News Social Issue Top Stories

ส่องปัญหาระบบเตือนภัยที่คนไทยอาจต้องหนีตายกันด้วยทวิตเตอร์

ระบบเตือนภัยของไทยมีประสิทธิภาพเพียงพอในการแจ้งเตือนประชาชนอย่างทั่วถึงแล้วหรือยัง หรือทุกครั้งที่เกิดภัย คนไทยยังต้องหนีตายกันเองผ่านการติดตามข้อมูลในโซเชียลมีเดีย

เรื่องและภาพ : สิรวิชญ์ บุญประสิทธิการ

“ถ้ามีสึนามิครั้งใหม่ ใครจะเตือนให้อพยพ”

คนไทยเผชิญเหตุภัยพิบัติอยู่เสมอจนเสมือนเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิต ทั้งปัญหาน้ำท่วมที่เกิดขึ้นแทบทุกปีหรืออัคคีภัยที่สร้างความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินอยู่เป็นประจำ การเตือนภัยน่าจะเป็นหัวใจสำคัญที่ช่วยลดอัตราการสูญเสียจากภัยพิบัติต่างๆ ได้

แต่ระบบเตือนภัยอย่างเป็นทางการของไทยมีประสิทธิภาพพอในการแจ้งเตือนประชาชนอย่างทั่วถึงแล้วหรือยัง หรือทุกครั้งที่เกิดภัย คนไทยยังต้องหนีตายกันเองผ่านการติดตามข้อมูลในโซเชียลมีเดีย

เกิดเพลิงไหม้ คนไทยต้องหนีตายผ่านทวิตเตอร์

หนึ่งในอุบัติภัยที่เกิดขึ้นเป็นประจำในประเทศไทยคืออัคคีภัย ข้อมูลจากกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงมหาดไทย เมื่อปี 2559 ระบุว่า ประเทศไทยมีอัคคีภัยเกิดขึ้นเฉลี่ยปีละมากกว่า 2,000 ครั้ง มีผู้บาดเจ็บเฉลี่ยต่อปีที่ 173 คน และเสียชีวิต 67 คน ยิ่งไปกว่านั้น แนวโน้มการเกิดอัคคีภัยยังมีความถี่และความรุนแรงเพิ่มขึ้น ไม่ว่าจะเป็นในอาคารสูง บ้านเรือนที่อยู่อาศัย รวมถึงโรงงานอุตสาหกรรม เช่นเดียวกับเหตุการณ์เพลิงไหม้โรงงานเคมี ในซอยกิ่งแก้ว อำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ เมื่อเช้ามืดวันที่ 5 กรกฎาคม ที่ผ่านมา

ความรุนแรงและความถี่ในการเกิดอัคคีภัยที่เพิ่มขึ้นน่าจะทำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องวางระบบเตือนภัยที่มีประสิทธิภาพ เพื่อให้ประชาชนสามารถอพยพออกจากพื้นที่ได้อย่างทันท่วงทีเมื่อมีเหตุฉุกเฉิน กระนั้นก็ดูเหมือนว่าคนไทยยังต้องติดตามข่าวสารการอพยพผ่านการหาข้อมูลกันเองในอินเทอร์เน็ต

ธนพร รุ่มโรย หนึ่งในผู้อพยพจากเหตุเพลิงไหม้โรงงานกิ่งแก้วเผยว่า เธอติดตามสถานการณ์เพลิงไหม้จากทวิตเตอร์ อีกทั้งยังทราบระยะห่างระหว่างบ้านของตัวเองกับโรงงานที่เกิดเหตุจากข้อมูลที่ประชาชนด้วยกันนำมาแจ้งเตือนทางสื่อออนไลน์

“ไม่มีเจ้าหน้าที่เข้ามาแจ้ง ไม่มีเลย ทั้งตอนเกิดเหตุและหลังเกิดเหตุ ทุกอย่างเรารู้จากทวิตเตอร์ เรารู้ระยะกระจัด (ระยะที่ลากจากจุดหนึ่งไปยังจุดหนึ่งเป็นเส้นตรง) จากบ้านถึงจุดที่เกิดไฟไหม้จากเว็บไซต์ที่มีคนลงไว้ในโซเชียล พูดง่ายๆ คือถ้าไม่เล่นทวิตเตอร์ก็น่าจะไม่รู้ หรือไม่ก็คงคิดว่าเป็นเรื่องปกติ เพราะเราเห็นแค่ควัน แถมจุดที่เกิดเหตุก็อยู่ห่างจากบ้านเราค่อนข้างมาก

“อยากให้มีการเตือนภัยให้อพยพทางข้อความโทรศัพท์ เพราะข้อความโทรศัพท์เข้าถึงคนหมู่มากได้ แต่ก็ไม่ใช่ทุกคนที่จะมีสมาร์ทโฟน ดังนั้น นอกจากการส่งข้อความแล้ว ถ้ามีการประกาศด้วยก็จะดีมาก เพื่อให้คนที่ไม่ได้ใช้โทรศัพท์เข้าถึงได้ด้วย” ธนพร ระบุ

ระบบเช็กพิกัดไฟไหม้ Mapdemo

อย่างไรก็ดี ไม่ใช่ผู้อพยพทุกคนจะมีความเชี่ยวชาญการใช้งานสมาร์ทโฟน วนิดา รุ่มโรย คือหนึ่งในนั้น เธอทำได้เพียงติดตามสถานการณ์จากโทรทัศน์ ก่อนจะตัดสินใจอพยพเพราะแรงกดดันจากเพื่อนและลูกสาว

“แถวบ้านเราไม่ได้มีระบบเตือนภัย ไม่มีการประกาศ ไม่มีเสียงไซเรน เราทำได้แค่ดูจากข่าวในโทรทัศน์ ตอนแรกก็คิดว่าไกลจากบ้านเรา บ้านเราอยู่อ่อนนุช เหตุเกิดที่บางพลี ก็เลยไม่ได้ใส่ใจมากมาย จนกระทั่งเพื่อนที่บ้านอยู่ใกล้ๆ โทรมาถามว่าที่บ้านเราเป็นยังไงบ้าง บ้านเขาต้องอพยพนะ เราถึงได้ตกใจและตื่นตัวมากขึ้น

“ถ้าลูกสาวไม่ได้ติดตามสถานการณ์จากอินเทอร์เน็ตก็อาจจะไม่อพยพหรืออพยพได้ช้า เพราะลำพังเราเองคิดว่า ถ้าปิดแอร์ ปิดห้อง ปิดหน้าต่างแล้ว ควันพิษก็อาจจะมาไม่ถึง” 

วนิดากล่าวเพิ่มเติมว่า อยากให้ภาครัฐติดตั้งระบบเตือนภัยที่ดีกว่านี้ แต่เพราะเธอประกอบอาชีพข้าราชการ จึงพอจะเข้าใจว่าส่วนงานต่างๆ มีงบประมาณจำกัดและการลงทุนกับระบบเตือนภัยน่าจะใช้เงินทุนมหาศาล จึงทำได้เพียงหวังว่า ภาครัฐจะสรรหานักวิชาการที่สามารถจัดการปัญหานี้ได้ภายใต้งบประมาณที่มีอยู่อย่างจำกัดของประเทศไทย

ประชาชนติดตามสถานการณ์เพลิงไหม้จากการรายงานข่าวทางโทรทัศน์

ด้าน นิธิกร บุญยกุลเจริญ หนึ่งในทีมผู้ผลิตระบบเช็กพิกัดไฟไหม้จากเหตุการณ์โรงงานกิ่งแก้ว เผยว่า แท้จริงแล้วการใช้เทคโนโลยีเพื่อกระจายข้อมูลและสั่งการให้อพยพไม่ใช่เรื่องยาก หลังจากเกิดเหตุจึงร่วมมือกับทีมโปรแกรมเมอร์เร่งจัดทำระบบเช็กพิกัดไฟไหม้ในทันที

“เราคิดว่าเทคโนโลยีน่าจะเอามาแก้ปัญหานี้ได้ เหตุการณ์เพลิงไหม้เกิดขึ้นอย่างฉุกละหุก ถ้าเราไม่รีบทำ ปล่อยไว้ 4-5 วัน ก็คงไม่ทันแน่นอน เรากับทีมจึงเริ่มเขียนโค้ดกัน ใช้เวลาประมาณ 2 ชั่วโมง ถามว่าทำยากไหม มันไม่ยากเลย แต่ความยากคือทำยังไงที่จะทำให้ระบบไปถึงผู้ใช้ได้โดยเร็ว เราก็รีบโพสต์ระบบเช็กพิกัดไฟไหม้ในโซเชียลมีเดีย ปรากฏว่ามีอินฟลูเอนเซอร์มากมายนำไปขยายความต่อให้ จนระบบแพร่หลายและมีผู้ใช้มากกว่า 3 ล้านคนในวันเดียว”

นิธิกรกล่าวต่อว่า ถึงเวลาแล้วที่ทุกภาคส่วนในสังคมจะนำเทคโนโลยีมาใช้ประโยชน์ในการเตือนภัยประชาชนเมื่อเกิดสถานกาณณ์ฉุกเฉิน

“อนาคตเราไม่รู้ว่าจะเจอภัยพิบัติอะไรที่รุนแรงบ้าง ดังนั้น เราควรเตรียมรับมือไว้แต่เนิ่นๆ วันนี้เราได้เรียนรู้แล้วว่า การมีระบบเตือนภัยและกระจายข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้องและเหมาะสมจะช่วยลดการสูญเสียได้

“เพราะฉะนั้น หน่วยงานต่างๆ ควรจะร่วมมือกัน โดยนโยบายภาครัฐน่าจะต้องมีเจ้าภาพที่ชัดเจน ประชาชนรับรู้โดยทั่วกัน ภาครัฐควรจะให้บริการและเปิดกว้างด้านข้อมูล ประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับผู้ให้บริการเครือข่ายมือถือ เพื่อนำข้อมูลไปแจ้งเตือนประชาชนได้โดยไม่ต้องผ่านสัญญาณอินเทอร์เน็ต เพราะในสังคมก็ยังมีคนอีกมากที่ไม่ได้ใช้โซเชียลมีเดีย”

นิธิกร ระบุ

พร้อมกันนี้ ผู้ผลิตระบบเช็กพิกัดไฟไหม้ยังเสริมอีกว่า คงเป็นเรื่องที่น่าเศร้า หากสังคมไทยยังไม่ผลักดันให้นำเทคโนโลยีมาใช้ประโยชน์ในด้านการเตือนภัยและด้านอื่นๆ เพราะเทคโนโลยีในปัจจุบันมีความก้าวหน้าเป็นอย่างมาก และระบบเช็กพิกัดไฟไหม้ที่ผ่านมาน่าจะเป็นตัวอย่างที่ดีที่ช่วยให้ภาครัฐและเอกชนเล็งเห็นถึงความสำคัญของเทคโนโลยีในฐานะเครื่องมือปกป้องและช่วยเหลือชีวิตของประชาชน

น้ำท่วมทุกปี มีไหมการเตือนภัย

สองเดือนหลังเหตุเพลิงไหม้โรงงานเคมีที่ซอยกิ่งแก้ว ประเทศไทยยังต้องเผชิญกับน้ำท่วมครั้งใหญ่ แม้จะสร้างความเสียหายไม่เท่าอุทกภัยเมื่อปี 2554 แต่มวลน้ำในครั้งนี้ก็สร้างความเดือดร้อนแก่ประชาชนในกว่า 31 จังหวัดทั่วประเทศ

ถนนวิชิตสงคราม อำเภอเมือง จังหวัดภูเก็ต มีฝนตกหนักอย่างต่อเนื่อง จนอาจนำไปสู่เหตุน้ำท่วมขัง เช่นเดียวกับหลายพื้นที่ของประเทศไทยที่ประสบอุทกภัยในฤดูฝนแทบทุกปี

นิธิกรซึ่งมีส่วนร่วมในการคิดค้นระบบเช็กพิกัดไฟไหม้เป็นหนึ่งในคณะทำงานเฉพาะกิจติดตามสถานการณ์น้ำของพรรคก้าวไกล การลงพื้นที่ที่เกิดอุทกภัยทำให้เขาได้ทราบว่า สาเหตุหลักของน้ำท่วมแบ่งเป็น 2 ส่วน ได้แก่ น้ำท่วมขังและน้ำหนุน

ในส่วนของน้ำท่วมขัง นิธิกรเผยว่า คนในชุมชนสามารถประเมินสถานการณ์เบื้องต้นได้เอง เพราะมีประสบการณ์แล้วว่าฝนตกกี่ชั่วโมง น้ำจึงจะท่วม ทำให้พอจะเตรียมการรับมือได้ทัน แต่หากเป็นกรณีน้ำหนุน ประชาชนจะไม่สามารถรับมือได้หากไม่มีการแจ้งเตือน

“อย่างกรณีน้ำหนุนบริเวณพื้นที่ที่ติดกับแม่น้ำเจ้าพระยาล่าสุด ก็ได้รับทราบจากผู้อยู่ในพื้นที่ว่า ไม่ได้รับการแจ้งเตือนอย่างทันท่วงที เราจึงควรพัฒนาเทคโนโลยีอย่างระบบเตือนภัยทางโทรศัพท์มือถือ (Cell Broadcast) จะได้แจ้งเหตุเฉพาะหน้าอย่างถูกต้องและทันสถานการณ์เพื่อให้เกิดความเสียหายน้อยที่สุด”

แม้ว่าการลงทุนกับเทคโนโลยีเพื่อใช้ในการเตือนภัยจะมีค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง แต่นิธิกรก็มองว่าเป็นการลงทุนที่คุ้มค่า ซึ่งจะช่วยลดความเสี่ยงและความเสียหายที่ตามมาได้

“ในความเป็นจริง ความเสียหายจากอุทกภัยอาจจะมากกว่าการลงทุนด้วยซ้ำ อย่างน้ำท่วมในปี 54 ก็สร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจของประเทศอย่างมหาศาล ถ้าเทียบแล้ว การทำระบบระบายน้ำหรือระบบเตือนภัยน่าจะใช้งบน้อยกว่าแน่ๆ จึงไม่มีเหตุผลอะไรเลยที่เราจะไม่ให้ความสำคัญกับระบบเตือนภัยน้ำหนุน” นิธิกร ระบุ

เมื่อเป็นเช่นนี้ คำถามสำคัญคือเพราะเหตุใดจึงยังไม่มีระบบเตือนภัยน้ำหนุนที่มีประสิทธิภาพ คณะทำงานน้ำ พรรคก้าวไกล เผยว่า สาเหตุเป็นเพราะอุทกภัยเป็นภัยที่เกิดขึ้นในหลายพื้นที่ ไม่ใช่เพียงกทม. หน่วยงานต่างๆ จึงมีความสับสนในหน้าที่รับผิดชอบ การประสานงานและรับเรื่องร้องเรียนก็ทำได้ยาก

“เราต้องบูรณาการว่าหน่วยงานไหนมีหน้าที่อย่างไร ใครให้ข้อมูล แล้วท้องถิ่นจะทำอย่างไรต่อ อย่างน้ำท่วมล่าสุดก็มีจดหมายแจ้งไปยังผู้ว่าฯ ในแต่ละท้องที่ แต่ปัญหาคือเราไม่มีทางแน่ใจว่าข้อมูลจะถูกส่งถึงประชาชนในพื้นที่อย่างทันท่วงทีหรือไม่ อย่างเพื่อนผมที่สมุทรปราการก็มารู้ว่าน้ำหนุนสูงตอนที่น้ำมาถึงแล้ว ย้ายของแทบไม่ทัน เพิ่งมาได้รับเอกสารเตือนในภายหลังว่าให้เฝ้าระวังน้ำหนุน

“แต่ละกระทรวงหรือกรมมีหน้าที่ของตัวเองอยู่แล้ว ดังนั้นจึงควรมีหน่วยงานกลางที่รับผิดชอบปัญหาน้ำท่วมโดยตรง ซึ่งตอนนี้ยังไม่เห็น ชาวบ้านเดือดร้อนทีก็ไม่รู้จะร้องเรียนใคร” นิธิกร กล่าว

น้ำท่วมขังบริเวณหน้าสนามกีฬาสุระกุล อำเภอเมือง จังหวัดภูเก็ต หลังจากมีฝนตกหนักอย่างต่อเนื่อง เช่นเดียวกับหลายพื้นที่ของไทยที่ต้องเผชิญอุทกภัยในฤดูฝนแทบทุกปี

ยังพร้อมอยู่ไหมกับระบบเตือนภัยสึนามิ

หนึ่งในภัยพิบัติครั้งใหญ่ที่คนไทยจำไม่ลืมคือเหตุคลื่นยักษ์สึนามิถล่มภาคใต้ เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2547 เหตุการณ์ในคราวนั้นทำให้มีผู้เสียชีวิตสูงถึง 5,400 คน บาดเจ็บกว่า 8,000 คน และสูญหายจำนวนมาก

ภายหลังการสูญเสียแบบที่ไม่เคยมีมาก่อน รัฐบาลไทยที่นำโดยนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร เดินหน้าติดตั้งระบบเครือข่ายตรวจจับความสั่นสะเทือนของแผ่นดินไหว รวมถึงระบบเตือนภัยคลื่นยักษ์สึนามิ โดยมีการร่วมมือกับหน่วยงาน National Oceanic and Atmospheric Administration (NOAA) ของสหรัฐอเมริกา

รัฐบาลไทยใช้งบประมาณกว่า 200 ล้านบาท ในการสั่งซื้ออุปกรณ์เตือนภัยสึนามิกลางทะเลและติดตั้งหอเตือนภัย 340 แห่ง รวมทั้งสถานีแม่ข่ายอีกกว่า 600 แห่งทั่วภาคใต้ เพื่อให้หน่วยงานสามารถตรวจจับแผ่นดินไหวในทะเลได้ภายในเวลาไม่เกิน 5 นาที และแจ้งให้ประชาชนรับทราบได้ในเวลาไม่ถึง 15 นาที

อย่างไรก็ดี คม ชัด ลึก รายงานเมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2562 ว่า พบความผิดปกติของระบบเตือนภัยสึนามิที่จังหวัดกระบี่หลายจุด ทั้งอุปกรณ์ชำรุด แบตเตอรี่เสื่อมสภาพ ตลอดจนระบบส่งไฟเสียหาย เป็นผลให้ระบบเตือนภัยดังกล่าวไม่สามารถส่งสัญญาณได้ครอบคลุมทุกจุดตามที่วางไว้ ภายหลัง ศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ (ศภช.) ออกมาชี้แจงว่า ประเทศไทยมีความพร้อมรับมือคลื่นสึนามิได้ในระดับหนึ่งอย่างแน่นอน เพราะมีเครือข่ายเชื่อมโยงกับศูนย์ปฏิบัติการหลายประเทศที่พร้อมส่งสัญญาณเตือนภัยสึนามิล่วงหน้าไม่น้อยกว่าหนึ่งชั่วโมง แต่ที่น่าเป็นห่วงคือแบตเตอรี่ของอุปกรณ์ส่วนใหญ่มีอายุการใช้งานเพียง 2-5 ปี และการเปลี่ยนแบตเตอรี่ก็เป็นปัญหาสำคัญ เพราะต้องใช้งบประมาณต่อครั้งไม่ต่ำกว่าล้านบาท ทั้งค่าผู้เชี่ยวชาญ อุปกรณ์ซ่อมแซม รวมไปถึงค่าเรือที่ต้องเดินทางออกไปกลางทะเลหลายวัน

หอเตือนภัยสึนามิ บริเวณสวนสาธารณะสะพานหิน จังหวัดภูเก็ต

ทวิดา กมลเวชช ผู้ช่วยศาสตร์จารย์และคณบดีคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดการความเสี่ยงภัยพิบัติ เผยว่า ประเทศไทยมีปัญหาด้านการบำรุงรักษาอุปกรณ์เตือนภัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งทุ่นเตือนภัยสึนามิประเภทดาร์ต 2 (DART 2) ที่ต้องใช้งบประมาณซ่อมแซมต่อครั้งสูง อีกทั้งภัยพิบัติสึนามิก็ไม่ใช่สิ่งที่เกิดขึ้นบ่อย งบประมาณจึงถูกนำไปใช้กับภาคส่วนอื่นที่เร่งด่วนมากกว่า

“ระบบที่ดีก็ควรซ่อมบำรุง แต่ระบบที่ไม่ค่อยถูกใช้งานอย่างทุ่นเตือนภัยสึนามิก็ไม่แปลกที่จะไม่ได้รับการใส่ใจ เพราะการจัดสรรงบประมาณจะขึ้นอยู่กับลำดับความสำคัญ อาจารย์ทำงานด้านนี้ ย่อมต้องเห็นระบบเตือนภัยเป็นสิ่งสำคัญอยู่แล้ว แต่ถามว่าความสำคัญของการเตือนภัยจะไปสู้ความขัดแย้งทางการเมืองที่ไม่สงบหรือระบบเศรษฐกิจที่กำลังย่ำแย่ได้มั้ย ก็คงสู้ไม่ไหว ปัญหาพวกนั้นมีความต้องการที่เร่งด่วนและต้องใช้งบประมาณสูงกว่า”

ทั้งนี้ผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดการความเสี่ยงภัยพิบัติยังเผยอีกว่า อุปกรณ์เตือนภัยสึนามิหลายชิ้นก็ไม่ได้ชำรุดเสียหายตามอายุการใช้งาน แต่เกิดจากฝีมือของประชาชนผู้ไม่หวังดี

“หลายครั้งก็มีคนขโมยตัดสายไฟที่หอเตือนภัยไปขาย แต่จริงๆ ไม่ต้องไปถึงหอเตือนภัยหรอก ลำพังแค่ป้ายแสดงเส้นทางอพยพ บางทีมีรถชนป้าย ลูกศรหันไปชี้ให้หนีลงทะเลก็มี

“เพราะฉะนั้นก็ต้องอาศัยภาคประชาชนและท้องถิ่นช่วยกันดูแล ยิ่งรัฐเราก็ไม่ได้ตั้งใจตรวจสอบขนาดนั้น เราก็คงต้องช่วยกันเป็นหูเป็นตาในเรื่องพวกนี้”

ทวิดา ระบุ
ป้ายแสดงพื้นที่เสี่ยงภัยคลื่นยักษ์สึนามิ บริเวณสวนสาธารณะสะพานหิน จังหวัดภูเก็ต

เตือนภัยคนไทย หน่วยงานไหนรับผิดชอบ

สำนักมาตรการป้องกันสาธารณภัยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เผยในเอกสาร ‘ระบบการเแจ้งเตือนภัยล่วงหน้าของประเทศไทย’ ตั้งแต่ปี 2554 ไว้ว่า ปัจจุบันระบบการแจ้งเตือนภัยพิบัติของประเทศไทยมีหน่วยงานที่รับผิดชอบหลักคือศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ซึ่งจะทำงานร่วมกับข้อมูลที่ได้รับจากกรมต่างๆ เช่น กรมอุตุนิยมวิทยา กรมชลประทาน และกรมทรัพยากรธรณี เป็นต้น โดยแบ่งการเตือนภัยออกเป็น 4 ขั้นตอน ได้แก่ 1) การเฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์ (Monitoring) 2) การแจ้งเตือนล่วงหน้า (Early Warning) 3) การแจ้งเตือน (Warning) และ 4) การอพยพประชาชาน (Evacuation) โดยจะทำการแจ้งเตือนภัยผ่านทางสื่อสารมวลชน หอเตือนภัย ตลอดจนระบบข้อความสั้น (SMS) ไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่เสี่ยงภัย อย่างไรก็ดี ไม่มีข้อมูลระบุว่า เมื่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้รับข้อมูลแล้วจะทำการแจ้งเตือนต่อไปยังประชาชนในพื้นที่อย่างไร

ทวิดา กมลเวชช เผยว่า หน่วยงานต่างๆ ในประเทศไทยแบ่งปันข้อมูลภัยพิบัติให้กันน้อยเกินไป จึงไม่นำไปสู่การบูรณาการข้อมูล การเตือนภัยไปยังประชาชนของศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติจึงไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร

“ศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติก่อตั้งขึ้นจากเหตุการณ์สึนามิปี 47 ทีแรกก็รับผิดชอบเฉพาะภัยสึนามิ แต่ในเมื่อชื่อศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติก็ต้องมีการพัฒนาให้เตือนได้ทุกภัย แต่ปัญหาคือจะให้ศูนย์ฯ มีความเชี่ยวชาญเรื่องน้ำมากกว่ากรมชลประทานหรือกรมอุตุฯ ก็คงเป็นไปไม่ได้ ทุกวันนี้ศูนย์ฯ เองก็ไม่ได้มีอุปกรณ์ครบครัน พูดง่ายๆ คือยังต้องเอาข้อมูลของหน่วยงานหลักอื่นๆ มาประกอบก่อนจะส่งเป็นคำเตือนผ่านช่องทางต่างๆ ไปยังประชาชน แต่การบริหารจัดการของรัฐไทยก็มีปัญหามานาน เราไม่ประสานงานกันให้ดีและแบ่งปันข้อมูลกันน้อยมาก”

ทวิดายังเผยอีกว่า การที่ภาครัฐไม่ได้ให้ความสำคัญกับศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ ทำให้ในปัจจุบัน ศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติมีสถานะเป็นเพียงส่วนงานหนึ่งของกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ทั้งที่ในอดีตเคยเป็นศูนย์ที่ขึ้นต่อนายกรัฐมนตรีโดยตรง และเป็นเพียงหน่วยงานเดียวของประเทศที่ระบุไว้ในระเบียบสำนักนายกว่ามีอำนาจสั่งการในการแจ้งเตือนและแจ้งอพยพ อีกทั้งยังมีอิสระในการรวบรวมข้อมูลความเสี่ยงเพื่อทำการวิเคราะห์ แต่เมื่อถูกโยกย้ายมาอยู่ใต้กรม อำนาจและอิสระในการใช้ข้อมูลก็ลดลงตามไปด้วย

“ศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติควรมีสถานะสูงกว่ากรม เพราะเป็นศูนย์ที่กรมหลักต้องประสานงานด้วย แล้วจริงๆ ก็ควรพัฒนาให้ศูนย์มีความเป็นมันสมอง เป็น Big Data Dashboard ไม่ใช่แค่คลังข้อมูล แต่ต้องวิเคราะห์ได้ โดยสรุปคือควรมีอำนาจและศักยภาพสูงกว่านี้”

ทวิดา ระบุ

ด้านประสิทธิภาพการเตือนภัย ผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดการความเสี่ยงภัยพิบัติ เผยว่า นักวิชาการด้านการบริหารจัดการภัยพิบัติของไทยมีความสามารถไม่แพ้นักวิชาการในต่างประเทศ แต่อุปกรณ์ เทคโนโลยี ตลอดจนการบริหารจัดการข้อมูลของไทยยังมีศักยภาพด้อยกว่า โดยเฉพาะเมื่อเปรียบเทียบกับสหรัฐอเมริกาที่ทำการติดตั้งอุปกรณ์เก็บข้อมูลและเตือนภัยรายเขตซึ่งช่วยให้สามารถเตือนภัยได้อย่างแม่นยำ

สัญลักษณ์นำทางไปยังพื้นที่ปลอดภัยจากคลื่นยักษ์สึนามิ

เมื่อถามถึงการเตือนภัยด้วยระบบข้อความสั้นทางโทรศัพท์มือถือ (SMS) ทวิดาชี้แจงว่า ศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติมีการส่งข้อความไปยัง ‘Key Person’ หรือ ‘คนที่สามารถตัดสินใจได้’ ในแต่ละพื้นที่ที่เกิดภัยพิบัติ เช่น เจ้าหน้าที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น นายกเทศมนตรี ตำรวจภูธร เจ้าหน้าที่บรรเทาสาธารณภัย อาสาสมัครป้องกันภัยฝ่ายพลเรือน ผู้อำนวยการโรงเรียน ผู้ใหญ่บ้าน เป็นต้น อย่างไรก็ดี ศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติไม่สามารถส่งข้อความถึงทุกคนในพื้นที่ได้ เพราะแบกรับค่าใช้จ่ายไม่ไหว

“ปัจจุบันมีความพยายามจะส่งเอสเอ็มเอสให้ทุกคนในพื้นที่ที่มีสถานการณ์ เพราะประชาชนก็คงอยากได้การแจ้งเตือนแบบเรียลไทม์ ไม่ว่าอยู่ที่ไหน ถ้าสถานที่นั้นมีอุบัติภัย คนก็อยากให้แจ้งเตือนทันที แต่ปัญหาของรัฐไทยเท่าที่ทราบคือ การติดตามที่อยู่แบบเรียลไทม์แพงมาก ลงทุนสูงเกินไป”

ทวิดา กล่าว

“สมมุติต้องส่งสี่ข้อความเรื่องสึนามิ เช่น สึนามิจะมาแล้ว เตรียมขึ้นที่หลบภัย ไปจนถึงแจ้งว่า ตอนนี้สถานการณ์สงบแล้ว สี่ข้อความ ตีว่าหนึ่งล้านคน ข้อความละ 2 บาท ก็แปดล้านแล้วนะ แล้วใครต้องแบกรับค่าใช้จ่ายตรงนี้ กสทช. เหรอ หรือ กสทช. ต้องเจรจากับผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์มือถือ ซึ่งเขาก็มีค่าใช้จ่ายอยู่ดี คงไม่ได้ให้ใช้งานฟรี รัฐก็คงต้องสนับสนุนบางอย่าง ที่สำคัญ อันนี้เรายกตัวอย่างแค่สึนามิที่นาน ๆ ครั้งจึงจะเกิด ถ้าเป็นน้ำท่วมล่ะ คืนหนึ่งอาจจะมีอัปเดทสถานการณ์เป็นสิบครั้ง เพราะฉะนั้น ศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติคงแจ้งเตือนผ่านทางเอสเอ็มเอสไม่ไหวแน่ๆ” คณบดีคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ระบุ

ส่องระบบเตือนภัยในต่างประเทศ

ในขณะที่ประชาชนไทยต้องรับมือกับภัยพิบัติด้วยตนเองค่อนข้างมาก พลเมืองในหลายประเทศกลับสามารถพึ่งพาการให้ข้อมูลที่มีประสิทธิภาพจากภาครัฐได้ วาชินี พลับพลึง คนไทยที่อาศัยอยู่ในเนเธอร์แลนด์ เผยว่า เธอเคยได้รับข้อความเตือนภัยและข้อควรปฏิบัติเมื่อเกิดเหตุเพลิงไหม้ทางโทรศัพท์มือถือ แม้ว่าเธอจะไม่เคยลงทะเบียนเพื่อขอรับการเตือนภัยแต่อย่างใด

“เมื่อปีที่แล้วมีเหตุการณ์ไฟไหม้ในบริเวณหนึ่ง ซึ่งก็ไม่ได้ใกล้นะ ห่างค่อนข้างมาก แต่อยู่ดีๆ ข้อความในโทรศัพท์ก็ดังขึ้นมา เป็นเสียง alarm ที่ทำให้รู้เลยว่า มีเหตุการณ์ไม่ปกติเกิดขึ้น เขาส่งมาบอกว่า เกิดเหตุไฟไหม้นะ  ให้ปิดประตู ปิดหน้าต่าง แล้วก็ปิดระบบระบายอากาศให้ดี สั้นๆ เข้าใจง่าย แล้วก็แนบลิงก์ให้เข้าไปดูการอัปเดทเหตุการณ์เพิ่มเติมได้”

ทั้งนี้ วาชินียังเสริมอีกว่า ระบบแจ้งเตือนทางข้อความแบบนี้ไม่ได้มีแค่ที่ยุโรป แต่ประเทศในเอเชียอย่างญี่ปุ่นและเกาหลีก็มีเช่นกัน ซึ่งการเตือนภัยรูปแบบนี้ควรเป็นสิ่งที่ทุกคนเข้าถึงได้โดยไม่จำเป็นต้องลงทะเบียน แต่รัฐบาลควรจะร่วมมือกับผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือทุกเครือข่ายเพื่อจัดสรรข้อมูลแก่ประชาชน เพราะการดูแลสวัสดิภาพของพลเมืองถือเป็นหนึ่งในความรับผิดชอบสำคัญของรัฐบาลทุกประเทศ

ด้าน ธนพร รุ่มโรย ผู้เคยอยู่ในเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่ประเทศญี่ปุ่นเผยว่า การเตือนภัยของญี่ปุ่นทำได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเธอก็ได้รับการแจ้งเตือนได้ แม้ว่าจะไม่ใช่พลเมืองของญี่ปุ่น

“เคยเจอแผ่นดินไหวตอนไปอยู่ญี่ปุ่น เรามองว่าการแจ้งเตือนของเขาค่อนข้างมีประสิทธิภาพ โทรศัพท์จะส่งเสียงเตือนดังมากเหมือนเสียงนาฬิกาปลุก แล้วจะมีข้อความแจ้งว่าเกิดอะไรขึ้น ที่ไหน ยังไง และควรจะอพยพไปที่ไหน เขาดูจริงจังกับการเตือนภัยมาก ขนาดจังหวัดข้างๆ มีอุบัติเหตุดินถล่ม เรายังได้ข้อความแจ้งเตือนเลย”

ธนพร ระบุ

ในปัจจุบัน หลายประเทศทั่วโลกต่างให้ความสำคัญกับการติดตั้งระบบเตือนภัยที่มีประสิทธิภาพ ตัวอย่างเช่น ประเทศในทวีปยุโรปที่คณะมนตรีแห่งสหภาพยุโรปได้มีการทำข้อตกลงในประเทศสมาชิกว่า ทุกประเทศต้องจัดทำระบบเตือนภัยสาธารณะเพื่อปกป้องประชาชนของตนเอง นำมาซึ่ง EU-Alert ระบบเตือนภัยที่ช่วยแนะนำข้อควรปฎิบัติในภาวะฉุกเฉิน ทั้งการโจมตีของผู้ก่อการร้าย สภาพอากาศที่รุนแรง ไปจนถึงภัยพิบัติทางธรรมชาติที่ต้องอพยพประชาชนอย่างเร่งด่วน

ในสหรัฐอเมริกาที่เกิดภัยธรรมชาติอย่างพายุเป็นประจำทุกปีก็มีระบบเตือนภัยผ่านโทรศัพท์มือถือที่ทำหน้าที่แจ้งเตือนและให้ข้อมูลการอพยพแก่ประชาชน ทั้งในระดับท้องถิ่นและระดับชาติที่เป็นประกาศโดยตรงจากประธานาธิบดี โดยการแจ้งเตือนจะอยู่ในรูปแบบข้อความสั้นไม่เกิน 90 ตัวอักษร มีเนื้อหาสรุปสถานการณ์พอสังเขปว่าเกิดอะไรขึ้น ใครได้รับผลกระทบ และควรป้องกันตัวอย่างไร

ประเทศในทวีปเอเชียอย่างญี่ปุ่น ประสบการณ์การเผชิญหน้ากับภัยพิบัติรุนแรงในอดีตทำให้หน่วยงานต่างๆ พัฒนาระบบ J-Alert เพื่อให้สามารถเผยแพร่ข้อมูลจากรัฐบาลสู่สาธารณะผ่านดาวเทียมและอุปกรณ์ที่ติดตั้งทั่วประเทศได้อย่างรวดเร็ว ทั้งเหตุแผ่นดินไหว สึนามิ น้ำท่วม หรือแม้กระทั่งการถูกโจมตีจากต่างชาติ

หรือในประเทศออสเตรเลียก็มีระบบ Emergency Alert Australia สำหรับเตือนภัยฉุกเฉินยามประสบเหตุไฟป่า โดยจะแจ้งเตือนผ่านระบบโทรศัพท์แห่งชาติ เป็นข้อความเสียงไปยังโทรศัพท์บ้านและข้อความตัวอักษรไปยังโทรศัพท์มือถือในพื้นที่ที่ถูกประเมินแล้วว่ามีความเสี่ยงต่อชีวิตและทรัพย์สิน เพื่อให้ทำการอพยพได้อย่างทันท่วงที

ภาพเปรียบเทียบการเตือนภัยด้วยระบบ SMS หรือ ‘Cell Broadcast’ ในแต่ละประเทศ

ระบบเตือนภัยไทย ภาพในฝันที่รอเป็นจริง ?

ทวิดา กมลเวชช เผยถึงระบบเตือนภัยในฝันที่พอจะเป็นไปได้ในประเทศไทยไว้ว่า ควรเริ่มจากการจัดทำข้อมูลให้เป็นระบบมากขึ้น บูรณาการข้อมูลร่วมกันอย่างรอบด้าน หน่วยงานต่างๆ ควรบอกได้ตั้งแต่ก่อนเกิดภัยว่าพื้นที่ไหนมีความเสี่ยงอย่างไร เมื่อเกิดภัยจะได้นำสถานการณ์ปัจจุบันไปทาบกับแผนความเสี่ยงตามแต่ละพื้นที่ ตรวจสอบว่าเป็นเหตุเร่งด่วนหรือยังพอรอได้ เพื่อให้สามารถอพยพและช่วยเหลือได้อย่างเหมาะสม

“ศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติควรร่วมกับกรมต่างๆ ในการวางแผนที่ความเสี่ยงในทุกพื้นที่ของประเทศ นี่เป็นสิ่งที่ประเทศไทยควรมี แต่ยังไม่มี ถ้าจัดทำแผนนี้ได้ แล้วกระจายให้ประชาชนรับรู้ ไม่ต้องครบทั้ง 100 เปอร์เซ็นต์ เอาแค่ 20 เปอร์เซ็นต์ของประชากรรู้ว่าพื้นที่ที่ตัวเองอยู่เสี่ยงอย่างไร ถ้าเกิดภัยพิบัติต้องทำอย่างไร แค่นี้ก็ลดความเสียหายได้มหาศาลแล้ว”

คณบดีคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ยังชี้ว่า ระบบเตือนภัยที่ดีต้องมีหลายระบบ โดยแบ่งเป็นระบบหลัก ระบบรอง และระบบสำรอง เพื่อให้ใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ เหมาะกับความเร่งด่วนของสถานการณ์ และเข้าถึงคนได้ทุกกลุ่มอย่างแท้จริง

ระบบเตือนภัยอาจไม่ใช่สิ่งที่ภาครัฐ เอกชน และประชาชนไทยให้ความสำคัญเมื่อยังไม่เกิดเหตุฉุกเฉิน อย่างไรก็ดี ระบบเตือนภัยที่มีประสิทธิภาพคือสิ่งที่ทุกฝ่ายต้องการทุกครั้งเมื่อมีอุบัติภัยเกิดขึ้นเพื่อลดอัตราการสูญเสียทั้งต่อชีวิตและทรัพย์สิน

และในเมื่อชีวิตของคนไทยไม่อาจหลีกเลี่ยงภัยพิบัติได้ ทุกภาคส่วน โดยเฉพาะอย่างยิ่งรัฐบาลไทยจึงควรให้ความสำคัญในการลงทุน พัฒนา ตลอดจนตรวจเช็กสภาพของระบบเตือนภัยให้ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพก่อนที่สถานการณ์เลวร้ายครั้งต่อไปจะเกิดขึ้น

%d bloggers like this: