Health Social Issue Top Stories

เมื่อรัฐบาลไทยทิ้งภาระไว้กับจิตแพทย์

"ต่อให้จิตแพทย์ตั้งใจทำงานแค่ไหน สุดท้ายคนไข้ก็ยังต้องเจอกับปัญหาสังคมทุกวันอยู่ดี" ฟังเสียงสะท้อนจากวงการจิตแพทย์ไทย ความรู้สึกของนักบำบัดจิตใจในวันที่ประเทศเจอพิษเศรษฐกิจและปัญหาโควิด-19

เรื่อง : สิรวิชญ์ บุญประสิทธิการ
ภาพ : ณัฐดนัย เปี่ยมกมล, ภูดิศ จิตเป็นธม

ในวันที่สถานการณ์บ้านเมืองไม่เป็นใจ ประชาชนรู้สึกไม่ปลอดภัยเพราะการระบาดของโควิด-19 ยังไม่ได้รับการแก้ไขอย่างมีประสิทธิภาพ หลายคนหวาดวิตกกับปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำ หลายครอบครัวบอบช้ำจากอุทกภัยน้ำท่วม คงไม่ใช่เรื่องแปลกหากคนไทยจะรู้สึกมืดแปดด้าน เครียดและอยากระบายให้ใครสักคนฟัง จนหลายครั้งส่งผลร้ายแรงถึงขั้นเป็นปัญหาสุขภาพจิต ฮีโร่ผู้กู้วิกฤตทางจิตใจที่เรามักนึกถึงเป็นคนแรกๆ คงหนีไม่พ้นจิตแพทย์

คนเครียดเพราะเศรษฐกิจแย่ แต่คนแก้คือจิตแพทย์

นพ.สรวิศ วัยนิพิฐพงษ์ อาจาย์ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุว่า การบริหารนโยบายของภาครัฐในวิกฤตโควิด-19 มีผลโดยตรงต่อการใช้ชีวิต ซึ่งกระทบต่อความรู้สึกนึกคิดของผู้ป่วย และนับเป็นอุปสรรคสำคัญของจิตแพทย์ในการให้คำปรึกษา เพราะหลายครั้ง การช่วยเหลือของจิตแพทย์ก็เป็นเพียงการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ แต่ผู้ที่มีอำนาจและหน้าที่ในการแก้ปัญหาที่ต้นเหตุคือรัฐบาล

“ปกติจิตแพทย์จะช่วยคนไข้ได้ในเรื่องของปัจจัยภายใน เช่น หากคนไข้ทำธุรกิจขาดทุน เราก็จะชวนเขาคิดตามว่าปัญหานี้ส่งผลอย่างไร ความมั่นใจในตัวเอง ความภาคภูมิใจลดลง เป็นต้น เวลามีปัญหาเศรษฐกิจแบบนี้ คนอาจจะเครียดเรื่องเงิน แต่จิตแพทย์ไม่ได้มีหน้าที่หยิบยื่นเงินให้คนไข้ เราทำแบบนั้นไม่ได้

“สุดท้ายการแก้ที่ปัจจัยภายในก็อาจเหมือนการให้กำลังใจเด็กที่สอบตกซ้ำๆ เราชื่นชมนะ เพราะเราเห็นเขาพยายามมาตลอด เขาเองก็เห็นและชื่นชมตัวเองเช่นกัน แต่ปัญหาคือ ต่อให้พยายามแค่ไหน เขาก็ยังสอบตกอยู่ดี เพราะข้อสอบมันยากเกินไป ให้เขาเปลี่ยนข้อสอบก็ไม่ได้ เพราะเขาก็ยังต้องอยู่ในสังคมที่มีโควิด มีปัญหาเศรษฐกิจ ออกนอกประเทศก็ไม่ได้”

นพ.สรวิศกล่าว

นพ.สรวิศ ยังเสริมอีกว่า การพูดคุยกับจิตแพทย์ รวมถึงการใช้ยาระงับอาการต่างๆ ไม่สามารถบรรเทาอาการของผู้ป่วยได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ เพราะถึงอย่างไร ผู้ป่วยก็ยังต้องเจอทั้งปัญหาปากท้อง เศรษฐกิจ รวมถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 อยู่ดี ซึ่งเหล่านี้ล้วนเป็นปัจจัยภายนอกที่ไม่ได้อยู่ในขอบเขตหน้าที่ของจิตแพทย์ แต่ผู้ที่มีอำนาจในการบริหารจัดการสูงสุดคือรัฐบาล

จิตแพทย์ช่วยไม่ไหว หากรัฐบาลไทยมองข้ามความต้องการของประชาชน

อาจารย์คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ ยังเผยอีกว่า นอกจากปัญหาเศรษฐกิจและการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในปัจจุบันแล้ว อีกปัจจัยที่ส่งผลต่อสภาพจิตใจของผู้ป่วยคือปัญหาเชิงนโยบายที่ฝังรากลึกยาวนาน ซึ่งรัฐบาลไทยยังไม่แก้ไขเสียที

“เอาจริงๆ ไม่ใช่แค่ปัญหาเศรษฐกิจนะ กฎหมายและสวัสดิการรัฐหลายอย่างก็ส่งผลต่อผู้ป่วย ยกตัวอย่างเรื่องเพศสภาพ สมมติมีคนไข้ที่ทุกข์ใจจากเพศสภาพที่ไม่ตรงกับเพศกำเนิด (Gender Dysphoria) จิตแพทย์ก็จะรักษาให้เขาปรับเปลี่ยนไปสู่เพศที่เขารับรู้ตนเองจริงๆ ซึ่งเราก็คงช่วยได้ส่วนหนึ่ง แต่กลไกสำคัญที่อาจจะช่วยได้ตรงจุดกว่า คือ นโยบายต่างๆ ในสังคมที่ต่างประเทศมีการเปลี่ยนแปลงแล้ว แต่รัฐบาลไทยยังกีดกัด เช่น การสมรสที่กำหนดว่าต้องเป็นเพศชายและหญิงโดยกำเนิด การเปลี่ยนแปลงคำนำหน้าชื่อ รวมถึงการเลือกปฏิบัติต่างๆ ถ้าแก้ไขนโยบายนี้ไม่ได้ ภาวะทุกข์ใจในเพศสภาพก็จะไม่มีทางได้รับการรักษาอย่างสมบรูณ์ เพราะผู้ป่วยจะไม่มีวันเข้าถึงสวัสดิการที่เขาพึงได้รับถ้ารัฐไม่อนุญาต

“มันคือปัญหาที่จิตแพทย์พยายามช่วย แต่การปรับแก้กฏหมายต่างๆ ก็อยู่นอกเหนือความสามารถของจิตแพทย์ จะพูดว่า เออ ทนไปนะ ก็ประเทศไทยเป็นแบบนี้ ก็คงไม่ดี”

นพ.สรวิศ ระบุ
คลินิกให้บริการด้านจิตเวชในโรงพยาบาลรัฐแห่งหนึ่ง

ผู้ป่วยยิ่งเครียด จิตแพทย์ยิ่งกลุ้ม

อีกหนึ่งความท้าทายในการรักษาผู้ป่วยท่ามกลางวิกฤตโรคระบาดคือ ภาระงานที่มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการออกหน่วยฉีดวัคซีน อยู่เวรคัดกรองผู้ป่วยโควิด-19 ให้คำปรึกษาคนไข้ ตลอดจนการวางระบบให้บริการที่ต้องสอดคล้องกับนโยบายที่เปลี่ยนแปลงไปมา ภาระงานเหล่านี้ล้วนส่งผลต่อความเครียดของจิตแพทย์ทั้งสิ้น

“ภาระงานมากขึ้น ก็เซ็งและเหนื่อยที่ต้องทำงานเพิ่ม แถมงานที่เพิ่มก็เป็นงานที่เสี่ยงภัย มีโอกาสต้องสัมผัสผู้ป่วยโควิด-19  เหล่านี้เป็นหน้าที่ภายใต้สถานการณ์ไม่ปกติ ซึ่งเราเข้าใจได้ แต่ความรู้สึกหรือความเครียดที่เพิ่มขึ้นก็ห้ามไม่ได้จริงๆ” นพ.สรวิศ กล่าวเสริม

นอกจากนี้ การให้คำปรึกษาคนไข้ผ่านช่องทางออนไลน์ก็มีข้อจำกัดหลายด้าน การสังเกตอาการและพฤติกรรมของผู้ป่วยทำได้ยากขึ้น จนเคยเกิดเหตุการณ์ไม่คาดคิด อาทิ จิตแพทย์ท่านหนึ่งต้องรักษาคนไข้ออนไลน์ แล้วคนไข้ในหน้าจอร้องไห้ฟูมฟายหนัก ต้องการวิ่งไปกระโดดระเบียง จิตแพทย์ท่านดังกล่าวก็ทำได้เพียงพยายามปลอบใจผ่านคอมพิวเตอร์ แต่ไม่สามารถห้ามปรามได้โดยตรง

แม้สุดท้ายจะไม่ได้มีอันตรายเกิดขึ้นแก่ตัวผู้ป่วย แต่เหตุการณ์นี้ก็ส่งผลต่อสุขภาพจิตของจิตแพทย์จนทำให้เขาตัดสินใจไม่รับให้คำปรึกษาผู้ป่วยออนไลน์อีกเลย จึงเห็นได้ว่า ท่ามกลางสถานการณ์ปัจจุบันของไทยไม่ได้มีเพียงผู้ป่วยที่มีภาวะเครียดสูงขึ้น จิตแพทย์เองก็ไม่ต่างกัน

คลินิกจิตแพทย์ในวันที่ปรับการรักษาเป็นรูปแบบออนไลน์ภายใต้มาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม

จิตแพทย์ไม่เพียงพอ บางคนต้องดูผู้ป่วย 100 คนต่อวัน

จิรัสยา สุนทรศารทูล ผู้เคยเข้ารับคำปรึกษาจากจิตแพทย์ในโรงพยาบาลรัฐแห่งหนึ่งเผยว่า เธอต้องรอกว่า 3 ชั่วโมงเพื่อจะได้พบแพทย์เพียง 5 นาที

“วันนั้นมี 22 คิว ต้องรอประมาณ 3 ชั่วโมง พอถึงคิวก็ได้คุยกับหมอแค่ 5 นาที เราก็อัพเดทอาการว่าตอนนี้เป็นอย่างไร กินยาเป็นยังไง แค่นั้น ไม่มีอะไรมากกว่านั้น

“ตอนนั้นตกใจมาก ตกใจจริงๆ รู้สึกว่าตัวเองยังไม่ทันคุ้นเคยกับห้องหมอก็ต้องออกมาแล้ว สิ่งแวดล้อมที่นั่นไม่เอื้อต่อการพูดคุย หมอแง้มประตูไว้ พร้อมจะเรียกคนต่อไปเข้ามาตลอดเวลา ทุกอย่างไม่ได้เอื้อให้เรามีเวลาพูด”

อย่างไรก็ดี เธอยืนยันว่าเห็นใจจิตแพทย์ที่ต้องรับภาระหนักและให้คำปรึกษาผู้ป่วยจำนวนมากทุกวัน

“ก็ไม่รู้เหมือนกันว่ามีจิตแพทย์กี่คน แต่การที่เราต้องรอ 3 ชั่วโมงก็เดาว่าคงมีหมออยู่น้อย สงสารจิตแพทย์นะ ในฐานะคนไข้ เราเข้าใจเขามากๆ เพราะหมอของประเทศไทย เรียนจบก็ต้องใช้ทุน แกมบังคับว่าต้องมาทำงานกับโรงพยาบาลที่ระบบไม่มีประสิทธิภาพ เหมือนใช้หมอเป็นแรงงานมนุษย์คนหนึ่งที่ต้องทำงานให้เสร็จตามรอบ ในหนึ่งวันหมอเลือกไม่ได้ด้วยซ้ำว่าจะรับคนไข้กี่คน”

จิรัสยา ระบุ

รายงานผู้ป่วยที่มารับบริการด้านจิตเวช กรมสุขภาพจิต ประจำปี 2563 ระบุว่า พบผู้ป่วยที่เป็นโรคซึมเศร้า 39,716 คน โรควิตกกังวล 35,944 คนโรคอารมณ์สองขั้ว 4,576 คน พยายามฆ่าตัวตาย 479 คน ติดแอลกอฮอล์และสารเสพติด 39,508 คน และโรคทางจิตเวชอื่นๆ 20,771 คน ในขณะที่สถิติของแพทยสภา ระบุว่า เดือนธันวาคมปี 2563 ประเทศไทยมีจิตแพทย์ทั้งสิ้น 1,263 คน โดยแบ่งออกเป็นจิตแพทย์ทั่วไป 936 คน และจิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น 263 คน

เมื่อพิจารณาจากจำนวนประชากรไทยที่ 66,186,727 คน เท่ากับว่าจิตแพทย์หนึ่งคนต้องดูแลคนไทย 52,404 คน หรือคิดเป็นจิตแพทย์ 1.9 ต่อจำนวนประชากรหนึ่งแสนคน ซึ่งต่ำกว่าจำนวนเฉลี่ยที่องค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (OECD) กำหนดไว้ที่ 16.8 ต่อจำนวนประชากรหนึ่งแสนคนถึง 8 เท่าตัว ข้อมูลดังกล่าวชี้ให้เห็นว่า จำนวนจิตแพทย์ในประเทศไทยจะยังไม่เพียงพอต่อจำนวนประชากร จนทำให้จิตแพทย์หนึ่งคนต้องดูแลผู้ป่วยจำนวนมากเกินกำลัง

ผู้ป่วยจำนวนมากที่มารอเข้ารับการรักษากับจิตแพทย์

นพ.ธนวัฒน์ ขุราษี จิตแพทย์ โรงพยาบาลจิตเวชขอนแก่นราชนครินทร์ เผยว่า การที่เขาต้องรักษาผู้ป่วยจำนวนมากในหนึ่งวันทำให้มีเวลาพูดคุยกับผู้ป่วยแต่ละคนอย่างจำกัด 

“คิดว่าภาระงานหนักเกินไป ถ้าเป็นจิตแพทย์ซีเนียร์ ช่วงก่อนโควิดต้องดูผู้ป่วยประมาณ 60-100 คน นี่คือเฉพาะช่วงเช้าเก้าโมงถึงเที่ยงนะ ส่วนของผมดู 30-60 คน ตอนบ่ายอีก 20-30 คน จำนวนขนาดนี้ทำให้มีเวลาดูคนไข้แต่ละคนน้อยมาก ทำงานเหมือนหุ่นยนต์ คนไข้อาการดีนะครับ ไม่หูแว่วนะครับ ทำตามเช็กลิสต์ไป บางครั้งคนไข้อาการไม่ดี ผมก็อาจจะตรวจไม่เจอ เพราะไม่มีเวลาพูดคุย” นพ.ธนวัฒน์ ระบุ

คนอยากเรียนเยอะ แต่ระบบไม่เอื้อ ?

นพ.สรวิศ จากคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เผยถึงสาเหตุที่ประเทศไทยมีจิตแพทย์ไม่เพียงพอว่า ตำแหน่งที่เปิดให้เรียนในแต่ละปีมีน้อย อีกทั้งมีข้อกำหนดที่ชัดเจนว่า แต่ละสถาบันสามารถรับแพทย์ที่จะศึกษาต่อด้านจิตเวชได้กี่คน

“จิตแพทย์มีโควต้าในการฝึกสอนจำกัด การที่เราจะเปิดเป็นสถาบันฝึกอบรมได้ต้องผ่านเกณฑ์ของแพทยสภาหลายข้อ เช่น ต้องมีอาจารย์อย่างน้อยกี่คน ผู้ป่วยใน ผู้ป่วยนอกกี่ราย จำนวนเตียงเพียงพอหรือไม่ เป็นต้น อย่างของจุฬาฯ จิตแพทย์ผู้ใหญ่เปิดสอนได้ปีละ 6 คนเอง ทรัพยากรมีจำกัด

“อาจจะแก้ได้ด้วยการเปิดหอผู้ป่วยเพิ่ม แต่ก็ไม่ง่าย การเปิดหอผู้ป่วยเพิ่มต้องมีสถานที่ อุปกรณ์ และอัตรากำลัง สมมติโรงพยาบาลหนึ่งต้องการขยายโควต้าในการสอนแพทย์ประจำบ้านจิตเวช สถานที่ก็อาจจะไม่พอ เปิดเตียงได้ยาก หรือต่อให้มีเตียงก็ต้องดูว่ามีบุคลากร พยาบาล ผู้ช่วย และแม่บ้านหรือเปล่า ซึ่งส่วนใหญ่ถ้าจะเปิดเพิ่มจริงๆ เขาก็จะเปิดให้กับหน่วยงานที่มีความจำเป็นมากกว่า เช่น หน่วยที่มีผู้ป่วยฉุกเฉิน สุดท้ายจิตเวชจะถูกจัดอยู่ในลำดับความสำคัญหลังๆ โอกาสที่จะได้เปิดโดยที่เขาจัดสรรคนและทรัพยากรให้ก็ทำได้ยาก” นพ.สรวิศ ระบุ

โรงพยาบาลที่มีบริเวณเพียงพอก็ไม่ได้หมายความว่าจะเปิดหอผู้ป่วยจิตเวชเพิ่มได้ เพราะยังต้องคำนึงถึงปัจจัยอื่นๆ เช่น จำนวนบุคลากร พยาบาล แม่บ้าน ฯลฯ

คนไทยส่วนใหญ่ไม่เข้าใจปัญหาสุขภาพจิต

นอกจากการที่จิตแพทย์ไม่เพียงพอต่อจำนวนผู้ป่วย อีกหนึ่งปัญหาสำคัญที่จิตแพทย์พบคือการที่คนไทยส่วนหนึ่งยังมีความเข้าใจในประเด็นปัญหาสุขภาพจิตไม่ถูกต้อง ซึ่งหลายครั้งเป็นอุปสรรคต่อการรักษา

นพ.สรวิศ เล่าว่า หนึ่งในความเข้าใจผิดคือการที่คนไข้มักคิดไปเองว่า เมื่อเข้ารับการรักษากับจิตแพทย์แล้ว อาการจะดีขึ้นในทันที ทั้งที่จริงๆ ไม่ได้เป็นแบบนั้น

“สิ่งนี้เป็นความเข้าใจที่ผิดที่ควรปรับแก้ เราต้องเข้าใจก่อนว่า อาการบางอย่างก็ดีขึ้นได้เลย แต่บางอย่างก็ต้องใช้เวลา นอนไม่หลับ กินยาอาจจะหลับได้ แต่ถ้ามีความเครียด เช่น เครียดจากการอกหัก คุยกับหมอแล้ว ถามว่าจะหายอกหักไหม ก็คงไม่ กลับบ้านไปช่วงแรกก็คงยังคิดถึงคนรักเก่าอยู่ บางอาการต่อให้รักษาแล้วก็ไม่ได้หายในทันที คนไข้ควรเข้าใจในจุดนี้”

อาจารย์ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ แพทย์ศาสตร์ จุฬาฯ กล่าว

“และการที่คนไข้พูดว่า ‘หนูไม่ดีขึ้นสักที หมอรักษาไม่ได้เรื่อง’ การบอกว่าไม่ดีขึ้นเลยอาจจะเป็นการตัดสินแบบขาวดำเกินไป จริงๆ อาจจะดีขึ้นก็ได้ เพียงแต่ยังดีไม่เท่าที่เขาต้องการ น่าเสียดายที่หลายครั้งคนไข้ก็เลือกที่จะเปลี่ยนหมอทันที กลายเป็นว่าจิตแพทย์ขาดโอกาสในการดูแลคนไข้ การรักษาก็ไม่ต่อเนื่อง อาจทำให้หมอจบใหม่บางคนสงสัยในความสามารถของตัวเองว่า เราเก่งไม่พอรึเปล่าที่ไม่สามารถดูแลคนไข้ได้ เกิดเป็นความกังวลในการทำงาน แต่หมอที่ชั่วโมงบินเยอะหน่อยก็จะเข้าใจว่ามันไม่ใช่ความผิดของเขา”

อย่างไรก็ดี นพ.สรวิศสรุปว่า อย่างน้อยที่สุด การที่ผู้ป่วยมองว่าอาการของตนเองไม่ดีขึ้น ก็หมายความว่า เขาต้องการหายจากสภาวะที่เป็นอยู่ ซึ่งในฐานะจิตแพทย์จะพยายามทำความเข้าใจต่อว่า เพราะอะไรที่ไม่ดีขึ้น ไม่ดีขึ้นอย่างไร

ผู้ป่วยจำนวนมากที่มารอเข้ารับการรักษาจากจิตแพทย์

แม้จะได้รับผลกระทบจากหลายด้าน ทั้งปัญหาจากรัฐบาล การที่จิตแพทย์ไม่เพียงพอ ตลอดจนความเข้าใจในปัญหาทางจิตเวชที่คลาดเคลื่อน แต่ก็ดูเหมือนวงการจิตแพทย์จะพอมองเห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์อยู่บ้าง หากพิจารณาจากแนวโน้มของจำนวนจิตแพทย์ไทยที่เพิ่มมากขึ้น จากที่ปี 2560 มีจิตแพทย์ในไทยเพียง 886 คน ก็เพิ่มเป็น 1,047 คนในปี 2562 และ 1,263 คนในปี 2563  

อย่างไรก็ดี หากรัฐบาลยังไม่สามารถแก้ปัญหาเศรษฐกิจ โควิด-19 หรือมีการออกนโยบายที่ตอบสนองความต้องการของประชาชนได้อย่างตรงจุด ต่อให้มีจิตแพทย์มากเพียงใดก็คงไม่สามารถข่วยเหลือคนไข้ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพอยู่ดี

%d bloggers like this: