Art & Culture Community Interview Lifestyle Top Stories Travel

พระนครในวันเก่าจากเรื่องเล่าของชาวจีนสยาม

ภาพในวันวานดลบันดาลให้ "นิสิตนักศึกษา" ออกตามหา "ความทรงจำ" ของผู้คนในเขต "พระนคร" ผ่านเรื่องเล่าที่ไม่ถูกบันทึกของคนในชุมชน

เรื่อง-ภาพ: วโรดม เตชศรีสุธี และ สิทธิเดช มั่นทอง

วัด วัง ตลาด ร้านกาแฟ ร้านถ่ายภาพ รถราง สามล้อถีบ และสถานีโทรทัศน์

คือ “หลักฐานและความทรงจำ” แห่งคืนวันที่เคยรุ่งเรืองและเมืองที่เคยรุ่งโรจน์ของ “เขตพระนคร” ซึ่งได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี ให้ตั้งเป็นพื้นที่อนุรักษ์เมืองเก่าอายุกว่า 92 ปี เพื่อธำรงคุณค่าทางวัฒนธรรมและพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวให้ชาวไทยและชาวต่างชาติได้ศึกษาประวัติศาสตร์ที่เริ่มเลือนหาย แต่ขณะที่เวลาชะล้างเรื่องราวไปจากการมองเห็น “ชาวจีนในพระนคร” และสถานที่เก่าแก่หลายแห่งบนถนนสายวัฒนธรรมกลับฉาย “ภาพ” ในวันวานให้เราได้ทัศนาอย่างชัดเจน

บางขุนพรหมเมื่อครั้งยังเยาว์

สองเท้าก้าวลงบนกระเบื้องปูนสีเทาเข้ม รอบด้านไร้ร่มเงาไม้ เหนือหัวมีเพียงสะพานพระราม 8 สิ่งก่อสร้างอายุ 18 ปี ซึ่งถือเป็นน้องใหม่ของย่านเมื่อเทียบกับอายุตึกแถวที่เรียงรายอยู่ริมถนนวิสุทธิ์กษัตริย์ “สี่แยกบางขุนพรหม”

อาคารส่วนใหญ่ยังคงสภาพเดิมตลอดเวลากว่า 70 ปี โดยโครงสร้างภายนอกของตึกทำมาจากปูน ส่วนหน้าต่างบริเวณชั้นสองทำจากไม้แบบที่มักเห็นในละครย้อนยุค ประตูเหล็กยืดแบบโบราณยังมีให้เห็นอยู่ประปราย แต่สิ่งที่กำลังจะหายไปคือ คนในชุมชนดั้งเดิมและความทรงจำที่ไม่เคยถูกบันทึก

ภาพถ่ายสี่แยกบางขุนพรหมในอดีต

ชนินทร์ เตชศรีสุธี อายุ 65 ปี หนึ่งในเจ้าของร้านห้องภาพสุวรรณ ร้านโปสเตอร์เก่าแก่ขนาดสามคูหาที่ตั้งอยู่ ณ หัวมุมหนึ่งของสี่แยก เล่าถึงความเปลี่ยนแปลงให้ฟังว่า เดิมพื้นที่หน้าบ้านเป็นถนนโล่งกว้าง สมัยเด็กสามารถลงไปวิ่งเล่นคู่กับรถได้ ต่อมาราว 50 ปีก่อน จึงมีการปลูกต้นไม้ริมทางเพื่อให้ร่มเงา และสร้างทางเท้ากว้างประมาณสี่เมตรแบ่งระหว่างพื้นบ้านและพื้นถนน

“ส่วนตอนนี้เหลือที่ให้เดินแค่หนึ่งเมตร เพราะรัฐบาลขอพื้นที่ไปใช้ตั้งเสาค้ำสะพานพระราม 8 รวมถึงขยายถนนสองฝั่งเสาค้ำเป็นอย่างละสองเลน”

ชนินทร์ เตชศรีสุธี

อีกมุมของสี่แยก คือ “วังบางขุนพรหม” ซึ่งสมัยก่อนเขาและเพื่อนเข้าไปวิ่งเล่นกันเป็นประจำ กระทั่งในยุคบุกเบิกวงการโทรทัศน์ปี 2498 ด้านหน้าวังถูกแบ่งให้เป็นที่ตั้งของ “สถานีโทรทัศน์ไทยทีวีช่อง 4 บางขุนพรหม” สถานีโทรทัศน์ภาคพื้นดินแห่งแรกของประเทศ ก่อนจะเปลี่ยนเป็น “ธนาคารแห่งประเทศไทย” ในปัจจุบัน ทำให้หลังจากนั้นเด็กๆ ก็ไม่ได้เข้าไปวิ่งเล่นกันอีก

อรพิณ พี่สาวคนโตของชนินทร์ในวัย 80 ปี ย้อนวันวานให้ฟังว่า สมัยก่อนมีต้นไม้ขึ้นอยู่หลายชนิด เมื่อน้องชายเข้าไปยิงมะขาม เธอจะชอบเข้าไปเก็บลูกหว้า ส่วนพี่สาวคนที่สี่อย่าง รัมภา อายุ 69 ปี นึกถึงต้นพิกุลภายในวัดอินทรวิหารที่ในปัจจุบันไม่มีเหลือแล้ว “ดอกเล็กแต่หอม ฉันชอบเอามาร้อยมาลัยเล่น” สองพี่น้องประสานเสียงพร้อมรอยยิ้ม

ภาพถ่ายบริเวณหน้าสถานีโทรทัศน์ไทยทีวีช่อง 4 บางขุนพรหม

ประวัติศาสตร์และศรัทธาบนจิตรกรรมฝาผนัง

ใช้เวลาเพียงสามนาทีจากสี่แยกบางขุนพรหมมายัง “วัดอินทรวิหาร” เพื่อชมภาพจิตรกรรมฝาผนังภายในพระอุโบสถที่เล่าถึงชีวประวัติของสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พฺรหฺมรํสี) หรือสมเด็จวัดระฆัง ซึ่งต่างไปจากขนบของงานศิลปะแขนงนี้ที่ภาพพุทธชาดกหรือพุทธประวัติมักเป็นเนื้อหาหลักในการนำเสนอ ผลงานดังกล่าวยังถือเป็นการบันทึกชีวประวัติของพระมหาเถระแห่งเดียวในประเทศไทยนี้ ที่สะท้อนทั้งวิถีชีวิต สภาพสังคม ความเชื่อและสถาปัตยกรรม ตลอดยุครัตนโกสินทร์ตอนต้นจนถึงสมัยรัชกาลที่ 9 ได้อย่างเห็นภาพรวม

ชีวประวัติของสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พฺรหฺมรํสี) บนฝาผนังภายในพระอุโบสถ วัดอินทรวิหาร

พระเครื่องรุ่นดังและปูชนียวัตถุที่สมเด็จโตฯ เป็นประธานในการสร้าง รวมถึงพุทธสถานสำคัญหลายแห่งในประเทศไทยปรากฏอยู่บนผนังรอบด้าน แสดงให้เห็นถึงสังคมที่ตั้งอยู่บนความเชื่อและความศรัทธา ทั้งในพุทธศาสนาและตัวบุคคล เมื่อมองไปยังผนังด้านซ้ายมือของพระประธาน เราสะดุดตากับภาพวังบางขุนพรหมและชาวบ้านที่นุ่งผ้าซิ่น สวมเสื้อแขนยาวทรงกระบอกตามแบบชาวลาว

ภาพวาดพระเครื่องและปูชนียวัตถุที่สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พฺรหฺมรํสี) เป็นประธานในการสร้าง
ภาพชาวลาวในบริเวณวัดอินทรวิหารเข้ามานมัสการสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พฺรหฺมรํสี)

พระโสภณธรรมวงศ์ (ดร. วศก ปญฺญาอกฺโข) เจ้าอาวาสวัดอินทรวิหาร พระอารามหลวง เล่าให้ฟังว่า วัดแห่งนี้สร้างขึ้นในสมัยอยุธยาตอนปลาย มีชื่อเรียกว่าวัดไร่พริก เพราะตั้งอยู่ใน “สวนผักของชาวจีน” ในตำบลไร่พริก ต่อมาจึงเปลี่ยนชื่อเป็นวัดบางขุนพรหม ตามชื่อของ “ขุนพรหม” ที่ชาวบ้านเชื่อว่า เป็นขุนนางที่เข้ามาอาศัยในขณะนั้น ส่วนชาวลาวนั้นเข้ามาในสมัยกรุงธนบุรีพร้อมโอรสของกษัตริย์ชาวลาวนามว่า “เจ้าอินทวงศ์” เมื่อเจ้าอินทวงศ์มาประทับและบูรณะวัดแห่งนี้ จึงถูกเรียกว่าวัดอินทาราม กระทั่งในสมัยรัชกาลที่ 5 วัดแห่งนี้ถูกถนนตัดแบ่งเป็นวัดบางขุนพรหมนอก หรือวัดใหม่อมตรส (อะ-มะ-ตะ-รด) และวัดบางขุนพรหมใน หรือวัดอินทรวิหาร

แต่เมื่อสอบถามถึงชาวจีนที่อาศัยอยู่ในเขตพระนครมาแต่เดิมกลับไม่พบข้อมูลใดเพิ่มเติม

ห้องภาพสุวรรณ: บันทึกความทรงจำชาวจีนในพระนคร

“ก็เราไงคนจีนที่อยู่มา 90 ปีได้แล้ว” ชนินทร์เอ่ยพลางมองภาพฟิล์มสีขาวดำในมือ ขณะนี้เขานั่งอยู่ภายในร้าน “ห้องภาพสุวรรณ” ที่ครอบครัวเป็นเจ้าของร่วมกัน

ราวปี 2459 ลีกัง แซ่แต้ ชาวจีนแต้จิ๋วผู้อพยพจากประเทศจีนมาถึงแผ่นดินสยาม เขาเริ่มงานเป็นกุลีเพื่อหาเงินซื้อตั๋วเรือสำเภาส่งกลับไปให้ภรรยาและลูกชายเพื่อเดินทางมาเริ่มชีวิตใหม่พร้อมกัน ระยะแรกลีกังเช่าบ้านไม้บนพื้นที่ที่กลายเป็นร้านห้องภาพสุวรรณในปัจจุบัน เพื่ออยู่อาศัยและเปิดร้านกาแฟแบบชง

“ลูกค้าสมัยนั้นมีทั้งคนไทยและคนจีน พวกสามล้อถีบจะมาจอดรถนั่งดื่มกาแฟที่โต๊ะกลมภายในร้าน แม่ของผมก็ขายไข่ลวก ปาท่องโก๋ และขนมปังสังขยาเสริม แต่ทำได้ไม่นานก็ต้องปิดตัวลง เพราะเทศบาลกล่าวหาว่าร้านเราทำสกปรก” เขาเล่าจากความทรงจำ หลังจากนั้นครอบครัวก็ได้เรียนรู้วิธีการคั่วกาแฟจากญาติชาวจีนที่เดินทางมาถึงสยามก่อน เกิดเป็น “กาแฟตราหงส์” กาแฟโบราณสูตรดั้งเดิมที่ยังมีอยู่จนถึงปัจจุบัน และไม่นานจากนั้น ชวนไชย เตชศรีสุธี บุตรคนโตของลีกังก็ริเริ่มกิจการล้างรูปห้องภาพสุวรรณ ไปพร้อมกัน

เมื่อชวนไชยเริ่มเบื่อ เขาได้มองหาความท้าทายอีกครั้งด้วยการเปิดธุรกิจโรงพิมพ์ โดยนำเข้าเครื่องพิมพ์ออฟเซ็ต (Offset) มาจากต่างประเทศ เพื่อเริ่มทำหนังสือรวมภาพดาราต่างชาติชื่อ สตาร์ ออกจำหน่าย จากนั้นจึงเปิดกิจการนิตยสาร สตาร์พิกส์ ที่ยังพิมพ์อยู่จนถึงปัจจุบัน ชวนไชยผู้มีหัวด้านการค้า เริ่มตีตลาดไทยโดยพิมพ์ภาพดาราไทยบ้าง ปรากฏว่าขายดีกว่าเดิมเป็นเท่าตัว “แต่พอพี่ชายเบื่ออีก เขาก็หาอะไรทำใหม่ คราวนี้เลยสร้างภาพยนตร์เรื่อง โทน ร่วมกับเปี๊ยก โปสเตอร์เพื่อนของเขาในปี 2512 ถือว่าเป็นช่วงรุ่งเรืองที่สุดของบ้าน” ชนินทร์เอ่ย

ชนินทร์และภาพโปสเตอร์ “มิตร-เพชรา” ในร้านห้องภาพสุวรรณ

ปัจจุบันหน้าร้านห้องภาพสุวรรณได้กลายเป็นร้านขายโปสเตอร์หลากหลายแบบสำหรับนักสะสมและผู้ต้องการภาพติดฝาหนัง “ตอนแรกเราทำโปสเตอร์แจกไปกับหนังสือ แต่คนชอบขโมยไปแค่โปสเตอร์ เราก็เลยทำขายเสียเลย” ชนินทร์พูดขณะนำภาพจากกล้องฟิล์มสามใบมาต่อกันในแนวนอนจนปรากฏเป็นภาพหัวมุมถนนทั้ง สามทิศของสี่แยกบางขุนพรหมในอดีต 

“ตรงนี้คือ ช่อง 4 บางขุนพรหม มีสามล้อถีบ รถเต่า รถประจำทาง และบ้านของเรา” เขาชี้ก่อนจะเล่าเพิ่มเติมว่า คนในชุมชนดั้งเดิมทั้งชาวไทยและชาวจีนแทบจะไม่เหลืออยู่แล้ว ส่วนของกินที่เคยชุกชุมก็หายไป ทั้งโบ๊กเกี้ย ขนมหวานของชาวจีนไหหลำ ผัดไทตะหลิวสั้น ขนมครก และบัวลอยไข่หวาน “สมัยนี้กลายเป็นบาร์ เป็นร้านอาหารญี่ปุ่นไปหมดแล้ว ซึ่งเราก็กินไม่เป็น”

ร้านห้องภาพสุวรรณราว 50 ปีก่อน
ร้านห้องภาพสุวรรณในปัจจุบัน

พัว กี่: ร้านเย็นตาโฟรวมความทรงจำ

จากสี่แยกบางขุนพรหมมุ่งสู่บางลำพู ด้านซ้ายมือคือ “วัดเอี่ยมวรนุช” ขณะที่อีกด้านมีอาคารเก่าแก่สูงสองชั้นอายุกว่า 60 ปี ตั้งเรียงรายอยู่ริมทาง คงไว้ซึ่งมนต์เสน่ห์เมืองเก่าให้ผู้คนได้คิดถึง สองเท้าก้าวต่อไปพลางพินิจชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คน ก่อนจะผ่านทางเข้า “วัดสามพระยา” และ “วัดใหม่อมตรส” เลยจากนั้นไปเพียงห้าคูหา กลิ่นผัดไทแสนหอมหวนจะเชิญชวนทุกท่านเข้าไปลิ้มลองรสชาติของผัดไทแห้งในร้าน “ผัดไทนานา” หรือผัดไทตะหลิวสั้น

เมื่อเดินถึงสะพานนรรัตน์สถาน ข้ามคลองบางลำพู เลี้ยวขวาเข้าถนนพระสุเมรุ ก็มาถึง “ร้านพัวกี่” ร้านเย็นตาโฟบนทำเลดั้งเดิมของครอบครัวชาวจีนที่เช่าที่ดินของสำนักทรัพย์สินพระมหากษัตริย์เป็นที่อยู่อาศัยตั้งแต่เมื่อ 80 ปีก่อน

ป้ายชื่อร้านพัว กี่

เอิ้ง เจ้าของร้านพัวกี่ในวัย 63 ปี เล่าว่า เขาและครอบครัวอาศัยอยู่ด้านบนของร้านเย็นตาโฟที่เปิดมาได้ 25 ปี แต่การเช่าที่ของสำนักงานทรัพย์สินฯ เริ่มมาตั้งแต่ยุคของบิดาที่อพยพมาจากประเทศจีน และมาลงหลักปักฐานขายข้าวมันไก่ เค้กเตาถ่าน และเบเกอรี่บนถนนพระสุเมรุแห่งนี้ “คนจีนอาศัยอยู่หน้าตึกเยอะ เพราะมันทำการค้าได้ ส่วนคนไทยโดยมากอยู่ในซอย” เอิ้งอธิบายพร้อมผายมือไปทางด้านหลังที่เป็นชุมชนชาวไทย

ในอดีต ร้านอาหารบนถนนเส้นนี้มีเพียงร้านข้าวแกง ร้านอาหารตามสั่ง และร้านก๋วยเตี๋ยวของชาวจีน ซึ่งภายหลังร้านก๋วยเตี๋ยวที่ใกล้ที่สุดคือ บางลำพู จึงเป็นสาเหตุส่วนหนึ่งที่เอิ้งเลือกเปิดร้านเย็นตาโฟบนถนนพระสุเมรุ ประกอบกับวิธีปรุงที่ไม่ยุ่งยากจึงพัฒนาสูตรซอสมาตลอด 25 ปี โดยเย็นตาโฟสูตรเด็ดของร้านมาพร้อมเส้นใหญ่ที่ให้สัมผัสเหนียวนุ่ม ประดับด้วยลูกชิ้นปลา และเกี๊ยวกุ้งคุณภาพดีขนาดเต็มคำ ผสมด้วยน้ำซุปและซอสสีชมพูกลมกล่อม อร่อยถึงขั้นซดหมดชาม ระหว่างสนทนาเรามองดูบรรยากาศรอบร้านที่สะท้อนภาพในอดีตของย่านนี้ ผ่านการตกแต่งด้วยเครื่องเรือนโบราณอย่างโคมไฟห้อยทรงเก่า ตู้ไม้ติดผนังแบบจีน ภาพฟิล์มขาวดำ และชุดโต๊ะเก้าอี้รถไฟอายุกว่า 90 ปี ซึ่งตกทอดมาจากบิดาของเอิ้ง

เมนูเส้นใหญ่เย็นตาโฟของร้านพัว กี่
บรรยากาศภายในร้านพัว กี่
ชุดโต๊ะเก้าอี้รถไฟอายุกว่า 90 ปี

กระนั้น ความพยายามในการอนุรักษ์บรรยากาศในวันวานและอาคารเก่าก็มีอุปสรรคอยู่บ้าง ทางสำนักงานทรัพย์สินฯ บังคับให้ผู้อาศัยทุกคูหาทาอาคารเป็นสีแดงและสีเขียวเหมือนกัน แต่นั่นก็ไม่สร้างความเดือดร้อนเท่าการบังคับใช้กระเบื้องว่าวเหมือนในอดีต เนื่องด้วยสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนไปและโครงสร้างอาคารที่ทรุดโทรมตามกาลเวลา ทำให้เกิดรอยรั่วและน้ำซึมเข้าบ้านทุกครั้งเมื่อฝนตก

“เราแก้น้ำรั่วมา 3 ปีแล้วก็ยังไม่หาย เพราะเวลาสำนักงานทรัพย์สินฯ อยากจะทำอะไร เขาจะมานำเสนอเราหมด แต่เราไม่มีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็นว่าเราอยากเปลี่ยนอะไรบ้าง”

เอิ้ง เจ้าของร้านพัว กี่

นอกจากนี้ในภาวะเศรษฐกิจฝืดเคือง เอิ้งและผู้เช่ารายอื่นยังประสบปัญหาการขึ้นค่าเช่าที่ “สมัยเด็กเห็นจ่าย 800 บาทต่อเดือน ตอนผมมาดูแลเมื่อ 20 ปีก่อนก็ประมาณ 3,000 บาท แต่ตอนนี้ขึ้นเป็น 6,400 บาท” ทั้งนี้ เอิ้งเล่าให้ฟังเพิ่มเติมว่า ผู้เช่าที่ของสำนักทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ยังต้องจ่ายภาษีโรงเรือนต่อปีอีกราว 9,000 บาท

หลังจบการสนทนา เอิ้งจับจ้องไปยังภาพขาวดำที่แขวนอยู่บนผนังใกล้เคียง ภายในภาพมีเด็กผู้ชาย 5 คนถอดเสื้อถ่ายภาพหมู่ร่วมกัน นั่นคือความทรงจำที่ยังหลงเหลืออยู่ของเอิ้งและเพื่อนสมัยเด็ก เขาเอ่ยทิ้งท้ายถึงสิ่งที่คิดถึงที่สุดว่าเป็น “รถราง” นอกจากนั้นก็มีเพียงสายตาที่โหยหาวันเก่าและเสียงอันแผ่นเบาที่ตอบว่า “คิดถึง”

พิพิธบางลำพู : แหล่งรวมความทรงจำและวัฒนธรรมอันหลากหลาย

ใกล้เพียงข้ามฝั่งถนน อดีตโรงเรียนช่างพิมพ์วัดสังเวชที่ฝึกสอนช่างพิมพ์แห่งแรกในประเทศไทยและโรงพิมพ์คุรุสภาได้รับการบูรณะปรับปรุงโดยกรมธนารักษ์ในปี 2555 กลายเป็น “พิพิธบางลำพู” แหล่งรวมความทรงจำและพหุวัฒนธรรมของชุมชนทั้งเจ็ดในย่านบางลำพู

ภายในสถานที่แห่งนี้ได้แบ่งโซนจัดแสดงออกเป็นสองอาคาร ได้แก่ อาคารปูนที่จัดแสดงนิทรรศการถาวรเกี่ยวกับความเป็นมา ตลอดจนบทบาทหน้าที่ของกรมธนารักษ์ และอาคารไม้ริมคลองบางลำพูที่บอกเล่าประวัติศาสตร์ความหลากหลายทางเชื้อชาติ “ของดี” บางลำพู และเรื่องราวของบุคคลสำคัญในย่านนี้

พิพิธบางลำพูตั้งอยู่บนถนนพระสุเมรุ
พื้นที่จำลองวิถีชีวิตของชุมชนทั้ง 7 ในย่านบางลำพู

จากอาคารปูนมาถึงอาคารไม้ชั้นสอง เราได้ดื่มด่ำไปกับบรรยากาศเมื่อ 50 ปีก่อนตลอดทาง มีการจำลองสะพานริมคลองที่เต็มไปด้วยหิ่งห้อยและต้นลำพูต้นสุดท้าย ลลิตา อัศวสกุลฤชา ภัณฑารักษ์ชำนาญการประจำพิพิธบางลำพูให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ทางพิพิธฯ ได้นำกิ่งต้นลำพูต้นสุดท้ายที่มีอายุเกือบ 100 ปีมาประดับบนต้นลำพูจำลอง เพื่อให้ผู้ชมได้รู้ว่าในย่านนี้เคยมีต้นลำพูซึ่งเป็นที่มาของชื่อบางลำพูอยู่ จนกระทั่งปี 2554 ประเทศไทยประสบอุทกภัยครั้งใหญ่ทำให้ต้นลำพูต้นสุดท้ายยืนต้นตาย

นอกจากนี้ บริเวณชั้นสองยังมีการจำลองร้านค้าในอดีตอย่าง ร้านขายรองเท้าหนัง “แก้วฟ้า” ร้านเสื้อ “นพรัตน์” ภัตตาคาร“อั้น เฮียง เหลา” ตำนานเมนูสารพัดนึก ราคาย่อมเยา ที่ปิดกิจการไปหมดแล้ว ส่วนโซนจัดแสดงต่อมาคือ “พระนครเซ็นเตอร์” จำลองวิถีชีวิตของคนในอดีตทั้ง “โรงลิเกหอมหวน” “ห้างต.เง็กชวน” และ “โรงภาพยนตร์บุศยพรรณ”

โรงภาพยนตร์บุศยพรรณจำลองภายในอาคารไม้ชั้น 2 ของพิพิธบางลำพู

ด้วยใจกลางพระนครในอดีตเป็นศูนย์รวมความเป็นประเพณีนิยมทั้งวัด วัง โรงเรียน ที่พำนักของชนชั้นสูง และสถานที่ราชการ ทำให้ภายในพิพิธบางลำพูได้รับอิทธิพลจากวิถีชีวิตและวัฒนธรรมของชาวไทยเป็นส่วนใหญ่ ทั้งการจัดแสดงการทำเครื่องทอง การแทงหยวกกล้วย สังคีตศิลป์ไทย และการปักชุดโขนละคร ขณะที่วัฒนธรรมของชาวมอญ ลาว เขมร แขก และจีน กลับมีข้อมูลไม่มากนัก

“ปัญหาของเราคือ เราไม่สามารถเก็บข้อมูลได้ทุกสถานที่ เพราะหลักฐานไม่เพียงพอ ที่สำคัญคือ ผู้สูงอายุในชุมชนมีอายุมากขึ้น เริ่มจำเรื่องราวบางอย่างไม่ได้ ตอนนี้เราจึงพยายามสัมภาษณ์เพื่อเก็บข้อมูลให้มากเท่าที่ทำได้ และอาศัยการรับข้อมูลจากคนที่มาเยี่ยมชมพิพิธ เพราะบางครั้งคนเหล่านี้ก็เป็นนักวิชาการหรือคนที่มีชีวิตอยู่ตั้งแต่สมัยนั้น”

ลลิตา อัศวสกุลฤชา

เธอแสดงความกังวล เพราะตัวเธอและชุมชนตั้งใจให้พิพิธบางลำพูได้ทำหน้าที่เป็นแหล่งรวมความทรงจำที่ไม่ได้เก็บไว้เพียงภาพขาวดำ แต่ยังได้ทำหน้าที่ถ่ายทอดให้คนรุ่นหลังได้เห็นและสัมผัสกับบรรยากาศที่ไม่มีวันหวนคืน

“แค่เมื่อวานก็เป็นประวัติศาสตร์แล้ว ทุกเรื่องราวจึงควรค่าแก่การบันทึกให้คนรุ่นใหม่ได้รับรู้และคนรุ่นเก่าได้รู้สึกเหมือนที่เขาเคยรู้สึกในอดีต” ลลิตากล่าว

%d bloggers like this: