Education Social Issue

 ‘ครูแนะแนว’ หน้าที่ที่โรงเรียนต้องมีให้อุ่นใจ แม้(อาจ)ไม่ช่วยให้เด็กไทยได้รู้จักตัวเอง

เมื่อระบบการศึกษาไม่เห็นคุณค่าของกิจกรรมแนะแนว นักเรียนไทยไม่น้อยจึงหลงทางในวังวนของความ "ไม่รู้จักตัวเอง"

“บริการแนะแนว (Guidance Service) ในสถานศึกษา เป็นภารกิจ การบริการทางการศึกษาที่สำคัญ มุ่งช่วยเหลือและส่งเสริมให้ผู้เรียนและผู้ที่เกี่ยวข้อง รู้จักเข้าใจตน เข้าใจผู้อื่น เข้าใจสภาพแวดล้อม สามารถนำตน พึ่งตนเองได้ ใช้ชีวิตอย่างมีคุณค่า และมีความพร้อม ที่จะพัฒนาศักยภาพของตนด้านชีวิตส่วนตัวและสังคม ด้านการศึกษา และด้านอาชีพ โดยใช้กระบวนการให้บริการบนพื้นฐานของการประยุกต์จิตวิทยาแห่งความเข้าใจและช่วยเหลือมนุษย์ที่สอดคล้องกับการพัฒนาชีวิตแต่ละช่วงวัย”

นี่คือความหมายของคำว่า ‘บริการแนะแนว’ ที่ทางสมาคมแนะแนวแห่งประเทศไทยได้ระบุไว้ใน ‘ หลักการบริการแนะแนว และการปรึกษาเชิงจิตวิทยาเบื้องต้น สําหรับครูและผู้บริหารการศึกษา’ จากนิยามดังกล่าว จะเห็นว่าครูแนะแนวมีความพิเศษเฉพาะตัวไม่น้อย กล่าวคือ ครูกลุ่มนี้ไม่ได้มุ่งเน้นความรู้ทางวิชาการ แต่มีหน้าที่ในการมอบวิชาชีวิตแก่ผู้เรียน ซึ่งเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ช่วยพัฒนาเยาวชนให้เติบโตอย่างมีคุณภาพบนพื้นฐานของการรู้จักตนเอง ดังที่กฎหมายไทยได้บัญญัติไว้ใน พ.ร.บ. คุ้มครองเด็ก พ.ศ. 2546 มาตรา 63 ซึ่งกำหนดให้ ‘โรงเรียนและสถานศึกษาต้องจัดให้มีระบบงานและกิจกรรมในการแนะแนวให้คำปรึกษาและฝึกอบรมแก่นักเรียน นักศึกษา และผู้ปกครอง’

แต่การแนะแนวในไทยทุกวันนี้ เป็นดังคำนิยามแล้วจริงหรือ?

  • “สำหรับโรงเรียนเรา เรารู้สึกว่าครูให้คำปรึกษาไม่ค่อยได้ค่ะ เหมือนพูดตามสคริปต์เลย”
  • “แทบจะเป็นคาบว่าง นอกจากนั่งทำแบบประเมินสุขภาพจิตตอนต้นเทอมแล้วก็ไม่ได้ทำอะไรเลย”
  • “เรียนไปก็มีแต่เพิ่มภาระ เอาใบงานมาให้ทำ ไม่ได้รู้จักตนเองมากขึ้นเลยแม้แต่น้อย และยังเพิ่มความเครียดจากการโดนกดดันให้ส่งงานทั้งๆ ที่ไม่รู้ว่าชอบอะไรอยากเป็นอะไร”

นี่คือความเห็นบางส่วนที่นักเรียนไทยมีต่อวิชาแนะแนวในสถานศึกษา* ซึ่งอาจสะท้อนให้เห็นว่าการแนะแนวในไทยปัจจุบัน อาจไม่ตอบสนองความต้องการผู้เรียนได้เท่าที่ควร เมื่อเป็นเช่นนี้ ก็คงไม่ใช่เรื่องแปลกหากผู้เรียนจะรู้สึกสงสัยหรือคิดตั้งคำถามขึ้นมาว่า ‘ครูแนะแนวมีไว้ทำไม?’

“แนะแนว” แนะอะไร ทำไมเด็กไม่รู้จักตัวเอง

จากแบบสอบถามออนไลน์เกี่ยวกับครูแนะแนวและเป้าหมายทางการศึกษาในอนาคต สำรวจในกลุ่มนักเรียนชั้นมัธยม 1-6 จำนวน 221 คน ตั้งแต่วันที่ 13 กันยายน พ.ศ. 2564 ถึงวันที่ 15 ตุลาคม พ.ศ. 2564 ผู้ตอบแบบสอบถาม 59% ต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่าตนยังไม่รู้จักตัวเอง (ไม่แน่ใจว่าตนอยากเรียนต่อในคณะใด หรือประกอบอาชีพอะไร) ราว 10% ยังไม่แน่ใจนัก ในขณะที่มีเพียง 30% เท่านั้นที่มั่นใจว่ามีเป้าหมายชัดเจน ผลลัพธ์ดังกล่าวสะท้อนให้เห็นว่าเด็กไทยจำนวนไม่น้อยไม่คิดว่าตนพร้อมตัดสินใจเรียนต่อในระดับมหาวิทยาลัย หรือพร้อมก้าวสู่โลกการทำงาน แม้ว่าในทุกโรงเรียนจะมีกิจกรรมแนะแนว 

“ครูตอน ม.5 เขาเข้ามาแล้วไม่ได้แนะแนวอะไรเลย ปล่อยให้เรานั่งเคลียร์งานไป ตอนนั้นหนูก็คิดว่าเออ ก็ดีนะ เราจะได้มีเวลาทำงานตั้งหนึ่งคาบ แต่พอมา ม.6 เราย้อนกลับมามอง ก็คิดได้ว่าจริงๆ มันไม่ได้ดีขนาดนั้นนะ ตอนนี้อยู่ม.6 แล้ว เรายังไม่รู้เลยว่าสรุปชอบหรือไม่ชอบอะไรกันแน่ ครูชั้นนี้ก็เน้นข้อมูลระบบ TCAS การสอบเข้า ไม่ได้มาเน้นค้นหาตัวเองแล้วด้วย”

มีโซ นักเรียนชั้นม.6 โรงเรียนรัฐบาลในเขตปริมณฑล เล่าถึงประสบการณ์ในวิชาแนะแนวที่ผ่านมาด้วยความเสียดาย 

เจ นักเรียนชั้นม.6 โรงเรียนเอกชนขนาดกลางในภาคตะวันออก แสดงความเห็นว่าสถานศึกษาของเธอไม่ให้ความสำคัญกับวิชาแนะแนวเท่าที่ควร หลายครั้งคาบเรียนแนะแนวของเธอต้องหมดไปกับการเป็น “คาบว่าง” “คาบทำการบ้าน” หรือแม้แต่ “คาบสำรอง” ซึ่งมีไว้ให้ครูวิชาอื่นๆ มาขอคาบเมื่อสอนไม่ทัน ยิ่งในสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 คาบแนะแนวก็ยิ่งถูกลดบทบาทลงไปอีก

เจเล่าว่าตั้งแต่เรียนออนไลน์มานี้ เธอไม่ได้เรียนแนะแนวเลยสักครั้ง ทั้งที่คาบนี้จำเป็นต่อเธอมากๆ ในฐานะเด็กที่กำลังจะสอบเข้ามหาวิทยาลัย ทั้งนี้เพราะเธอต้องการทราบข้อมูลเกี่ยวกับระบบ TCAS และคณะต่างๆ ให้มากที่สุด เพื่อช่วยประกอบการตัดสินใจในการจัดอันดับสาขาและคณะในการยื่นเข้ามหาวิทยาลัย เมื่อขาดวิชาแนะแนวไป สิ่งที่เธอและเพื่อนๆ พอจะทำได้ตอนนี้ก็เหลือแต่ช่วยเหลือกันเอง คอยผลัดกันแจ้งข่าวอัปเดต TCAS ช่วยให้คำปรึกษาเพื่อนเท่านั้น

ตารางเรียนในระดับมัธยมปลายของสถานศึกษาแห่งหนึ่ง

อีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้การเรียนการสอนแนะแนวไม่บรรลุตามจุดประสงค์ คือการที่ครูไม่ได้ใช้เวลาในคาบอย่างเต็มที่ คาบเรียนส่วนใหญ่หมดไปกับการให้นักเรียนทำแบบทดสอบค้นหาตัวเองซ้ำๆ โดยปราศจากการนำผลลัพธ์ที่ได้ไปประมวลผลหรือนำมาพูดคุยกันต่อ หรือหากมีการแนะนำระบบการสอบเข้ามหาวิทยาลัยต่างๆ ก็มักเป็นเพียงข้อมูลพื้นฐานหรือข่าวทั่วไป

ยิ่งไปกว่านั้น เด็กๆ ส่วนมากยังเห็นตรงกันว่า ครูยังยึดติดกับการแนะแนวเพียงไม่กี่คณะ โดยมักเป็นคณะที่ตรงตามแผนการเรียนของเด็กแต่ละห้อง เช่น แนะนำคณะสายวิทยาศาสตร์ให้แผนการเรียนวิทย์-คณิต และเป็นคณะที่รู้จักกันดีอยู่แล้ว เช่น แพทยศาสตร์ วิศวกรรมศาสตร์ แต่สำหรับคณะที่ไม่มีสายงานชัดเจน ครูมักจะลงรายละเอียดแค่เพียงผิวเผิน ทำให้เด็กๆ ไม่เห็นภาพในการเรียนคณะดังกล่าว จนเด็กบางคนไม่กล้าตัดสินใจเลือกเรียนต่อในสายอาชีพนั้นๆ เพราะไม่มั่นใจว่าเรียนจบไปแล้วมีงานอะไรรองรับบ้าง ไม่รู้ว่าหลักสูตรของคณะนั้นตรงกับความสนใจของตนหรือไม่ หรือสายงานดังกล่าวมีโอกาสเติบโตในอนาคตมากน้อยแค่ไหน

“โรงเรียนหนูไม่มีแนะนำคณะแบบเจาะลึก เขาชอบพูดเกี่ยวกับหมอ พยาบาล วิศวะ ซึ่งเราเห็นภาพคณะพวกนี้อยู่แล้ว แต่อย่างอักษรฯ นิเทศฯ ไม่เคยมีใครพูดกับหนูเลยว่าจบไปจะทำงานอะไร” มีโซกล่าวเพิ่มเติม

เมื่อเวลาในคาบช่วยอะไรได้ไม่มาก บริการให้คำปรึกษานอกเวลาของครูแนะแนวเลยเป็นอีกหนึ่งทางเลือกสำหรับนักเรียน แต่ใช่ว่าวิธีนี้คือทางแก้ที่ใช้ได้กับทุกคน นักเรียนบางส่วนลังเลที่จะปรึกษาครูแนะแนวเนื่องด้วยหลากเหตุผล ทั้งไม่กล้าเข้าหาครู กลัวครูไม่รักษาความลับ หรือเพราะไม่เชื่อมั่นในประสิทธิภาพของครู

“ส่วนตัวหนูไม่เคยลองขอคำปรึกษาจากครูค่ะ รู้สึกว่าครูกับนักเรียนไม่ได้เข้าหากันมากขนาดนั้น ครูแนะแนวบางคนเขาสอนแค่คณะที่เขารู้ พอเราไปปรึกษา มันก็ได้อะไรกลับมาไม่มาก แล้วครูไทยเวลาเราปรึกษาอะไร เขาชอบเอาไปพูดต่อ เหมือนเป็นเรื่องปกติไปแล้วน่ะค่ะ”

กานต์ นักเรียนชั้นม.4 แสดงความเห็นในประเด็นนี้

กานต์เล่าว่าตนรู้สึกพอใจกับการที่ครูแนะแนวในโรงเรียนคอยแจ้งข่าวการสอบเข้ามหาวิทยาลัย แต่ในแง่ของการค้นหาตัวเอง เธอกลับเห็นว่าครูอาจช่วยได้ไม่มากนัก และด้วยระยะห่างระหว่างครูกับนักเรียนที่ค่อนข้างมาก เธอเลยเลือกหาสิ่งที่ชอบด้วยตนเองเป็นหลักแทน

เช่นเดียวกับ สตาร์ นักเรียนมัธยมศึกษาตอนต้นในโรงเรียนเอกชนขนาดใหญ่พิเศษในกรุงเทพฯ ผู้ไม่เคยคิดขอคำปรึกษาจากครูแนะแนวเลยสักครั้ง สตาร์บอกว่าไม่รู้สึกสบายใจกับครูผู้สอน เพราะตนเคยเจอประสบการณ์แย่ๆ จากการที่ครูไม่รับฟังความเห็น รวมทั้งเคยถูกครูล้อเลียนรูปร่างหน้าตา เมื่อถูกถามถึงการให้บริการแนะแนวตัวต่อตัว ตนจึงยืนกรานว่าตนและเพื่อนๆ ส่วนใหญ่ล้วนไม่คิดจะทำแบบนั้นแน่นอน

คาบเรียนต่อสัปดาห์น้อยเกินไป พอได้เรียนก็กลายเป็นคาบว่างบ้าง ครูแนะแนวได้ไม่ตรงจุดบ้าง ต่อให้มีบริการให้คำปรึกษานอกรอบ เด็กบางกลุ่มก็ไม่กล้าเข้าหา เนื่องจากความไม่ไว้ใจ เหล่านี้คือปัญหาหลักที่เด็กๆ มองเห็นในฐานะนักเรียนผู้ได้รับการแนะแนวโดยตรง อย่างไรก็ตาม อุปสรรคต่อวงการแนะแนวในไทยไม่ได้มีเพียงเท่านี้ หากแต่ในฝั่งของครูผู้สอนเองก็ประสบกับภาวะกระอักกระอ่วนใจ หรือกลืนไม่เข้าคายไม่ออกเช่นกัน

“ครูแนะแนว” หน้าที่นี้ควรอยู่ตรงไหนในระบบสถานศึกษา?

ต้นปี 2563 อำนาจ วิชยานุวัติ เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ได้ออกมาแจ้งว่าทางสพฐ. จะเตรียมทบทวนบทบาทครูแนะแนวใหม่ เพราะจากสถิติในปี 2562 พบว่ามีเด็กและเยาวชนโทรมาขอคำปรึกษาสายด่วนสุขภาพจิต 1323 พุ่งสูงถึง 3 เท่า เมื่อเปรียบเทียบกับปี 2561 คิดเป็นประมาณ 10,000 สาย โดยปัญหาที่พบมากที่สุดคือความเครียด ซึ่งมีมากถึงร้อยละ 51.93 ดังนั้น ทางสพฐ.จึงเสนอทางแก้ปัญหา โดยให้ครูแนะแนวปรับทัศนคติใหม่ มีความเป็น “เพื่อนคู่คิด” ใกล้ชิดกับนักเรียนมากขึ้น เพื่อให้เด็กเกิดความรู้สึกไว้วางใจในการขอคำปรึกษาจากครูแนะแนว** อย่างไรก็ตาม เพียงการปรับบทบาทให้ครูเข้าหาเด็กมากขึ้นคงไม่เพียงพอจะเยียวยาปัญหาดังกล่าว ทุกวันนี้หลายโรงเรียนยังคงประสบปัญหาครูแนะแนวเข้าหาเด็กได้ไม่ทั่วถึง เนื่องด้วยครูแนะแนวยังมีภาระหน้าที่อื่นๆ นอกจากให้คำปรึกษา ซึ่งบางครั้งภาระเหล่านี้อาจกระทบการทำงาน จนครูไม่สามารถทุ่มเทให้หน้าที่แนะแนวได้เต็มที่

แผนยุทธศาสตร์การแนะแนวระดับชาติขั้นพื้นฐาน ฉบับที่ 11 ระบุไว้ว่าบริการแนะแนวประกอบไปด้วย 5 บริการ ได้แก่ 

  • บริการศึกษารวบรวมข้อมูล เพื่อช่วยให้ครูรู้จักผู้เรียนอย่างละเอียดเป็นรายบุคคล
  • บริการสารสนเทศ เพื่อเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารต่าง ๆ ซึ่งช่วยให้ผู้เรียนเช้าใจและยอมรับความเป็นจริงของตนเองและสังคม
  • บริการให้การปรึกษา เพื่อให้คำปรึกษาโดยใช้แนวคิดจิตวิทยามาเอื้ออำนวย เพื่อให้ผู้เรียนคิดตัดสินใจด้วยตนเองได้อย่างรอบคอบและเหมาะสม
  • บริการจัดวางตัวบุคคล เพื่อช่วยให้ผู้เรียนได้รับประสบการณ์ที่หลากหลาย และส่งเสริมพัฒนาการผู้เรียนถึงขีดสูงสุด
  • บริการติดตามผล คือการศึกษาผลของการให้บริการแนะแนว เพื่อนำไปสู่การพัฒนาต่อไป

ซึ่งบริการทั้ง 5 ด้านนี้ คือมาตรฐานวิชาชีพ ที่ครูแนะแนวต้องปฏิบัติเพื่อประโยชน์สูงสุดของผู้เรียน แต่นั่นไม่ใช่หน้าที่ทั้งหมดของครูแนะแนว ครูกลุ่มนี้ยังต้องรับภาระการสอนในห้องควบคู่ไปกับการบริการทั้ง 5 ด้านนี้ด้วย

“ครูแนะแนวมีบทบาทกับงานบริการทางการแนะแนวที่หลากหลายเรื่องมาก แต่เรื่องสำคัญอย่างหนึ่งคือการบริการให้คำปรึกษา เวลาตรงนี้จึงอาจไม่สัมพันธ์กับความต้องการของเด็ก ๆ”

ปวิภา วัฒนวราสิน หรือ ครูนุช ครูแนะแนวระดับมัธยมศึกษาในโรงเรียนเอกชนแห่งหนึ่ง แสดงความเห็นว่าทุกวันนี้บทบาทของครูแนะแนวมีความหลากหลายตามบริบทของสถานศึกษา ส่งผลให้บางครั้งบทบาทสำคัญของการบริการให้คำปรึกษาซึ่งส่งผลต่อการพัฒนาอารมณ์หรือจิตใจของเด็ก ๆ อาจถูกจำกัดด้วยระยะเวลา ทั้งที่แท้จริงแล้ว การให้คำปรึกษากับเด็กเป็นกระบวนการพัฒนาอย่างหนึ่งที่สำคัญต่อตัวผู้เรียน “ความสำเร็จของการให้คำปรึกษาต้องเริ่มต้นจากความสัมพันธ์ที่ดี และความไว้วางใจที่จะร่วมมือกันจัดการปัญหารวมถึงพัฒนาตัวตนในด้านต่าง ๆ” ครูนุชกล่าว

ปวิภา วัฒนวราสิน หรือ ครูนุช ครูแนะแนวระดับมัธยมศึกษาในโรงเรียนเอกชนแห่งหนึ่ง

ด้วยเหตุผลข้างต้น ส่งผลให้โอกาสของเด็กที่จะเข้ารับการปรึกษาจากครูแนะแนวมีไม่มากนัก                   ครูนุชเล่าว่าบางครั้งตนรู้สึกว่าเด็กหลายคนเกรงใจครู เพราะมองว่าครูแนะแนวกำลังทำหน้าที่อยู่กับเพื่อนที่มีปัญหามากกว่า กล่าวคือ พวกเขาคิดว่าเด็กที่ประสบปัญหาหนักๆ เท่านั้นที่ควรได้รับบริการให้คำปรึกษาส่วนตัวกับครู เด็กบางคนจึงสำเร็จการศึกษาไป โดยที่ไม่เคยมีการรับบริการปรึกษากับครูแนะแนวเลย “ซึ่งแน่นอนว่าบางครั้งก็รู้สึกว่าเสียใจ รู้สึกอยากทำหน้าที่ให้กับเด็กทุกคนอย่างเต็มที่” ครูนุชเสริม

อีกอุปสรรคหนึ่งของวงการแนะแนวไทย คือการที่จำนวนครูแนะแนวในหลายสถานศึกษายังมีไม่เพียงพอต่อจำนวนนักเรียน หลายแห่งมีครูแนะแนวเพียงคนเดียว โดยครูผู้เดียวอาจต้องดูแลนักเรียนทั้งระดับชั้นหรืออาจมากกว่าหนึ่งระดับชั้น บางแห่งถึงขั้นขาดแคลนบุคลากรที่มีความรู้เฉพาะทางหรือจบด้านการแนะแนวมาโดยตรง ต้องให้ครูวิชาอื่น ๆ มารับหน้าที่ครูแนะแนวควบคู่แทน ซึ่งในกรณีหลังนี้ ก็จะยิ่งทำให้ครูมีเวลาในการดูแลนักเรียนน้อยลงไปอีก

จุฑามาศ มีอุสาห์ หรือ ครูโบ ครูแนะแนวประจำโรงเรียนสาธิตแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ แสดงความเห็นว่า จากประสบการณ์ที่ตนเคยไปเป็นวิทยากรอบรมการแนะแนวมา พบว่าหลายสถานศึกษาประสบปัญหาขาดแคลนครูแนะแนว โดยเฉพาะในระดับประถมศึกษา ที่มักจะให้ครูประถมที่สอนได้ทุกวิชามารับหน้าที่การสอนวิชาแนะแนวเพิ่ม ส่วนในระดับมัธยม แม้บางโรงเรียนจะมีครูที่รับผิดชอบวิชาแนะแนวเฉพาะ แต่ก็ถือว่ามีจำนวนน้อยมากเมื่อเทียบกับนักเรียน จนถึงขั้นที่ว่าบางโรงเรียนต้องจัดสอนวิชาแนะแนวในลักษณะของประชุมระดับ คือสอนทั้งระดับชั้นพร้อมกันภายในหนึ่งคาบเรียนเลยทีเดียว

จุฑามาศ มีอุสาห์ หรือ ครูโบ ครูแนะแนวประจำโรงเรียนสาธิตแห่งหนึ่ง

“ครูแนะแนวจะต้องทั้งสอนในคาบ และทั้งทำบริการ 5 ด้านของการแนะแนว ถ้าสอนในห้องอย่างเดียว แต่ไม่ทำด้านบริการเลย ระบบการแนะแนวก็ไม่ดี แต่ด้วยความที่หลายโรงเรียนมีครูแนะแนวน้อย ภาระงานที่ครูเขารับผิดชอบมันเลยหนักมาก พอเป็นแบบนี้ ก็ยากที่จะทำให้ระบบมันดีได้” ครูโบกล่าว

ครูโบกล่าวเพิ่มเติมว่า ทัศนคติของผู้เรียนที่มีต่อการแนะแนวก็เป็นอีกปัญหาที่ไม่ควรมองข้าม เพราะเด็กหรือผู้ปกครองบางกลุ่มยังยึดติดว่า เด็กมีปัญหาเท่านั้นที่ขอคำปรึกษาจากครูแนะแนว ดังนั้น ครูจึงควรปลูกฝังทัศนคติใหม่แก่เด็ก ให้พวกเขามองการเข้าห้องแนะแนวเป็นพื้นที่ปลอดภัยหรือทำให้สิ่งนี้เป็นปกติตั้งแต่แรก อย่างไรก็ตาม การจะทำเช่นนั้นได้ ครูต้องมีบุคลิกภาพที่ดูน่าเข้าหาด้วย ครูโบมองว่า ครูแนะแนวควรปรับตัวให้เข้ากับยุคสมัยและพยายามทำความเข้าใจเด็กอย่างลึกซึ้ง มิฉะนั้น ก็คงยากที่เด็กจะไว้ใจมาปรึกษา ปัญหาระยะห่างระหว่างครูและนักเรียนก็ไม่ได้รับการแก้ไขดังเดิม

‘ไม่ให้ค่ากิจกรรมนอกเหนือวิชาการ’ คือรากแก้วของปัญหา

ด้วยประสบการณ์การเป็นครูแนะแนวกว่า 20 ปี ครูนุชทราบดีว่าอะไรคือต้นตอของปัญหากิจกรรมแนะแนวที่ไม่ได้ประสิทธิภาพ นั่นคือการที่ระบบการศึกษาไม่เคยมองเห็นคุณค่าของการแนะแนว อาจเพราะไม่มีเกรดให้ ไม่ได้ทำคะแนนให้เด็กสอบติดมหาวิทยาลัยชื่อดัง วิชานี้เลยถูกมองข้ามอยู่เสมอ จนเกิดเป็นภาพจำที่นักเรียนส่วนใหญ่คุ้นชินกันว่า ‘คาบแนะแนวมีไว้แค่ให้อุ่นใจ แต่ช่วยอะไรไม่ได้เลย’

บรรยากาศการเรียนพิเศษในสถาบันกวดวิชาแห่งหนึ่ง

ไม่ใช่แค่วิชาแนะแนวที่ถูกละเลยความสำคัญ แต่ระบบการศึกษาไทยยังมองข้ามทุกกิจกรรมที่ไม่เกี่ยวกับทางวิชาการ คาบเรียนต่อสัปดาห์ของเด็กไทยจึงอัดแน่นไปด้วยวิชาที่จำเป็นต่อการสอบเข้าในระดับอุดมศึกษา แทบไม่มีพื้นที่เหลือให้กิจกรรมบูรณาการอย่างแนะแนว ชมรม หรือวิชาเลือก เมื่อถึงวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ ก็ใช่จะมีเวลาว่าง เด็กไทยไม่น้อยต้องหมดเวลาในวันหยุดสุดสัปดาห์ไปกับการทำการบ้าน อ่านหนังสือเตรียมสอบ บางคนก็เรียนกวดวิชาซึ่งหนักไม่แพ้การเรียนในห้อง เมื่อเป็นเช่นนี้ เด็กไทยไม่น้อยจึงรู้สึกขาดแคลนเวลาและโอกาสในการค้นหาตัวเอง เพราะวัยเยาว์ของพวกเขาถูกกลืนกินด้วยการดิ้นรนในระบบการศึกษาไปหมดแล้ว

“มันมีเวลาไม่ได้หรอก เราเรียน 8 กลุ่มวิชาสาระเต็มไปหมดเลย ทุกวิชาก็มีการบ้านเป็นของตัวเอง เด็กๆ เลยไม่ได้มีเวลา แล้วเราไม่ได้ให้ความสำคัญกับงานอดิเรกหรือกิจกรรมอื่นใดที่ไม่เกี่ยวกับการเรียนรู้เลย ไม่ใช่โรงเรียนนะ แต่เป็นวัฒนธรรม เราไม่ได้สนใจเรื่องนอกห้องเรียนเพราะเราต้องแข่งขัน เรากลัว กลัวว่าลูกจะไม่ได้ ไม่ทันคนอื่น เราเลยมองว่า เวลาที่ไม่ได้ใช้กับการเรียนอย่างคร่ำเคร่งเป็นเวลาที่ไม่เกิดประโยชน์” 

กุลธิดา รุ่งเรืองเกียรติ หรือ ครูจุ๊ย อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากพรรคอนาคตใหม่ นักวิชาการผู้เชี่ยวชาญด้านการศึกษา

กุลธิดา รุ่งเรืองเกียรติ หรือ ครูจุ๊ย อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากพรรคอนาคตใหม่ นักวิชาการผู้เชี่ยวชาญด้านการศึกษา กล่าวว่า ตนเห็นด้วยกับประเด็นที่ว่าเด็กไทยขาดแคลนเวลาและพื้นที่ในการค้นหาตัวเอง โดยมีสาเหตุหลักๆ ที่นำไปสู่สภาวะดังกล่าวสองประการ อย่างแรกคือ วัฒนธรรมการศึกษาไทยที่มองข้ามกิจกรรมนอกห้องเรียน ส่วนอีกประการหนึ่งคือ การที่กิจกรรมในห้องเรียนไม่ส่งเสริมให้เด็กรู้จักตัวเอง ครูจุ๊ยอธิบายเพิ่มเติมว่า กิจกรรมกลุ่มที่ดีต้องเปิดโอกาสให้เด็กได้ลองรับผิดชอบบทบาทที่หลากหลาย เด็กๆ จะได้รู้ว่าตนถนัดสิ่งใด โดยที่ครูผู้สอนทุกคน ไม่ใช่แค่ครูแนะแนว ก็ต้องทำหน้าที่ชี้แนะนักเรียนด้วย แต่น่าเสียดายที่เรากลับแทบไม่เห็นกิจกรรมกลุ่มรูปแบบนี้ในโรงเรียนไทยเลย

“ประเทศไทยมันไม่ให้เด็กได้ลองล้มลุกหรือทำผิด ทุกอย่างมันต้องถูกเป๊ะไปหมด ซึ่งมันผิดกระบวนการเรียนรู้มาก คนเราควรได้ลองผิดลองถูก แล้วโรงเรียนควรเป็นพื้นที่นั้น แต่เราไม่ได้ทำให้เกิดขึ้น เด็กเลยไม่รู้ว่าตัวเองถนัดหรือไม่ถนัดอะไร”

ครูจุ๊ยเสริม

ด้านผู้ประกอบธุรกิจแนะแนวการศึกษาอย่าง เวย์หา ก็มีความเห็นตรงกันกับครูจุ๊ยในเรื่องนี้ ผู้ร่วมก่อตั้งเวย์หา นิรัช วานิชวัฒนรำลึก มองว่านอกจากลองผิดลองถูกแล้ว เด็กก็ควรได้ลองสิ่งใหม่ๆ ที่ตนไม่เคยทำมาก่อนด้วย ทว่าเด็กไทยทุกวันนี้กลับขาดโอกาสทำเช่นนั้น เพราะระบบการศึกษาไทยที่ ‘ทำตัวเป็นเจ้าของชีวิตเด็กมากเกินไป’ กล่าวคือ โรงเรียนรุกล้ำเวลาชีวิตเด็กจนแม้กระทั่งในวันหยุดหรือช่วงปิดเทอม ทั้งที่จริงแล้ว เด็กไทยควรมีอำนาจในชีวิตตัวเองมากกว่าที่เป็นอยู่ เพราะอิสระในการเลือกใช้ชีวิตนี้ก็ถือเป็นการค้นหาตนเองรูปแบบหนึ่งเช่นกัน

นิรัช วานิชวัฒนรำลึก ผู้ร่วมก่อตั้ง เวย์หา ธุรกิจแนะแนวการศึกษา

การแนะแนวที่ดีควรเป็นแบบไหน? ประเทศไทยจะไปถึงจุดนั้นได้อย่างไร?

จากการพูดคุยกับนักเรียนชั้นมัธยมในประเด็นการแนะแนวในอุดมคติ พบว่าส่วนใหญ่ให้คำตอบไปในทางเดียวกัน คือต้องการให้ครูแนะแนวดูน่าเข้าหา มีความรู้ด้านจิตวิทยา และคอยแจ้งข่าวด้านการสอบเข้าและการศึกษาอย่างสม่ำเสมอ มีกิจกรรมแบบ Active Learning ให้ทำในห้อง รวมถึงมีการแนะนำคณะหรือวิชาชีพต่างๆ แบบเจาะลึกด้วย

นอกจากข้อเสนอแนะของเด็กๆ แล้ว ยังมีการแนะแนวและกิจกรรมนอกหลักสูตรรูปแบบอื่นๆ ที่น่าสนใจ อย่างในโรงเรียนรุ่งอรุณที่ไม่มีการเรียนวิชาแนะแนว ไม่มีครูแนะแนวเฉพาะทาง แต่ใช้ระบบที่ครูทุกคนสามารถช่วยแนะแนวเด็กๆ ได้อย่างใกล้ชิด หากสะดวกใจกับครูท่านใด ก็สามารถขอคำปรึกษาได้ทุกเรื่อง มากไปกว่านั้น ทางโรงเรียนยังจัดกิจกรรมชมรมให้นักเรียนอย่างอิสระ ไม่จำกัดแค่ด้านวิชาการ หากนักเรียนสนใจความรู้ด้านใด ก็สามารถรวมตัวกันเพื่อยื่นขอตั้งชมรมเองได้ โดยทางโรงเรียนจะติดต่อบุคลากรผู้มีความรู้เฉพาะด้านนั้นๆ มาสอนให้โดยตรง ตัวอย่างชมรมที่เกิดจากการยื่นเรื่องของนักเรียน เช่น ชมรมภาษาสเปน และชมรมคีโต

อีกทางเลือกที่ไม่ควรมองข้ามคือ “Postive Learning” เครื่องมือการศึกษาจากฟินแลนด์ซึ่งโรงเรียนต้นกล้า โรงเรียนทางเลือกในจังหวัดเชียงใหม่ได้นำมาปรับใช้ เครื่องมือนี้จะช่วยคุณครูค้นหาทักษะสังคมอารมณ์ที่โดดเด่นในเด็กแต่ละคน เพื่อส่งเสริมทักษะนั้นๆ ส่วนจุดใดที่ยังบกพร่อง คุณครูก็ต้องเข้ามาช่วยเติมเต็ม หัวใจของเครื่องมือนี้คือ วิธีการสื่อสารแบบจิตวิทยาเชิงบวก เพื่อให้เด็กเกิดความภูมิใจ รู้จักตนเอง และอยากพัฒนาตนเองต่อไป ไม่ใช่แค่ที่โรงเรียนเท่านั้น แต่ผู้ปกครองที่บ้านก็ต้องให้ความร่วมมือด้วย เครื่องมือทางการศึกษานี้จึงจะสัมฤทธิ์ผลสูงสุด

แล้วในสายตาผู้เชี่ยวชาญด้านการศึกษา การแนะแนวที่ดีควรเป็นอย่างไร? ครูจุ๊ยมองว่า ปัจจัยพื้นฐานของครูแนะแนวคือทักษะการฟังและการมีบุคคลิกที่เด็กสบายใจจะเข้าหา ส่วนความรู้ทางด้านจิตวิทยาและทักษะการสื่อสารที่ดีก็สำคัญไม่แพ้กัน ทั้งนี้ เพราะครูแนะแนวจำเป็นต้องสร้างพื้นที่ปลอดภัยให้ได้เสียก่อน เด็กจึงจะกล้าเข้ามาขอคำปรึกษา อย่างไรก็ตาม หน้าที่นี้ก็ไม่ควรเป็นของครูแนะแนวเพียงคนเดียว แต่บุคลากรในโรงเรียนควรร่วมกันสร้างสภาพสังคมที่เป็นมิตรและเอื้อต่อการค้นหาตนเองของเด็กขึ้นมาด้วย อย่างน้อยที่สุด บุคลากรทุกคนก็ควรเป็นพื้นที่ปลอดภัยให้เด็กได้

“เวลาเราดูเรื่องแนะแนว อย่ามองว่ามีมนุษย์หนึ่งคนที่เป็นฮีโร่และทำทุกอย่าง มันไม่ใช่แบบนั้นเลย การที่เด็กๆ จะได้รับการ Guide จากบุคลากรได้ เราต้องสร้างสิ่งแวดล้อมในโรงเรียนที่มัน Positive ขึ้นมา ซึ่งมันประกอบไปด้วยคนหลายคนมากๆ เลย”

ครูจุ๊ยกล่าวเสริม

อย่างไรก็ดี แนวทางเหล่านี้คงไม่สามารถเกิดขึ้นได้ หากปราศจากการปฏิรูปกิจกรรมแนะแนวอย่างจริงจัง นิรัช เจ้าของธุรกิจการศึกษา เวย์หา แสดงความเห็นว่า ในขั้นต้น โรงเรียนต้องตระหนักถึงความสำคัญของการแนะแนวเสียก่อน เพราะสิ่งนี้เป็นบันไดขั้นแรกซึ่งจะนำไปสู่การพัฒนาในขั้นต่อๆ ไปได้ดีที่สุด ในทางกลับกัน การแนะแนวไทยที่ไร้ประสิทธิภาพอย่างทุกวันนี้ ก็เป็นผลมาจากการถูกละเลยโดยสถานศึกษาเช่นกัน

“โรงเรียนต้องเห็นความสำคัญของการแนะแนวมากกว่านี้ ไม่ใช่คิดว่าเป็นวิชาฟรี เพราะเมื่อไรที่โรงเรียนเห็นความสำคัญ เขาจะพยายามหาทางแก้ปัญหาเอง อย่างน้อยถ้าเขาแก้ไม่ได้จริงๆ ครูก็น่าจะพอรู้ว่าใครในประเทศที่ช่วยได้บ้าง ทุกวันนี้มันมีธุรกิจที่ทำเรื่องนี้มากมาย ไม่ใช่แค่เวย์หากลุ่มเดียว ลองไปให้เขาช่วยจัดกิจกรรมดูก็ได้ หรือไม่ก็ส่งครูแนะแนวไป Workshop เข้าคอร์สที่มันมีประโยชน์ต่อเด็กจริงๆ ก็ดีเหมือนกัน ถ้ายอมรับว่ามันสำคัญ เดี๋ยวทางออกมันผุดขึ้นมาให้เลือกเอง” คุณนิรัชกล่าว

สำหรับครูจุ๊ย มองว่าปัญหาการแนะแนวในไทยล้วนมีต้นตอมาจากความคิดที่ ‘เห็นเด็กเป็นคนไม่เท่ากับครู’ และมองไม่เห็นความแตกต่างเฉพาะปัจเจกของเด็ก ภาครัฐจำเป็นต้องละทิ้งมโนทัศน์เดิม ๆ นี้เสียก่อนหากต้องการปฏิรูปกิจกรรมแนะแนว ในส่วนของนโยบายก็ต้องรื้อแก้ใหม่หมดเช่นกัน ครูจุ๊ยเสนอว่า กระทรวงศึกษาธิการควรค้นคว้าข้อมูลเชิงลึก รับฟังความคิดเห็นนักเรียน และวางเป้าหมายระยะยาว ต้องทำครอบคลุมทั้งสามด้านจึงจะสร้างแผนการปฏิรูปที่มีประสิทธิภาพได้ เช่น ภาครัฐต้องทราบผ่านการลงพื้นที่เก็บข้อมูลก่อนว่ามีโรงเรียนใดขาดแคลนครูแนะแนวบ้าง จากนั้นจึงวางแผนต่อว่าต้องการครูเพิ่มในระบบกี่คน ใช้เวลาผลิตครูกี่ปี ใช้ระบบการฝึกครูแบบใด เป็นต้น 

“เห็นเด็กเป็นคนให้เท่ากับครูก่อนค่ะ ทำอันนี้ให้ได้ก่อนนะ ความคิดนี้สำคัญมาก เพราะมันส่งผลกับกระบวนการที่ทำงานกับเด็กทั้งหมด อย่ามองว่าเขาเป็นแค่นักเรียน ไม่มีประสบการณ์ ไม่รู้เรื่องอะไร ความคิดแบบนี้มันไม่ช่วยดึงศักยภาพเด็กในฐานะมนุษย์คนหนึ่งเลย” ครูจุ๊ยกล่าว

ภาพบรรยากาศการสอบเข้ามหาวิทยาลัยของนักเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย

ด้านนักเรียนผู้อยู่ในระบบการแนะแนวโดยตรง สตาร์เห็นว่าหากกิจกรรมแนะแนวได้รับการปฏิรูป จะเป็นผลประโยชน์ต่อตัวเธออย่างยิ่ง เพราะเมื่อระบบพัฒนาแล้ว บริการการให้คำปรึกษาของครูแนะแนวก็อาจมีประสิทธิภาพขึ้นและเข้าถึงได้ง่ายขึ้น ซึ่งสิ่งนี้อาจทำให้เธอเปิดใจกล้าขอคำปรึกษาจากครูมากขึ้น ไม่เหมือนเมื่อก่อนที่เมื่อมีปัญหาก็ไม่กล้าปรึกษาใคร มากไปกว่านั้น บริการสารสนเทศเรื่องคณะและอาชีพต่างๆ อย่างละเอียดจะช่วยให้เธอค้นหาตัวเองได้อย่างมีประสิทธิภาพเช่นกัน 

สำหรับเจ นักเรียนชั้นม.6 ก็มีความเห็นไปทางเดียวกันกับสตาร์ เธอกล่าวว่าหากมีครูคอยให้คำปรึกษา และให้ข้อมูลเกี่ยวกับคณะต่างๆ อย่างหลากหลาย ตนอาจได้มุมมองความคิดที่เปิดกว้างขึ้น และถ้ามีบริการให้คำปรึกษาด้านจิตวิทยา ซึ่งครอบคลุมเรื่องอื่นนอกเหนือจากการเรียนแล้ว เธอก็คงไม่ต้องแบกรับปัญหาชีวิตไว้คนเดียวอีกต่อไป ในส่วนของกิจกรรม เจมองว่าหากจัดด้วยวิธี Active Learning ไม่ใช่แค่ให้กระดาษมาทำแบบทดสอบหรือสักแต่ให้การบ้าน ตนก็จะยิ่งได้ประโยชน์จากการได้ลองเปิดประสบการณ์ทำหลาย ๆ สิ่งอีกด้วย

“ในเมื่อเอาวิชาแนะแนวมาอยู่ในหลักสูตรแล้ว ก็ควรพัฒนาให้มันดี ไม่อย่างนั้นคำถามว่า ‘วิชานี้มีไว้ทำไม’ ก็ยังจะมีอยู่ เพราะถ้ามันดีพอ เด็กหลายคนคงไม่ต้องตั้งคำถามกับเรื่องนี้” 

กานต์ นักเรียนชั้นม.4

คำพูดทิ้งท้ายการสัมภาษณ์ของกานต์ นักเรียน ม.4 นี้อาจไม่สามารถตอบคำถามที่ว่า “ครูแนะแนวมีไว้ทำไม”ได้อย่างครบถ้วน อย่างไรก็ตาม คำกล่าวข้างต้นก็ทำหน้าที่สรุปสถานะของกิจกรรมแนะแนวในไทยได้ดี และอย่างน้อยที่สุด มันก็คงทำให้สังคมฉุกคิด และเริ่มสงสัยในคำถามดังกล่าวขึ้นมาได้บ้าง 

อ้างอิง 

*ข้อมูลจากแบบสอบถามออนไลน์เกี่ยวกับครูแนะแนวและเป้าหมายทางการศึกษาในอนาคต สำรวจในกลุ่มนักเรียนชั้นมัธยม 1-6 จำนวน 221 คน ตั้งแต่วันที่ 13 กันยายน พ.ศ. 2564 ถึงวันที่ 15 ตุลาคม พ.ศ. 2564 

**อ้างอิงจากข่าว ‘เปิดสถิติ วัยรุ่นไทยขอคำปรึกษาสายด่วนสุขภาพจิต 1323 มากสุด ปัญหาความเครียดอันดับ1’ เผยแพร่บนเว็บไซต์ไทยโพสต์ เมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2563