Lifestyle

‘คนไทยกับลอตเตอรี่’ รู้ว่าเสี่ยงแต่คงต้องขอลอง

มาร่วมสำรวจพฤติกรรมการเล่นหวยของคนไทย พร้อมเผยสาเหตุว่าคนไทยชอบเล่นหวยเพราะอะไร นอกเหนือจากเพราะได้ "เงิน"

เรื่อง : วรรณิกา อุดมสินวัฒนา

รางวัลเลขท้ายสองตัว เลขที่ออก..

ประโยคข้างต้นอาจคุ้นหูผู้อ่านอยู่ไม่น้อย เป็นที่ทราบกันว่าดีว่าสลากกินแบ่งรัฐบาล หรือลอตเตอรี่ หรืออีกชื่อที่เราเรียกสั้นๆ ว่า ‘หวย’ มีจุดกำเนิดแรกเริ่มในปี พ.ศ. 2417 โดยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้โปรดเกล้าฯ พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้กรมทหารมหาดเล็กออกลอตเตอรี่เป็นครั้งแรกในประเทศไทย เนื่องในงานพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษา นับแต่นั้นมา หวยก็เป็นสิ่งที่อยู่คู่คนไทยมายาวนานกว่าเกือบ 150 ปี 

ลอตเตอรี่ดังกล่าว ถูกนำเข้าโดยชาวอังกฤษชื่อ เฮนรี่ อาลบาสเตอร์ (Henry Alabaster) ผู้อำนวยการออกลอตเตอรี่ตามแบบยุโรป โดยเป้าหมายแรกของการนำเข้าลอตเตอรี่นั้น มีขึ้นเพื่อช่วยเหลือพ่อค้าต่างชาติที่นำสินค้ามาร่วมแสดงในการจัดพิพิธภัณฑ์ที่ตึกคองคาเดีย (ศาลาสหทัยสมาคม ในปัจจุบัน) ในพระบรมมหาราชวัง 

เนื่องจากลอตเตอรี เป็นกิจกรรมที่ต้องใช้โชค ดวง หรือบางคนก็อาจใช้การคำนวณแบบต่างๆ เข้ามาประกอบ ลอตเตอรีจึงเป็นประหนึ่งกิจกรรมบันเทิงที่เร้าความรู้สึก และคลายเครียด  ไม่ต่างกับกิจกรรมบันเทิงอื่นๆ ในยุคนี้ ไม่ว่าจะเป็นการชมภาพยนตร์ หรือ การเล่นเกม 

ลอตเตอรีในยุคสมัยก่อน มีราคาสลากละ 5 บาท เงื่อนไขการจ่ายรางวัลจะเป็นสัญญาเงินกู้ของคณะกู้เงินในการสงคราม โดยสภารักชาติแห่งประเทศอังกฤษ สาขากรุงเทพฯ เป็นผู้ลงนามและประเทศสหพันธรัฐมลายูเป็นผู้ค้ำประกัน

ในเวลาถัดมา ลอตเตอรี่ได้กลายเป็นที่นิยมของประชาชน เมื่อรัฐฯ เล็งเห็นความสำคัญ จึงพิจารณาออก “ลอตเตอรี่รัฐบาลสยาม” ในปี พ.ศ. 2476 และนำรายได้จากลอตเตอรี่เหล่านั้นมาใช้สำหรับการศึกษาและพยาบาล จนในปี พ.ศ. 2478 ได้ออกจำหน่าย “สลากกินแบ่งรัฐบาล” เป็นครั้งแรก โดยมีการออกรางวัล 2 งวดต่อเดือน ในวันที่ 1 และ 16 นับจากนั้นเป็นต้นมา แม้จะมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบการเล่นอยู่เสมอ ตามยุคสมัย แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าคนไทยอยู่กับลอตเตอรี่หรือสลากกินแบ่งรัฐบาลมาอย่างช้านาน และอัตราการเล่นก็เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เช่นเดียวกัน

สถิติการซื้อสลากกินแบ่งรัฐบาลจาก ‘ไทยรัฐ’ ระบุว่า ในปี พ.ศ. 2564 จำนวนคนไทยที่ซื้อสลากกินแบ่งรัฐบาลมีมากถึง 24,626,233 ล้านคน โดยเฉลี่ยคิดเป็นจำนวนเงิน 2.5 แสนล้านบาทต่อปี ซึ่งเป็นจำนวนเงินที่เท่ากับราคาโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ในส่วนของผู้เล่นนั้น ประกอบไปด้วยหลากหลายช่วงวัย ตั้งแต่ 19 ปี จนถึง 60 ปีขึ้นไป  

นิสิตนักศึกษาได้มีโอกาสพูดคุยกับกลุ่มผู้เล่นจำนวน 4 คน จากหลากหลายช่วงวัย โดยทั้ง 4 คนล้วนเล่นลอตเตอรีด้วยเหตุผลที่แตกต่างกันออกไป แต่เป็นที่น่าสนใจว่า ‘เงินรางวัล’ กลับมิใช่เหตุผลเดียวในการเลือกเล่นลอตเตอรี่  

ที่มา: ฐานเศรษฐกิจ

เล่นหวยทำไม หากไม่ใช่เพราะเงิน?

“เล่นเอาสนุกอย่างเดียว บางทีไม่มีอะไรทำ ก็ออกไปซื้อเลข” นายอดัม (นามสมมติ) วัย 67 ปี กล่าว

นายอดัมเสริมว่า เขาเล่นลอตเตอรีมา 10 กว่าปีแล้ว ทว่าเล่นโดยไม่ได้คาดหวังเงินรางวัล เพราะมีความเห็นว่าลอตเตอรีเพียงอย่างเดียวไม่สามารถทำให้คนเราร่ำรวยได้ ถึงแม้อาจมีโอกาสน้อยๆ ซ่อนอยู่ในตัวเลข 6 ตัวบนกระดาษก็จริง แต่โอกาสที่ว่าเป็นเพียงเสี้ยวเดียวของการเสี่ยงทายเท่านั้น การเล่นลอตเตอรีของนายอดัมจึงเป็นเพียงหนึ่งในสิ่งบันเทิงของชีวิต เมื่อไรที่เล่นแล้วถูกรางวัลขึ้นมา ก็จะถือเป็นกำไรเล็กๆ น้อยๆ และผลพวงจากความโชคดี

ในอีกทางหนึ่ง ปาล์ม-ภัทรธร สุดาจันทร์ พนักงานบริษัทเอกชนวัย 29 ปี มีเหตุผลในการเล่นลอตเตอรีที่แตกต่างออกไป โดยเขาเล่าว่า การเล่นลอตเตอรีของเขานั้น มีไว้เพื่อ ‘เข้าสังคม’

“เคยเล่นตั้งแต่อายุ 20 ต้น ๆ แล้วก็เลิกเล่นไป แต่พอได้เริ่มทำงาน คนส่วนมากในบริษัทเขาเล่นหวยหมดเลย ทุกวันที่ 1 กับวันที่ 16 ช่วง 3-4 โมง เขาจะเริ่มมานั่งลุ้น ๆ ด้วยกันแล้ว เราเลยรู้สึกว่าเล่นบ้างก็ไม่เสียหาย เพราะเล่นแต่ละครั้งเราจะซื้อไม่เยอะ ถือคติว่าจะไม่ซื้อเกิน 1,000 บาท”

เล่นไปเล่นมาก็สนุกดีเหมือนกัน ถึงไม่ถูกหวยก็ไม่เป็นไร เพราะก็มีเพื่อนในที่ทำงานโดนหวยกินไปด้วยกัน

ปาล์ม-ภัทรธร สุดาจันทร์ ผู้เล่นสลากกินแบ่งรัฐบาลกล่าว

ปัจจุบัน ปาล์มยังคงเล่นลอตเตอรีต่อเนื่องมาเรื่อยๆ แล้วเผยว่ายังไม่มีท่าทีจะเลิกเล่น เนื่องจากเป็นคนชอบเล่นกิจกรรมเสี่ยงทายอยู่แล้ว พอมีคนมาร่วมลุ้นกันก็ยิ่งสนุกขึ้นไปอีก อีกทั้งยังช่วยในการเข้าสังคมกับที่ทำงาน 

อีกหนึ่งผู้เล่นลอตเตอรี่ กันต์-กันตพงศ์ รัตนสว่างวงศ์ นิสิตคณะนิเทศศาสตร์ วัย 20 ปี กล่าวว่า เมื่ออายุถึงเกณฑ์ในการซื้อลอตเตอรี ก็ตัดสินใจเล่น ซึ่งเป็นการเล่นโดยไม่คิดอะไร 

“ครั้งแรกที่เล่นคือได้เลขมาจากทะเบียนรถที่เกิดอุบัติเหตุ เล่นครั้งแรกก็ถูกเลย มันเลยรู้สึกเสพติดความรู้สึกตอนที่เดาถูกนิดหน่อย เหมือนเป็นความรู้สึกมีหวัง ก็เลยตัดสินใจเล่นต่อเนื่องมาเรื่อยๆ”

ความเห็นข้างต้นทั้งหมดสอดคล้องกับข้อมูลจากงานวิจัย เรื่อง“เศรษฐกิจหวย : มุมมองการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างเศรษฐกิจสังคมไทยผ่านธุรกิจการพนัน” (2554) โดย นพนันท์ วรรณเทพสกุล กล่าวถึงพฤติกรรมการเล่นลอตเตอรีของคนไทยว่า การเล่นลอตเตอรีส่งผลต่อ ‘ความรู้สึก’ ของผู้เล่น เนื่องจากลอตเตอรีเป็นการเสี่ยงโชคกับตัวเลข มีวิธีการเล่นที่ไม่ยาก และสามารถสร้างความมั่นใจแก่ผู้เล่นได้ว่าจะไม่ถูกโกง 

ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ผู้เล่นลอตเตอรีตัดสินใจซื้อเลขในแต่ละงวด ประกอบไปด้วย ความชอบ ความรู้สึกตื่นเต้นในการเสี่ยงโชค รวมถึงความสนุกสนานที่ได้รับ นอกจากนี้ นพนันท์ ได้เสริมว่าโดยส่วนมากผู้เล่นมักใช้เงินเก็บสะสมส่วนหนึ่งมาเล่น จึงไม่คิดว่าตนเองนั้นต้องเดือดร้อนเมื่อทายเลข
ไม่ถูก

อย่างไรก็ดี สาเหตุในการเล่นลอตเตอรีอาจผกผันไปกับปัจจัยส่วนตัวของแต่ละบุคคล ป้าสวย (นามสมมติ) ผู้ประกอบอาชีพขายลอตเตอรีในย่านเจริญกรุง วัย 52 ปี กล่าวว่า

“บางคนได้เลขมาเยอะ ก็สั่งมากหน่อย บางคนเงินไม่เยอะ ก็มาซื้อใบสองใบ พอเก็บไว้เสี่ยงดวงเล่นๆ ล่าสุด ป้าเจอคนมาซื้อ 100 ใบ ซื้อไปแจกกฐิน” ป้าสวยกล่าว อีกทั้งยังเสริมเพิ่มเติมว่าแม้ตัวเองจะประกอบอาชีพขายลอตเตอรี่ แต่การทำอาชีพนี้นั้น ก็ไม่ได้แปลว่าเธอจะมีแต้มต่อในการได้ ‘เลขเด็ด’ มาครอบครอง เพราะสุดท้ายแล้ว เลขที่ออกก็ขึ้นอยู่กับโชคชะตา เธอจึงเลือกเล่นอย่างพอประมาณ 

“คนที่มาซื้อบ่อยๆ เรียกได้ว่าเสพติดก็มี แต่เขาก็เป็นคนที่มีสตางค์มากพอ ถึงซื้อได้ทุกงวด งวดละหลายๆ ใบ”

แบ่งปันกลยุทธ์

บทวิจัยได้เผยว่า “ปัจจัยหนึ่งที่ส่งผลกระทบอย่างสำคัญต่อพฤติกรรมการเล่นหวยในสังคมไทย คือ ผู้เล่นได้ ‘เลขเด็ด’ มา ซึ่งอาจมาจากหลากหลายแหล่ง เช่น พระ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ สิงสาราสัตว์ หรือสิ่งแปลกประหลาด” เช่นเดียวกับกลุ่มผู้เล่นที่นิสิตนักศึกษาได้สอบถาม แต่ละบุคคลมีวิธีการเลือกเลขที่แตกต่างกันออกไป ผสมปนเปมาจากหลากหลายวิธี

“ความนิยมในเรื่องหวยของคนไทย มักมาควบคู่กับกระแสความเชื่อต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ รวมถึงความเชื่อในเรื่องของความฝัน ที่นำมาช่วยในการทำนายตัวเลขเช่นเดียวกัน”

นพนันท์ วรรณเทพสกุล กล่าวในบทวิจัยเรื่อง “เศรษฐกิจหวย : มุมมองการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างเศรษฐกิจสังคมไทยผ่านธุรกิจการพนัน”

เหตุผลหนึ่งมาจากคนไทยนับถือศาสนาพุธมาเป็นเวลานาน อีกทั้งยังได้รับเอาความเชื่อของศาสนาอื่น เช่น พราหมณ์เข้ามาด้วย จึงมักจะเชื่อในเรื่องของเทพเจ้า บรรพบุรุษ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ ความฝัน รวมถึงพิธีกรรมต่างๆ เป็นต้น

เมื่อนำความเห็นข้างต้นมาเชื่อมโยงกับวิธีการเลือกเลขสลากกินแบ่งรัฐบาลของกลุ่มผู้ให้สัมภาษณ์ ทำให้นิสิตนักศึกษาค้นพบความสอดคล้องอยู่ไม่น้อย

“เราซื้อจากเลขในชีวิตประจำวัน เช่น เคยมีคนจ้างไปให้เป็นตากล้องสำหรับงานงานหนึ่ง พอเราถ่ายเสร็จ เราก็มานั่งดูว่าถ่ายไปทั้งหมดกี่ไฟล์ แล้วก็เอาเลขไฟล์ไปซื้อหวย ปรากฎว่าถูก มีอีกครั้งหนึ่ง ฝันถึงแฟนเก่า ก็เลยเอาวันเกิดแฟนเก่าไปซื้อเลข” กันต์กล่าว

“ส่วนใหญ่จะฝันเห็นเลข ถ้าตื่นมาแล้วจำได้ก็ไปจดไว้ แล้วก็ไปซื้อ” อดัมกล่าว

“ถ้าตามปกติ จะซื้อเลขที่มันติดอยู่ในหัวเรา แต่ก็มีอีกทางเลือกหนึ่งที่เราใช้บ่อยเวลานึกไม่ออกว่าจะซื้อเลขอะไร คือจะเข้าไปดูยอดผู้ติดตามของดาราที่ชอบ แล้วก็เอาเลขนั้นมาซื้อ เช่น ดาราที่เราชอบมีคนติดตาม 847k เราก็อาจจะซื้อเลขท้าย 847 หรือ 47 เอา” ปาล์มเล่า

สังเกตได้ว่าวิธีการเลือกเลขจากกลุ่มตัวอย่างข้างต้น มักผสมปนเปไปกับความชอบ ความคิด ชีวิตประจำวัน สิ่งศักดิ์สิทธิ์ และความฝัน ซึ่งกลยุทธ์เหล่านี้เป็นตัวสะท้อนสภาพสังคมไทย ที่คนไทยยึดโยงตัวเลขเข้ากับความเชื่อของตน

คนไทยชอบเล่นหวย สื่อไทยก็ชอบเล่นหวย

ตามที่กล่าวไปข้างต้นว่าลอตเตอรี่ หรือสลากกินแบ่งรัฐบาลอยู่คู่คนไทยมายาวกว่า 150 ปี สื่อไทยก็อยู่คู่กับลอตเตอรี่มาเป็นเวลานานเช่นเดียวกัน เนื่องจากแหล่งข่าวหลายแห่งมีการจำแนกหัวข้อ “หวย” ไว้ ในเว็บไซต์ออนไลน์ของตน โดยเนื้อหาในหัวข้อดังกล่าวมักประกอบไปด้วยการแจกเลขเด็ด ปรากฎการณ์เหนือธรรมชาติที่เกี่ยวข้องกับตัวเลข หรือการให้พื้นที่สื่อผู้ถูกรางวัลสลากกินแบ่งรัฐบาล เป็นต้น

ทว่าการที่สื่อไทยให้ความสำคัญกับเลขเด็ด หวย และความเชื่อเหนือธรรมชาตินำไปสู่ข้อสงสัยที่ว่าเหตุใดสื่อไทย ถึงให้พื้นที่กับเรื่องนี้?

คิดว่าเพราะว่ามีคนดูหลายคนชอบดูข่าวหวย คนไทยส่วนใหญ่เชื่อเรื่องเหนือธรรมชาติอยู่แล้ว ยกตัวอย่าง แค่หมู่บ้านเล็กๆ หมู่บ้านเดียว ก็ทำให้คนขายลอตเตอรี่เงินสะพัดได้ งวดละเป็นแสน ข่าวคนออกลูกในรถ ก็ให้ซื้อตามเลขทะเบียนรถ บางคนมีเงินหน่อยก็ซื้อเล่นพอได้ลุ้น

ปาล์ม-ภัทรธร สุดาจันทร์ ผู้เล่นสลากกินแบ่งรัฐบาลกล่าว

แม้ความเห็นของปาล์มมิอาจเป็นข้อสรุปทั้งหมดได้ว่าสื่อไทยให้ความสนใจกับเรื่องดังกล่าวเป็นพิเศษ แต่ก็ทำให้ผู้อ่านเข้าใจได้ในระดับหนึ่งว่าการเลือกเนื้อหาของสื่อข่าวนั้น ผกผันไปตามความสนใจของคนไทย และความสนใจของคนไทยในเรื่องสลากกินแบ่งรัฐบาลก็เพิ่มอย่างต่อเนื่อง เมื่อเชื่อมโยงกับสถิติผู้ซื้อสลากกินแบ่งรัฐบาลที่เพิ่มขึ้นทุกปี

อย่างไรก็ดี แม้การนำเสนอเนื้อหาเกี่ยวกับลอตเตอรี่จะเป็นที่นิยมต่อคนดู แต่ก็สามารถส่งผล
กระทบอื่นๆ ได้เช่นเดียวกัน เมื่อวันที่ 9 มีนาคม พ.ศ.2565 สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ จึงได้กำหนดแนวปฏิบัติสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ เรื่องการนำเสนอข่าว ภาพข่าว ในเรื่องความเชื่อทางไสยศาสตร์ ตัวเลข และสลากกินแบ่งรัฐบาล เนื่องจากที่ผ่านมา สื่อมวลชนมีการนำเสนอเรื่องความเชื่อส่วนบุคคลเป็นจำนวนมาก และอาจนำไปสู่ความงมงายได้ 

ถึงกระนั้น สำนักข่าวหลากหลายเจ้าก็ยังเผยแพร่เนื้อหาเกี่ยวกับปรากฎการณ์เหนือธรรมชาติที่เกี่ยวข้องกับตัวเลขอยู่ดี ตอบรับกับการที่คนไทยยังนิยมเล่นลอตเตอรี่ไม่เปลี่ยนแปลง 

สุดท้ายนี้ ใครก็มิอาจการันตีได้ว่าการเสี่ยงทายตัวเลข 6 ตัว บนกระดาษแผ่นเล็กๆ นั้น จะมอบแต่เงินรางวัลให้แก่ผู้เล่นเสมอไป แต่อย่างน้อยๆ สิ่งหนึ่งที่ตัวเลขเหล่านั้นสามารถการันตีได้ ก็คือความสนุกและความตื่นเต้นที่ผู้เล่นจะได้รับในทุก ๆ วันที่ 1 และ 16 ของเดือนอยู่เสมอ

นิสิตนักศึกษาจึงเชื่อว่า ตราบใดที่สลากกินแบ่งรัฐบาลยังทำให้ผู้คนสนุกไปกับการเสี่ยงทายได้ คนไทยก็ยังคงจะเลือกเล่นมันต่อไป สื่อไทยก็เช่นเดียวกัน 

อ้างอิง

  1. นายอดัม (นามสมมติ). อดีตกราฟิกดีไซเนอร์และผู้เล่นสลากกินแบ่งรัฐบาล. สัมภาษณ์, 29 ตุลาคม 2566.
  2. ภัทรธร สุดาจันทร์. พนักงานบริษัทและผู้เล่นสลากกินแบ่งรัฐบาล. สัมภาษณ์, 31 ตุลาคม 2566.
  3. กันตพงศ์ รัตนสว่างวงศ์. นิสิตคณะนิเทศศาสตร์และผู้เล่นสลากกินแบ่งรัฐบาล. สัมภาษณ์, 11 พฤศจิกายน 2566.
  4. ป้าสวย (นามสมมติ). ผู้เล่นและผู้ขายสลากกินแบ่งรัฐบาล. สัมภาษณ์, 17 พฤศจิกายน 2566.
  5. สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล. (2562). ประวัติสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล. https://www.glo.or.th/about/history.
  6. นพนันท์ วรรณเทพสกุล. (2554, สิงหาคม). โครงการวิจัย เศรษฐกิจหวย : มุมมองการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างเศรษฐกิจสังคมไทยผ่านธุรกิจการพนัน. https://dol.thaihealth.or.th/Media/Index/951b5c1d-286a-e811-80e6-00155dddb753