Uncategorized

นิยายแจ่มใส… กับการชอปปิงตัวตน

นิยายแจ่มใส เรื่องราวความรักพาฝัน ที่หาไม่ได้ในชีวิตประจำวัน เล่าผ่านมุมมองของนางเอกนิยายแจ่มใส ที่ได้พบเจอกับพระเอกผมสีควันบุหรี่ นัยน์ตาสีเฮเซลนัท ซึ่งได้ยังสร้างความคาดหวังใน ความรักให้กับผู้อ่าน

เรื่อง : เอมอัยย์ พลพิทักษ์

ถ้าหากลองกวาดตาไปบนชั้นหนังสือของเด็กสาวในประเทศไทย คุณจะสะดุดตากับหนังสือเล่มบางบ้าง เล่มหนาบ้าง สันหนังสือสีสดใสพลิกมาหน้าปกเป็นภาพวาดการ์ตูนและภายในเป็นเรื่องราวความรักพาฝัน ที่หาไม่ได้ในชีวิตประจำวัน โดยมักเล่าผ่านมุมมองของนางเอกนิยายแจ่มใส ที่ได้พบเจอกับพระเอกผมสีควันบุหรี่ นัยน์ตาสีเฮเซลนัท

ในช่วงเวลาที่นิยายจากสำนักพิมพ์แจ่มใสโด่งดังและเป็นที่พูดถึงมากที่สุดในปี 2556-2557 จากข้อมูลของกระทรวงพาณิชย์พบว่าสำนักพิมพ์แจ่มใสมีรายได้ถึงปีละ 370 ล้านบาท จากการขายหนังสือที่ราคาประมาณ 120-180 บาท

นอกจากนั้น “แจ่มใส” ยังสามารถขายสินค้าพรีเมี่ยม ของขวัญ เกี่ยวกับตัวละครในนิยายได้อีก 2-4 ล้านบาทต่อปี สิ่งเหล่านี้แสดงให้เห็นว่า แจ่มใสนั้นเข้าถึงตลาดผู้อ่านจำนวนมาก สามารถส่งเสริมการติดตาม และยังทำงานกับความรู้สึกผู้อ่านได้เป็นอย่างมาก

“หนูอยากเป็นผู้หญิงแบบ สวย น่ารัก ผอม ผู้ชายชอบเยอะๆ มีแฟนแบบขี้หึง ขี้งอนเรา” ณัฐนิชา สาวน้อยวัย 13 ปีกล่าวด้วยสีหน้าเขินอายเมื่อถามถึงคู่รักในจินตนาการ และเมื่อถาม
พิมพ์ณดา เด็กสาววัยไร่เรี่ยกัน ว่าอยากมีความรักเป็นอย่างไร เธอตอบว่า “อยากมีแฟน หล่อ น่ารัก เหมือนไอดอลเกาหลี อบอุ่น ดูแลเราได้”

“พระเอกนิยายส่วนใหญ่ที่คนชอบจะเป็นผู้ชายแมนๆ ดูแลนางเอกได้ พอเป็นอย่างนั้น นางเอกก็จะต้องไม่แกร่งเกินไป ไม่งั้นเขาจะดูแลไม่ได้ การประกอบสร้างนี้เห็นได้ชัดมากในหนังสือนวนิยายประโลมโลก”

ดร.ปิยฤดี ไชยพร

สำหรับหญิงสาวที่เติบโตมากับการอ่านนิยายแจ่มใส หลายคนมองว่า นิยายนั้นมีพลังทำให้เธอชอบผู้ชายที่ดูดี เพราะพระเอกในนิยายนั้นหล่ออย่างไม่สามารถพบเจอได้ในชีวิตจริง
ทั้งยังมีส่วนให้เธอมีมุมมองทางเพศในความรัก

ยิ่งไปกว่านั้น นิยายแจ่มใสยังสร้างความคาดหวังใน ความรักให้กับผู้อ่าน เมธาวจี สาระคุณ อายุ 21 ปี ผู้เป็นแฟนนิยายมาตลอดชีวิตวัยรุ่นของเธอตอบว่า นิยายรักคือคู่มือความรักเล่มแรกของเธอ เพราะครอบครัวหรือผู้ใหญ่ไม่ได้มีการมานั่งสอนเรื่องแบบนี้ แต่พอเริ่มโตขึ้นจึงทราบว่า ความจริงมันไม่ได้เหมือนในนิยายอีกต่อไป

“รู้สึกว่าตรรกะเราต่อเรื่องเพศมันก็มีที่ผิดบ้าง ทำไมผู้หญิงไม่จีบผู้ชายก่อน โลกในแจ่มใสมันไม่มีแบบนั้น สรุปแล้วสิ่งที่ส่งผลกับเราคือมุมมองบทบาททางเพศในความรัก แต่ก็อย่างว่า นิยายมันเป็นผลผลิตจากความคิดคนในสังคม เพราะสังคมคิดแบบนี้ นิยายเลยถูกผลิตมาแบบนี้ ” เมธาวจีกล่าว

เทวรักษ์ รุ่งเรืองวิรัชกิจ อายุ 22 ปี พูดถึงความคาดหวังต่อตนเองหลังอ่านนิยายแจ่มใสว่า “นิยายแจ่มใสมันชายหญิงมากๆ มันเสริมให้การชอบ LGBTQ เป็นเรื่องแปลก ซึ่งส่งผลให้เราชอบเฉพาะเพศตรงข้าม เพราะเราอ่านมา ถูกปลูกฝังมา เราว่าอันนี้กระทบต่อความรักเรากว่าการชอบคนหล่ออีก”

การที่มีชุดความคิดที่ว่าผู้หญิงไม่กล้าเผยความต้องการ สามารถนำไปสู่การละเมิดสิทธิ์ในการตัดสินใจของผู้หญิงได้มากกว่าเดิม

ดร.ปิยฤดี ไชยพร

ดร.ปิยฤดี ไชยพร อาจารย์ประจำภาควิชาปรัชญา ผู้สอนวิชาปรัชญาสตรี คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ชวนให้ลองมองอิทธิพลของนิยายแจ่มใสกับการพัฒนาเชิง
ความคิด อ้างอิงตามการศึกษาปรัชญาสตรี โดยอิทธิพลจากนิยายเหล่านี้สามารถอธิบายได้ผ่านทฤษฎีของแคเธอรีน แมคกินนอน (Catherine Mckinnon) ซึ่งมีใจความว่า ผู้หญิงถูกประกอบสร้างทางสังคมวัฒนธรรม มีกลไกหลักมาจากการประกอบสร้างผ่านเพศวิถี เช่น เราจะรักผู้ชายแบบไหน หรือเมื่อเราอยากมีรักโรแมนติก เราจะต้องมีภาพลักษณ์เป็นเช่นไร เพื่อที่จะให้ผลสอดคล้องกับความรักแบบนั้น ผู้หญิงต้องสร้างตัวตนขึ้นมา

“พระเอกนิยายส่วนใหญ่ที่คนชอบจะเป็นผู้ชายแมนๆ ดูแลนางเอกได้ พอเป็นอย่างนั้น นางเอกก็จะต้องไม่แกร่งเกินไป ไม่งั้นเขาจะดูแลไม่ได้ การประกอบสร้างนี้เห็นได้ชัดมากในหนังสือนวนิยายประโลมโลก” ดร.ปิยฤดีกล่าว

อาจารย์ด้านปรัชญาสตรียังระบุอีกว่า หากพิจารณาลักษณะของนางเอกในนวนิยายแจ่มใสจะต้องตัวเล็กและบอบบาง ตัวละครในลักษณะนี้สะท้อนถึงความเปราะบาง และต้องได้รับความคุ้มครองจากตัวละครผู้ชาย การประกอบสร้างทางเพศของผู้หญิงเช่นนี้ อาจส่งผลไปได้ถึงการไม่กล้าแสดงออกถึงความรู้สึกและความต้องการของตัวเอง เพื่อทำให้ผู้ชายต้องเป็นฝ่ายแสดงออก

“ในนิยาย พล็อตเรื่องจึงต้องพาไปติดฝนและลงเอยกัน และต่อให้มีความสัมพันธ์กันก็ไม่ได้เป็นความผิดของผู้หญิง แต่เป็นเนื่องจากสถานการณ์ และนี่คือการกดขี่ทางเพศ” ดร.ปิยฤดีเสริม และอธิบายว่านวนิยายถูกใช้เป็นเครื่องมือในการสร้างความคิดขึ้นมา มากไปกว่านั้น การที่มีชุดความคิดที่ว่าผู้หญิงไม่กล้าเผยความต้องการ สามารถนำไปสู่การละเมิดสิทธิ์ในการตัดสินใจของผู้หญิงได้มากกว่าเดิม

“นิยายมันมีผลอยู่แล้ว เพราะว่าตอนเป็นเด็กวัยรุ่น เพศวิถีก็เป็นด้านหนึ่งที่สำคัญ เขาจะสร้างตัวตนขึ้นมา เป็นช่วงที่จะต้องออกเดินทางในโลก พร้อมกับคำถามว่า ‘เขาจะเป็นใคร’ ”

ดร.ปิยฤดี ไชยพร

บทบาทสำคัญของนวนิยายรักอย่างนิยายแจ่มใส ที่ส่งผลต่อผู้หญิงไทยคือ การสร้างช่วงเวลาแห่งการตามหาตัวตน และการเรียนรู้ว่าเราจะเป็นคนแบบไหน ตามหลักจิตวิทยา
ของซิกมันต์ ฟรอยด์ (Sigmund Freud) พบว่า เราจะเริ่มมีความสนใจทางเพศในช่วงอายุ 13-15 ปี เราจะเริ่มพยายามไปก่อรูปอัตลักษณ์ของตัวเองขึ้นมา เพื่อเข้าร่วมสังคมที่ประกอบไปด้วยเพศต่างๆ

“เมื่อเข้าสู่ช่วงมัธยมศึกษาตอนต้น ผู้หญิงก็จะเริ่มไปไหนมาไหนกับกลุ่มเพื่อน ปรับเปลี่ยนความเป็นผู้หญิงของตน สังเกตความเป็นผู้ชาย และรับรู้ถึงความแตกต่าง ช่วงเวลาเหล่านี้ คือเวลาที่ผู้หญิงเริ่มเรียนรู้ภาพรวมของบทบาท เรียกว่า ‘Shopping Identity’ ” ดร.ปิยฤดีกล่าว

การเลือกตัวตนนั้น เริ่มต้นได้หลายทาง ถ้ากรณีของคนที่ไม่ได้อยู่ในเงื่อนไขที่สามารถ Shopping Identity ผ่านผู้หญิงมากมายที่พบเจอในชีวิต หรือผ่านคนรักที่เข้ามามีส่วนให้สามารถเรียนรู้ตัวตนได้ ก็จะไปศึกษาความรัก และการเป็นผู้หญิงได้จากนิยายพาฝัน โดยเลือกเอาตัวแบบมาจากสิ่งที่เราคาดหวังจะเป็น เพื่อที่จะได้มีความรักในแบบที่ปรารถนา

“นิยายมันมีผลอยู่แล้ว เพราะว่าตอนเป็นเด็กวัยรุ่น เพศวิถีก็เป็นด้านหนึ่งที่สำคัญ เขาจะสร้างตัวตนขึ้นมา เป็นช่วงที่จะต้องออกเดินทางในโลก พร้อมกับคำถามว่า ‘เขาจะเป็นใคร’ ” ดร.ปิยฤดีสรุป

“นางเอกมีความหลากหลายมากขึ้น และคนก็โตมากขึ้น ตัวละครมันโตตามนักเขียนด้วย”

พราวนภา ภู่รัตนากรกุล

หากมองจากมุมผู้ผลิตอย่าง พราวนภา ภู่รัตนากรกุล หรือ TheLittlefinger นามปากกาที่ใช้เขียนนิยายแจ่มใสกว่าห้าเล่มต่อปี มาตั้งแต่ปี 2549 เมื่อถามว่านิยายแจ่มใสมีเนื้อหาที่สร้างตัวตนของผู้หญิงขึ้นมาหรือไม่ TheLittlefinger มองว่า นั่นเป็นรูปแบบของนางเอกแต่ละยุคมากกว่า เมื่อ 10 ปีที่แล้ว ก็จะมีรูปแบบที่คนชอบ แต่ตอนนี้ทุกอย่างที่คนรับรู้เปลี่ยนไป ทั้งเรื่องสิทธิสตรีหรือการแบ่งแยกในสังคมก็ต่างกัน

“ยุคนั้นนางเอกโก๊ะๆ ซื่อบื้อๆ และไม่สู้คน จะมาแรง เขียนง่าย โยนเข้าไปในเหตุการณ์ไหนก็ใหม่ไปหมด พระเอกก็จะเป็นคนที่ได้มีซีนปกป้องนางเอก แต่หลังจากนั้น คิดว่านางเอกมีความหลากหลายมากขึ้น และคนก็โตมากขึ้น ตัวละครมันโตตามนักเขียนด้วย” พราวนภากล่าว

ท่ามกลางนิยายแจ่มใสที่ผลิตออกมาหลายร้อยเล่มและนักเขียนหลายร้อยคนที่เหมือนว่าจะมีแนวทางการเขียนไปในทางเดียวกัน แต่ ชลธิชา บุญรัตนพิทักษ์ หรือ นามปากกา ลูกชุบ กลับต่างออกไป ทั้งแนวทางการเขียน โครงเรื่องที่ใหม่ และเนื้อหาที่จริงจังกว่า เธอเขียนนิยายภายใต้สำนักพิมพ์มากว่า 56 เรื่อง และเป็นนักเขียนคนแรกที่ลาออกจากสำนักพิมพ์ เพื่อไปศึกษาปริญญาโทด้านจิตวิทยาต่อที่สกอตแลนด์

“เราออกจากแจ่มใสมาเพราะแจ่มใสทำ ‘แนวเรท’ และเราไม่สบายใจกับทิศทางของสำนักพิมพ์ที่เกิดขึ้นตอนนี้ เรารู้สึกว่าเราใช้เวลาทั้งชีวิตในการทำงาน หนีคำว่า ‘นิยายลูกกวาด
เคลือบยาพิษ’ ” เธอพูดถึงเหตุผลหลักๆ ของเธอ

ถึงแม้ลูกชุบจะออกมาจากสำนักพิมพ์แล้ว แต่เมื่อมองย้อนกลับไปถึง อิทธิพลของแจ่มใสต่อคนในสังคม เธอมองว่านั่นเป็นสิ่งที่มองข้ามไปไม่ได้เลย “ แจ่มใสคือวัฒนธรรมหนึ่งที่มันฝังไปแล้ว ถามว่าทุกวันนี้ละครในช่อง GMM แกรมมี่ ใครบอกว่าไม่แจ่มใส นั่นก็คือบทละครที่ดัดแปลงจากนิยายแจ่มใส รู้สึกว่าแจ่มใสกลายเป็นคำขยายความไปแล้ว สมมติคุณดูฉาก สโลว์ซบ คุณยังพูดเลยว่าฉากนี้แจ่มใสมาก ต่อให้คุณชอบไม่ชอบเราไม่รู้ แต่มันกลายเป็นคำขยายความการกระทำไปแล้ว มันเป็นภาพเหมารวมที่สร้างโดยหนังสือในช่วงเวลา 7-10 ปีนี้”

“แจ่มใสสร้างวัฒนธรรมการอ่านขึ้นมานะ บางคนก็เริ่มจากแจ่มใสก่อน แล้วไปอ่านหนังสืออย่างอื่น เหมือนคุณเข้าสนามแรกๆ คุณก็อ่านอะไรที่อ่านง่าย ย่อยง่าย พอโตไป คุณค่อยเริ่มรู้สึกว่า หนังสือมันเป็นแบบนี้ คุณค่อยเริ่มขยับไปเป็นหนังสือที่มันตัวหนังสือเยอะขึ้น เนื้อหามันลึกซึ้งมากขึ้นได้อีก” ลูกชุบทิ้งท้าย

ทุกวันนี้ ผู้อ่านหลายคนเติบโตขึ้น และอาจจะเปลี่ยนไปอ่านวรรณกรรมรูปแบบอื่น แต่คงมีสาววัยแรกรุ่นอีกไม่น้อยที่กลายเป็นแฟนของนิยายแจ่มใสและมาชอปปิงตัวตนต่างๆ ไป ปรากฏการณ์ดังกล่าวจึงชวนตั้งคำถามถึงความหลากหลายในวงการวรรณกรรมวัยรุ่นไทยว่า เรามีซูเปอร์มาร์เก็ตใหญ่เพียงใดให้วัยรุ่นได้เลือกสรร เพื่อพร้อมที่จะออกเดินไปในโลกที่กว้างใหญ่

%d bloggers like this: