Interview Social Issue

กล่องข้าวคนไร้บ้านสะท้อนสวัสดิการรัฐอันล้มเหลว

‘นิสิตนักศึกษา’ ชวนพูดคุยสะท้อนปัญหาสังคมกับ ‘ทราย’ เจ้าของ @Thamboon888 ร้านข้าวกล่องแจกคนไร้บ้านในทวิตเตอร์

ในช่วงเดือนกรกฎาคม 2565 ที่ผ่านมา นางสาวแรมรุ้ง วรวัธ รองปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์  ได้เปิดเผย ข้อมูลจากการลงพื้นที่ของศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่งกรุงเทพมหานคร พบว่ามีจำนวนคนไร้บ้านในกรุงเทพฯ เพิ่มขึ้นจากปี 2562 ราว ๆ 835 คน อันเป็นผลสืบเนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 ที่ทำให้เกิดภาวะตกงาน ด้านสถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พบข้อมูลว่า ช่วง 2 -3 ปีที่ผ่านมา พบคนไร้บ้านในกรุงเทพฯ สูงขึ้นกว่า 30 % ทำให้มีจำนวนอยู่ที่ประมาน 1,800 คน ขณะที่คนไร้บ้านทั่วประเทศเพิ่มสูงถึง 4,000 คน ด้วยเหตุดังกล่าว จึงทำให้ภาคประชาชนบางส่วนเข้ามามีส่วนร่วมแก้ปัญหาคนไร้บ้านในรูปแบบต่าง ๆ

“พี่ทรายนะคะ เป็นคนขายข้าวกล่องนี่แหละ”

หญิงสาวหัวเราะเล็กน้อย ก่อนตอบเพียงสั้น ๆ หลังจากเราขอให้เธอแนะนำตัวเอง 

วันนี้ ‘นิสิตนักศึกษา’ เดินทางมาพบกับ ‘ทราย’ เจ้าของแอ็กเคานต์ทวิตเตอร์ @Thamboon888 แอ็กเคานต์รับทำข้าวกล่องในราคา 25 บาท เพื่อแจกตามสถานที่ต่าง ๆ ที่ตอนนี้มียอดผู้ติดตามกว่าสามหมื่นคน ก่อนเริ่มการสนทนา ทรายขอทำภารกิจ ‘การแจกข้าว’ ให้คนไร้บ้านที่ต่อแถวยาวอย่างเป็นระเบียบให้เสร็จสิ้นเสียก่อน การแจกข้าวของทรายคือ การที่มือหนึ่งถือของแจก อีกมืออัดคลิปวิดีโอ พร้อมคอยพูดเสียงดังให้ผู้ที่ต่อแถวรับทราบร่วมกันว่า เธอจะถ่ายวิดีโอเพื่อส่งไปให้คนใจบุญที่ซื้อกล่องข้าวกับเธอในวันนี้ นอกจากทรายยังมี ‘ลุงตกปลา’ อดีตคนไร้บ้านที่ปัจจุบันได้รับโอกาสสร้างตัวมีรถเข็นขายน้ำ รวมถึงวินมอเตอร์ไซค์แถวนั้น คอยช่วยเหลือเธอแจกข้าวอยู่ ข้าวกล่องจำนวนมากบนโต๊ะถูกแจกหมดภายในระยะเวลาอันรวดเร็ว จากนั้นทรายจะเดินไปตรวจสอบตามจุดต่าง ๆ ริมคลองหลอดวัด เทพธิดาราม คลองข้างตรอกที่มีคนไร้บ้านบางคนนอนอยู่ว่าเขาได้รับข้าวหรือยัง รวมทั้งถามถึงการกินยากับคนไร้บ้านบางคน แล้ววงสนทนาก็เกิดขึ้นง่าย ๆ ข้างคลอง โดยยืมเก้าอี้พลาสติกสีฟ้าที่ตั้งอยู่บริเวณนั้น พร้อม ๆ กับรอคนไร้บ้านอีกบางส่วนที่ยังไม่มาตามปกติ


จุดเริ่มต้นของข้าวกล่อง 25 บาท

สิ้นเดือนพฤศจิกายน 2565 นี้ ร้านทรายจะเปิดมาครบปี แต่ใครจะรู้ว่า แท้จริงแล้ว ร้านนี้ไม่ได้เกิดจากความตั้งใจของเธอ มันเริ่มจากการที่ทรายได้เห็นร้านรับทำกับข้าวในทวิตเตอร์ ลงรับแจกข้าวให้คนไร้บ้าน เธอจึงสนใจ อยากทำบุญบ้าง แต่เมื่อว่าจ้างไป ร้านดังกล่าวกลับแจกข้าวไม่ครบตามที่ทรายได้ให้เงิน เธอเล่าว่ารู้สึกไม่พอใจ จนมีความคิดอยากมาทำเอง ประกอบกับก่อนหน้านั้น แม่ของทรายเองก็อยากเปิดร้านขายข้าวในราคา 25 บาทเพื่อแบ่งเบาภาระเสาหลักของครอบครัวอย่างทราย หลังจากทรายเล่าเรื่องว่าจ้างร้านข้าวไป จึงทำให้ทั้งคู่ตัดสินใจเปิดร้านในที่สุด หลังจากนั้น ทรายได้เริ่มเปิดแอ็กเคานต์ @Thamboon888 ขึ้นมา โดยเริ่มจากการทำกับข้าวแจก ซึ่งที่แรกคือ แคมป์คนงานก่อสร้างแถวเขตบางบอน

ภาพโปรไฟล์ @Thamboon888

“พี่ก็เลยไปลองเปิดทวิตขึ้นมาเลย แถวบ้านเรามันมีแคมป์คนงาน มีเด็ก อยู่บ้านสังกะสีเก่า ๆ เลยอ่ะ แล้วเด็กก็ไม่ได้เรียนหนังสือ ก็รู้สึกว่า เห้ย น่าสงสาร แต่ว่าเราก็ไม่ได้มีเงินตรงนั้นน่ะไปช่วยเขา ก็เลยอยากจะขอแรงจากทุกคน ตอนแรกยังไม่มีใครเลย เพราะเขาไม่รู้จัก มันเป็นแอ็กใหม่เลย แล้วพี่ก็จะลงทวิตว่า มีข้าวกล่องแล้วก็ถ่ายข้าวกล่องเนี่ยลงมา กล่องละ 25 บาท มีใครสนใจไหม เราอ่ะจะไปแจกให้ แถวบ้านเรามีแคมป์คนงาน อย่างนี้นะ ไรงี้ แจกแล้วเดี๋ยวจะถ่ายรูปมาให้ แล้วเราก็ใช้แท็กที่ขึ้นเทรนทวิต ติดแท็กนั้น ก็มีคนสนใจแล้วก็ทักมา ตอนแรกก็จะเป็นคนแบบว่ารู้จักก่อน เพราะเราก็ไปบอกเขาว่า อันนี้เราเปิดร้านนะ เขาก็มาช่วยอุดหนุน” ทรายเล่าอย่างฉะฉาน

ปกภาพของ @Thamboon888

หลังจากนั้น @Thamboon888 ก็มีคนรู้จักมากขึ้น ‘สนามหลวง’ เป็นสถานที่ถัดมาที่ทรายนึกถึงว่ามีคนไร้บ้านเยอะ จึงทวิตว่าทางร้านรับแจกที่สนามหลวงด้วย เพียงแค่มีโทรศัพท์มือถือ ไวไฟ และแอพทวิตเตอร์ ก็ทำให้ผู้คนที่สนใจสามารถติดต่อทรายเพื่อมาซื้อข้าวได้ เมื่อมีคนสนใจจำนวนมากขึ้น จึงทำให้ทรายได้ทำร้านต่อมาเรื่อย ๆ 

ใครที่ติดตาม @Thamboon888 ย่อมเห็นว่าทรายไม่ได้โพสต์ทวิตเกี่ยวกับการแจกข้าวเพียงอย่างเดียวแต่ยังมีการทวิตถึงประเด็นปัญหาในสังคมโดยเฉพาะประเด็นเกี่ยวกับการชุมนุมต่าง ๆ ซึ่งจุดเริ่มต้นของเธอมาจาก ‘ม็อบชาวนา’ ด้วยความที่เธอรับทำกับข้าวแจกทั่วทุกที่อยู่แล้วไม่ว่าจะบ้านพักคนชรา หรือโรงพยาบาล ขึ้นอยู่กับความต้องการของลูกค้าว่าอยากให้ไปที่ไหน เมื่อได้ไปเห็นแฮชแท็ก #ม็อบชาวนา ในทวิตเตอร์ ทรายจึงลองทวิตถามคนในโลกออนไลน์ว่ามีใครอยากจะช่วยเหลือเหล่าชาวนาไหม และก็มีคนติดต่อมาในที่สุด ทำให้เธอได้มีโอกาสไปแจกข้าวที่ม็อบและเริ่มทำหน้าที่มากกว่าร้านข้าว นั่นคือเป็นกระบอกเสียงให้กับ ‘ผู้ไร้เสียง’

“ก็มีคนติดต่อมา เราก็เอาไปแจกให้ พอไปแจก เราก็แบบ เฮ้ย เขามาทำอะไรกันอย่างนี้ เพราะว่า เราไม่รู้ว่าคนอื่นน่ะเขาแจกแบบไหน อาจจะแจกแล้วก็ไป ไม่ได้ถาม แต่เราลงไปสอบถามแล้วก็พูดคุย อยากรู้ ว่าเออทำไมเขาถึงมามีม็อบชาวนา เขามาทำอะไรกันแล้ว ทำไมมีแต่คนแก่ ๆ” 

“เราก็เอาข้อมูลที่เราไปสัมภาษณ์เขา ไปถามเนี่ยมาลงแท็ก มันจะมีคลิปอยู่ในทวิตเตอร์แรก ๆ เลย คือคนแชร์ไปเยอะมาก แล้วคราวนี้มันก็เริ่มเป็นเทรนทวิตขึ้นมาว่า เอ้า มีม็อบชาวนาด้วยหรอ ทีนี้ก็มีคนสั่งเรื่อย ๆ พี่ก็ไปส่ง แล้วก็ถ่ายรูปมาให้ เพราะว่ามันก็ต้องมีหลักฐานการทำใช่ไหมคะ ถ่ายรูปเขาด้วยแล้วก็หาข้อมูลเพื่อเป็นกระบอกเสียงให้เขาด้วย สงสารเขาด้วยอ่ะ เพราะว่าคือม็อบชาวนา เขาไม่มีโซเชียล เขาไม่ได้รู้เลย เขาไม่รู้จักทวิตเตอร์ด้วยซ้ำนะ แล้วก็ไม่รู้ว่าทำยังไง เขาก็รอ รอคำตอบจากรัฐบาลอย่างเดียวเลยนะ เราคิดว่า เราน่าจะช่วยเขาได้ด้วย ก็เลยไปแจกข้าวด้วย แล้วก็เอาข้อมูลที่ว่า เขาอยากจะบอกอะไรไหม เดี๋ยวเราจะช่วยไปกระบอกเสียงให้นู่นนี่ ก็เอามาลงทวิต” 

ด้วยลักษณะนิสัยของเธอที่ชอบสอบถามข้อมูลต่าง ๆ รวมถึงความต้องการเป็นกระบอกเสียงให้ผู้ไร้โอกาสทำให้มีโอกาสได้รับรู้ข้อมูลมากมายจากผู้มารับข้าวแจก อย่างกรณี คนไร้บ้าน เธอนิยามประสบการณ์ที่เห็นว่า ‘มันหดหู่และน่าอนาถมาก’

“จริง ๆ ผ่านมาเป็นปีนะ มีคนตายไปเยอะมากเลยนะ ที่พี่รู้ แล้วก็ไม่รู้อีกตั้งเท่าไหร่ แล้วก็ที่นี่ (บริเวณสนามหลวง) ถึงมันจะสวยงาม แต่เบื้องหลัง ข้างหลังภาพ คือมันหดหู่มากนะ”

ทราย เจ้าของแอ็กเคานต์ @Thamboon888

เราทั้งหมดหันไปมองท้องถนนที่เลยตรอกสาเกออกไป แสงไฟสีเหลืองช่วยขับให้ตึกโอ่อ่าดูนวลตา ถนนหนทางที่เรียบร้อย สายไฟที่ถูกเก็บลงดิน หย่อมหญ้าเกาะกลางถนนแม้กระทั่งรูปปั้นก็ถูกบูรณะอย่างดี ช่างเป็นภาพที่ผกผันกับชีวิตของคนไร้บ้านแถวนี้เสียเหลือเกิน 

“มีคนสูงอายุที่เดินไม่ได้ พิการ เมื่อกี้ที่ไปดู หลายคนมาก ๆ เลยนะคะ จากตอนแรกลุงคนที่พี่ไปคุยด้วยมาเมื่อกี้ เขาไม่ได้เป็นแบบนั้นเลยนะ คือ ไปกินลำไย กินแล้วก็ช็อคเข้าโรงพยาบาล ก็คนแถวนี้แหละ เขาช่วยเรียกรถพยาบาลให้ ก็ไปส่งโรงพยาบาลแล้วเนี่ย ไปอยู่เป็นเดือน ออกมาก็เดินไม่ได้ แล้วก็สติไม่ดี ติดต่อหน่วยงานรัฐไป เขาก็ไม่สนใจ” ทรายเล่าพร้อมกับชี้ไปที่ชายชราผิวคล้ำเนื้อตัวมอมแมมใส่เสื้อผ้าเก่า ๆ ที่นอนติดริมคลอง ก่อนหน้าสัมภาษณ์ทรายได้เดินไปกำชับเขาเรื่องกินยา แน่นอนว่าคุณลุงเดินไม่ได้ แต่ก็มีเพื่อนไร้บ้านใจดีต่อคิวเอาข้าวมาให้แกทาน

เธอยังเล่าถึงกรณีของ นาย กล้วย ลำไย ซึ่งแต่เดิมจะเดินทางเพื่อไปทำบัตรประชาชนที่จังหวัดอุบลราชธานี ได้ผลัดหลงจนทรายให้คนใจดีช่วยส่งตัวกลับมาที่สถานีรถไฟหัวลำโพงได้ แต่กลับโดนกระชากขึ้นรถให้ไปทำงานเลี้ยงเป็ดไร่ทุ่งแล้วไม่ให้เงินค่าจ้าง เมื่อนายกล้วยขัดขืนหนีมาได้ ก็โดนทำร้ายร่างกายและเอาทรัพย์สินมีค่าติดตัวไป (ลำโพงและไมค์ที่ทรายซื้อให้สำหรับเต้นหาเงิน) ซึ่งทรายบอกว่ามีคนไร้บ้านโดนกระทำเช่นนี้เยอะมาก โดยเฉพาะคนแก่ ๆ บางคนถูกเลี้ยงด้วยเหล้าให้ติดเหล้าไปไหนไม่ได้


เส้นทางแจกข้าวในหนึ่งคืน

ทรายบอกว่าเวลาแจกข้าวเธอต้องเป็นคนดุ เพราะไม่เช่นนั้นพวกเขาจะไม่เป็นระเบียบ แย่งกันต่อแถว 

“พี่ก็บอกว่าห้ามแซงกันนะ ถ้าใครให้แซงอ่ะ คือก็ไม่รักษาสิทธิ์ตัวเองนะ พี่ก็จะขู่บางที ของมีน้อยนะ ถ้าให้เขาแซงเราก็ไม่ได้นะ แล้วก็จะให้ แต่ว่าจะให้คนที่สูงอายุมารับก่อน”

เส้นทางในการไปแจกข้าวให้คนไร้บ้านในแต่ละครั้ง มีมากกว่าหนึ่งสถานที่ แน่นอนว่าเน้นจุดที่คนไร้บ้านอยู่จำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นเยาวราช เสือป่า สัมพันธวงศ์ อนุสาวรีย์ วงเวียน 22 สามย่าน แต่ยึดตรอกสาเกเป็นหลัก ทรายจะเปลี่ยนจุดเริ่มต้นแตกต่างกันไปในแต่ละครั้ง เพื่อให้บางพื้นที่ได้ข้าวก่อนบ้าง กว่าจะเสร็จสิ้นภารกิจแจกข้าวก็ลากยาวไปราว ๆ ตี 1 

สำหรับทราย เธอไม่ได้มองว่าสิ่งที่เธอทำอยู่มันคือ ความทุ่มเท เธอขอเรียกมันว่า ‘ความเห็นอกเห็นใจ’ เสียมากกว่า การยึดเอาการทำข้าวกล่องแจกคนไร้บ้านเป็นอาชีพทำให้เธอมีรายได้จึงอยากตอบแทนคืนกลับไปให้แก่พวกเขาด้วย 

“จะมีแบบคนแก่คนหนึ่ง พี่จะให้เงินทุกวันนะ วันละ 20 บาท ให้ข้าว ให้น้ำ ให้เงิน แบบอยู่ตรงๆ บ้านหม้อ ตรงไปทางเยาวราช แล้วแบบ เราขับรถผ่านเห็นคนที่นอนตามป้ายรถเมล์ เราก็รู้สึกว่า อยากแบ่งปันให้เขาด้วย เพราะว่าพวกนี้เขาไม่น่าจะได้ข้าวได้อะไร ก็เคยไปถามเขานะ ได้กินข้าวไหม บางคนต้องลุกขึ้นมาจากตอนแรกนอนอยู่ ขาขาด แบบใส่ขาเทียมไรงี้ก็มี โอ้ย มันหดหู่อะ ขับช้า ๆ ตอนกลางคืนอ่ะ อยากให้ทั่วถึงมากกว่า” ทรายเล่าพร้อมอธิบายให้เห็นภาพ น้ำเสียงใส่อารมณ์เต็มที่

แม้ทรายจะมีทีมช่วยทำกับข้าวรวมเธอแล้วเป็น 3 คน แต่ระยะเวลาการแจกข้าวที่กินเวลายาวนาน ทำให้เธอต้องสูญเสียเวลาพักผ่อน โดยเฉลี่ยแล้ววันนึงนอนไม่ถึง 5 ชั่วโมง แต่เธอก็ไม่อาจเปลี่ยนเวลาแจกได้เพราะทรายมองว่าคนไร้บ้านจริง ๆ จะมาช่วงดึกกันเสียมาก

“บางคนเขาก็ไม่ได้ไร้บ้านนะ แต่ว่าเราก็จะแจกด้วย คิดดูว่าเป็นเรา เราจะไปยืนขอข้าวใครกินป่ะ มันน่าอายนะ เพราะว่าเราก็บอกนะว่าเราจะขอถ่ายรูปนะ เพราะเราต้องส่งเขา มีหลักฐานว่าเราได้แจกแล้ว รู้สึกว่า ถ้าคนเขาไม่ได้หิวจริง เขาก็จะไม่มารับ” 

กระนั้น การวางเส้นทางแจกข้าวของทรายก็มีข้อกังวลที่หลายคนอาจคิดไม่ถึง ทำให้บางพื้นที่ที่แม้มีคนไร้บ้านแต่ทรายตัดสินใจเลือกจะไม่ไป เธอยกตัวอย่างบริเวณหน้าโรงเรียนแห่งหนึ่งแถวสนามหลวงซึ่งเธอตัดสินใจไม่ไปแจกอีกต่อไป เพราะการรวมกลุ่มต่อแถวรับข้าวของคนไร้บ้านสร้างความไม่พอใจให้กับบางคน ซึ่งทรายคาดเดาว่าพวกเขาเหล่านั้นอาจจะเคยเจอคนไร้บ้านสร้างความเดือดร้อนให้ เพื่อให้เกิดปัญหาน้อยที่สุด การหยุดแจกบริเวณนั้นจึงเป็นคำตอบ

คนไร้บ้านตั้งแถววยืนรับข้าวแจกจากทราย ณ ตรอกสาเก

นอกจากนี้จะมีบางครั้งที่ทรายถูกตำรวจเร่งให้แจกข้าวไว ๆ เนื่องจากจะมีขบวนเสด็จ และเธอเล่าว่าเมื่อใดที่มีขบวนเสด็จ ตำรวจก็มักจะมาพาตัวคนไร้บ้านไปไว้อีกที่หนึ่ง แทนที่จะให้รถโรงพยาบาลมารับ ซึ่งเธอเองไม่เข้าใจว่าเหตุใดจึงต้องซุกปัญหาไว้ใต้พรม

ทรายย้ำว่าตัวเธอแตกต่างจากมูลนิธิเพราะเธอไม่ได้เปิดรับบริจาค 

“พี่จะบอกเลยนะว่า เวลาที่เขาทักมาบอกว่า เออ เราอยากช่วยบริจาค คือเราต้องบอกก่อนเลยนะคะว่าเราไม่ได้รับบริจาค เราเป็นแอ็กขายข้าว คือคุณซื้อเราก็ไปแจกให้ จะไม่ได้รับบริจาค”

ทราย เจ้าของแอ็กเคานต์ @Thamboon888

ทรายมองว่า การรับเงินบริจาค นอกจากยากในการคำนวณจำนวนกล่องข้าวที่ได้แล้ว ยังทำให้ยุ่งยากให้การบริหารจัดการเงิน การคิดราคาข้าวเป็นกล่องทำให้ผู้ติดต่อซื้อข้าว สามารถทราบจำนวนคนไร้บ้านที่จะได้รับทันทีอีกด้วย และอีกหนึ่งข้อที่แตกต่างคือ มูลนิธิจะเป็นองค์กรที่ทำงานเป็นทีม แต่ทรายทำสิ่งนี้คนเดียว

“แล้วก็เท่าที่เห็นนะ มูลนิธิส่วนมากเขาก็จะทำในช่วงกลางวัน ช่วงมืดอะไรเนี่ยเขาก็จะไม่ค่อยได้ลงพื้นที่กันเท่าไหร่ อาจจะลงแต่ว่าไม่บ่อย ของพี่เรียกว่า แทบทุกวัน ในตลอดระยะเวลาเกือบ 1 ปี นับวันหยุดได้เลย เพราะว่ามันน้อยมาก เราคิดว่า อย่างวันจันทร์จะไม่หยุดเลย เพราะว่าไม่มีคนมาแจก จริง ๆ ไม่ได้มีพี่มาแจกคนเดียวนะ คนอื่นที่เขามีใจบุญหรือว่าเขามาช่วยกันมาวันเกิด วันอะไรต่าง ๆ เขาก็มาแจกกัน บางทีก็นั่งรถกระบะเปิดท้ายกันมาเลย” 

ก่อนเปิดเผยว่าขณะนี้ไม่มีอะไรสามารถเป็นอุปสรรคต่อเธอในการทำสิ่งนี้ได้ แม้จะมีคนจากฝั่งเชียร์รัฐบาลคอยตามต่อว่าเธอเพราะเธอคอยวิจารณ์รัฐบาล แต่ทรายก็คิดว่าพวกเขาเหล่านั้นไม่สามารถทำอะไรเธอได้ 

“คือตามด่าคือมันเป็นแบบ IO ที่แบบถูกจ้าง ทุกโพสต์มันก็เข้าไปด่า ด่าแบบเขาไม่ได้เป็นคนไร้บ้านจริง ๆ ซึ่งแบบหลักฐานทุกอย่างมันมีชัดอ่ะ ว่าเขาเป็นคนไร้บ้าน เขาก็นอนอยู่ตรงนั้น อยากให้พวกนี้มันมาดูนะ มันบอกว่า เขาอยากจะไร้บ้านกัน มึงมาดูดิ ใครเขาอยากจะไร้บ้าน แล้วไปนอนตรงนั้นไหมอ่ะ พูดแล้วก็จะโมโห แต่ว่าเราก็คิดว่ามันทำอะไรเราไม่ได้ เพราะว่าพี่ก็รู้สึกว่าตัวเองก็แข็งแกร่งขึ้น พอมาเจออะไรอย่างนี้ แล้วก็รู้สึกว่าถ้าจะไม่ให้เขากินอิ่มเพราะคำพูดพวกเหี้ยเนี่ย ก็ไม่ดีกว่า” ทรายพูดอย่างเต็มไปด้วยอารมณ์ ก่อนเสริมต่อว่า

ทราย เจ้าของแอ็กเคานต์ @Thamboon888

“แต่พี่ก็จะมิ้วไว้ ไม่บล็อกนะ รู้สึกว่าก็ให้มันเป็นความคิดที่แบบเผื่อใครผ่านมาดูนะ เพราะว่าคนตามเราก็เยอะขึ้นเรื่อย ๆ ใช่ไหม เขาจะได้รู้ว่า เนี่ย ประจานฝั่งมึง ว่าฝั่งมึงมีความคิดอย่างนี้นะ ก็เลยไม่ได้บล็อกมัน”


การดูแลไม่ใช่แค่การแจกข้าว

ความเห็นอกเห็นใจของทรายไม่ได้จบเพียงเท่านี้ แต่ยังขยับขยายมาถึงการดูแลสุขภาพทางกายของเหล่าคนไร้บ้านอีกด้วย ซึ่งในการไปโรงพยาบาลแต่ละครั้ง พวกเขาจะเสีย 100 บาทสำหรับค่าเข้ารับการรักษานอกเวลาราชการก่อนทุกครั้ง แม้ว่าจะใช้สิทธิ 30 บาทรักษาทุกโรคก็ตาม ซึ่งค่าใช้จ่ายดังกล่าว ทรายใช้เงินจากกำไรในการขายข้าว บางครั้งก็เงินส่วนตัวเพื่อพาคนไร้บ้านไปโรงพยาบาล เธออธิบายว่าการรักษากับโรงพยาบาลรัฐมันไม่ได้แพง แต่ปัญหาที่เกิดคือ คนไร้บ้านกลัวการไปโรงพยาบาลเพราะเขาไม่มีข้อมูลว่าเขามีสิทธิ 30 บาทรักษาทุกโรค 

“แต่ค่ายา บางคนจะเก็บเงิน พี่ก็จะไปสู้ให้นะ อย่างล่าสุดพาคุณลุงคนนึงไปเพราะว่าขาบวม บวมมาก ตอนแรกมาขอยาแก้ปวด แล้วยังไม่เห็นแผล ก็ให้ไป เฮ้ย มาขออีกแล้ว รู้สึกว่า เหย ลุงมันไม่หายแล้วแหละ ถ้าอย่างนั้นน่ะ ลุงไปโรงพยาบาลไหม บอกว่าไม่กล้าไป กลัวเสียเงิน บอกลุง เรามีสิทธิ์นะ ลุงต้องไปใช้สิทธิ์นะ พวกคนที่ไม่ไปโรงพยาบาล พี่บอกเลยว่า ถ้ามีค่าใช้จ่ายเดี๋ยวออกให้ ไปทุกคน ไปแทบทุกคน แล้วบางทีพี่ให้เบอร์ไว้ มีอะไรก็ให้โทรมานะ” ทรายเสริมว่า ในหลายครั้งมีผู้สนับสนุน เช่นคุณหมอที่ติดต่อขอมาลงพื้นที่พร้อมกับทรายเพื่อตรวจฟรี เพื่อนเภสัชของเธอที่มักจะคอยส่งยามาให้ และอีกหลายอย่างที่เธอไม่ต้องซื้อเองเพราะมีคนคอยช่วยเหลือส่งมาให้ อาทิ หน้ากากอนามัย

หากถามว่าในบรรดาที่เธอไปแจกข้าวมาทั้งหมด เธอเป็นห่วงจุดไหนมากที่สุด ทรายยอมรับตามตรงว่า คงเป็นแถวที่เรานั่งคุยกันอยู่นี้ หรือตรอกสาเก เพราะมีคนไร้บ้านอายุมากอยู่เยอะ 

“เอาจริง ๆ เลยนะ เขาไม่น่าจะอยู่ได้กันนานแล้วอะ หรือว่าหน่วยงานรัฐเขาอาจจะเห็นก็ได้ว่าพวกนี้ไม่ได้อยู่นานหรอก เดี๋ยวก็ตายไปเอง”  สำหรับเธอ ความตายกับคนไร้บ้านมันใกล้กันนิดเดียว ทรายเล่าถึง คนไร้บ้านแขนด้วนคนหนึ่ง ที่มักเรียกเธอว่า น้องสาว ที่อยู่ ๆ ก็ล้มลงแล้วเสียชีวิตเลย ซึ่งตรงกับวันที่เธอไม่ได้ไปแจกข้าวตามปกติ ทรายได้คาดเดาถึงสาเหตุการตายว่าอาจเพราะติดเหล้า เพราะเคยเห็นคนไร้บ้านไร้ข้าวกินแต่ติดเหล้า  เธอเองเคยเอ่ยปากไล่ ‘ถ้ามีเงินกินเหล้าก็ไม่ต้องมาเอาข้าว’ จนมารับรู้ว่าการกินเหล้าช่วยให้แผลที่เป็นเจ็บน้อยลง 

หลังรับข้าวแจกจากทราย ผู้คนบางส่วนจะนั่งกินข้าวริมตรอก

“รู้สึกผิดเลย ไปว่าเขา” ทรายกล่าวด้วยเสียงแผ่วเบา

ทรายเล่าความรู้สึกว่าเธอจะดีใจมากหากมีน้อง ๆ ในอินเตอร์เน็ตทักมาหาเธอ ขอมาช่วยแจกข้าวด้วย เพราะเธอมองว่าน้อง ๆ เหล่านั้นจะได้มาเห็นสภาพความเป็นอยู่ของคนไร้บ้านจริง ๆ 

“ที่พี่(โพสต์)ลงไปอ่ะ ไม่ได้กลิ่นถูกไหม แต่หนูเดินไป เห็นไหม ก็คือบางคนขี้เยี่ยวตรงนั้นเลยนะเพราะว่ามันไปไหนไม่ได้ แล้วเดินไม่ได้อ่ะ แล้วทำไมหน่วยงานรัฐถึงไม่มาช่วยเหลือพวกเขา พี่เป็นแอ็กขายข้าวก็จริง แต่ว่าพี่ก็ด่ารัฐบาลนะ ด่าในเรื่องที่มันต้องด่า ก็มันไม่ทำจริง ๆ อะ พี่ติดต่อไปหลายหน่วยงานมาก พี่แบบต้องทำ พอเรามาทำอย่างนี้ เดี๋ยวนี้ตาพอเห็นอะไร ต้องช่วยเหลือเขาแล้ว เพราะว่าบางคนเขาก็ไม่ได้มีโซเชียลอย่างนี้เนาะ อย่างไปจ่ายตลาดเจอป้าคนนึงที่เขาขายแซนวิชอะ ได้เห็นไหม แท็กบอกลานายทุนน่ะ”

ทราย เจ้าของแอ็กเคานต์ @Thamboon888

ทรายได้ใช้ช่องทางโซเชียลมีเดียของเธอในการทำแฮชแท็ก #บอกลานายทุนอุดหนุนตายาย เธอใช้อยู่ประจำเมื่อเจอผู้สูงอายุขายสินค้าข้างทาง โดยมักจะโพสต์ทวิต ถ่ายรูป แล้วติดแท็กดังกล่าวเสมือนชี้พิกัดให้คนไปอุดหนุน ซึ่งการที่ทรายเริ่มทำแท็กนี้เพราะเข้าใจถึงความรู้สึกว่า ทุกคนต้องดิ้นรนในการทำมาหากิน รวมถึงตัวเธอเองเช่นกัน ที่ต้องผันจากอาชีพขายรถเป็นขายข้าวเพราะเศรษฐกิจแย่ เพราะสวัสดิการสำหรับคนรากหญ้าในประเทศไม่เพียงพอ


ความหมายของกล่องข้าว

ไม่นานมานี้ ทรายได้ตั้งแฮชแท็กเล็ก ๆ #คนไร้บ้านไม่ไร้บ้านแล้ว เพื่อพูดถึงคนไร้บ้านที่มีงานทำและสามารถอยู่ได้ด้วยตัวเอง ซึ่งยังมีจำนวนน้อยมาก ตามกำลังที่เธอพอช่วยเหลือได้ แม้หลายคนอาจบอกว่าการบริจาคข้าวให้คนไร้บ้านเช่นนี้คือการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ แต่สำหรับทราย เธอบอกว่ามันเหมือนการได้ต่อชีวิต ทำให้พวกเขาอยากมีชีวิตอยู่ต่อเพื่อรอโอกาส 

ทรายได้ยกตัวอย่างถึง ‘ลุงโชกุน’ คนไร้บ้านแถววงเวียน 22 ให้ฟัง คุณลุงอายุ 52 และยังเป็นนักศึกษาของมหาวิทยาลัยกรุงเทพสุวรรณภูมิ ผู้ดั้นค้นไปเรียนโดยการนั่งรถไฟฟรี เขามาของานทำจากเธอ ทรายก็ช่วยจัดหางาน แต่เมื่อไม่มีใครรับเข้าเนื่องจากอายุเยอะ ทรายจึงช่วยออกทุนให้ลุงโชกุนเข็นขนมขาย ซึ่งวันแรกในการขายก็มีคนเหมาขนมจนหมด หลังจากนั้นลุงก็ขายมาตลอดจนสามารถเช่าห้องอยู่เองได้

เธอเล่าให้ฟังอีกว่า มีคนไร้บ้านอีกคนหนึ่งรอรับข้าวจากเธอเป็นเดือน จนวันสุดท้าย เขามาลา เพราะได้งานทำที่โรงแรมแถวภูเก็ต ทั้งนี้คนไร้บ้านคนนี้เป็นคนมุ่งมั่น แต่ประสบปัญหาจนล้มละลาย ชีวิตพัง 

“คือเขาบอกว่า เขาไม่คิดว่าจะมีคนใจดีหรือว่าอะไรแบบนี้ แต่เวลาแจกเราจะบอกตลอดนะ ว่าเขาฝากมาแจกนะ ลุงก็บอกว่า ฝากไปถึงคนที่เขาฝากมาแจกด้วยนะ เนี่ย ลุงได้ลืมตาอ้าปากอีกทีนึง อยู่จนมันมีงานทำ ซึ่งหลายคนได้งานทำไป จากการที่เขาดิ้นรนตัวเอง พี่ก็ช่วยไม่ได้ทุกคน แต่ก็คือได้ข้าวจากทุกคนทำให้เขาอยู่รอดไป

ทราย เจ้าของแอ็กเคานต์ @Thamboon888

ทรายเล่าว่าบางคนที่ได้รับโอกาสและไม่ต้องเป็นคนไร้บ้านแล้ว ส่วนหนึ่งก็ย้อนกลับมาเป็นผู้ให้แทน อย่างกรณี ลุงตกปลา ที่กลับมาซื้อข้าวกับทราย  เขาคือชายวัยกลางคนผู้ซึ่งเคยเป็นคนไร้บ้านจากปัญหาครอบครัว ทำให้มาอาศัยอยู่สนามหลวง ประทังชีวิตจากการตกปลาหว่านแหบ้าง ไปช่วยเรียงขนมบ้าง ช่วยวิ่งไปซื้อน้ำให้คนขับแท็กซี่บ้าง มีรายได้วันละ 50 – 60 บาท จนกระทั่งได้มารู้จักกับทราย หรือ ‘เจ๊’ ที่ลุงตกปลาเรียกติดปาก เมื่อทรายเห็นว่าเขาเป็นคนขยัน ชอบช่วยเหลือคนอื่น จึงอยากหยิบยื่นโอกาสให้ บวกกับมีคนใจบุญช่วยออกเงินให้บางส่วน ทรายจึงตัดสินใจช่วยอีกส่วนออกเงินซื้อรถเข็นน้ำพร้อมขายให้  เกิดเป็นอาชีพจนลุงตกปลามีเงินเช่าบ้านอยู่ในที่สุด 

ข้างกายทราย (หญิงผมสีชมพู) มีนายตกปลา (เสื้อยืดมัดย้อม) ช่วยเหลือข้างกาย

ความใจดีของลุงตกปลาสะท้อนเห็นชัดตลอดการสัมภาษณ์ เขาจะคอยยืนบริเวณที่เราพูดคุยและคอยหยิบข้าวให้คนไร้บ้านเมื่อใดที่ทรายเรียก รวมถึงคอยช่วยอำนวยความสะดวกอื่น ๆ ด้วย ทรายบอกว่าบางทีลุงตกปลาก็เหมาไอศกรีมเลี้ยงมาคนไร้บ้าน 

สำหรับทรายเธอมองว่าทั้งหมดนี้มันคือการ ‘ส่งต่อ’ ทรายคิดว่าผู้ได้รับย่อมต้องไปช่วยคนอื่น ให้โอกาสคนอื่นต่อแบบนี้บ้าง ทรายพูดย้ำกับเราว่า  ใจเธออยากให้โอกาสพวกเขาด้วย เหมือนกรณีลุงตกปลา ในส่วนของการแก้ปัญหาที่ต้นเหตุเธอเองก็พูดถึงว่า รัฐควรจะมาจัดการตรงนี้


รัฐสวัสดิการที่ล้มเหลว

ทรายยอมรับว่า ความหวังเดียวสำหรับเธอตอนนี้ คือการเปลี่ยนรัฐบาลเท่านั้น เนื่องจากรัฐบาลปัจจุบันเอื้อแต่นายทุนและไม่สนใจประชาชน เธอรู้สึกว่ารัฐบาลทำงานไม่คุ้มกับเงินเดือนที่ได้รับ และไม่รับรู้ถึงปัญหาที่มีอยู่ แก้ปัญหาแบบผักชีโรยหน้า เน้นพิธีการจนเกินไป ซึ่งรัฐบาลนี้อยู่มา 8 ปีแล้ว แต่คนไร้บ้านกลับไม่ได้ลดลงเลย มีแต่เพิ่มขึ้น 

“จะโทษคนแจกข้าว ใครเขาอยากจะมารับข้าว อยากจะมาโดนถ่ายรูปหรอ คือมึงไม่ลงมาดูอะ พี่มาแจกเป็นปีอ่ะ พี่นับได้เลยนะหน่วยงานไหนที่เขามาดู ถามว่าคุณมาลงพื้นที่กลางวัน คนไร้บ้านอะกลางวัน เขาไปหางานทำ เขาไปทำนู่นทำนี่  กลางคืนคุณต้องมาดูสิ นอนกันจริง ๆ คือคนไร้บ้านจริง ๆ มีเคยมีนะ ที่มีคนบอกว่า พวกนี้มาทำให้รัฐบาลดูแย่ จ้างมานอน มึงมา มึงมานอนดู” ทรายกล่าวพร้อมกับชี้ไปที่คุณลุงด้านขวามือซึ่งนอนอยู่ข้างตรอก

ดร.ชเนตตี ทินนาม อาจารย์ประจำภาควิชาการออกแบบและผลิตสื่อ คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้ผลักดันเพจ MD for Voiceless โครงการช่วยเพิ่มเสียงและพลังให้กับกลุ่มคนชายขอบกล่าวถึงปรากฎการณ์การเกิดของธุรกิจการรับทำข้าวกล่องแจกผู้ยากไร้ว่า ไม่ใช่เรื่องผิด เพราะส่วนหนึ่งเกิดขึ้นจากการที่สังคมปลูกฝังเรื่องความสำคัญของศีลธรรม ต้องมีความเมตตาต่อผู้คน กลายเป็นสำนึกของสังคมไทยและเป็นรากฐานเรื่องมนุษยธรรมแบบไทย ที่ต้องมีความเมตตาความกรุณาต่อคนยากไร้ ซึ่งธุรกิจดังกล่าวเป็นการสนับสนุนให้คนที่อยากทำความดี เป็นอาสาสมัครช่วยเหลือสังคม สามารถไปสั่งข้าว ขณะเดียวกัน การที่เปิดธุรกิจลักษณะนี้ขึ้นมาได้แปลว่ายังมีผู้คนอีกจำนวนมากใช้บริการ ซึ่งสามารถสะท้อนความล้มเหลวในการแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างของรัฐ 

“สะท้อนโครงสร้างสวัสดิการของรัฐที่มันไม่เคยมีอย่างพอเพียงและเหมาะสมต่อประชาชนทุกกลุ่ม ทุกชนชั้น ทุกอาชีพ อันนี้คือช่องโหว่สวัสดิการรัฐ มันก็เลยทำให้มันจะต้องมีบางคนพลัดตกจากตะแกรงของสวัสดิการรัฐอยู่เสมอ ซึ่งคนเหล่านี้ก็คือพวก Voiceless ต่าง ๆ คนไร้สิทธิ์ไร้เสียง ซึ่งมันก็ไม่ใช่แค่คนไร้บ้านอย่างเดียวเนาะ มันยังมีผู้คนมากมายแหละ ที่หลุดออกจากการให้บริการ ออกจากสวัสดิการของรัฐนะคะ เพราะฉะนั้นถ้าเรากลับดูสวัสดิการของรัฐสำหรับประชาชนคนไทยมีอะไรบ้าง มันแทบไม่มีอะไรเลย เอาง่าย ๆ แค่จะไปรักษาพยาบาลก็ยังไม่ฟรีจริง การศึกษาก็ไม่ได้เรียนฟรีจริง”

“คนไร้บ้านเขาเข้าไม่ถึงระบบประกันสุขภาพ ไม่ได้อยู่ในระบบอะไรเลย ลักษณะแบบนี้มันจะต้องช่วยกันอีกเท่าไหร่ รัฐสวัสดิการล้มเหลว ซึ่งเป็นสิ่งที่เราไม่ได้ต้องการ เราต้องการนโยบาย และโครงสร้างที่จะช่วยอุดรอยรั่วตรงนี้และสวัสดิการสังคมที่ทุกคนสามารถเข้าถึงได้อย่างถ้วนทั่ว เสมอภาคกัน ไม่ได้มีข้อยกเว้นว่าคนที่ไม่มีบัตรประชาชน อย่างคนไร้บ้าน ลักษณะแบบนี้จะถูกละเว้นในเรื่องพวกนี้”

ดร.ชเนตตี ทินนาม อาจารย์ประจำภาควิชาการออกแบบและผลิตสื่อ คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้ผลักดันเพจ MD for Voiceless

อาจารย์ชเนตตี เสริมว่า ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ประชาชนได้เรียกร้องในเรื่องสวัสดิการรัฐอย่างต่อเนื่องเพื่อมาอุดช่องโหว่ รัฐควรเริ่มจากการจัดลำดับความสำคัญและเริ่มต้นจากเรื่องของการรักษาพยาบาล เรื่องระบบประกันสุขภาพก่อน ให้ทุกคนสามารถเข้าถึงได้อย่างถ้วนหน้าและเป็นธรรมโดยไม่มีช่องว่าง เพราะพลเมืองไทยทุกคนเท่ากันทั้งหมด

“มันควรที่จะปรับระบบสวัสดิการขั้นพื้นฐานตรงนี้อย่างน้อยเรื่องสุขภาพให้มันเท่าเทียมกันก่อน ไม่ใช่มันมีความเหลื่อมล้ำเรื่องบัตรข้าราชการ บัตรประกันสังคม บัตรทอง ในลักษณะแบบนี้หรือแม้แต่คนที่ไม่มีบัตรอะไรสักใบเลย เขาจะมีช่องทางอะไร อย่างเช่น คนไร้บ้าน เป็นต้น เพราะงั้นอันนี้มันก็จะสะท้อนอย่างที่ครูพูดนั่นแหละว่ามันเป็นความเหลื่อมล้ำ เพราะฉะนั้นถ้ารัฐแก้ตรงนี้ได้ มันก็ไม่ต้องเป็นภาระของประชาชน

ตลอดระยะเวลา 1 ปีที่ผ่านมา ทรายยอมรับว่าการมองโลกของเธอเปลี่ยนไปมาก จากที่ใช้ชีวิตแบบไม่สนใจใคร เวลามีคนเดินมาขายของก็ไม่ซื้อ แต่ปัจจุบันเห็นใครขายของอะไรก็ช่วยซื้อ เพราะเห็นว่าเขาทำอาชีพสุจริต กล้าทำงาน ไม่ได้ขอเงินใคร จึงอยากจะสนับสนุนเขา เธออยากช่วยคนที่เขาด้อยโอกาสเพราะคนที่ไม่มีโอกาสในสังคมมีเยอะมาก 

รู้สึกว่าคนไร้บ้านเราไปจากเขาไม่ได้ แจ้งรถพยาบาลก็ไม่รับ แจ้งตำรวจอะไรก็ไม่ดำเนิน คือเป็นคนที่สังคมหรือว่าหน่วยงานรัฐ นึกไม่ถึง ทอดทิ้งจริง ๆ”

ทราย เจ้าของแอ็กเคานต์ @Thamboon888

มันจะดีแค่ไหนหากรัฐบาล ซึ่งมีกำลังมากกว่าแม่ค้าขายข้าวรวมไปถึงประชาชนคนอื่น ๆ รีบเร่งพัฒนาการช่วยเหลือคนไร้บ้านอย่างมีประสิทธิภาพและต่อเนื่อง รวมถึงมีความหลากหลายของวิธีการแก้ปัญหาเพราะปัจจัยการเป็นคนไร้บ้านในแต่ละคนไม่เหมือนกัน นอกจากนี้ยังต้องคำนึงถึงความยั่งยืนของการแก้ปัญหา เพราะหากประชาชนคนใดคนหนึ่ง ที่กำลังกลายเป็นคนชายชอบจากสังคม พวกเขาจะยังมีรัฐเป็นที่พึ่งพิงสำคัญทำให้ชีวิตสามารถเดินหน้าต่อไปได้ เพราะโจทย์สำคัญของรัฐไม่ใช่แค่ทำอย่างไรให้คนไร้บ้านหมดไป แต่คือทำอย่างไรให้คนไร้บ้านไม่เกิดขึ้นอีก


อ้างอิง

  • พม. ชูมาตรการดูแลคนไร้บ้าน คนไร้ที่พึ่ง พร้อมจับมือสถานประกอบการพัฒนาศักยภาพ สร้างโอกาส ให้อาชีพ พึ่งพาตนเอง. (n.d.). รัฐบาลไทย. https://www.thaigov.go.th/news/contents/details/56966
  • isranews. (2565). โควิดทำให้คนไร้บ้านเพิ่ม 30% สสส.-ภาคีฯ เร่งผลักดันให้เข้าถึงสิทธิ-ต้องมีงานทำ. สำนักข่าวอิศรา. https://www.isranews.org/article/isranews-news/112725-isranews-889-2.html
  • “MD for Voiceless” คือ โครงการที่ช่วยเพิ่มเสียงและพลังให้กับกลุ่มคนชายขอบ เกิดจากการรวมตัวของนิสิต ภาควิชาการออกแบบและผลิตสื่อ (MD) คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาฯ เราได้ศึกษาปัญหาสังคมในเเง่มุมต่าง ๆ เเละต้องการที่จะเผยเเพร่ปัญหาเหล่านั้น รวมถึงปรับความเข้าใจ เเละให้การช่วยเหลือ เเก่บุคคลทั่วไปเเละบุคคลชายขอบที่ถูกทอดทิ้งจากระบบทางสังคมที่ไม่เอื้ออำนวยจนทำให้พวกเขามีสถานะเป็น Voiceless ในสังคม ‘MD for Voiceless’ is a project made from the integration of Chulalongkorn University students from the Faculty of Communication Arts Media Design department (MD)that aims to amplify marginal people’s voice and power. We have studied many aspects of social issues and wanted to reveal such problems to society in order to adjust the understanding and provide assistance to normal citizen  including marginal people who are abandoned by unfavorable social systems that have made them  ‘Voiceless’ in the society. (2019, November 15). MD For Voiceless. https://www.facebook.com/104150177716473/posts/105573370907487/
  • ล่องเซ่ง, พ. (2565). จ้างงาน ‘คนไร้บ้าน-ไร้ที่พึ่ง’ เพิ่มโอกาส พึ่งพาตนเอง. The Active. https://theactive.net/news/marginal-people-20220717/
%d bloggers like this: