเข้าสู่สายพานลำเลียง ต้นทางเป็นก้อนขนาดห้าถึงสิบเซนติเมตรจะมีการสเปรย์เพื่อแว็กซ์ถ่านไม่ให้มันมีฝุ่น ไม่มีอะไรลงทะเล

ถาม: กฟผ. เตรียมดูแลผลกระทบด้านสุขภาพที่จะเกิดกับชาวบ้านอย่างไร?

ตอบ: ต้องมองเรื่องความเสี่ยงกับโอกาสที่เกิด สมมติคุณอยู่ใกล้โรงไฟฟ้าตลอดอายุ 30 ปีของโรงไฟฟ้า แล้วคุณรับมลสารเข้าไป มันจะเกิดผลกระทบไหม เขามีการคำนวณจากการกินกับการหายใจ ดูทั้งห่วงโซ่อาหาร ดูผลกระทบเกี่ยวกับโรคทางเดินหายใจหรือโรคมะเร็ง ถ้าต่ำกว่าหนึ่งถือเป็นความเสี่ยงที่ยอมรับได้

ถาม: กฟผ. สนับสนุนชาวบ้านในพื้นที่เรื่องอาชีพและการจ้างงานอย่างไร?

ตอบ: ประมงเขายังทำได้เหมือนเดิม แต่ถ้าคนอยากทำอย่างอื่นก็ส่งเสริมอาชีพให้เขา เราส่งเสริมการจ้างงานในพื้นที่ ถ้าต่ำกว่าปริญญาตรี เราจ้าง 100 เปอร์เซ็นต์ ถ้าปริญญาตรีเรารับแยก เรียกว่าอัตราท้องถิ่น คือไม่ต้องไปแข่งกับคนกรุงเทพฯ

ในหลักการคือทำให้คุณภาพชีวิตเขาไม่แย่ไปกว่าเดิม ดูว่าเขามีอาชีพและรายได้เท่าไหร่ มีแผนงานไม่ให้รายได้เขาลดลง เราต้องมีการการันตีรายได้ไม่น้อยไปกว่าเดิม

ถาม: กฟผ. สนับสนุนให้มีการพัฒนาชุมชนอย่างไร?

ตอบ: เราเป็นโครงการขนาดใหญ่ของรัฐ กว่าแสนล้านจะไปกระตุ้นเศรษฐกิจทุกภาค และเป็นการตรึงพื้นที่เพราะเอาความเจริญไปใส่ มีกองทุนพัฒนาไฟฟ้าแบ่งเป็นสองส่วน เป็นการก่อสร้าง 5 หมื่นบาทต่อเมกะวัตต์ ได้ 100 ล้านบาทต่อปี และได้จากการผลิตสองสตางค์ต่อหน่วย เงินหนึ่งหมื่นล้านตกอยู่กับชุมชนและใกล้เคียง

เงินกองทุนพัฒนาชุมชนรอบโรงไฟฟ้า กฟผ. ไม่ใช่รับหน้าที่พัฒนาโรงพยาบาล แต่โรงพยาบาลต้องคิดว่าจะเอาเงินกองทุนจาก กฟผ. ไปพัฒนาอะไร ถนน โรงพยาบาล โรงเรียน ให้คนในอำเภอเทพามีสิทธิ์เรียนจบวิศวะ ถ้า กฟผ.ต้องเป็นคนบอกทุกอย่างก็ไม่ใช่ คุณต้องคิดจากตัวคุณเอง ต้องเริ่มจากคุณ ไปรวมกลุ่มกัน มันถึงจะเดินหน้าได้ ไม่งั้นเราไปบอกแผนทุกอย่างก็ไม่ใช่

ถาม: กฟผ. จะช่วยเหลือชาวบ้านที่ต้องย้ายออกจากพื้นที่สร้างโรงไฟฟ้าอย่างไร?

ตอบ: ต้องได้บ้านแบบเดิมโดยไม่คิดราคาเสื่อม ไปสร้างที่ไหนก็ได้เท่าราคาบ้านเดิม ส่วนการเกษตรจะแยกเป็นราคาที่ดินกับราคาต้นไม้ ถ้าคุณอยากได้เงินทั้งหมดก็ได้ไป ส่วนมัสยิดและโรงเรียนจะมีการสร้างใหม่ ใหญ่กว่าเดิมดีกว่าเดิม

ถาม: กฟผ. จะมีเวทีพูดคุยสำหรับทั้งคนต่อต้านและสนับสนุนโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินในอนาคตหรือไม่?

ตอบ: ผมเห็นด้วยกับเวทีแบบตกลงรอมชอม ความเป็นไปได้อยู่ที่คนกลางจัด ฝ่ายความมั่นคงจัดให้คนมาคุยกันว่าประเด็นมันอยู่ตรงไหน ทางออกในการแก้ปัญหาที่ดีที่สุดคือการคุยกัน คนกลางที่ทำหน้าที่นี้ ผมว่าต้องเป็นรัฐ สิ่งแวดล้อมน่าจะมาเป็นคนกลาง เราไม่พูดถึงจำนวน คุณเลือกประเด็นมา แล้วมาคุยกัน สผ. (สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม) ทำไมให้ผ่าน ต้องดูมาตรฐาน ต้องพูดด้วยวิชาการและต้องไม่วน คุยวันละสองสามประเด็นให้ตกผลึก ทุกอย่างต้องหันมาพูดคุยกัน

ถาม: ชาวบ้านจะเชื่อมั่นศักยภาพการสร้างโรงไฟฟ้าและการควบคุมผลกระทบด้านต่างๆ ของกฟผ. ได้อย่างไร?

ตอบ: เราบอกสเปค เรามีการทดสอบฝุ่นได้ร้อยละ 99.9 แล้วเราก็ทดสอบที่ปากปล่องว่ากำจัดได้เต็มที่ไหม ซึ่งก็ได้อยู่แล้ว เชื่อมั่น เราอยากทำประโยชน์ให้ประเทศ ทำอย่างไรก็ตามที่มันไปด้วยกันได้ ให้การอนุรักษ์และการพัฒนามันไปด้วยกันได้

%d bloggers like this: