Art & Culture Education

ครูศิลปะไทย กับภาระในระบบการศึกษา

หน้าที่ของครูศิลปะคือการทำให้นักเรียนเข้าใจความสุนทรีย์ รสนิยม และความสร้างสรรค์ แต่ด้วยปัญหาจำนวนชั่วโมงเรียนที่น้อย และหน้าที่ส่วนเกิน ทำให้คุณครูศิลปะไม่สามารถทำหน้าที่ของตนได้อย่างเต็มที่

รื่อง: เมธัส แก้วดำ

ภาพ: อินทิรา พรมพันธุ์

ในระบบการศึกษา ครูถือเป็นองค์ประกอบสำคัญที่สามารถกำหนดทิศทางความคิดของนักเรียนในแต่ละสาขาวิชาได้ศิลปะเป็นศาสตร์แขนงหนึ่งที่ครูมีบทบาทอันน่าสนใจอยู่ไม่น้อย เพราะเป็นคนที่พาผู้เรียนไปสู่การนำเสนอความคิดและการสร้างสรรค์อันเป็นสิ่งที่ยึดโยงกับชีวิตมนุษย์แต่ระบบโครงสร้างการศึกษาได้เอื้อให้ครูศิลปะทำหน้าที่นี้อย่างมีประสิทธิภาพหรือไม่

เรียนเท่านี้พอแล้วหรือ

หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ. 2551 ได้กำหนดไว้ว่านักเรียนระดับประถมจะได้เรียนวิชาศิลปะจำนวน 1-2 คาบ ต่อสัปดาห์ และนักเรียนระดับมัธยมจะเรียนวิชาศิลปะเพียง 1 คาบต่อสัปดาห์เท่านั้น อติญา วงษ์วาท ครูหัวหน้ากลุ่มสาระศิลปะ โรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุว่า ในหนึ่งคาบเรียนจะมีเวลาเฉลี่ยเพียง 50 นาที เวลาที่น้อยส่งผลให้ครูผู้สอนต้องเน้นการสอนทฤษฎี จนไม่เหลือเวลาในการฝึกทำงานในชั้นเรียน หรือทำให้นักเรียนเรียนรู้รสนิยมและคุณค่าศิลปะได้อย่างเต็มที่ 

“ปัจจัยที่ทำให้เราสอนทฤษฎีเยอะเพราะเรามีเวลาน้อย ทำให้เด็กเห็นวิชาศิลปะเป็นภาระ มากกว่าวิชาที่สนับสนุนความคิดหรือการแสดงออก”

อติญากล่าว

สุชัญญา ยาวิชัย นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 โรงเรียนมงฟอร์ตวิทยาลัย จังหวัดเชียงใหม่ เผยว่าเวลาเพียงไม่ถึงชั่วโมง ไม่สามารถทำให้นักเรียนเข้าใจศิลปะได้ เพราะเวลาน้อยทำให้ครูเข้ามาสอนทฤษฎีและสั่งงานเท่านั้น ไม่ได้อธิบายหรือนำเสนอให้เห็นคุณค่าต่อผลงานของงานศิลปะ นอกจากนี้เวลาที่น้อยยังทำให้เวลาตรวจงานครูให้เพียงคะแนน ทำให้นักเรียนไม่ทราบข้อบกพร่องหรือจุดเด่นในคุณค่าผลงานของตน ทำให้เพื่อนหลายคนจึงมองวิชาศิลปะว่าเป็นภาระมากกว่าวิชาเรียนที่สามารถสอดแทรกในชีวิตประจำวัน

อิงกวี ธรสัมปัตติ นิสิตปี 5 คณะครุศาสตร์ สาขาศิลปศึกษา ได้เล่าปัญหาจากประสบการณ์การฝึกสอนเด็กมัธยมศึกษาตอนปลาย ด้วยจำนวนชั่วโมงที่น้อยเป็นทุนเดิม และด้วยสถานการณ์โรคระบาดปัจจุบัน ทำให้ครูจำเป็นต้องใส่ใจกับขั้นตอนการสร้างผลงานของนักเรียนในแต่ละรายบุคคลมากขึ้น ส่งผลให้การสอนดำเนินช้าและใช้เวลามากกว่าเดิม ทำให้ครูจำเป็นต้องตัดหรือบีบเนื้อหาหรือการอภิปรายบางอย่าง เพื่อให้สอนได้ตามชั่วโมงเรียน 

“สอนออนไลน์เป็นอะไรที่ยากมาก น้อยมากที่เด็กจะมีประติสัมพันธ์ ทำให้เราต้องจี้หรือเพิ่มเวลาในการดูพัฒนาการนักเรียนมากขึ้น”

อิงกวีกล่าว
ภาพห้องเรียนศิลปะ ที่ไม่ได้ใช้เนื่องด้วยสถานการณ์โควิด-19

คำนิยามศิลปะไทยที่ส่งผลต่อการสอนศิลปะในโรงเรียน

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ อินทิรา พรมพันธุ์ หัวหน้าสาขาศิลปศึกษา คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ให้ความหมายและหน้าที่ของคุณครูศิลปะว่า คุณครูศิลปะไม่เพียงแต่สอนให้นักเรียนวาดรูป หรือบอกได้ว่างานศิลปะชิ้นไหนเป็นผลงานของใคร แต่คุณครูศิลปะต้องทำให้นักเรียนสามารถเข้าใจความสุนทรีย์ รสนิยม ความสร้างสรรค์ หรือความงามที่บอกได้ว่าผลงานแต่ละชิ้นมีความงามอย่างไร และนำเสนออย่างไร เพื่อให้นักเรียนสามารถเข้าใจการถ่ายทอดความคิดผ่านงานสร้างสรรค์  แต่หลายครั้งเนื้อหาดังกล่าวถูกตีความผิดไป ทำให้ผลงานของนักเรียนถูกประเมินจากทักษะฝีมือแค่คำว่าสวยหรือไม่สวย และประกอบกับเวลาการสอนที่น้อย ไม่เพียงพอต่อการปลูกฝังคุณค่า  ความสุนทรีย์ หรือรสนิยม ทำให้มุมมองทางด้านศิลปะของนักเรียนจึงแคบลง จากการสร้างผลงานด้วยจากความคิดสร้างสรรค์ กลายเป็นการทำตามโจทย์ที่ได้รับเท่านั้น

“มันน่าเศร้าที่คุณค่าความงามของงานศิลปะถูกตีความผิดไป จนนักเรียนเข้าใจว่างานวิชาศิลปะคืองาน คือการบ้าน”

อินทิรากล่าว

อติญาและอิงกวี ในฐานะผู้สอนวิชาศิลปะในโรงเรียนกล่าวเสริมว่า ด้วยคำนิยามของศิลปะในไทยถูกผูกโยงกับความงาม หรือคุณค่าแบบงานช่างที่เน้นฝีมือ ทำให้วิชาศิลปะจำเป็นต้องประเมินด้วยความสวยงามมากกว่าเนื้อหา ความสร้างสรรค์ หรือการแสดงออกของนักเรียน ซึ่งการประเมินดังกล่าวไม่เพียงทำให้นักเรียนบางคนเสียกำลังใจในการสร้างผลงาน แต่ครูก็ลำบากใจที่ความสวยงามกลายเป็นมาตรวัดคุณภาพงานของนักเรียน

จัดพาน จัดบอร์ด หน้าที่ส่วนเกินของครูศิลปะ

พรเทพ เลิศเทวศิริ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ประจำสาขาศิลปศึกษา คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เสริมว่าไม่เพียงแต่จำนวนชั่วโมงเรียนที่น้อย หรือหลักสูตรที่บกพร่อง แต่โรงเรียนส่วนใหญ่จะเพิ่มงานอื่นๆ ที่เกี่ยวกับศิลปะให้แก่ครูศิลปะ ไม่ว่าจะเป็นการจัดบอร์ดประชาสัมพันธ์ การจัดพานวันสำคัญ หรือการตกแต่งสถานที่ ซึ่งหน้าที่ส่วนเกินเหล่านี้กลายเป็นภาพจำของครูศิลปะไปโดยปริยาย ทำให้ครูต้องแบ่งเวลาและความใส่ใจมาทำงานดังกล่าว แทนที่จะได้สอนนักเรียนอย่างเต็มที่

“หน้าที่ส่วนเกินบางอย่างมันกลายเป็นหน้าที่หลักของครูศิลปะไปแล้ว จนสังคมสร้างภาพจำครูศิลปะว่าต้องจัดพาน ตัดโฟม”

พรเทพกล่าว

อินทิรากล่าวเสริมว่า ระบบโครงสร้างการศึกษาที่ผลักภาระให้โรงเรียนจัดทำกิจกรรมโดยจำเป็นต้องหาบุคลากรเพื่อจัดกิจกรรมหรือเตรียมสถานที่ เมื่อเกิดความขาดแคลนบุคลากรหรืองบประมาณ คุณครูศิลปะจึงต้องมาทำหน้าที่เหล่านี้ ปัญหานี้แสดงให้เห็นว่าการขาดการสนับสนุนทำให้ภาระส่วนเกินที่เกี่ยวข้องกับงานศิลปะตกไปอยู่กับครูสอนศิลปะ จึงไม่แปลกที่ทำไมการจัดพานหรือเตรียมสถานที่กลายเป็นภาพจำหน้าที่หลักของครูศิลปะ

อย่างไรก็ตาม อติญายกตัวอย่างว่า โรงเรียนสาธิตจุฬาฯ มีหน่วยงานที่สนับสนุนการจัดกิจกรรมหรืองานอื่นๆ ของโรงเรียน ทำให้ภาระหน้าที่ส่วนเกินของครูศิลปะลดลงมาก ครูจึงสามารถให้เวลากับการพัฒนาคุณภาพการศึกษา ทั้งการสอนศิลปะ การเป็นครูประจำชั้น หรือการประเมินผลงานนักเรียนได้มากขึ้น 

บอร์ดตัวอย่างผลงานศิลปะของนักเรียน โรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

หลักสูตรใหม่ ทางออกใหม่

จากปัญหาชั่วโมงเรียนที่กล่าวมาทำให้เห็นว่าผู้กำหนดแนวทางการศึกษาของชาติในปัจจุบันขาดความเข้าใจและเห็นถึงคุณค่าของศิลปะ ทำให้เกิดเป็นหลักสูตรที่ให้ความสำคัญในแต่ละวิชาไม่เท่ากัน และวิชาศิลปะคือหนึ่งในวิชาที่ถูกให้ความสำคัญน้อยกว่า ดังนั้นทางออกของปัญหาอาจจะเริ่มที่โครงสร้างหลักสูตร

อติญายกตัวอย่างหลักสูตรของโรงเรียนสาธิตจุฬาฯ ที่แตกต่างจากโรงเรียนที่ใช้หลักสูตรกลางทั่วไป โดยหลักสูตรเน้นความสนใจของผู้เรียนมากขึ้น ในหนึ่งวันมีประมาณ 8 คาบเรียน โดยวิชาหลักที่โรงเรียนกำหนดมีเฉลี่ย 3-4 คาบต่อวัน ดังนั้นนักเรียนจะมีคาบว่างที่สามารถลงเรียนวิชาเลือกที่สนใจได้มากขึ้น นอกจากนี้ วิชาเลือกก็มีความหลากหลาย สอนโดยศิษย์เก่าหรือผู้ปกครองที่สามารถมาเป็นครูพิเศษได้  อันเป็นผลจากการมีส่วนร่วมของเครือข่ายของศิษย์เก่าและผู้ปกครอง 

อติญายังชี้ให้เห็นว่า ระบบดังกล่าวทำให้นักเรียนที่ลงเรียนในแต่ละวิชาเป็นผู้ที่มีความสนใจเป็นทุนเดิม ทำให้ตั้งใจกับการเรียนเรียนมากขึ้น ส่วนคุณครูก็ไม่รู้สึกกดดันและมีความสุขในการทำงานมากขึ้น 

ดังนั้นครูไม่จำเป็นต้องรีบสอนทฤษฎี  และยังสามารถเชื่อมโยงให้เด็กเห็นคุณค่าเชิงสุนทรีย์มากขึ้น นอกจากนี้นักเรียนที่มีความสนใจสามารถลงวิชาเรียนเพิ่มเพื่อพัฒนาทักษะและความคิดสร้างสรรค์ให้ลงลึกอีกได้    

 “โรงเรียนสาธิตจุฬาฯ ถือว่าโชคดีมากที่ทุกกลุ่มสาระถูกสนับสนุน และความสนใจของนักเรียนก็ถูกให้ความสำคัญ แต่ยังมีอีกหลายโรงเรียนที่ไม่สามารถทำได้ เนื่องจากงบประมาณหรือระบบโครงสร้างที่โรงเรียนต้องแบกรับ”

อติญากล่าว


อติญา เสริมอีกว่า หลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานจัดวิชาศิลปะเป็นหน่วยวิชา ทำให้นักเรียนมองวิชาศิลปะเป็นเอกเทศและไกลตัวเกินไป ในความเป็นจริงวิชาศิลปะสามารถแทรกอยู่ในวิชาอื่นๆ เพื่อทำให้นักเรียนเห็นว่าวิชาศิลปะมีการส่งเสริมกับวิชาอื่นๆ เช่น หากนักเรียนสามารถนำเสนอความคิดของตนออกมาในรูปแบบของภาพ หรือวีดีโอ ก็จะทำให้คุณครูเข้าใจการรับรู้ของนักเรียนมากขึ้น เป็นต้น

%d bloggers like this: