Art & Culture

พลังของคนกลุ่มไหน ที่ต่อลมหายใจให้โลกศิลปะนอกเมืองกรุง

“จังหวัดเราไม่มีพื้นที่ทางศิลปะ” ในสถานการณ์แบบนี้ คนต่างจังหวัดทำอย่างไรเพื่อ ต่อลมหายใจให้กับโลกศิลปะนอกเมืองกรุง

เรื่อง-ภาพ : เพชรรัตน์ กลิ่นเทศ

ทุกวันนี้กรุงเทพมหานครมีพื้นที่ทางศิลปะเกิดขึ้นให้เห็นเป็นรูปธรรมอย่างหลากหลาย มีทั้งหอศิลป์ไว้เป็นพื้นที่ในการจัดแสดงผลงานทางศิลปะให้แก่ทั้งศิลปิน เด็กและเยาวชน หลากหลายรูปแบบ มีร้านหนังสือ โรงละคร และโรงภาพยนตร์อิสระเกิดขึ้นมากมาย จนคนในเมืองกรุงอาจไม่รู้สึกตื่นเต้นกับการเกิดพื้นที่ทางศิลปะแห่งใหม่ๆ

แต่ความรุ่มรวยทางศิลปะไม่ได้เกิดขึ้นกับพื้นที่นอกเมืองกรุงเท่าไรนัก บางจังหวัดพอมีพื้นที่ทางศิลปะอยู่บ้าง แต่บางจังหวัดกลับไม่มีพื้นที่เหล่านั้นเลยสักแห่ง

“จังหวัดเราไม่มีทางเลือกในการเข้าถึงพื้นที่ทางศิลปะ โดยเฉพาะเรื่องที่เราสนใจอย่างดนตรี นอกจากไม่สามารถเข้าไปสัมผัสได้หลากหลายเท่ากับในกรุงเทพฯ แล้ว ยังไม่มีเวทีที่จะให้เยาวชนได้แสดงความสามารถเลยด้วยซ้ำ”

ศุภชัย นพสุวรรณ นักศึกษาคณะดุริยางคศิลป์ สาขาดนตรีแจ๊ส มหาวิทยาลัยศิลปากร เผยช่วงเวลาอันยากลำบากในการเข้าถึงการศึกษาที่เกี่ยวข้องกับศิลปะและอุปสรรคของการเข้าไม่ถึงพื้นที่ทางศิลปะในต่างจังหวัดขณะที่เขาเรียนอยู่ที่จังหวัดเพชรบูรณ์

การที่บางจังหวัดไม่มีพื้นที่ทางศิลปะที่จะช่วยส่งเสริมให้หูตาของคนในพื้นที่กว้างไกล และไม่มีเวทีสำหรับแสดงความสามารถในด้านนี้ ส่งผลให้เด็กต่างจังหวัดบางคนต้องดั้นด้นเพื่อเข้าไปสัมผัสและเรียนรู้ศิลปะในเมืองกรุง ต้องใช้ต้นทุน เวลา และความพยายามอย่างสูง แต่กลับได้ผลลัพธ์ที่ไม่พึงประสงค์เท่าใดนัก ศุภชัยจึงมองว่าในแต่ละจังหวัดควรมีพื้นที่เหล่านี้ให้แก่คนในจังหวัด เพื่อให้พวกเขาสามารถเรียนรู้ และนำมาปรับใช้กับชีวิตประจำวัน

“คนต่างจังหวัดยังติดการมองภาพตัวเองเป็นคนไกลปืนเที่ยง แม้ปัจจุบันทิศทางของแวดวงศิลปะจะดีขึ้น แต่ทัศนคติที่ถูกปลูกฝังยังคงอยู่ ยิ่งศิลปะยังกระจุกอยู่ในกรุงเทพฯ คนก็ยิ่งมองว่าศิลปะเป็นเรื่องไกลตัว” ศุภชัยชี้แจงด้วยสีหน้าที่แสดงให้เห็นถึงความสิ้นหวัง

แม้โอกาสในการเข้าถึงพื้นที่ทางศิลปะในต่างจังหวัดจะไม่เท่าเทียมกับกรุงเทพฯ ส่งผลให้คนในพื้นที่บางคนต้องดั้นด้นเพื่อเข้าไปศึกษาหรือประกอบอาชีพในเมืองหลวง แต่บางพื้นที่ก็ยังมีพลังจากกลุ่มคนตัวเล็กตัวน้อยที่คอยขับเคลื่อนให้เกิดพื้นที่เหล่านี้ในจังหวัดของตนเอง

ผู้เข้าชมนิทรรศการ Broken Threshold นิทรรศการศิลปะที่สามารถใช้ประสาทสัมผัสทั้ง 5 ในการรับชม
กำลังดูภาพวาดที่จัดแสดงพร้อมหูฟังเพื่อรับฟังเสียงประกอบขณะชมผลงานศิลปะได้

“อยากให้โคราชได้มีพื้นที่ที่สามารถมอบประสบการณ์ที่เหมือนกับคนกรุงเทพฯ ได้รับ”

ชลัท ศิริวาณิชย์ เป็นผู้ก่อตั้งห้องฉายหนังนอกกระแสในจังหวัดนครราชสีมา ภายใต้ชื่อ Homeflick ชลัทเติบโตและเรียนหนังสือในเมืองโคราชมาตั้งแต่เด็กๆ จนกระทั่งเข้าไปเรียนมหาวิทยาลัยในกรุงเทพฯ และเล็งเห็นว่าบ้านเกิดของตนไม่มีพื้นที่ทางศิลปะให้กับคนในท้องถิ่นที่สนใจด้านนี้ เขาจึงนำสิ่งที่เรียนในมหาวิทยาลัยมาประยุกต์ใช้กับการสร้างพื้นที่เหล่านี้ในจังหวัดของตน

“ในแต่ละจังหวัดมีกลุ่มคนที่สนใจในเรื่องที่แตกต่างกันไป แต่สิ่งที่เป็นอุปสรรคคือการไม่มีพื้นที่สำหรับพวกเขา อย่างตัวเราเองชอบดูหนัง โดยเฉพาะหนังนอกกระแส เราเลยเริ่มจัดฉายหนังนอกกระแสเพื่อผลักดันให้โคราชมีทางเลือกในการเข้าถึง ภาพยนตร์ ซึ่งเป็นศิลปะอีกแขนงหนึ่งมากยิ่งขึ้น”

 แม้ชลัทจะมีความตั้งใจอันเปี่ยมล้นที่จะผลักดันให้โคราชมีทางเลือกในการเข้าถึงศิลปะมากยิ่งขึ้น โดยหวังว่าคนโคราชจะเห็นคุณค่า และสามารถสร้างวัฒนธรรมท้องถิ่นเป็นของตนเองได้ แต่การไม่ได้รับแรงสนับสนุนจากภาครัฐหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงการไม่มีนโยบายเพื่อเพิ่มความรู้ความเข้าใจให้กับคนในพื้นที่ ทำให้ความเจริญงอกงามของศิลปะในต่างจังหวัดเป็นไปได้อย่างล่าช้าและยากลำบาก

 “ผมรู้จักหลายคนมากที่เขาไปเรียนกรุงเทพฯ แล้วพยายามจะกลับมาทำอะไรที่โคราช อย่างเช่นนิตยสารเกี่ยวกับภาพยนตร์ แต่ไปรอดได้ยากมาก ไม่เหลือสักราย แล้วสุดท้ายก็กลับไปที่กรุงเทพฯ คำถามก็เลยเกิดตลอดว่าภาครัฐไปไหน หรือคนที่ควรจะอุ้มคนพวกนี้ คนที่ควรจะมาส่องแสงสว่างให้คนเหล่านี้เป็นทรัพยากรที่ดีในจังหวัดตัวเองไปไหน ทำไมเขาถึงไม่รั้งคนพวกนี้ไว้เลย ทำไมเขาถึงปล่อยไปง่ายๆ” ชลัทตั้งคำถามเป็นการปิดท้าย

นิทรรศการ FROM MONET TO KANDINSKY ‘Visions Alive’ นิทรรศการที่มีทั้งภาพและเสียง
ซึ่งมีชื่อเสียงจากการจัดแสดงในกรุงเบอร์ลิน ประเทศเยอรมัน และเดินทางมาจัดแสดงที่กรุงเทพมหานคร

ในเมืองโคราชยังมี ทวี รัชนีกร ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ ที่เข้ามาช่วยขับเคลื่อนโลกของศิลปะในจังหวัดนี้ด้วยอีกแรง โดยการร่วมก่อตั้งแผนกศิลปกรรมที่แรกของภาคอีสานที่วิทยาลัยเทคโนโลยีและอาชีวศึกษา วิทยาเขตตะวันออกเฉียงเหนือ และตั้งหอศิลป์ร่วมสมัยเพียงแห่งเดียวของโคราชขึ้นภายใต้ชื่อของตนเองในเวลาต่อมา

ทวีให้ความเห็นว่า ในประเทศไทยยังไม่มีหอศิลป์ร่วมสมัยของรัฐที่ได้มาตรฐาน หากมองไปยังประเทศที่ศิลปะเจริญแล้ว หอศิลป์ในเมืองนั้นจะเก็บงานตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันเพื่อให้เกิดการเรียนรู้ ดังนั้นรัฐไทยควรเป็นเจ้าของหอศิลป์แล้วเชิญนักวิชาการหรือผู้รู้ด้านศิลปะมาเลือกงานที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ เพื่อสร้างคลังสำหรับการเรียนรู้ให้คนไทยได้เข้าใจงานศิลปะ

พอเราไม่มีหอศิลป์ที่ดี เราก็จะไม่รู้ว่าอะไรมันมีค่า อะไรงาม อะไรเป็นศิลปะ

“เมื่อก่อนพูดถึงศิลปะที่โคราช คนไม่รู้เรื่องหรอก แต่เราโทษคนดูไม่ได้ มันเป็นเพราะว่าเขาไม่คุ้นชิน พอเราไม่มีหอศิลป์ที่ดี เราก็จะไม่รู้ว่าอะไรมันมีค่า อะไรมันงาม อะไรมันเป็นศิลปะ” ทวีเสริม

ศิลปินแห่งชาติเล่าเพิ่มเติมว่า แม้ในปัจจุบันมุมมองที่มีต่อศิลปะของคนในเมืองโคราชมีทิศทางที่ดีขึ้น เนื่องจากมีภาคเอกชนอย่างอาจารย์ทวี และคนในท้องถิ่นช่วยกันสร้างบรรยากาศและผลักดันให้มีพื้นที่ในการจัดแสดงผลงานศิลปะ ส่งผลให้คนในพื้นที่ก็จะสามารถเข้าถึงพื้นที่ทางศิลปะ และสามารถเข้าใจศิลปะได้มากยิ่งขึ้น แต่หากภาครัฐไม่เร่งผลักดันศิลปะในท้องถิ่นมากพอ ก็จะยิ่งทำให้ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับศิลปะของคนเมืองเป็นไปได้อย่างล่าช้า ส่งผลให้คนไทยไม่สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับศิลปวัฒนธรรมในไทยได้

“หวังว่ารัฐบาลรุ่นต่อๆ ไปจะเห็นความสำคัญ ส่วนตอนนี้รัฐเขาก็ช่วยได้เท่าที่สติปัญญาเขามี เราก็ก้มหน้าก้มตาทำของเราไปเรื่อย ๆ แหละ” ทวีกล่าว

ผู้เข้าชมนิทรรศการ Broken Threshold นิทรรศการศิลปะที่สามารถใช้ประสาทสัมผัสทั้ง 5 ในการรับชม
กำลังดูภาพผลงานศิลปะและฟังเสียงประกอบ

วิวัฒน์ เลิศวิวัฒน์วงศา หนึ่งในสมาชิกของ FILMVIRUS ผู้คัดเลือกหนังสั้นเพื่อนำไปฉายในเวทีต่างๆ ทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด ให้ความเห็นเพิ่มเติมเกี่ยวกับความไม่เท่าเทียมในการเข้าถึงพื้นที่ทางศิลปะว่า ภาครัฐควรกระจายอำนาจไปยังท้องถิ่นเพื่อให้โอกาสท้องถิ่นได้บริหารจัดการกันเอง

“ล่าสุดเราไปเทศกาลภาพยนตร์สารคดียามากาตะ (YAMAGATA International Documentary Film Festival) ของประเทศญี่ปุ่น เป็นเทศกาลที่เกิดจากเมืองเล็กๆ ไม่เกี่ยวกับรัฐส่วนกลาง เป็นเทศกาลที่คนทำหนังสารคดีจากทั่วโลกอยาก ส่งเข้าไปประกวด มีรางวัลพิเศษจากนายกเทศมนตรี ช่วงที่เป็นเทศกาล คนในเมืองก็จะพูดถึงแต่เทศกาลนี้ และมีป้ายแปะไป ทั่วทั้งเมือง” วิวัฒน์อธิบายบรรยากาศการจัดงานในท้องถิ่นของเมืองยามากาตะ ด้วยน้ำเสียงตื่นเต้น

วิวัฒน์ยังกล่าวเพิ่มเติมว่า “หากคนในท้องถิ่นสามารถเลือกนายกเทศมนตรีที่จะมาบริหารบ้านเมืองของตนเองได้ ก็จะสามารถพัฒนาจังหวัดได้อย่างถูกจุด และสร้างการรับรู้ร่วมกันภายในเมืองได้”

“ต่างจังหวัดขาดอย่างเดียวคือ ‘โอกาส’ มันเป็นเรื่องที่แย่นะ เหมือนกับเราขาดโอกาสไป 40 ปี พอเรามีโอกาส เราจะเท่าคนที่รู้มา 40 ปีเลยมั้ย มันไม่มีทาง เพราะมันไม่ใช่การไม่เท่ากันทางปัญญา มันเป็นความไม่เท่ากันทางโอกาส” วิวัฒน์เสริม

แม้จะมีกลุ่มคนที่พยายามเพิ่มโอกาสและสร้างพื้นที่ทางศิลปะให้กับท้องถิ่นอยู่หลายกลุ่ม  แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นจากความไม่เท่าเทียมและการขาดโอกาสนี้กลับยังไม่ถูกพัฒนาอย่างจริงจัง จนส่งผลกระทบเป็นวงกว้างต่อวิถีชีวิตของคนในต่างจังหวัดมาเป็นเวลานาน บ้างไม่รู้ไม่เข้าใจศิลปะจนนำไปสู่ทัศนคติที่มองศิลปะเป็นเรื่องห่างไกล บ้างย้ายถิ่นฐานเพื่อศึกษา ประกอบอาชีพ และเริ่มต้นชีวิตใหม่ในเมืองกรุงเพื่อหนีปัญหานี้ ทั้งยังไม่สามารถสร้างวัฒนธรรมท้องถิ่น หรือสร้างมูลค่าเพิ่มจากศิลปวัฒนธรรมในบ้านเมืองของตนได้

แต่การจะผลักดันให้ เกิดพื้นที่ทางศิลปะขึ้นในแต่ละท้องที่นั้น กลับต้องเป็นภาระของคนตัวเล็กตัวน้อยในจังหวัด เพราะโครงสร้างในการสนับสนุนศิลปวัฒนธรรมในไทยยังไม่เข้มแข็งพอ 

คำถามที่มักจะเกิดขึ้นขณะพูดคุยกับคนตัวเล็กตัวน้อยเหล่านี้ก็คือ รัฐทำอะไรเพื่อส่งเสริมศิลปะให้กับคนต่างจังหวัดบ้าง?

%d bloggers like this: