Community Social Issue

‘กรุงเทพฯ คุณภาพชีวิตดี ๆ ที่ลงตัว’ ไม่เคยเกิดขึ้นจริง ?

แม้กรุงเทพมหานครจะใหญ่เป็นอันดับที่ 73 ของโลก แต่คนในเมืองหลวงยังต้องจ่ายค่าเดินทางขนส่งสาธารณะในราคาสูง เสี่ยงภัยอาชญากรรม ขาดพื้นที่สีเขียวและสันทนาการ จนมีคำถามว่าเมื่อไหร่ "คุณภาพชีวิตดี ๆ ที่ลงตัว" จะเกิดขึ้นจริง

เรียบเรียง: ณันทรัฐ มาจุฬา

ผู้สื่อข่าว: สิรวิชญ์ บุญประสิทธิการ, ชลลดา เกิดสุข, ชิดชนก หวังศิริเลิศ, วันนิษา แสนอินทร์,  

กัญจน์ เชื้อพันธ์, เกศนคร พจนวรพงษ์, ชลณิชา ทะภูมินทร์, ณัฐชยา นิรัติศัยกุล, ณันทรัฐ มาจุฬา, 

นวจิต เอื้ออภินันท์สกุล, นงนภัส บุญศิริ, พิชญา เตโชฬาร, เมธัส แก้วดำ, เจณิกาพร ปิยะรัตน์

“มีรายได้ประจำเดือนละ 12,000 บาท ไม่มีเงินเก็บสักบาท เพราะต้องจ่ายทั้งค่าเดินทาง ค่าอาหาร ค่าที่พัก ค่าครองชีพในเมืองสูงมาก” 

ทุกวันนี้ แบม (นามสมมติ) วัย 22 ปี ชาวกรุงเทพฯ และพนักงานธุรการประสานงานร้านขายขนมเค้กแห่งหนึ่งใจกลางเมืองหลวง ต้องใช้เงินแบบเดือนชนเดือน 

แม้เธอจะหารายได้เพิ่มจากอาชีพเสริมแบบฟรีแลนซ์ทำให้มีสภาพคล่องเพิ่มขึ้นบ้าง แต่ก็ได้เงินเพิ่มอีกไม่มาก และงานพิเศษก็ไม่ได้มีทุกเดือน เมื่อหักค่าใช้จ่ายที่จำเป็นทั้งหมดแล้วอาจจะเหลือ 2,000-3,000 บาท แต่สุดท้ายก็มีค่าใช้จ่ายอื่น ๆ จนเงินหมด แม้จะพยายามลดค่าใช้จ่ายแต่ก็ยังไม่มีเงินอย่างคล่องมือ    

ปัจจุบัน กรุงเทพฯ อยู่ในแผนพัฒนาระยะ 20 ปี (2556-2575) ประกอบด้วยยุทธศาสตร์ 6 มิติ ได้แก่ 1) มหานครสำหรับทุกคน 2) มหานครปลอดภัย 3) มหานครสีเขียว สะดวกสบาย 4) มหานครแห่งเศรษฐกิจและการเรียนรู้ 5) มหานครกะทัดรัด และ 6) มหานครแห่งประชาธิปไตย จัดทำขึ้นในปี 2559 หลัง พล.ต.อ. อัศวิน ขวัญเมือง เข้ามาเป็นผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครโดยดำเนินการสอดคล้องกับแผนที่บูรณาการมาจากยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปี วิสัยทัศน์ประเทศไทย 4.0 แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 ปี 2560-2564 ซึ่งเกิดขึ้นในสมัยรัฐบาลทหารที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) มารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี 

อย่างไรก็ดี ในส่วนการจัดการเศรษฐกิจของเมือง แม้กรุงเทพฯ จะมีผลผลิตมวลรวมของประเทศหรือจีดีพีมากที่สุดเป็นอันดับ 1 ของประเทศไทย และมีมูลค่าสูงถึง 5 ล้านล้านบาท จากรายงานของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ แต่เว็บไซต์นัมเบโอ ซึ่งเป็นเว็บไซต์นานาชาติที่เก็บข้อมูลค่าครองชีพทั่วโลก ระบุว่า ค่าครองชีพของมหานครแห่งนี้ สูงเป็นอันดับ 2 ของอาเซียน รองจากประเทศสิงคโปร์ โดยรายได้เฉลี่ยของสิงคโปร์อยู่ที่ 96,132 บาท แต่อัตราค่าแรงขั้นต่ำของแรงงานในกรุงเทพมหานคร กลับอยู่ที่ 331 บาทต่อวัน หรือ 9,930 บาทต่อเดือน 

รากหญ้าขาดสภาพคล่อง เหตุจ่ายค่าเดินทางสูงลิบ แค่ค่ารถเมล์เกือบ 20% ของรายได้ขั้นต่ำ

“นิสิตนักศึกษา” ตรวจสอบพบว่า ตัวแปรสำคัญหนึ่งที่ทำให้อัตราค่าครองชีพของกรุงเทพฯ พุ่งสูงคือ ค่าใช้จ่ายด้านการเดินทาง ซึ่งก่อนหน้านี้ รัฐบาลพรรคพลังประชาชน ของนายกรัฐมนตรีสมัคร สุนทรเวช ออกนโยบายลดภาระค่าครองชีพของประชาชน โดยประชาชนสามารถโดยสารรถเมล์ฟรีและรถไฟฟรีด้วยการใช้งบประมาณจากการเก็บภาษีมาชดเชย แต่นโยบายนี้ถูกยกเลิกไปเมื่อ 1 พฤศจิกายน 2560 และแทนที่ด้วยบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ในรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา 

สำหรับอัตราค่าโดยสารรถประจำทาง พบว่า มีการปรับราคาขึ้นอย่างต่อเนื่องตามสภาวะเศรษฐกิจ ปัจจุบันอัตราค่าบริการขนส่งสาธารณะขององค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) รถขาว-น้ำเงิน คิดแบบอัตราเดียวตลอดสาย ราคา 7.50 บาท รถครีม-แดง คิดแบบอัตราเดียวตลอดสาย ราคา 8 บาท หากอยู่ในช่วงเวลากะสว่างคิดเพิ่ม 1.50 บาท รวมเป็น 9.50 บาท รถครีม-แดงทางด่วน คิดแบบอัตราเดียวตลอดสาย ราคา 10 บาท ขณะที่รถโดยสารปรับอากาศจะมีช่วงราคาอยู่ที่ 12-25 บาท หากมีการขึ้นทางด่วนจะบวกเพิ่ม 2 บาทในทุกสาย เมื่อคำนวณแล้วค่าโดยสารรถเมล์ 1 เที่ยวในราคาต่ำสุดจะคิดเป็น 19.51% ของค่าแรงขั้นต่ำรายชั่วโมง ซึ่งตกอยู่ชั่วโมงละ 41 บาท

ส่วนขนส่งสาธารณะทางเลือกอื่น เช่น รถมอเตอร์ไซค์รับจ้าง พบว่า ราคาเริ่มต้นที่ 25 บาท ขณะที่แท็กซี่เริ่มต้นที่ 35 บาท 

กราฟิก: ณันทรัฐ มาจุฬา 

อัมพร ชัยชนะ แม่บ้านวัย 62 ปี ชาวจังหวัดนนทบุรีที่เข้ามาทำงานย่านสามย่าน เผยว่า ในหนึ่งวัน เมื่อรวมค่าเดินทางทั้งขาไปและขากลับแล้วนั้น ต้องจ่ายเป็นเงินกว่า 100 บาท เพราะต้องนั่งรถหลายต่อ จากจักรยานยนต์รับจ้างมาขึ้นเรือข้ามฟาก แล้วนั่งรถโดยสารสาธารณะต่อมาจนถึงจุดหมาย ขณะที่มีรายได้ต่อวัน 350 บาท 

“หลังนโยบายรถเมล์ฟรีถูกยกเลิกไปเป็นการลงทะเบียนบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ทำให้เข้าถึงยาก จากเดิมที่ขึ้นได้เลย แต่นี่ต้องไปลงทะเบียนก่อน ป้าก็ไม่มีความรู้มากพอที่จะเดินทางไปลงทะเบียน ไหนจะต้องทำงาน ไม่มีเวลาไปหรอก ค่าแรงต่อวันขนาดนี้พอหักค่าเดินทาง ค่าอาหาร พอจะมีเงินเก็บประมาณ 2,000 บาท ต่อเดือน แต่ก็ยังไม่เพียงพอ” อัมพร กล่าว 

ความปลอดภัยเรี่ยดิน อาชญากรรมเฉลี่ย 6 ครั้งต่อวัน 

เมื่อตรวจสอบถึงความปลอดภัยในเมือง จากรายงานของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ พบว่า สถิติการรับแจ้งคดีอาชญากรรมในกรุงเทพฯ ฐานความผิดเกี่ยวกับชีวิต ร่างกายและเพศ ในปี 2562 มีคดีที่รับแจ้งทั้งสิ้น 2,395 คดี สามารถจับกุมผู้กระทำผิดได้ 2,081 คดี เท่ากับยังมี 314 คดี ที่ยังจับกุมไม่ได้ หรือ 13.11% ทั้งนี้ เฉลี่ยมีคดีในฐานการกระทำผิดดังกล่าวเกิดขึ้นวันละ 6.56 ครั้ง โดย 3 อันดับของคดีที่เกิดขึ้นมากที่สุด ได้แก่ คดีทำร้ายร่างกาย ข่มขืนกระทำชำเรา และฆ่าผู้อื่น ตามลำดับ 

เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา ประกาศสำนักทะเบียนกลาง เรื่อง จำนวนราษฎรทั่วราชอาณาจักร ตามหลักฐานการทะเบียนราษฎร ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2562 ซึ่งเผยแพร่เมื่อวันที่ 30 มกราคม 2563  ระบุว่า ราษฎรในกรุงเทพฯ มีทั้งสิ้น 5,666,264 คน เมื่อเปรียบเทียบกับตัวชี้วัดที่เชื่อมโยงกับยุทธศาสตร์ตำรวจ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2560 เรื่องเป้าหมายหน่วยงานและการบูรณาการ ประเด็นรักษาความสงบเรียบร้อยความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน ประชาชนมีส่วนร่วมป้องกันแก้ไขปัญหาความมั่นคงและการวิจัยพัฒนา ที่ระบุว่า เป้าหมายกลุ่มฐานความผิดเกี่ยวกับชีวิต ร่างกายและเพศ ต้องไม่เกิน 41.87 คดี ต่อประชากรหนึ่งแสนคน 

แต่เมื่อเทียบกับสถิติการรับแจ้งคดีอาชญากรรมข้างต้นแล้ว จะพบว่า ในกรุงเทพฯ เกิดคดีในฐานการกระทำผิดดังกล่าว 42.25 คดีต่อประชากรหนึ่งแสนคน ซึ่งเกินเป้าหมายของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ

“นิสิตนักศึกษา” ตรวจสอบต่อไปยังพบว่า กรุงเทพฯ ยังมีปัญหาเรื่องไฟฟ้าส่องสว่าง ซึ่งส่วนใหญ่มีสภาพชำรุด มีข้อมูลของสำนักการโยธา กรุงเทพมหานคร ระบุว่า สำนักฯ จะลงพื้นที่ตรวจสอบไฟฟ้าตามถนนที่รับผิดชอบทุก 15 วัน พร้อมจัดซ่อมไฟฟ้าที่ชำรุดทั้งที่ตรวจสอบพบและทั้งที่มีประชาชนแจ้ง หากพบหลอดไฟชำรุดจะดำเนินการเปลี่ยนหลอดไฟทันที 

ที่ผ่านมา กรุงเทพฯ และการไฟฟ้านครหลวง ได้ทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือซ่อมแซมไฟฟ้าส่องสว่าง แต่ปัจจุบันได้ยกเลิกบันทึกข้อตกลงความร่วมมือดังกล่าว เนื่องจากมีการประกาศใช้ พ.ร.บ. จัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 อย่างไรก็ตาม ขณะนี้กรุงเทพมหานครและการไฟฟ้านครหลวงอยู่ระหว่างปรับปรุงบันทึกข้อตกลงความร่วมมือฉบับใหม่ เพื่อให้สอดคล้องกับกฎหมายนี้

สีเขียวยังกระจายไม่ทั่วถึง ท้องถิ่นเน้นแต่ความคุ้มค่าเศรษฐกิจ

“นิสิตนักศึกษา” สืบค้นการจัดพื้นที่สีเขียวรองรับประชาชนในกรุงเทพฯ จากฐานข้อมูลและระบบติดตามประเมินผลการเพิ่มพื้นที่สีเขียวของกรุงเทพฯ แสดงให้เห็นว่า พื้นที่สีเขียวของชาวกรุง แม้ตลอดระยะ 7 ปีจะเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ แต่ก็ยังคงไม่เพียงพอ โดยในปี 2562 กรุงเทพฯ มีพื้นที่สีเขียว 6.9 ตารางเมตรต่อคน ขณะที่เกณฑ์มาตรฐานขององค์การอนามัยโลก (WHO) กำหนดไว้ว่า แต่ละเมืองควรมีสัดส่วนพื้นที่สีเขียวอย่างน้อย 9 ตารางเมตรต่อคน 

อย่างไรก็ดี ตามนิยามคำว่าพื้นที่สีเขียวของกรุงเทพฯ หมายถึงพื้นที่สวนสาธารณะ 7 ประเภท ประกอบด้วย 1) สวนเฉพาะทาง 2) สวนชุมชน 3) สวนถนน 4) สวนระดับเมือง 5) สวนระดับย่าน 6) สวนหมู่บ้าน และ 7) สวนหย่อมขนาดเล็ก แต่ปรากฏว่า มีพื้นที่สีเขียวแค่บางประเภทเท่านั้นที่ถูกออกแบบมาเพื่อให้ผู้คนทั่วไปสามารถเข้าไปใช้งานได้จริง 

พื้นที่สีเขียวประเภทสวนถนน ซึ่งเป็นสวนเกาะกลางมี 7,176,166.732 ตารางเมตร แต่พื้นที่ประเภทที่เป็นสวนระดับเมือง ซึ่งเป็นพื้นที่สาธารณะที่ไว้ให้คนทั้งเมืองและบริเวณพื้นที่ใกล้เคียงมาใช้บริการมีเพียง 2,322,843.600 ตารางเมตรและมีเพียง 2 แห่งในกรุงเทพฯ ได้แก่ สวนสาธารณะศูนย์กีฬาบึงหนองบอนและ สวนหลวง ร.9 ส่วนพื้นที่สวนระดับย่านมีพื้นที่ 7,492,456.600 ตารางเมตร เป็นสวนที่ผู้คนบริเวณโดยรอบสามารถใช้พื้นที่ได้จริง แต่มีเพียง 19 แห่งทั่วกรุงเทพฯเมื่อนำมาคำนวณแล้วพบว่า สัดส่วนพื้นที่สีเขียวที่คนกรุงเทพฯ สามารถใช้งานได้จริงมีเพียง 0.92 ตารางเมตรต่อคนเท่านั้น 

เมื่อสืบค้น 50 เขตของกรุงเทพฯ พบว่ามีเพียง 11 เขตที่มีพื้นที่สีเขียวถึงเกณฑ์กำหนด ส่วนเขตที่มีอัตราส่วนพื้นที่สีเขียวต่อประชากรน้อยที่สุดไม่ถึง 2 ตารางเมตรต่อคน คือ เขตวัฒนา 1.71 ตารางเมตรต่อคน เขตวังทองหลาง 1.81 ตารางเมตรต่อคน เขตดินแดง 1.99 ตารางเมตรต่อคน 

ผู้ใช้บริการสวนสาธารณะลุมพินีรายหนึ่ง ซึ่งอาศัยอยู่ย่านพระโขนง ให้สัมภาษณ์กับทีมข่าวว่า แทบไม่ได้ไปสวนสาธารณะ เพราะเดินทางไม่สะดวกเท่าที่ควร 

“มันควรจะมีเยอะกว่านี้ นี่ต้องนั่งรถไฟฟ้าไปหลายสถานี อีกที่คือสวนหลวง ร.9 แต่ก็ต้องขับรถไป ในระยะใกล้ ๆ นี่ไม่มีเลย พื้นที่สีเขียวในกรุงเทพฯ ยังไม่เพียงพอต่อความต้องการของประชาชน” เขาระบุ 

ด้าน พิณ อุดมเจริญชัยกิจ อาจารย์ประจำภาควิชาภูมิสถาปัตยกรรม คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า รัฐมองแค่พื้นที่สีเขียว 9 ตารางเมตรต่อคน แต่สิ่งที่ท้าทายคือ การต้องมีสวนระดับย่าน ระดับชุมชน ระดับหมู่บ้านกระจายไปทั้งเขต เพื่อให้คนเข้าถึงพื้นที่ดังกล่าวได้ แม้จะไม่ถึง 9 ตารางเมตรต่อคน แต่คนต้องไปได้ในระยะ 500 เมตร  

“บางเขตมีพื้นที่สีเขียวต่อประชากรน้อย เช่น เขตวัฒนาเพราะอยู่ในย่านธุรกิจ (Central Business District) มีราคาที่ดินค่อนข้างสูง รัฐคงคิดว่า การนำที่ดินดังกล่าวมาพัฒนาเป็นพื้นที่สีเขียวก็อาจจะไม่คุ้มค่า ในขณะที่เขตดินแดงและวังทองหลางนั้นมีปัญหาเรื่องความแออัดของประชากร และเอกชนเป็นผู้ถือครองที่ดิน การพัฒนาจึงไม่ได้มุ่งเน้นไปที่การสร้างพื้นที่สีเขียวมากเท่าไหร่นัก”  

นักวิชาการด้านภูมิสถาปัตยกรรม กล่าวอีกว่า รัฐคงเห็นว่า การมีพื้นที่สีเขียวเป็นเรื่องราคาแพง คือต้นไม้เป็นของโตได้ ไม่เหมือนคอนกรีตที่สร้างเสร็จแล้วอยู่อย่างนั้นเลยสวยงามไปตลอด ต้นไม้มีปัญหาก็คือกิ่งหัก ต้นไม้ล้ม ต้องใส่ปุ๋ย รดน้ำ ตัดแต่ง ซึ่งในมุมมองของคนที่ทำงานก็มองว่าเป็นภาระที่เขาจะต้องมาดูแล จึงเกิดช่องว่างระหว่างคนวางแผนกับคนที่รับคำสั่งปฏิบัติงาน พนักงานที่ดูแลพื้นที่สีเขียวในแต่ละเขต ในหนึ่งวันก็จะหมดไปกับการดูแล รดน้ำต้นไม้ ต้นไม้ตรงไหนมีปัญหาอย่างไร ดังนั้นก็จะไม่มีเวลาไปคิดอย่างอื่น

ขยะล้นกรุง รัฐลดปริมาณไม่ได้จริง

เมื่อตรวจสอบการจัดการขยะมูลฝอย ทีมข่าวสืบค้นข้อมูลจากรายงานสถิติปริมาณขยะในประเทศของกรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พบว่า ในระยะ 8 ปี จากปี 2554 – 2562 กรุงเทพฯ มีปริมาณขยะมูลฝอยมากเป็นอันดับ 1 ของประเทศ จำนวนเฉลี่ย 10,564 ตัน/วัน เพิ่มขึ้นจากปี 2554 ที่มีปริมาณขยะเฉลี่ย 8,943 ตัน/วัน หรือเพิ่มขึ้นกว่า 18% โดยเขตคลองสามวามีปริมาณขยะเพิ่มขึ้นสูงสุด เป็น 214 ตัน/วัน จากเดิม 167 ตัน/วัน ในปี 2556 คิดเป็น 27% ภายในระยะเวลาเพียง 6 ปี ล่าสุดเขตที่มีปริมาณขยะมากเป็นอันดับ 1 ในกรุงเทพฯ คือ จตุจักร มีปริมาณขยะ อยู่ที่ 338 ตัน/วัน สวนทางกับนโยบายแผนพัฒนากรุงเทพฯ ปี 2556 ที่ตั้งเป้าหมายไว้ว่าต้องการลดขยะ 20% ภายในปี 2575

มากไปกว่านั้น ชาตรี วัฒนเขจร รองผู้อำนวยการสำนักสิ่งแวดล้อม กทม. ระบุว่า กรุงเทพฯมีต้นทุนการกำจัดที่สูงกว่าค่าธรรมเนียมรายปีที่เก็บเพียงครัวเรือนละ 240 บาท โดยใน 1 ปี กรุงเทพฯ ต้องจ่ายค่ากำจัดขยะในแก่บริษัทรับจ้างกำจัดขยะมูลฝอย เป็นจำนวนทั้งสิ้น 970 บาทต่อตันต่อวัน 

กราฟิก: กัญจน์ เชื้อพันธ์ และ เกศนคร พจนวรพงษ์

พื้นที่เรียนรู้น้อย แถมกระจุกกลางเมือง

ทีมข่าวตรวจสอบนโยบาย ‘มหานครแห่งเศรษฐกิจและการเรียนรู้’ พบว่า อาคารจัดแสดงงานศิลปะ หรือหอศิลป์ อันเป็นแหล่งการเรียนรู้นอกห้องเรียน ในกรุงเทพฯ มีหลายแห่งที่ได้รับคะแนนการเมินจากเว็บไซต์การท่องเที่ยวไทมเอ้าท์ว่า ไม่ควรพลาดแก่การเข้าชม เช่น พิพิธภัณฑ์ศิลปะไทยร่วมสมัย พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติหอศิลป์ หอศิลป์วัฒนธรรมกรุงเทพฯ เป็นต้น ทว่า มีจำนวนไม่พอกับความต้องการ อีกทั้งเข้าถึงยากเพราะกระจุกตัวใจกลางเมือง

วีร์ วีรพร กราฟิกดีไซเนอร์ และอาจารย์พิเศษคณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ในเมืองไม่จำเป็นต้องมีหอศิลป์ใหญ่โตแห่งเดียว แต่ควรมีแห่งเล็ก ๆ หลายจุดให้คนเดินทางสะดวก ไม่ต้องเอามาอยู่ใจกลางเมืองและบริเวณอื่นไม่มี 

ส่วน กุลธิดา รุ่งเรืองเกียรติ อดีตรองประธานกรรมาธิการการศึกษา สภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า ในแต่ละชุมชน หากแบ่งเป็น 3 ส่วน ควรมีพื้นที่เป็นแหล่งเรียนรู้จริงจังแบบโรงเรียน 1 ส่วน อีก 2 ส่วน เป็นพื้นที่ที่เป็นแหล่งเรียนรู้หรือพื้นที่ทำกิจกรรมอื่น ๆ แต่ในกรุงเทพฯ ไม่มีการคำนึงพื้นที่เรียนรู้ตามสัดส่วนนี้ 

“ยังมีปัญหาเรื่องเข้าไม่ถึงเด็กทุกกลุ่ม สมมติเป็นเด็กจากชุมชนแออัดสักแห่ง จะกล้าเดินเข้าหอศิลป์ตรงสนามกีฬาหรือไม่ เขาก็อาจจะคิดว่า แบบนี้ไม่ใช่ที่ของฉัน ทั้งที่มันอาจจะเป็นสิ่งที่เขาสนใจมาก ๆ ก็ได้ แต่ฉันไม่กล้าไปพื้นที่แบบนี้ ดังนั้นเวลาสร้างพื้นที่ต้องสร้างจากคนที่อยู่ตรงนั้นด้วย และให้มันโอบรับคนทุกกลุ่ม เป็นพื้นที่ของทุกคนจริง ๆ ให้บริการแก่ทุกคนจริง ๆ”

กุลธิดา กล่าวอีกว่า ต้องยอมรับว่าห้างสรรพสินค้าเป็นพื้นที่ที่เด็กและครอบครัวใช้ชีวิตอยู่มาก ฉะนั้นน่าจะเอาแหล่งเรียนรู้ไปตั้งในนั้น มีกฎหมายว่า ในพื้นที่ตลาดหรือห้างสรรพสินค้า ต้องแบ่งพื้นที่เป็นพื้นที่การเรียนรู้ และเก็บค่าเช่าถูกมาก หรือไม่เก็บเลย เพื่อสร้างวัฒนธรรมการเข้าถึงและการเข้าชมแหล่งการเรียนรู้แก่นักเรียน ให้นักเรียนรู้สึกว่า การเข้าไปในพื้นที่แบบนี้เป็นเรื่องปกติและจำเป็นต่อการเรียนรู้ของเขา

ช่องทางร้องเรียนไร้ประสิทธิภาพ แจ้งแล้วเรื่องเงียบ

สายด่วน กทม. CALL CENTER 1555 ซึ่งเป็นช่องทางรับเรื่องร้องเรียนของกรุงเทพมหานคร ได้สรุปสถิติเรื่องร้องทุกข์ตั้งแต่เดือนมกราคม – ตุลาคม 2563 พบว่ามีประชาชนร้องเรียนทั้งสิ้น 56,765 เรื่อง ซึ่งแก้ไขเสร็จแล้ว 39,156 เรื่อง และมีเรื่องร้องทุกข์กว่า 17,609 เรื่องที่อยู่ระหว่างดำเนินการ หรือคิดเป็นกว่า 31% ของเรื่องร้องทุกข์ทั้งหมดยังไม่ได้รับการแก้ไข

จากการสัมภาษณ์นางสาวหยก (นามสมมุติ) ที่เคยโทรไปร้องเรียนผ่านช่องทางร้องทุกข์ 1555 กรณีที่ร้านค้าแถวบ้านตั้งโต๊ะกีดขวางทางเท้า เธอกล่าวว่า เมื่อโทรไปกลับได้รับคำตอบว่าเจ้าหน้าที่มีการตักเตือนแล้ว แต่ร้านค้าก็ยังตั้งโต๊ะอยู่เช่นเดิม

“แถวบ้านดิฉันมีร้านค้าถึงขั้นทำหลังคาร้านออกมาที่ฟุตบาท คือไม่ใช่แค่ตั้งโต๊ะ แต่มีหลังคาด้วย แถมเดินไฟออกมาด้วยอีกต่างหาก โทรไปแจ้ง 2 ครั้งได้คำตอบแค่ว่าตักเตือนไปแล้ว รู้สึกว่าถ้าเจ้าหน้าที่จะทำแค่ตักเตือนมันอาจจะไม่พอ ถ้าร้านตั้งโต๊ะได้แบบนี้ แล้วคนต้องลงไปเดินบนถนนอย่างนั้นหรือ” นางสาวหยกระบุ

เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2564 มาศวัลย์ ปิ่นสุวรรณ ผู้อำนวยการสำนักงานเลขานุการปลัดกรุงเทพมหานคร (สลป.) สำนักปลัดกรุงเทพมหานคร ได้ออกมาชี้แจงผ่านเว็บไซต์ กทม.NOWCONNECT (bkknowconnect.com) ต่อกรณีที่สื่อมวลชนวิพากษ์วิจารณ์ศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ กทม. 1555 ที่ไม่แก้ปัญหาที่ประชาชนร้องเรียนจำนวนมากว่า กทม.ได้ดำเนินการอย่างเป็นขั้นตอน ทั้งยังมีการตรวจสอบอย่างละเอียด หากเจ้าหน้าที่ไม่ดำเนินการตามข้อกำหนดและระยะเวลา จะมีผลต่อการประเมินการปฏิบัติราชการประจำปีของหน่วยงานด้วย

อย่างไรก็ดี ผู้อำนวยการสำนักงานเลขานุการปลัดกรุงเทพมหานคร ก็ไม่ได้ตอบคำถามว่า เรื่องร้องเรียนกว่า 17,609 เรื่องที่อยู่ระหว่างดำเนินการจะเสร็จสิ้นเมื่อใด หรือเพราะเหตุใด หลายปัญหาจึงยังไม่มีการแก้ไขตามข้อร้องเรียนของประชาชน

กทม.ยัน จัดบริการสาธารณะตามอำนาจอย่างทั่วถึง อ้างประชาชนพึงพอใจมากที่สุดเกือบ 90%

ด้านเฉลิมพล โชตินุชิต ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาสังคม ชี้แจงว่า กทม. สามารถจัดบริการสาธารณะตามอำนาจหน้าที่เพื่อให้บริการประชาชนได้อย่างทั่วถึงโดยภาพรวม โดยในปี 2563 ผลการประเมินชี้ว่า การจัดบริการสาธารณะของกทม. สามารถตอบสนองความต้องการของประชาชนที่มีความพึงพอใจในระดับมากถึงมากที่สุด คิดเป็น 88.81%

นายเฉลิมพล ชี้แจงว่า สำนักพัฒนาสังคมก็พยายามช่วยเหลือในหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาฝีมือแรงงานสตรีและคนชราเพื่อการประกอบอาชีพ หรือหากเป็นผู้พิการ สำนักพัฒนาสังคมก็มีการดูแล สงเคราะห์ และฟื้นฟู ผู้พิการตาม พ.ร.บ.ส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ. 2550 

“เราพยายามผลักดันโครงการรวมถึงกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชนกรุงเทพมหานครให้กินดี อยู่ดี มีความสุข มีโอกาส มีงานทำ รวมทั้งส่งเสริมสนับสนุนให้ประชาชนและชุมชนสามารถพึ่งพาตนเองจนเกิดการรวมกลุ่มกันอย่างเข้มแข็งและเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศ”

เมื่อถามถึงปัญหาอาชญากรรมพุ่งสูง ปัญหาการขาดแคลนพื้นที่สีเขียว และปัญหาการศึกษากระจุกตัวอยู่ในเมือง นายเฉลิมพล กล่าวว่า แม้ในภาพรวมกรุงเทพฯจะสามารถจัดบริการสาธารณะได้อย่างทั่วถึง แต่ก็ต้องจัดลำดับความต้องการของประชาชนตามภารกิจที่ประชาชนต้องการมากที่สุดก่อน นั่นก็คือ ด้านสาธารณสุข บริการทางสังคม และคุณภาพชีวิต รองลงมาคือด้านการศึกษา และการรักษาความสงบปลอดภัย ด้านโครงสร้างพื้นฐาน ด้านการส่งเสริมเศรษฐกิจชุมชน การท่องเที่ยวและการลงทุน ด้านการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ก่อนจะเป็นด้านการส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม ตามลำดับ

ชี้ สโลแกนกทม. ตอกย้ำความเหลื่อมล้ำเมืองหลวง

ด้าน พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ อาจารย์ประจำภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า การจัดทำบริการสาธารณะขั้นพื้นฐานของกรุงเทพฯ ยังไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร เช่น เรื่องการคมนาคม กรุงเทพฯ มีรถไฟฟ้าและรถเมล์จำนวนมาก แต่ด้วยการบริหารจัดการเส้นทางและการกำหนดราคาที่ไม่เหมาะสมทำให้การคมนาคมสาธารณะเหล่านี้ไม่สามารถตอบสนองความต้องการของคนทุกกลุ่มได้

“ผมคิดว่าทุกคนก็คงรู้สึกแหละ ว่าการให้บริการสาธารณะในกรุงเทพฯ มันไม่เพียงพอ เช่น เรื่องของรถเมล์ แต่เอาจริง ๆ เราพูดไม่ได้หรอกว่ารถเมล์ไม่พอหรือไม่มีรถเมล์ แต่ปัญหาคือรถเมล์ที่มีอาจจะไม่มีประสิทธิภาพหรือเปล่า มาช้ารึเปล่า เอาจริง ๆ รถเมล์มีก็เยอะ ซ้อนกันไม่รู้กี่สาย ทำให้รถติด บางทีถ้ากทม.วางเส้นทางของแต่ละสายให้ดีกว่านี้ บริการสาธารณะอย่างรถเมล์ก็อาจจะมีประสิทธิภาพ ประสิทธิผลมากขึ้น หันมามองที่รถไฟฟ้า ก็อาจจะเร็ว สะอาด แต่ก็อาจจะไม่ครอบคลุมทุกพื้นที่ เพราะถ้าจะเอาให้ครอบคลุมก็อาจจะไม่คุ้มทุนของเอกชน แต่ต่อให้การคมนาคมจะดีแค่ไหน มันก็ต้องมาดูกันอีกว่าคนทุกกลุ่มเข้าถึงได้หรือเปล่า คนจนที่มาใช้แรงงานในเมืองเข้าถึงรถพวกนี้ได้ไหม”

ผศ.ดร.พิชญ์ กล่าวอีกว่า ไม่เห็นความพยายามที่จะส่งเสริมในเรื่องของเศรษฐกิจ ทั้งที่เป็น 1 ใน 20 กว่าข้อของพ.ร.บ.กทม. อีกทั้งประชาชนยังไม่รับรู้ว่า กทม.ทำอะไรบ้าง เช่น ได้ส่งเสริมการสร้างงานสร้างอาชีพไหม หรือว่าไล่รื้อพื้นที่ในนามของการรักษาความสะอาดจนคนไม่มีที่ทำกิน

ผศ.ดร.พิชญ์ ยังตั้งคำถามถึง สโลแกน ‘กรุงเทพฯ คุณภาพชีวิตดี ๆ ที่ลงตัว’ ว่า ท้ายที่สุดแล้วประชาชนในกทม. จะสามารถมีชีวิตที่ดีและลงตัวได้อย่างแท้จริง หรือคำกล่าวนี้จะเป็นเพียงวาทกรรมที่ตอกย้ำความเหลื่อมล้ำของเมืองหลวง

“ต้องถามว่าชีวิตดี ๆ ที่ลงตัว มันลงตัวของใคร มันลงตัวของทุกคนจริง ๆ หรือว่าบางกลุ่มมันลงตัวกว่าอีกกลุ่มหนึ่ง บางกลุ่มมันมีแอร์ ในขณะที่อีกกลุ่มต้องทนร้อน ทำไมคนที่ร้อนต้องอัดกันบนรถเมล์ แต่คนที่รวยมีพื้นที่ถนนมากกว่า ทำไมหลายคนมีสวนสาธารณะใกล้บ้าน ขณะที่หลายคนไม่มีปัญญามีบ้านในกรุงเทพฯ ด้วยซ้ำ ทั้ง ๆ ที่เขาทำงานในพื้นที่กรุงเทพฯ เขาก็ทำให้เมืองเจริญ ทำให้เมืองมีรายได้ แต่ทำไมเขาไม่ได้ประโยชน์ส่วนนี้ การที่บางคนมีชีวิตที่ดีที่ลงตัว ชีวิตเขาดีขึ้นในแง่ที่อีกคนมีชีวิตที่แย่ลงหรือไม่ คือมันกินชีวิตกันหรือเปล่า” ผศ.ดร.พิชญ์ กล่าว

%d bloggers like this: