Interview Top Stories

ต้าร์ ณภัทร : จากเด็กขี้อายที่อยากผจญภัยสู่เส้นทางช่างภาพอนุรักษ์พะยูน

“ถ่ายภาพพะยูนไทยจากใต้น้ำ” คือ เป้าหมายที่ท้าทายที่สุดสำหรับ ต้าร์ ณภัทร เวชชศาสตร์ นิสิตเอกภาพยนตร์และภาพนิ่ง คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สำหรับการทำผลงานชิ้นสุดท้ายในฐานะนิสิต แรกเริ่มอาจจะเป็นเพราะความอยากผจญภัย แต่สุดท้ายบทเรียนที่ทั้งหวานและขมมีอะไรมากมายกว่าที่คิด

“ถ่ายภาพพะยูนไทยจากใต้น้ำ” คือ เป้าหมายที่ท้าทายที่สุดสำหรับ ต้าร์ ณภัทร เวชชศาสตร์ นิสิตเอกภาพยนตร์และภาพนิ่ง คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สำหรับการทำผลงานชิ้นสุดท้ายในฐานะนิสิต แรกเริ่มอาจจะเป็นเพราะความอยากผจญภัย แต่สุดท้ายบทเรียนที่ทั้งหวานและขมมีอะไรมากมายกว่าที่คิด

36729728_10210567298373075_6326958826733961216_n
ภาพการทำงานระหว่างนักอนุรักษ์รุ่นเยาว์และต้าร์

ต้าร์เล่าให้ นิสิตนักศึกษา ฟังว่าเริ่มสนใจการถ่ายภาพตั้งแต่ ม.3 จากการที่ได้เห็นเพื่อนๆ ถ่ายรูปให้กัน และอิจฉาที่เหล่าตากล้องสามารถเข้าถึงใครๆ ได้ง่ายขึ้น เหมือนกับได้ใช้กล้องเป็นข้ออ้างในการเข้าหาคนอื่นๆ อย่างที่คนขี้อาย (ที่ต้าร์บอกว่าตัวเองเป็น) ไม่กล้าทำ หลังจากนั้นเขาก็ไม่ได้ไปสนใจอย่างอื่นอีกเลย เพราะหลงเสน่ห์ของการถ่ายรูปตลอดมา

“เราโชคดีที่มีพี่ชายเป็นช่างภาพ เราได้กล้องมาจากเขา แล้วเราก็เริ่มต้นถ่ายภาพ เริ่มจากถ่ายรูปเพื่อนและครอบครัว เราเอากล้องติดตัวไปทุกที่ เจออะไรเราก็ได้ถ่าย แล้วต่อมาเราก็ชอบดูรูปในหนังสือท่องเที่ยวหนังสือสารคดี อย่าง National Geographic แบบนี้ จนเราอยากเรียนรู้เกี่ยวกับมัน เราศึกษาแล้วเราก็ยิ่งอิน เลยตัดสินใจว่าจะเรียนทางด้านนี้ เลยเลือกเข้านิเทศ” ต้าร์เล่า

ตลอด 4 ปีที่ผ่านมาในมหาวิทยาลัย สิ่งที่ได้เรียนรู้จากการถ่ายภาพมากที่สุดและเป็นสิ่งที่นิเทศ จุฬาฯ พร่ำสอนก็คือ “การถ่ายภาพสามารถเป็นได้มากกว่าความสวยงาม แต่สามารถทำประโยชน์ให้กับสังคมได้ด้วย”

“การถ่ายภาพสามารถเป็นได้มากกว่าความสวยงาม แต่สามารถทำประโยชน์ให้กับสังคมได้ด้วย”

นอกจากการถ่ายภาพเพื่อเล่าเรื่องให้ไปถึงหลายภาคส่วนของสังคม อีกสาเหตุที่ทำให้ต้าร์เลือกประเด็นเกี่ยวกับธรรมชาติก็คือ ความฝันในการผจญภัยของเด็กที่ดูงานภาพสารคดีมามากมายและเคยร้องว้าวกับผลงานที่ชวนให้สงสัยว่าต้องผจญอะไรมาบ้างถึงจะได้ภาพเหล่านี้มา

36743650_10210567298533079_5175601411777363968_n
ระหว่างการรอถ่ายภาพพะยูนบริเวณเกาะลิบง จังหวัดตรัง

เมื่อสองสาเหตุนี้รวมเข้ากับอิสระของโจทย์ในการทำงาน “กางจอ” (ผลงานปริญญานิพนธ์ของนิสิตเอกภาพยนตร์และภาพนิ่ง คณะนิเทศศาสตร์) ที่ให้นิสิตเลือกทำงานในด้านใดก็ได้ที่ตัวเองสนใจ ต้าร์จึงปักหมุดเลือกงานด้านสิ่งแวดล้อมเพื่อให้งานเล็กๆ จากนิสิตคนหนึ่งในส่งแรงกระเพื่อมไปยังสังคม

ส่วนเรื่องที่ว่าทำไมต้องเป็นพะยูนไทย ต้าร์เล่าว่า ส่วนหนึ่งเพราะพะยูนไทยกำลังเข้าสู่ภาวะวิกฤตขึ้นทุกที เนื่องจากจำนวนที่ลดลงอย่างต่อเนื่องทุกปีๆ ปัญหาที่หนักหนาที่สุดที่ยังแก้ไม่ได้สำหรับปัญหาพะยูนบริเวณเกาะลิบง จังหวัดตรัง คืออุตสาหกรรมท่องเที่ยวและอุตสาหกรรมประมงลักลอบล่าพะยูนเพื่อการบริโภคและหรือนำชิ้นส่วนมาบูชา สำหรับกรณีแรก เมื่อปีก่อนมีเรือท่องเที่ยวออกไปดูพะยูนแค่ 3-4 วันต่อสัปดาห์เท่านั้น แต่มาปีนี้ บางวันเรือเข้ามาชมพะยูนบริเวณรอบเกาะลิบงเกิน 10 ลำ ทำให้พะยูนที่เป็นสัตว์กลัวคนอยู่แล้วหวาดกลัวและอาจจะย้ายที่ถิ่นฐานไปที่อื่นโดยที่มันอาจจะตาย ทุกวันนี้ชาวบ้านก็พยายามที่จะลาดตระเวนดูเรือลักลอบที่ยังเจออยู่เรื่อยๆ

สิ่งแวดล้อมไม่ใช่เรื่องของใครคนใดคนหนึ่ง แต่มันเป็นเรื่องของทุกคน ไม่จำเป็นที่เราจะต้องเรียกตัวเองว่า นักอนุรักษ์ เราเองก็ก็ไม่ใช่ช่างภาพอนุรักษ์ เราก็แค่ช่างภาพคนหนึ่ง แต่มันเป็นเรื่องของจิตสำนึกที่ทุกคนต้องมี เราต้องทำสิ่งที่เราทำได้

“วิกฤตพะยูนสะท้อนให้เราเห็นว่า คนที่มีอำนาจและเงินในประเทศนี้ไม่ได้สนใจเรื่องสิ่งแวดล้อมเลย วันนี้ทุกคนอาจจะรู้สึกว่ามันไม่เห็นส่งผลอะไรเลย แต่จริงๆ แล้วทุกอย่างเป็นวงจรของมัน สุดท้ายมันจะส่งผลถึงเราไม่ทางใดทางหนึ่งในที่สุด สิ่งแวดล้อมไม่ใช่เรื่องของใครคนใดคนหนึ่ง แต่มันเป็นเรื่องของทุกคน ไม่จำเป็นที่เราจะต้องเรียกตัวเองว่า นักอนุรักษ์ เราเองก็ก็ไม่ใช่ช่างภาพอนุรักษ์ เราก็แค่ช่างภาพคนหนึ่ง แต่มันเป็นเรื่องของจิตสำนึกที่ทุกคนต้องมี เราต้องทำสิ่งที่เราทำได้” ต้าร์บอก

04
ภาพจากการลงพื้นที่ของต้าร์  ณภัทร เวชชศาสตร์

เมื่อสนใจที่จะสื่อสารเรื่องนี้ ต้าร์ที่ไม่เคยรู้จักสนิทชิดเชื้อกับพะยูนมาก่อนจึงต้องทำการบ้านอย่างหนัก ผ่านการลงพื้นที่หลายสิบครั้งเพื่อให้เข้าใจสิ่งที่ทำ กว่าสิบครั้งต้าร์พบทั้งนักวิชาการ สัตวแพทย์ ชาวบ้าน นักอนุรักษ์ ติดตามลงพื้นที่และเก็บภาพเรื่องราวของพวกเขาเหล่านั้น เพื่อทำความเข้าใจพฤติกรรมของพะยูน ทำความเข้าใจกับผลกระทบที่เกิดขึ้นกับพะยูน รวมถึงทำความเข้าใจคนอนุรักษ์เพื่อให้เข้าใจอย่างถ่องแท้และสามารถเล่าเรื่องในแบบของสารคดีได้ถูกต้อง

หลังความพยายามหลายเดือนในการลงพื้นที่ ต้าร์ก็ได้เจอพะยูนตัวเป็นๆ ในระยะใกล้ครั้งแรก “ครั้งนั้นเป็นครั้งที่สามที่เราลงพื้นที่ ไปกับทีมศึกษาวิจัยเสียงของพะยูนที่มาจากญี่ปุ่น ตอนนั้นพะยูนว่ายมาใกล้เรือมากห่างจากเรือไม่เกิน 5 เมตร มันตัวใหญ่มากๆ จริงๆ ถ้าเรามีกล้องใต้น้ำ เราคงได้ถ่ายไปแล้ว ตอนนั้นเสียดายมากๆ ที่ไม่ได้เอากล้องไป แต่ก็ทำให้เราได้เข้าใกล้มันอีกก้าวหนึ่ง” ต้าร์เล่า

ความท้าทายของงานถ่ายภาพพะยูนใต้น้ำครั้งนี้เกิดจากการวางช็อตที่ต้องการของต้าร์และทีมงานที่ไม่ได้ต้องการแค่ภาพพะยูนจากบนเขา บนเรือ หรือบนเครื่องบิน เพราะต้าร์บอกว่า มันไม่ได้ยากขนาดนั้น เพราะพะยูนไทยมีหลักแหล่งอาหารและเวลาหากินแน่นอน และหญ้าทะเลจำนวนมากอยู่บริเวณเกาะลิบง ทำให้โอกาสที่จะเจอพะยูนและสามารถจับภาพได้อยู่ที่ประมาณ 70 เปอร์เซ็นต์ สำหรับต้าร์ เขาอยากลองสิ่งที่ยากและท้าทายกว่า เชื่อว่ายังไม่มีใครทำได้ และหวังว่าในแง่การเล่าเรื่องสารคดี การเห็นพะยูนอย่างใกล้ชิดในแบบที่เป็นธรรมชาติที่สุดจะสามารถสื่อสารคุณค่าของพะยูนออกไปได้คือ “การจับภาพพะยูนไทยจากใต้น้ำ”

01
ภาพพะยูนในน่านน้ำไทยที่ถ่ายจากเครื่องบินฝีมือของต้าร์ ณภัทร เวชชศาสตร์

“เพราะพฤติกรรมของพะยูนไทย ปัจจุบันกลัวคนมากๆ ถ้าย้อนกลับไปเมื่อ 50-60 ปีก่อนที่พะยูนมันยังอยู่กันเป็นฝูง 500-600 ตัวมันยังเชื่องกว่าตอนนี้ แต่พอมันมีความเจริญเข้ามาทั้งเรือท่องเที่ยวและเรือประมงลักลอบ ทำให้มันลดน้อยลงและไม่เชื่องกับมนุษย์อีกต่อไป ทันทีที่พะยูนรู้สึกถึงคุณเมื่อไร มันจะหนีทันทีด้วยความเร็วที่มากกว่าเรือหางยาวซะอีก” ต้าร์บอก

นี่คือ “ช็อตที่อยากได้ที่สุดจากในชีวิตนี้” ตั้งแต่เริ่มถ่ายรูปมา

ต้าร์ยอมใช้เวลากว่าปีในการศึกษาเกี่ยวกับพะยูน ใช้เงินที่สะสมมาเป็นค่าอุปกรณ์ไปหลายแสน ใช้เวลาหลายเดือนแปลงร่างตัวเองจากนักว่ายน้ำไปเรียนดำน้ำ และใช้ความพยายามทั้งหมด 12 ครั้ง ภายในหนึ่งเดือนกับการดำน้ำเพื่อถ่ายภาพพะยูน ณ เกาะลิบง จังหวัดตรังที่แทบจะไม่สามารถคาดการณ์อะไรได้เลย

06
ภาพเยาวชนนักอนุรักษ์พะยูนจากโรงเรียนบ้านเกาะลิบง จังหวัดตรัง ฝีมือของต้าร์ ณภัทร เวชชศาสตร์

“ความยากของการถ่ายรูปพะยูนใต้น้ำคือ เราไม่สามารถกำหนดอะไรได้เลย ธรรมชาติไม่เคยเล่นด้วยกับเรา แดดก็จะออก ฝนก็จะตก น้ำก็จะขุ่น รวมถึงความยากของพฤติกรรมของสัตว์ เราก็กำหนดไม่ได้เลย สิ่งที่เราทำได้มีแค่ศึกษาและคาดการณ์ให้ดีที่สุด

“และด้วยสภาพน้ำที่ขุ่นมากของที่ตรังทำให้ต้องได้ระยะที่ชิดมากถึงจะถ่ายเห็นพะยูน ตอนนั้นเราลองหลายวิธีอยู่เหมือนกัน ทั้งพายเรือออกไปให้เด็กบนเขาดูให้ วิทยุลงมาบอก แล้วเรือพายตามไปหย่อนช่างภาพลง ครั้งที่ใกล้ที่สุดคือมันอยู่ข้างหลังเรา แล้วเรามองไม่เห็น น้องบอก มันอยู่ข่างลั้งๆๆๆ (ภาษาใต้) แล้วเราหันมาช้าไปแค่วินาทีเดียว มันก็ว่ายหนีไปแล้ว” ช่างภาพพะยูนฝึกหัดเล่าด้วยน้ำเสียงตื่นเต้นและเสียดาย

02.jpg
ภาพหญ้าทะเลจากการลงพื้นที่ของต้าร์ ณภัทร เวชชศาสตร์

แม้ใช้ความพยายามเป็นปี แต่สุดท้ายก็ไม่ได้เป็นไปอย่างใจหวัง ต้าร์ไม่ได้ภาพพะยูนใต้น้ำกลับบ้านมา เพราะสภาพอากาศที่กำลังจะเข้าสู่ช่วงมรสุมและร่างกายต้าร์ที่กำลังจะเข้าสู่ขีดจำกัด เนื่องจากการดำน้ำหลายช่วงโมงต่อเนื่องติดกันหลายวัน

“เราผิดหวังก็จริงที่มีช็อตที่อยากได้ แต่ไม่ได้มา แต่แม้จะผิดหวังเราก็ยังมีแผนสำรองอยู่ ในวันสุดท้ายที่ตัดสินใจว่าพอคือ วันสุดท้ายที่กำลังจะกลับจากเกาะ มีความคิดที่จะดื้อไม่ทำตามแผนเหมือนกัน แต่ก็ได้แค่คิด เพราะร่างกายเราไม่ไหวแล้ว”

การเดินทางเพื่อถ่ายภาพพะยูนไทยกว่า 1 ปีเปลี่ยนทั้งมุมมอง ความคิด และตัวตนของต้าร์ สอนบทเรียนที่ต้าร์บอกว่า “เราเดินทางไปในที่ที่ไม่รู้จัก แล้วก็กลับมาโดยเปลี่ยนไปเป็นคนละคน เปลี่ยนทั้งการมองและการคิด”

“อย่างแรกคือ จะตัดสินใจซื้ออะไรก็คิดดีๆ นะ (หัวเราะ) ล้อเล่นๆ จริงๆ คือเราได้เห็นโลกจากมุมมองของนักวิชาการสิ่งแวดล้อมหลายคนที่เขาสัมผัสได้ถึงความสิ้นหวัง แต่ยังคงทำงานเพื่อยื้อโลกนี้เอาไว้ เราจากคนที่ไม่กล้าที่จะเข้าไปหาใคร กลัวการคุยกับคนที่ไม่รู้จัก เราก็ได้พูดคุยกับคนมากขึ้น ได้เห็นความเขาก็เป็นมนุษย์เหมือนๆ เรา เราได้เรียนรู้ที่จะคัดกรอง ‘ความจริง’ บางครั้งแค่ฟังมันไม่เพียงพอที่จะทำให้ปักใจเชื่อ” เขาบอก

05
ภาพจากการลงพื้นที่ของต้าร์ ณภัทร เวชชศาสตร์

มากกว่านั้น สิ่งที่ต้าร์ได้เรียนรู้มากที่สุดคือ ความพยายามไม่มีวันทรยศใคร แม้ไม่ใช่วันนี้แต่วันพรุ่งนี้อาจจะเป็นของเราก็ได้ “เราไม่เคยเชื่อในประโยคที่ว่า ถ้าคุณรักในอะไรบางอย่างมันก็พอที่จะพยายามแล้ว เพราะเราไม่เคยเชื่อว่าแค่ความตั้งใจมันจะพอหรอก จนมันมาถึงตอนที่เราออกไปถ่ายพะยูนแล้วล้มเหลว ออกไปแล้วล้มเหลวซ้ำๆ ตอนนั้นเราคิดได้ว่าจริงๆ เราอาจจะต้องออกไปอีกร้อยครั้งกว่าจะได้มา หรืออาจจะเป็นพันครั้งกว่าจะได้มา หรืออาจจะเป็นพรุ่งนี้ก็ได้ แต่มันคือการที่บอกว่าถ้าเราอยากได้อะไร คำถามคือคุณอยากได้มันพอรึเปล่า ถ้าอยากได้มันพอคุณก็แค่ออกไปอีก ซักวันมันก็ต้องได้ โดยผ่านกระบวนการคิดที่ดีพอ

“ตอนที่เลือกทำงานนี้หวังแค่ให้มีคนรับรู้เรื่องนี้มากขึ้นอีกนิด สร้างแรงบันดาลใจและนำเสนอเรื่องราวหลังม่านของเหล่าคนอนุรักษ์ ให้พวกเขามีกำลังใจว่ามีคนรับรู้และสามารถทำงานนี้ต่อไปได้ และหลายคนที่ได้เห็นรูปก็จะบอกเล่ามันต่อไป” ต้าร์ย้ำ

“เพราะว่าโลกน่ะไม่มีมนุษย์ได้ แต่มนุษย์ไม่มีโลกไม่ได้”

 

FYI : เมื่อวันที่ 4 พ.ค. 2560 ศูนย์วิจัยและพัฒนาทรัพยากรชายฝั่งและชายทะเลรายงาน ผลสำรวจและวิจัยสถานการณ์พะยูนไทยว่า อยู่ในขั้นวิกฤตจากอดีตจำนวนกว่า 500-600 ตัว ขณะนี้มีไม่ถึง 200 ตัวทั่วทั้งน่านน้ำไทยและลดลงอย่างต่อเนื่องเฉลี่ยปีละ 8 ตัว เนื่องจากถูกคุกคามอย่างหนักในเรื่องถิ่นที่อยู่อาศัย และการทำลายแหล่งหญ้าทะเลอันเป็นแหล่งอาหารของพะยูน รวมทั้งการล่าและการติดเครืองมือประมง พะยูนเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่อาศัยอยู่ในทะเลและเป็นสัตว์สงวนในไทยเพียงชนิดเดียวที่อาศัยอยู่ในทะเล

อุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหมและเขตห้ามล่าสัตว์ป่าหมู่เกาะลิบง จ.ตรัง เป็นแหล่งที่พบพะยูนมากที่สุด ประมาณ 130–150 ตัว เนื่องจากบริเวณดังกล่าวมีแหล่งหญ้าทะเลชนิดที่เป็นแหล่งอาหารหลักและเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของพะยูนที่มีความอุดมสมบูรณ์มาก ในพื้นที่เกาะเสม็ด จ.ระยอง ชลบุรี จันทบุรี ตราด ประมาณ 15 ตัว และในพื้นที่อ่าวไชยา จ.สุราษฎร์ธานีอีกประมาณ 10 ตัว

ที่มา : ข่าว “ผลวิจัยเผยพะยูนทุกน่านน้ำไทยเหลือแค่ 200 ตัว เฉลี่ยตายปีละ 8 ตัว” เว็บไซต์มติชนออนไลน์
วันที่ 4 พ.ค. 2560

ติดตามชมผลงานชุด Dugong, lady of the sea ฉบับเต็มจาก ต้า ณภัทร เวชชศาสตร์ ได้ที่งาน “ SUCH A _ _ _ _ _ NERD” ณ TCDC COMMONS W – DISTRICT พระโขนง ตั้งแต่วันที่ 7-13 กรกฎาคมนี้ คลิก

 

ภาพเบื้องหลัง: นายธันวา ลุจินตานนท์

%d bloggers like this: