Social Issue

ฝึกงานต้องเป็นธรรม เพราะแค่คำว่า ‘ประสบการณ์’ ไม่ใช่ค่าตอบแทนที่เพียงพอสำหรับแรงงาน

ฝึกงานแล้วได้อะไร? เมื่อคนรุ่นใหม่ตั้งคำถามถึงสิทธิที่ผู้ฝึกงานพึงมี การต่อสู้เพื่อเรียกร้องเพื่อการฝึกงานที่เป็นธรรมจึงเกิดขึ้น

รื่อง : พิชญา เตโชฬาร

ภาพ : เมธาวจี สาระคุณ

ในปี 2564 นี้ ได้เกิดปรากฏการณ์ที่สั่นสะเทือนวงการการฝึกงานมากมาย ทั้งการเกิดขึ้นของ #ฝึกงานต้องเป็นธรรม บนทวิตเตอร์เมื่อกลางปี การก่อตั้ง สมัชชาอินเทิร์น หรือแม้แต่ข้อเสนอการยกระดับการฝึกงานในประเทศไทยโดยพรรคก้าวไกล สิ่งเหล่านี้อาจเป็นเครื่องสะท้อนว่าคนรุ่นใหม่เริ่มตั้งคำถามกับระบบการฝึกงานที่สังคมไทยมองว่าเป็น “เรื่องปกติ” มากขึ้น

และด้วยการเคลื่อนไหวที่เริ่มเดินหน้าไปถึงขั้นยื่นข้อเสนอยกระดับการฝึกงานต่ออนุกรรมาธิการแรงงาน ก็อาจกล่าวได้ว่าการเคลื่อนไหวครั้งนี้นั้นสั่นสะเทือนวงการการฝึกงานไม่น้อยทีเดียว

ค่านิยมในระบบการฝึกงานของสังคมไทยเป็นเช่นไร? ความไม่เป็นธรรมใดสอดแทรกอยู่ภายใต้ค่านิยมเหล่านั้น? เหตุใดนักศึกษาฝึกงานจำนวนหนึ่งจึงตัดสินใจออกมาเรียกร้องสิทธิของตน? แล้วเป้าหมายสูงสุดที่พวกเขาต้องการคืออะไร? นิสิตนักศึกษา ขอเชิญชวนทุกท่านมารับฟังเสียงจากเหล่าเด็กฝึกงานตัวเล็ก ๆ และร่วมตั้งคำถามถึงระบบฝึกงานที่ควรเป็นผ่านรายงานพิเศษชิ้นนี้ไปพร้อมกัน

ฝึกงานแทบตาย เพียงเพื่อให้ได้ ‘ประสบการณ์’ 

  • “ลูกจ้าง” หมายความว่า ผู้ซึ่งตกลงทำงานให้นายจ้างโดยรับค่าจ้างไม่ว่าจะเรียกชื่ออย่างไร

นี่คือนิยามของคำว่าลูกจ้างซึ่งบัญญัติไว้ใน มาตรา 5 ของพ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 (ฉบับปรับปรุง พ.ศ. 2542) หากผู้ใดมีคุณสมบัติความเป็นลูกจ้างตามนิยามนี้ ย่อมได้รับการคุ้มครองตามกฎหมาย รวมถึงได้รับสวัสดิการต่าง ๆ ตามที่ลูกจ้างพึงมี ไม่ว่าจะเป็นสวัสดิการ ประกันสังคม สิทธิ์ลาหยุด หรือสิทธิในการเรียกร้องความเป็นธรรมเมื่อได้รับความไม่เป็นธรรมจากนายจ้าง

อย่างไรก็ตาม พ.ร.บ. ฉบับนี้กลับไม่ครอบคลุมถึงกลุ่มนักศึกษาฝึกงาน ทั้งนี้เพราะพวกเขาขาดคุณสมบัติความเป็นลูกจ้างที่จำเป็นต้อง ‘ได้รับค่าจ้าง’ และในขณะเดียวกัน ในประเทศไทยก็ยังไม่มีกฎหมายใดที่คุ้มครองกลุ่มผู้ฝึกงานโดยเฉพาะ เว้นแต่ในกรณีที่ว่านักศึกษาฝึกงานบางรายจะได้รับค่าจ้างจากนายจ้าง อันจะเข้าข่ายการเป็นลูกจ้างดังที่กฎหมายบัญญัติ ด้วยเหตุนี้ เด็กฝึกงานส่วนใหญ่จึงตกอยู่ในภาวะที่ปราศจากการคุ้มครองทางกฎหมาย เป็นแรงงานได้เปล่า และยังต้องแบกรับค่าใช้จ่ายในการทำงานด้วยตนเอง 

เนม อดีตนักศึกษาฝึกงานสายกราฟิกเล่าว่าบริษัทสื่อที่ตนฝึกงานด้วยมีข้อดีตรงที่เปิดโอกาสให้ได้ลองทำงานจริง ตนจึงได้พัฒนาทักษะการออกแบบกราฟิกเต็มที่ ทว่าในแง่ของค่าตอบแทน เธอกลับรู้สึกว่าไม่ได้รับความเป็นธรรมนัก ตลอดระยะเวลาสองเดือน เนมทำงานกราฟิกให้บริษัทมากกว่ายี่สิบชิ้น หลายชิ้นมีผลตอบรับไปในทางบวก แต่เนมกลับไม่ได้รับค่าแรงเลยแม้แต่บาทเดียว ส่วนค่าเดินทาง ค่าอาหาร ค่าใช้จ่ายอื่นๆ ที่มาพร้อมกับการฝึกงาน เนมก็ต้องออกเองทั้งหมด 

“เรารู้สึกว่าตัวเองไม่ได้รับความเป็นธรรม อย่างเรื่องกราฟิก เราทำให้เขาเหมือนพนักงานประจำเลย คือถ้าเราไม่ทำ ก็จะมีคนทำตรงนี้อยู่แล้ว ซึ่งพนักงานประจำเขาชอบเอางานตัวเองที่ทำแล้วได้เงินมาให้เราทำ เหมือนว่าเราทำแทน แต่คนได้เงินไม่ใช่เรา” เนมกล่าว

เช่นเดียวกับ อันนา อดีตนักศึกษาฝึกงานสายโปรดักชั่นขององค์กรสื่อแห่งหนึ่ง ผู้ทำงานสารพัดตั้งแต่ดูแลเบื้องหลัง ช่วยจัดรายการ เขียนข่าว เขียนบทความ ทำสกู๊ปวีดีโอข่าว และอื่น ๆ อีกมาก เธอเคยถึงขั้นลงทุนนั่งรถจากอยุธยามากรุงเทพฯ เพื่อทำสกู๊ปวีดีโอข่าวตามได้รับมอบหมาย ทั้ง ๆ ที่ ณ เวลานั้น บริษัทกำลังอยู่ในช่วงฝึกงานออนไลน์ อันเป็นผลมาจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ระลอกใหม่ เธอยอมเสียค่าเดินทาง เวลา แรงกาย และยอมเสี่ยงกับโรคร้ายเพียงเพื่อให้งานสำเร็จตามมอบหมาย ทว่าเมื่อผลงานเผยแพร่และประสบความสำเร็จ สิ่งตอบแทนที่เธอได้กลับมีแค่ความภาคภูมิใจในตนเอง

“เราว่างานมันหนักเกินไปสำหรับเด็กฝึกงาน หลายงานที่เราทำให้เขามันควรได้เงินด้วยซ้ำ อย่างพวกสกู๊ปที่เราทำ เราทำทุกขั้นตอนเลยนะ ตั้งแต่ประสานงาน ลงพื้นที่ สัมภาษณ์ ตัดต่อวีดีโอ ใส่เทมเพลตเอง พร้อมลงทุกอย่าง แล้วพอเผยแพร่ไป คลิปนั้นการตอบรับมันดีมาก ยอดรับชมแตะหลักล้าน แต่เราไม่ได้อะไรเลย” อันนากล่าวเศร้าๆ

เช็คค่าตอบแทนการฝึกงานที่อดีตนักศึกษาฝึกงานคนหนึ่งที่ได้รับ

แม้ค่าจ้างจะเป็นค่าตอบแทนที่นักศึกษาฝึกงานไม่น้อยปรารถนา ทว่านักศึกษาฝึกงานบางกลุ่มกลับไม่คาดหวังจะได้รับสิ่งนี้เท่าไรนัก ด้วยคุ้นชินกับค่านิยมว่าการฝึกงานเป็นการขอความอนุเคราะห์จากบริษัท โดยทั้งอันนาและเนมต่างเล่าว่าตนเคยไม่รู้สึกคาดหวังรายได้ในการฝึกงานมาก่อน แต่เมื่อได้มาทำงานจริง จึงตระหนักว่าค่าจ้างนั้นจำเป็นเพียงใด

“เรื่องค่าตอบแทน อาจารย์ในเอกเขาก็พูดอยู่แล้วว่าเราไปขอเขาไม่ได้ เว้นแต่เขาจะให้เอง ซึ่งเรารู้สึกว่างานที่เราทำให้เขามันทำเงิน แต่เขากลับไม่ให้เงินเรา ก็ทำอะไรไม่ได้ค่ะ ประเทศไทยอ่ะเนอะ” เนมกล่าวพลางหัวเราะขื่น ๆ 

งานหนักแค่ไหนต้องไหว ชีวิตฝากไว้ที่ใบจบฝึกงาน

นอกเหนือจากปัญหาเรื่องไม่ได้รับค่าตอบแทนแล้ว อีกหนึ่งสิ่งที่เด็กฝึกงานต้องประสบคือการตกอยู่ในสถานะจำยอมต่อบริษัท ทั้งนี้เพราะเจ้านายเป็นผู้กำหนดว่าตนจะผ่านการประเมินจากบริษัทหรือไม่ เด็กฝึกงานจึงต้องทำทุกวิถีทางเพื่อให้ได้รับการยอมรับ ตั้งแต่ยอมทำงานล่วงเวลา หรือทำงานที่ไม่อยู่ในความรับผิดชอบของตน ยอมโดนปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรม หรือแม้แต่ถูกลิดรอนเครดิตในฐานะผู้สร้างสรรค์ในผลงานตนเอง

โย นักศึกษาผู้เคยฝึกงานกับบริษัททัวร์แห่งหนึ่ง เล่าว่าตนเลือกฝึกงานด้านนี้เพราะต้องการเรียนรู้วิธีการทำโปรแกรมทัวร์ ในช่วงก่อนฝึกงาน บริษัทแจ้งโยว่าเวลางานจะเริ่มตั้งแต่ 9.00 น. และสิ้นสุดตอน 16.00 น. พร้อมกำหนดภาระงานคร่าว ๆ ว่าเธอต้องผลิตเนื้อหาเกี่ยวกับสถานที่ท่องเที่ยวต่าง ๆ เพื่อลงในเพจเฟซบุ๊กวันละ 1 โพสต์ โดยระหว่างนั้น อาจมีการมอบหมายงานอื่น ๆ บ้างประปราย 

แต่เมื่อเริ่มฝึกงานจริง ทุกอย่างกลับไม่เป็นตามที่ตกลงกันไว้ โยต้องออกแบบกราฟิกโพสต์โปรโมต ทำโปรแกรมทัวร์เองทั้งหมด ตั้งแต่หาข้อมูล วางแผนวัน-เวลาและสถานที่ ไปจนถึงทำแผ่นพับประกอบ มากไปกว่านั้น โยยังต้องผลิตเนื้อหาข่าวประจำวันเพิ่ม และต้องพร้อมรับงานอื่น ๆ ที่อาจมอบหมายเพิ่มได้ตลอด 24 ชั่วโมงอีกด้วย

“บางครั้งเขาสั่งงานเราตอนตีหนึ่ง เราเลยต้องตื่นมาทำตั้งแต่เช้าก่อนเวลางาน เพราะงานมันเยอะมาก เยอะเกินกว่าจะทำเสร็จได้ภายในวันเดียว ส่วนเพื่อนที่ฝึกด้วยกันบางคนโดนสั่งแก้งานตอนสองทุ่ม แล้วจะเอาตอนนั้นเลยก็มี”

อดีตนักศึกษาฝึกงาน กล่าว

ภาระงานมหาศาลนี้ทำให้เวลาแทบทั้งหมดของโยถูกใช้ไปกับการทำงาน จน iPad ที่ใช้ทำงานแทบจะกลายเป็นอวัยวะชิ้นที่ 33 โยเล่าว่าตลอดระยะเวลาการฝึกงานสองเดือน เสาร์-อาทิตย์ที่เคยได้พักก็กลับกลายเป็นวันทำงาน ไม่มีวันไหนเลยที่ได้พักผ่อนอย่างเต็มที่ โดยเวลาในการนอนที่มากที่สุดอยู่ที่ห้าชั่วโมงเท่านั้น 

ลูกหมี อดีตนักศึกษาฝึกงานสายกราฟิก อีกหนึ่งเด็กฝึกงานที่ถูกภาระการทำงานเบียดเบียนเวลาส่วนตัว เธอเล่าว่าทางบริษัทไม่ยอมให้ตนเริ่มฝึกงานตามเวลาที่มหาวิทยาลัยกำหนด แต่ต้องการให้มาฝึกก่อนกำหนดนานถึงสองเดือน เมื่อเข้ามาฝึกงานแล้ว เธอก็ต้องทำงานล่วงเวลาหลายครั้ง ทว่าเวลาดังกล่าวกลับไม่ถูกนับรวมเป็นชั่วโมงฝึกงาน นอกจากนั้น เธอยังถูกวานแกมบังคับจากบริษัทให้เข้าร่วมเวิร์กชอปที่มักจัดในวันเสาร์อาทิตย์บ่อย ๆ ซึ่งเจ้าตัวมองว่าเป็นการเสียเวลา เพราะเนื้อหาในเวิร์กชอปค่อนข้างซ้ำซ้อนกับวิชาเรียนของเธอ อีกทั้งเธอจำเป็นต้องใช้เวลาเสาร์อาทิตย์เพื่อทำวิจัยด้วย

“เขาพยายามใช้งานเราให้คุ้มค่า ให้เราทำงานเกินหน้าที่ คือบางครั้งเราก็พอช่วยได้ แต่เขาชอบสั่งงานซ้อน ๆ กัน แล้วทุกงานสำคัญหมด ประดุจพวกเราแยกร่างออกไปทำได้” ลูกหมีกล่าว

อันนาเองก็ประสบปัญหาไม่ต่างกัน ทั้งที่ยื่นฝึกงานในตำแหน่งโปรดักชั่น แต่เมื่อฝึกงานจริง กลับกลายเป็นว่าเธอต้องรับผิดชอบงานทุกอย่างที่บริษัทมอบหมาย ไม่ว่างานนั้นจะเกี่ยวกับด้านโปรดักชั่นหรือไม่ ส่งผลให้เธอพักผ่อนไม่เพียงพอจนสุขภาพย่ำแย่ วิตกกังวลเพราะต้องคอยตื่นตัวพร้อมทำงานตลอดเวลา ราวกับว่าเวลางานไม่ได้เริ่มต้นตอนบ่ายสองโมง และสิ้นสุดตอนสามทุ่มตามที่ตกลงกันไว้ 

“ยิ่งเป็นฝึกงานออนไลน์ เราก็ยิ่งต้องเช็กไลน์ตลอดเวลาเหมือนทำงานทั้งวัน สกู๊ปอะไรก็ต้องทำเร็วที่สุด ไม่อย่างนั้นข่าวจะเก่า” อันนาเสริม

ปัญหาเรื่องการไม่ให้เครดิตในชิ้นงานก็เป็นอีกความไม่เป็นธรรมที่เด็กฝึกงานไม่น้อยต้องประสบ ส่งผลให้พวกเขาจำต้องรับตำแหน่งผู้ปิดทองหลังพระ ได้แต่ชื่นชมผลตอบรับเงียบ ๆ เก็บงำความภูมิใจไว้คนเดียว เพราะบริษัทไม่ยอมให้เครดิตว่างานนั้น ๆ เป็นผลงานของนักศึกษาฝึกงาน อันนาเล่าว่าตั้งแต่ฝึกงานมา เธอได้รับเครดิตว่าเป็นเจ้าของผลงานเพียงครั้งเดียว ส่วนงานที่เหลือกว่าสิบชิ้น ไม่ว่าจะเป็นบทความ สกู๊ปข่าว หรือสรุปข่าว กลับมีแค่เธอคนเดียวที่รู้ว่าเจ้าของผลงานนั้นคือใคร ไม่ต่างกับโยและเนมที่ไม่เคยได้รับเครดิตในผลงานตัวเองเลยแม้แต่งานเดียว

กรณีของลูกหมีกลับแย่ยิ่งกว่านั้น นอกจากเธอจะไม่ได้รับเครดิตในงานทุกชิ้นที่ทำไปแล้ว ทางบริษัทยังไม่อนุญาตให้เธอนำผลงานกราฟิกที่ผลิตขึ้นระหว่างการฝึกงานไปใส่ในรายงานฝึกงานอีกด้วย ทั้งที่เธอมีฐานะเป็น “ผู้สร้างสรรค์” แห่งผลงานนั้น ดังที่กฎหมายบัญญัติไว้ใน พ.ร.บ. ลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 ซึ่งต่อให้บริษัทจะได้ทำข้อตกลงโอนลิขสิทธิ์ไปเป็นของตนเอง ลูกหมีก็ย่อมมีสิทธิ์ของผู้สร้างสรรค์ซึ่งจะไม่สามารถโอนให้แก่ใครหรือ “ธรรมสิทธิ์” อยู่ดี ซึ่งธรรมสิทธิ์นั้นทำให้เธอสามารถเผยแพร่ผลงานและอ้างความเป็นผู้สร้างสรรค์ในงานนั้น ๆ ซึ่งออกเผยแพร่ต่อสาธารณชนได้โดยชอบธรรม ทว่าบริษัทกลับไม่เคารพสิทธิ์ในข้อนี้ของเธอ ยังโชคดีที่อาจารย์รับฟังและเข้าใจ เธอจึงผ่านวิชาฝึกงานมาได้ด้วยดีในที่สุด

ลูกจ้างก็ไม่ใช่ จะปฏิบัติด้วยอย่างไรก็ได้ จริงหรือ?

“เราไม่อยากให้เขามองเด็กฝึกงานเป็นเหมือนคนใช้หรือเป็นเบ๊คนหนึ่ง เราก็เป็นคนเหมือนกัน มีสิทธิ์ออกความคิดเห็น ไม่ใช่แค่ก้มหน้ารับงานมาทำ” 

เนมกล่าวหลังเล่าถึงความทรงจำแย่ ๆ จากการฝึกงานที่ผ่านมาทั้งหมด เธอบอกว่าประสบการณ์ที่แย่ที่สุด เห็นจะเป็นครั้งที่เจ้านายไล่เธอและเพื่อนสนิทกลับบ้านทั้งที่ทั้งคู่เพิ่งมาถึงที่ทำงานได้ไม่ถึงชั่วโมง เพียงเพราะว่าเผลอคุยกันเสียงดังและใช้ถ้อยคำที่ไม่สุภาพ แม้พวกเธอจะพยายามเข้าไปกล่าวขอโทษ อีกฝ่ายก็ไม่ยอมให้พบ ทั้งสองจึงต้องเสียค่ารถไป-กลับในวันนั้นฟรี ๆ โดยที่ไม่ได้ทำงานเลย

อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่แค่ครั้งนี้เท่านั้นที่เธอรู้สึกว่าถูกบริษัทปฏิบัติด้วยอย่างไม่เป็นธรรม แต่ตลอดระยะเวลากว่าสองเดือนที่ฝึกงานมา เนมคิดมาตลอดว่าสถานะของตัวเองไม่ต่างอะไรกับ ‘เบ๊’ คนหนึ่ง เพราะแม้เธอจะทำงานให้บริษัทอย่างขยันขันแข็งมาตลอด แต่กลับแทบไม่มีสักครั้งที่จะได้รับคำชมหรือคำพูดดี ๆ จากเจ้านาย แต่หากเธอเผลอทำงานผิดพลาด เขาก็จะใช้คำพูดที่ไม่ถนอมน้ำใจว่ากล่าวกลับมาเสมอ ซึ่งการถูกปฏิบัติเช่นนี้ส่งผลกระทบต่อสภาพจิตใจเนมอย่างรุนแรงเสียจนเธอเอ่ยปากว่านี่คือ ‘ช่วงเวลาที่แย่ที่สุดในชีวิต’ เลยทีเดียว

อดีตนักศึกษาฝึกงานสายวิทยาศาสตร์อย่าง โอม แสดงความเห็นว่าบริษัทควรมีความเข้าอกเข้าใจและเห็นใจเด็กฝึกงานมากกว่านี้ ไม่ใช่มองเป็นแรงงานได้เปล่า และการมาฝึกงานไม่ได้หมายความว่าเด็กฝึกงานเป็นหนี้บุญคุณบริษัทแต่อย่างใด ส่วนตัวโอมเองก็เคยถูกปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรมไม่ต่างกัน

โอมเล่าว่าตนเคยพลาดทำเครื่องแก้วของบริษัทเสียหาย เมื่อไปขอความช่วยเหลือจากพี่เลี้ยงว่าต้องแก้ไขอย่างไร กลับได้คำตอบแค่ว่าตนต้องไปซื้อเครื่องใหม่ในราคาสองพันกว่าบาทชดใช้ โดยไม่ได้ให้รายละเอียดเพิ่มเติมอย่างสถานที่ซื้อ หรือการเบิกงบจากบริษัทใด ๆ สุดท้ายโอมจึงต้องหาข้อมูลทุกอย่างและนำเครื่องแก้วไปซ่อมที่ศูนย์หล่อแก้วแถวจุฬาฯ ด้วยตนเอง 

อันนาเองก็เป็นอีกคนที่ถูกที่ฝึกงานทำให้รู้สึกเหมือนว่าเป็น ‘เบ๊’ ความไม่ใส่ใจของพี่เลี้ยงทำให้เธอรู้สึกว่าตัวเองไม่สำคัญต่อบริษัท ในขณะเดียวกัน เธอก็ต้องพยายามเรียนรู้งานต่าง ๆ ด้วยตนเองเพราะไม่มีใครคอยช่วย หลายครั้งพอชิ้นงานที่ทำไปเผยแพร่ อันนาก็ไม่ได้รับแม้แต่คำชมเชยหรือข้อเสนอแนะใด ๆ  ความเป็นจริงที่ได้เจอจากการฝึกงานจึงผิดไปจากความคาดหวังแต่แรกของเธอไม่น้อย

“เวลาสั่งงานเขาจะปฏิบัติต่อเราเหมือนพนักงานกินเงินเดือน แต่พอตอนคุยกันทั่วไป กลับทำเหมือนว่าเราไม่ใช่คนในองค์กร ไม่มีตัวตน”

อันนาสรุป

ส่วนโยเผยว่า นอกจากบริษัทจะชอบสั่งงานล่วงเวลาดังที่ได้เล่าไปในตอนต้นแล้ว พวกเขายังไม่ยอมให้เธอสิ้นสุดการฝึกงานตามกำหนดอีกด้วย โยเล่าว่าในวันสุดท้ายของการฝึก หัวหน้างานได้มอบหมายงานชิ้นใหญ่ให้เธอ พร้อมกำชับว่าต่อให้จบการฝึกงานแล้ว เธอก็ยังต้องทำงานให้บริษัทจนกว่างานที่ได้รับมอบหมายจะเสร็จสิ้น อย่างไรก็ตาม โยตัดสินใจทำงานให้เสร็จเฉพาะส่วนที่สามารถจบลงได้ในวันสุดท้ายของการฝึกงาน เพราะเธอมองว่าการสั่งงานเกินจำนวนวันที่ตกลงกันไว้ไม่ยุติธรรม เมื่อบริษัทสั่งงานเธอเพิ่มหลังจบฝึกงานไปแล้วหนึ่งเดือน โยจึงตอบปฏิเสธไป พร้อมบอกว่าหากอีกฝ่ายไม่ยอมรับ ให้โทรศัพท์ไปคุยกับอาจารย์ที่คณะได้

“นักศึกษาก็เป็นคนเหมือนกันนะคะ เราควรจะได้สิทธิในการพักผ่อนหรือใช้ชีวิตตัวเองด้วย ไม่ใช่จะทำงาน 24 ชั่วโมง ไม่ต้องหลับ ไม่ต้องพักผ่อน ไม่ต้องกินข้าว มันเป็นไปไม่ได้ค่ะ” โยกล่าว

ปัญหาใต้พรมการฝึกงานแบบไทย ๆ หากกำจัดไป จะดีอย่างไรบ้าง?

เกศนคร พจนวรพงษ์ หรือ ไนล์ ทีมงานพรรคก้าวไกลผู้จัดทำข้อเสนอยกระดับการฝึกงานในประเทศไทย แสดงความเห็นว่าต้นตอสำคัญของปัญหาความไม่เป็นธรรมในการฝึกงานคือสถานะแรงงานได้เปล่าของเหล่าเด็กฝึกงาน เพราะเมื่อพิจารณาจากโครงสร้างอำนาจของบริษัท ผู้กุมอำนาจสูงสุดคือผู้จ่ายเงิน ซึ่งก็คือนายจ้าง รองลงมาคือลูกจ้างผู้ทำงานแลกเงินเดือน ส่วนเด็กฝึกงานคือชนชั้นต่ำที่สุด เพราะคนกลุ่มนี้ไม่ได้รับค่าตอบแทนใด ๆ อีกทั้งยังไม่มีสัญญาการทำงาน ไม่ได้รับการคุ้มครองในฐานะลูกจ้างตามกฎหมาย บริษัทจึงอาจรู้สึกว่าตนจะปฏิบัติกับเด็กฝึกงานอย่างไรก็ได้

เกศนคร พจนวรพงษ์ (ไนล์) ผู้จัดทำข้อเสนอยกระดับการฝึกงานในประเทศไทย

“การที่บริษัทส่วนใหญ่ไม่มีสัญญาให้เซ็นก่อนฝึกงานมันก่อให้เกิดปัญหาทุกอย่าง พนักงานทั่วไปเขาจะมี Job Description (คำบรรยายลักษณะงาน) แต่เด็กฝึกงานไม่มี มันเลยเป็นแหล่งรวมของการโยนงานแบบที่เขาไม่สามารถปฏิเสธได้ แล้วในสัญญามันไม่ได้มีแค่มิติด้านขอบเขตงานหรือเงินเดือน แต่รวมไปถึงวันลาหยุด สวัสดิการ ประกันสังคมด้วย ซึ่งทุกวันนี้เด็กฝึกงานไม่ได้รับการคุ้มครองจากประกันใด ๆ เลย” ไนล์เสริม

ด้าน สมัชชาอินเทิร์น กลุ่มผู้เรียกร้องการฝึกงานเป็นธรรมในประเทศไทย มองว่าค่านิยมเรื่องระบบอาวุโสคือปัญหาสำคัญที่ทำให้ผู้ประกอบการอาจมองว่านักศึกษาฝึกงานไม่สามารถสร้างประโยชน์ให้บริษัทได้มากนัก ด้วยมองว่าคนกลุ่มนี้ยังอายุน้อยและขาดประสบการณ์ และเห็นว่าการรับเข้ามาฝึกงานก็ถือว่าเป็นการให้โอกาสมากแล้ว เมื่อเป็นเช่นนี้ เด็กฝึกงานจึงถูกลดทอนคุณค่า พร้อมอาจถูกมองว่าไม่คู่ควรแก่การได้รับค่าจ้าง สวัสดิการ หรือประกันสังคมไปโดยปริยาย 

อาภาวีร์ ภู่ระหงษ์ เศตะพราหมณ์ ตัวแทนจากบริษัทโปรดักชั่นอย่าง Music Garden และ Bento TV แบ่งปันมุมมองในฐานะผู้ประกอบการว่าตนไม่เห็นด้วยกับระบบการฝึกงานของไทยที่มักไม่เคารพนักศึกษาฝึกงานในฐานะพนักงานคนหนึ่ง ไม่ว่าจะโดยการไม่ให้ค่าตอบแทน สั่งงานนอกเวลางาน หรือเอาเปรียบจากการไร้ข้อตกลงก่อนร่วมงาน อาภาวีร์มองว่าการกระทำเช่นนั้นเป็นวัฒนธรรมองค์กรที่คร่ำครึซึ่งควรได้รับการแก้ไข ส่วนในบริษัทของเธอนั้น จะไม่มีการปฏิบัติต่อเด็กฝึกงานเช่นนี้เด็ดขาด 

อาภาวีร์เปิดเผยว่าตนได้ใช้นโยบายจ่ายค่าตอบแทนให้แก่เด็กฝึกงานมาตลอด มากไปกว่านั้น ทางบริษัทก็ได้มีการตกลงอัตราค่าจ้าง ขอบเขตความรับผิดชอบงาน และกำหนดเวลาทำงานให้เรียบร้อยก่อนทุกครั้ง อีกทั้งยังมีสัญญาให้เซ็นก่อน และมีสวัสดิการค่าเดินทางและอาหารให้เช่นกัน

อาภาวีร์มองว่า นักศึกษาฝึกงานก็คือพนักงานคนหนึ่งที่มีศักยภาพในการสร้างผลประโยชน์ให้บริษัท ใช่ว่าเป็นแรงงานไร้ทักษะ บริษัทจึงควรต้องให้เกียรติและให้ค่าตอบแทนแก่พวกเขาเพื่อความยุติธรรมทั้งสองฝ่าย กล่าวคือ นายจ้างก็รู้สึกสบายใจในการสั่งงาน สอนงาน และขอแก้งาน ส่วนเด็กฝึกงานก็ยินดีที่จะทำงานอย่างสุดความสามารถ เพราะตนได้รับค่าตอบแทนและสวัสดิการต่างๆ สมค่าแรง

อย่างไรก็ตาม การให้เด็กฝึกงานปฏิบัติงานเหมือนเป็นพนักงานคนหนึ่งอาจไม่สามารถปรับใช้ได้กับทุกสายงาน สุทัศน์ เมฆทวีกูล เจ้าของบริษัทรับเหมาก่อสร้างแห่งหนึ่งแสดงความเห็นว่าสำหรับงานด้านวิศวกรรมโยธาแล้ว แทบเป็นไปไม่ได้เลยที่จะให้นักศึกษาฝึกงานได้ลองลงมือปฏิบัติงานอย่างวิศวกรเต็มตัว เพราะสายงานนี้จำเป็นต้องใช้ความรู้และความรับผิดชอบขั้นสูง ด้วยเป็นวิชาชีพที่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน

มากไปกว่านั้น การก่อสร้างแต่ละโปรเจกต์ยังใช้ระยะเวลาดำเนินการนาน (ประมาณ 6 – 12 เดือน ขึ้นอยู่กับลักษณะงาน) เมื่อเทียบกับระยะเวลาการฝึกงานของนักศึกษาส่วนใหญ่ที่อยู่แค่ประมาณ 2 – 6 เดือน ทำให้ผู้ฝึกงานไม่สามารถทำงานตั้งแต่ต้นจนจบโปรเจกต์ได้ แต่จะได้เรียนรู้เฉพาะขั้นตอนที่อยู่ในระยะเวลาการฝึกของตนเท่านั้น

จากเหตุผลข้างต้น ประกอบกับกระบวนการรับผู้ฝึกงานที่ส่วนใหญ่เป็นการขอความร่วมมือจากสถานศึกษาให้ช่วยรับผู้เรียนเข้าฝึกงาน โดยที่บริษัทไม่ได้สัมภาษณ์บุคคลนั้น ๆ ก่อน สุทัศน์จึงไม่คาดหวังว่าเด็กฝึกงานจะช่วยงานบริษัทได้มากนัก แต่มองว่าการฝึกงานเป็นการเปิดโอกาสให้นักศึกษาเก็บเกี่ยวประสบการณ์นอกห้องเรียนเสียมากกว่า โดยส่วนมากงานที่มอบหมายแก่ผู้ฝึกงานก็จะเป็นงานที่ไม่ซับซ้อนและทำได้ในระยะสั้น ๆ เช่น งานประสานงาน กรอกรายงานประจำวัน และเป็นผู้ติดตามพนักงานประจำ 

เมื่อการฝึกงานสายวิศวกรรมโยธาเปรียบเหมือนการเรียนรู้นอกสถานที่มากกว่าการทำงานจริง สุทัศน์จึงเลือกไม่จ่ายค่าแรงให้แก่เด็กฝึกงาน แต่จะช่วยสนับสนุนในส่วนของค่ารถและค่าอาหารประจำวันเป็นเบี้ยเลี้ยงแทน และจากประสบการณ์ที่ผ่านมา สุทัศน์สังเกตว่าเด็กฝึกงานส่วนใหญ่ของบริษัทเองก็ไม่ได้มองว่าการฝึกงานคือการมาเป็นพนักงานคนหนึ่ง แต่เหมือนเห็นว่าเป็นส่วนหนึ่งของการเรียนเสียมากกว่า เมื่อเป็นเช่นนี้ จึงอาจไม่ใช่เรื่องแปลกที่แทบเคยมีผู้ฝึกงานคนใดเรียกร้องค่าตอบแทนจากบริษัทเลย

“เท่าที่สัมผัสมา เด็กเขาจะแทบไม่เรียกร้องค่าตอบแทนอะไรเลย แต่เขาจะคาดหวังการประเมินผลฝึกงานที่ดีจากบริษัทเท่านั้นเอง” สุทัศน์เสริม

ด้านอาภาวีร์ ผู้ประกอบการบริษัทด้านโปรดักชั่นกล่าวว่า “เท่าที่เคยรับมา เด็กฝึกงานเราดีหมดเลย ก็อาจจะเกี่ยวนะ (ค่าตอบแทนและการปฏิบัติอย่างเป็นธรรม) เพราะว่าเราแฟร์กับเขา เขาก็แฟร์กับเรามาก ตั้งใจทำงานให้เราดีมาก”

ในฐานะนายจ้าง อาภาวีร์เห็นว่าการฝึกงานโดยให้ค่าตอบแทนและเป็นธรรมนั้นส่งผลดีทั้งต่อตัวเด็กและบริษัท ไม่เพียงในแง่ของความสบายใจทั้งสองฝ่ายเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงประสิทธิภาพในการทำงานและการพัฒนาตนเองด้วย เพราะการที่เด็กฝึกงานตั้งใจทำงานเนื่องจากมีแรงจูงใจ จะช่วยให้ตัวปัจเจกได้พัฒนาศักยภาพใหม่ๆ ในตนเอง ด้วยการนำความรู้ประสบการณ์ที่เคยสั่งสมในห้องเรียนมาต่อยอดผ่านการลงมือปฏิบัติจริง เมื่อจบการฝึกงานแล้ว พวกเขาจะได้มีผลงานไว้สำหรับต่อยอดในอนาคต

อย่างไรก็ดี อาภาวีร์เห็นว่า นายจ้างก็ต้องไว้ใจและให้โอกาสเด็กฝึกงานได้ทำงานจริงด้วย ไม่ใช่ให้ทำแต่งานง่าย ๆ อย่างชงกาแฟหรือถ่ายเอกสาร ส่วนบริษัทเองก็จะได้ผลตอบแทนเป็นชิ้นงานคุณภาพจากเด็กฝึกงาน และที่มากไปกว่านั้น ก็คือไอเดียอันสดใหม่ที่หาไม่ได้จากคนรุ่นอื่น ซึ่งอาภาวีร์มองว่าสิ่งนี้มีคุณค่ามากต่อบริษัทที่ต้องการปรับตัวให้เข้ากับยุคสมัยในปัจจุบัน

ด้านสุทัศน์กล่าวว่า แม้โดยทั่วไปตนจะไม่จ่ายค่าตอบแทนให้ในการฝึกงาน แต่หากผู้ฝึกงานคนใดตั้งใจทำงาน มีความสามารถและความรับผิดชอบมากพอที่บริษัทจะมอบหมายงานสำคัญให้ ตนก็มีค่าตอบแทนเป็นพิเศษให้ภายหลังจบการฝึกงาน อย่างไรก็ตาม หากมีการปรับเพิ่มระยะเวลาการฝึกงานให้เพียงพอสำหรับเรียนรู้งานด้านวิศวกรรมโยธาเต็มรูปแบบ และผู้ฝึกงานสามารถช่วยสร้างประโยชน์ต่อบริษัท ตนในฐานะผู้ประกอบการก็อาจพิจารณาการจ่ายค่าจ้างให้ในฐานะพนักงานคนหนึ่งได้

ส่วนไนล์และ ภูริภัทร ณ สงขลา ตัวแทนจากสมัชชาอินเทิร์นก็มีความเห็นไปในทางเดียวกันกับอาภาวีร์ โดยไนล์ยืนยันจากประสบการณ์ส่วนตัวที่เคยฝึกงานในตำแหน่งผู้ช่วยนักวิเคราะห์นโยบายกับพรรคก้าวไกลว่าการฝึกงานที่มีคุณภาพจะช่วยพัฒนาศักยภาพบุคคลได้อย่างก้าวกระโดด ในขณะเดียวกัน ค่าตอบแทนและสวัสดิการก็จะย้ำเตือนเด็กฝึกงานว่าตนต้องทำงานให้ดีสมค่าแรง

ส่วนภูริภัทร ตัวแทนจากสมัชชาอินเทิร์นเสริมว่า ทั้งนายจ้างและนักศึกษาฝึกงานต้องปรับเข้าหากัน โดยนักศึกษาฝึกงานต้องพิสูจน์ให้บริษัทเห็นว่าตนมีความสามารถ ส่วนนายจ้างก็ควรเปิดใจยอมรับเด็กฝึกงานในฐานะพนักงานคนหนึ่งที่มีศักยภาพเช่นกัน

“ฝากถึงนักศึกษาฝึกงาน ถ้าคุณไปฝึกงานแล้ว คุณต้องทำให้เต็มที่ ให้เขาเห็นศักยภาพของเรา มันอาจยากหน่อย แต่เราเชื่อว่าคุณทำได้” ตัวแทนจากสมัชชาอินเทิร์นกล่าว

ภูริภัทร ณ สงขลา (ภูผา) ผู้ร่วมก่อตั้งสมัชชาอินเทิร์น

นิยาม ‘ระบบการฝึกงานที่ดี’ และแนวทางสู่การเปลี่ยนแปลง

สุดท้ายแล้ว ระบบการฝึกงานที่ยุติธรรมและมีคุณภาพควรเป็นเช่นไร? ไนล์แสดงความเห็นว่านักศึกษาฝึกงานควรได้รับสวัสดิการต่าง ๆ อย่างเต็มที่ ไม่ว่าจะเป็นค่าตอบแทน วันลาหยุด ประกันคุ้มครอง โดยที่นายจ้างต้องจัดหาสวัสดิการเหล่านี้ให้อย่างครบถ้วน อีกทั้งผู้ฝึกงานควรมีสิทธิ์ในการเข้าร่วมกับสหภาพแรงงานเพื่อเพิ่มอำนาจต่อรองในกลุ่มแรงงาน

อย่างไรก็ตาม เพื่อให้มั่นใจถึงประสิทธิภาพของผู้ฝึกงาน จึงควรมีการจัดสอบวัดผลหลังเสร็จสิ้นการฝึกงานเช่นกัน ส่วนผู้ประกอบการ ควรมีการเปิดลงทะเบียนสถานประกอบการที่รับผู้ฝึกงานได้ เพื่อให้สะดวกในการตรวจสอบคุณภาพสถานฝึกงาน ด้านค่าใช้จ่าย ก็ให้จัดทำโครงการคนละครึ่ง โดยรัฐสามารถช่วยสนับสนุนค่าจ้างเด็กฝึกงานได้ หากบริษัทเอื้อให้ผู้ฝึกงานเข้าทำงานเป็นลูกจ้างต่อไป

สรุปสาระสำคัญของข้อเสนอยกระดับการฝึกงานในประเทศไทย หน้าที่ 1 จัดทำโดย เกศนคร พจนวรพงษ์
สรุปสาระสำคัญของข้อเสนอยกระดับการฝึกงานในประเทศไทย หน้าที่ 2 จัดทำโดย เกศนคร พจนวรพงษ์

เช่นเดียวกับไนล์ สมัชชาอินเทิร์นเองก็คาดหวังให้ข้อเสนอต่าง ๆ ตามข้อเสนอของทางพรรคก้าวไกลได้รับการปรับใช้จริง มากไปกว่านั้น สมัชชาฯ ยังมุ่งหมายให้นักศึกษาทุกคนได้รับการฝึกงานก่อนก้าวสู่การทำงานจริง และหวังให้ทุกคนเข้าถึงการฝึกงานได้ เพราะทุกวันนี้ยังคงมีเหล่าว่าที่แรงงานบางส่วนที่ไม่มีทุนทรัพย์มากพอจะไปฝึกงาน จนต้องเสียโอกาสไปอย่างน่าเสียดาย 

ด้านอาภาวีร์ก็เห็นด้วยกับข้อเสนอยกระดับการฝึกงานในประเทศไทย ทั้งยังได้เปิดเผยมุมมองในฐานะนายจ้างว่า บริษัทควรมีมาตรการชัดเจนในการเปิดรับเด็กฝึกงานด้วย กล่าวคือ ผู้บริหารต้องรับเด็กฝึกงานในตำแหน่งที่ตนมั่นใจว่าจะมีงานมอบหมายให้ ไม่ใช่ว่าจะรับใครเข้ามาก็ได้ แต่สุดท้ายเด็กไม่ได้แสดงศักยภาพตนเองอย่างเต็มที่หรือไม่มีผลงานไปต่อยอด เธอเสริมว่าบริษัทควรให้ความสำคัญกับกระบวนสัมภาษณ์ เพราะสิ่งนี้จะทำให้ทราบว่าผู้ฝึกงานคาดหวังอะไรจากบริษัท และเมื่อตัดสินใจรับเข้ามาฝึกงานแล้ว ทางบริษัทเองก็จำเป็นต้องพาคนผู้นั้นให้ไปถึงจุดหมายที่วางไว้ด้วย

ทว่าในฐานะผู้ประกอบการด้านวิศวกรรมโยธา แม้สุทัศน์จะเห็นด้วยกับข้อเสนอยกระดับการฝึกงานในภาพรวม เขากลับมีมุมมองต่อข้อเสนอยกระดับการฝึกงานที่ต่างออกไปในบางประเด็น โดยเห็นว่าหากมีการบังคับใช้ พ.ร.บ. ฝึกงานที่ให้สิทธิแก่ผู้ฝึกงานเทียบเท่าแรงงานตามข้อเสนอจริง ก็ควรให้ผู้ประกอบมีอำนาจตัดสินใจในการเลือกรับผู้ฝึกงาน เพื่อเป็นการช่วยยืนยันว่าผู้ฝึกงานคนดังกล่าวมีศักยภาพพอจะช่วยสร้างประโยชน์แก่บริษัทอย่างแท้จริง

นอกจากนี้ แม้จะเห็นด้วยกับการลงทะเบียนสถานประกอบการที่สามารถเปิดรับผู้ฝึกงานเพื่อตรวจสอบคุณภาพ สุทัศน์ก็ยังมีข้อกังขาเกี่ยวกับการกำหนดเกณฑ์ ‘มาตรฐาน’ ว่าสถานประกอบการใดมีคุณภาพหรือไม่ จึงเสนอว่าควรมีการเพิ่มบทเฉพาะกาลกำหนดมาตรฐานของสถานฝึกงานในแต่ละวิชาชีพอย่างละเอียด เพื่อช่วยให้ผู้ประกอบการเห็นชัดเจนมากขึ้นว่าควรดำเนินการวางแผนหลักสูตรฝึกงานอย่างไร

อย่างไรก็ตาม สุทัศน์ยังไม่เห็นด้วยกับการจัดสอบเพื่อวัดผลผู้ฝึกหลังเสร็จสิ้นการฝึกงานนัก ทั้งนี้เพราะตนมองว่าระยะเวลาการฝึกงานสั้น ๆ อาจไม่เพียงพอรับประกันได้ว่าผู้ฝึกงานมีคุณภาพเพียงพอหรือพร้อมจะประกอบอาชีพนั้น ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสายงานวิศวกรรมโยธาที่ต้องใช้เวลาดำเนินงานในแต่ละโปรเจกต์นานถึงราว 6 – 12 เดือน

ทั้งนี้ สุทัศน์เสริมว่า การฝึกงานควรใช้ระยะเวลาหนึ่งปีเป็นอย่างน้อย จึงจะเพียงพอต่อการเรียนรู้และลองปฏิบัติงานด้านวิศวกรรมโยธาแบบครบกระบวน อันจะช่วยเสริมทักษะการทำงานแก่ผู้ฝึกงานอย่างแท้จริง ในขณะเดียวกัน สุทัศน์ก็มองว่าหนึ่งปีก็เป็นระยะเวลาที่ยาวนานพอที่ผู้ฝึกงานจะช่วยสร้างประโยชน์แก่บริษัทเช่นกัน ตนในฐานะนายจ้างจึงยินดีมอบค่าตอบแทนและสวัสดิการอื่น ๆ ให้ ด้วยมองว่าเป็นการคุ้มค่าแก่การลงทุน

อนาคตของการปฏิรูปการฝึกงาน

เมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ. 2564 คณะอนุกรรมาธิการศึกษาสถานการณ์ด้านแรงงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน และแรงงานสัมพันธ์ ได้เห็นชอบต่อร่างข้อเสนอยกระดับการฝึกงานในประเทศไทย และส่งข้อเสนอไปให้คณะกรรมาธิการการแรงงานพิจารณา

แม้แผนการปฏิรูปการฝึกงานในประเทศไทยจะเป็นที่รู้จัก และมีผู้คนออกมาแสดงจุดยืนว่าเห็นด้วยกับข้อเสนอดังกล่าวอยู่บ้าง แต่ก็ยังมีบางกลุ่มที่ไม่กล้าออกมาเรียกร้องในประเด็นนี้ ด้วยกลัวว่าจะมีผลกระทบต่อหน้าที่การงานในอนาคต ดังนั้น พรรคก้าวไกลในฐานะผู้จัดทำข้อเสนอจึงประสานงานกับภาคประชาสังคมควบคู่ไปกับการเสนอให้รัฐสภาพิจารณา โดยสมัชชาอินเทิร์นเป็นผู้สำรวจ เก็บข้อมูล สื่อสารข้อเรียกร้องต่อสังคม และสร้างความสัมพันธ์กับผู้ประกอบการ

โลโก้อย่างเป็นทางการของเพจเฟซบุ๊ก “สมัชชาIntern”

ภูริภัทร ตัวแทนจากสมัชชาอินเทิร์นชี้ว่า ผู้ประกอบการจะเป็นผู้ได้รับประโยชน์จากการยกระดับการฝึกงาน จึงควรเห็นความสำคัญของระบบการฝึกงานที่เป็นธรรมและสามารถนำข้อเสนอไปปรับใช้จริงได้ แม้ร่างกฎหมายจะไม่ผ่านการพิจารณา

ส่วนไนล์มองว่า หากมีผู้ได้รับผลกระทบออกมาเรียกร้องสิทธิหรือมีการรวมกลุ่มเพื่อขับเคลื่อนเรื่องการฝึกงานที่เป็นธรรมอย่างจริงจัง ก็จะมีอำนาจต่อรองมากขึ้น คนที่เคยไม่พูดก็อาจมาร่วมส่งเสียงของตนเพิ่มขึ้น อีกสิ่งที่อาจเกิดขึ้นตามมาคือ เมื่อกระแสการเรียกร้องสิทธินักศึกษาฝึกงานมีมากขึ้น บริษัทต่างๆ อาจเริ่มกังวลต่อภาพลักษณ์และรับฟังเสียงวิพากษ์วิจารณ์ ซึ่งนำไปสู่แนวโน้มที่บริษัทจะเลือกเปลี่ยนแปลงนโยบายการฝึกงานที่คุ้มครองสิทธิของผู้ฝึกงานตามไปด้วย แม้บางส่วนอาจจะจัดการต่อเสียงเรียกร้องโดยปิดปากคนพูดก็ตาม

การร่วมกันเรียกร้องของนักศึกษาฝึกงานจึงเป็นทางออกที่น่าสนใจ และน่าจะสร้างแรงกระเพื่อมให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในหมู่ผู้ประกอบการได้ ขณะเดียวกัน สังคมก็ควรทำความเข้าใจและผลักดันให้มีการใช้กฎหมายที่คุ้มครองสิทธิและส่งเสริมศักยภาพของผู้ฝึกงาน เพื่อนำไปสู่การยกระดับการฝึกงานที่มีประสิทธิภาพได้จริง

%d bloggers like this: