News Social Issue Top Stories

“ผักหนึ่งไร่ ไก่หนึ่งตัว” ทหารเกณฑ์โวยสภาพอาหาร

ท่ามกลางการวิพากษ์วิจารณ์เรื่อง “ทหารเกณฑ์” มีชายไทยที่ต้องเข้ารับราชการเป็นทหารกว่าแสนนายต่อปี กองทัพจัดงบประมาณเพื่อบำรุงเลี้ยงและเป็นสวัสดิการอย่างไรให้ทหารเหล่านี้

เรื่อง: ทิฆัมพร บุญมี ภาพ: สรรชัย ชัชรินทร์กุล

อดีตทหารเกณฑ์ระบุข้าวกองทัพเน้นผักไม่เน้นโปรตีน สะท้อนระบบข้าวทหารไม่ตอบโจทย์การใช้ชีวิตและกิจกรรมในค่าย ซ้ำพบระเบียบเบี้ยเลี้ยงทหารระบุให้นำเงินที่เหลือจากค่าใช้จ่ายจริงมาใช้บำรุงหน่วย ไม่ต้องส่งคืนส่วนกลาง ด้านประธานกมธ.ความมั่นคงฯ ชี้อาหารดี-ไม่ดีอยู่ที่ผบ.หน่วย ส่วนนักวิชาการเชื่อสถาบันทหารจะโปร่งใสเมื่อพลเมืองเข้มแข็ง

“ผักหนึ่งไร่ ไก่หนึ่งตัว”

พชร เศาธยะนันท์ อายุ 26 ปี อดีตทหารเกณฑ์ผลัด 2/2560 ที่กรุงเทพมหานคร สรุปสั้นๆ ถึงสภาพมื้ออาหารที่รับประทานระหว่างประจำการในค่าย เขาระบุอีกว่าแม้อาหารจะดีกว่าที่ตนคาดไว้ แต่ตนมองว่ายังไม่มีคุณภาพ เพราะมีผักเป็นส่วนใหญ่ และให้พลังงานน้อย

“ช่วงทหารใหม่สิบสัปดาห์แรก เราถูกโรงเลี้ยงบังคับกินสามมื้อ พอกลับมาเป็นช่วงประจำการ โรงเลี้ยงจะไม่ได้ให้ทุกคนเข้ากิน แต่อาจเลือกเป็นกองร้อยละ 10 คนเพื่อเข้าไปกิน โดยเบี้ยเลี้ยงยังหักเหมือนเดิมทุกอย่าง” พชร อดีตทหารเกณฑ์อธิบายและยอมรับว่าเป็นปกติ เนื่องจากทหารเกณฑ์จะรู้สึกเบื่อจากการวนอาหารซ้ำทุกๆ สัปดาห์ ดังนั้น แทนที่จะพึ่งพาอาหารที่จัดไว้ เขาจึงไปซื้ออาหารที่ตัวเองอยากกินมากกว่า

ไม่ต่างกับ ณัฐนนท์ พรหมมานนท์ อายุ 27 ปีอดีตทหารเกณฑ์ผลัด 1/2559 ที่จังหวัดอุบลราชธานี ณัฐนนท์ระบุว่า กองทัพจะเป็นผู้จัดอาหารมาให้ แม้อาหารในแต่ละมื้อจะไม่เหมือนกัน แต่อาหารมักจะประกอบด้วยผักเป็นส่วนใหญ่และเนื้อสัตว์ในปริมาณน้อย

“จะมีกับข้าวแค่อย่างหรือสองอย่าง ของหวานจะมีแค่ครั้งหรือสองครั้งต่อสัปดาห์ ส่วนใหญ่ก็จะเป็นแกงเขียวหวาน เกาเหลาผักบุ้งถั่วงอก ต้มฟัก ที่จะได้กินบ่อยๆ สภาพอาหารคือไม่ดีเลย กินได้แค่พออิ่ม”

ณัฐนนท์ พรหมมานนท์ อดีตทหารเกณฑ์

ณัฐนนท์ยังกล่าวว่า ในช่วงฝึกจะถูกบังคับให้กิน แต่ช่วงที่ประจำการแล้วจะเป็นไปตามความสมัครใจ ส่วนเบี้ยเลี้ยงค่าอาหารก็ยังถูกหักตามปกติ ซึ่งคนส่วนใหญ่จะไม่กิน จะไปเลือกกินข้าวกับร้านค้า ร้านจ่าเพราะกับข้าวที่กองทัพทำซ้ำซากและไม่อร่อย

“อาหารตอนแรกไม่ดี ก็ข้าวแข็งๆ เศษไก่เศษหมู” กอล์ฟ (สงวนชื่อและนามสกุล) อดีตทหารเกณฑ์เมื่อปี 2561 บรรยายสภาพอาหารที่ตนได้พบเมื่อแรกเข้าประจำการ อดีตทหารเกณฑ์รายนี้เล่าต่อว่า ก่อนปลดประจำการประมาณสามเดือน พบว่าอาหารมีคุณภาพดีขึ้น เพราะผู้บัญชาการมณฑลทหารบกทราบข่าวว่ามีการโกงวัตถุดิบในการทำอาหาร จึงจัดการตรวจสอบและปรับปรุง

ทั้งนี้ เมื่อเดือนกรกฎาคม 2561 ศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทยเข้ายื่นหนังสือตรวจสอบต่อนายกรัฐมนตรี พร้อมภาพที่ชี้ให้เห็นว่า อาหารแต่ละมื้อของทหารเกณฑ์ในค่ายแห่งหนึ่งในจังหวัดกระบี่ไม่พอกินและไม่อร่อย บางมื้อมีแค่น้ำแกงและลูกชิ้นสองลูกเท่านั้น จากกรณีดังกล่าว กองทัพบกได้ปฏิเสธต่อสื่อว่าเกิดเหตุการณ์นี้ และระบุว่าเป็นภาพตัดต่อ

ผัดมะเขือยาวใส่ไก่ กับข้าวในค่ายทหารแห่งหนึ่งในกรุงเทพมหานคร

พบระเบียบเบี้ยเลี้ยงทหารให้ส่วนต่างบำรุงหน่วย

ผู้สื่อข่าวพบว่าการปรับเบี้ยเลี้ยงพลทหารจาก 75 บาทต่อวัน เป็น 96 บาทต่อวัน มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2557 จนถึงปัจจุบันซึ่งการจัดสรรเบี้ยเลี้ยงดังกล่าวเป็นไปตามระเบียบของแต่ละกองทัพ

พชร อดีตทหารเกณฑ์ปี 2560 ระบุว่า ตนได้รับเบี้ยเลี้ยง 96 บาท โดยถูกหักเป็นค่าอาหาร 70 บาทต่อวัน แบ่งเป็นค่าข้าวสาร (เพื่อใช้หุงประกอบเลี้ยง) 20 บาท ค่ากับข้าว 42 บาท และค่าเชื้อเพลิง 8 บาท

แหล่งข่าวที่เป็นเจ้าหน้าที่สูทกรรมของกองทัพ ซึ่งมีหน้าที่ดูแลด้านการประกอบอาหารสำหรับเลี้ยงทหาร ระบุว่างบประมาณค่าอาหารของทหารเกณฑ์สำหรับแต่ละหน่วยจะถูกจัดสรรจากกรมบัญชีกลาง โดยคิดตามจำนวนทหารเกณฑ์ประจำการที่แต่ละค่ายสามารถรองรับได้

อย่างไรก็ตาม การเบิกจ่ายจะเป็นไปตามจำนวนทหารเกณฑ์ที่มีอยู่จริง โดยใช้การตรวจนับยอดกำลังพล เมื่อยอดกำลังพลไม่ครบตามจำนวนทหารเกณฑ์ที่ได้รับการจัดสรร เงินที่ถูกจัดสรรมาจะถูกยกยอดไปอยู่ในส่วนของกำไรการเลี้ยง เพื่อนำมาเบิกจ่ายในการจัดเลี้ยงเพิ่มเติม เช่น ขนมหรืออาหารพิเศษในมื้อต่อๆ ไป จากนั้นจึงเป็นการจ่ายจริงตามจำนวนหัวที่มี ซึ่งเมื่อมีการจ่ายจริงนั้นอาจจะมีเงินส่วนที่เหลืออีก เงินส่วนนี้จะถูกเก็บไปไว้พัฒนาหน่วย เช่น จัดซื้อพัสดุภัณฑ์ที่จำเป็น หรือบำรุงซ่อมแซมอาคาร

แนวทางดำเนินการเช่นนี้สอดคล้องกับระเบียบกองทัพบกว่าด้วยการใช้จ่ายเงินเบี้ยเลี้ยงประจำ พ.ศ. 2504 ที่ระบุในข้อ 6 ว่า “เงินที่หักไว้เป็นค่าประกอบอาหารเลี้ยง ถ้าปรากฏว่ายังมีเหลืออยู่เกินกว่าได้ใช้จ่ายไป เมื่อผู้มีอํานาจสั่งการเบิกจ่ายของหน่วยนั้นจะพิจารณาสั่งจ่ายเงินดังกล่าวนี้เพื่อประโยชน์แก่นายสิบพล ทหารกองประจําการ หรือ นักเรียนทหารในหน่วยนั้นได้ ในกรณีนี้ ได้แก่ ประกอบอาหารเลี้ยงพิเศษ จัดซื้อสิ่งของแจก จ่ายเป็นเงินให้รับไป (จ่ายคืนเป็นเงิน) จัดหาและซ่อมแซมสิ่งของใช้ราชการที่เป็นประโยชน์ และจัดให้มีมหรสพต่างๆ เพื่อความบันเทิง” และระเบียบในข้อ 8 ยังระบุอีกว่า “การจ่ายดังกล่าวให้ปฏิบัติตามระเบียบของทางราชการ”

ชี้อาหารดีไม่ดีอยู่ที่ผบ.หน่วย

“ค่าประกอบเลี้ยง ถ้าคำนวณข้อมูลดีๆ เราจะรู้เลยว่าจะต้องใช้เงินประกอบเลี้ยงเท่าไร แล้วจะประหยัดเงินได้ เมื่อคุณดำเนินการไปแล้วบางทียอดทหาร 100 คน มากินจริงๆ 50 คน คุณก็ประหยัดค่าอาหารได้ ก็จะกลายเป็นเงินนอกงบประมาณ” พล.ท.พงศกร รอดชมภู ส.ส.พรรคอนาคตใหม่ และประธานกรรมาธิการ (กมธ.) ความมั่นคงแห่งรัฐ กิจการชายแดน ยุทธศาสตร์ชาติและการปฏิรูปประเทศ สภาผู้แทนราษฎรกล่าว

ประธานกมธ. ความมั่นคงฯ อธิบายว่า เงินเหลือจากค่าประกอบเลี้ยงจะกลายเป็นเงินนอกงบประมาณ ส่วนมากแล้วจะนำไปบำรุงในสิ่งที่ขาด สมัยที่ตนประจำการการตรวจสอบจะดูจากสภาพของกองร้อย ถ้าผู้บังคับบัญชาชั้นสูงกว่าเห็นว่ากองร้อยโทรม ดูแลไม่ดี ผู้บังคับกองพันหรือกองร้อยที่ถือเงินก็อาจจะโดนลงโทษได้

พล.ท.พงศกรยอมรับว่า ระบบในกองทัพอนุญาตให้มีการใช้เงินนอกงบประมาณโดยผู้บังคับหน่วย แต่ไม่มีการตรวจสอบที่รัดกุม ทำให้เกิดการทุจริตเป็นวงจรขึ้น และไม่เพียงเกิดในระบบทหารเกณฑ์ ยังเกิดกับการจ่ายเบี้ยเลี้ยงที่มีกำลังพล เช่น โรงเรียนทหาร รวมถึงอีกปัญหาหนึ่งของส่วนต่างจากค่าอาหารก็คือระบบงบประมาณ โดยเมื่อทำโครงการเพื่อเบิกเงินราชการมา เมื่อสิ้นปีเงินงบประมาณดังกล่าวต้องไม่เหลือ เพราะการคืนเงินถือว่าหน่วยงานไม่มีประสิทธิภาพในการบริหารเงิน ซึ่งระบบดังกล่าวทำให้เกิดการทุจริตอื่นๆ เช่น ซื้อของสูงกว่าราคา เพราะจำเป็นต้องใช้เงินให้หมด

“การทุจริตปกติมันห้ามทำ ถ้าผู้บังคับบัญชารู้สึกต้องระมัดระวังเพราะถูกตรวจสอบตลอดเวลา เขาก็จะตรวจสอบลูกน้องเขา แต่ถ้าวันหนึ่ง (ทุจริต) ได้ สองวันก็ทำได้ ไปเรื่อยๆ สักพักนึงจะทุจริตเป็นขบวนการ ดังนั้นต้องทำให้ประชาชนมีอำนาจตรวจสอบให้ได้” อดีตนายทหารย้ำในประเด็นเกี่ยวกับระบบการบังคับบัญชาที่ใช้ตรวจสอบในปัจจุบัน และกล่าวว่าถ้าระบบเอื้อให้เงินไปอยู่กับการดูแลของบุคคลบุคคลหนึ่งจะเกิดช่องว่างในการทุจริตได้เสมอ

ด้านเจ้าหน้าที่สูทกรรมของกองทัพรายหนึ่งยอมรับว่ามีเงินที่เหลือจากการเลี้ยงจริง โดยเงินส่วนดังกล่าวจะถูกเก็บโดยผู้บังคับกองพัน ซึ่งจะไม่มีการตรวจสอบเงินส่วนนี้

“อยู่ที่ดุลยพินิจคนถือเงิน ผู้พันถือเงินเท่านี้ เขาให้เราไปจ่ายเท่านี้เวลาเขา (ผู้ตรวจสอบภายในของกองทัพ) มาตรวจสอบก็มาตรวจสอบเฉพาะหลักฐานเบิกจ่าย คุณภาพของอาหารดีไม่ดีก็อยู่ที่คนถือเงิน”

เจ้าหน้าที่สูทธรรมของกองทัพรายหนึ่ง

ทัพบกแจงขั้นตอนการจ่ายเบี้ยเลี้ยงโปร่งใส

พ.อ.วินธัย สุวารี โฆษกกองทัพบกยืนยันเกี่ยวกับความโปร่งใสของเบี้ยเลี้ยง ต่อสำนักข่าวสปริงนิวส์เมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน 2560 ว่า ปกติ เรื่องของเบี้ยเลี้ยงและเงินเดือนทหาร ในระดับหน่วยปฏิบัติ ส่วนใหญ่จะมีผู้บังคับบัญชาในระดับพันโทหรือพันเอกเป็นผู้รับผิดชอบ
ไม่ใช่ในระดับชั้นนายพล ซึ่งที่ผ่านมาเรื่องสิทธิประโยชน์ของทหารนั้น ทางผู้บังคับบัญชาให้ความสำคัญ โดยเน้นย้ำให้มีการดำเนินการอย่างเป็นธรรมโปร่งใสอยู่แล้ว

ทั้งนี้ผู้สื่อข่าวติดต่อไปยัง พ.อ.วินธัย สุวารี โฆษกกองทัพบก เพื่อสอบถามเกี่ยวกับเรื่องเบี้ยเลี้ยง และนโยบายเกี่ยวกับอาหารของทหาร แต่ยังไม่ได้รับการติดต่อกลับ

เชื่อทหารโปร่งใสเมื่อพลเรือนเข้มแข็ง

ศ.ดร.สุรชาติ บำรุงสุข นักวิชาการด้านยุทธศาสตร์ทางการทหาร และอาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุว่า องค์กรทหารเป็นหน่วยงานปิด เนื่องจากภารกิจของทหารเป็นการสงคราม จึงทำให้การออกแบบองค์กรไม่ได้มีในลักษณะเปิด แล้วยิ่งในประเทศไทยหรือประเทศที่ประชาธิปไตยยังไม่ได้เข้มแข็งมาก สังคมทหารจึงมีประตูที่ไม่ได้เปิดมากให้คนภายนอกเข้าไปรับรู้ เรื่องของงบประมาณทหารวันนี้ก็มีข้อถกเถียงจำนวนมาก เช่น กรณีงบซื้ออาวุธหรือทหารเกณฑ์ก็เป็นตัวอย่างของข้อถกเถียงด้านความโปร่งใส

“ในสังคมที่การเมืองเปิด (รัฐบาลพลเรือน) มีความเข้มแข็ง จะมีการตรวจสอบการใช้งบประมาณ เพื่อจัดซื้อยุทโธปกรณ์ เช่น องค์กรทหารในฝั่งตะวันตก แม้จะมีเรื่องของความลับทางการทหาร แต่ในหลายเรื่องจะถูกตรวจสอบในภาคการเมืองหรือภาคประชาสังคม หากจะปรับองค์กรทหารให้โปร่งใสมากขึ้น อาจจะต้องคิดถึงเรื่องที่ใหญ่กว่าคือการปฏิรูปทางการเมือง เพื่อให้ภาคพลเรือนมีความเข้มแข็งในการตรวจสอบกองทัพ” ศ.ดร.สุรชาติกล่าว

รศ.ดร.อนุสรณ์ อุณโณ คณบดีคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ในสังคมไทย กองทัพจำกัดการสั่งสอนให้ว่านอนสอนง่ายอยู่แต่ในองค์กรตัวเอง ต้องขึ้นตามสายบังคับบัญชาและไม่กระด้างกระเดื่องเท่านั้น โดยไม่สัมพันธ์กับการเป็นกลไกรัฐที่ควรอยู่ใต้การบังคับบัญชาของรัฐบาล หรือที่จริงแล้วสิ่งที่ทำงานไม่ให้กระด้างกระเดื่องขึ้นมาอาจไม่ใช่วินัยที่ฝึก แต่อาจเป็นความสัมพันธ์ทางสังคมที่กดอีกที เช่น ระบบรุ่น

“ง่ายที่สุด คือ สังคมต้องกลับมาเป็นสังคมที่เคารพในกฎเกณฑ์กติกา และทุกคนต้องอยู่ภายใต้อย่างทั่วหน้าและเสมอกัน ถ้าไม่เชื่อตรงนั้นยังไงก็แก้ปัญหาทุจริตไม่ได้ เพราะการคอรัปชั่นคือการยกเว้นกฎเกณฑ์กติกาเพื่อประโยชน์ส่วนตัว”

รศ.ดร.อนุสรณ์ อุณโณ คณบดีคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา

ชี้อาหารทหารต้องสอดคล้องหลักโภชนาการ

สำหรับแนวทางที่เหมาะสมแก่การกำหนดโภชนาการสำหรับทหาร รศ.ดร.สำอาง สืบสมาน
อาจารย์ประจำสาขาวิชามนุษย์นิเวศศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ระบุไว้ในเอกสารเกี่ยวกับแนวทางการจัดบริการสำหรับโรงเลี้ยงในค่ายทหารว่า แม้จะอยู่ภายใต้ข้อจำกัดด้านงบประมาณ แต่ต้องยึดหลักการที่จัดรายการอาหารที่สร้างความพึงพอใจแก่
ผู้บริโภคระดับหนึ่ง คำนึงถึงความน่ารับประทาน และความปลอดภัยในอาหาร

ทั้งนี้คู่มือธงโภชนาการที่ออกโดยกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ระบุว่า ผู้ใช้กำลังและแรงงานมากควรได้รับพลังงานอย่างน้อยวันละ 2,400 กิโลแคลอรี่ และกำหนดปริมาณอาหารแยกประเภทต่อวัน ได้แก่ ข้าว 720 กรัม ผัก 240 กรัม ผลไม้หั่นพอดีคำ 6-8 คำ เนื้อสัตว์ 180 กรัม นม 1 แก้ว และน้ำมันไม่เกิน 9 ช้อนชา

ใกล้เคียงกับข้อมูลบริมาณพลังงานที่ทหารควรได้รับต่อวันในเอกสาร Military Dietary Reference Intakes (MDRIs) ที่จัดทำโดยกระทรวงกลาโหมสหรัฐอเมริกา เผยแพร่เมื่อปี 2544 ที่ระบุว่าทหารชายควรได้พลังงานวันละ 3,350 กิโลแคลอรี/วัน และทหารหญิงควรได้รับพลังงานวันละ 2,300 กิโลแคลอรี่/วัน (คิดจากพื้นฐานของทหารสหรัฐอเมริกาที่ชายมีน้ำหนักเฉลี่ย 79 กิโลกรัม และหญิงมีน้ำหนักเฉลี่ย 62 กิโลกรัม)

ข้อมูลสถิติความต้องการทหารกองประจำการ (ทหารเกณฑ์) และรายละเอียดค่าสวัสดิการทหารกองประจำการ

%d bloggers like this: