Art & Culture Top Stories

นักพากย์อีสปอร์ต : อาชีพสายเกมที่คนมักมองข้าม

“นิสิตนักศึกษา” ชวนทำความเข้าใจอาชีพนักพากย์เกมแบบเจาะลึก อาชีพที่ต้องใช้ทักษะการพูด การแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า และยังต้องรับมือกับความไม่มั่นคงของสายอาชีพที่ยังรอการแก้ไข

เรื่อง: มณิสร วรรณศิริกุล
ภาพ: มณิสร วรรณศิริกุล, นพนันทน์ หิรัญสถิตย์, รชยา สรณาคมน์

“มึงพากย์อะไรของมึงวะ” 

“เอาคนนั้นมาพากย์ดีกว่า” 

“เสียงผู้หญิงน่ารำคาญฉิบหาย” 

คอมเมนต์วิพากษ์วิจารณ์จากช่องแชท เป็นหนึ่งในแรงกดดันที่นักพากย์อีสปอร์ตต้องเผชิญในฐานะคนเบื้องหน้า และท่ามกลางความวุ่นวายด้านหลังกล้อง ภารกิจของพวกเขาคือ การทำทุกอย่างเพื่อให้ผู้ชมได้รับความสนุกไปตลอดทั้งการแข่งขัน 

นักพากย์อีปอร์ต คืออะไร

นักพากย์อีสปอร์ต (Shoutcaster) เป็นส่วนหนึ่งของคำว่าแคสเตอร์ (Caster) ที่หมายถึง กลุ่มอาชีพเบื้องหน้าของคนที่ทำงานในวงการเกม ซึ่งต้องใช้ทักษะในการพูดเพื่อการสื่อสารให้คนเข้าใจ 

ชยุตม์ ฉางทองคำ หรือที่คนรู้จักในชื่อ วู นักพากย์ภายใต้สังกัดเอฟพีเอสไทยแลนด์ (FPSThailand) ให้นิยามอาชีพตนว่า “ผู้บรรยายเสียง” โดยเทียบกับกีฬาฟุตบอล ที่มีนักพากย์ฟุตบอลคอยบรรยายสิ่งต่างๆ ในเกม นักพากย์อีสปอร์ตก็มีหน้าที่บรรยายให้กับท่านผู้ชมเข้าใจว่าเกมนี้คือเกมอะไร เล่นอย่างไร และมีใครที่เล่นบ้าง

ชยุตม์ ฉางทองคำ หรือ วู นักพากย์ภายใต้สังกัดเอฟพีเอสไทยแลนด์ (FPSThailand)

โดยเกมที่ใช้ในการแข่งส่วนใหญ่ มักเป็นเกมแนวโมบา (Multiplayer Online Battle Arena: MOBA) และเอฟพีเอส (First-Person Shooter: FPS) 

เกมโมบา เป็นการแข่งขันระหว่างสองทีม ฝั่งละห้าคน เป้าหมายเพื่อโจมตีฐานฝ่ายตรงข้ามจึงจะชนะ เช่น โดต้าทู (Dota2) แอลโอแอล (League of Legends: LoL) และอาร์โอวี (Arena of Valor: RoV) ส่วนเอฟพีเอสนั้นเป็นเกมยิงมุมมองบุคคลที่หนึ่ง เน้นความแม่นยำและไหวพริบในการเล่น เพื่อหาผู้ชนะเพียงคนเดียวหรือกลุ่มเดียว เช่น เคาน์เตอร์-สไตรก์ (Counter-Strike: Global Offensive: CS:GO) โอเวอร์วอตช์ (Overwatch) และพับจี (Playerunknown’s Battlegrounds: PUBG)

“คนส่วนมากพอบอกว่านักพากย์ฟุตบอลอะเข้าใจ นักพากย์วอลเลย์บอล นึกภาพออก นักพากย์เกมมันก็คืออาชีพเดียวกัน แต่มันติดความว่าเกมมากกว่าว่า นักพากย์เกม? เกมมีแข่งเหรอ?” วูเล่าว่าในปัจจุบันหน้าที่ของนักพากย์ยังคงเป็นข้อกังขาของสังคมอยู่เสมอ หลายครั้งที่เขาถูกทาบทามให้ไปพากย์กีฬาแบบปกติอย่างฟุตบอล เพียงเพราะคนทั่วไปไม่เข้าใจคำว่าเกม

เขาไม่ได้ไม่เข้าใจด้วยคำว่านักพากย์ แต่ไม่เข้าใจเพราะคำว่าเกม”

ชยุตม์ ฉางทองคำ หรือ วู นักพากย์ภายใต้สังกัดเอฟพีเอสไทยแลนด์ (FPSThailand)

กระบวนการทำงานพากย์อีสปอร์ต

ก่อนจะมีการพากย์ ต้องมีสิ่งหนึ่งเกิดขึ้นคือ ทัวร์นาเมนต์ (Tournament) เป็นการจัดการแข่งขันเกมเพื่อชิงเงินรางวัลจำนวนหนึ่ง มีลักษณะการแข่งขันเป็นรอบๆ เพื่อหาผู้ชนะเพียงกลุ่มเดียว สามารถแบ่งออกได้เป็นสองลักษณะ คือ แบบออฟไลน์ที่จัดการแข่งขึ้นภายในฮอลล์ (Hall) ผู้ชมสามารถรับชมการแข่งขันได้ในสถานที่ปิด และแบบออนไลน์ที่ผู้ชมสามารถดูการแข่งขันได้ผ่านการไลฟ์สด

เมื่อมีผู้จัดทัวร์นาเมนต์ติดต่อมา นักพากย์ต้องศึกษาว่าในทัวร์นาเมนต์นั้นเป็นการแข่งเกมอะไร ในลักษณะใด มีการตัดสินแพ้ชนะเป็นอย่างไร ผู้เข้าแข่งขันแต่ละทีมมีสไตล์การเล่นอย่างไร ตำแหน่งการเล่น จังหวะปะทะ หรือแม้กระทั่งเคยอยู่ทีมใดมาก่อน รวมไปถึงสถิติการแข่งขันแพ้ชนะก่อนหน้าเป็นอย่างไร เพื่อให้เข้าใจจุดประสงค์และรายละเอียดทั้งหมดของเกมและสามารถถ่ายทอดออกมาได้อย่างครบถ้วน

พื้นที่สำหรับการพากย์แบบออนไลน์ในแต่ละงาน

นอกจากนักพากย์จะรับหน้าที่เป็นผู้บรรยายเกมแล้ว ยังรับหน้าที่พิธีกรด้วย ดำเนินรายการเริ่มตั้งแต่เริ่มต้นเปิด แนะนำกฎกติกา รูปแบบการแข่งขัน ส่งเข้าสู่เกม พูดสรุปงาน เรียกได้ว่าครอบคลุมตั้งแต่เริ่มการแข่งขันจนถึงจบการแข่งเลยทีเดียว

หากจะเทียบให้เข้าใจได้ง่ายขึ้น ยกตัวอย่างเช่น พับจี ในหนึ่งเกมมีทั้งหมด 16 ทีม ทีมละ 4 คน เท่ากับมีทั้งหมด 64 ผู้เล่น ต่อการพากย์ในหนึ่งเกม ผู้พากย์ต้องจำทั้งหมด 64 ผู้เล่น ในขณะที่กีฬาฟุตบอลต้องจำเพียง 22 ผู้เล่นต่อการพากย์หนึ่งแมตช์ ดังนั้นความจำจึงเป็นสิ่งสำคัญไม่ใช่แค่ศิลปะการพูดอย่างเดียว 

“ผมต้องทำให้คนที่ไม่เล่นเกมเข้าใจได้ด้วย ถ้ามาพากย์ให้คนที่เล่นเกมอย่างเดียวเข้าใจมันก็ง่าย เพราะเขารู้เรื่องเกมอยู่แล้ว” วูกล่าว 

ส่วนใหญ่แล้วการพากย์จะมีนักพากย์สองคน เรียกว่าไมค์หนึ่งและไมค์สอง หน้าที่ของไมค์หนึ่งคือการเป็นตัวหลัก เปิด-ปิดรายการ ดำเนินเรื่องราว พูดเข้าช่วงคั่นรายการหลักได้ ส่วนไมค์สองจะเป็นคนเสริม วิเคราะห์เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นสำหรับคนที่ดูในจังหวะนั้นไม่ทัน เรียกได้ว่าเป็นคนที่คอยดึงจังหวะเกมให้ไม่เครียดจนเกินไป

นอกจากหน้าที่หลักที่กล่าวไป นักพากย์ยังต้องทำงานร่วมกับทีมงานเบื้องหลังจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นทีมงานคุมเสียง ออฟเซิร์ฟเวอร์ (Observer) ที่เป็นผู้จับภาพในหลายมุมมองในการแข่งขันหนึ่งเกม และส่งภาพต่อให้ สวิชต์เชอร์ (Switcher) เพื่อเลือกว่าจะใช้ภาพไหนในการนำเสนอ

เบื้องหลังที่มากกว่าการพูด

ความท้าทายของการถ่ายทอดสดคือความผิดพลาดที่เกิดขึ้นได้โดยไม่ได้คาดคิดจากทั้งเบื้องหน้าและเบื้องหลัง ความสามารถในการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าจึงเป็นอีกหนึ่งทักษะที่นักพากย์ต้องมี

“มีครั้งหนึ่งกำลังพากย์อยู่แล้วจอดับ แรกๆ มานี่คือช็อกเลย แต่พอเรามีประสบการณ์มากขึ้น หลังๆ มาพอจอดำ เราเห็นจังหวะสุดท้ายเป็นอย่างไร ก็จะจินตนาการต่อเลยว่าต่อไปจะเกิดอะไรขึ้น ‘โหจังหวะเมื่อสักครู่นี้สวยนะครับ’ แต่ว่าความจริงคือจอดำไปแล้ว” ศุภณัฐ วรรณแสงขำ หรือ เฟม นักพากย์ภายใต้สังกัดอีสปอร์ต อัลลายแอนซ์ (Esport Alliance) กล่าว

ศุภณัฐ วรรณแสงขำ หรือ เฟม นักพากย์ภายใต้สังกัดอีสปอร์ต อัลลายแอนซ์ (Esport Alliance) 

ปัญหาเสียงในเกมก็เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่นักพากย์มักจะเผชิญอยู่บ่อยครั้ง เช่น เสียงหาย เสียงเบา หรือเสียงช้ากว่าภาพ นักพากย์จึงต้องวิเคราะห์สถานการณ์จากภาพและสื่อสารให้ผู้ชมเข้าใจอย่างครบถ้วน เพราะการได้ยินเสียงเกมมีผลต่อการคาดเดาเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นต่อไปในเกม และจะทำให้ผู้ชมมีอารมณ์ร่วมมากขึ้น 

นอกจากปัญหาเสียงในเกมแล้ว นักพากย์เกมหลายคนต้องประสบปัญหาสุขภาพเนื่องจากการทำงานใช้เสียงอย่างต่อเนื่อง

“มีครั้งหนึ่งเคยพากย์ติดต่อกัน 13 วัน จนวันท้ายๆ พากย์ไปได้กลิ่นเลือดออกมาในคอ ตอนนั้นเรารู้แล้วว่าเราหนักเกินไปแล้วนะ”

ศุภณัฐ วรรณแสงขำ หรือ เฟม นักพากย์ภายใต้สังกัดอีสปอร์ต อัลลายแอนซ์ (Esport Alliance) 

ผู้หญิงกับวงการนักพากย์

“ก่อนหน้าที่จะเข้าวงการมาประมาณ 2-3 ปี เคยเห็นผู้หญิงพากย์อยู่บ้าง แต่เดี๋ยวนี้ตั้งแต่เข้ามารู้สึกว่ามีน้อยมาก ไม่ค่อยเห็นผู้หญิงที่ออกมาพากย์อย่างหลากหลายหรือทำแบบจริงจังเท่าไร” วราลี สุลัยมาน หรือคนทั่วไปรู้จักกันในนาม CatCaster หนึ่งในนักพากย์หญิงไม่กี่คนในวงการอีสปอร์ตไทยกล่าว

อุปสรรคสำคัญของการเป็นผู้หญิงในสายงานนี้ไม่พ้นเรื่องของ “เสียง” ที่มีความแหลมกว่าผู้ชายตามธรรมชาติ และปัญหาการเหยียดเพศก็มีให้เห็นพอสมควร รวมถึงผู้หญิงที่เข้ามาในวงการเกม อยู่ในส่วนของนักแข่งและสตรีมเมอร์เป็นส่วนใหญ่ แต่ยังไม่ให้ความสนใจสายพากย์เท่าไรนัก 

“ผู้หญิงต่อให้คุณพากย์อย่างไร ถ้าพูดถึงจังหวะปะทะ มันสู้ผู้ชายไม่ได้อยู่แล้วในเรื่องของน้ำเสียง ผู้ชายเสียงมันดูหนักแน่นกว่าก็จะรู้สึกมันกว่า” CatCaster เล่าว่าการเข้ามาทำงานตรงนี้ต้องใช้ความมั่นใจสูง เวลาพากย์ต้องทำอย่างไรก็ได้ให้มีความมั่นใจและพลังเสียงเทียบเท่าผู้ชาย 

“ในประเทศไทย คนดูไม่ได้เปิดรับขนาดนั้น อาจจะเอามาเหยียดในเรื่องของเสียงหรือจังหวะ นักพากย์ผู้หญิงในประเทศไทยเลยน้อย แต่ว่าในอนาคตก็ไม่แน” เฟมกล่าว

รายได้นักพากย์ : เลี้ยงตัวเองได้ แต่เลี้ยงครอบครัวไม่ได้

“ผมจะทำเกี่ยวกับเรื่องอีสปอร์ตจนอายุ 40 จริงๆ ผมทำอย่างอื่นมาควบคู่อยู่แล้วเพื่อรองรับ แต่พอถึงจุดหนึ่ง ผมก็คงต้องออกจากวงการนี้ไป ถ้าถามว่าเกี่ยวกับรายได้ไหม ก็ต้องตอบว่าเกี่ยว” วูกล่าวถึงอนาคตในสายอาชีพของตน

เพราะเมื่อเทียบเรื่องรายได้แล้วนักกีฬาอีสปอร์ตมีรายได้เยอะกว่ามาก เนื่องจากมีสังกัดคอยสนับสนุนทั้งเงินเดือนและเงินรางวัลจากการแข่งขัน แต่สำหรับนักพากย์ รายได้ที่ได้เป็นเพียงการรับเงินตามจำนวนงานที่มีการว่าจ้างเท่านั้น และเรทค่าตัวก็ไม่ได้มีการกำหนดอย่างชัดเจน เป็นเรื่องของความสามารถส่วนตัวที่จะกำหนดการจ้างงานในแต่ละคน

“บางเกมนักพากย์ก็ 20 กว่าคนแล้วที่รอรับงาน ซึ่งมันมากกว่าจำนวนทัวร์นาเมนต์ แต่เวลามีการจ้างงานจริงๆ คนที่จะถูกจ้างก็จะมีอยู่แค่ห้าถึงหกคนที่เป็นขาประจำแต่ละเกม” CatCaster บอกเล่าถึงปัญหาที่พบ

วราลี สุลัยมาน หรือ CatCaster หนึ่งในนักพากย์อีสปอร์ตหญิงฟรีแลนซ์

เธอยังกล่าวอีกว่าในอดีตที่สมาคมกีฬาอีสปอร์ตแห่งประเทศไทยได้ก่อตั้งขึ้นมา ดูเหมือนว่าทางสมาคมจะมีแผนในการจัดทำ “ชมรมนักพากย์” เพื่อเข้ามาช่วยดูแลให้เกิดมาตรฐานที่ชัดเจนสำหรับกลุ่มนักพากย์ และแก้ปัญหาการกระจายงาน แต่ปัจจุบันก็ยังไม่มีการเกิดขึ้น

เมื่อสอบถามไปยัง สันติ โหลทอง นายกสมาคมกีฬาอีสปอร์ตแห่งประเทศไทย ถึงนโยบายดังกล่าวได้ความว่า ตัวสมาคมควบคุมเฉพาะเกมที่สหพันธ์กีฬาอีสปอร์ตใช้แข่งในมหกรรมกีฬานานาชาติเท่านั้น นอกเหนือจากนี้ถือว่าไม่ใช่อีสปอร์ตในระบบของสมาคม ทำให้ในปัจจุบันไม่มีนโยบายสำหรับกลุ่มบุคลากรอีสปอร์ตภายนอกสมาคม

หลายครั้งในการแข่งทัวร์นาเมนต์หนึ่ง ผู้ชมการแข่งขันอีสปอร์ตมักให้ความสนใจที่ตัวนักแข่งกีฬาอีสปอร์ตเป็นหลัก โดยหลงลืมไปว่า “นักพากย์” ก็เป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญที่ทำให้การแข่งกันดำเนินไปด้วยความสนุก ตื่นเต้น และลุ้นระทึกไปกับการแข่งขันตรงหน้าไม่แพ้กัน

%d bloggers like this: