Art & Culture Social Issue Top Stories

“นักเขียนการ์ตูนไส้แห้ง” วาทกรรมที่ถูกทำให้เป็นจริง ในประเทศที่ศิลปะและจินตนาการไม่มีความสำคัญ

เราเติบโตมากับการ์ตูน แต่เหตุใดสังคมไทยกลับนิยามอาชีพนักเขียนการ์ตูนว่าไส้แห้ง ฟังเสียงสะท้อนจากวงการนักเขียนการ์ตูนไทย ศิลปินผู้สร้างสรรค์งานศิลปะบนเส้นทางชีวิตที่ไร้ความมั่นคง

รื่อง: เกศนคร พจนวรพงษ์

“รอเดี๋ยวนะโนบิตะ ฉันจะไปช่วยนายเอง!” 

เราต่างรอคอยจังหวะที่หุ่นยนต์แมวสีฟ้าจะปรากฏตัวพร้อมกับของวิเศษ ที่ไม่ว่าสถานการณ์ภายในเรื่องจะเลวร้ายแค่ไหน แต่โดราเอมอนก็จะทำให้ทุกอย่างคลี่คลายลงได้ด้วยดีเสมอ

แม้ในชีวิตจริงจะไม่มีโดราเอมอนและสิ่งประดิษฐ์มหัศจรรย์ แต่รอยยิ้มและเสียงหัวเราะที่ได้รับจากตัวการ์ตูนตัวโปรดนั้นเป็นของจริง การ์ตูนเป็นสิ่งที่อยู่รอบตัวเรา หล่อหลอมให้พวกเราเติบโตมาในแบบที่ตัวเองเป็น และยังส่งต่อภารกิจนี้ให้กับการ์ตูนเรื่องใหม่ๆ ตามจังหวะของแต่ละช่วงชีวิต 

ภาพการ์ตูนเป็นภาษาสากลที่หลายครั้งไม่ต้องอาศัยคำพูดอธิบายก็สามารถเข้าใจเนื้อเรื่องของการ์ตูนนั้นได้อย่างลึกซึ้ง แต่เหตุใดประเทศไทยกลับนิยามอาชีพผู้ผลิตสื่อศิลปะชนิดนี้ด้วยคำว่า “นักเขียนการ์ตูนไส้แห้ง”  หรือที่แท้จริงแล้วชีวิตในฐานะนักเขียนการ์ตูนนั้น ไม่ได้สวยงามและสนุกสนานเหมือนกับเรื่องราวที่ปรากฏในหนังสือหรือหน้าจอโทรทัศน์

กราฟิก: เกศนคร พจนวรพงษ์

เพราะไส้แห้ง นักเขียนการ์ตูนจึงต้องพิสูจน์ตนเอง

“เขียนอย่างเดียวจริงๆ พอเลี้ยงชีพมั้ยมันตอบยากมากเลยค่ะ” พาณี อิทธิบำรุงรักษ์ หรือ ทราย เจ้าของนามปากกา อินกับทราย นักเขียนการ์ตูนฟรีแลนซ์และผู้ช่วยนักเขียน เจ้าของผลงานการ์ตูนความรู้เรื่อง อัศวินพิทักษ์ไดโนเสาร์ และ มงคลชีวิต 38 ประการ สำนักพิมพ์นานมีบุ๊คส์ เล่าประสบการณ์ในการประกอบอาชีพนักเขียนที่ต้องผ่านความยากลำบากมาไม่น้อย ทั้งในกระบวนการทำงานและการพิสูจน์ตัวเองให้ที่บ้านยอมรับในฐานะนักเขียนการ์ตูน โดยกว่าจะสามารถเริ่มต้นชีวิตในเส้นทางนี้ได้ต้องชนะการประกวดระดับประเทศก่อน เนื่องจากทัศนคติของคนในครอบครัวมองว่าอาชีพนักเขียนการ์ตูนเป็นงานที่ไม่มั่นคง จนพยายามบีบให้เธอหันไปสนใจงานด้านอื่นอยู่หลายครั้ง 

ผลงานของอินกับทราย เรื่อง SENT ส่งสุคติ

นอกจากการ์ตูนเล่ม การนำเสนอการ์ตูนทางสื่อออนไลน์ก็กำลังได้รับความนิยมในกลุ่มผู้อ่านไทย โดยได้รับอิทธิพลมาจากการ์ตูนเว็บของประเทศเกาหลีใต้หรือมังฮวา (Manhwa) ซึ่งเป็นการปรับตัวจากการ์ตูนเล่มที่กำลังอยู่ในช่วงซบเซา รัตน์ชนก วงษ์สมบัติ หรือแป้ง เจ้าของนามปากกา โกลิง  ได้ก้าวเข้าสู่เส้นทางนักเขียนการ์ตูนเว็บภายหลังสำเร็จการศึกษาในระดับมหาวิทยาลัย ด้วยผลงานเรื่อง UNLUCKY TODAY ที่เผยแพร่ลงบน LINE WEBTOON 

ผลงานของ PANGOLIN เรื่อง UNLUCKY TODAY เผยแพร่ทาง LINE WEBTOON

“ตอนแรกไม่คิดเลยว่าตัวเองจะมาเป็นนักเขียนการ์ตูน เพราะโดนสังคมตีกรอบว่าเราเป็นไม่ได้” แป้งเล่าให้ฟังถึงประสบการณ์ก่อนการเริ่มเส้นทางนักเขียนการ์ตูนจากผู้เข้ารอบประกวดของแพลตฟอร์มการ์ตูนเว็บ สู่การเป็นนักเขียนการ์ตูนเต็มตัวในปัจจุบัน ที่กว่าผลงานเรื่องแรกจะได้รับการเผยแพร่เธอต้องพบกับความผิดหวังจากการชิงรางวัลประกวดวาดการ์ตูนอยู่หลายสนาม

นักเขียนการ์ตูนกับภาระงานที่มากเกินกว่าค่าตอบแทน

แม้ว่าจะผ่านด่านการเข้าสู่สายอาชีพนักเขียนการ์ตูนมืออาชีพแล้ว แต่ใช่ว่าทุกอย่างจะโรยด้วยกลีบกุหลาบ ทรายเล่าว่ากว่าจะได้การ์ตูนมาหนึ่งเล่มต้องใช้ระยะเวลาเป็นอย่างมาก ตั้งแต่การหาข้อมูลสำหรับการเขียนการ์ตูนความรู้ การร้อยเรียงเนื้อเรื่อง จนไปถึงการวาดและจัดรูปเล่ม รวมแล้วใช้เวลาต่อเล่มประมาณ 3-6 เดือน โดยที่เธอจะได้รับค่าตอบแทนภายหลังปิดเล่ม หรือหนังสือพร้อมตีพิมพ์แล้วเท่านั้นตามเงื่อนไขที่สำนักพิมพ์ได้กำหนดไว้

ทรายเห็นด้วยกับคำว่า “นักเขียนการ์ตูนไส้แห้ง” ที่เป็นคำพูดติดปากในสังคมไทย เนื่องจากต้นทุนในการทำการ์ตูนสักเรื่องต้องลงกับค่าอุปกรณ์ไปไม่น้อย และยังเหนื่อยกายแบบหืดขึ้นคอหากรับเขียนงานรายสัปดาห์ โดยที่รายได้ขึ้นอยู่กับต้นสังกัดเป็นผู้แบ่งค่าตอบแทนซึ่งส่วนใหญ่ก็ไม่ได้สูงอะไร ทำให้หากประกอบอาชีพนักเขียนการ์ตูนอย่างเดียวก็อาจจะมีได้รายได้เสมอตัว

แป้งเสริมว่าการเขียนการ์ตูนเป็นอาชีพเพียงอย่างเดียวเป็นเรื่องที่ค่อนข้างยากสำหรับคนที่เริ่มต้นเนื่องจากอาชีพนี้ได้ค่าตอบแทนไม่มากเท่าไหร่ ทำให้ต้องหารายได้เสริมจากทางอื่น ในประเทศไทยค่าแรงของการเป็นนักเขียนการ์ตูนอยู่ที่ราว 4,000-5,000 บาทต่อตอน หนึ่งตอนต่อหนึ่งสัปดาห์  แต่การเขียนการ์ตูนรายสัปดาห์ที่ต้องคิดทั้งเนื้อเรื่อง วาดรูป และลงสีด้วยตนเองมักทำให้นักเขียนประสบปัญหาทำงานไม่ทันจนต้องจ้างผู้ช่วย โดยที่ทางแพลตฟอร์มการ์ตูนไม่ได้สนับสนุนค่าใช้จ่ายส่วนนี้ให้นักเขียน เธอจึงต้องหารายได้ทางอื่นด้วย เช่นการรับจ้างเป็นผู้ช่วยให้กับนักเขียนการ์ตูนเรื่องอื่น พร้อมกับเตรียมเขียนผลงานชิ้นใหม่ของตนเองต่อไป 

“คำว่านักเขียนการ์ตูนไส้แห้งมันเป็นคำที่ทำลายฝันของเด็กๆ หลายคน มันแสดงให้เห็นว่าประเทศเราไม่ได้ให้คุณค่ากับงานศิลปะ มันไส้แห้งเพราะคุณไม่คิดจะจ่ายให้กับความสนุกเวลาที่คุณได้อ่าน”

รัตน์ชนก วงษ์สมบัติ นักเขียนการ์ตูนเว็บรายสัปดาห์

ไม่เพียงเฉพาะในกรณีของทรายและแป้งเท่านั้น ปัจจุบันสภาพการจ้างงานของนักเขียนการ์ตูนไทยส่วนใหญ่อยู่ในสถานะของฟรีแลนซ์รับจ้างเขียนงานรายชิ้น เป็นเหตุให้นักเขียนไม่ได้รับเงินรายเดือนหรือสวัสดิการจากต้นสังกัด รวมไปถึงไม่ได้รับการคุ้มครองในระบบประกันสังคมเว้นแต่จะเป็นลูกจ้างในอุตสาหกรรมภาพยนตร์บางแห่ง ชีวิตของนักเขียนการ์ตูนในประเทศไทยจึงต้องแบกรับความเสี่ยงไม่ต่างจากแรงงานนอกระบบอย่างวินมอเตอร์ไซค์หรือหาบเร่แผงลอย 

ความเหลื่อมล้ำของตลาดการ์ตูนไทยและต่างประเทศ

ผลงานของ Aki-aishi

“ด้วยประเทศที่ค่าแรงไม่สอดคล้องกับค่าครองชีพที่สูงขึ้นทำให้ไม่ใช่ทุกคนที่จะมีเงินมาใช้จ่ายกับงานศิลปะในจำนวนมาก เลยเป็นเหตุให้นักวาดจำต้องกดราคาลงเพื่อที่จะได้ถูกจ้าง”  ภัทรมน วัลยะเพ็ชร์ หรือไอซ์ เจ้าของนามปากกา Aki-aishi เลือกเดินเส้นทางฟรีแลนซ์รับวาดรูปการ์ตูน รับวาดปกนิยาย ทำสินค้าการ์ตูนขายออนไลน์ และเขียนหนังสือการ์ตูนทำมือออกขายตามอิเวนต์งานการ์ตูนตามโอกาส เธอเล่าให้ฟังถึงปัญหาเพดานราคางานการ์ตูนในประเทศไทยที่มีเพดานราคาต่ำกว่าในต่างประเทศ ทำให้นักวาดบางคนที่มีผลงานดีๆ กลับถูกกดราคาลงไปด้วย จนทำให้ราคาที่ต่ำกลายเป็นมาตรฐานราคาของตลาดในไทยไป 

แม้ว่าในแต่ละภูมิภาคจะมีปัจจัยเรื่องค่าครองชีพที่แตกต่าง แต่เมื่อนำค่าแรงของนักเขียนการ์ตูนในสำนักพิมพ์ชื่อดังของแต่ละประเทศมาเปรียบเทียบกัน ค่าแรงของนักเขียนชาวไทยดูจะต่ำกว่าประเทศอื่นไปมาก 

ในประเทศญี่ปุ่น ค่าต้นฉบับของนักเขียนมือใหม่รายสัปดาห์ของสำนักพิมพ์ Shōnen Jump จะอยู่ที่หน้าละ 9,000 เยน (3,000 บาท) โดยที่หนึ่งตอนมีประมาณ 45 หน้า ทำให้มีรายได้ต่อสัปดาห์อยู่ที่ 405,000 เยน (135,000 บาท) หรือประมาณ 1,620,000 เยน (540,000 บาท) ต่อเดือน อย่างไรก็ตาม รายได้ส่วนนี้ยังไม่หักค่าจ้างในส่วนของผู้ช่วยคนละประมาณ 106,000 บาทต่อเดือน ทำให้ในช่วงแรกนักเขียนต้องแบกรับค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง ทว่ารายได้หลักของนักเขียนในญี่ปุ่นอยู่ที่เงินค่าลิขสิทธิ์ฉบับรวมเล่มเป็นส่วนใหญ่ โดยจะได้รับ 10% ของราคาหนังสือ ทำให้ยิ่งหนังสือขายดีนักเขียนก็ยิ่งมีรายได้ดีตามไปด้วย ไม่นับรวมถึงค่าลิขสิทธิ์ที่จะได้รับหากการ์ตูนถูกนำไปสร้างเป็นแอนิเมชัน 

ฝั่งนักวาดการ์ตูนในสหรัฐอเมริกา Career Trend เว็บไซต์หางานในสหรัฐอเมริกาได้ระบุว่า  นักวาดการ์ตูนจะมีเงินเดือนเฉลี่ยอยู่ที่เดือนละ 20,000 ดอลลาร์สหรัฐ  (600,000 บาท) หรือถ้าตีพิมพ์กับสำนักพิมพ์ใหญ่อย่าง DC หรือ Marvel Comic จะสามารถสร้างรายได้ต่อเดือนถึง 40,000 ดอลลาร์ (1,200,000 บาท) หรือมากกว่า

ในขณะที่นักเขียนการ์ตูนเว็บมือใหม่รายสัปดาห์ของไทยบนแพลตฟอร์มออนไลน์ จะได้ค่าต้นฉบับอยู่ที่ 4,000-5,000 บาทต่อตอนเท่านั้น ซึ่งเป็นรายได้ที่นักเขียนต้องแบ่งให้กับผู้ช่วย แม้อาจได้เสริมจากค่าเข้าชมของผู้อ่านต่อตอนอยู่บ้าง แต่ไม่มีรายได้จากการรวมเล่มเป็นหนังสือขาย

ส่วนรายได้ของนักวาดการ์ตูนฟรีแลนซ์ แนวโน้มส่วนใหญ่ใน DeviantArt เว็บไซต์รวมนักวาดจากทั่วทุกมุมโลก มีราคาเริ่มต้นต่อภาพที่ 50 ดอลลาร์สหรัฐ (1,500 บาท) ต่างกับในประเทศไทยเริ่มต้นที่ราว 100-200 บาทต่อภาพเท่านั้น เป็นเหตุให้นักวาดไทยหลายคนหันไปพึ่งพาตลาดต่างประเทศมากกว่า 

ไอซ์บอกเพิ่มเติมว่านอกจากการโดนกดราคาแล้ว นักวาดฟรีแลนซ์ยังต้องเจอกับปัญหาเกี่ยวกับการถูกละเมิดลิขสิทธิ์และสัญญาการจ้างวาด เช่นลูกค้านำงานไปใช้เกินกว่าที่ตกลงไว้ หรือนำภาพที่วาดนอกเหนือการจ้างงานไปผลิตสินค้าขายโดยที่รายได้ไม่เข้ากระเป๋าของเจ้าของผลงานอีกด้วย

การให้คุณค่างานการ์ตูนที่น้อยเกินไปในประเทศไทย

พรไพลิน เลาะมาน หรือ Nexist อดีตกราฟิกดีไซน์เนอร์ของบริษัทเกมในไทย ปัจจุบันเป็นนักวาดฟรีแลนซ์ที่มีลูกค้าจากโซนสหรัฐอเมริกาและยุโรป เล่าให้ฟังถึงความแตกต่างระหว่างตลาดการ์ตูนในประเทศไทยและต่างประเทศว่านอกจากมิติด้านค่าจ้างแล้ว ตลาดในต่างประเทศยังให้คุณค่าต่องานศิลปะที่ต่างจากไทยอีกด้วย

ผลงานของ Nexist

“ที่ไทยเสียงส่วนใหญ่จะบอกว่างานศิลปะไม่มีคุณค่า หาเงินไม่ได้ ไม่มั่นคงไม่เหมือนกับข้าราชการหรือหมอที่เขามักจะพูดกัน มันดูเพ้อฝันทั้งๆ ที่รอบตัวเรางานศิลปะอยู่ทุกที่ มันไม่ใช่แค่งานวาดรูป งานโฆษณา เสียง หรือสื่อโทรทัศน์ใช้งานศิลปะทั้งหมด แค่มันถูกแยกแขนงออกไปว่ามันจะถูกนำไปใช้ในด้านไหนบ้าง” พรไพลินระบุว่า ส่วนใหญ่เธอได้ลูกค้าจากผู้ติดตามผลงานจากทั่วโลกของเธอทางทวิตเตอร์ส่วนตัว เมื่อเธอลงผลงานก็จะมีคนมาช่วยรีทวิต ช่วยแชร์ หรือสนับสนุนผลงานตลอดทั้งๆ ที่ยอดผู้ติดตามของเธอก็ไม่ได้สูงมาก นี่เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้วงการนักวาดฟรีแลนซ์ขับเคลื่อนต่อไปได้ แต่ในไทยลูกค้ามักจะกระจุกอยู่ที่นักวาดเจ้าดังๆ ที่มียอดติดตามเยอะ ทำให้นักวาดรายเล็กหารายได้ลำบาก

ส่วนทรายมองว่าเหตุที่การ์ตูนในประเทศไทยไม่เติบโตเนื่องจากทัศนคติของผู้ใหญ่ที่เห็นการ์ตูนเป็นสื่อสำหรับเด็ก และยังขาดการสนับสนุนจากภาครัฐที่จะเป็นกลไกสำคัญในการกระตุ้นให้วงการการ์ตูนมีชีวิตชีวาขึ้น

“การ์ตูนคือสื่อชนิดหนึ่งที่มีการจัดเรทเนื้อหาให้เหมาะกับคนได้หลายเพศหลายวัย ไม่ใช่สำหรับเด็กอย่างเดียว” 

พาณี อิทธิบำรุงรักษ์ นักเขียนการ์ตูนฟรีแลนซ์

ในหลายประเทศการ์ตูนมีหลากหลายประเภทตามความสนใจของทุกเพศทุกวัย อย่างในประเทศญี่ปุ่นมีการจัดประเภทของนิตยสารการ์ตูนตามช่วงวัยของผู้อ่าน เช่น Youji Manga สำหรับเด็กวัย 1-4 ขวบซึ่งจะสอดแทรกเนื้อหาการศึกษา  Kodomo Manga สำหรับเด็กที่โตขึ้นมาโดยมีเนื้อหาบันเทิงมากขึ้น Shounen Manga สำหรับเนื้อหาแบบผจญภัย ต่อสู้ กีฬา Shoujo Manga สำหรับเนื้อหาโรแมนติกของหนุ่มสาว และ Seinen Manga สำหรับเนื้อหาที่มีความซับซ้อน แฝงด้วยแนวคิดทางการเมืองหรือใช้ภาพที่มีความรุนแรง

เมื่อความเหลื่อมล้ำทำให้นักเขียนไทยเข้าไม่ถึงความรู้

ธนธัช โชคเจริญทรัพย์ อดีตทนายความ ซึ่งปัจจุบันผันตัวมาเป็นนักเขียนการ์ตูนที่มีผลงานการ์ตูนสั้นบนเว็บไซต์ของสำนักพิมพ์การ์ตูนญี่ปุ่นยักษ์ใหญ่อย่าง Shōnen Jump ด้วยผลงานเรื่อง Mara ชี้ว่าการสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับการ์ตูนเป็นประเด็นสำคัญที่ทำให้เกิดความแตกต่างระหว่างอุตสาหกรรมการ์ตูนไทยและญี่ปุ่น ที่ญี่ปุ่นมีหนังสือสำหรับเพิ่มความรู้และฝึกทักษะการเขียนการ์ตูนโดยเฉพาะ เช่นหนังสือเกี่ยวกับการเขียนบทและการออกแบบตัวละคร ทำให้คนญี่ปุ่นสามารถเริ่มต้นเส้นทางนักเขียนการ์ตูนได้ตั้งแต่อายุสิบกว่าขวบ แต่ในประเทศไทยกลับเน้นหนักที่หนังสือสอนทักษะการวาดรูปให้สวยเท่านั้น ส่วนการเขียนเรื่องให้สนุก มิติของตัวละคร และการวางเนื้อเรื่องนั้นหาศึกษาจากหนังสือแทบไม่ได้ แถมด้วยรายได้เฉลี่ยของคนไทยที่ต่ำ ทำให้ไม่มีกำลังซื้อหนังสือฝึกทักษะการเขียนการ์ตูนที่มีราคาสูงได้ 

ผลงานของธนธัช เรื่อง Mara  เผยแพร่ทาง Shōnen Jump

“เราเคยอยู่เมืองไทยแล้วคิดว่าเราดีระดับนึงแล้ว พอไปต่างประเทศก็พบว่าเราไม่รู้อะไรเลย ตอนที่ลงใน Jump เราแค่เข้าใจส่วนหนึ่ง เพราะมันต้องไปอ่านเพิ่ม ไปเรียนเพิ่ม เราอยากรู้สิ่งที่เราควรจะรู้เพื่อหาเงิน เราจึงควรมีหนังสือหรือสื่อที่เข้าถึงได้ง่าย ต้องเน้นเรื่องการศึกษาให้เป็นนโยบายที่รัฐต้องให้ความสำคัญกับเด็กๆ ”

ธนธัช โชคเจริญทรัพย์ นักเขียนการ์ตูนที่ได้เผยแพร่ผลงานใน Shōnen Jump+

“อยู่เมืองไทย เก็บเงินกี่วันถึงจะซื้ออาร์ตบุ๊ก (หนังสือรวมงานศิลปะจากนักวาดการ์ตูน) ได้เล่มนึง แต่ที่ญี่ปุ่นทำงานวันเดียวก็ซื้ออาร์ตบุ๊กได้แล้ว จึงวนกลับมาปัญหาเดิมเรื่องค่าครองชีพ” ธนธัชเสริมว่านักเขียนการ์ตูนเป็นเหมือนอาชีพทั่วไปในญี่ปุ่น ค่าครองชีพและคุณภาพชีวิตยึดจากฐานที่ว่า ทำอาชีพอะไรก็ตามก็มีชีวิตอยู่ต่อไปได้ ถ้านักเขียนเขียนได้ดี ได้รับการสนับสนุน ก็จะมีชีวิตดีขึ้นกว่าเดิม

“การ์ตูนหรืองานศิลปะไม่ใช่ปัจจัยสี่ของชีวิต ประเทศที่พัฒนาแล้ว เขาตอบสนองปัจจัยสี่แล้ว คุณภาพชีวิตเขาดี เมื่อคุณภาพชีวิตดีประชากรจะมีเวลาไปสนใจปัจจัยอื่นมากขึ้น รายได้ฐานการเงินนักเขียนประเทศที่เจริญแล้วดีกว่าในไทยแน่นอน มีเวลาพัฒนาคุณภาพเทคนิคมากขึ้น แต่คุณภาพชีวิตในประเทศของเราวนอยู่กับคำว่าจะติดโควิดตายมั้ย สองชั่วโมงถึงบ้านรึเปล่า ดังนั้นที่นักเขียนของเราไส้แห้งเพราะกำลังการสนับสนุนมีไม่เท่าประเทศพัฒนา เราปั่นงานชนงานเลยสมองไหล นักเขียนไทยเลยหนีไปรับงานต่างประเทศเพราะเงินดี และส่วนใหญ่ก็อาจจะไม่กลับมาที่นี่อีกเลย” ธนธัชสรุป

ผลงานของธนธัช เรื่อง Mara  เผยแพร่ทาง Shōnen Jump

แม้คำว่า “นักเขียนการ์ตูนไส้แห้ง” จะเป็นการดูถูกความพยายามของนักเขียนการ์ตูนรุ่นใหม่ที่อยากได้รับการยอมรับ แต่เราก็ไม่สามารถปฏิเสธได้เลยว่าต้นตอของวาทกรรมนี้มาจากสภาพการทำงานของนักเขียนการ์ตูนที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของความไม่มั่นคง การไม่ได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐ ช่องทางในการพัฒนาศักยภาพที่เข้าไม่ถึง และคุณภาพชีวิตของคนในสังคมที่ตกต่ำจนไม่เอื้อให้เกิดการสนับสนุนงานศิลปะ ส่งผลให้ไม่เพียงแต่บุคลากรในอนาคตที่อยากเดินทางต่อในสายอาชีพนี้ แต่แรงงานนักเขียนการ์ตูนในปัจจุบันก็ยังใช้ชีวิตอยู่บนความเสี่ยงจนทำให้บางส่วนหันเหไปหาตลาดการจ้างงานที่มีความหวังมากกว่าจากต่างประเทศ

และทำได้เพียงคาดหวังให้ “การ์ตูนไทย” กลับมามีชีวิตขึ้นอีกครั้ง ซึ่งในขณะนี้ก็อยู่ระหว่างการต่อสู้ด้วยของวิเศษเพียงอย่างเดียว นั่นก็คือปลายปากกาของนักเขียนทุกคนที่ยังมีกำลัง และกระเสือกกระสนที่จะวาดฝันอนาคตข้างหน้าของวงการนี้ต่อไป

%d bloggers like this: