Community Interview Travel

ชีวิตหลังกำแพง ก๋วยเตี๋ยวเย็นตาโฟร้านลับ ที่ไม่อยากจะลับ

พูดคุยกับ เจ๊ทัย - อรทัย อิงคะพานนท์ เเม่ค้าก๋วยเตี๋ยวเย็นตาโฟในตลาดกรมภูธเรศ ย่านเจริญกรุง-เยาวราช ถึงชีวิตและธุรกิจที่เปลี่ยนเเปลงไป เมื่อรถไฟฟ้าใต้ดินมาเยือน

เรื่อง : ศิรพงศ์ ศุภภัทรเศรษฐ์

ภาพ : ศุภกานต์ ผดุงใจ

“รถไฟฟ้ามาจะพาเรารวย พาเรายังกะเข้าขุมนรกหละสิ” หนึ่งเสียงจากชุมชนกรมภูธเรศ สะท้อนความรู้สึกต่อสถานีรถไฟฟ้ามหานคร สายเฉลิมรัชมงคล (สายสีน้ำเงิน) ที่มาตั้งอยู่หน้า “บ้าน” ของเธอที่ใจกลางย่านเยาวราชพอดี

การพัฒนาด้านคมนาคม อาจทำให้การขนส่งสัญจรสะดวกสบายและรวดเร็ว แต่ขณะเดียวกันก็นำมาซึ่งผลกระทบต่อพื้นที่เเละวิถีชีวิตของผู้คนในชุมชนที่เส้นทางใหม่พาดผ่าน

สถานีรถไฟฟ้าใต้ดินวัดมังกร เป็นหนึ่งในสถานีของโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยายช่วงที่สอง จากสถานีหัวลำโพงถึงสถานีหลักสอง ในการก่อสร้างและดำเนินงานสถานี อาคารพาณิชย์ริมถนนเจริญกรุงฝั่งทิศใต้เเละที่ดินรอบข้างถูกต้องเวนคืน รวมถึงบริเวณซอยเจริญกรุง 18 ซึ่งเป็นทางเข้าออกหลักของตลาดกรมภูธเรศ

เมื่อสถานีรถไฟฟ้าเปิดใช้เมื่อเดือนกรกฎาคม ปี 2562 ด้านหน้าตลาดกรมภูธเรศจึงกลายเป็นลานโล่งติดกับทางขึ้นลงสถานี รูปแบบเดียวกับสถานีรถไฟฟ้าใต้ดินแห่งอื่นๆ แต่มีกำแพงปูนสีขาวและแผ่นสังกะสีสูงประมาณสองเมตรครึ่ง ล้อมรอบลานเพื่อกั้นระหว่างพื้นที่ของสถานีกับตลาดและตึกอาคารในชุมชน

ด้วยเหตุนี้ ไม่เพียงซอยเจริญกรุง 18 ที่หายไปทั้งแถบ เหลือเพียงป้ายซอยที่ตั้งโดดเดี่ยวอยู่ริมถนนเจริญกรุง แต่ทางเข้าหลักของตลาดก็หายไปด้วย เหลือเพียงซอยเข้าออกแคบๆ ที่พอเดินสวนกันได้จากถนนแปลงนาม และทางเข้าจากกลางซอยเจริญกรุง 16 เล่งบ๊วยเอี๊ยะ

ทางเข้าออกตลาดกรมภูธเรศในปัจจุบันจากถนนแปลงนาม

ตลาดกรมภูธเรศในวันนี้จึงกลายเป็นมุมเงียบๆ ที่ซ่อนอยู่ท่ามกลางความคึกคักของย่านเจริญกรุง-เยาวราช โดยมีผู้ค้าและลูกค้าประจำเป็นคนท้องถิ่น ผิดจากเมื่อสิบปีที่เเล้ว ซึ่งคลาคล่ำไปด้วยพ่อค้าเเม่ขายเเละผู้คนที่มาจ่ายตลาดทั้งกลางวันเเละยามค่ำคืน 

“ปิดทางก็เหมือนปิดตลาด คนไม่มีทางเข้าทางออกตรงๆ คนเขาก็ไม่เห็นว่าในตลาดนี้มีอะไรบ้าง คนเขาเข้าไม่ได้ เขาก็ไม่เข้า … บางคนยังคิดว่าเราเลิกขายไปเลย ถ้าเราเลิกขายเราจะเอาเงินที่ไหนมาจ่ายค่าเช่าบ้าน เขาก็ขึ้นราคาค่าเช่ากันบ่อยๆ เขาไม่รู้ว่าคนที่นี่อยู่กันยังไง” ความรู้สึกของ เจ๊ทัย – อรทัย อิงคะพานนท์ หญิงวัย 71 ปี เเม่ค้าก๋วยเตี๋ยวเย็นตาโฟจอมยุทธ์ พรั่งพรูออกมา เพื่ออธิบายอุปสรรคที่เผชิญมากว่าเเปดปี ต้ังแต่เริ่มกระบวนการสร้างสถานีรถไฟฟ้า

“พอข้างนอกเขาเอาพื้นที่ไปเเล้ว มันก็เงียบอย่างนี้ทั้งวันทั้งคืนเเหละ เงียบมาตั้งเเต่ปิดตลาด รุ่นเก่าเขาก็หนีไปหมด พอไม่มีคนขาย ตลาดก็เลยวาย เหลือเเต่พวกเรานี่เเหละอยู่ข้างใน” เจ๊ทัยบอก

เจ๊ทัย – อรทัย อิงคะพานนท์ เเม่ค้าร้านก๋วยเตี๋ยวเย็นตาโฟจอมยุทธ์ ในตลาดกรมภูธเรศ

ก๋วยเตี๋ยวร้านลับ

หลอดนีออนขนาดเล็กเเละเเสงอาทิตย์ที่ลอดกันสาดลงมาส่องสว่างในร้านก๋วยเตี๋ยวเล็กๆ ที่มุมหนึ่งของตลาด ควันไอน้ำลอยขึ้นจากหม้อก๋วยเตี๋ยวใบใหญ่ซึ่งตั้งอยู่บนเตาอั้งโล่ที่ร้อนระอุจากถ่านไม้โกงกาง เส้นก๋วยเตี๋ยว ลูกชิ้น เเละฮือก้วย ถูกจัดเรียงเต็มตู้กระจกขอบสเเตนเลสที่มีสัญลักษณ์ “เปิบพิสดาร เเม่ช้อย นางรำ” การันตีความอร่อย พร้อมป้าย “ก๋วยเตี๋ยวเย็นตาโฟจอมยุทธ์เจ้าเก่า” 

เจ๊ทัยกำลังปรุงก๋วยเตี๋ยวเย็นตาโฟ

“เราเป็นเเม่บ้านอยู่ตรงนี้ ไม่มีอาชีพอะไร ขายอะไรได้ จับอันไหนได้ เราก็เอา” เจ๊ทัยเล่าย้อนกลับไปเมื่อประมาณ 50 ปีก่อน ถึงจุดเริ่มต้นของการขายก๋วยเตี๋ยว โดยเช่าตึกเเถวหนึ่งคูหาจากสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ ผู้เป็นเจ้าของที่ดินตลาดกรมภูธเรศ เพื่อเป็นทั้งบ้านเเละเเหล่งทำมาหากินเดียวของเธอ

“ขายตั้งเเต่ชามละห้าบาท ตอนนี้ก็ 40 บาทตามที่หนูเห็น ขายเเบบถูกที่สุด เหมือนกับก๋วยเตี๋ยวคนจน อิ่มเดียว 40 บาท ถ้า 50 ก็เพิ่มลูกชิ้น”

“เราอยู่ตรงนี้ ขายเเพงไม่ได้ เพราะว่ามันมีเเต่คนกันเองทำมาหากิน เงินมันน้อย ขายกำไรก็ต้องน้อยไปตามสถานการณ์ ขายกันให้อยู่กันไปได้”

เจ๊ทัย – อรทัย อิงคะพานนท์ ร้านก๋วยเตี๋ยวเย็นตาโฟจอมยุทธ์

เจ๊เล่าขณะทำก๋วยเตี๋ยวให้กับลูกค้าที่หมุนเวียนเข้ามารับประทาน เเละดูเหมือนว่าจะเป็นคนที่เจ๊คุ้นเคยทั้งสิ้น “อยู่ละเเวกนี้ ก็ต้องรู้จักกันทั้งนั้นเเหละ รู้จักหน้าค่าตากัน รู้หน้าก็ทักทายกันเเบบนี้เเหละ … มันผูกมัดผูกพันกันอยู่ตรงนี้เเต่ไหนเเต่ไรเเล้ว”

ก๋วยเตี๋ยวน้ำเย็นตาโฟ อิ่มเดียว ชามละ 40 บาท

ตลอดการสนทนา เจ๊ทัยไม่เคยหยุดนิ่งเลย ปากขยับเเต่มือนั้นก็ทำงานไปด้วย ทั้งลวกก๋วยเตี๋ยว เติมถ่าน รวมถึงตะโกนสั่งซื้อปลาหมึกเเช่เพิ่มหนึ่งตัวจากร้านข้างๆ เมื่อเห็นว่าปลาหมึกเเช่ใกล้จะหมด “วัตถุดิบทั้งหมดก็มาจากตลาดในเยาวราชนี่เเหละ จะเรียกว่าก๋วยเตี๋ยวเยาวราชของเเท้เลยก็ได้ ไม่มีเอาจากที่อื่นมาขาย” เจ๊ทัยเล่าให้ฟัง

ปลาหมึกเเช่ในเย็นตาโฟเเห้ง วัตถุดิบที่เจ๊ทัยซื้อมาจากร้านข้างๆ ในตลาด

เจ๊ทัยจะเคี่ยวน้ำซุปก๋วยเตี๋ยวใหม่ในทุกๆ เช้า ด้วยกระดูกหมูชิ้นโตเเละซีอิ๊วอย่างดี ไม่ใช้ผงปรุงรส เพราะเชื่อว่าความพิเศษของก๋วยเตี๋ยวเย็นตาโฟจอมยุทธ์อยู่ที่ความอร่อยจากวัตถุดิบที่มีคุณภาพ “เราทำสดๆ เเล้วเราก็ขายสดๆ … น้ำซุปที่เหลือตอนเย็นก็เททิ้งไป ฉันไม่เอาไว้ เหลือกระดูกใครมาขอเราก็ให้เขาไป ค้าขายอย่าไปขี้เหนียว ใช้ของดีๆ ไปเลย กำไรน้อยก็ช่างมัน เราต้องใช้คุณภาพ มันถึงจะอยู่รอด ทำอะไรก็ต้องจริงใจ เพราะไม่อย่างนั้นทำไปมันก็ไม่ดี”

ลูกชิ้นปลาทำเอง จากปลาอินทรี ไซตอหรือปลาดาบลาว เเละปลาหางเหลือง
ที่เจ๊ทัยบอกว่าเป็นปลาสามอย่างที่ดีที่สุดในการทำลูกชิ้น

“เเต่ก่อนขายดี คนมากินเยอะเเล้วเราก็โวยวายเก่ง … คนนั้นเรียก คนนี้เรียก มันก็เลยเสียงดัง เเล้วก็ชอบเถียงเล่นทะเลาะกับเด็กๆ มัน ลูกก็เลยตั้งชื่อให้ว่า ‘จอมยุทธ์’” เจ๊เล่าถึงที่มาของชื่อร้าน เเละเล่าต่อถึงสภาพตลาดเมื่อ 10 ปีก่อน สมัยที่ตลาดเคยเฟื่องฟูกว่านี้หลายเท่า 

“เมื่อก่อนตลาดนี้คนเยอะทั้งวันทั้งคืน มันก็ค้าขายได้เพราะคนเข้าออกเยอะอ่ะลูก มันอยู่สบาย ค้าขายดี อยู่รอดให้ลูกให้เต้าเรียนหนังสือกันได้สบายๆ … ธรรมดาเข้าซอย (เจริญกรุง) 18 มาก็ถึงเลย จะมีมอเตอร์ไซค์เข้ามาซื้อของเรา ซื้อลูกชิ้น ซื้อฮือก้วย เเต่เดี๋ยวนี้ไม่มีใครเข้ามา เข้ามาไม่ได้ ขายของมันเลยเงียบ มันเลยขายไม่ดี ขายเเย่กว่าที่อื่นเยอะ”

ซอยเจริญกรุง 18 ทางเข้าหลักตลาดกรมภูธเรศ พร้อมป้ายชื่อตลาด
ภาพจากเเผนที่กูเกิล เมื่อกันยายน 2554

กำแพง

สำหรับคนนอกตลาดกรมภูธเรศ สังกะสีที่ล้อมบริเวณตลาดคงเป็นเพียงกำเเพงที่แสดงอาณาบริเวณของรถไฟฟ้ามหานคร เเต่สำหรับคนในตลาดเเล้ว สังกะสีเดียวกันกลับหมายถึงชีวิตความเป็นอยู่ ปากท้อง เเละการทำมาหากินของครอบครัว

กำเเพงสังกะสีที่กั้นระหว่างลานโล่งรอบทางขึ้นลงสถานีรถไฟฟ้าใต้ดิน
กับบ้านเรือนเก่าของชุมชนเเละตลาดกรมภูธเรศ

“ดูข้างนอกก็ดูเจริญ ดูทันสมัยดี เเต่เเค่มันกระทบที่เราทำมาหากินข้างใน … ถ้าเขาเอาสังกะสีที่กั้นออก เเล้วทำซอยให้สะอาดสะอ้าน คนเดินเข้าออก มันก็ค้าขายได้ ก็จะมีพ่อค้าเเม่ค้าเอาของมาขาย เเต่นี่ไม่มีคนเดิน ใครเขาจะเอาของเข้ามาขาย จะขายให้ใครอ่ะ อย่างที่เห็น เงียบจะตาย” เจ๊เสนอทางออกเพื่อชุบชีวิตตลาดกรมภูธเรสอีกครั้ง จากมุมมองของผู้ประทังชีวิตที่อยู่หลังกำเเพง ก่อนจะปิดท้ายอย่างหมดหวัง

“เเต่กำเเพงนี้ของเขา เราไม่มีสิทธิ์ทำอะไรทั้งนั้น มันไม่ใช่บ้านของเรา เราอยู่ได้อย่างเดียว”