Education Health Top Stories

ดรอปเรียนเพื่อบำบัดจิตใจ : ทางเลือกใหม่ที่ผู้ใหญ่มองข้าม

การพักการเรียนชั่วคราว ทำให้เสียทั้งเงิน เวลา และโอกาส อย่างที่หลายคนเข้าใจจริงหรือ

เรื่อง: ธัญวรัตม์ บุตรแสงดี ภาพ: ธัญวรัตม์ บุตรแสงดี และ ศุภกานต์ ผดุงใจ

หมายเหตุ: มีการใช้นามสมมติเพื่อรักษาความเป็นส่วนตัวของแหล่งข่าว

“ทนมาจะสี่ปีแล้ว หาหมออะไรก็ไปมาหมดแล้ว แต่สุดท้ายทุกๆ อย่างมันก็ดึงให้เรากลับไปดิ่งอยู่ดี คือเหนื่อยมากๆ อยากจะดรอปไปพักสักปี แต่พูดเรื่องนี้กับที่บ้านไม่ได้เลย”

ปภัสสร ปัดทะสี นักศึกษาสำนักวิชาศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง บอกเล่าถึงความต้องการในการดรอปเรียนของเธอ

‘การดรอปเรียน’ หรือ การลาพักการศึกษาชั่วคราว คือทางเลือกหนึ่งที่นักศึกษาระดับมหาวิทยาลัยเลือกใช้ ด้วยการทำเรื่องขอถอนรายวิชา หรือละเว้นการลงทะเบียนเรียนในภาคการศึกษานั้นๆ ทั้งหมด  เพื่อที่จะได้มีเวลาช่วงสั้นๆ เป็นของตัวเอง 

นักศึกษามักมีเป้าหมายในการลาพักการศึกษาที่แตกต่างกันไป เช่น ลาเพื่อไปศึกษาต่อต่างประเทศ ลาเพื่อหารายได้ช่วยเหลือครอบครัว ลาเพื่อพักรักษาตัวจากอาการป่วย หรืออาการบาดเจ็บขั้นรุนแรงทางร่างกาย ลาคลอดบุตร ลาบวชเรียน รวมทั้งการลาเพื่อรักษาตัวจากสภาวะวิตกซึมเศร้า ที่นับวันจะยิ่งทวีความหนักหน่วงขึ้นเรื่อยๆ ในกลุ่มเด็กระดับมหาวิทยาลัย จากการที่ต้องเผชิญกับความกดดันต่างๆ ในการเรียน และการใช้ชีวิตซึ่งเป็นช่วงเปลี่ยนผ่านในสังคมปัจจุบัน

สถิติเกี่ยวกับสถานการณ์โรคซึมเศร้าจากกรมสุขภาพจิต ระบุว่า ปี 2560 กลุ่มเยาวชนอายุ 20-29 ปี มีอัตราการฆ่าตัวตาย 575 คน คิดเป็นร้อยละ 14.61 ปี 2561 อยู่ที่ 645 คน คิดเป็นร้อยละ 15.59 ส่วนในปี  2562 เพิ่มขึ้นเป็น 667 คน คิดเป็นร้อยละ 15.09 ของอัตราการฆ่าตัวตายทั้งหมด ซึ่งจะเห็นได้ว่าเป็นสถิติที่ค่อนข้างน่าเป็นกังวล

ปิยวรรณ วิเศษสุวรรณภูมิ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ และหัวหน้าภาควิชาวิจัยและจิตวิทยาการศึกษา คณะครุศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวว่า เด็กวัยอุดมศึกษามีแนวโน้มเป็นซึมเศร้ากันมากขึ้น จากสถิติการเข้ารับการรักษาในศูนย์สุขภาวะนิสิต และสถาบันจิตเวชทั่วประเทศที่เพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ โดยสาเหตุของความเครียดในคนวัยนี้ ส่วนใหญ่มักมาจากความกดดันที่ต้องเรียนหนัก การปรับตัวเข้ากับเพื่อนหรือสังคมใหม่ไม่ได้ รวมทั้งความสัมพันธ์กับพ่อแม่หรือคนที่บ้านด้วย

ปิยวรรณ วิเศษสุวรรณภูมิ หัวหน้าภาคณะวิจัยและจิตวิทยาการศึกษา คณะครุศาสตร์ จุฬาฯ

ปิยวรรณ ให้ความคิดเห็นว่า ไม่ว่าอย่างไร เมื่อพบว่าเด็กมีภาวะซึมเศร้าก็สมควรให้เด็กได้รับการรักษาอย่างถูกต้องก่อน อย่างการไปพบนักจิตวิทยาหรือจิตแพทย์ เพื่อบำบัดและติดตามอาการอย่างต่อเนื่อง เช่นนี้เด็กก็จะสามารถที่จะทานยาและเรียนไปด้วยได้ แต่ถ้าหากอาการแย่ลงจนส่งผลกระทบต่อการเรียนและการใช้ชีวิต ก็อาจจะต้องพักด้วยวิธีการดรอปเรียน “ถ้าเขายังพอเรียนไปไหวก็ควรให้เขาเรียน แต่ถ้าสุดท้ายแล้วยังไงเขาก็เรียนไม่ได้อยู่ดี ก็ให้ดรอปไป มันอาจจะดีกับเขาที่สุดในภาวะที่เขาเป็น”

นักวิชาการด้านจิตวิทยาการศึกษา อธิบายว่า นักศึกษาที่มีอาการวิตกซึมเศร้า สมควรที่จะได้รับการรักษา ไปพร้อมๆ กับการพักผ่อนที่เพียงพอ เพราะไม่ใช่ปัญหาเรื่องจิตใจอย่างเดียว แต่เป็นเรื่องระบบในร่างกายด้วย อย่างอาการของโรคเครียด ต่อมใต้สมองจะทำงานผิดปกติ ระบบการหลั่งสารเคมีและการหลั่งฮอร์โมนต่างๆ อยู่ในสภาวะแปรปรวน โดยเฉพาะนักศึกษาที่ต้องมาอยู่ใต้ความกดดัน ขาดการพักผ่อนติดต่อกันนานๆ จะยิ่งส่งผลให้ระบบคิดวิเคราะห์ย่ำแย่ลงเรื่อยๆ ซึ่งในสภาวะอย่างนี้มีแต่จะเสียกับเสีย

“มันเหมือนรถที่เครื่องมันพัง น้ำมันมันหมด ถ้าจะฝืนวิ่งต่อไปก็คงไปได้ไม่ไกล ก็เหมือนกับสุขภาพกายสุขภาพจิต คือถ้าเขาไม่ไหว เขาไม่โอเค เขาก็ทำอะไรต่อไม่ได้ พ่อแม่ก็ต้องเข้าใจตรงนี้แล้วอย่าฝืน ถ้าพ่อแม่ยิ่งฝืน ลูกก็จะยิ่งพังต่อไปเรื่อยๆ”

หัวหน้าภาควิจัยและจิตวิทยาการศึกษา กล่าว

การดรอปเรียนแตกต่างจาก ‘การซิ่ว’ ที่เป็นการลาออกจากมหาวิทยาลัย เพื่อไปสอบเข้าใหม่ในคณะหรือสถาบันที่ตนสนใจ แต่การดรอปเรียนจะยังคงสถานะความเป็นนักศึกษาเอาไว้ เพื่อที่จะได้กลับมาศึกษาต่อในคณะและชั้นปีเดิมที่เคยเรียนอีกครั้ง ระเบียบมหาวิทยาลัยส่วนใหญ่ จะอนุญาตให้พักการเรียนได้ไม่เกินสองภาคการศึกษา โดยในระหว่างนั้นไม่จำเป็นต้องจ่ายค่าเล่าเรียนรายเทอม เพียงแต่ต้องชำระค่าธรรมเนียมเพื่อคงสถานะนักศึกษาเอาไว้เท่านั้น

โดยปกติ การดรอปเรียนในระดับมหาวิทยาลัย เป็นสิ่งที่นักศึกษาสามารถดำเนินการได้ด้วยตนเอง เพราะอยู่ในสถานะที่เป็นผู้บรรลุนิติภาวะแล้ว เช่นเดียวกับการทำนิติกรรมในรูปแบบอื่นๆ แต่นักศึกษาหลายคนที่มีความต้องการนี้กลับไม่สามารถทำได้ เพราะผู้ปกครองของพวกเขาไม่เห็นความจำเป็นและไม่ยินยอมให้ขอพักการศึกษา

มหาวิทยาลัยมีช่องทางการลาพักการศึกษาไว้สำหรับนักศึกษาที่มีความจำเป็น ซึ่งสามารถดำเนินการผ่านฝ่ายงานทะเบียนของมหาวิทยาลัยหรือคณะได้โดยตรง

“เราเป็นโรคซึมเศร้า เขาบอกว่าเราคงไม่ได้ป่วยจริงๆ หรอก เราอยากดรอปเพราะเรียนไม่ไหว เขาก็ไม่ให้เราดรอป” กรีน (นามสมมติ) นักศึกษาคณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง บอกเล่าความรู้สึกของเธอ หลังจากที่ต้องรับมือกับภาวะซึมเศร้า และความกดดันในการเรียนมาถึงสี่ปีเต็ม

เธอต้องการที่จะขอลาพักการศึกษาเพื่อพักรักษาตัว แต่ติดปัญหาที่ครอบครัวของเธอไม่อนุญาต สุดท้ายเธอจึงต้องพยายามเรียนต่อไปทั้งสภาวะอย่างนั้น สิ่งที่ตามมาคือผลกระทบต่อทั้งสุขภาพกายและสุขภาพจิต วิตกกังวล สมาธิสั้น ความสามารถในการจดจำแย่ลง รู้สึกเหนื่อยง่าย ใจสั่น ไม่มีเรี่ยวแรงจะทำกิจกรรมใดๆ กระทบทั้งผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน และการใช้ชีวิตของเธอเป็นอย่างมาก

เช่นเดียวกับ นันทิชา คงดี นักศึกษาคณะบริหารธุรกิจและเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยราชมงคลสุวรรณภูมิ เธอถูกผู้ปกครองห้ามไม่ให้ดรอปเรียน เพราะมองว่าทำให้สูญเสียโอกาสทางการศึกษาไปโดยเปล่าประโยชน์ “เขาบอกว่ามันเสียเวลา จะดรอปทำไม อีกไม่กี่ปีก็จบแล้ว ทนๆ ไปอีกหน่อยก็สบายแล้ว”

นันทิชา คงดี นักศึกษาที่ต้องการดรอปเรียนเนื่องจากภาวะซึมเศร้า แต่ผู้ปกครองไม่อนุญาต

นันทิชายังเสริมว่า ครั้งหนึ่ง เมื่อญาติของเธอทราบถึงความต้องการอยากจะพักการศึกษาชั่วคราว ก็ตำหนิใส่อย่างหนักว่าเธอเป็นคนทิ้งการเรียน ‘สำออย’ ‘ใจแตก’ ไม่รู้จักคำนึงถึงอนาคตของตัวเอง ซึ่งเป็นสิ่งที่สะเทือนจิตใจของเธอมากๆ เพราะเธอรู้ตัวเองดีเสมอ ว่ายังคงตั้งมั่นที่จะศึกษาต่อไปจนจบหลักสูตร เพียงแค่ต้องการเวลาเพื่อปรับสภาพจิตใจก็เท่านั้น

เธอตัดพ้อทั้งน้ำเสียงสั่นเครือว่าทำไมผู้ใหญ่รอบตัวถึงไม่เข้าใจสภาวะที่เธอกำลังเป็นอยู่ พร้อมกับตั้งคำถามถึงสาเหตุที่คนรุ่นพ่อแม่มีความคิดแง่ลบต่อการดรอปเรียน 

อรรถพล อนันตวรสกุล ผู้ช่วยศาสตราจารย์ประจำภาควิชาสังคมศึกษา คณะครุศาสตร์ จุฬาฯ อธิบายถึงที่มาของทัศนคติของคนวัยผู้ใหญ่ต่อภาวะซึมเศร้าในเด็กมหาวิทยาลัย ว่าเป็นสิ่งที่ค่อนข้างใหม่ เมื่อเทียบกับอดีตที่ไม่เคยมีการให้นิยามหรือคำอธิบายที่แน่ชัดดังปัจจุบัน ทำให้ผู้ปกครองบางส่วนยังไม่รู้ถึงลักษณะอาการ ผลกระทบ หรือแม้กระทั่งวิธีรับมือ ว่าภาวะซึมเศร้านั้นเป็นปัญหาต่อการเรียนและการใช้ชีวิตของเด็กอย่างไร

“พ่อแม่ คนรุ่นนี้เขาไม่รู้จักคำว่า ‘ซึมเศร้า’ เสียด้วยซ้ำ เขาก็จะมองว่าทุกอย่างคือการต้องฮึดสู้ ต้องสู้สิลูก คือเขาไม่มีความเข้าใจเรื่องนี้ เพราะ ณ เวลาหนึ่ง ลักษณะอาการแบบนี้มันไม่ถือว่าผิดปกติในสังคมเขา ‘อ่อนแอก็แพ้ไป’ เขาโตมากับชุดความคิดแบบนี้ คนยุคเบบี้บูมเป็นกันหมด”

อรรถพล กล่าว

ในส่วนของทัศนคติเรื่องการดรอปเรียน อรรถพลให้มุมมองว่าส่วนใหญ่จะเป็นเพียงคนรุ่นก่อนเท่านั้น ที่มองว่าการซิ่วหรือการดรอปเรียนเป็นเรื่องร้ายแรง สาเหตุมาจากการถูกปลูกฝังในยุคที่ประชากรเด็กมีมาก คนที่พลาดโอกาสในการเรียนจะไม่สามารถมีการงานหรือคุณภาพชีวิตที่ดีได้ในสังคม ทำให้มีการแก่งแย่งแข่งขันกันเรียน และให้ค่ากับความรวดเร็วในการจบการศึกษาอย่างมาก ส่วนคนรุ่นหลังจะมองว่าการดรอปเรียนเป็นทางเลือกใหม่ในการศึกษา แสดงให้เห็นถึงค่านิยมด้านการเรียนที่กำลังเปลี่ยนแปลงไป เฉกเช่นเดียวกับค่านิยมในเรื่องอื่นๆ

อาจารย์ประจำคณะครุศาสตร์ ยังกล่าวอีกว่า การจะเปลี่ยนทัศนคติของคนรุ่นก่อนได้นั้น ต้องอาศัยการอธิบายชุดข้อมูล องค์ความรู้ใหม่ๆ ทั้งเรื่องของสภาวะทางจิตใจ และทางเลือกที่มีความหลากหลายในการศึกษา ให้เห็นอย่างชัดเจนเป็นเหตุเป็นผลผ่านการสื่อสารในทุกระดับ ทั้งจากคนที่เป็นลูกสู่พ่อแม่ เด็กสู่ผู้ใหญ่ และอาศัยความเอาจริงเอาจังของฝั่งสื่อสารมวลชน ที่มีบทบาทในการเผยแพร่และปลูกฝังความเข้าใจให้แก่คนในสังคม เพื่อให้เกิดการตระหนักรู้ในวงกว้างมากขึ้นต่อไป

“จริงๆ การพักการเรียนเนื่องจากการเจ็บไข้ได้ป่วย ไม่ว่าจะเป็นทางกายหรือทางใจ มันเป็นช่องทางหนึ่งที่เราจะทำได้ และยิ่งโดยเฉพาะในปัจจุบัน เด็กๆ มีความเปราะบางทางจิตใจสูงมาก ดังนั้นพ่อแม่น่าจะเลือกวิธีการที่ให้ลูกได้ดรอป เพื่อรักษาหรือเพื่อเยียวยา” ไศลทิพย์ จารุภูมิ รองคณบดีฝ่ายบริหาร คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาฯ แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการดรอปเรียน ในฐานะที่ตนทำงานเป็นผู้ประสานใกล้ชิดระหว่างฝ่ายผู้ปกครองและนักศึกษา ทั้งในฐานะอดีตรองคณบดีฝ่ายกิจการนิสิตและอาจารย์ที่ปรึกษามาเป็นเวลากว่ายี่สิบปี 

ไศลทิพย์แนะนำว่า นักศึกษาที่เครียดจากการต้องเรียนหนัก อาจเพราะต้องเจอกับวิชาที่สอบผ่านยาก หรือจำเป็นต้องลงหน่วยกิตรายเทอมทีละมากๆ สามารถแบ่งหน่วยกิตในแต่ละเทอมให้น้อยลง เพื่อช่วยลดความกดดันได้ แต่สุดท้ายก็อาจต้องยืดระยะเวลาจบการศึกษาออกไปอยู่ดี 

อดีตรองคณบดีฝ่ายกิจการนิสิต คณะนิเทศศาสตร์ มองว่าการพักการศึกษาสักหนึ่งเทอมหรือหนึ่งปี เพื่อรักษาตัวให้หายแล้วค่อยกลับมาเรียนนั้นคุ้มค่ากว่า เพราะนอกจากจะช่วยร่นระยะเวลาในการรักษาแล้ว ยังไม่จำเป็นต้องเสียค่าเล่าเรียนเต็มจำนวนอีกด้วย “พร้อมเมื่อไหร่แล้วค่อยมาเรียน ดีกว่าฝืนลงทุนไปแล้วก็ไม่จบ”

ไศลทิพย์ จารุภูมิ อดีตรองคณบดีฝ่ายกิจการนิสิต ผู้ซึ่งทำงานประสานใกล้ชิดกับทั้งผู้ปกครองและนักศึกษามาเป็นเวลานาน

นอกจากนี้ ระหว่างช่วงพักการศึกษา เพื่อไม่ให้เวลาสูญเปล่า ไศลทิพย์ ได้ให้คำแนะนำไว้ว่า นักศึกษาควรเข้ารับการรักษาและกินยาตามคำสั่งแพทย์อย่างต่อเนื่อง อีกทั้งต้องระมัดระวังการรักษาสภาพจิตใจเป็นพิเศษ ควรที่จะถอยห่างจากสิ่งกระตุ้นที่ทำให้เกิดความรู้สึกแง่ลบ เรียนรู้ที่จะปล่อยวาง และหลีกเลี่ยงการเปรียบเทียบ

เมื่อสภาพจิตใจดีขึ้นในระดับหนึ่ง อาจจะใช้เวลาที่เหลือในการฝึกฝน หรือเพิ่มพูนทักษะที่ตนสนใจได้ เช่น การฝึกภาษา เล่นดนตรี ทำงานอดิเรกต่างๆ นอกจากนี้ยังแนะนำให้แบ่งเวลาออกกำลังกายสักเล็กน้อย เพื่อเป็นการปรับสมดุลฮอร์โมนและสารสื่อประสาทให้ทำงานได้ปกติยิ่งขึ้น

“อย่างน้อยถ้าดรอปได้หนึ่งเทอมแล้วกลับมาเรียน มันก็เสียเวลาไปแค่เทอมเดียว หรือก็คือสี่เดือนเอง ลูกอาจจะจบช้าออกไปอีกหนึ่งเทอม อาจจะกลายเป็นสี่ปีครึ่ง หรือหกปีครึ่ง ซึ่งการที่เด็กเสียเวลาไปแค่ครึ่งเทอม มองว่าคุ้มค่ากว่าการที่จะต้องเสียลูกไปทั้งคน” รองคณบดีฝ่ายบริหาร กล่าว

%d bloggers like this: