Top Stories Travel

“บ้านแม่กำปอง” ชุมชนที่ยืนหยัดได้ด้วยตนเอง

“นิสิตนักศึกษา” ชวนผู้อ่านร่วมเดินทางสัมผัสวิถีชีวิตในหมู่บ้าน “แม่กำปอง” ที่ซึ่งองค์ความรู้ของคนในชุมชน สอดประสานกับธรรมชาติอันอุดมสมบูรณ์

เรื่อง : ณฐบงกช ชยรักษ์  ภาพ : ศุภกานต์ ผดุงใจ

“หากเกิดเหตุฉุกเฉินกรุณาถอดหน้ากากอนามัย ก่อนสวมใส่หน้ากากออกซิเจนค่ะ” พนักงานต้อนรับบนเครื่องบินประกาศขณะเครื่องบินกำลังเคลื่อนตัวก่อนจะมุ่งหน้าสู่ท่าอากาศยานนานาชาติเชียงใหม่ การเดินทางเเรกของ “นิสิตนักศึกษา” หลังการระบาดของโรคโควิด-19 เพื่อสัมผัสกับวิถีชีวิตเเละความเป็นอยู่ของ “หมู่บ้านเเม่กำปอง” 

รถตู้แล่นฉิวลัดเลาะไปตามเส้นทางคดเคี้ยวขบาบข้างด้วยภูเขาสูง ผู้โดยสารหลายคนสลบไสลจากความเหนื่อยล้าของการเดินทาง เเต่หากมองผ่านออกไปนอกหน้าต่าง จะพบกับต้นไม้สูงใหญ่เเละ “ดอกกำปอง” ดอกไม้สีเหลืองแดงริมแม่น้ำลำห้วยที่ขึ้นอยู่เป็นจำนวนมาก การรวมชื่อดอกไม้กับลักษณะภูมิประเทศที่มีแม่น้ำไหลตัดผ่าน นั่นจึงกลายเป็นที่มาของ “เเม่กำปอง” ปลายทางของเรา

ผู้คนที่มาเยือนก่อนหน้าต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่าหมู่บ้านแห่งนี้เป็น “ชุมชนเชิงอนุรักษ์แบบยั่งยืน” ที่ตั้งอยู่ท่ามกลางหุบเขาและป่าไม้อันอุดมสมบูรณ์บนพื้นที่กิ่งอำเภอแม่ออน ห่างจากตัวเมืองเชียงใหม่กว่าห้าสิบกิโลเมตร หากเเต่พวกเรายังไม่มีใครนึกภาพออกว่าความยั่งยืนที่ว่านั้นคืออะไร

บ้านเรือนและร้านค้าเต็มถนนสองข้างทางหมู่บ้าน

ไม่นานเราก็เข้าสู่ตัวหมู่บ้านเเม่กำปอง เเสงเเดดยามสายส่องกระทบบ้านเรือนริมสองข้างทางถนนสองเลนที่ทอดยาวไปสุดสายตา บ้านเรือนเเละร้านค้าต่างดูเรียบง่ายอย่างกลมกลืน ไร้รีสอร์ตสีสันฉูดฉาดและตึกสูงทันสมัยเหมือนหลายดอยที่เคยผ่านตา ทั้งยังห้อมล้อมไปด้วยความอุดมสมบูรณ์ของหุบเขาเขียวขจี เคียงด้วยเสียงลำธารไหลขับกล่อม 

ทีม “นิสิตนักศึกษา” จึงมุ่งหน้าสู่ร้านกาแฟ “ชมนกชมไม้” หนึ่งในร้านกาแฟเก่าแก่ของแม่กำปอง ห้องคั่วกาแฟเล็กๆ ส่งกลิ่นหอมอบอวลไปทั่วทั้งร้าน แดดอ่อนๆ ลอดผ่านหน้าต่างบานเล็กกระทบกับเก้าอี้ไม้ ในบรรยากาศอุ่นๆ เสียงสรรพสัตว์ขับร้องท่ามกลางธรรมชาติเป็นเสน่ห์ที่หาไม่ได้จากร้านกาแฟในตัวเมือง 

ภายในร้านมีวงสนทนาหนึ่งกำลังพูดคุยกันอย่างสนุกสนาน โดยมี ศุภฤกษ์ กรรณกุลสุนทร หรือ หนึ่ง ร่วมวงอยู่ด้วย หนุ่มใหญ่ท่านนี้คือคนกรุงผู้หนีความวุ่นวายจากตัวเมืองเชียงใหม่มาใช้ชีวิตเเบบเกษตรกรที่เเม่กำปองมาร่วมสิบปีแล้ว เพียงเพราะหลงเสน่ห์ของ หมู่บ้านเเห่งนี้

ศุภฤกษ์ กรรณกุลสุนทร เจ้าของร้านกาแฟชมนกชมไม้

หนึ่งเล่าว่า ชาวบ้านที่นี่ทำเกษตรกรรมจนสามารถพึ่งพาตนเองด้วยการปลูกต้นเมี่ยงหรือที่คนทั่วไปเรียกกันว่าต้นชา เเซมไปกับป่าธรรมชาติ โดยใบเมี่ยงนี้สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้หลายอย่าง เช่น สมุนไพรเพื่อรักษาโรค หมอนใบชาสำหรับดูดกลิ่นอับชื้น หรืออาหารพื้นเมืองรสชาติเข้มข้นอย่าง ‘ยำใบเมี่ยง’ เป็นต้น

“ชาวบ้านที่นี่ปลูกเมี่ยงกับกาแฟได้ดีเหมือนมีเทวดาช่วยเลี้ยง และเมื่อเราเป็นผู้ปลูกก็ควรทำมันแบบครบวงจร เพราะถ้าขายให้แค่พ่อค้าคนกลาง เราก็คงอยู่ไม่ได้ เกษตรกรต้องทำให้ถึงปลายทางและมันจะเพิ่มมูลค่าให้กับเรา”

ศุภฤกษ์ กรรณกุลสุนทร

นอกจากนี้คนในหมู่บ้านยังมีการปลูกกาแฟพันธุ์อาราบิก้าด้วยวิธีปลูกพืชแบบผสมผสานบนเขตพื้นที่ตัวเอง โดยฤดูการเก็บเกี่ยวกาแฟจะอยู่ในช่วงเดือนพฤศจิกายนถึงธันวาคมของทุกปี และเมื่อเก็บเกี่ยวผลผลิตที่ได้แล้ว ต่างคนจะนำไปใช้ตามแต่ประโยชน์ของตน บ้างนำเมล็ดกาแฟที่ยังเป็นสีแดงก่ำไปชั่งกิโลขาย บ้างนำไปผ่านกระบวนการแปรรูปอื่นๆ เพื่อส่งออกไปยังที่ต่างๆ ซึ่งวิถีชีวิตดังกล่าวจะสร้างรายได้กลับสู่ชุมชน เเละรายได้ส่วนนี้เองที่จะมาช่วยจุนเจือหมู่บ้านแห่งนี้จากการขาดนักท่องเที่ยว อันเป็นผลมาจากสถานการณ์โควิด-19

 กาแฟพันธุ์อาราบิก้า ผลิตผลที่สร้างรายได้ให้กับชาวบ้านในแม่กำปอง

รุ่งขึ้นที่เเม่กำปอง เริ่มต้นพร้อมอากาศหนาวเย็นจากละอองฝนหางพายุโนอึลซึ่งโรยรายลงมาราวกับหิมะ เเสงเเดดอ่อนแทรกตัวส่องกระทบพื้น กลิ่นหอมไอดินท่ามกลางป่าฟุ้งไปทั่วบริเวณ ลัดดา บุญเลิศ หรือ แอ๊ด เจ้าของบ้านที่พวกเราอาศัยชวนพวกเราเข้าครัวทำอาหารเช้าร่วมกัน มื้อนี้ป้าเเอ๊ดเตรียมทำน้ำพริกอ่อง ไข่ป่าม เเละลูกมะระหวานผัดไข่ โดยมีพวกเราผลัดกันเป็นลูกมือเฉกเช่นลูกหลาน วิถีชีวิตอันเรียบง่ายนี้สร้างความประทับใจแก่ทุกคนได้อย่างดี

หลังมื้อเช้าไม่นาน ไกรสิน นิพาพันธ์ หรือสิน ผู้นำทางท้องถิ่นที่ป้าเเอ๊ดเเนะนำให้ก็มาถึง พร้อมพาพวกเราเข้าสำรวจป่าในวันนี้ จากพื้นลาดยางเริ่มกลายเป็นดินเเละหิน ไม่นานไกรสินก็เดินหายเข้าไปในพุ่มไม้ เเละนั่นคือจุดเริ่มต้นของเส้นทางเดินป่าของพวกเราในวันนี้ ยิ่งเดินลึกเข้าไปมากเท่าไร อากาศก็เย็นเเละชื้นมากขึ้นเท่านั้น เสียงนกเเละเเมลงดังขึ้นเรื่อยๆ หรือนั่นอาจเป็นเพราะความเงียบที่มากขึ้นด้วยเช่นกัน จากไม้ต้นเล็กเริ่มใหญ่ขึ้น ทั้งไผ่ ต้นกล้วย ไม้ป่า รวมถึงไม้หอม “ที่เขาเอาไปใช้ในงานศพในหลวง” ไกรสินฝานพร้อมส่งให้พวกเราผลัดกันดม

ไกรสิน นิพาพันธ์ ไกด์ชุมชนหมู่บ้านแม่กำปอง

“ต้นไผ่ ต้นกล้วย ต้นหน่อไม้เนี่ย ชาวบ้านชอบเอาไปทำอาหาร ต้นตะไคร้ป่าก็เอามาทำยากันยุง หรือไม้ฮวกที่เราเห็นนี่ก็เอาไปทำรั้ว ตกแต่งบ้านอะไรได้ ถ้าเดินๆ อยู่เจออีกก็บอกลุงด้วยนะ เดี๋ยวลุงกลับมาเก็บ”

ไกรสิน นิพาพันธ์

พวกเราเดินตามหลังไกรสินต่อไปอย่างทุลักทุเล ด้วยความไม่คุ้นชินกับพื้นที่ ไกรสินเล่าให้ฟังว่า ป่าแห่งนี้เปรียบเสมือนแหล่งหล่อเลี้ยงชีวิตของคนแม่กำปอง ที่ชาวบ้านสามารถใช้ประโยชน์ได้นานัปการ น้ำที่ใช้ดื่มใช้อาบกันนั้นก็มีต้นสายมาจากที่นี่เช่นกัน “ตาน้ำ” ผุดขึ้นมาจากพื้นดินตามธรรมชาติมาเก็บไว้ในแอ่งน้ำขนาดใหญ่ภายใต้ร่มเงาของ “ต้นตายาย” ต้นไม้ขนาดใหญ่กว่าสามสิบคนโอบสองต้นซึ่งตั้งตระหง่านอยู่กลางป่า ชาวบ้านนับถือต้นไม้นี้เป็นดังญาติผู้ใหญ่ของเเม่กำปอง อีกทั้งยังถือเป็นจุดใจกลางของหมู่บ้านอีกด้วย

ไกรสินพาทีมนิสิตนักศึกษาสำรวจป่าแม่กำปอง

หลังออกมาจากผืนป่าแม่กำปองอันเขียวชอุ่ม ไกรสินก็นำชมบ้านเรือนต่างๆ ในหมู่บ้าน น่าสังเกตว่าคนที่นี่ดูมีมนุษย์สัมพันธ์ที่ดีและต้อนรับพวกเราอย่างเป็นมิตร ยิ้มหวานทักทายตลอดทาง ทีมนิสิตนักศึกษาเดินไปเรื่อยๆ ท่ามกลางละอองฝนที่พร่างพรายมาจากฟ้า จนมาถึง วัดคันธาพฤกษา หรือโบสถ์กลางน้ำ สถานที่ที่เราได้สัมผัสถึงความสงบนิ่งท่ามกลางสายน้ำเชี่ยวของลำธาร การได้นั่งนิ่งๆ อย่างสงบ ท่ามกลางเสียงของกระแสน้ำช่างเป็นความรู้สึกที่น่าอัศจรรย์

ไกรสินเล่าว่าสมัยก่อนช่วงแรกๆ ที่แม่กำปองเริ่มมีการทำธุรกิจโฮมสเตย์ ชาวบ้านมักจะมาร่วมด้วยช่วยกันทำอาหารที่นี่ แล้วค่อยแจกจ่ายไปยังแต่ละบ้านพัก แต่ในระยะหลังที่แต่ละบ้านเริ่มมีระบบการจัดการที่ดีขึ้น ก็สามารถทำที่บ้านของตนได้ กระนั้นที่แห่งนี้ก็ยังคงเป็นแหล่งนัดรวมตัวของคนในชุมชนเมื่อยามต้องการเกื้อกูล

เช้าวันสุดท้ายที่เเม่กำปอง เสียงฟ้าคร่ำครวญยังคงกังวาลไปทั้งป่า พวกเราถือร่มคนละคันฝ่าลมเเรงซัดผ่าน มุ่งหน้าสู่บ้านของ ธีรเมศวร์ ขจรพัฒนาภิรมย์ หรือที่ชาวบ้านเรียกกันอย่างติดปากว่า พ่อหลวงพรหมมินทร์ (พ่อหลวงในภาษาเหนือแปลว่าผู้ใหญ่บ้าน) บุคคลที่เปรียบเสมือนเสาหลักของแม่กำปอง ปัจจุบันพ่อหลวงดำรงตำแหน่งประธานเครือข่ายการท่องเที่ยวชุมชน 

 พ่อหลวงพรหมมินทร์ บุคลลผู้เป็นเสมือนเสาหลักของหมู่บ้านแม่กำปอง

“ผมมองว่าแม่กำปองมีต้นทุนอยู่สามอย่างคือ ธรรมชาติ วิถีชีวิต วัฒนธรรม ที่เราควรพัฒนาควบคู่ไปกับการอนุรักษ์ ผมเลยเล็งเห็นช่องทางที่จะทำให้แม่กำปองเป็นหมู่บ้านที่อยู่ได้ด้วยตัวเองอย่างยั่งยืนได้ ก่อนอื่นคือกันนายทุนจากข้างนอกไม่ให้เข้ามาทำธุรกิจและสิ่งก่อสร้าง เราเน้นไม่ให้ขึ้นเป็นตึกโรงแรมเหมือนที่อื่น”

ธีรเมศวร์ ขจรพัฒนาภิรมย์

พ่อหลวงเล่าว่า ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2559 หมู่บ้านแม่กำปองมีนโยบายอย่างชัดเจนว่า “ห้ามบุคคลภายนอกเข้ามาประกอบธุรกิจ” เพื่อเปิดพื้นที่ทำกินให้กับชาวบ้าน ซึ่งในขณะนี้การท่องเที่ยวถือเป็นรายได้หลักของหมู่บ้าน โดยตัวเขาเองใช้เวลาสร้างความเข้าใจกับชาวบ้านถึงสี่ปีในการเตรียมหมู่บ้านเพื่อเปลี่ยนให้เป็นแหล่งท่องเที่ยว ด้วยการอธิบายกับชาวบ้านว่า บ้านพักหรือโฮมสเตย์คือต้นทุนที่ชาวบ้านมีอยู่แล้ว หากเปิดให้นักท่องเที่ยวเข้ามาพักชั่วคราว จะสามารถสร้างรายได้อย่างยั่งยืนเพราะเป็นสิ่งที่นักท่องเที่ยวซื้อแล้วเอาไปไม่ได้ ในขณะเดียวกันก็ยังให้ชาวบ้านรักษาอาชีพดั้งเดิมอย่างการทำเมี่ยงและกาแฟควบคู่ไป เพราะหากวันหนึ่งที่เกิดเหตุสุดวิสัยขาดนักท่องเที่ยว ก็ยังคงมีรายได้ต่อไป

“นอกจากพัฒนาและอนุรักษ์การท่องเที่ยวแล้ว ตอนนี้ผมเติมลงไปอีกอย่างคือ ‘ทายาทคืนถิ่น’ อย่างร้านข้าวซอยกลอยใจ ร้านไส้อั่วแม่นิ่ม และอีกหลายๆ ร้าน ลูกหลานเรียนปริญญาตรี ปริญญาโท ก็กลับมาทำงานที่นี่”

ธีรเมศวร์ ขจรพัฒนาภิรมย์

คนรุ่นใหม่เลือกที่จะกลับมาพัฒนาบ้านเกิด ด้วยเหตุผลที่ว่า “ที่บ้าน” มีช่องทางการหาเลี้ยงชีพที่สามารถพึ่งพาตัวเองได้ อีกทั้งมีอิสระ ไม่ต้องอยู่ใต้กฎเกณฑ์ของบริษัทหรือข้อจำกัดที่ไม่จำเป็น สร้างความสบายใจมากกว่าการทำงานไกลในตัวเมือง

ด้วยนโยบายที่เน้นการพึ่งพาตนเอง ทำให้ปัจจุบันหมู่บ้านแม่กำปองมีกองทุนที่เป็นสวัสดิการด้านการศึกษา การรักษาพยาบาล รวมถึงเป็นแหล่งเงินทุนให้กับคนในชุมชนได้ยืม โดยมีเงื่อนไขว่าจะต้องเข้าร่วมกิจกรรมของชุมชนอย่างประชุมหมู่บ้านหรือทำแนวกันไฟป่า เป็นต้น

“กัลยาณมิตรถือเป็นปัจจัยหนึ่งแห่งความสำเร็จ เราต้องใช้แรงร่วมมือของทุกคน ชุมชนเราถึงจะอยู่ได้”

ธีรเมศวร์ ขจรพัฒนาภิรมย์

ความร่วมมือ ความรัก เเละความห่วงใยของคนในชุมชนที่ต่างยึดโยงให้เเม่กำปองมีความเข้มแข็งจนนักท่องเที่ยวอย่างเราสัมผัสได้ อีกทั้งการส่งต่อองค์ความรู้ท้องถิ่นสู่กันและกัน ท่ามกลางการอยู่อาศัยคู่กับธรรมชาติอย่างเกื้อกูล ช่างเป็นมนต์เสน่ห์อันสำคัญที่ทำให้รู้สึกว่าหากมีโอกาสก็พร้อมจะกลับมายังดินแดนอันอบอุ่นบนดอยสูงแห่งนี้ทุกเมื่อ 

%d bloggers like this: