News

แรงงานข้ามชาติในเมืองเผยที่พักแออัด ค่าแรงไม่พอค่าครองชีพ

แรงงานข้ามชาติในเมืองเผยที่พักแออัด ค่าแรงไม่พอค่าครองชีพ

เรื่อง/ภาพ : ปุณยภา ประสานเหลืองวิไล

แรงงานข้ามชาติในเมืองเผยค่าครองชีพสูง ต้องอยู่รวมกันอย่างแออัดในห้องพักขนาดเท่าตู้คอนเทนเนอร์ นักสิทธิแรงงานข้ามชาติชี้ไทยยังขาดกลไกให้แรงงานข้ามชาติในธุรกิจขนาดเล็กเข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐาน ส่งผลให้คุณภาพชีวิตยังต่ำกว่ามาตรฐาน

“ที่อยู่ดีๆ ค่าเช่าจะแพงมาก เราสู้ไม่ไหว เดือนหนึ่งคนละตั้ง 4,000 อยู่ที่นี่คนละพันกว่าบาท ถ้า 4,000 ค่าแรงก็หมดแล้ว ต้องอยู่รวมกันเยอะๆ มันถึงคุ้ม” มาเตนเอ พนักงานทำความสะอาดหญิงชาวมอญ วัย 45 ปีกล่าวถึงสาเหตุที่เธอเลือกเช่าห้องพักในปัจจุบัน

มาเตนเอเล่าว่าที่พักของเธอเป็นตึกแถวอายุหลายสิบปีที่ถูกปรับเป็นห้องพักให้เช่าสำหรับแรงงานชาวมอญกว่าสิบชีวิต ตัวอาคารมีสามชั้นและห้องพักห้าห้อง แต่ละห้องมีคนพักอยู่ 3-4 คน ทั้งตึกมีห้องน้ำอยู่ชั้นล่างเพียงห้องเดียว แต่ละห้องมีพื้นที่สำหรับปรุงอาหารและที่นอนอยู่รวมกัน มีเพียงพัดลม ไม่มีเครื่องปรับอากาศ

ห้องพักของมาเตนเออยู่ชั้นล่างสุดของตึก ขนาดห้องประมาณ 48 ตารางเมตร ไม่มีหน้าต่าง ด้านหนึ่งของห้องเป็นประตูบานพับเหล็กซึ่งเดิมเป็นทางเข้าอาคารแต่บัดนี้ถูกปิดไว้ มีผ้าใบขึงที่ประตูเสมือนเป็นผนังชั่วคราวและกันน้ำฝนที่สาดเข้ามาทางซี่ประตู แต่เมื่อฝนตกหนัก น้ำจะสาดเข้ามาจนข้าวของโดนฝนอยู่ดี ในห้องพักยังไม่มีลานโล่งสำหรับตากผ้า เธอจึงต้องขึงลวดเป็นราวตากผ้าไว้ในห้อง

นอกจากสภาพความเป็นอยู่ที่ต้องแก้ปัญหาเฉพาะหน้ากันเป็นประจำแล้ว พนักงานทำความสะอาดชาวมอญยังต้องวางแผนเรื่องอาหารการกินด้วย มาเตนเอกล่าวว่าแรงงานข้ามชาติมักไม่ซื้ออาหารสำเร็จรูปเพราะราคาแพงเกินกว่ารายได้วันละ 320 บาทของเธอ ดังนั้นทุกวันหยุดสุดสัปดาห์เธอจะไปซื้ออาหารสดที่ตลาดคลองเตยใน และทำกับข้าวนำไปกินที่ทำงานแทน

“ซื้อกินเงินไม่เหลือเลย แพงมาก ถุงละห้าสิบบาท กินก็ไม่พอสองคน ถ้าเป็นผักบุ้งก็กิโลกรัมละแค่สิบห้าบาท จะให้เรามาซื้อราดข้าวสามสิบบาทก็ไม่พอกิน” มาเตนเอกล่าว

อีกปัญหาที่แรงงานข้ามชาติเจอคือการเข้าไม่ถึงสิทธิประกันสังคมในกรณีเจ็บป่วย ตี่ฮู้ พนักงานทำความสะอาดชาวมอญอายุ 50 ปีเล่าว่า หัวหน้างานเก็บเงินจากเธอ 300 บาททุกเดือนเพื่อเป็นค่าประกันสังคม แต่เธอไม่แน่ใจว่าเงินส่วนนั้นถูกนำไปสมทบเป็นค่าประกันสังคมจริง เนื่องจากเธอไม่เคยได้รับบัตรประกันสังคมจากบริษัทนายจ้าง เมื่อต้องเข้ารักษาที่โรงพยาบาล เธอจึงไม่สามารถใช้สิทธิได้เพราะเธอไม่มีบัตร

นายอดิศร เกิดมงคล ผู้จัดการเครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติที่เคลื่อนไหวเรื่องการเข้าถึงสิทธิและคุณภาพชีวิตที่ดีของแรงงานข้ามชาติ กล่าวว่า แรงงานข้ามชาติในเมืองที่เป็นลูกจ้างในธุรกิจขนาดย่อมย เช่น แม่บ้าน พนักงานขายของในร้านขนาดเล็ก จะไม่ได้รับสวัสดิการเหมือนแรงงานข้ามชาติที่ทำงานในโรงงาน อาทิ ที่พัก ค่าเดินทาง และจำนวนห้องน้ำที่เพียงพอในที่ทำงาน

อดิศรระบุว่าแรงงานข้ามชาติในเมืองมีรายได้ที่จำกัดและจำเป็นต้องจัดหาที่พักด้วยตัวเอง เนื่องจากแรงงานมีรายได้ประมาณ 300 – 400 บาทต่อวัน ค่าเช่าห้องที่แรงงานเลือกพักจึงอยู่ที่ประมาณ 3,000 – 4,000 บาทต่อห้องต่อเดือน คิดเป็นร้อยละ 40 ของรายได้ทั้งเดือนหากต้องอาศัยคนเดียว นอกจากนี้ แรงงานส่วนใหญ่จะเลือกที่พักใกล้กับที่ทำงานในตัวเมืองเพื่อประหยัดค่าเดินทาง จึงทำให้ห้องเช่ามีราคาสูงแต่ขนาดห้องเล็ก

ดังนั้น เพื่อประหยัดค่าใช้จ่าย แรงงานข้ามชาติส่วนใหญ่จึงอยู่ร่วมกัน 3 – 4 คนในห้องเช่าหนึ่งห้อง ซึ่งเป็นความเป็นอยู่ที่แออัด

ส่วนเรื่องการหักค่าจ้างของแรงงานข้ามชาติเพื่อเป็นค่าประกันสังคมนั้น อดิศรกล่าวว่าแรงงานข้ามชาติที่มีเอกสารถูกต้องทุกคนจะถูกหักเงินเดือนร้อยละ 5 เพื่อเป็นค่าประกันสังคม และนายจ้างจ่ายสมทบอีก ตามกฎหมาย แรงงานข้ามชาติจะได้รับสิทธิคุ้มครอง 7 กรณี ไม่ต่างจากคนไทย อาทิ เจ็บป่วย ทุพพลภาพ คลอดบุตร แต่ยังมีสิทธิบางประการที่ไม่สอดคล้องกับวิถีชีวิต เงื่อนไข และลักษณะการทำงานของพวกเขา เช่น ประกันสังคมเรื่องการว่างงานและชราภาพ ซึ่งแรงงานข้ามชาติไม่สามารถใช้ประโยชน์ได้

อดิศรชี้ว่าสิทธิคุ้มครองแรงงานข้ามชาติมีอยู่ก็จริง  แต่ไม่มีกลไกในการตรวจสอบว่าแรงงานข้ามชาติเข้าถึงการคุ้มครองหรือไม่ จึงเกิดปัญหาสองประการ คือ หนึ่ง แรงงานข้ามชาติไม่รู้ว่าตนมีสิทธิอะไรบ้าง และแรงงานรู้ว่าตัวเองมีสิทธิ แต่ไม่สามารถฟ้องร้องได้เมื่อไม่ได้รับสิทธิ

ผู้จัดการเครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติกล่าวว่า สาเหตุที่แรงงานข้ามชาติเข้าไม่ถึงกระบวนการการฟ้องร้อง เป็นเพราะกลไกการร้องเรียน การยื่นคำร้อง ระบบแจ้ง หรือสายด่วน ไม่ได้ถูกออกแบบมาให้เหมาะกับคนต่างชาติ แม้มีการแปลหลายภาษา แต่ก็เป็นภาษาที่แรงงานไม่เข้าใจ อีกทั้งข่าวสารเรื่องสิทธิแรงงานข้ามชาติก็ยังไม่ครอบคลุมและขาดการตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูล เนื่องจากศักยภาพองค์กรที่เกี่ยวข้องกับขนาดพื้นที่ยังจำกัดอยู่

นักเคลื่อนไหวด้านสิทธิแรงงานข้ามชาติกล่าวอีกว่า แรงงานรู้สึกว่าตัวเองอยู่ในสถานะที่ด้อยกว่านายจ้างและเจ้าหน้าที่รัฐ ดังนั้น สำหรับแรงงานข้ามชาติ การไปหาเจ้าหน้าที่รัฐเป็นเรื่องใหญ่และทำได้ยาก

นอกจากนี้ แรงงานข้ามชาติยังต้องเผชิญกับอคติทางเชื้อชาติของคนไทย อดิศรกล่าวว่า คนทั่วไปในชีวิตประจำวันมองแรงงานข้ามชาติในแง่ลบ มองว่าเป็นศัตรู สร้างปัญหา และแย่งงานคนไทย ส่วนนายจ้างบางคนเมื่อไม่พอใจแรงงานข้ามชาติ การลงโทษจะรุนแรงกว่าแรงงานไทย ใช้คำพูดที่เหยียดเชื้อชาติ เพราะนายจ้างบางคนมีอคติ

การผลักดันให้แรงงานข้ามชาติได้สิทธิแรงงานจะส่งผลให้แรงงานไทยและแรงงานข้ามชาติเป็นที่ต้องการเท่ากัน อดิศรกล่าวว่า ที่ผ่านมาคนพยายามจ้างแรงงานต่างชาติ เพราะค่าแรงถูกกว่า ดังนั้นถ้าตลาดแรงงานทั้งสองฝั่งเท่าเทียมกัน ความต้องการจ้างแรงงานไทยกับแรงงานข้ามชาติจะไม่ต่างกันมาก ส่งผลให้ตลาดแรงงานไม่ถูกดึงไปทางใดทางหนึ่ง  หากประเทศไทยยังไม่สามารถทำระบบการขึ้นทะเบียนแรงงานให้ถูกต้องตามกฎหมายได้ดีพอ แรงงานจะเข้าระบบยากขึ้น แรงงานผิดกฎหมายจะมากขึ้น ส่งผลให้การกำกับดูแลเกิดขึ้นไม่ได้

“การสนับสนุนสิทธิแรงงานต่างชาติ ผลที่จะตามมาในระยะยาวคือ การสร้างมาตรฐานของสังคมที่ดีสำหรับทุกคน ไม่ใช่อย่างคนคนนี้เข้ามา เขาต้องมาตรฐานต่ำกว่าคุณ จากนั้นคนอื่นๆ ก็มาตรฐานต่ำกว่าคุณได้ มันจะเกิดความไม่เท่ากันระหว่างคน เราจึงต้องสร้างมาตรฐานหลักในการดูแลสังคมร่วมกัน” อดิศรกล่าว

นักเคลื่อนไหวด้านสิทธิแรงงานข้ามชาติกล่าวว่ากลุ่มแรงงานข้ามชาติเป็นฐานของธุรกิจระดับการผลิต เกษตร ประมง และก่อสร้าง ซึ่งเป็นพื้นฐานของเมือง ถ้าแรงงานกลุ่มนี้หายไป ฐานรากที่มีจะหายไปทั้งระบบ การเติบโตทางเศรษฐกิจจะหายไปทันทีเพราะไม่มีคนทำ ซึ่งมีโอกาสเกิดขึ้นจริงใน 5-6 ปีข้างหน้า เมื่อประเทศบ้านเกิดของแรงงานข้ามชาติมีทางเลือกในการประกอบอาชีพมากขึ้น และค่าแรงสูงขึ้น

%d bloggers like this: