Art & Culture Education Opinion Social Issue

‘ฆราวาสสถาน’ : แนวทาง ‘ทำวัด’ ให้สมสมัย ผ่านการออกแบบพื้นที่ให้เป็นของทุกคน

วัดต้องเป็นมากกว่าสถานที่ปฏิบิติธรรม กับแนวทางการออกแบบพื้นที่ ‘ทำ’ รองรับสำหรับทุกคน

เรื่อง : ศุภณัฐ หอมหวล
ภาพ : ปณิตา พิชิตหฤทัย

“คุณเข้าวัดครั้งสุดท้ายเมื่อไร”

เชื่อว่าหากตัดประสบการณ์ไม่เข้าวัดเพื่อร่วมงานศพ หรือเข้าวัดในวันสำคัญทางศาสนาแล้ว กิจกรรมการเข้าวัดทำบุญค่อยๆ ห่างไกลผู้คนในยุคปัจจุบันไปเสียแล้ว สอดคล้องกับผลสำรวจของ Pew Research Center ในปี 2019  ที่พบว่ามีคนไทยมากถึง 20% ที่เลือกไม่นับถือศาสนา โดยเลิกที่จะเข้าร่วมพิธีกรรม หรือการไปวัด เหลือไว้เพียงแนวคิดทางศาสนาบางอย่างเพียงเท่านั้น

 ในขณะเดียวกัน เรื่องอื้อฉาวเกี่ยวกับวัดหรือวงการผ้าเหลือง ต่างปรากฎอยู่บนหน้าสื่อเป็นประจำ ตลอดจนบทบาทหน้าที่ตัวของวัดที่กลายเป็น ‘พื้นที่ศักดิ์สิทธิ์’ มากกว่าจะเป็น ‘พื้นที่ทางสังคม’ ที่รองรับการทำกิจกรรมของผู้คนในชุมชนที่หลากหลาย เนื่องด้วยสังคมเมืองที่ผลักให้บ้านกับวัดค่อยๆ ห่างออกจากกัน จนกลายเป็นสังคมแบบ ปัจเจกชนนิยม (Individualism) จนทำให้วัดเสื่อมคลายลง กลายเป็น ศาสนสถานที่ใช้ในการประกอบพิธีกรรมเป็นหลัก

“ในเมื่อคนทำบุญให้วัด วัดจึงควรเป็นมากกว่าแค่พื้นที่ของพระ โดยเป็นพื้นที่ที่ทุกคนควรมีสิทธิได้ใช้”  – นก (นามสมมุติ)

“แม้ว่าวัดเป็นพื้นที่สาธารณะ ใครก็เข้าไปได้ก็จริง แต่พื้นที่ส่วนใหญ่ก็ถูกทำเพื่อประกอบพิธีกรรมเป็นหลัก ไม่ได้มีไว้เพื่อการใช้งานของคนทั่วไป” นก (นามสมมุติ) นักศึกษาชั้นปีที่ 4 กล่าวถึงประสบการณ์เข้าวัดครั้งสุดท้ายของเธอในการไปร่วมพิธีศพ นกมองว่าวัดไม่ตอบโจทย์กับชีวิตในปัจจุบัน จากพิธีกรรมที่เป็นภาษาบาลีที่ยากจะเข้าใจจึงเข้าถึงได้ยาก ตลอดจนศาลาอาคารที่ไม่ได้ใช้งานได้อย่างอเนกประสงค์

สอดคล้องกับ สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ พระนักคิดนักเขียน เจ้าของนามปากกา ‘ป.อ.ปยุตฺโต’ ได้มีข้อเขียนถึงเรื่องบทบาทวัดในสังคมไทยแต่เดิมในอดีตว่า วัดเป็นศูนย์กลางของสังคม ทำหน้าที่ทั้งทางศาสนา ทางการศึกษา ทางวัฒนธรรมและทางสังคม โดยมีบทบาททั้งในทางโลก อย่างการเป็นสถานศึกษา สถานพยาบาล สถานบังเทิง ควบคู่กับบทบาททางธรรมอันเป็นศูนย์รวมจิตใจของผู้คน 

ด้วยจำนวนวัดในไทยที่มีมากกว่า 40,000 แห่ง และพระสงฆ์กว่า 500,000 องค์ คือต้นทุนที่สังคมไทยเก็บสะสมกันมาอย่างยาวนาน จะเป็นการดีแค่ไหนหากเราสามารถยกระดับศักยภาพของพื้นที่และคนในวัด ให้ตอบโจทย์กับยุคสมัย เพื่อให้ ‘พุทธศาสนิกหน้าบัตรประชาชน’ กลับมาให้ความสนใจกับเรื่องธรรมะอีกครั้งหนึ่ง

นิสิตนักศึกษา จึงจะพาผู้อ่านไปสำรวจแนวทางปฏิรูปเพื่อพลิกฟื้นวัดให้เท่าทันกับสังคมสมัยใหม่ ผ่านการออกแบบพื้นที่ด้วยแนวคิดทางสถาปัตยกรรมสมัยใหม่ และการจัดกิจกรรมภายในวัดที่ร่วมสมัย ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ของผู้คนยุคนี้  ตลอดจนบทบาทของ ‘พระ’ ในการทำงานเชิงรุกในการช่วยเหลือและพัฒนาชุมชนโดยรอบ 

‘วัด’ ออกแบบร่วมกันได้

“สังคมไทยชอบพูดถึงเรื่องแย่ๆ มากกว่าแบบที่นำเสนอเรื่องดีๆ วิธีคิดในการทำงานของเรา คือทำให้เกิดตัวอย่างที่ดีแล้วก็นำเสนอออกไปสู่สังคมเพื่อให้เห็นว่า มันมีทางเลือกอยู่” – ประยงค์ โพธิ์ศรีประเสริฐ

ประยงค์ โพธิ์ศรีประเสริฐ ผู้อำนวยการโครงการวัดบันดาลใจ และอาจารย์ด้านสถาปัตยกรรม สถาบันอาศรมศิลป์​ ได้เล่าถึงที่มาและแรงบันดาลใจของโครงการดังกล่าว ถึงการลุกขึ้นมาพลิกฟื้น ‘วัดให้กลับมาเป็นศูนย์ร่วมจิตใจของผู้คน’ โดยเฉพาะในจุดเด่นของโครงการที่นำหลักทางสถาปัตยกรรมสมัยใหม่มาประยุกต์ในการปรับปรุงพื้นที่ภายในวัด

ประยงค์ โพธิ์ศรีประเสริฐ ผู้อำนวยการโครงการวัดบันดาลใจ และอาจารย์ด้านสถาปัตยกรรม สถาบันอาศรมศิลป์
ที่มาภาพ : สถาบันอาศรมศิลป์

โครงการวัดบันดาลใจ คือโครงการพัฒนาวัดต้นแบบ เพื่อเป็นสร้างแรงบันดาลใจและพื้นที่ตัวอย่างให้กับวัดทั่วประเทศ ผ่านการทำงานเชิงเครือข่าย  ทั้งสถาบันการศึกษา อย่างอาศรมศิลป์ ซึ่งเป็นหัวหอกร่วมกับพาร์ทเนอร์อย่าง หอจดหมายเหตุพุทธทาส เอเจนซี่โฆษณา ชูใจ กะ กัลยาณมิตร และกลุ่มภูมิสถาปนิก ฉมา (Shma) ในการร่วมระดมความคิดและลงมือทำอย่างเป็นรูปธรรม

ในบริบทสังคมไทย ‘วัด’ เป็นพื้นที่สาธารณะ (Public Space) ที่สำคัญ ที่นอกจากเป็นศูนย์ร่วมทางจิตวิญญานแล้ว ยังเป็นพื้นที่ในการพึ่งพิงของผู้คนในชุมชน อย่างการเป็นพื้นที่พักผ่อนหย่อนใจ หรือสถานสงเคราะห์ดูแล เป็นต้น และในทางเดียวกัน วัดก็ต้องอาศัยพึ่งพิงการอุปถัมภ์ดูแลจากญาติโยมรอบข้างอีกด้วย

“คนหลายคนไปคาดหวังว่าวัดจะสงบเหมือนสถานปฏิบัติธรรม แต่ในความจริงพระท่านต้องอุปถัมภ์เอื้อเฟื้อผู้คนมากกว่านั้น ทั้งคนหรือสัตว์จรจัด มันอยู่ในความเป็นวัดทั้งสิ้น” ประยงค์กล่าวให้เห็นถึงความสำคัญของวัดที่มีต่อชุมชน 

โดยหนึ่งในนโยบายสำคัญของ ‘โครงการวัดบันดาลใจ’ คือการเพิ่มพื้นที่สีเขียว และการออกแบบพื้นที่ใช้สอยภายในวัดให้ร่วมสมัยตอบสนองความต้องการของทั้งพระ ที่เป็นผู้อาศัย และทั้งชุมชนที่เป็นผู้คนผู้ใช้งานจริง

การปรับปรุงทัศนียภาพและการออกแบบวัดชลประทานรังสฤษฎิ์ จ.นนทบุรี ให้ร่วมสมัยกับสังคมและคงไว้ตามพุทธวิถีทาง
ที่มา : Wat Bun Dan Jai

ตัวอย่างเช่น วัดชลประทานรังสฤษดิ์ จ.นนทบุรี หนึ่งในวัดที่ได้ร่วมมือกับโครงการ คือการสร้างพื้นที่สีเขียว ให้ผู้คนได้พักผ่อนหย่อนใจ การสร้างออกแบบลานหินโค้ง ที่ซ่อนคติธรรมอยู่ในนั้น ตลอดจนการสร้างอาคารศูนย์การเรียนรู้ ที่เป็นทั้งห้องสมุด และอาคารอเนกประสงค์ที่เปิดให้ประชาชนทั่วไปเข้าใช้งานได้ 

“ไม่มีต้นไม้ ที่แก่นอยู่ได้โดยไร้เปลือก” ประยงค์กล่าวเปรียบเปรยถึงความสำคัญของการออกแบบสถานที่ของวัด ที่เปรียบเสมือนเปลือกไม้ที่ห่อหุ้มแก่น ซึ่งเป็นหลักธรรมคำสอนต่างๆ กล่าวคือการออกแบบสถานที่ให้ที่เหมาะสม ย่อมส่งผลต่อการเรียนรู้และปฏิบัติผู้ที่เข้ามาในวัด ซึ่งนับได้ว่าเป็นการส่งเสริมให้ผู้คนเข้าถึงคำสอน

“มันไม่ได้มีเฉพาะเรื่องของกายภาพหรือฮาร์ดแวร์อย่างเดียว จริงๆ ต้องทำควบคู่กันไปกับซอฟต์แวร์ คือ กิจกรรมภายในวัด เราจะเข้าไปร่วมมือกับวัดในการฟื้นฟูวัดให้กลับมาเป็นศูนย์กลางอีกครั้ง” ประยงค์กล่าวถึงความสำคัญของการฟื้นฟูกิจกรรมต่างๆ ภายในวัดให้มีความเหมาะสมกับสังคมในปัจจุบัน และสะท้อนให้เห็นวิถีชีวิตและอัตลักษณ์ของชุมชนดั้งเดิม โดยยกกิจกรรมอย่าง ดูหนังหาแก่นธรรม’ ที่เปลี่ยนศาลาอาคารภายในวัดให้กลายเป็นพื้นที่ฉายภาพยนต์ สารคดี และแอนิเมชั่นที่ร่วมสมัย ทั้งหนังนอกกระแสและในกระแส แม้แต่ภาพยนตร์ต่างประเทศจากค่ายดังอย่างดิสนีย์ยังมีการนำมาฉายในวัด พร้อมทั้งมีการล้อมวงเสวนาหลังหนังจบ โดยมีวิทยากรร่วมเสวนา ทั้ง พระ นักวิชาการ ไปจนถึงผู้กำกับ มาร่วมแลกเปลี่ยนพูดคุยข้อคิดเห็นที่ได้จากการรับชม

แม้จะมีข้อจำกัดทางด้านทรัพยากร ตลอดจนการลงพื้นที่กระบวนการทำงานที่ลงรายละเอียด ทำให้ตัวเลขของวัดที่เข้าร่วมโครงการนั้นมีอยู่อย่างจำกัด แต่โครงการ ‘วัดบันดาลใจ’ เป็นตัวอย่างให้เห็นถึง ความเป็นไปได้ใหม่ๆ ที่วัดจะดำรงอยู่ได้อย่างสมสมัย อีกทั้งยังบอกกับเราว่า วัดไม่ใช่เฉพาะเรื่องกิจของสงฆ์เท่านั้น แต่ต้องอาศัยทั้งองค์ความรู้ ทั้งองคาพยพทุกภาคส่วนในสังคม เพื่อร่วมกันกำหนด ‘หน้าตาของวัดที่สังคมอยากเห็น’ เพราะพื้นที่วัดไม่ใช่เพียงของผู้ใดเพียงลำพัง หากแต่วัดเป็นสมบัติของทุกคน

‘วัด’ สถานสร้างสรรค์  และสรรค์สร้าง ‘พระ’ นักพัฒนา

‘งานวัด’ เทศกาลขายของประจำปี หรือประจำวันสำคัญทางศาสนา กลายเป็นช่วงเวลาที่พื้นที่วัดถูกใช้งานมากที่สุด แต่มันจะดีแค่ไหนหากกิจกรรมภายในวัดมีความหลากหลาย และดึงดูดใจคนทุกรุ่นได้จริง

เมื่อ 4 ปีก่อน ‘โพธิเธียเตอร์’ เป็นนิทรรศการศิลปะสามมิติครั้งแรกของไทย ที่เนรมิตวัดให้กลายเป็นเธียเตอร์ฉายอนิเมชั่นอันล้ำสมัย จัดทำโดยกลุ่มศิลปินหน้าใหม่ที่ผสมผสาน แสง สี เสียง หยิบเรื่องราวในพระพุทธศาสนามาเล่า ซึ่งนับได้ว่าอีเวนต์ในวัดครั้งนี้ประสบความสำเร็จ ถึงขนาดต้องขยายวันจัดงานและเพิ่มรอบฉายกันทีเดียว 

นิทรรศกาล ‘โพธิเธียเตอร์’ ณ วัดสุทธิวราราม กรุงเทพฯ
ที่มา : a day

วัดสุทธิวราราม วัดเก่าแก่สมัยกรุงธนบุรี ที่มีอายุยาวนานกว่า 250 ปี ได้รับการเนรมิตผนังภายในโบสถ์ ให้กลายเป็นผืนผ้าใบรองรับแสงเสียงที่จัดแสดง ซึ่งเป็นการทำงานร่วมกันระหว่างกลุ่มศิลปินกับพระในวัดตั้งแต่ต้น บนทำเลที่ตั้งขนาดประมาณ 4 ไร่ ใจกลางชุมชมเมืองเก่าแห่งย่านเจริญกรุง ด้วยความโดดเด่นของอุโบสถใจกลางวัด ที่นอกจากเป็นที่ประดิษฐานของพระประธานแล้ว ยังมีงานจิตรกรรมฝาผนังภายในโบสถ์ที่มีความร่วมสมัย ประกอบกับการแขวนภาพจิตรกรรมของศิลปินไทย รวมถึงการจัดนิทรรศการศิลปะหมุนเวียนตลอดทั้งปี จนได้รับการขนานนามจากสื่อว่า ‘วัดแกลเลอรีอาร์ต’

พระสมุห์เกรียงศักดิ์ สิริสกฺโก ผู้อำนวยการศูนย์จิตตปัญญาภิวัฒน์ วัดสุทธิฯ และพระผู้สร้างสรรค์ผลงานศิลปะแนวนามธรรม (abstract art)

ธรรมะก็เหมือนงานศิลปะ หัวข้อเดียวแต่ก็ตีความวาดออกมาแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับสไตล์ใคร-สไตล์มัน และเราจะประยุกต์ให้เข้ายุคเข้าสมัยอย่างไร” – พระสมุห์เกรียงศักดิ์ สิริสกฺโก

พระสมุห์เกรียงศักดิ์ สิริสกฺโก ผู้อำนวยการศูนย์จิตตปัญญาภิวัฒน์ วัดสุทธิฯ และพระผู้สร้างสรรค์ผลงานศิลปะแบบนามธรรม (abstract art) กล่าวถึงแนวทางของวัดสุทธิฯ ที่นำแนวทางด้านศิลปะมาแฝงเข้ากับการสอนธรรมให้ง่ายต่อการเข้าถึงผู้คน รวมทั้งเป็นจุดขายให้นักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาเรียนรู้ให้ความสนใจ

การนำผลงานศิลปะมาเป็นตัวนำของวัดไม่ใช่เรื่องบังเอิญ หากแต่เป็นหนึ่งในแผนการปรับตัวของวัดให้ร่วมสมัยกับสังคม พระสมุห์เกรียงฯ เล่าถึงแนวทางการพัฒนาวัดโดย พระสุธีรัตนบัณฑิต เจ้าอาวาสวัดสุทธิฯ จัดให้พื้นที่ในวัดเข้าถึงผู้คนได้ง่าย อย่างการปรับเวลาปิดวัดเป็น 4 ทุ่ม เพื่อตอบโจทย์นักท่องเที่ยวได้ชมวัดในยามราตรี ตลอดจนการจัดสวนหินเซนหรือปฏิมากรรมรอบวัดที่แฝงไปด้วยคติธรรมต่างๆ 

มากไปกว่านั้นบนพื้นที่วัดสุทธิฯ ยังเป็นพื้นที่สีเขียว เต็มไปด้วยต้นไม้และลานกว้าง เป็นสถานที่หย่อนใจของชาวบ้านโดยรอบ และรองรับนักเรียนวัดสุทธิฯ ที่ตั้งอยู่ตรงข้ามวัดกว่า 4,000 คน เข้ามาใช้งานพื้นที่ได้หลังเลิกเรียนอีกด้วย

เด็กวัดคาเฟ่ ณ วัดวัดสุทธิวราราม

พระสมุห์เกรียงฯ เสริมว่า ทางวัดยังมีโครงการ ‘Suthi Creative and Innovation School’ ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่าง วัด-โรงเรียน-มหาวิทยาลัย ที่ได้สร้างเส้นทางอาชีพให้กับเด็กๆ รวมทั้ง โครงการเด็กแลกเปลี่ยนจากสหรัฐอเมริกา ที่เป็นอาสาสมัครเข้ามาสอนภาษาอังกฤษให้กับทั้งพระเณร และบุคคลภายนอกทั่วไปได้เรียนรู้ ตลอดจนโครงการที่วางแผนไว้ในอนาคต ก็มีเป้าหมายในการสร้าง ‘พื้นที่การเรียนรู้’ ในศาสตร์ที่หลากหลาย

สำหรับศาลาเอนกประสงค์ อาคารสูง 4 ชั้น ที่นอกจากทำหน้าที่เป็นห้องพักรองรับพระสงฆ์ที่เดินทางมาจากทั้งไทยและเทศแล้ว ยังเปิดห้องให้ประชาชนทั่วไปสามารถเข้าพักฟรี หรือในช่วงการแพร่ระบาดโควิด-19 อาคารแห่งนี้ก็ยังถูกเปลี่ยนเป็นศูนย์พักพิง ‘สถานที่แยกกักตัวที่วัด’ (Temple Isolation) ในการดูแลทั้งชาวบ้านและแรงงานข้ามชาติในชุมชน พระสลัดผ้าเหลืองสวมชุดขาวทำหน้าที่เป็นด่านหน้าในการตรวจหา ดูแล จนถึงเผาศพผู้ป่วยโรคโควิด

ศาลาเอนกประสงค์ วัดสุทธิวราราม กรุงเทพฯ ที่เคยถูกใช้เป็นสถานที่พักพิงผู้ป่วยโควิด-19 และเปิดให้ประชาชนสามารถเข้าพักได้ฟรี หากเดินทางมาจากต่างจังหวัด

“วัดก็ยังมีคุณค่าในเชิงสถาปัตยกรรม เป็นโบราณสถานในการท่องเที่ยวได้ แต่ในสังคมเมืองทุกวันนี้ วัด บ้าน และชุมชนเริ่มไม่มีปฏิสัมพันธ์กัน บางอย่างในวัดที่มันยึดติดกับธรรมเนียมมากเกินไป ก็ควรต้องปรับเปลี่ยน อย่างพิธีรีตองที่ใช้ระยะเวลาเยอะๆ  ก็เปลี่ยนมาเน้นเนื้อหาสาระให้มันมากยิ่งขึ้น” พระสมุห์เกรียงฯ กล่าว

‘ความอาร์ต’ หรือ ‘ความล้ำ’ ของวัดสุทธิฯ นั้นไม่ได้เกิดจากความต้องการจะทำตัวให้ผิดแผกหรือบิดเบือนศาสนา หากแต่เป็นความพยายามหาที่ยืนของพุทธศาสนา ท่ามกลางสังคมเมืองที่เปลี่ยนวิถีชีวิตของผู้คนอย่างรวดเร็ว ตลอดจนการเปิดพื้นที่ ของวัดอย่างศาลาอาคารอเนกประสงค์ และการออกแบบกิจกรรมที่สร้างสรรค์ซึ่งไม่ได้จำกัดแค่เรื่องพุทธๆ อย่างการสวดมนต์ ทำวัตรเท่านั้น

‘วัด’ กับพื้นที่ทางเลือก แห่งการเรียนรู้

ในสภาพสังคมเมืองปัจจุบัน ‘ห้าง’ ได้กลายเป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจ ที่นอกเหนือไปจาก บ้านและที่ทำงานของผู้คน ไม่ว่าจะเป็นการเดินเที่ยวเล่น การออกกำลังกาย การชมนิทรรศการ ต่างก็ถูกจัดขึ้นในห้าง แม้ในทางปฏิบัติแล้ว ตัวอาคารของห้างสรรพสินค้า จะเป็นพื้นที่เปิดให้ทุกคนเข้าไปใช้งานได้จริง อย่างไรก็ดี ในมุมมองของห้างสรรพสินค้า ‘ผู้คน’ ก็คือ ’ลูกค้า’ จุดประสงค์เรื่องการค้านั้นเป็นเป้าหมายหลัก

ในขณะที่เมืองหลวง อย่าง กรุงเทพมหานครเต็มไปด้วยห้างสรรพสินค้า แต่สวนสาธารณะหรือพื้นที่สีเขียวกลับสวนทางกัน โดยผลสำรวจในปี 2563 พบว่า จำนวนพื้นที่สีเขียวต่อประชากรมีเพียง 7.94 ตร.ม. ซึ่งต่ำกว่าเกณฑ์ที่องค์การอนามัยกำหนดไว้ อันสะท้อนให้เห็นถึง การขาดแคลนพื้นที่สาธารณะของไทยเป็นอย่างยิ่ง

สอดคล้องกับผลสำรวจในปี 2565 โดย ศูนย์ความรู้นโยบายเด็กและครอบครัว (คิด for คิดส์) พบว่าเยาวชนไทยอายุ 15 – 25 ปีขาดแหล่งการเรียนรู้ที่ใกล้บ้าน และส่วนใหญ่มักกระจุกตัวอยู่แค่ตามเมืองใหญ่ๆ เท่านั้น โดยเฉพาะกับแหล่งเรียนรู้อย่างพิพิธภัณฑ์ หอศิลป์ และอื่นๆ ที่ไม่มีในหลายจังหวัดของไทย

เมืองแห่งการเรียนรู้ (Learning City) กลายเป็นประเด็นที่ผู้คนได้ให้ความสนใจทั่วโลก ในการขับเคลื่อนพัฒนาเมืองด้วยองค์ความรู้ของพลเมือง รวมทั้งในประเทศไทยก็ได้ให้ความสำคัญกับประเด็นดังกล่าว โดย พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 มาตรา 25 กำหนดให้เกิดส่งเสริม ‘แหล่งการเรียนรู้ตลอดชีวิต’ อย่าง ห้องสมุด สวนสาธารณะ ฯลฯ ด้วยเช่นกัน

รศ.ดร.สุวิธิดา  จรุงเกียรติกุล อาจารย์ประจำภาควิชาการศึกษาตลอดชีวิต คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

“สังคมแห่งการเรียนรู้ (Learning Society) เกิดขึ้นเองไม่ได้ ต้องสร้างการเรียนรู้ที่ดีขึ้นมา” 

รศ.ดร.สุวิธิดา  จรุงเกียรติกุล อาจารย์ประจำภาควิชาการศึกษาตลอดชีวิต คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงความสำคัญของแหล่งเรียนรู้ ในการสร้างบรรยากาศแห่งการเรียนรู้ของผู้คนในสังคมไทย จากภายนอก (Physical climate) คือเป็นพื้นที่หรือสถานที่จำนวนและคุณภาพมากเพียงพอ และจากภายใน (Physchological climate) คือทัศนคติเรื่องการเรียนรู้ของผู้คน ที่ไม่ได้จำกัดอยู่แค่เด็ก เยาวชน แต่เป็นการเรียนรู้ตลอดระยะเวลาของชีวิต 

โดยเฉพาะใน พ.ร.บ. การส่งเสริมการเรียนรู้ พ.ศ.2566 มีการส่งเสริมให้เกิดการเรียนรู้ตลอดชีวิต (Life Long Learning) โดยเครือข่ายในชุมชน ทั้งครอบครัว โรงเรียน หรือแม้กระทั่งวัด ก็เป็นพื้นที่ที่เหมาะสมกับการเรียนรู้ ลองจินตนาการดูว่าจะดีแค่ไหนถ้าวัดใกล้บ้านมากกว่าสี่หมื่นแห่งทั่วประเทศ กลายเป็นแหล่งเรียนรู้ที่มีความหลากหลายตามแต่ละท้องถิ่นชุมชนดังตัวอย่างของ วัดพระสิงห์วรมหาวิหาร จ.เชียงใหม่ ที่นอกจากความงดงามด้านจิตรกรรม เป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญของจังหวัดแล้ว วัดพระสิงห์ฯ ยังเปิดเป็น ‘ศูนย์การเรียนรู้ภาษาล้านนา’ โดยเปิดสอนให้แก่ประชาชนที่สนใจ ‘ตั๋วเมือง’ (อักษรล้านนา) ได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย มีหลักสูตรตั้งแต่ระดับชั้นต้น ถึงระดับสูงพิเศษ เพื่อเป็นการสืบสานอนุรักษ์วัฒนธรรมท้องถิ่นที่กำลังค่อยๆ หายไปจากภาคเหนือ

ศูนย์การเรียนรู้ภาษา จารีตประเพณี และวรรณกรรมล้านนา วัดพระสิงห์ จ.เชียงใหม่
ที่มาภาพ : Lanna Nakornpink

จากการตั้งศูนย์การเรียนรู้ภาษา จารีตประเพณี และวรรณกรรมล้านนา วัดพระสิงห์ในปี พ.ศ.2554 ได้ผลิตลูกศิษย์กว่า 1,000 คน ตั้งแต่นักศึกษา ข้าราชการเกษียณ ตลอดจนชาวต่างชาติ อย่างชาวญี่ปุ่น ฝรั่งเศส รัสเซีย ที่ได้เข้ามาเรียนรู้ สะท้อนให้เห็นถึงการใช้งานพื้นที่วัดในรูปแบบการเรียนรู้ใหม่ๆ ที่ทั้งสามารถอนุรักษ์วัฒนธรรมท้องถิ่น และดึงดูดคนภายนอกให้อยากเข้ามาเรียนรู้ทำความเข้าใจอีกด้วย 

ใบประกาศรับสมัครผู้สนใจในภาษาล้านนา โดยมีแบ่งเป็นคลาสเรียนภาษาล้านนาตั้งแต่ระดับชัี้นต้น-สูงพิเศษ
ที่มาภาพ : Lanna Nakornpink

หากมองวัดเป็นมากกว่า ‘ตึกอาคาร’ ที่มีเพียงคุณค่าด้านสถาปัตยกรรม หรือศาสนสถานประกอบพิธี แต่มองให้เห็นว่าวัดคือ ‘พื้นที่แห่งชีวิตของชุมชม’ ที่ประกอบด้วยกลุ่มคนที่หลากหลาย น่าจะช่วยให้วัดสามารถออกแบบกิจกรรมตอบโจทย์กับผู้คนในพื้นที่อย่างแท้จริง

“ถ้าวัดอยากเป็นแหล่งเรียนรู้ ไม่ใช่พระอย่างเดียวที่เรียนรู้ แต่ต้องเปิดให้คนทั่วไปเรียนรู้และพัฒนาตัวเองได้จากการเข้าวัด ไม่ใช่เพียงพิธีกรรมทางศาสนา แต่ต้องออกแบบกิจกรรมสื่อสารความรู้เหล่านั้นด้วย” สุวิธิดา กล่าวถึงการส่งเสริมบทบาทการทำงานของเชิงรุก (Active) ของวัด ในการเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างบรรยากาศในสังคมแห่งการเรียนรู้ของไทย

“วัดที่ดีมีหน้าตาเป็นอย่างไร” คงจะไม่ได้มีคำตอบที่ตายตัว หรือคำตอบที่ดีที่สุด แต่ในสภาวะสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป คงจะไม่มีทางใดที่วัดจะเป็นพื้นที่แช่แข็งทางศาสนา นอกเสียการปรับตัวเองตามให้สมสมัย ผ่านการเปิดพื้นที่และกิจกรรมใหม่ๆ ที่อาจไม่จำเป็นต้องเต็มไปด้วยพิธีกรรมสารพัด แต่ตรงตามความต้องการของผู้คนยุคนี้ ที่หันหลังให้เรื่องศาสนา  อาจหันกลับมาเริ่มต้นเข้า ‘วัด’ อีกครั้งหนึ่ง 

เฉกเช่น วัดสุทธิฯ ที่นำศิลปะมาดึงดูดผู้คน วัดพระสิงห์ฯ ที่เป็นแหล่งเรียนรู้ภาษาท้องถิ่น ตลอดจนวัดชลประทานรังสฤษฎิ์ ที่ปรับพื้นที่ให้กลายเป็นปอดสีเขียวของคนเมือง ฯลฯ การปรับตัวของวัดเหล่านี้สะท้อนให้เห็นถึงว่า ยังมีพระสงฆ์อีกหลายส่วนที่รับรู้และเข้าใจถึง pain point ของคนรุ่นใหม่ซึ่งไม่ได้มองวัดเหมือนก่อนที่ผ่านมา 

หากลองมองในมุมธุรกิจดูแล้ว ‘ฆราวาสสถาน’ การเปลี่ยนมุมมองที่มีต่อการใช้พื้นที่วัด ท่ามกลางความขาดแคลนพื้นที่สาธารณะของไทย การขยายพื้นที่ไปหากลุ่มเป้าหมายใหม่ๆ คงเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ หากศาสนาพุทธไม่ได้อยากถูก Disrupt หายไปจากสังคมไทย 

อ้างอิง

  1. พระเทพเวที (ประยุทธ์ ปยุตฺโต). (2541). กฐินสู่ธรรม. https://www.watnyanaves.net/en/book-reading/3/14
  2. วัดบันดาลใจ. แนวคิดวัดบันดาลใจ. https://watbundanjai.org/
  3. สรวิส มา. (2565). เพิ่มแหล่งเรียนรู้ใกล้บ้าน ให้เยาวชนไทยเข้าถึงจริง. https://www.the101.world/learning-space-for-youth/
  4. ศูนย์ข้อมูลกลางด้านศาสนา. สถิติเครือข่ายศาสนสถาน. https://e-service.dra.go.th/chart_place_page
  5. สำนักงานสถิติแห่งชาติ . (2565). สถิติบุคลากรและศาสนสถานทางศาสนาในประเทศไทย. https://ittdashboard.nso.go.th/preview.php?id_project=56
  6. The Standard. (2565). เปิดข้อมูล ‘สวนสาธารณะ-พื้นที่สีเขียว’ ใน กทม. พื้นที่คนเข้าถึงและใช้ประโยชน์ได้จริงมีเท่าไรกันแน่. https://thestandard.co/key-messages-parks-green-areas-in-bangkok/
  7. ThaiPBS. (2564).ผลสำรวจพบคนไม่นับถือศาสนากว่า 1,100 ล้านคนทั่วโลก. https://www.thaipbs.or.th/news/content/269750
  8. พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542
  9. พระราชบัญญัติส่งเสริมการเรียนรู้ พ.ศ.2566